ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเพ่งดูโลก

การเพ่งดูโลก

การ​เพ่ง​ดู​โลก

มิตรภาพ​ของ​ชาว​บราซิล​ลด​น้อย​ลง

หนังสือ​พิมพ์​อู โกลบู รายงาน​ว่า ปัจจุบัน​นี้​ชาว​บราซิล​ไม่​ค่อย​สร้าง​มิตรภาพ​มาก​เหมือน​เมื่อ​สิบ​ปี​ที่​แล้ว. ตาม​ที่​นัก​จิตวิทยา มารีอา อาบีเกล เดอ โซว์ซา แห่ง​มหาวิทยาลัย​เซาเปาลู กล่าว การ​แข่งขัน​อย่าง​ดุเดือด​ใน​ตลาด​แรงงาน, การ​กระเสือกกระสน​เพื่อ​รักษา​รูป​แบบ​ชีวิต​บาง​อย่าง, และ​การ​ลด​เวลา​ว่าง​ลง ทั้ง​หมด​นี้​เป็น​ปัจจัย​ที่​ทำ​ให้​มี​มิตรภาพ​ลด​น้อย​ลง. เซซาร์ วาสคอนซัลลูส เดอ โซว์ซา ผู้​อำนวย​การ​ด้าน​เวชกรรม​แห่ง​ศูนย์​สุขภาพ​ชีวิต​แอดเวนติสต์ เมือง​เซาเปาลู กล่าว​ว่า “เพื่อ​จะ​มี​มิตร​แท้ เรา​ต่าง​ก็​ต้อง​เผย​ความ​รู้สึก​ของ​เรา​ออก​มา, เปิด​ใจ​ของ​เรา, และ​ระบาย​ความ​สุข​และ​ความ​โศก​เศร้า, บอก​ถึง​สิ่ง​ที่​ยาก​จะ​อธิบาย​และ​สิ่ง​ที่​อึดอัด​ใจ​ออก​มา. การ​ทำ​เช่น​นั้น​เรียก​ร้อง​เวลา​และ​การ​สร้าง​ความ​รู้สึก​ผูก​พัน​ทาง​อารมณ์​ที่​ลึกซึ้ง. ผู้​คน​ส่วน​ใหญ่​อยาก​ระบาย​ถึง​ความ​รู้สึก​ของ​ตน​กับ​ผู้​อื่น แต่​เขา​กลัว​ที่​จะ​ทำ​เช่น​นั้น. เพื่อ​จะ​ไม่​ต้อง​เสี่ยง พวก​เขา​จึง​ยอม​ที่​จะ​มี​มิตรภาพ​แบบ​ผิว​เผิน​ดี​กว่า.”

มลพิษ​ดับ​ความ​ต้องการ​ปลา​วาฬ

มลพิษ​อาจ​กลาย​เป็น​พันธมิตร​ใน​การ​ต่อ​สู้​เพื่อ​พิทักษ์​ปลา​วาฬ​อย่าง​ไม่​น่า​เชื่อ. การ​สำรวจ​เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​เผย​ให้​เห็น​ว่า​ปลา​วาฬ​และ​ปลา​โลมา​ที่​จับ​ได้ ณ ชายฝั่ง​ทะเล​ของ​ญี่ปุ่น​ปน​เปื้อน​ดีดีที, ไดออกซิน, พี​ซี​บี, และ​ปรอท​เมทิล​ใน​ระดับ​สูง. การ​ทดสอบ​ราย​หนึ่ง​ชี้​ว่า การ​กิน​เนื้อ​ปลา​โลมา​ที่​ปน​เปื้อน​แค่ 50 กรัม​อาจ​เป็น​อันตราย​อย่าง​มาก​ต่อ​สุขภาพ​ของ​คน​เรา. คาด​ว่า​ข่าว​นี้​จะ​ดับ​ความ​ต้องการ​เนื้อ​ปลา​วาฬ.

ความ​โศก​เศร้า​และ​ความ​ซึมเศร้า

จาก​การ​สำรวจ​ประชาชน​ชาย​และ​หญิง​อายุ​ระหว่าง 70 ถึง 79 ปี แสดง​ให้​เห็น​ว่า​แม่​ม่าย​หรือ​พ่อ​ม่าย​บาง​คน​ประสบ​อาการ​ซึมเศร้า​ใน​ระดับ​สูง​นาน​ถึง​สอง​ปี​หลัง​จาก​สูญ​เสีย​คู่​สมรส​ของ​ตน. ผู้​เข้า​ร่วม​ใน​การ​ศึกษา​วิจัย​ครั้ง​นี้​ถูก​แบ่ง​เป็น​หก​กลุ่ม โดย​แยก​ตาม​ระยะ​เวลา​ที่​คู่​สมรส​เสีย​ชีวิต. มี​การ​วัด​อาการ​ซึมเศร้า​โดย​ใช้​ทั้ง​การ​สัมภาษณ์​และ​แบบ​สอบ​ถาม. ผู้​ตอบ​การ​สำรวจ​นี้​เป็น​ชาย 38 เปอร์เซ็นต์ และ​เป็น​หญิง 62 เปอร์เซ็นต์. จาก​การ​ศึกษา​วิจัย​พบ​ว่า อัตรา​ความ​ซึมเศร้า​ใน​กลุ่ม​คน​ที่​เพิ่ง​สูญ​เสีย​คู่​สมรส​สูง​กว่า​เก้า​เท่า​ของ​คน​ที่​สูญ​เสีย​คู่​สมรส​มา​นาน​แล้ว.

ดวง​ตา​ที่​ขาด​ออกซิเจน

หนังสือ​พิมพ์​เดอะ โกลบ แอนด์ เมล์ รายงาน​ว่า ผู้​ใช้​คอนแทคเลนส์​บาง​คน​อาจ​ทำ​ให้​ดวง​ตา​ของ​ตน​ขาด​ออกซิเจน. “การ​ที่​มี​หลอด​เลือด​มาก​เกิน​ไป​ใน​ดวง​ตา​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​กระจก​ตา​ไม่​สามารถ​รับ​ออกซิเจน​ที่​จำเป็น​จาก​อากาศ​ทาง​พื้น​ผิว​ของ​ดวง​ตา​และ​จึง​เริ่ม​ขยาย​หลอด​เลือด​เพื่อ​จะ​มี​ออกซิเจน​ทดแทน.” ผล​คือ​อาจ​เสีย​การ​มอง​เห็น​หรือ​ถึง​กับ​ตา​บอด​ได้. นาย​แพทย์​เรย์มอนด์ สไตน์ หัวหน้า​แผนก​จักษุ​วิทยา​แห่ง​โรง​พยาบาล​โทรอนโต กล่าว​ว่า “เรื่อง​ที่​เลว​ร้าย​ที่​สุด​คือ​เมื่อ​ผู้​ใช้​ไม่​ได้​ดู​แล​รักษา​เลนส์​ของ​ตน และ​ไม่​ยอม​ไป​พบ​ผู้​เชี่ยวชาญ​ใน​การ​วัด​สายตา​เพื่อ​ติด​ตาม​ผล.” ผู้​เชี่ยวชาญ​ใน​การ​วัด​สายตา​สนับสนุน​ผู้​ใช้​ให้​ปรึกษา​ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​การ​ดู​แล​รักษา​ตา​เพื่อ​ทำ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​เขา​มี​คอนแทคเลนส์​ที่​เหมาะ​สม​โดย​เฉพาะ​กับ​ดวง​ตา​ของ​ตน และ​จาก​นั้น​ติด​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ใน​ตาราง​การ​ใส่​คอนแทคเลนส์​และ​คำ​แนะ​นำ​ใน​การ​ดู​แล​รักษา​เลนส์.

ติด​อินเทอร์เน็ต​ลามก​งอมแงม

จาก​รายงาน​ใน​หนังสือ​พิมพ์​เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ นัก​วิจัย​พบ​ว่า “ผู้​ใช้​อินเทอร์เน็ต​อย่าง​น้อย 200,000 ราย​ติด​เว็บไซต์​ลามก, ห้อง​สนทนา​เรตเอกซ์ หรือ​เรื่อง​อื่น ๆ ทาง​เพศ​อย่าง​งอมแงม.” การ​ศึกษา​นี้​ดำเนิน​โดย​นัก​จิตวิทยา​แห่ง​มหาวิทยาลัย​สแตนฟอร์ด​และ​ดู​เคน​ซึ่ง​เป็น​หนึ่ง​ใน​การ​ศึกษา​ราย​แรก ๆ ที่​ได้​ประเมิน​จำนวน​ผู้ “ติด​ไซ​เบอร์​เซ็กซ์​งอมแงม” ทาง​อินเทอร์เน็ต. นัก​วิจัย​กล่าว​ว่า​คน​เหล่า​นี้​เข้า​ไป​เยี่ยม​ชม​เว็บไซต์​เรตเอกซ์​มาก​กว่า​สัปดาห์​ละ 11 ชั่วโมง. หนังสือ​พิมพ์​นี้​ได้​ยก​คำ​พูด​ของ​นัก​วิจัย​มา​กล่าว​ที่​ว่า “นี่​เป็น​อันตราย​ต่อ​สุขภาพ​ของ​สาธารณชน​ซึ่ง​แฝง​เร้น​อยู่​และ​กำลัง​ขยาย​ตัว​ขึ้น​อย่าง​รวด​เร็ว ส่วน​หนึ่ง​ก็​เพราะ​น้อย​คน​นัก​ที่​ตระหนัก​ว่า​สิ่ง​นี้​เป็น​อันตราย​หรือ​คิด​ว่า​เป็น​เรื่อง​ร้ายแรง.”

เหมาะ​ที่​จะ​ดื่ม​ไหม?

จาก​การ​ศึกษา​โดย​กองทุน​อนุรักษ์​ธรรมชาติ​แห่ง​โลก (WWF) เตือน​ว่า “ต้อง​มี​มาตรการ​ป้องกัน” ก่อน​ที่​คุณภาพ​น้ำ​ใน​ฝรั่งเศส​จะ​ถึง “จุด​ที่​ไม่​อาจ​แก้ไข​ได้.” ตาม​รายงาน​ของ WWF น้ำ​ใต้​ดิน​และ​น้ำ​ที่​ท่วม​ขัง​อยู่​ปน​เปื้อน​ยา​ฆ่า​แมลง​และ​กรด​ดินประสิว. การ​ปน​เปื้อน​กรด​ดินประสิว​ส่วน​ใหญ่​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​ปุ๋ย​คอก​จาก​สุกร​และ​ปศุสัตว์​ถูก​พัด​พา​ลง​ไป​ใน​แหล่ง​น้ำ. รายงาน​กล่าว​ว่า “อุจจาระ​ของ​สุกร​แปด​ล้าน​ตัว​ใน​แคว้น​บริตตานี​เทียบ​ได้​กับ​ของ​เสีย​จาก​ประชากร​ใน​เมือง 24 ล้าน​คน​ที่​ไม่​มี​โรง​งาน​บำบัด​น้ำ​เสีย!” ยิ่ง​กว่า​นั้น WWF กล่าว​ว่า “การ​ใช้​ปุ๋ย​เคมี​จำนวน​มาก​ใน​เกษตรกรรม​ขนาด​ใหญ่” ยัง​ทำ​ให้​แหล่ง​น้ำ​ปน​เปื้อน​กรด​ดินประสิว​ด้วย. นอก​จาก​นั้น การ​ใช้​ยา​ฆ่า​แมลง​อย่าง​หนัก​ใน​ไร่​ข้าว​โพด​เป็น​ผล​ให้​ระดับ​ของ​ยา​ฆ่า​แมลง​สูง​กว่า​มาตรฐาน​ที่​กำหนด​กว่า 40 เปอร์เซ็นต์. รายงาน​ของ WWF แนะ​นำ​ให้​สร้าง​ที่​ลุ่ม​ชื้น​แฉะ​และ​ปลูก​ต้น​ไม้​เป็น​เขื่อน​ซึ่ง​จะ​เป็น​เหมือน​กับ​เครื่อง​กรอง​ธรรมชาติ.

เมือง​ต่าง ๆ เปลี่ยน​แปลง​อากาศ

หนังสือ​พิมพ์​เดอะ ไทมส์ ใน​ลอนดอน รายงาน​ว่า “การ​เติบโต​ของ​เมือง​ที่​ขยาย​ออก​ไป​อย่าง​รวด​เร็ว​กำลัง​สร้าง ‘เขต​ร้อน’ จัด​จน​ทำ​ให้​เกิด​ระบบ​อากาศ​ท้องถิ่น​ของ​ตน​ขึ้น.” เมือง​ต่าง ๆ เหล่า​นั้น​กัก​เก็บ​ความ​ร้อน​ไว้​ใน​ช่วง​กลางวัน​และ​แผ่​ความ​ร้อน​กลับ​เข้า​ไป​ใน​บรรยากาศ​ใน​ช่วง​กลางคืน. อุณหภูมิ​ใน​เมือง​ต่าง ๆ เช่น ปักกิ่ง และ​แอตแลนตา​จึง​เพิ่ม​ขึ้น 5.5 องศา​เซลเซียส​หรือ​มาก​กว่า​นั้น. ใน​ช่วง 19 ปี​ที่​ผ่าน​มา แอตแลนตา​สูญ​เสีย​เขต​ที่​มี​ต้น​ไม้​ไป 950,000 ไร่​เพื่อ​สร้าง​ถนน​และ​ปลูก​บ้าน​เรือน. เมือง​ที่​ขยาย​ออก​เพิ่ม​มลพิษ​ทาง​อากาศ, เป็น​เหตุ​ให้​เกิด​ฝน​ฟ้า​คะนอง​นอก​ฤดู, และ​ลด​ศักยะ​ของ​กระบวนการ​สังเคราะห์​แสง​ใน​ไร่​นา. ดร. มาร์ก อิมฮอฟฟ์ นัก​วิทยาศาสตร์​แห่ง​องค์การ​บริหาร​การ​บิน​และ​อวกาศ​แห่ง​ชาติ​ให้​ความ​เห็น​เกี่ยว​กับ​ผล​กระทบ​ของ “เขต​ร้อน” เหล่า​นี้​ว่า “มนุษย์​อยู่​รอด​โดย​พึ่ง​พา​อาศัย​ความ​สามารถ​ของ​พื้น​ดิน​ที่​จะ​ผลิต​อาหาร. หาก​ความ​สามารถ​ของ​พื้น​ดิน​ที่​จะ​ดำเนิน​การ​สังเคราะห์​แสง​ลด​ลง​อย่าง​มาก​แล้ว ความ​สามารถ​ของ​ดาว​เคราะห์​นี้​ที่​จะ​ค้ำจุน​ชีวิต​มนุษย์​ก็​จะ​ลด​ลง​ไป​ด้วย.” ส่วน​มาก​แล้ว​พื้น​ที่​เกษตรกรรม​ที่​ให้​ผล​ผลิต​สูง​ถูก​อุทิศ​ให้​กับ​การ​ขยาย​เมือง.

ดอก​บัว “ทำ​ความ​สะอาด​ตัว​มัน​เอง”

เหตุ​ใด​บัว​ซึ่ง​หลาย​ศาสนา​ทาง​ตะวัน​ออก​ถือ​ว่า​ศักดิ์สิทธิ์​มา​เป็น​เวลา​นาน​จึง​ดู​สะอาด​เสมอ? บัด​นี้ นัก​วิทยาศาสตร์​ชาว​เยอรมัน​อ้าง​ว่า​พบ​คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​นี้​ที่​นัก​ชีววิทยา​ขบ​คิด​มา​หลาย​สมัย. นัก​วิทยาศาสตร์​ชื่อ ดับเบิลยู. บาร์ทลอทท์ และ ซี. ไนน์ฮูอิส กล่าว​ว่า “เป็น​ที่​รู้​กัน​มา​นาน​แล้ว​ว่า​ผิว​นอก​ของ​บัว​กัน​น้ำ​ได้. แต่​ลักษณะ​พิเศษ​ใน​การ​ทำ​ความ​สะอาด​ตัว​เอง . . . กลับ​ถูก​มอง​ข้าม​อย่าง​สิ้นเชิง.” ดัง​ที่​อธิบาย​ไว้​ใน​หนังสือ​พิมพ์​เดอะ ซันเดย์ ไทมส์ ออฟ อินเดีย “หยด​น้ำ​ที่​กลิ้ง​ออก​จาก​ใบ​บัว​นำ​ฝุ่น​ที่​ติด​อยู่​ออก​ไป​ด้วย โดย​วิธี​นี้​จึง​เป็น​การ​ทำ​ความ​สะอาด​ผิว​นอก​อย่าง​ดี​เยี่ยม.” นี่​ไม่​ใช่​เนื่อง​จาก​ผิว​นอก​ราบ​เรียบ. การ​มอง​ด้วย​กล้อง​จุลทรรศน์​พบ​ว่า ใบ​บัว​มี​ผิว​ขรุขระ “เป็น​ตะปุ่มตะป่ำ​และ​มี​รอย​หยัก” ทั้ง​ขอบ​ใบ​ยัง “ดัน​กลาง​ใบ​ให้​นูน​ขึ้น​ทำ​ให้​น้ำ​ไหล​ออก​ไป​ได้.” นอก​จาก​นี้ บัว​มี​ไข​เคลือบ​อยู่​ทำ​ให้​น้ำ​เกาะ​ตัว​อยู่​ไม่​ได้. นัก​วิจัย​กล่าว​ว่า “ลักษณะ​พิเศษ​นี้​ของ​บัว” ช่วย​ลด​การ​เกาะ​ติด​ของ​น้ำ​และ​ละออง​ฝุ่น​เป็น​อย่าง​มาก และ​ยัง​สามารถ​สร้าง​ไข​เคลือบ​ขึ้น​มา​ใหม่​แม้​ว่า​สภาพ​แวด​ล้อม​จะ​ไม่​ดี​ก็​ตาม. พวก​นัก​วิจัย​กล่าว​ว่า สิ่ง​นี้​ทำ​ให้​ประสิทธิภาพ​อัน​เป็น​ธรรมชาติ​ของ​ดอก​บัว​เยี่ยมยอด​กว่า​สี​กัน​น้ำ​หรือ​น้ำ​ยา​ทำ​ความ​สะอาด​ที่​มนุษย์​ทำ​ขึ้น.

เอดส์​ล้าง​ผลาญ​แอฟริกา

ตาม​ที่​นาย​โคฟี อันนัน เลขาธิการ​ใหญ่​สหประชาชาติ​กล่าว ใน​ปี​ที่​ผ่าน​มา เอดส์​สังหาร​ผู้​คน​ใน​แอฟริกา​มาก​กว่า​การ​รบ​กัน​ใน​สงคราม. นี่​รวม​ถึง​สงคราม​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​สาธารณรัฐ​ประชาธิปไตย​คองโก, เซียร์ราลีโอน, แองโกลา, สาธารณรัฐ​คองโก, เอธิโอเปีย, โซมาเลีย, เอริเทรีย, และ​ซูดาน. เกือบ​สอง​ใน​สาม​ของ​ผู้​เป็น​โรค​เอดส์ 36 ล้าน​คน​ทั่ว​โลก​อาศัย​อยู่​ใน​แอฟริกา​ทาง​ใต้​ของ​ทะเล​ทราย​สะฮารา. ใน​โกตดิวัวร์ เอดส์​สังหาร​ครู​หนึ่ง​คน​ทุก ๆ วัน และ​ใน​บอตสวานา ช่วง​ชีวิต​ที่​คาด​หวัง​ได้​ลด​ลง​จาก 70 ปี​เป็น 41 ปี. ประเทศ​ซิมบับเว​คาด​ว่า เมื่อ​ถึง​ปี 2005 งบประมาณ​ด้าน​สุขภาพ 60 เปอร์เซ็นต์ จะ​หมด​ไป​กับ​เอช​ไอ​วี​และ​เอดส์ และ​ถึง​กระนั้น​ก็​ยัง​จะ​ไม่​เพียง​พอ. ตาม​ที่​หนังสือ​พิมพ์​เดอะ การ์เดียน ใน​ลอนดอน​รายงาน หัวข้อ​สนทนา​เกี่ยว​กับ​เอดส์​เป็น​ที่​หลีก​เลี่ยง​กัน​ใน​มาลาวี​และ​แซมเบีย ซึ่ง​เป็น​ประเทศ​ที่​มี​อัตรา​การ​ติด​เชื้อ​สูง​มาก; และ​ใน​แอฟริกา​ใต้ ผู้​ติด​เชื้อ​เอดส์​เป็น​ที่​น่า​รังเกียจ. นาย​อันนัน​กล่าว​ว่า “ยัง​ไม่​มี​ใคร​ที่​เริ่ม​เข้าใจ​ถึง​ผล​กระทบ​อย่าง​เต็ม​ที่​ของ​โรค​อัน​น่า​กลัว​นี้—ใน​ด้าน​คุณภาพ​ชีวิต​ใน​แอฟริกา, ศักยะ​ด้าน​เศรษฐกิจ​และ​เสถียรภาพ​ทาง​สังคม​และ​การ​เมือง.”