ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

วารสารนี้มีส่วนช่วยชีวิตเขาไว้

วารสารนี้มีส่วนช่วยชีวิตเขาไว้

วารสาร​นี้​มี​ส่วน​ช่วย​ชีวิต​เขา​ไว้

“ตื่นเถิด!” (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ 22 ธันวาคม 1999 มี​บทความ​เด่น​เรื่อง “การ​ลัก​พา​ตัว—เหตุ​ที่​เป็น​ภัย​คุกคาม​ทั่ว​โลก.” วิลเลียม หลุยส์ เทอร์เรลล์​กล่าว​ว่า “ตื่นเถิด!” ฉบับ​นี้​มี​ส่วน​ช่วย​ชีวิต​เขา​ไว้.

หลัง​สิบ​นาฬิกา​เล็ก​น้อย​ใน​เช้า​วัน​ศุกร์​ที่ 10 มีนาคม 2000 โจเซฟ ซี. พาลชินสกี จูเนียร์​ใช้​ปืน​จี้​เทอร์เรลล์​และ​ลัก​พา​ตัว​เขา​ไป​จาก​บ้าน. บทความ​ของ​ตื่นเถิด! ที่​เทอร์เรลล์​บอก​ว่า​เขา​นึก​ถึง​อยู่​เสมอ​ระหว่าง​เหตุ​การณ์​นั้น​มี​คำ​แนะ​นำ​จาก​ผู้​เชี่ยวชาญ​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​ควร​ทำ​เมื่อ​ถูก​ลัก​พา​ตัว​ดัง​นี้:

“ให้​ร่วม​มือ; อย่า​ขัด​ขืน. ตัว​ประกัน​ที่​แสดง​ท่าที​ต่อ​ต้าน​มัก​จะ​ถูก​ปฏิบัติ​อย่าง​ทารุณ และ​มี​ความ​เสี่ยง​สูง​ที่​จะ​ถูก​ฆ่า​หรือ​ถูก​เลือก​มา​ลง​โทษ.

“อย่า​ตื่น​ตกใจ. จง​จำ​ไว้​เสมอ​ว่า​ผู้​ที่​ถูก​ลัก​พา​ตัว​ส่วน​ใหญ่​รอด​ชีวิต.”

“ถ้า​เป็น​ไป​ได้​ให้​คุย​เรื่อง​สัพเพเหระ​และ​พยายาม​สร้าง​ความ​สัมพันธ์. ถ้า​ผู้​ลัก​พา​ตัว​มอง​ว่า​คุณ​เป็น​คน​คน​หนึ่ง ก็​เป็น​ไป​ได้​มาก​ขึ้น​ที่​พวก​เขา​จะ​ไม่​ทำ​ร้าย​หรือ​ฆ่า​คุณ.

“บอก​ถึง​ความ​ต้องการ​ของ​คุณ​ให้​พวก​เขา [ผู้​ลัก​พา​ตัว] รู้​อย่าง​สุภาพ.”

“การ​พูด​คุย​กัน​เป็น​เหมือน​เครื่อง​ป้องกัน​สำหรับ​ผู้​ถูก​ลัก​พา​ตัว ดัง​ที่​หนังสือ​พฤติกรรม​ของ​อาชญากร (ภาษา​อังกฤษ) อธิบาย​ว่า ‘ยิ่ง​ถ้า​เหยื่อ​และ​ผู้​ลัก​พา​ตัว​รู้​จัก​กัน​มาก​เท่า​ไร พวก​เขา​ก็​ยิ่ง​มี​แนว​โน้ม​จะ​ชอบ​กัน​และ​กัน​มาก​ขึ้น​เท่า​นั้น. ปรากฏการณ์​นี้​บ่ง​ชี้​ว่า​เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป​ช่วง​หนึ่ง ผู้​ลัก​พา​ตัว​มัก​จะ​ไม่​ทำ​ร้าย​ตัว​ประกัน.’ ”

วิลเลียม เทอร์เรลล์ ซึ่ง​อยู่​ใน​วัย 53 ปี​และ​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​คน​หนึ่ง ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​เหล่า​นี้​เท่า​ที่​จะ​ทำ​ได้​ใน​ช่วง​เกือบ 14 ชั่วโมง​ที่​ถูก​จับ​เป็น​ตัว​ประกัน โดย​ส่วน​ใหญ่​มี​ปืน​จี้​อยู่. เหตุ​การณ์​นี้​เริ่ม​ขึ้น​ไม่​นาน​หลัง​จาก​พาลชินสกี​เคาะ​ประตู​บ้าน​ของ​เทอร์เรลล์​ใน​เขต​ชนบท​ใกล้​กับ​ทาง​หลวง​ระหว่าง​รัฐ​หมาย​เลข 95 เนื่อง​จาก​รถ​ซึ่ง​พาลชินสกี​ขโมย​มา​นั้น​เกิด​น้ำมัน​หมด.

หลัง​จาก​ได้​ฟัง​ปัญหา​ของ​คน​แปลก​หน้า เทอร์เรลล์​ก็​แสดง​ความ​ปรารถนา​จะ​ช่วย. พาลชินสกี​ขอ​น้ำ​แก้ว​หนึ่ง​และ​ขอ​ให้​เขา​ขับ​รถ​ไป​ส่ง​ที่​เมือง​บัลติมอร์ รัฐ​แมริแลนด์ สหรัฐ​อเมริกา. เทอร์เรลล์​บอก​ว่า​ตน​จะ​จัด​การ​ให้​ใคร​สัก​คน​ขับ​รถ​ไป​ส่ง​เขา​ที่​เมือง​เฟรดริก​เบิร์ก รัฐ​เวอร์จิเนีย ที่​ซึ่ง​เขา​จะ​นั่ง​รถ​ประจำ​ทาง​ต่อ​ไป​ถึง​ที่​หมาย​ได้. เมื่อ​เทอร์เรลล์​กลับ​มา​พร้อม​ด้วย​น้ำ​แก้ว​หนึ่ง​ให้​ชาย​แปลก​หน้า​คน​นั้น​เขา​ก็​ถูก​ปืน​จี้. พาลชินสกี​สั่ง​ให้​เทอร์เรลล์​ขับ​รถ​ไป​ส่ง​เขา​ถึง​ที่​หมาย.

ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ

ระหว่าง​ที่​ขับ​รถ​ไป​ตาม​ทาง​หลวง​หมาย​เลข 95 เทอร์เรลล์​ทำ​ตาม​คำ​สั่ง​ของ​พาลชินสกี​ที่​ไม่​ให้​ขับ​เกิน​ขีด​จำกัดความ​เร็ว​และ​ไม่​ขับ​รถ​ใน​แบบ​ที่​จะ​ทำ​ให้​คน​อื่น​สนใจ. โดย​รักษา​ความ​เยือกเย็น​ไว้ เทอร์เรลล์​ชวน​พาลชินสกี​วัย 31 ปี​คุย โดย​แสดง​ความ​สนใจ​จริง ๆ ใน​ตัว​เขา​และ​ใน​สถานการณ์​ที่​ทำ​ให้​พวก​เขา​มา​พบ​กัน. พาลชินสกี​เล่า​ว่า​สาม​วัน​ก่อน​หน้า​นั้น เขา​ไป​หา​แฟน​สาว​ชื่อ​เทรซี ซึ่ง​ได้​เลิก​กับ​เขา​แล้ว. ที่​นั่น​เขา​ยิง​เพื่อน​ของ​เธอ​สอง​คน​และ​เพื่อน​บ้าน​อีก​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​พยายาม​จะ​ขัด​ขวาง​ไม่​ให้​เขา​พา​เทรซี​ไป ทั้ง​สาม​คน​เสีย​ชีวิต. ต่อ​มา​เทรซี​หนี​ไป​ได้.

เย็น​วัน​ถัด​มา ขณะ​ที่​พาลชินสกี​พยายาม​จะ​ปล้น​รถ​คัน​หนึ่ง กระสุน​ลูก​หนึ่ง​ของ​เขา​พุ่ง​ไป​ถูก​เด็ก​วัย​สอง​ขวบ ทำ​ให้​ขากรรไกร​แตก. รถ​ที่​เจนนิเฟอร์ ลิน แมกดอเนล​ขับ​ก็​ถูก​ชน​ด้วย. น่า​เศร้า กระสุน​ลูก​หนึ่ง​ทำ​ให้​เธอ​เสีย​ชีวิต และ​กระสุน​อีก​ลูก​หนึ่ง​พุ่ง​ไป​ถูก​ที่​นั่ง​ของ​ลูก​วัย​หนึ่ง​ขวบ​ซึ่ง​ตอน​นั้น​ไม่​ได้​นั่ง​อยู่. เจนนิเฟอร์​กับ​โทมัส สามี​ของ​เธอ กำลัง​จะ​ไป​หอ​ประชุม​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา ที่​ซึ่ง​ทั้ง​สอง​จะ​ไป​ทำ​ส่วน​มอบหมาย​ใน​การ​ประชุม​เย็น​วัน​นั้น. ซารา ฟรานซิส คุณ​แม่​ของ​เจนนิเฟอร์ บอก​ว่า “คืน​นั้น​เป็น​คืน​เดียว​ที่​พวก​เขา​ไม่​ได้​เอา​ลูก​ไป​หอ​ประชุม​ด้วย. [ไม่​เช่น​นั้น] เรา​จะ​ต้อง​ร่ำไห้​ให้​กับ​สอง​คน.”

ขณะ​ที่​เทอร์เรลล์​ยัง​คง​ใช้​วิธี​ที่​นิ่มนวล​เพื่อ​รักษา​การ​สนทนา​กับ​ผู้​ลัก​พา​ตัว​เขา พาลชินสกี​บอก​ว่า​เขา​ไม่​เคย​ตั้งใจ​ทำ​ร้าย​ใคร​และ​เขา​รัก​เทรซี​จริง ๆ และ​ต้องการ​จะ​อยู่​กับ​เธอ. เทอร์เรลล์​อธิบาย​ว่า “ผม​บอก​เขา​ว่า​เขา​ไม่​อาจ​เปลี่ยน​อดีต​ได้​แต่​เขา​สามารถ​เปลี่ยน​อนาคต​ได้ และ​ผม​ชวน​ให้​เขา​มอบ​ตัว. ผม​บอก​เขา​ว่า​ผม​จะ​ไป​เยี่ยม​เขา​ใน​คุก​และ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​กับ​เขา.” มี​การ​ทราบ​ภาย​หลัง​ว่า​ตั้ง​แต่​จบ​ชั้น​มัธยม​ปลาย​ใน​ปี 1987 มี​เพียง​สิบ​เดือน​ที่​พาลชินสกี​ไม่​ได้​อยู่​ใน​คุก​หรือ​สถาน​บำบัด​โรค​จิต​หรือ​อยู่​ระหว่าง​ทัณฑ์​บน.

โดย​ใช้​ประสบการณ์​อัน​ยาว​นาน​ของ​เขา​ใน​ฐานะ​คริสเตียน​ผู้​ปกครอง เทอร์เรลล์​กระตุ้น​ใจ​ชาย​หนุ่ม​ซึ่ง​กำลัง​ว้าวุ่น​ผู้​นี้​ต่อ​ไป​โดย​ใช้​ตัว​อย่าง​ชีวิต​จริง​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล. ตัว​อย่าง​เช่น เขา​เล่า​ประสบการณ์​ของ​ชาย​ที่​ดี​คน​หนึ่ง คือ​กษัตริย์​ดาวิด​แห่ง​ชาติ​ยิศราเอล ซึ่ง​หลงใหล​ภรรยา​ของ​อูรียา ทหาร​คน​หนึ่ง​ใน​กองทัพ​ของ​ดาวิด. เมื่อ​หญิง​คน​นั้น​ตั้ง​ครรภ์​กับ​ดาวิด เขา​จัด​การ​ให้​อูรียา​ไป​ตาย​ใน​สนาม​รบ. เมื่อ​ดาวิด​ได้​รับ​การ​ชี้​แจง​อย่าง​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา​ใน​เรื่อง​ความ​ผิด​ของ​ท่าน ท่าน​ก็​กลับ​ใจ​อย่าง​แท้​จริง​และ​ได้​รับ​ความ​โปรดปราน​จาก​พระเจ้า​อีก​ครั้ง.—2 ซามูเอล 11:2–12:14.

เทอร์เรลล์​สร้าง​ความ​สัมพันธ์​กับ​ผู้​หลบ​หนี​โดย​เรียก​เขา​ด้วย​ชื่อ​เล่น โจ​บี. เมื่อ​พวก​เขา​แวะ​ที่​ร้าน​ค้า​แห่ง​หนึ่ง​และ​เขา​สั่ง​เทอร์เรลล์​ให้​ไป​ซื้อ​อาหาร​และ​โทรทัศน์​กระเป๋า​หิ้ว พาลชินสกี​บอก​ว่า เขา​จะ​ฆ่า​คน​มาก​ขึ้น​อีก​ถ้า​เทอร์เรลล์​พยายาม​ทำ​ให้​คน​อื่น​รู้. โดย​ตระหนัก​ว่า​ผู้​หลบ​หนี​มี​จิตใจ​ที่​ไม่​มั่นคง เทอร์เรลล์​จึง​ยอม​ทำ​ตาม. ใน​ที่​สุด หลัง​จาก​ดู​ข่าว​อาชญากรรม​ของ​พาลชินสกี​ใน​ข่าว​ภาค 11 นาฬิกา พาลชินสกี​กอด​เทอร์เรลล์​และ​หลบ​ไป​อย่าง​เงียบ ๆ เข้า​ไป​ใน​ชาน​เมือง​บัลติมอร์.

ประมาณ​หนึ่ง​สัปดาห์​ต่อ​มา พาลชินสกี​ถูก​ต้อน​จน​มุม​ใน​บ้าน​หลัง​หนึ่ง​ที่​เขา​จับ​ตัว​ประกัน​ไว้. ผู้​หลบ​หนี​พูด​ถึง​เทอร์เรลล์ ซึ่ง​ทำ​ให้​เขา​ถูก​เรียก​ตัว​มา​ช่วย​ใน​การ​เกลี้ยกล่อม. น่า​เศร้า การ​เกลี้ยกล่อม​ไม่​ประสบ​ความ​สำเร็จ และ​ใน​วัน​ที่ 22 มีนาคม พาลชินสกี​ถูก​ยิง​เสีย​ชีวิต​โดย​เจ้าหน้าที่​ตำรวจ​ซึ่ง​บุก​เข้า​ไป​ใน​บ้าน​หลัง​นั้น. ไม่​มี​คน​อื่น​ได้​รับ​บาดเจ็บ.

หลัง​จาก​นั้น เทอร์เรลล์​รับ​วารสาร​ตื่นเถิด! ฉบับ​ที่​เขา​บอก​ว่า​มี​ส่วน​ช่วย​ชีวิต​เขา​ไว้​เป็น​จำนวน 600 เล่ม. เขา​แจก​วารสาร​นั้น​หลาย​ร้อย​เล่ม​ให้​คน​อื่น ๆ. เทอร์เรลล์​รู้สึก​ดีใจ​ที่​เขา​ทำ​เป็น​นิสัย​ที่​จะ​อ่าน​ความ​รู้​อัน​ล้ำ​ค่า​ใน​ตื่นเถิด! และ​เรา​รู้สึก​ว่า​คุณ​ก็​จะ​เป็น​เช่น​เดียว​กัน​ด้วย.

[ภาพ​หน้า 26]

วิลเลียม เทอร์เรลล์