คุณมีขาที่อยู่ไม่สุขไหม?
คุณมีขาที่อยู่ไม่สุขไหม?
ตอนกลางคืน คุณนอนอยู่บนเตียงอย่างสบายและรู้สึกผ่อนคลาย แล้วมันก็เริ่มขึ้น—ความรู้สึกเหมือนมีอะไรไต่อยู่ในขาคุณ. คุณทนเฉยไม่ได้. ทางเดียวที่จะหายคือลุกขึ้นเดินไปรอบ ๆ. การเดินช่วยให้ดีขึ้น แต่พอคุณนอนลง ความรู้สึกนั้นก็กลับมาอีก. คุณอยากหลับแต่หลับไม่ได้. ถ้าคุณมีอาการอย่างนี้ ไม่ใช่คุณคนเดียวที่เป็น. เพื่อเป็นตัวอย่าง อาจมีมากถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของประชากรสหรัฐที่มีอาการนี้.
ถึงแม้แพทย์หลายคนในปัจจุบันไม่ได้วินิจฉัยหรือรักษาความผิดปกตินี้อย่างถูกต้อง แต่ความผิดปกตินี้ไม่ใช่เรื่องใหม่. ในปี 1685 แพทย์คนหนึ่งเขียนเกี่ยวกับผู้ที่พอเข้านอนแล้วก็รู้สึก “รำคาญเหลือเกิน” ข้างในแขนและขาจนพวกเขา “หลับไม่ได้ ราวกับตกอยู่ในที่ ๆ ทรมานอย่างสาหัสสากรรจ์.”
ปัญหาส่วนหนึ่งในการรู้ถึงความผิดปกตินี้คือ ไม่มีการทดสอบในห้องปฏิบัติการใด ๆ ที่ระบุได้ว่าคนหนึ่งมีความผิดปกตินี้หรือไม่. ความผิดปกตินี้ระบุได้จากอาการที่เกิดขึ้น. แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิอาจถามว่า ‘คุณรู้สึกไหมว่าเหมือนมีอะไรไต่อยู่ในขาข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง? คุณเคยรู้สึกอย่างนั้นที่แขนไหม? ความรู้สึกไม่สบายนั้นหายไปไหมถ้าคุณลุกขึ้นเดิน, อาบน้ำ, หรือนวดขา? ความรู้สึกไม่สบายนั้นเกิดขึ้นเป็นบางครั้งไหมถ้าคุณต้องนั่งนาน ๆ เช่น ในรถยนต์หรือเครื่องบิน? ความรู้สึกนั้นรบกวนคุณมากที่สุดในตอนกลางคืนไหม? สมาชิกในครอบครัวคุณมีปัญหาเดียวกันนี้ไหม? คู่สมรสของคุณบอกไหมว่าบางครั้งคุณกระตุกขาตอนที่หลับอยู่?’ ถ้าคำตอบของคุณสำหรับคำถามเหล่านี้บางข้อคือใช่ แพทย์ก็อาจลงความเห็นว่าคุณเป็นโรคขาอยู่ไม่สุข (อาร์แอลเอส).
ผู้ที่เป็นโรคนี้
สำหรับบางคน อาร์แอลเอสเป็นความผิดปกติอ่อน ๆ ซึ่งแสดงอาการเป็นครั้งคราว. ส่วนสำหรับคนอื่น ๆ ความผิดปกตินี้หนักกว่ามาก ทำให้เป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรังซึ่งยังผลให้เกิดความล้าในเวลากลางวันซึ่งรบกวนชีวิตประจำวันอย่างหนักทีเดียว. ผู้เป็นโรคนี้คนหนึ่งบอกว่า “ผมรู้สึกราวกับว่ามีตัวหนอนกำลังไต่อยู่ในขาผม. ผมต้องเขย่าขาเพื่อให้ความรู้สึกนั้นหายไป.”
อาร์แอลเอสส่งผลกระทบทั้งชายและหญิง และผู้ที่เป็นโรคนี้กันมากที่สุดและมีอาการหนักกว่าคือพวกผู้สูงอายุ. ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้คือคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป แม้ว่าบ่อยครั้งมีการพบโรคนี้ก่อนหน้านั้นหลายสิบปีก็ตาม. แต่บางครั้ง ก็อาจสืบค้นร่องรอยของโรคนี้ย้อนไปจนถึงวัยเด็ก. แต่บ่อยครั้ง อาร์แอลเอสเกิดขึ้นในเด็กโดยไม่รู้. เนื่องจากพวกเขานั่งนิ่ง ๆ ไม่ได้หรืออยู่ไม่สุขตลอดเวลา หนุ่มสาวที่เป็นโรคอาร์แอลเอสมักถูกมองว่าเป็นพวก “อยู่ไม่สุข.”
แม้ผู้เชี่ยวชาญเข้าใจว่าอาร์แอลเอสเป็นความผิดปกติทางประสาท แต่ก็ยากจะบอกเจาะจงถึงสาเหตุของโรคนี้. คนที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ. อย่างไรก็ตาม มีการเชื่อมโยงอาร์แอลเอสกับปัจจัยบางอย่าง. ตัวอย่างเช่น อาร์แอลเอสติดต่อในตระกูล ผ่านทางกรรมพันธุ์จากบิดามารดาสู่บุตร. สตรีมีครรภ์บางคนเป็นโรคอาร์แอลเอสโดยเฉพาะในช่วงเดือนท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์. ภายหลังคลอดบุตร ความผิดปกตินี้ก็มักจะหายไป. บางครั้งความผิดปกติทางยา เช่น ระดับธาตุเหล็กต่ำหรือการขาดวิตามินบางอย่าง ก็กระตุ้นให้เกิดอาการไม่สบายเนื่องจากอาร์แอลเอส. โรคเรื้อรังก็อาจทำให้เกิดอาร์แอลเอส—โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะไตวาย, เบาหวาน, ข้ออักเสบรูมาทอยด์, และโรคที่ส่วนปลายเส้นประสาท ซึ่งทำให้เส้นประสาทในมือและเท้าเสียหาย.
การค้นหาวิธีแก้
น่าเศร้าที่ไม่มีวิธีรักษาอาร์แอลเอส และอาการของโรคนี้มักหนักขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป. แต่ข่าวดีคือว่า จะสามารถรักษาอาร์แอลเอสอย่างได้ผลโดยไม่ต้องใช้ยา. ไม่มีวิธีแก้อย่างเดียวที่ใช้ได้กับทุกคน วิธีที่ได้ผลกับคนหนึ่งอาจไม่ได้ผลกับอีกคนหนึ่ง. ผู้ที่มีอาการนี้จำต้องค้นหาว่านิสัยแบบไหน, กิจกรรมอะไร, หรือเวชกรรมแบบใดทำให้อาการหนักขึ้นหรือว่าทำให้ดีขึ้น.
การรักษาขั้นแรกคือ ให้วินิจฉัยว่ามีอาการทางยาอะไรไหมที่ทำให้เกิดอาการอาร์แอลเอสซึ่งอาจแก้ไขได้. สำหรับผู้ที่มีอาการขาดธาตุเหล็กหรือวิตามิน การให้ธาตุเหล็กหรือวิตามินบี 12 เสริมในอาหารก็อาจเพียงพอแล้วเพื่อบรรเทาอาการของอาร์แอลเอส. แต่การรับประทานวิตามินหรือแร่ธาตุมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้. ดังนั้น ควรให้แพทย์ช่วยตัดสินใจว่าคนนั้นควรรับธาตุเหล็กหรือวิตามินเสริมหรือไม่.
ในบางคน กาเฟอีนทำให้อาการของอาร์แอลเอสหนักขึ้น. กาแฟ, ชา, ช็อกโกแลต, และเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมล้วนมีกาเฟอีน. การลดหรืองดบริโภคกาเฟอีนอาจช่วยบรรเทาหรือขจัดอาการของอาร์แอลเอส. การบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก็มักทำให้ระยะเวลาหรือความรุนแรงของอาการเพิ่มขึ้น. โดยการลดหรืองดบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ บางคนพบว่าอาการบรรเทาลง.
การรับมือกับอาร์แอลเอส
ถ้าคุณเป็นอาร์แอลเอส การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอาจช่วยคุณ. เนื่องจากความล้าและความง่วงมักทำให้อาการหนักขึ้น เวลาเข้านอนที่กำหนดแน่นอนอาจช่วยได้. ถ้าทำได้ เป็นการดีที่สุดถ้าที่ที่คุณนอนมีสภาพแวดล้อมที่เงียบ, เย็น, และสบาย. การเข้านอนเวลาเดียวกันทุกคืนและตื่นขึ้นเวลาเดียวกันทุกเช้าก็เป็นประโยชน์เช่นกัน.
กำหนดการออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยคุณให้หลับดีตอนกลางคืน. แต่การออกกำลังกายมาก ๆ ภายในหกชั่วโมงก่อนเข้านอนอาจส่งผลตรงกันข้าม. ผู้มีอาการอาร์แอลเอสบางคนพบว่าการออกกำลังกายอย่างพอประมาณก่อนเวลาเข้านอนช่วยให้เขาหลับ. จงลองออกกำลังกายหลาย ๆ แบบเพื่อให้รู้ว่าแบบไหนจะดีที่สุดสำหรับคุณ.
อย่าฝืนแรงกระตุ้นให้เคลื่อนไหว. ถ้าคุณพยายามข่มห้ามการเคลื่อนไหว อาการมักจะหนักขึ้น. วิธีแก้ไขที่ดีที่สุดมักจะเป็นการลุกจากเตียงเดินไปมา. บางคนพบว่าการเดิน, การยืดแขนยืดขา, การอาบน้ำร้อนหรือน้ำเย็น, หรือการนวดขาทำให้อาการบรรเทาลงบ้าง. ถ้าคุณต้องนั่งเป็นเวลานาน เช่น ในตอนเดินทาง หากคุณทำให้จิตใจตื่นอยู่เสมอด้วยการอ่านหนังสือก็อาจช่วยได้.
การใช้ยารักษาโรคล่ะจะว่าอย่างไร? มูลนิธิโรคขาอยู่ไม่สุข ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองราลี มลรัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “การเริ่มการรักษาทางเภสัชวิทยา [ยา] อาจกลายเป็นสิ่งจำเป็น.” เนื่องจากไม่มียาอย่างหนึ่งอย่างใดที่ได้ผลกับทุกคนที่เป็นโรคอาร์แอลเอส แพทย์ที่รักษาคุณอาจจำเป็นต้องหายาสักชนิดหนึ่งที่ดีที่สุดสำหรับคุณ. บางคนพบว่าการใช้ยาชนิดต่าง ๆ ร่วมกันเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุด. บางครั้งยาที่ใช้ได้ผลอยู่ระยะหนึ่งกลับสูญเสียประสิทธิภาพ. เนื่องจากการรับประทานยาต่าง ๆ มีความเสี่ยงทางสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใช้ยาต่าง ๆ ร่วมกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับแพทย์ที่รักษาคุณเพื่อจะรู้ว่ายาอะไรจะได้ผลดีที่สุดสำหรับคุณ.