ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเพ่งดูโลก

การเพ่งดูโลก

การ​เพ่ง​ดู​โลก

ความ​เดือดดาล​จาก​การ​ทดสอบ​ความ​สามารถ​ขับ​ขี่

หนังสือ​พิมพ์​อินเตอร์​แนชันแนล เฮรัลด์ ทริบูน ใน​ปารีส​รายงาน​ว่า “ตั้ง​แต่​ปี 1994 การ​ทำ​ร้าย​ทั้ง​ทาง​วาจา​และ​ทาง​กาย​ต่อ ‘ผู้​ตรวจ’ การ​ทดสอบ​ความ​สามารถ​ขับ​ขี่​ของ​ฝรั่งเศส 500 คน​มี​เพิ่ม​ขึ้น 150 เปอร์เซ็นต์.” จาก​ผู้​เข้า​ทดสอบ​ทั้ง​หมด มี​ไม่​ถึง 60 เปอร์เซ็นต์​ที่​ผ่าน​การ​ทดสอบ​ความ​สามารถ​ขับ​ขี่ 20 นาที และ​ผู้​เข้า​ทดสอบ​ซึ่ง​ไม่​ผ่าน​หลัก​สูตร​ขับ​รถ​ที่​ค่า​เรียน​แพง​ก็​สอบ​ไม่​ผ่าน​แทบ​ทุก​คน. ผู้​ที่​ทดสอบ​ไม่​ผ่าน​กำลัง​ระบาย​โทสะ​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ ต่อ​ผู้​ตรวจ​ซึ่ง​เคย​ถูก​ชก​และ​ถูก​ดึง​ผม​ลาก​ออก​จาก​รถ. ผู้​ตรวจ​คน​หนึ่ง​กระทั่ง​ถูก​ไล่​ตาม​โดย​ชาย​ที่​ถือ​กระบอก​ฉีด​ยา​ซึ่ง​เขา​อ้าง​ว่า​บรรจุ​เลือด​ที่​ปน​เปื้อน​เชื้อ​เอดส์. เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้ ชาย​อายุ 23 ปี​ซึ่ง​ทดสอบ​ไม่​ผ่าน​ได้​ยิง​ผู้​ตรวจ​ด้วย​ปืน​บรรจุ​กระสุน​ยาง. เพื่อ​ป้องกัน​ความ​รุนแรง​ทั้ง​หมด​นั้น มี​การ​เสนอ​แนะ​ให้​ผู้​ตรวจ​แจ้ง​ผล​สอบ​แก่​ผู้​ขับ​รถ​โดย​ทาง​ไปรษณีย์​แทน​การ​มา​ฟัง​ผล​ด้วย​ตัว​เอง.

การ​แต่งงาน​ของ​วัยรุ่น

ที่​อินเดีย ใน​บรรดา​หนุ่ม​สาว​ที่​แต่งงาน​กัน​นั้น​มี​มาก​ถึง 36 เปอร์เซ็นต์​ที่​อายุ​ระหว่าง 13 ถึง 16 ปี ตาม​การ​สำรวจ​เมื่อ​ไม่​นาน​นี้​ของ​หน่วย​งาน​อนามัย​ครอบครัว​แห่ง​ชาติ. การ​วิจัย​นั้น​ยัง​พบ​ด้วย​ว่า​ใน​หมู่​เด็ก​สาว​ที่​อายุ 17 ถึง 19 ปี มี​ถึง 64 เปอร์เซ็นต์​ที่​มี​บุตร​แล้ว​หรือ​ไม่​ก็​ตั้ง​ครรภ์ หนังสือ​พิมพ์​เอเชียน เอจ ใน​มุมไบ​รายงาน. รายงาน​นั้น​กล่าว​ว่า​ความ​เป็น​ไป​ได้​ที่​คุณ​แม่​วัย​สาว​ซึ่ง​อายุ 15 ถึง 19 ปี​จะ​เสีย​ชีวิต​เนื่อง​ด้วย​สาเหตุ​ต่าง ๆ ซึ่ง​เกี่ยว​พัน​กับ​การ​ตั้ง​ครรภ์​มี​มาก​เป็น​สอง​เท่า​ของ​พวก​คุณ​แม่​ที่​อายุ 20 ถึง 24 ปี. ยิ่ง​กว่า​นั้น การ​ติด​เชื้อ​ต่าง ๆ ที่​แพร่​ทาง​เพศ​สัมพันธ์​ใน​หมู่​หนุ่ม​สาว​ที่​อายุ 15 ถึง 24 ปี​ก็​เพิ่ม​เป็น​สอง​เท่า​ใน​ช่วง​ไม่​กี่​ปี​ที่​แล้ว. พวก​ผู้​เชี่ยวชาญ​ชี้​ว่า​ปัญหา​ที่​เพิ่ม​ขึ้น​นั้น​เนื่อง​จาก​การ​ขาด​ความ​รู้​และ​เนื่อง​จาก​ข้อมูล​ที่​ชัก​นำ​ให้​หลง​ผิด​จาก​คน​รุ่น​เดียว​กัน​และ​สื่อ​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​เพศ.

หมูป่า​เข้า​เมือง

หมูป่า ซึ่ง​ปกติ​แล้ว​เป็น​สัตว์​ป่า​ที่​ขี้อาย ได้​พบ​ว่า​เมือง​ต่าง ๆ ไม่​เพียง​มี​อาหาร​อุดม​สมบูรณ์​เท่า​นั้น​แต่​ยัง​เป็น​ที่​คุ้ม​ภัย​จาก​พวก​พราน​ด้วย หนังสือ​พิมพ์​ราย​สัปดาห์​ดี โวเคอ ใน​เยอรมนี​รายงาน. หมูป่า​ตัว​เมีย​กระทั่ง​ออก​ลูก​ใน​กรุง​เบอร์ลิน​ด้วย​ซ้ำ. สัตว์​ที่​หิว​โหย​เหล่า​นั้น​ไม่​เพียง​เพ่นพ่าน​ใน​บริเวณ​ป่า​หรือ​สวน​สาธารณะ​เท่า​นั้น. พวก​มัน​ยัง​ทำลาย​สวน​ใน​บ้าน​ด้วย​โดย​เคี้ยว​กิน​ส่วน​หัว​ของ​ดอกไม้. พวก​หมูป่า​ซึ่ง​อาจ​หนัก​ถึง 350 กิโลกรัม​ทำ​ให้​หลาย​คน​กลัว ซึ่ง​บาง​ครั้ง​พวก​เขา​หา​ที่​หลบ​ภัย​ใน​พุ่ม​ไม้​หรือ​ตู้​โทรศัพท์. สัตว์​เหล่า​นั้น​ทำ​ให้​เกิด​อุบัติเหตุ​ใน​การ​จราจร​นับ​ครั้ง​ไม่​ถ้วน. ตอน​กลับ​จาก​ทำ​งาน​มา​บ้าน ชาว​เมือง​หลาย​คน​เผชิญ​กับ​พวก​ผู้​บุกรุก​ที่​มี​ขน​สั้น​เต็ม​ตัว. ชาย​คน​หนึ่ง​ถาม​ว่า “ผม​จะ​เข้า​บ้าน​อย่าง​ไร​ใน​เมื่อ​มี​หมูป่า 20 ตัว​ยืน​ขวาง​ระหว่าง​รถ​ผม​กับ​ประตู​บ้าน?”

นัก​เรียน​เครียด

ช่วง​สอบ​ไล่​ปลาย​ปี​การ​ศึกษา​ทำ​ให้​นัก​เรียน​จำนวน​มาก​ใน​อินเดีย​มี​ความ​เครียด​เพิ่ม​ขึ้น หนังสือ​พิมพ์​เอเชียน เอจ ใน​มุมไบ​รายงาน. การ​เร่ง​ดู​หนังสือ​ก่อน​สอบ​และ​ความ​กดดัน​ให้​ได้​คะแนน​ดี ๆ ทำ​ให้​นัก​เรียน​บาง​คน​ทน​รับ​ไม่​ไหว และ​จำนวน​นัก​เรียน​ที่​ไป​หา​จิตแพทย์​ก็​เพิ่ม​เป็น​สอง​เท่า​ใน​ช่วง​ที่​มี​การ​สอบ. บิดา​มารดา​บาง​คน​เป็น​ห่วง​อยาก​เห็น​ลูก ๆ สอบ​ได้​คะแนน​ดี​จึง​ให้​งด​การ​บันเทิง​ทุก​อย่าง. จิตแพทย์ วี. เค. มันดรา ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “พวก​พ่อ​แม่​ทำ​ให้​ลูก ๆ ตก​อยู่​ใต้​ความ​กดดัน​หนัก​หนา​สาหัส. นอก​จาก​นั้น​ยัง​มี​การ​แข่งขัน​กับ​นัก​เรียน​คน​อื่น​ด้วย.” เขา​กล่าว​เพิ่ม​เติม​ว่า บิดา​มารดา​หลาย​คน “ไม่​ตระหนัก​ว่า​การ​ช่วย​บุตร​ให้​รู้สึก​ผ่อน​คลาย​จะ​ช่วย​ให้​จิตใจ​เขา​สดชื่น​แจ่ม​ใส​และ​ช่วย​ให้​เขา​เรียน​ดี​ขึ้น.” จิตแพทย์​ฮาร์ช เชตตี กล่าว​ว่า ความ​เครียด​จาก​การ​สอบ “ค่อย ๆ ลาม​ไป​ถึง​กระทั่ง​นัก​เรียน​ชั้น​มัธยม​ปี​ที่​หนึ่ง.”

โรค​หนึ่ง​มา​แทน​อีก​โรค​หนึ่ง

“สาม​สิบ​ปี​ที่​แล้ว ชาว​อียิปต์​สาม​ใน​ห้า​คน​เป็น​โรค​บิล​ฮาร์​เซีย (พยาธิ​ใบ​ไม้​เลือด) เป็น​โรค​ที่​ทำ​ให้​อ่อน​เพลีย​ซึ่ง​เกิด​จาก​ปรสิต​ที่​มี​หอย​ทาก​น้ำ​เป็น​พาหะ” วารสาร​ดิ อิโคโนมิสต์ กล่าว. การ​รณรงค์​ต่อ​สู้​โรค​บิลฮาร์เซีย​โดย​ใช้​ยา​สมัย​ใหม่​ได้​ลด​การ​คุกคาม​จาก​โรค​นี้​ลง​ไป​มาก​ที​เดียว. แต่​บัด​นี้​ดู​เหมือน​ว่า​วิธี​การ​หนึ่ง​ที่​ใช้​ใน​การ​รณรงค์​ตอน​แรก ๆ นั้น​อาจ “ทำ​ให้​หลาย​ล้าน​คน​ติด​เชื้อ​ตับ​อักเสบ​ซี ไวรัส​ชนิด​หนึ่ง​ที่​ทำ​ให้​ถึง​ตาย​ได้​ซึ่ง​อาจ​กลาย​เป็น​สิ่ง​ก่อ​ปัญหา​ใหญ่​ด้าน​สุขภาพ​ใน​อียิปต์​แทน​ที่​บิลฮาร์เซีย.” สาเหตุ​ก็​คือ​เข็ม​ที่​ใช้​ฉีด​ยา​แก้​บิลฮาร์เซีย “ถูก​ใช้​แล้ว​ใช้​อีก​และ​ไม่​ค่อย​มี​การ​ทำ​ไร้​เชื้อ​อย่าง​เหมาะ​สม. . . . พวก​นัก​วิทยาศาสตร์​ไม่​รู้​จัก​เชื้อ​ตับ​อักเสบ​ซี (HCV) ที่​มา​กับ​เลือด​ด้วย​ซ้ำ​จน​กระทั่ง​ปี 1988” วารสาร​นี้​กล่าว. ปัจจุบัน การ​สำรวจ​เผย​ให้​เห็น​ว่า​อียิปต์ “มี​จำนวน​ผู้​เสีย​ชีวิต​ด้วย​โรค​ตับ​อักเสบ​ซี​สูง​ที่​สุด​ใน​โลก.” กล่าว​กัน​ว่า​ชาว​อียิปต์​ราว 11 ล้าน​คน—ประมาณ 1 ใน 6—มี​เชื้อ​นี้ ซึ่ง 70 เปอร์เซ็นต์​ของ​ผู้​ติด​เชื้อ​จะ​มี​อาการ​กำเริบ​จน​เป็น​โรค​ตับ​เรื้อรัง และ 5 เปอร์เซ็นต์​จะ​เสีย​ชีวิต. โดย​เรียก​การ​รณรงค์​ต่อ​สู้​บิลฮาร์เซีย​ว่า “การ​แพร่​โรค​ที่​เกิด​จาก​ไวรัส​ครั้ง​ใหญ่​ที่​สุด​ครั้ง​เดียว​โดย​พวก​แพทย์​ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​จน​ถึง​ปัจจุบัน” บทความ​นั้น​กล่าว​เพิ่ม​เติม​ว่า “สิ่ง​ปลอบ​ใจ​อย่าง​เดียว​คือ​ว่า ถ้า​ไม่​มี​การ​รณรงค์​ครั้ง​ใหญ่​นั้น อีก​หลาย​คน​คง​ตาย​ไป​แล้ว​เพราะ​บิล​ฮาร์​เซีย.”

นัก​ฟุตบอล​ที่​ถูก​ทิ้ง

นิตยสาร​ข่าว​มารีอาน ใน​ปารีส​กล่าว​ว่า “นัก​ฟุตบอล​หนุ่ม ๆ ใน​แอฟริกา​ที่​ถูก​จ้าง​ไป​เล่น​ให้​ทีม​ต่าง ๆ ใน​ฝรั่งเศส​มี​มาก​กว่า 90 เปอร์เซ็นต์​ที่​จบ​ลง​ด้วย​การ​เป็น​คน​งาน​ผิด​กฎหมาย [โดย​ไม่​มี] ความ​หวัง​ใด ๆ ที่​จะ​เข้า​ร่วม​ใน​วง​สังคม​ฝรั่งเศส.” รายงาน​ทาง​การ​ฉบับ​หนึ่ง​ของ​รัฐบาล​ฝรั่งเศส​ประจาน​พวก​แมว​มอง​ที่​ไร้​ยางอาย​ซึ่ง​เดิน​ทาง​ไป​ทั่ว​โลก​เพื่อ​ค้น​หา “หนุ่ม​แข้ง​ทอง.” เด็ก​หนุ่ม​ชาว​แอฟริกา​หลาย​พัน​คน รวม​ทั้ง​ที่​อายุ​ต่ำ​กว่า 13 ปี​ประมาณ 300 คน​ถูก​ล่อ​ใจ​ด้วย​ความ​ฝัน​เรื่อง​อาชีพ​นัก​กีฬา​ที่​น่า​หลงใหล. แต่​พวก​เขา​ส่วน​ใหญ่​ไม่​ได้​เซ็น​สัญญา​อะไร​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​กับ​สโมสร และ​จึง​จบ​ลง​โดย​ไม่​ได้​เงิน​สัก​แดง​เดียว. นิตยสาร​ดัง​กล่าว​ให้​ความ​เห็น​ว่า “แฟ้ม​เอกสาร​ของ​พวก​ทนาย​ความ​ใน​คดี​เกี่ยว​กับ​นัก​ฟุตบอล มี​เรื่อง​น่า​เศร้า​มาก​กว่า​เรื่อง​น่า​ดีใจ​อยู่​มาก​ที​เดียว.”

ภาวะ​มลพิษ​ทำ​ให้ ภัย​พิบัติ​จาก​แมลง​เพิ่ม​ขึ้น

ดู​เหมือน​ว่า​ภาวะ​มลพิษ​ของ​น้ำ​ทำ​ให้​ปัญหา​เรื่อง​แมลง​ที่​กัด​คน​ยิ่ง​เพิ่ม​ขึ้น​ใน​แถบ​ใกล้​แม่น้ำ​ชิลี​ซึ่ง​ไหล​ผ่าน​อะเรคีปา​ซึ่ง​เป็น​เมือง​ใหญ่​ที่​สุด​เมือง​หนึ่ง​ของ​เปรู. ชาว​เมือง​ที่​นั่น​ใช้​ยา​ขับ​ไล่​แมลง​เท่า​ที่​มี​ใน​เมือง​จน​หมด​เพื่อ​สู้​กับ​การ​บุกรุก​ของ​แมลง​ขนาด​เล็ก​ที่​กัด​คน. ตาม​ที่​หนังสือ​พิมพ์​เอล โคเมอร์ซีโอ ใน​ลิมา​กล่าว เชื่อ​กัน​ว่า​ภัย​พิบัติ​นี้​คง​ต้อง​เป็น​ผล​จาก​ภาวะ​มลพิษ​ทาง​เคมี​ใน​แม่น้ำ​ชิลี. สาร​ชีวพิษ​ดู​เหมือน​ทำลาย​พวก​คางคก​ใน​แม่น้ำ​ไป​เป็น​จำนวน​มาก ซึ่ง “เป็น​สิ่ง​ควบคุม​ทาง​ชีวภาพ​ตาม​ธรรมชาติ​ของ​แมลง​เหล่า​นี้​มา​นาน​หลาย​ปี” หนังสือ​พิมพ์​นี้​กล่าว.

สะอาด​เกิน​ไป​ไหม?

ตาม​ที่​สถาบัน​เวชศาสตร์​สิ่ง​แวด​ล้อม​และ​สุขศาสตร์​โรง​พยาบาล​ที่​มหาวิทยาลัย​ไฟรบูร์ก​ประเทศ​เยอรมนี​กล่าว สาร​ต้าน​แบคทีเรีย​ซึ่ง​ใส่​เพิ่ม​ลง​ใน​ผลิตภัณฑ์​ที่​ใช้​ใน​ครัว​เรือน​อาจ​ไม่​มี​ประโยชน์​หรือ​อาจ​เป็น​อันตราย​ด้วย​ซ้ำ หนังสือ​พิมพ์​เยอรมัน​เวสท์แฟลิเช นาคริชเทน รายงาน. ศาสตราจารย์​ฟรานซ์ ดาชเนอร์ หัวหน้า​สถาบัน​นี้​กล่าว​ว่า “สาร​เหล่า​นั้น​ไม่​จำเป็น​สัก​อย่าง​เดียว. กลับ​เป็น​ตรง​กัน​ข้าม อาจ​เป็น​อันตราย​ต่อ​ผู้​ใช้​ได้.” อันตราย​ประการ​หนึ่ง​คือ ผลิตภัณฑ์​เหล่า​นั้น​บาง​อย่าง​มี​สาร​ซึ่ง​ทำ​ให้​เกิด​ภูมิ​แพ้​อย่าง​รุนแรง. เสื้อ​ผ้า​ที่​มี​กลิ่น​เหม็น​ก็​แค่​ต้อง​ซัก ไม่​ต้อง​ใช้​สาร​เคมี​ต้าน​แบคทีเรีย รายงาน​ข่าว​นี้​กล่าว. ดาชเนอร์​ลง​ความ​เห็น​ว่า “การ​ทำ​ความ​สะอาด​แบบ​ปกติ​ด้วย​ผลิตภัณฑ์​ทำ​ความ​สะอาด​ที่​ไม่​เป็น​อันตราย​ต่อ​สิ่ง​แวด​ล้อม​ก็​เพียง​พอ​แล้ว.”

เหล้า​องุ่น​ที่​แรง​ขึ้น

ตำรวจ​กับ​กลุ่ม​ผู้​สำนึก​ถึง​อันตราย​จาก​แอลกอฮอล์​ใน​บริเตน​เตือน​ว่า การ​เพิ่ม​ปริมาณ​แอลกอฮอล์​ใน​เหล้า​องุ่น​สามารถ​ทำ​ให้​ผู้​ที่​ดื่ม​เป็น​ครั้ง​คราว​เมา​ได้. เมื่อ​สิบ​ปี​ก่อน ปกติ​แล้ว​เฉพาะ​เหล้า​องุ่น​ชนิด​พิเศษ​หรือ​เหล้า​องุ่น​สำหรับ​ดื่ม​หลัง​อาหาร​เท่า​นั้น​ที่​มี​ปริมาณ​แอลกอฮอล์ 13 ถึง 14 เปอร์เซ็นต์. แต่​เดี๋ยว​นี้ เหล้า​องุ่น​สำหรับ​ดื่ม​ใน​แต่​ละ​วัน​โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว​มี​แอลกอฮอล์​ถึง 14 เปอร์เซ็นต์. เหล้า​องุ่น​เหล่า​นั้น​ส่วน​ใหญ่​มา​จาก​ประเทศ​ต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย, แอฟริกา​ใต้, และ​ชิลี ที่​ซึ่ง​อากาศ​อบอุ่น​ทำ​ให้​มี​องุ่น​ที่​สุก​งอม​กว่า หวาน​กว่า ซึ่ง​ใช้​ผลิต​เหล้า​องุ่น​ที่​แรง​กว่า. เมื่อ​รายงาน​เรื่อง​นี้ หนังสือ​พิมพ์​เดอะ ซันเดย์ ไทมส์ ใน​ลอนดอน​ยก​คำ​พูด​ของ​แมรี-แอน แมกคิบเบน ผู้​ช่วย​ผู้​อำนวย​การ​คณะ​กรรมการ​สอดส่อง​การ​ใช้​แอลกอฮอล์​มา​กล่าว​ที่​ว่า “ปริมาณ​แอลกอฮอล์​ใน​เหล้า​องุ่น​กำลัง​เพิ่ม​ขึ้น และ​จึง​กลาย​เป็น​เรื่อง​น่า​สับสน​สำหรับ​ผู้​บริโภค​ซึ่ง​ไม่​ได้​เอา​ใจ​ใส่​เรื่อง​ปริมาณ​แอลกอฮอล์​ที่​สูง​ขึ้น.”

ความ​กดดัน​ให้​ทำ​ตาม

การ​สำรวจ​ที่​รัฐบาล​ดำเนิน​การ​กับ​วัยรุ่น 500 คน​ใน​อังกฤษ​แจ้ง​ว่า พวก​หนุ่ม​สาว “กำลัง​ต่อ​สู้​กับ​ความ​กดดัน​ที่​เพิ่ม​ขึ้น​เพื่อ​ให้​ทำ​ตาม​ภาพ​ลักษณ์​ที่​ดี​พร้อม​ใน​โฆษณา​และ​สื่อ​ต่าง ๆ” หนังสือ​พิมพ์​เดอะ การ์เดียน ใน​ลอนดอน​รายงาน. ขณะ​ที่​พวก​เด็ก​สาว​มี​แนว​โน้ม​จะ​รับมือ​กับ​ความ​เครียด​นั้น​ด้วย​การ​ปรับ​ทุกข์​กับ​เพื่อน​สนิท แต่​พวก​เด็ก​หนุ่ม​พบ​ว่า​ยาก​จะ​ถ่ายทอด​ความ​รู้สึก​ของ​ตน​ออก​มา จึง​ยัง​ผล​ให้​หลาย​คน​แสดง​ความ​โกรธ​ออก​มา​ด้วย​พฤติกรรม​ก้าวร้าว​หรือ​ละเมิด​กฎหมาย. เนื่อง​ด้วย​ความ​รู้สึก​ที่​ประเมิน​ค่า​ตัว​เอง​ต่ำ​และ​ความ​ซึมเศร้า​ที่​เพิ่ม​ขึ้น ความ​เป็น​ไป​ได้​ที่​พวก​เด็ก​หนุ่ม​จะ​ฆ่า​ตัว​ตาย​จึง​มี​มาก​กว่า​พวก​เด็ก​สาว​ใน​วัย​เดียว​กัน​ถึง​สาม​เท่า. ใน​ทาง​ตรง​ข้าม ความ​เป็น​ไป​ได้​ที่​พวก​เด็ก​สาว​จะ​จงใจ​ทำ​ร้าย​ตัว​เอง​หรือ​มี​ความ​ผิด​ปกติ​ต่าง ๆ ใน​ด้าน​การ​กิน เช่น ภาวะ​เบื่อ​อาหาร​และ​อาการ​หิว​ไม่​หาย​นั้น​มี​มาก​กว่า​พวก​เด็ก​หนุ่ม​ถึง​สี่​เท่า.