“กีฬาผาดโผน” คุณควรเสี่ยงไหม?
ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
“กีฬาผาดโผน” คุณควรเสี่ยงไหม?
“ทุกวันนี้พวกเราจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ได้เป็นเพียงผู้ชมเท่านั้น แต่เข้าไปร่วมด้วยตัวเองทั้งในการกระโดดร่ม, โรยตัวจากยอดเขา, พายเรือแคนูดิ่งน้ำตก และดำน้ำกับฉลาม.”—หนังสือพิมพ์เดอะ วิลโลว์ เกลน เรซิเดนต์.
คำพูดนี้พรรณนาถึงแนวโน้มทางกีฬาที่กำลังเพิ่มขึ้น. ความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกตในกิจกรรมอย่างเช่น การดิ่งพสุธา, การปีนภูเขาน้ำแข็ง, การเล่นเครื่องร่อน, และการกระโดดร่มแบบเบสจัมปิง (BASE jumping) * แสดงให้เห็นว่าโลกกำลังคลั่งไคล้กีฬาเสี่ยงชีวิต. อีกทั้งมีการใช้สโนว์บอร์ด, จักรยานภูเขา, สเกตบอร์ด, และอินไลน์สเกต (สเกตล้อผาดโผน) เพื่อขยายขีดความสามารถของตนออกไป โดยพยายามพิชิตภูเขาที่ชันที่สุด, หน้าผาที่สูงที่สุด, และการกระโดดที่ไกลที่สุด. ตามคำกล่าวของวารสารไทม์ ความนิยมที่เพิ่มขึ้นใน “กีฬาผาดโผน”—กีฬาซึ่งผู้เล่นเสี่ยงต่ออันตรายอย่างมาก—แสดงเด่นชัดว่าหลายล้านคนกระหายจะร่วมยืนอยู่บน “ขอบเหวเชิงอุปมา ที่ซึ่งอันตราย, ความชำนาญและความกลัวผนวกเข้าด้วยกันเพื่อทำให้พวกกล้าตายช่วงสุดสัปดาห์และนักกีฬาอาชีพได้ความรู้สึกเหมือน ๆ กันในการโชว์ลวดลายแบบสุด ๆ เพื่อขยายขีดความสามารถของตนเอง.”
แต่ความนิยมที่เพิ่มขึ้นนี้ยังก่อความเสียหายต่อตัวเองอย่างมากด้วย. ผู้คนมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้รับบาดเจ็บเมื่อกีฬาที่ค่อนข้างปลอดภัย ถูกนำไปเล่นแบบสุดโต่ง. ในสหรัฐระหว่างปี 1997 มีผู้เข้าห้องฉุกเฉินเพราะได้รับบาดเจ็บจากสเกตบอร์ดเพิ่มขึ้นมากกว่า 33 เปอร์เซ็นต์, จากสโนว์บอร์ด 31 เปอร์เซ็นต์, และจากการไต่เขา 20 เปอร์เซ็นต์. กีฬาอื่น ๆ ก่อผลน่าตกใจกว่านั้นอีก ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากกีฬาผาดโผน. ผู้สนับสนุนกีฬาดังกล่าวต่างก็ทราบดีถึงอันตราย. สตรีผู้หนึ่งซึ่งเล่นสกีผาดโผนกล่าวว่า “ความตายแวบขึ้นในความคิดของฉันเสมอ.” นักเล่นสโนว์บอร์ดมืออาชีพคนหนึ่งพูดสั้น ๆ ว่าถ้า “คุณไม่บาดเจ็บ แสดงว่าคุณไม่ได้วาดลวดลายเต็มที่.”
เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว คริสเตียนควรมองการเล่นกีฬาประเภทนี้อย่างไร? คัมภีร์ไบเบิลจะช่วยเราได้อย่างไรในการตัดสินว่าเราควรเล่นกีฬาผาดโผนหรือไม่?
การพิจารณาทัศนะของพระเจ้าต่อความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตจะช่วยตอบคำถามนี้.ทัศนะของพระเจ้าต่อชีวิต
คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่าพระยะโฮวาเป็น “บ่อเกิดแห่งชีวิต.” (บทเพลงสรรเสริญ 36:9, ล.ม.) นอกจากสร้างมนุษย์แล้ว พระองค์ยังใฝ่พระทัยอย่างใหญ่หลวงในการประทานสิ่งที่เราจำเป็นต้องมีเพื่อจะชื่นชมกับชีวิต. (บทเพลงสรรเสริญ 139:14; กิจการ 14:16, 17; 17:24-28) ฉะนั้น จึงมีเหตุผลที่จะลงความเห็นว่าพระองค์ทรงคาดหมายให้เราใส่ใจดูแลสิ่งที่พระองค์ประทานแก่เราด้วยความกรุณายิ่ง. พระบัญญัติและหลักการต่าง ๆ ที่ทรงประทานแก่ชาติยิศราเอลช่วยให้เราเข้าใจข้อเท็จจริงนี้.
พระบัญญัติของโมเซกำหนดให้แต่ละคนปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ เพื่อปกป้องชีวิตของผู้อื่น. ถ้าไม่ปฏิบัติตามและมีผู้เสียชีวิต จะถือว่าคนที่สามารถป้องกันโศกนาฏกรรมนั้นได้ เป็นผู้มีความผิดฐานทำให้โลหิตตก. ยกตัวอย่าง เจ้าของบ้านได้รับคำสั่งให้สร้างกำแพงหรือราวกั้นต่ำ ๆ ที่เรียกว่าลูกกรงไว้รอบดาดฟ้าหลังคาเมื่อเขาสร้างเรือนใหม่. มิฉะนั้น ความผิดฐานทำให้โลหิตตกจะมีแก่เรือนนั้น หากคนหนึ่งคนใดตกจากหลังคาถึงแก่ความตาย. (พระบัญญัติ 22:8) ถ้าโคตัวหนึ่งบังเอิญขวิดคนถึงตาย เจ้าของโคตัวนั้นไม่ต้องรับผิดชอบ. แต่ถ้าโคตัวนั้นเป็นที่รู้กันดีว่าอันตราย อีกทั้งมีการเตือนเจ้าของแล้ว แต่เจ้าของไม่ขังมันไว้อย่างเหมาะสม และถ้ามันไปขวิดใครบางคน จะถือว่าเจ้าของโคมีความผิดฐานทำให้โลหิตตก และอาจถูกลงโทษถึงตาย. (เอ็กโซโด 21:28, 29) เนื่องจากชีวิตมีค่าสำหรับพระยะโฮวา พระบัญญัติของพระองค์จึงสะท้อนถึงการใส่ใจอย่างสูงในเรื่องการป้องกันและรักษาชีวิต.
ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าเข้าใจว่าหลักการดังกล่าวใช้ได้กับเรื่องของการเสี่ยงชีวิตตัวเองด้วย. ในบันทึกหนึ่งของคัมภีร์ไบเบิล ดาวิดบอกว่าท่านอยากจะ ‘ดื่มน้ำจากบ่อเก็บน้ำที่เมืองเบธเลเฮ็ม.’ ในตอนนั้น เบธเลเฮ็มถูกพวกฟะลิศตีมยึดครองอยู่. เมื่อได้ยินคำขอของดาวิด ทหารกล้าสามนายของท่านก็บุกเข้าไปในค่ายของพวกฟะลิศตีม ตักน้ำจากบ่อที่เบธเลเฮ็ม และนำกลับมาให้ดาวิด. ดาวิดมีปฏิกิริยาอย่างไร? ท่านไม่ดื่มน้ำนั้น แต่กลับเทลงดิน. ท่านกล่าวว่า “ขอพระยะโฮวาทรงห้ามปรามไว้อย่าให้ข้าพเจ้ากระทำสิ่งนี้เลย: (คือดื่ม) โลหิตของผู้ที่สละชีวิตของตนในภัยอันตราย? เพราะยอมสละชีวิตของตนจึงได้น้ำมาให้.” (1 โครนิกา 11:17-19) สำหรับดาวิดแล้ว เป็นเรื่องเหลือคิดที่จะให้ผู้หนึ่งผู้ใดเสี่ยงชีวิตตนเองเพื่อสนองความพอใจส่วนตัวของท่าน.
พระเยซูทรงมีปฏิกิริยาคล้าย ๆ กันเมื่อพญามารซึ่งเป็นไปได้ว่าโดยทางนิมิตได้ยั่วยุพระองค์ให้โจนลงไปจากหอคอยบนหลังคาพระวิหารเพื่อดูว่าเหล่าทูตสวรรค์จะปกป้องพระองค์ไว้จากการบาดเจ็บหรือไม่. พระเยซูตรัสตอบว่า “เจ้าต้องไม่ลองดีพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า.” (มัดธาย 4:5-7, ล.ม.) ใช่แล้ว ทั้งดาวิดและพระเยซูตระหนักว่าเป็นสิ่งผิดในสายพระเนตรของพระเจ้าที่จะก่อความเสี่ยงโดยไม่จำเป็นจนอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ได้.
เมื่อคิดถึงตัวอย่างเหล่านี้ เราอาจสงสัยว่า ‘เราจะขีดเส้นแบ่งตรงไหนว่าอะไรคือกีฬาผาดโผนหรืออันตราย? เนื่องจากแม้แต่กีฬาแบบธรรมดาทั่วไปซึ่งในตัวมันเองแล้วไม่อันตรายก็อาจเล่นกันถึงขีดที่เสี่ยงต่อชีวิตได้ แล้วเราจะกำหนดได้อย่างไรว่าควรเล่นถึงขีดไหน?’
สมควรเสี่ยงไหม?
การประเมินด้วยความสุจริตใจเกี่ยวด้วยกิจกรรมใด ๆ ที่เราอาจสนใจอยู่ จะช่วยเราให้ได้คำตอบ. ยกตัวอย่าง เราอาจถามตัวเองว่า ‘อัตราการเกิดอุบัติเหตุจากกีฬาประเภทนี้มีมากน้อยแค่ไหน? ฉันได้รับการอบรมหรือมีอุปกรณ์ป้องกันที่จำเป็นไหมเพื่อช่วยไม่ให้บาดเจ็บ? จะเกิดอะไรขึ้นถ้าฉันกระโดดพลาดหรือกะผิด หรืออุปกรณ์นิรภัยเกิดขัดข้อง? มันจะก่อความเสียหายเล็กน้อย หรือเป็นไปได้ที่จะบาดเจ็บร้ายแรง หรือถึงแก่ชีวิต?’
การเล่นกีฬาหรือมีนันทนาการที่เสี่ยงอันตรายโดยไม่จำเป็น อาจมีผลกระทบต่อสัมพันธภาพอันมีค่าของคริสเตียนแท้กับพระยะโฮวา และอาจมีผลกระทบต่อการมีคุณสมบัติสำหรับสิทธิพิเศษต่าง ๆ ในประชาคม. (1 ติโมเธียว 3:2, 8-10; 4:12; ติโต 2:6-8) เป็นที่ชัดเจนว่า แม้เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมเชิงนันทนาการ คริสเตียนก็ควรจะคำนึงถึงทัศนะของพระผู้สร้างในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 4 BASE ย่อมาจาก building (อาคาร), antenna (เสาอากาศ), span (สะพาน), และ earth (แผ่นดิน). กีฬาชนิดนี้ซึ่งเป็นการกระโดดร่มจากฐานนิ่ง เช่น อาคาร, สะพาน, และหน้าผา ถือว่าอันตรายมากจนมีการสั่งห้ามโดยสำนักงานวนอุทยานแห่งชาติในสหรัฐ.