ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จากความเจ็บปวดสาหัสมาสู่อาการชา

จากความเจ็บปวดสาหัสมาสู่อาการชา

จาก​ความ​เจ็บ​ปวด​สาหัส​มา​สู่​อาการ​ชา

ก่อน​ทศวรรษ 1840 ผู้​ป่วย​ไม่​ได้​เข้า​ห้อง​ผ่าตัด​ด้วย​ความ​รู้สึก​กระวนกระวาย; พวก​เขา​รู้สึก​หวาด​หวั่น​สยอง​ขวัญ. เพราะ​เหตุ​ใด? เพราะ​ตอน​นั้น​ไม่​มี​การ​ให้​ยา​ชา. เดนนิส แฟรดิน กล่าว​ใน​หนังสือ​ของ​เขา​ชื่อ “เรา​ได้​พิชิต​ความ​เจ็บ​ปวด​แล้ว” (ภาษา​อังกฤษ) ว่า “เป็น​ที่​รู้​กัน​ว่า​พวก​ศัลยแพทย์​เข้า​ห้อง​ผ่าตัด​พร้อม​กับ​มือ​ถือ​ขวด​เหล้า​ข้าง​ละ​ขวด—ขวด​หนึ่ง​สำหรับ​ผู้​ป่วย​และ​อีก​ขวด​หนึ่ง​สำหรับ​แพทย์ เพื่อ​เขา​จะ​ทน​เสียง​แผด​ร้อง​ของ​ผู้​ป่วย​ได้.”

การ​ทำ​ให้​ผู้​ป่วย​เมา หรือ “เคลิบเคลิ้ม”!

แพทย์, ทันตแพทย์, และ​ผู้​ป่วย​จะ​พยายาม​ทุก​อย่าง​เพื่อ​ลด​ความ​เจ็บ​ปวด​จาก​การ​ผ่าตัด. แพทย์​ชาว​จีน​และ​ชาว​อินเดีย​ใช้​กัญชา​และ​ยาง​กัญชา. ฝิ่น​ก็​มี​การ​ใช้​กัน​อย่าง​กว้างขวาง​เช่น​กัน​ใน​หลาย​ส่วน​ของ​โลก รวม​ทั้ง​เครื่อง​ดื่ม​ที่​มี​แอลกอฮอล์​ด้วย. ดีออสกอริดิส แพทย์​ชาว​กรีก​ใน​สมัย​โบราณ—คน​แรก​ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​กัน​ว่า​เป็น​ผู้​ใช้​คำ “อะเนสทีเซีย (การ​ให้​ยา​ชา)”—บอก​ว่า​ฤทธิ์​ที่​ทำ​ให้​ชา​เกิด​จาก​ของ​เหลว​ที่​ผสม​จาก​ราก​แมนเดรก​กับ​เหล้า​องุ่น. ใน​สมัย​ต่อ​มา​แพทย์​บาง​คน​ได้​ทดลอง​ใช้​การ​สะกด​จิต​ด้วย​ซ้ำ.

ถึง​กระนั้น การ​บรรเทา​ความ​เจ็บ​ปวด​ก็​ยัง​ไม่​ค่อย​เป็น​ที่​น่า​พอ​ใจ. ดัง​นั้น พวก​ศัลยแพทย์​และ​ทันตแพทย์​จึง​ทำ​งาน​ให้​เร็ว​เท่า​ที่​จะ​ทำ​ได้ ที่​จริง พวก​เขา​ถูก​จัด​ลำดับ​ตาม​ความ​เร็ว​ใน​การ​ทำ​งาน. แต่​ผู้​ที่​ทำ​เร็ว​ที่​สุด​ก็​ยัง​ก่อ​ความ​เจ็บ​ปวด​เหลือ​เกิน. ผล​ก็​คือ ผู้​คน​ทั่ว​ไป​ยินดี​จะ​ทน​กับ​ความ​เจ็บ​ป่วย​ทุก​ชนิด​ตั้ง​แต่​เนื้อ​งอก​ไป​จน​ถึง​ปาก​ที่​มี​แต่​ฟัน​ผุ​มาก​กว่า​การ​ประสบ​ความ​เจ็บ​ปวด​สาหัส​จาก​การ​ผ่าตัด​หรือ​การ​ถอน​ฟัน.

น้ำมัน​วิทริอัล​หวาน​และ​แก๊ส​หัวเราะ

ใน​ปี 1275 ขณะ​ที่​เรย์มอนด์ ลุลลุส แพทย์​ชาว​สเปน​กำลัง​ทดลอง​สาร​เคมี​ต่าง ๆ เขา​ได้​ทำ​ของ​เหลว​ไว​ไฟ​ที่​ระเหย​ง่าย​ขึ้น​มา​ซึ่ง​เขา​เรียก​ว่า น้ำมัน​วิทริอัล​หวาน. ใน​ศตวรรษ​ที่ 16 แพทย์​ชาว​สวิส​โดย​กำเนิด​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ทั่ว​ไป​ว่า พารา​เซลซุส ได้​ให้​ลูก​ไก่​สูด​ไอ​น้ำมัน​วิทริอัล​หวาน​เข้า​ไป​และ​สังเกต​เห็น​ว่า​พวก​ลูก​ไก่​ไม่​เพียง​หลับ​ไป​เท่า​นั้น แต่​ยัง​ไม่​รู้สึก​เจ็บ​อีก​ด้วย. เช่น​เดียว​กับ​ลุลลุส​ซึ่ง​อยู่​สมัย​ก่อน​เขา พาราเซลซุส​ไม่​ได้​ทดลอง​ใช้​กับ​มนุษย์. ใน​ปี 1730 โฟรเบนิอุส นัก​เคมี​ชาว​เยอรมัน​ได้​ตั้ง​ชื่อ​ของ​เหลว​นี้​อย่าง​ที่​เรียก​ใน​ปัจจุบัน​ว่า อีเทอร์ ซึ่ง​เป็น​คำ​ภาษา​กรีก​ที่​หมาย​ความ​ว่า “เหมือน​ขึ้น​สวรรค์.” แต่​ก็​ต้อง​อีก 112 ปี​ให้​หลัง ฤทธิ์​ที่​ทำ​ให้​ชา​ของ​อีเทอร์​จึง​เป็น​ที่​เข้าใจ​ถ่องแท้.

ระหว่าง​นั้น ใน​ปี 1772 โจเซฟ พริสต์เลย์ นัก​วิทยาศาสตร์​ชาว​อังกฤษ​ได้​ค้น​พบ​แก๊ส​ไนตรัสออกไซด์. ที​แรก​ผู้​คน​คิด​ว่า​แก๊ส​นี้​เป็น​อันตราย​ถึง​ตาย​แม้​จะ​ได้​รับ​เพียง​เล็ก​น้อย. แต่​ใน​ปี 1799 ฮัมฟรีย์ เดวีย์ นัก​เคมี​และ​นัก​ประดิษฐ์​ชาว​บริเตน​ได้​ตัดสิน​ใจ​ตรวจ​สอบ​โดย​ทดลอง​กับ​ตัว​เอง. เขา​ถึง​กับ​ตะลึง​ที่​พบ​ว่า​ไนตรัส​ออกไซด์​ทำ​ให้​เขา​หัวเราะ เขา​จึง​ตั้ง​ชื่อ​มัน​ว่า​แก๊ส​หัวเราะ. เดวีย์​เขียน​เกี่ยว​กับ​คุณสมบัติ​ที่​ทำ​ให้​ชา​ของ​ไนตรัส​ออกไซด์ แต่​ก็​ไม่​มี​ใคร​ใน​สมัย​นั้น​ติด​ตาม​เรื่อง​นี้​ต่อ​ไป​อีก.

งาน​สังสรรค์​อีเทอร์​และ​แก๊ส​หัวเราะ

กิริยา​ตลก​ของ​เดวีย์​ขณะ​อยู่​ใต้​ฤทธิ์​แก๊ส​หัวเราะ—ซึ่ง​เขา​ติด​แก๊ส​นี้​อยู่​ระยะ​หนึ่ง—เป็น​ที่​รู้​กัน​ทั่ว​ไป. ต่อ​มา​ไม่​นาน​การ​สูด​แก๊ส​นี้​เพื่อ​ความ​เพลิดเพลิน​ก็​เป็น​ที่​นิยม. แม้​แต่​คณะ​มหรสพ​เคลื่อน​ที่​ก็​จัด​ให้​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​รายการ​แสดง​ของ​ตน​โดย​ขอ​ให้​ผู้​ชม​อาสา​มา​บน​เวที​และ​สูด​ไนตรัสออกไซด์​ที​ละ​คน. แก๊ส​นี้​ทำ​ให้​ยับยั้ง​ตัว​เอง​ไม่​ค่อย​ได้ และ​เพียง​ชั่ว​ครู่​กิริยา​ตลก​อย่าง​ยั้ง​ไม่​อยู่​ของ​เหล่า​อาสา​สมัคร​ก็​ทำ​ให้​เหล่า​ผู้​ชม​หัวเราะ​กัน​ท้อง​คัด​ท้อง​แข็ง.

ประมาณ​สมัย​เดียว​กัน การ​ใช้​อีเทอร์​เพื่อ​ความ​บันเทิง​ก็​เป็น​ที่​นิยม​เช่น​กัน. แต่​วัน​หนึ่ง แพทย์​หนุ่ม​ชาว​อเมริกัน​ชื่อ ครอว์ฟอร์ด ดับเบิลยู. ลอง ได้​สังเกต​เห็น​ว่า​เพื่อน ๆ ของ​เขา​ไม่​รู้สึก​เจ็บ​ปวด​เมื่อ​ทำ​ให้​ตัว​เอง​บาดเจ็บ​ขณะ​เดิน​โงนเงน​ไป​มา​ด้วย​ฤทธิ์​อีเทอร์. ทันที​นั้น​เอง​เขา​จึง​คิด​ถึง​ศักยะ​ของ​อีเทอร์​ใน​การ​ผ่าตัด. พอ​ดี​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ร่วม​ใน​เหล่า​ผู้ “สนุก​กับ​อีเทอร์” คือ​นัก​ศึกษา​ชื่อ เจมส์ เวนาเบิล มี​เนื้อ​งอก​ขนาด​เล็ก​สอง​แห่ง​ที่​เขา​ต้องการ​ให้​ตัด​ออก. แต่​เพราะ​กลัว​ความ​เจ็บ​ปวด​จาก​การ​ผ่าตัด เวนาเบิล​จึง​เลื่อน​การ​ผ่าตัด​ออก​ไป​เรื่อย ๆ. ดัง​นั้น ลอง​จึง​แนะ​ให้​เขา​รับ​การ​ผ่าตัด​ขณะ​อยู่​ใต้​ฤทธิ์​ของ​อีเทอร์. เวนาเบิล​ตก​ลง และ​ใน​วัน​ที่ 30 มีนาคม 1842 เขา​จึง​ได้​รับ​การ​ผ่าตัด​แบบ​ไม่​มี​ความ​เจ็บ​ปวด. แต่​ลอง​ก็​ไม่​ได้​ประกาศ​การ​พบ​ของ​เขา​จน​กระทั่ง​ปี 1849.

ทันตแพทย์​ก็​ค้น​พบ​การ​ให้​ยา​ชา​เช่น​กัน

ใน​เดือน​ธันวาคม 1844 ทันตแพทย์​ชาว​สหรัฐ​ชื่อ​ฮอเรซ เวลส์​ได้​เข้า​ชม​การ​แสดง​มหรสพ​เคลื่อน​ที่​ซึ่ง​การ์ดเนอร์ โคลตัน นัก​แสดง​คน​หนึ่ง​เอา​ไนตรัสออกไซด์​ออก​มา​แสดง. เวลส์​อาสา​ลอง​ดม​แก๊ส​นี้​แต่​ยัง​รักษา​สติ​เอา​ไว้​พอ​ให้​สังเกต​เห็น​ว่า​อาสา​สมัคร​คน​อื่น​เอา​ขา​กระแทก​ม้า​นั่ง​แข็ง ๆ แต่​ไม่​รู้สึก​เจ็บ​แม้​มี​เลือด​ไหล​ก็​ตาม. คืน​นั้น เวลส์​ตัดสิน​ใจ​ลอง​ใช้​ไนตรัสออกไซด์​ใน​การ​ตรวจ​รักษา​ฟัน—แต่​ก็​หลัง​จาก​ที่​เขา​ลอง​กับ​ตัว​เอง​ก่อน. เขา​จัด​การ​ให้​โคลตัน​ส่ง​แก๊ส​นี้​ให้​และ​ให้​จอห์น ริกส์ เพื่อน​ทันตแพทย์​ด้วย​กัน​ทำ​การ​ถอน​ฟัน​กราม​ซี่​ที่​ก่อ​ความ​รำคาญ​ออก​ซี่​หนึ่ง. การ​ถอน​ฟัน​นั้น​ประสบ​ความ​สำเร็จ.

เวลส์​ตัดสิน​ใจ​เปิด​เผย​การ​ค้น​พบ​ของ​เขา​โดย​แสดง​การ​ถอน​ฟัน​ต่อ​หน้า​เพื่อน ๆ ทันตแพทย์​ด้วย​กัน. แต่​เขา​ประหม่า​เกิน​ไป​และ​ให้​ผู้​ป่วย​ดม​แก๊ส​ไม่​มาก​พอ ดัง​นั้น ผู้​ป่วย​จึง​ร้อง​ออก​มา​เมื่อ​ฟัน​ถูก​ถอน. ผู้​ที่​เฝ้า​ชม​เวลส์​จึง​เยาะเย้ย​เขา​ทันที. แต่​พวก​เขา​น่า​จะ​ถาม​ผู้​ป่วย​เสีย​ก่อน เพราะ​หลัง​จาก​นั้น ผู้​ป่วย​สารภาพ​กับ​เวลส์​ว่า​แม้​เขา​จะ​ร้อง แต่​เขา​ก็​ไม่​ค่อย​เจ็บ​เท่า​ไร.

ใน​วัน​ที่ 30 กันยายน 1846 วิลเลียม มอร์ตัน ทันตแพทย์​ชาว​อเมริกัน ได้​ทำ​การ​ถอน​ฟัน​แบบ​ไม่​เจ็บ​ให้​ผู้​ป่วย​ซึ่ง​ยอม​ดม​อีเทอร์—สาร​ประกอบ​อย่าง​เดียว​กับ​ที่​ลอง​เคย​ใช้​ใน​ปี 1842. มอร์ตัน​เตรียม​อีเทอร์​ด้วย​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​ชาลส์ โทมัส แจ็กสัน นัก​เคมี​ผู้​มี​ชื่อเสียง. ต่าง​กับ​ลอง มอร์ตัน​จัด​การ​สาธิต​ให้​สาธารณชน​เห็น​คุณสมบัติ​ที่​ทำ​ให้​ชา​ของ​อีเทอร์​โดย​ใช้​กับ​ผู้​ป่วย​ที่​รับ​การ​ผ่าตัด. ที่​บอสตัน มลรัฐ​แมสซาชูเซตส์ เมื่อ​วัน​ที่ 16 ตุลาคม 1846 มอร์ตัน​ทำ​ให้​ผู้​ป่วย​มี​อาการ​ชา. แล้ว ดร. วอร์เรน​ซึ่ง​เป็น​ศัลยแพทย์​จึง​ทำ​การ​ผ่าตัด—โดย​ตัด​เนื้อ​งอก​ใต้​ขากรรไกร​ผู้​ป่วย​ออก. การ​ผ่าตัด​คราว​นั้น​เป็น​ความ​สำเร็จ​ครั้ง​ยิ่ง​ใหญ่. ใน​ไม่​ช้า​คำ​เล่า​ลือ​จึง​แพร่​ไป​ทั่ว​สหรัฐ​และ​ยุโรป​เหมือน​ไฟ​ไหม้​ป่า.

สิ่ง​ที่​ค้น​พบ​อีก

หลัง​จาก​การ​ค้น​พบ​ที่​น่า​ตื่นเต้น​นี้​มี​การ​ทดลอง​ต่อ​ไป​อีก​กับ​ไอ​ของ​สาร​อื่น​หลาย​ชนิด. คลอโรฟอร์ม​ซึ่ง​ถูก​ค้น​พบ​ใน​ปี 1831 มี​การ​ใช้​อย่าง​ประสบ​ผล​สำเร็จ​ใน​ปี 1847. ใน​บาง​แห่ง คลอโรฟอร์ม​กลาย​เป็น​ยา​ระงับ​ความ​รู้สึก​ที่​คน​ชอบ​มาก​กว่า. ไม่​นาน​ก็​มี​การ​ใช้​คลอโรฟอร์ม​กับ​ผู้​หญิง​ตอน​คลอด​บุตร รวม​ทั้ง​พระ​ราชินี​วิกตอเรีย​แห่ง​อังกฤษ​ด้วย​ใน​เดือน​เมษายน 1853.

น่า​เศร้า​ที่​ประวัติ​ของ​การ​ให้​ยา​ชา​ถูก​ทำ​ให้​ด่าง​พร้อย​อยู่​บ้าง. เกิด​การ​โต้​เถียง​กัน​อย่าง​เผ็ด​ร้อน​ใน​เรื่อง​ที่​ว่า​ใคร​ควร​ได้​รับ​เกียรติ​สูง​สุด​เนื่อง​จาก​การ​ค้น​พบ​การ​ให้​ยา​ชา (แน่นอน ไม่​ใช่​การ​ค้น​พบ​สาร​ประกอบ​ทาง​เคมี​ชนิด​นั้น)—ลอง, เวลส์, มอร์ตัน, หรือ​แจ็กสัน​ซึ่ง​เป็น​นัก​เคมี​ผู้​มี​ชื่อเสียง​ที่​ช่วย​มอร์ตัน. ไม่​เคย​มี​การ​บรรลุ​ความ​เห็น​ที่​ตรง​กัน แต่​เนื่อง​ด้วย​การ​รับ​รู้​เข้าใจ​เหตุ​การณ์​อย่าง​สงบ​ใน​ภาย​หลัง หลาย​คน​ยอม​รับ​การ​ให้​เกียรติ​ทั้ง​สี่​คน.

ระหว่าง​เวลา​นั้น มี​ความ​ก้าว​หน้า​ใน​ด้าน​การ​ให้​ยา​ชา​เฉพาะ​ที่. มี​การ​ใช้​ยา​ระงับ​ความ​รู้สึก​เหล่า​นั้น​เพื่อ​ทำ​ให้​ผู้​ป่วย​ยัง​มี​สติ​ขณะ​ที่​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ร่าง​กาย​ถูก​ทำ​ให้​ชา คือ​ไม่​มี​ความ​รู้สึก. ปัจจุบัน ทันตศัลยแพทย์​โดย​ทั่ว​ไป​ให้​ยา​ชา​เฉพาะ​ที่​เมื่อ​ทำ​งาน​กับ​ฟัน​และ​เหงือก และ​พวก​แพทย์​ใช้​ยา​เหล่า​นั้น​ใน​การ​ผ่าตัด​เล็ก​และ​การ​รักษา​บาดแผล. โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว​วิสัญญีแพทย์​จะ​ให้​ยา​ชา​เฉพาะ​ที่​แก่​สตรี​ที่​คลอด​บุตร.

เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป วิสัญญี​วิทยา​ได้​พัฒนา​เป็น​เวชศาสตร์​เฉพาะ​ทาง​แขนง​หนึ่ง. วิสัญญีแพทย์​สมัย​ใหม่​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​เตรียม​ผู้​ป่วย​สำหรับ​การ​ผ่าตัด. พวก​เขา​วาง​ยา​สลบ​โดย​ใช้​เครื่อง​มือ​ที่​ละเอียด​ซับซ้อน​และ​ยา​สลบ​ที่​มี​ส่วน​ผสม​ซับซ้อน​ของ​สาร​เคมี​หลาย​อย่าง พร้อม​กับ​ออกซิเจน. ที่​จริง ผู้​ป่วย​หลาย​คน​อาจ​ไม่​รู้​ตัว​ด้วย​ซ้ำ​ว่า​แพทย์​ให้​ดม​ยา​สลบ​เพราะ​มัก​มี​การ​ใช้​ยา​เหล่า​นั้น​หลัง​จาก​ได้​ให้​ยา​ชา​ไป​แล้ว​โดย​การ​ฉีด​เข้า​หลอด​เลือด​ดำ. วิสัญญีแพทย์​ยัง​มี​ส่วน​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​จัด​การ​กับ​ความ​เจ็บ​ปวด​ภาย​หลัง​ผ่าตัด​อีก​ด้วย.

ดัง​นั้น ถ้า​สัก​วัน​หนึ่ง​คุณ​ต้อง​รับ​การ​ผ่าตัด พยายาม​อย่า​กังวล​เกิน​ไป. ให้​นึก​ภาพ​ตัว​เอง​กำลัง​นอน​บน​โต๊ะ​ผ่าตัด​แบบ​หยาบ ๆ เมื่อ​สัก​สอง​ร้อย​ปี​มา​แล้ว. ประตู​เปิด​ออก​และ​ศัลยแพทย์​เดิน​ถือ​ขวด​เหล้า​สอง​ขวด​เข้า​มา. แล้ว​ใน​ทันที​นั้น เครื่อง​มือ​ที่​ซับซ้อน​ของ​วิสัญญีแพทย์​สมัย​ใหม่​ก็​ไม่​ค่อย​น่า​กลัว​เท่า​ไร​ใช่​ไหม?

[กรอบ​หน้า 22]

การ​ฝัง​เข็ม​วิธี​บรรเทา​ความ​เจ็บ​ปวด​ของ​ทาง​ตะวัน​ออก

การ​ฝัง​เข็ม​เป็น​การ​รักษา​โรค​ของ​ชาว​จีน​ใน​สมัย​โบราณ​ซึ่ง​กล่าว​กัน​ว่า​บรรเทา​ความ​เจ็บ​ปวด. ผู้​ทำ​การ​รักษา​จะ​แทง​เข็ม​ลง​ตรง​จุด​ต่าง ๆ บน​ร่าง​กาย​โดย​เฉพาะ ซึ่ง​มัก​จะ​อยู่​ห่าง​จาก​บริเวณ​ที่​รับ​การ​รักษา. เมื่อ​แทง​เข็ม​แล้ว​อาจ​มี​การ​ปั่น​เข็ม​อย่าง​รวด​เร็ว​หรือ​ต่อ​กับ​กระแส​ไฟฟ้า​แรง​ดัน​ต่ำ. สารานุกรม​บริแทนนิกา กล่าว​ว่า การ​ฝัง​เข็ม “ใช้​กัน​เป็น​ประจำ​ใน​ประเทศ​จีน​เพื่อ​ทำ​ให้​ชา​ระหว่าง​การ​ผ่าตัด. ชาว​ตะวัน​ตก​ผู้​มา​เยือน​ได้​เห็น​การ​ผ่าตัด​ที่​ยุ่งยาก​ซับซ้อน (และ​ตาม​ปกติ​แล้ว​จะ​เจ็บ​ปวด​มาก) ซึ่ง​ดำเนิน​การ​กับ​ผู้​ป่วย​ชาว​จีน​ที่​มี​สติ​ครบ​ถ้วน​ซึ่ง​ถูก​ทำ​ให้​ชา​เฉพาะ​ที่​โดย​การ​ฝัง​เข็ม​เท่า​นั้น.”

การ​ฝัง​เข็ม​ควร​ทำ​โดย​ผู้​รักษา​โรค​ที่​เชี่ยวชาญ​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​อบรม​ทาง​การ​แพทย์​เท่า​นั้น. ตาม​ที่​สารานุกรม​อเมริกานา กล่าว “อุบัติเหตุ​ร้ายแรง​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​เข็ม​ที่​ใช้​นั้น​แทง​ถูก​หัวใจ​หรือ​ปอด และ​อาจ​เกิด​โรค​ตับ​อักเสบ, การ​ติด​เชื้อ​เฉพาะ​ที่, และ​โรค​แทรก​ที่​คล้าย​กัน​ขึ้น​ได้​เมื่อ​มี​การ​ใช้​เข็ม​ที่​ไม่​ได้​ทำ​ให้​ไร้​เชื้อ.” แน่นอน การ​ทำ​ให้​สลบ​ก็​มี​ความ​เสี่ยง​ด้วย เช่น​เดียว​กับ​ที่​การ​ผ่าตัด​ก็​มี—ไม่​ว่า​จะ​ใช้​การ​ให้​ยา​ชา​แบบ​ไหน​ก็​ตาม.

[ภาพ​หน้า 23]

วิสัญญี​วิทยา​ได้​กลาย​เป็น​เวชศาสตร์​เฉพาะ​ทาง​แขนง​หนึ่ง

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Courtesy of Departments of Anesthesia and Bloodless Medicine and Surgery, Bridgeport Hospital - CT

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 21]

Pages 2 and 21: Reproduced from Medicine and the Artist (Ars Medica) by permission of the Philadelphia Museum of Art/Carl Zigrosser/ Dover Publications, Inc.