ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เอกภพอันน่าเกรงขามเกิดโดยบังเอิญหรือ?

เอกภพอันน่าเกรงขามเกิดโดยบังเอิญหรือ?

เอกภพ​อัน​น่า​เกรง​ขาม​เกิด​โดย​บังเอิญ​หรือ?

บาง​คน​บอก​ว่า ‘ใช่ เอกภพ​เป็น​เรื่อง​ของ​ความ​บังเอิญ​ทั้ง​สิ้น.’ บาง​คน​ก็​บอก​ว่า​ไม่​ใช่ โดย​เฉพาะ​คน​ที่​เคร่ง​ศาสนา. ยัง​มี​คน​อื่น ๆ อีก​ที่​ไม่​แน่​ใจ. คุณ​ล่ะ​เชื่อ​อย่าง​ไร?

ไม่​ว่า​คุณ​จะ​คิด​อย่าง​ไร คุณ​คง​เห็น​ด้วย​อย่าง​ไม่​ต้อง​สงสัย​ว่า​เอกภพ​ของ​เรา​เป็น​สิ่ง​มหัศจรรย์. ลอง​พิจารณา​กาแล็กซี. มี​การ​กะ​ประมาณ​ว่า​ใน​เอกภพ​ที่​พอ​จะ​สังเกต​ได้​มี​กาแล็กซี​อยู่​ราว ๆ 100,000 ล้าน​กาแล็กซี. แต่​ละ​กาแล็กซี​ประกอบ​ด้วย​ดาว​ตั้ง​แต่​ไม่​ถึง​หนึ่ง​พัน​ล้าน​ดวง​จน​ถึง​มาก​กว่า​หนึ่ง​ล้าน​ล้าน​ดวง.

กาแล็กซี​ส่วน​ใหญ่​อยู่​รวม​กัน​เป็น​คลัสเตอร์(กระจุก) คลัสเตอร์​หนึ่ง ๆ มี​ตั้ง​แต่​ยี่​สิบ​สาม​สิบ​กาแล็กซี​จน​ถึง​หลาย​พัน​กาแล็กซี. ยก​ตัว​อย่าง กาแล็กซี​แอนโดรมีดา​ใกล้ ๆ เรา​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​พรรณนา​ว่า​เป็น​คู่​แฝด​กับ​กาแล็กซี​ทาง​ช้าง​เผือก​ของ​เรา. ระบบ​ดาว​อัน​มหึมา​สอง​ระบบ​นี้​ยึด​กัน​และ​กัน​ไว้​ด้วย​แรง​โน้มถ่วง. ทั้ง​สอง​รวม​กลุ่ม​กับ​กาแล็กซี​เพื่อน​บ้าน​อีก​จำนวน​หนึ่ง​ซึ่ง​ไม่​มาก​นัก แล้ว​ก่อ​ตัว​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​คลัสเตอร์.

เอกภพ​ประกอบ​ด้วย​คลัสเตอร์​กาแล็กซี​นับ​ไม่​ถ้วน. บาง​คลัสเตอร์​เกาะ​กลุ่ม​กับ​คลัสเตอร์​อื่น ๆ ด้วย​แรง​โน้มถ่วง ก่อ​ตัว​เป็น​ซูเปอร์คลัสเตอร์ (กระจุก​กาแล็กซี​ขนาด​ใหญ่). แต่​ถ้า​เลย​ระดับ​นี้​ไป​แล้ว แรง​โน้มถ่วง​จะ​ไม่​ยึด​กัน​อีก. นัก​วิทยาศาสตร์​พบ​ว่า​ซูเปอร์คลัสเตอร์​กำลัง​ถอย​หนี​จาก​กัน. พูด​อีก​นัย​หนึ่ง เอกภพ​กำลัง​ขยาย​ตัว. การ​ค้น​พบ​อัน​น่า​ทึ่ง​นี้​ชี้​ว่า​ครั้ง​หนึ่ง​มี​ตอน​เริ่ม​ต้น คราว​เมื่อ​เอกภพ​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​เล็ก​กว่า​และ​หนา​แน่น​กว่า​นี้​มาก. บ่อย​ครั้ง มี​การ​พูด​กัน​ว่า​เอกภพ​เกิด​จาก​บิกแบง (การ​ระเบิด​ใหญ่).

นัก​วิทยาศาสตร์​บาง​คน​สงสัย​จริง ๆ ว่า มนุษย์​จะ​มี​วัน​ค้น​พบ​ไหม​ว่า​เอกภพ​เกิด​ขึ้น​อย่าง​ไร. ส่วน​คน​อื่น ๆ ก็​คาด​เดา​กัน​ไป​ถึง​วิธี​ต่าง ๆ ที่​เอกภพ​ของ​เรา​อาจ​เกิด​ขึ้น​ได้​เอง​โดย​ปราศจาก​ต้น​เหตุ​ที่​มี​เชาวน์​ปัญญา. วารสาร​ไซเยนติฟิก อเมริกัน ฉบับ​มกราคม 1999 ได้​พิจารณา​เรื่อง “เอกภพ​เริ่ม​ต้น​อย่าง​ไร?” มี​การ​พบ​แล้ว​ว่า​ทฤษฎี​ของ​นัก​วิทยาศาสตร์​บาง​ทฤษฎี​มี​ข้อ​บกพร่อง. วารสาร​นี้​กล่าว​ว่า “น่า​เสียดาย มัน​อาจ​ยาก​มาก . . . ที่​นัก​ดาราศาสตร์​จะ​นำ​แนว​คิด​ดัง​กล่าว​ไป​พิสูจน์​ทดลอง.”

แนว​คิด​ที่​ว่า เอกภพ​เกิด​โดย​บังเอิญ​นั้น​เรียก​ร้อง​ให้​เชื่อ​ใน​สิ่ง​ที่​นัก​วิทยาศาสตร์​พรรณนา​ว่า​เป็น “อุบัติเหตุ​แบบ​โชค​ดี” หรือ “การ​ประจวบ​เหมาะ” หลาย​ครั้ง. ยก​ตัว​อย่าง เอกภพ​ประกอบ​ด้วย​อะตอม​ที่​เรียบ​ง่าย​ที่​สุด​จำนวน​มาก นั่น​คือ ไฮโดรเจน​และ​ฮีเลียม. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ชีวิต​ต้อง​อาศัย​ไม่​เพียง​ไฮโดรเจน แต่​ยัง​ต้อง​อาศัย​อะตอม​มาก​มาย​ที่​ซับซ้อน​กว่า​อีก​ด้วย โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง คาร์บอน​และ​ออกซิเจน. นัก​วิทยาศาสตร์​เคย​สงสัย​ว่า​อะตอม​อัน​มี​ค่า​เหล่า​นี้​มา​จาก​ไหน.

เป็น​เพียง​การ​ประจวบ​เหมาะ​ไหม​ที่​อะตอม​อัน​สลับ​ซับซ้อน​ซึ่ง​จำเป็น​ต่อ​การ​ค้ำจุน​ชีวิต​นี้​เกิด​ขึ้น​ภาย​ใน​ดาว​มหึมา​บาง​ดวง? และ​เป็น​เพียง​ความ​บังเอิญ​ไหม​ที่​ดาว​มหึมา​เหล่า​นี้​บาง​ดวง​ระเบิด​เป็น​ซูเปอร์โนวา​และ​พ่น​ขุม​อะตอม​อัน​เป็น​สมบัติ​ที่​หา​ยาก​นี้​ออก​มา. เซอร์​เฟรด ฮอยล์ ซึ่ง​มี​ส่วน​เกี่ยว​ข้อง​ใน​การ​ค้น​พบ​เหล่า​นี้​บอก​ว่า “ผม​ไม่​เชื่อ​ว่า​นัก​วิทยาศาสตร์​คน​ใด​ซึ่ง​ได้​ตรวจ​สอบ​หลักฐาน​แล้ว​จะ​ไม่​ลง​ความ​เห็น​ว่า กฎ​ฟิสิกส์​นิวเคลียร์​ต่าง ๆ ได้​รับ​การ​ออก​แบบ​อย่าง​จงใจ.”

เอา​ละ ขอ​ให้​เรา​พินิจ​พิจารณา​สสาร​ซึ่ง​ประกอบ​กัน​เป็น​เอกภพ​ของ​เรา.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 4]

ทฤษฎี​การ​ขยาย​ตัว​แบบ​เฟ้อ

นัก​วิทยาศาสตร์​บาง​คน​เชื่อ​ว่า​ลักษณะ​เฉพาะ​บาง​อย่าง​ของ​เอกภพ​ใน​ช่วง​ต้น ๆ เช่น อัตรา​การ​ขยาย​ตัว​ที่​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​สามารถ​อธิบาย​ได้​โดย​ไม่​จำเป็น​ต้อง​พูด​ถึง​ต้น​เหตุ​ที่​มี​เชาวน์​ปัญญา. พวก​เขา​ขอ​ให้​พิจารณา​ทฤษฎี​ที่​เรียก​ว่า​การ​ขยาย​ตัว​แบบ​เฟ้อ​สัก​ทฤษฎี​หนึ่ง​หรือ​หลาย​ทฤษฎี​ก็​ได้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ทฤษฎี​การ​ขยาย​ตัว​แบบ​เฟ้อ​ของ​เอกภพ​ไม่​ได้​ไข​ปัญหา​เรื่อง​ต้น​กำเนิด เพราะ​จะ​ต้อง​เชื่อ​ว่า​มี​บาง​สิ่ง​เป็น​อยู่​ก่อน ซึ่ง​เอกภพ​ของ​เรา​เกิด​ขึ้น​โดย​บังเอิญ​จาก​สิ่ง​นั้น.

ตาม​ทฤษฎี​การ​ขยาย​ตัว​แบบ​เฟ้อ เอกภพ​จะ​ใหญ่​ขึ้น​จาก​ขนาด​ที่​เล็ก​กว่า​อะตอม​จน​ถึง​ขนาด​ใหญ่​กว่า​กาแล็กซี​ของ​เรา​ใน​เวลา​ไม่​ถึง​หนึ่ง​วินาที. กล่าว​กัน​ว่า จาก​จุด​นี้​เอกภพ​ได้​ขยาย​ตัว​ต่อ​ไป​ใน​อัตรา​ปกติ​ที่​ช้า​กว่า​เดิม. ปัจจุบัน ถือ​กัน​ว่า​ส่วน​ของ​เอกภพ​ที่​เห็น​ได้​ด้วย​ตา​นั้น​เป็น​เศษ​เสี้ยว​เล็ก ๆ ของ​เอกภพ​ที่​ใหญ่​กว่า. นัก​ทฤษฎี​การ​ขยาย​ตัว​แบบ​เฟ้อ​อ้าง​ว่า เป็น​เพียง​ความ​บังเอิญ​ที่​เอกภพ​ส่วน​ที่​เห็น​ได้​ด้วย​ตา​มี​ลักษณะ​เป็น​ระบบ​ระเบียบ​แบบ​เดียว​กัน​ใน​ทุก​ทิศ​ทาง. พวก​เขา​บอก​ว่า ส่วน​ที่​มอง​ไม่​เห็น​ซึ่ง​ใหญ่​กว่า​อาจ​จะ​ต่าง​ออก​ไป กระทั่ง​ยุ่งเหยิง​ด้วย​ซ้ำ. เจฟฟรีย์ เบอร์บิดจ์ นัก​ดาราศาสตร์​ฟิสิกส์ กล่าว​ว่า “เรื่อง​การ​ขยาย​ตัว​แบบ​เฟ้อ​ไม่​อาจ​มี​การ​ทดลอง​ใน​แบบ​ที่​สามารถ​สังเกต​ได้​เลย.” ที่​จริง ทฤษฎี​การ​ขยาย​ตัว​แบบ​เฟ้อ​ขัด​แย้ง​กับ​หลักฐาน​แนว​ใหม่​ที่​สังเกต​ได้. ปัจจุบัน เป็น​ที่​ประจักษ์​ชัด​ว่า​ถ้า​ทฤษฎี​นั้น​เป็น​ความ​จริง​จะ​ต้อง​มี​แรง​ชนิด​ใหม่​ซึ่ง​ต้าน​แรง​โน้มถ่วง​ตาม​ที่​คาด​เดา​กัน. นัก​วิทยาศาสตร์​คน​หนึ่ง​ชื่อ เฮาเวิร์ด จอร์จี จาก​มหาวิทยาลัย​ฮาร์เวิร์ด พรรณนา​การ​ขยาย​ตัว​แบบ​เฟ้อ​ว่า​เป็น “นิยาย​วิทยาศาสตร์​ชั้น​ยอด ซึ่ง​อย่าง​น้อย ก็​ดี​พอ ๆ กับ​นิยาย​การ​สร้าง​อื่น ๆ ที่​ผม​เคย​ได้​ยิน​มา.”

[ภาพ​หน้า 3]

เกือบ​ทุก​จุด​ใน​ภาพ​ถ่าย​ของ​กล้อง​โทรทรรศน์​อวกาศ​ฮับเบิล คือ​กาแล็กซี

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Pages 3 and 4 (blurred): Robert Williams and the Hubble Deep Field Team (STScI) and NASA

[ภาพ​หน้า 4]

“กฎ​ฟิสิกส์​นิวเคลียร์​ต่าง ๆ ได้​รับ​การ​ออก​แบบ​อย่าง​จงใจ.”—เซอร์​เฟรด ฮอยล์ พร้อม​กับ​ซูเปอร์โนวา 1987​เอ

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Dr. Christopher Burrows, ESA/STScI and NASA

Photo courtesy of N. C. Wickramasinghe