ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ทำป่าแอมะซอนให้เขียว

ทำป่าแอมะซอนให้เขียว

ทำ​ป่า​แอมะซอน​ให้​เขียว

โดย​ผู้​เขียน ตื่นเถิด! ใน​บราซิล

องค์การ​อาหาร​และ​เกษตร​แห่ง​สหประชาชาติ​รายงาน​ว่า ใน​ช่วง​ทศวรรษ 1990 แต่​ละ​ปี​โลก​สูญ​เสีย​ป่า​ธรรมชาติ​ไป​หลาย​ล้าน​ไร่. เฉพาะ​ใน​เขต​ป่า​แอมะซอน​ของ​บราซิล​แห่ง​เดียว เลื่อย​โซ่​ที่​ดัง​กระหึ่ม​และ​ไฟ​ป่า​ที่​ปะทุ​ได้​เปลี่ยน​พื้น​ที่​บริเวณ​หนึ่ง​ของ​ป่า​ดิบ​ซึ่ง​มี​ขนาด​ใหญ่​กว่า​ประเทศ​เยอรมนี​ให้​กลาย​เป็น​เพียง​ทุ่ง​หญ้า​ไป​แล้ว. แทน​ที่​ทัศนียภาพ​ของ​ทิว​ไม้​ซึ่ง​เคย​เป็น​ผืน​ไม่​ขาด​ตอน ร่ม​ไม้​ของ​ป่า​ใน​เวลา​นี้​ถูก​แทรก​เป็น​แห่ง ๆ ด้วย​พื้น​ป่า​ซึ่ง​เป็น​ดิน​เหนียว​แตก​ระแหง มี​วัชพืช​คลุม​อยู่​บาง ๆ และ​มอง​เห็น​ตอ​ไม้​ที่​โดน​แดด​แผด​เผา.

แม้​ว่า​การ​ทำลาย​ป่า​อย่าง​ไม่​หยุดหย่อน​เช่น​นี้​น่า​ตกใจ แต่​ก็​พอ​จะ​มอง​เห็น​ประกาย​แห่ง​ความ​หวัง. โครงการ​หนึ่ง​ซึ่ง​มี​ท่า​ว่า​จะ​ไป​ได้​ดี​ได้​เกิด​ผล​ขึ้น​มา​บ้าง​แล้ว. โครงการ​นี้​เรียก​ว่า วนเกษตร (agroforestry) และ​แหล่ง​ข้อมูล​หนึ่ง​พรรณนา​ถึง​โครงการ​นี้​ว่า​เป็น “ระบบ​ซึ่ง​มี​การ​ปลูก​ต้น​ไม้​ร่วม​กับ​การ​เพาะ​ปลูก​พืช​ผล​หรือ​ทุ่ง​หญ้า​เลี้ยง​สัตว์​ใน​ลักษณะ​ที่​สอดคล้อง​กลมกลืน​ใน​เชิง​นิเวศ​วิทยา . . . และ​เพื่อ​ยัง​ชีพ.” วนเกษตร​ดำเนิน​งาน​อย่าง​ไร? โครงการ​นี้​ประสบ​ความ​สำเร็จ​เช่น​ไร​บ้าง? อาจ​คาด​หวัง​อะไร​ได้​ใน​อนาคต​จาก​โครงการ​นี้? เพื่อ​จะ​ได้​คำ​ตอบ ตื่นเถิด! ได้​ไป​เยี่ยม​ชม​สถาบัน​วิจัย​แห่ง​ชาติ​ใน​ลุ่ม​น้ำ​แอมะซอน (INPA) ที่​มาเนาส์ เมือง​หลวง​ของ​รัฐ​อามาโซนัส ประเทศ​บราซิล.

การ​หนี​ที่​น่า​ผิด​หวัง

โยฮันเนส ฟาน เลเวน นัก​วิชาการ​พืช​ไร่​ชาว​ดัตช์​ประจำ​กอง​พืช​ไร่​ของ INPA ได้​ทำ​งาน​ร่วม​กับ​เกษตรกร​แถบ​ลุ่ม​น้ำ​แอมะซอน​ใน​ช่วง 11 ปี​ที่​ผ่าน​มา. แต่​ว่า​ใน​ตอน​แรก​เริ่ม​นั้น เกษตรกร​จำนวน​มาก​มา​อยู่​ใน​ป่า​แอมะซอน​ได้​อย่าง​ไร? การ​ทำ​เกษตรกรรม​ขนาด​ใหญ่​โดย​อาศัย​เครื่องจักร​กล​ใน​แถบ​ภาค​กลาง​และ​ภาค​ใต้​ของ​บราซิล​เริ่ม​แย่ง​ที่​ดิน​และ​ตัด​หน​ทาง​ทำ​มา​หา​กิน​ของ​เกษตรกร​ราย​ย่อย ทำ​ให้​พวก​เขา​ต้อง​ย้าย​ถิ่น​ฐาน. ส่วน​เกษตรกร​ที่​ปลูก​ปอ​กระเจา ซึ่ง​ใช้​ใน​การ​ทอ​กระสอบ ก็​พบ​ว่า​อาชีพ​ทำ​กิน​ของ​ตน​สูญ​สิ้น​ไป​เมื่อ​ถุง​ที่​ทำ​จาก​พลาสติก​เข้า​มา​แทน​ที่​กระสอบ. นอก​จาก​นี้ ก็​ยัง​มี​อีก​หลาย​คน​ซึ่ง​อาศัย​อยู่​ใน​เขต​ที่​มี​ปัญหา​ขาด​แคลน​น้ำ จึง​ถูก​บีบ​ให้​ย้าย​ออก​ไป​แสวง​หา​ที่​ดิน​ที่​อุดม​กว่า. แต่​พวก​เขา​จะ​ไป​ที่​ไหน​ได้​ล่ะ? เมื่อ​ได้​ยิน​คำ​มั่น​สัญญา​เกี่ยว​กับ​ที่​ดิน, ที่​อยู่​อาศัย, และ​ดิน​อัน​อุดม​สมบูรณ์​ใน​แอมะซอน พวก​เขา​จึง​เลือก​ที่​จะ​เดิน​ใน​ถนน​สาย​ใหม่​ซึ่ง​นำ​ไป​สู่​ป่า​ดิบ.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ไม่​ช้า​เกษตรกร​ก็​พบ​ว่า​พวก​เขา​ได้​มา​ตั้ง​รกราก​ใน​พื้น​ที่​ซึ่ง​มี​ฝน​ตก​ชุก, ความ​ชื้น​สูง, ภูมิ​อากาศ​ร้อน, และ​ดิน​ที่​ปลูก​พืช​ได้​ไม่​ดี. ไม่​เกิน​สอง​ถึง​สี่​ปี ดิน​ก็​จืด​ไป​หมด และ​ปัญหา​เดิม​ก็​เกิด​ขึ้น​อีก คือ​คน​ยาก​จน​บน​ผืน​ดิน​ที่​ปลูก​พืช​ได้​ไม่​ดี. เกษตรกร​ผู้​หมด​ทาง​ไป​แก้​ปัญหา​ด้วย​การ​ถาง​ป่า​มาก​ขึ้น​เพื่อ​จะ​มี​ที่​เพาะ​ปลูก​ต่อ​ไป.

จริง​อยู่ เกษตรกร​ราย​ย่อย​ไม่​ใช่​ตัวการ​สำคัญ​ที่​ทำลาย​ป่า​แอมะซอน. ฟาร์ม​ปศุสัตว์​ขนาด​ใหญ่, บริษัท​ยักษ์​ใหญ่​ที่​ทำ​ธุรกิจ​การ​เกษตร, การ​ทำ​เหมือง​แร่​และ​อุตสาหกรรม​ไม้, และ​โครงการ​ก่อ​สร้าง​เขื่อน​ไฟฟ้า​พลัง​น้ำ เป็น​สาเหตุ​ใหญ่​ที่​ทำ​ให้​เกิด​การ​ทำลาย​ป่า. ถึง​กระนั้น การ​ที่​เกษตรกร​ราย​ย่อย​หลั่งไหล​เข้า​มา​และ​วิธี​ที่​พวก​เขา​ถาง​เผา​ป่า​เพื่อ​การ​เพาะ​ปลูก​ก็​มี​ส่วน​อยู่​ด้วย​ใน​การ​ทำลาย​ป่า.

ปรึกษา “ห้อง​สมุด​ที่​มี​ชีวิต”

ฟาน เลเวน กล่าว​ว่า “ไม่​ว่า​เกษตรกร​ที่​ยาก​จน​เหล่า​นี้​ก่อ​ผล​กระทบ​ต่อ​ป่า​มาก​เพียง​ไร พวก​เขา​ก็​อยู่​ที่​นี่​แล้ว​และ​ไม่​มี​ที่​จะ​ไป. ดัง​นั้น เพื่อ​ชะลอ​การ​ทำลาย​ป่า เรา​ต้อง​ช่วย​พวก​เขา​ให้​เลี้ยง​ชีพ​บน​ที่​ดิน​ของ​ตน​ได้​โดย​ไม่​จำเป็น​ต้อง​ตัด​ไม้​ทำลาย​ป่า​เพิ่ม​ขึ้น.” ใน​จุด​นี้​แหละ​ที่​โครงการ​วนเกษตร​เข้า​มา​มี​บทบาท โดย​สอน​วิธี​เพาะ​ปลูก​แบบ​ที่​ลด​การ​สูญ​เสีย​หน้า​ดิน​และ​ทำ​ให้​เกษตรกร​สามารถ​ใช้​ที่​ดิน​แปลง​เดิม​ซึ่ง​ถาง​แล้ว​ได้​หลาย ๆ ปี. นัก​วิจัย​ได้​ราย​ละเอียด​ต่าง ๆ ที่​ใช้​ใน​โครงการ​นี้​มา​อย่าง​ไร?

ก่อน​ที่​จะ​เริ่ม​โครงการ​วนเกษตร​ของ INPA ได้​มี​การ​สำรวจ, ทำ​แบบ​สอบ​ถาม, รวม​ทั้ง​เก็บ​ตัว​อย่าง​ดิน​และ​พืช​ใน​พื้น​ที่​สำรวจ​เป็น​เวลา​หลาย​ปี. โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง ข้อมูล​อัน​มี​ค่า​หลาย​อย่าง​ได้​มา​จาก​การ​สัมภาษณ์ “ห้อง​สมุด​ที่​มี​ชีวิต”—คือ​ชาว​อินเดียน​แดง​และ​ชาว​คาบอคลุส​ซึ่ง​เป็น​ลูก​ครึ่ง​เชื้อ​สาย​คน​ผิว​ขาว, คน​ผิว​ดำ, และ​อินเดียน​แดง ซึ่ง​บรรดา​บรรพบุรุษ​ของ​พวก​เขา​ตั้ง​รกราก​อยู่​ใน​ลุ่ม​น้ำ​แอมะซอน.

คน​เหล่า​นี้​ที่​อาศัย​ใน​ลุ่ม​น้ำ​แอมะซอน​มี​ความ​รู้​เป็น​คลัง​ทรัพย์. พวก​เขา​คุ้น​เคย​กับ​ภูมิ​อากาศ​ใน​ท้องถิ่น​และ​ชนิด​ของ​ดิน—ดิน​ดำ, ดิน​เหนียว​สี​แดง, ดิน​เหนียว​สี​ขาว, ดิน​แดง, และ​ดิน​เหนียว​ปน​ทราย—ตลอด​จน​รู้​จัก​ผลไม้, เครื่องเทศ, และ​พืช​ที่​ใช้​เป็น​ยา​อัน​เป็น​ผล​ผลิต​ของ​ป่า​แห่ง​นี้. ด้วย​การ​ตักตวง​ประโยชน์​จาก​ความ​รู้​เช่น​นี้ นัก​วิชาการ​พืช​ไร่​และ​เกษตรกร​จึง​กลาย​มา​เป็น​เพื่อน​ร่วม​งาน​กัน​ใน​การ​วิจัย ซึ่ง​เป็น​ความ​ร่วม​มือ​ที่​ช่วย​ปรับ​ปรุง​โครงการ​นี้​ให้​ดี​ยิ่ง​ขึ้น.

ป่า​ไม่​ใช่​เหมือง

โครงการ​วนเกษตร​ดำเนิน​การ​อย่าง​ค่อย​เป็น​ค่อย​ไป. ใน​ขั้น​แรก ได้​มี​การ​ช่วย​ให้​เกษตรกร​สำนึก​ว่า​ไม่​ควร​มอง​ป่า​เหมือน​กับ​มอง​เหมือง​แร่—ไป​ทำ​งาน​ที่​นั่น​แล้ว​หลัง​จาก​นั้น​ก็​ทิ้ง​ไป—แต่​ให้​ถือ​ว่า​ป่า​เป็น​ทรัพยากร​ที่​สามารถ​ฟื้นฟู​ขึ้น​มา​ใหม่. ใน​ขั้น​ต่อ​มา เกษตรกร​ก็​จะ​ได้​รับ​คำ​แนะ​นำ​ให้​ปลูก​ไม่​เฉพาะ​มัน​สำปะหลัง, กล้วย, ข้าว​โพด, ข้าว, ถั่ว, และ​พืช​ผล​ที่​โต​เร็ว​อื่น ๆ แต่​ให้​ปลูก​ต้น​ไม้​ด้วย. “ต้น​ไม้​รึ?” เกษตรกร​ถาม. “ทำไม​ล่ะ?”

เนื่อง​จาก​เกษตรกร​มัก​มา​จาก​พื้น​ที่​ซึ่ง​ต้น​ไม้​ไม่​ได้​มี​บทบาท​ใน​การ​เกษตร​และ​เนื่อง​จาก​พวก​เขา​ไม่​คุ้น​เคย​กับ​ต้น​ไม้​ชนิด​ต่าง ๆ ที่​มี​อยู่​ใน​ป่า​แอมะซอน​ด้วย นัก​วิจัย​จึง​ต้อง​ให้​คำ​อธิบาย​อย่าง​ละเอียด​ถึง​ผล​ประโยชน์​ของ​การ​ปลูก​ต้น​ไม้. พวก​เขา​อธิบาย​ว่า​ดิน​ใน​ป่า​ไม่​สามารถ​เก็บ​กัก​สาร​อาหาร​ที่​จำเป็น​สำหรับ​พวก​ธัญพืช. ก่อน​ที่​สาร​อาหาร​จะ​ถูก​ดูด​ซึม​เข้า​ไป​ใน​ธัญพืช​อย่าง​เช่น ข้าว​โพด ฝน​จะ​ชะ​สาร​อาหาร​เหล่า​นี้​ไป​เสีย​ก่อน. ใน​ทาง​ตรง​ข้าม ต้น​ไม้​ช่วย​ซึมซับ​และ​สะสม​สาร​อาหาร​และ​รักษา​ความ​อุดม​ของ​ดิน. นอก​จาก​นั้น ต้น​ไม้​ให้​อาหาร​และ​ร่ม​เงา​แก่​สัตว์​ทั้ง​หลาย. เกษตรกร​ยัง​สามารถ​ใช้​ต้น​ไม้​เป็น​เสา​รั้ว​ที่​มี​ชีวิต​เพื่อ​แสดง​เขต​ที่​ดิน​ของ​ตน​ได้​ด้วย. และ​แน่นอน ไม้​ผล​เป็น​แหล่ง​ราย​ได้​อีก​ทาง​หนึ่ง​ซึ่ง​ให้​ทั้ง​ผลไม้​และ​เนื้อ​ไม้.

นอก​จาก​นี้​แล้ว ยัง​ได้​มี​การ​สนับสนุน​เกษตรกร​ให้​ปลูก​ต้น​ไม้​หลาย​ชนิด​และ​หลาย​พันธุ์. ทำไม? เพื่อ​จะ​เก็บ​เกี่ยว​ผล​และ​ตัด​ไม้​ได้​หลาย ๆ ชนิด. โดย​วิธี​นี้ เกษตรกร​หลีก​เลี่ยง​การ​ลงเอย​ด้วย​การ​เก็บ​เกี่ยว​ผล​เพียง​หนึ่ง​หรือ​สอง​ชนิด​เป็น​ปริมาณ​มาก ๆ ซึ่ง​เขา​ต้อง​ขาย​ไป​ใน​ราคา​ต่ำ เพราะ​ทุก​คน​ต่าง​ก็​ขาย​ผล​ผลิต​อย่าง​เดียว​กัน​พร้อม ๆ กัน.

โครงการ​ระยะ​แรก​ให้​ดอก​ผล

มี​การ​ปลูก​ต้น​ไม้​ชนิด​ใด? “ใน​ขณะ​นี้ เรา​ใช้​ไม้​ผล​ประมาณ 30 ถึง 40 ชนิด​ตาม​ที่​มี​ชื่อ​อยู่​ใน​นี้” นัก​วิชาการ​พืช​ไร่ ฟาน เลเวน กล่าว​ขณะ​ที่​ยื่น​ราย​ชื่อ​ต้น​ไม้​ซึ่ง​มี​ชื่อ​แปลก ๆ ทั้ง​หมด 65 ชื่อ​ให้​เรา. เพื่อ​แสดง​ว่า​โครงการ​นี้​ได้​ผล ฟาน เลเวน​ให้​เรา​ดู​ภาพ​ถ่าย​ของ​ป่า​ที่​ถูก​ถาง​แล้ว​แปลง​เดียว​กัน​แต่​ถ่าย​ใน​ช่วง​เวลา​ต่าง ๆ กัน.—โปรด​ดู​ใน​กรอบ “วิธี​ที่​จะ​ทำ​ให้​ป่า​ฟื้น​ตัว.”

การ​ไป​ชม​ตลาด​ใน​เมือง​มาเนาส์​ทำ​ให้​เห็น​ได้​ว่า​โครงการ​วนเกษตร​ใน​ระยะ​แรก​นี้​กำลัง​เกิด​ดอก​ออก​ผล. ใน​ตลาด​เหล่า​นี้ มี​ผลไม้​ที่​ปลูก​ใน​ท้องถิ่น​ขาย​มาก​กว่า 60 ชนิด​แล้ว. สำหรับ​ใน​อนาคต​นั้น นัก​วิชาการ​พืช​ไร่​หวัง​ไว้​ว่า ยิ่ง​วนเกษตร​ประสบ​ผล​สำเร็จ​มาก​เท่า​ไร การ​ทำลาย​ป่า​ก็​จะ​ยิ่ง​ช้า​ลง​เท่า​นั้น. ที่​จริง เมื่อ​เกษตรกร​ได้​เรียน​รู้​แล้ว​เกี่ยว​กับ​วิธี​ปลูก​พืช​ซ้ำ​ใน​ไร่​เดิม เขา​อาจ​เลิก​ตัด​ไม้​ทำลาย​ป่า​เพื่อ​ทำ​ไร่​ใน​ที่​ใหม่.

ความ​พยายาม​ที่​น่า​ชมเชย​ดัง​กล่าว​คง​ไม่​อาจ​ขจัด​ภัย​คุกคาม​ที่​มี​ต่อ​สภาพ​ทาง​นิเวศ​วิทยา​ของ​แผ่นดิน​โลก​ให้​หมด​ไป. แต่​ความ​พยายาม​เหล่า​นี้​แสดง​ให้​เห็น​ถึง​สิ่ง​ที่​อาจ​ทำ​ได้ เมื่อ​มี​การ​ปฏิบัติ​ต่อ​ทรัพยากร​อัน​มี​ค่า​ด้วย​ความ​นับถือ.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 24]

ส้ม​และ​อะเซโรลา​ต้อง​หลบ​ให้

ส้ม สัญลักษณ์​อัน​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี​ของ​วิตามิน​ซี หมอง​ไป​ถนัด​ตา​เมื่อ​เทียบ​กับ​ผลไม้​ชนิด​หนึ่ง​ซึ่ง​ยกย่อง​กัน​ว่า​เป็น “ราชินี​องค์​ใหม่​แห่ง​วิตามิน​ซี.” แม้​แต่​อะเซโรลา​ซึ่ง​ครอง​ความ​ยิ่ง​ใหญ่​ใน​หมู่​ผลไม้​ที่​อุดม​ด้วย​วิตามิน​ซี​ก็​ยัง​ต้อง​ยอม​รับ​ความ​พ่าย​แพ้. ผู้​ครอง​บัลลังก์​องค์​ใหม่​คือ​ใคร? ผลไม้​เล็ก ๆ แต่​มี​สี​ม่วง​สด ขนาด​ประมาณ​ผล​องุ่น และ​เติบโต​ตาม​ธรรมชาติ​ใน​ที่​ราบ​น้ำ​ท่วม​ถึง​ของ​แอมะซอน. ชื่อ​ของ​มัน​คือ​อะไร? คามู-คามู. ผลไม้​นี้​สม​ควร​ได้​ครอง​บัลลังก์​ไหม? วารสาร​ฉบับ​หนึ่ง​ใน​บราซิล​ชี้​ว่า ส้ม 100 กรัม มี​วิตามิน​ซี 41 มิลลิกรัม ส่วน​อะเซโรลา 100 กรัม มี​วิตามิน​ซี 1,790 มิลลิกรัม. ทว่า คามู-คามู ใน​ปริมาณ​เท่า​กัน​มี​วิตามิน​ซี​มาก​ถึง 2,880 มิลลิกรัม—70 เท่า​ของ​ส้ม!

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Acerola and camu-camu: Silvestre Silva/Reflexo

[กรอบ/ภาพ​หน้า 25]

ศิลปะ​ใน​การ​ปลูก​ต้น​ไม้​เป็น​ชั้น ๆ

หลัง​จาก​ที่​เกษตรกร​ตอบรับ​โครงการ​วนเกษตร​ไป​บาง​ส่วน​แล้ว โยฮันเนส ฟาน เลเวน นัก​วิชาการ​พืช​ไร่​ก็​สามารถ​ยื่น​ข้อ​เสนอ​ที่​ละเอียด​ยิ่ง​ขึ้น​แก่​พวก​เขา—โครง​งาน​เกี่ยว​กับ​สวน​ต้น​ไม้​ของ​พวก​เขา​ใน​อนาคต. แทน​ที่​จะ​เลือก​ปลูก​ต้น​อะไร​ก็​ได้​คละ​ปน​กัน​ไป ได้​มี​การ​จำลอง​ระบบ​เกษตร​นิเวศ​โดย​ใช้​คอมพิวเตอร์​ช่วย​กำหนด​ว่า​ควร​ปลูก​พืช​ชนิด​ใด​บ้าง​และ​ควร​จัด​เรียง​อย่าง​ไร. การ​ปลูก​ต้น​ไม้​เป็น​ชั้น ๆ หรือ​การ​จัด​ต้น​ไม้​ขนาด​เล็ก, ขนาด​กลาง, และ​ขนาด​ใหญ่​ให้​เติบโต​ด้วย​กัน​เป็น​กลุ่ม ๆ ต้อง​ใช้​ศิลปะ.

ยก​ตัว​อย่าง กลุ่ม​แรก​ซึ่ง​ประกอบ​ไป​ด้วย​ฝรั่ง, กัวรานา, และ​คูปัวซู (พืช​สกุล​เดียว​กับ​ต้น​โกโก้) จะ​ปลูก​ไว้​ชิด ๆ กัน. ต้น​ไม้​เหล่า​นี้​ต้น​ไม่​สูง​ใหญ่​และ​ให้​ดอก​ผล​เร็ว. กลุ่ม​ที่​สอง ซึ่ง​เป็น​ต้น​ไม้​ขนาด​กลาง​อย่าง​เช่น บิริบา, อะโวคาโด, และ​ปาล์ม​มูรูมูรู ต้องการ​ระยะ​ห่าง​ระหว่าง​ต้น​มาก​กว่า. ต้น​ไม้​ใน​กลุ่ม​นี้ โดย​ทั่ว​ไป​ให้​ผล​ช้า​กว่า​กลุ่ม​แรก. กลุ่ม​ที่​สาม ซึ่ง​เป็น​พวก​ต้น​ไม้​ใหญ่​อย่าง​เช่น บราซิล​นัต, พีเคีย, และ​มะฮอกกานี ต้องการ​ระยะ​ห่าง​ระหว่าง​ต้น​มาก​ขึ้น​ไป​อีก. ต้น​ไม้​บาง​ชนิด​ใน​กลุ่ม​สุด​ท้าย​นี้​ให้​ผล, บาง​ชนิด​ให้​ไม้​ราคา​ดี, และ​บาง​ชนิด​ให้​ผล​ผลิต​ทั้ง​สอง​อย่าง. เมื่อ​ต้น​ไม้​ทั้ง​สาม​กลุ่ม​นี้​เติบโต​ขึ้น​ด้วย​กัน ไร่​ก็​จะ​ละม้าย​คล้ายคลึง​กับ​ป่า​ธรรมชาติ.

[ภาพ​หน้า 25]

โยฮันเนส ฟาน เลเวน (ขวา​สุด)

ตลาด​ใน​เมือง​มาเนาส์​ขาย​ผลไม้​ที่​ปลูก​ใน​ท้องถิ่น

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

J. van Leeuwen, INPA, Manaus, Brazil

[กรอบ/ภาพ​หน้า 26]

วิธี​ที่​จะ​ทำ​ให้​ป่า​ฟื้น​ตัว

1. กุมภาพันธ์ 1993—ที่​ดิน​แปลง​นี้​ใน​ป่า​แอมะซอน​กลาง​ถูก​ถาง​เผา​ใน​เดือน​กันยายน 1992. ใน​เดือน​มกราคม 1993 มี​การ​ปลูก​สับปะรด. หนึ่ง​เดือน​ต่อ​มา ได้​มี​การ​ปลูก​ไม้​ผล​ด้วย.

2. มีนาคม 1994—สับปะรด​โต​แล้ว และ​ไม้​ผล​ที่​ปลูก​ไว้​ก็​เริ่ม​มอง​เห็น​ได้​ชัด​ขึ้น. หลัก​ไม้​ติด​ป้าย​เล็ก ๆ ที่​ปัก​ไว้​ข้าง ๆ ต้น​บอก​ให้​ทราบ​ว่า​ต้น​ไม้​เหล่า​นี้​คือ​ต้น อะบิว, บราซิล​นัต, พีช​ปาล์ม ​ฯ ล​ฯ. การ​กำจัด​วัชพืช​ที่​เกษตรกร​ทำ​รอบ ๆ พืช​ผล​ให้​ประโยชน์​แก่​ต้น​ไม้​ด้วย. ราว​กับ​จะ​แสดง​ความ​ขอบคุณ ต้น​ไม้​เริ่ม​ช่วย​ฟื้นฟู​ความ​อุดม​สมบูรณ์​ของ​ดิน.

3. เมษายน 1995—พืช​ผล​ที่​โต​เร็ว​ถูก​เก็บ​เกี่ยว นำ​ไป​รับประทาน หรือ​ขาย แต่​ไม้​ผล​ซึ่ง​มี​หลาก​ชนิด​ยัง​คง​เติบโต​ต่อ​ไป.

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Pictures 1-3: J. van Leeuwen, INPA-CPCA, Manaus, Brazil