ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

สีสันอันงดงามของเครื่องศิลาดลโกเรียว

สีสันอันงดงามของเครื่องศิลาดลโกเรียว

สี​สัน​อัน​งดงาม​ของ​เครื่อง​ศิลาดล​โกเรียว

โดย​ผู้​สื่อ​ข่าว ตื่นเถิด! ใน​เกาหลี

ใน​ปี 1995 มี​การ​ค้น​พบ​สมบัติ​อัน​ล้ำ​ค่า​ชิ้น​หนึ่ง​ภาย​ใน​หอ​สมุด​ทรูแมน​ที่​รัฐ​มิสซูรี สหรัฐ​อเมริกา. ของ​ชิ้น​นั้น​คือ​อะไร? ภาชนะ​ใส่​น้ำ​เล็ก ๆ ที่​เป็น​เครื่อง​ปั้น​เผา มี​ลาย​ดอกไม้​และ​เคลือบ​สี​เข้ม. แม้​ภาชนะ​นี้​จะ​สูง​เพียง 23 เซนติเมตร แต่​มี​การ​ประเมิน​ราคา​ไว้​ประมาณ 3,000,000 ดอลลาร์​สหรัฐ. มัน​เป็น​เครื่อง​ปั้น​เผา​ของ​เกาหลี​ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า ศิลาดล​โกเรียว และ​รัฐบาล​เกาหลี​ได้​มอบ​ให้​แก่​อดีต​ประธานาธิบดี​แฮร์รี ทรูแมน แห่ง​สหรัฐ​ใน​ปี 1946.

อะไร​ทำ​ให้​เครื่อง​ศิลาดล​โกเรียว​มี​ค่า​มาก​ถึง​เพียง​นั้น? และ​มัน​แตกต่าง​จาก​เครื่อง​ปั้น​เผา​ชนิด​อื่น ๆ อย่าง​ไร?

กรรมวิธี​ที่​ไม่​เหมือน​ใคร

ชื่อ “ศิลาดล​โกเรียว” หมาย​ถึง​เครื่อง​ปั้น​เผา​ที่​มี​ลักษณะ​เฉพาะ​ชนิด​หนึ่ง​ซึ่ง​ทำ​ขึ้น​ครั้ง​แรก​ใน​สมัย​โกเรียว​ตาม​ประวัติศาสตร์​ของ​เกาหลี (ส.ศ. 918-1392). * คำ​ภาษา​เกาหลี​ที่​ใช้​เรียก​เครื่อง​ศิลาดล​คือ ชองจา ซึ่ง​หมาย​ถึง​เครื่อง​ลาย​คราม. ชาว​จีน​ใน​สมัย​นั้น​ยกย่อง​เครื่อง​ศิลาดล โดย​ใช้​ถ้อย​คำ​เช่น “เป็น​หนึ่ง​ใน​ปฐพี.” สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​เครื่อง​ศิลาดล​สมัย​โกเรียว​พิเศษ​อย่าง​ยิ่ง​คือ​ผิว​เคลือบ​ที่​เป็น​มัน​สี​เขียว​เข้ม​อม​ฟ้า​นั่น​เอง.

สี​เขียว​อัน​งดงาม​เหมือน​หยก​นี้​เกิด​จาก​การ​รวม​กัน​ระหว่าง​สี​ของ​ดิน​เหนียว​และ​น้ำ​เคลือบ. สิ่ง​นี้​เกิด​ขึ้น​ได้​โดย​การ​เผา​เครื่อง​ปั้น​แต่​ละ​ชิ้น​สอง​ครั้ง. ยาง-โม ชุง นัก​ประวัติศาสตร์​ศิลปะ​เกาหลี อธิบาย​ว่า ใน​กระบวนการ​นี้ ภาชนะ​จะ​ถูก​ขึ้น​รูป​จาก​ดิน​เหนียว​ที่​มี​แร่​เหล็ก​ปน​อยู่. ตอน​แรก​ภาชนะ​นั้น​จะ​ถูก​นำ​ไป​เผา​ด้วย​ความ​ร้อน​ประมาณ 700 ถึง 800 องศา​เซลเซียส. แล้ว​ถูก​นำ​มา​ชุบ​ผิว​ด้วย​น้ำ​เคลือบ​ที่​มี​แคลเซียม​คาร์บอเนต​ปน​เหล็ก​ประมาณ 1 ถึง 3 เปอร์เซ็นต์. จาก​นั้น​ภาชนะ​จะ​ถูก​เผา​อีก​ครั้ง คราว​นี้​ด้วย​ความ​ร้อน​ประมาณ 1,250 ถึง 1,300 องศา​เซลเซียส​และ​เป็น​การ​เผา​แบบ​ไม่​สมบูรณ์. *

เมื่อ​พิจารณา​ดู​เครื่อง​ศิลาดล​โกเรียว​ใกล้ ๆ ก็​จะ​เห็น​ลวด​ลาย​อัน​ละเอียดอ่อน​ที่​ดู​ประสาน​กลมกลืน​กัน​อย่าง​เป็น​ธรรมชาติ. คนโท, กาน้ำ​ชา, ถ้วย​ชาม, และ​เหยือก​ศิลาดล​ยุค​เก่า​มี​ลวด​ลาย​และ​รูป​แบบ​ทาง​ศิลปะ​แบบ​เดียว​กับ​ชุด​ประจำ​ชาติ​และ​แม้​กระทั่ง​การ​ฟ้อน​รำ​ของ​เกาหลี. ลวด​ลาย​อัน​เป็น​ศิลปะ​บน​ภาชนะ​นั้น​ยัง​สะท้อน​เรื่อง​ราว​เกี่ยว​กับ​ธรรมชาติ​อีก​ด้วย. ช่าง​ปั้น​จะ​นำ​เค้าโครง​ลาย​ที่​ได้​รับ​แรง​บันดาล​ใจ​จาก​ภูเขา, ต้น​ไม้, ดอกไม้, ปลา, นก, แมลง, และ​ผู้​คน​ออก​มา​ประกอบ​กัน​เป็น​ลวด​ลาย​อัน​งดงาม​บน​พื้น​ผิว​ของ​เครื่อง​ศิลาดล. ลาย​เรขาคณิต​ที่​พวก​เขา​ใช้​บาง​แบบ​ยัง​คง​พบ​เห็น​ได้​ใน​เครื่อง​ปั้น​เผา​สมัย​ใหม่.

ตอน​นี้​ขอ​เรา​พิจารณา​เรื่อง​สี​ที่​ใช้​ใน​ลวด​ลาย​บน​เครื่อง​ศิลาดล. ลวด​ลาย​ส่วน​ใหญ่​เป็น​แบบ​ฝัง​ประดับ​และ​มี​สี​ขาว​ดำ. แรก​เริ่ม​เดิม​ที ช่าง​ทำ​เครื่อง​ปั้น​โกเรียว​รับ​เอา​กรรมวิธี​มา​จาก​ประเทศ​จีน. แต่​ไม่​นาน​พวก​เขา​ก็​แสดง​ให้​เห็น​ความ​คิด​ริเริ่ม​ของ​ตัว​เอง. ตัว​อย่าง​ที่​เด่น​คือ​กรรมวิธี​การ​ฝัง​ประดับ​ที่​เรียก​ว่า ซังกัม. ใน​กระบวนการ​นี้ มี​การ​กรีด​ลวด​ลาย​ที่​ต้องการ​ลง​บน​พื้น​ผิว​ของ​ภาชนะ​ที่​ยัง​ทำ​ไม่​เสร็จ แล้ว​ก็​ใส่​ดิน​สี​ขาว​หรือ​สี​แดง​ลง​ไป​ใน​ร่อง​ที่​กรีด​ไว้​นั้น. จาก​นั้น​จะ​เอา​ภาชนะ​ชิ้น​นั้น​ไป​เผา. ระหว่าง​ขั้น​ตอน​นี้​ดิน​สี​ขาว​ก็​จะ​ยัง​คง​ขาว​อย่าง​หิมะ แต่​ดิน​สี​แดง​จะ​กลาย​เป็น​สี​ดำ.

ถ้า​เรา​ตรวจ​ดู​เครื่อง​ศิลาดล​ใกล้ ๆ เรา​จะ​เห็น​ผิว​ที่​ราน​เป็น​รอยร้าว​ละเอียด. นั่น​เป็น​รอย​ตำหนิ​ไหม? อะไร​ทำ​ให้​เกิด​ปรากฏการณ์​นี้​ขึ้น? ยิ่ง​ลวด​ลาย​ฝัง​ประดับ​ประณีต​บรรจง​มาก​เท่า​ไร ยิ่ง​ต้อง​เคลือบ​ให้​บาง​มาก​เท่า​นั้น​เพื่อ​จะ​เห็น​ลวด​ลาย​ได้​ชัด. เนื่อง​จาก​ผิว​เคลือบ​ของ​เครื่อง​ศิลาดล​เปราะ​บาง​อย่าง​ยิ่ง มัน​จึง​เกิด​รอย​ราน​ทั่ว​พื้น​ผิว​อย่าง​เลี่ยง​ไม่​ได้—ซึ่ง​เป็น​ผล​ข้าง​เคียง​ของ​การ​พยายาม​จะ​เคลือบ​ให้​โปร่ง​ใส​จริง ๆ. ด้วย​เหตุ​นี้ จึง​มี​การ​มอง​ว่า​รอย​ราน​เหล่า​นั้น​เป็น​ลักษณะ​ปกติ​ของ​เครื่อง​ศิลาดล​โกเรียว​และ​ไม่​ใช่​รอย​ตำหนิ. ที่​จริง ช่าง​สมัย​ใหม่​บาง​คน​ตั้งใจ​ใช้​น้ำ​ยา​เคลือบ​ที่​ทำ​ให้​เกิด​รอย​ราน.

ความ​พยายาม​ที่​จะ​ฟื้นฟู​เครื่อง​ศิลาดล​โกเรียว

หลัง​จาก​ชาว​มองโกล​รุกราน​เกาหลี​ใน​ช่วง​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 13 เครื่อง​ศิลาดล​โกเรียว​ก็​เสื่อม​ลง​อย่าง​รวด​เร็ว. ใน​ที่​สุด พวก​ช่าง​ปั้น​ก็​เลิก​ผลิต​ภาชนะ​อัน​สวย​งาม​นี้ และ​กรรมวิธี​ใน​การ​ผลิต​ของ​พวก​เขา​ก็​กลาย​เป็น​ศิลปะ​ที่​สาบสูญ​ไป. ปัจจุบัน เนื่อง​จาก​เครื่อง​ศิลาดล​โกเรียว​มี​ราคา​สูง​มาก​และ​มี​เหลือ​อยู่​น้อย ช่าง​สมัย​ใหม่​จึง​ตั้งใจ​ที่​จะ​ฟื้นฟู​กรรมวิธี​ใน​การ​ทำ​ขึ้น​มา​อีก. โดย​การ​ตรวจ​ดู​ชิ้น​ส่วน​ของ​เครื่อง​ศิลาดล​โบราณ พวก​เขา​ได้​ทำ​ผลิตภัณฑ์​ที่​เหมือน​กัน​กับ​ของ​ดั้งเดิม​ทุก​ประการ​ทั้ง​ขนาด​และ​รูป​ทรง และ​มี​ช่าง​ปั้น​บาง​คน​อ้าง​ว่า​ได้​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​การ​ทำ​สี​ให้​เหมือน​กับ​สี​สัน​อัน​งดงาม​ของ​เครื่อง​ศิลาดล​โกเรียว​โบราณ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​จะ​ทำ​น้ำ​ยา​ที่​มี​ส่วน​ผสม​เหมือน​กัน​ทุก​อย่าง​กับ​น้ำ​เคลือบ​ของ​สมัย​โบราณ​ขึ้น​มา​ใหม่—น้ำ​เคลือบ​ที่​ใช้​เพียง​วัสดุ​ธรรมชาติ​เท่า​นั้น.

ช่าง​ปั้น​สมัย​ใหม่​ยัง​เผชิญ​กับ​ข้อ​ท้าทาย​ใน​การ​เลียน​แบบ​ราย​ละเอียด​อย่าง​อื่น​ด้วย เช่น จะ​เผา​ภาชนะ​นั้น​อย่าง​ไร​และ​เผา​นาน​เท่า​ไร. นัก​วิจัย​ที่​สถาบัน​วิจัย​เครื่อง​ศิลาดล​ใน​เกาหลี​ได้​ทำ​การ​ทดลอง​กับ​วัสดุ​ชนิด​ต่าง ๆ และ​กรรมวิธี​หลาก​หลาย​เพื่อ​จะ​สร้าง​สี​สัน​อัน​งดงาม​ของ​เครื่อง​ศิลาดล​โกเรียว​ขึ้น​ใหม่.

ใน​ช่วง​ไม่​กี่​ปี​มา​นี้ มี​การ​ค้น​พบ​เครื่อง​ศิลาดล​โกเรียว​ซึ่ง​สูญ​หาย​ไป​เป็น​เวลา​นาน. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​ปี 1995 ชาว​ประมง​คน​หนึ่ง​ตัดสิน​ใจ​ทำ​อะไร​บาง​อย่าง​เนื่อง​จาก​ได้​ยิน​เรื่อง​ราว​เกี่ยว​กับ​ชิ้น​ส่วน​เครื่อง​ปั้น​เผา​ที่​ติด​อวน​ขึ้น​มา. โดย​ร่วม​มือ​กับ​ชาว​ประมง​คน​อื่น เขา​เริ่ม​ค้น​หา​เครื่อง​ปั้น​เผา. ใน​ที่​สุด​เขา​กู้​เครื่อง​ศิลาดล​ขึ้น​มา​ได้​ถึง 129 ชิ้น. ภาย​หลัง​ความ​สำเร็จ​ของ​ชาว​ประมง​เหล่า​นี้ กรม​อนุรักษ์​สมบัติ​ทาง​วัฒนธรรม​แห่ง​เกาหลี​ได้​ตั้ง​ทีม​สำรวจ​ขึ้น. พวก​เขา​พบ​เรือ​ลำ​หนึ่ง​ซึ่ง​จม​ลง​ขณะ​บรรทุก​เครื่อง​ศิลาดล และ​ตลอด​เวลา​หลาย​เดือน ทีม​งาน​นั้น​กู้​เครื่อง​ศิลาดล​ขึ้น​มา​ได้​ถึง 463 ชิ้น! เห็น​ได้​ชัด ทั้ง​หมด​นี้​ทำ​ให้​นัก​วิจัย​เครื่อง​ศิลาดล​และ​นัก​ประวัติศาสตร์​ศิลปะ​ตื่นเต้น​เป็น​อย่าง​มาก.

การ​ชื่นชม​กับ​เครื่อง​ศิลาดล​โกเรียว​ใน​ปัจจุบัน

คุณ​จะ​ชื่นชม​กับ​ความ​งาม​ของ​เครื่อง​ศิลาดล​โกเรียว​ใน​ปัจจุบัน​ได้​อย่าง​ไร? คุณ​อาจ​ไป​ชม​นิทรรศการ​ศิลปะ​เกาหลี​ใน​พิพิธภัณฑสถาน​ที่​มี​ชื่อเสียง​บาง​แห่ง​ใน​โลก เช่น พิพิธภัณฑสถาน​อังกฤษ​หรือ​พิพิธภัณฑ์​ศิลปะ​เมโทร​โพ​ลิ​ทัน​แห่ง​นคร​นิวยอร์ก. แต่​จะ​ดี​กว่า​นั้น ถ้า​คุณ​มา​เกาหลี คุณ​อาจ​ไป​ที่​เมือง​คังจิน ซึ่ง​เป็น​ที่​ที่​มี​การ​ค้น​พบ​เตา​เผา​เครื่อง​ศิลาดล​ยุค​แรก ๆ มาก​ที่​สุด. หรือ​คุณ​อาจ​ไป​ที่​งาน​เทศกาล​เครื่อง​ปั้น​เผา​ประจำ​ปี​ซึ่ง​จัด​ขึ้น​หลาย​แห่ง​ใน​จังหวัด​เกียงจี. ที่​นั่น​คุณ​จะ​เห็น​การ​ทำ​เครื่อง​ศิลาดล. คุณ​อาจ​ถึง​กับ​ลอง​ปั้น​เครื่อง​ศิลาดล​ด้วย​ตัว​คุณ​เอง. คุณ​นึก​ภาพ​ออก​ไหม​ว่า​ตัว​คุณ​เอง​กำลัง​ปั้น​ภาชนะ, สลัก​ถ้อย​คำ​หรือ​ลวด​ลาย​ลง​ไป, เผา​ใน​เตา, และ​ใน​ที่​สุด​ก็​ถือ​ผล​งาน​ที่​เสร็จ​เรียบร้อย​ใน​มือ​ของ​คุณ?

แน่​ละ คุณ​ยัง​สามารถ​ซื้อ​หา​เครื่อง​ศิลาดล​สมัย​ใหม่​ใน​ห้าง​สรรพ​สินค้า​หรือ​ร้าน​ขาย​ของ​ที่​ระลึก​ได้. ที่​นั่น มี​แจกัน, ชุด​ถ้วย​น้ำ​ชา, และ​ภาชนะ​ชนิด​อื่น ๆ ให้​ชม—ทั้ง​แบบ​ที่​ผลิต​ด้วย​มือ​โดย​ช่าง​ปั้น​ใน​ท้องถิ่น​หรือ​ผลิต​ใน​โรง​งาน. จาก​นั้น​คุณ​อาจ​รับรอง​แขก​ของ​คุณ​ด้วย​ชา​เกาหลี​เสิร์ฟ​ใน​ถ้วย​น้ำ​ชา​ศิลาดล​ขณะ​ที่​บน​โต๊ะ​ของ​คุณ​มี​แจกัน​ศิลาดล​ซึ่ง​ปัก​ดอกไม้​อยู่​เต็ม.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 6 ชื่อ​ปัจจุบัน​ของ​ประเทศ​เกาหลี​ใน​ภาษา​อังกฤษ (Korea) ได้​มา​จาก​คำ โกเรียว.

^ วรรค 7 การ​เผา​แบบ​ไม่​สมบูรณ์​คือ การ​จำกัด​ปริมาณ​อากาศ​ที่​เข้า​ไป​ใน​เตา​เผา ซึ่ง​ทำ​ให้​เกิด​ก๊าซ​คาร์บอนมอนอกไซด์​ใน​เตา.

[ภาพ​หน้า 17]

แจกัน​ดั้งเดิม​สมัย​ศตวรรษ​ที่ 12

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

The Collection of National Museum of Korea

[ภาพ​หน้า 18]

ราย​ละเอียด​ของ​เครื่อง​ศิลาดล​โกเรียว​แสดง​ให้​เห็น​ลวด​ลาย​ฝัง​ประดับ​ซึ่ง​เป็น​แบบ​เฉพาะ