ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ชีวิตสมรสของคุณสามารถกู้ได้!

ชีวิตสมรสของคุณสามารถกู้ได้!

ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ​สามารถ​กู้​ได้!

คัมภีร์​ไบเบิล​มี​คำ​แนะ​นำ​ที่​ใช้​ได้​จริง​อยู่​มาก​มาย​ซึ่ง​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​สามี​และ​ภรรยา. เรื่อง​นี้​ไม่​น่า​แปลก​ใจ เพราะ​ผู้​ที่​ดล​ใจ​ให้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ผู้​ที่​เริ่ม​จัด​ให้​มี​การ​สมรส​ขึ้น​ด้วย.

คัมภีร์​ไบเบิล​พรรณนา​การ​สมรส​อย่าง​ที่​ตรง​กับ​สภาพ​จริง. คัมภีร์​ไบเบิล​ยอม​รับ​ว่า​สามี​และ​ภรรยา​จะ​มี “ความ​ยุ่งยาก​ลำบาก​ใจ” หรือ​ความ​เจ็บ​ปวด​และ​ความ​ทุกข์. (1 โกรินโธ 7:28) กระนั้น คัมภีร์​ไบเบิล​ยัง​กล่าว​ด้วย​ว่า​การ​สมรส​สามารถ​ให้​ความ​ยินดี กระทั่ง​ความ​ปลื้ม​ปีติ และ​ก็​น่า​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น. (สุภาษิต 5:18, 19) แนว​ความ​คิด​ทั้ง​สอง​นี้​ไม่​ขัด​กัน. เรื่อง​นี้​เพียง​แต่​แสดง​ให้​เห็น​ว่า ถึง​แม้​จะ​มี​ปัญหา​ร้ายแรง คู่​สมรส​ก็​ยัง​สามารถ​รักษา​สัมพันธภาพ​ที่​สนิทสนม​และ​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​ได้.

ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ​ขาด​สิ่ง​นี้​ไป​ไหม? ความ​เจ็บ​ปวด​และ​ความ​ผิด​หวัง​บดบัง​ความ​สนิทสนม​และ​ความ​สุข​ที่​คุณ​เคย​มี​ใน​สาย​สัมพันธ์​ของ​คุณ​ไหม? แม้​ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ​จะ​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​ขาด​ความ​รัก​เป็น​เวลา​หลาย​ปี ก็​อาจ​กู้​สิ่ง​ที่​สูญ​เสีย​ไป​กลับ​คืน​มา​ได้. แน่นอน คุณ​ต้อง​มอง​อย่าง​ที่​ตรง​กับ​สภาพ​จริง. ไม่​มี​ชาย​และ​หญิง​ที่​ไม่​สมบูรณ์​คน​ใด​สามารถ​สร้าง​ชีวิต​สมรส​ที่​สมบูรณ์​แบบ​ได้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม มี​ขั้น​ตอน​ต่าง ๆ ที่​คุณ​จะ​ใช้​ได้​เพื่อ​ต้านทาน​แนว​โน้ม​ใน​ทาง​ที่​ไม่​ดี.

ขณะ​ที่​อ่าน​เรื่อง​ต่อ​ไป​นี้ ขอ​ให้​พยายาม​ดู​ว่า​จุด​ไหน​โดย​เฉพาะ​ที่​จะ​นำ​มา​ใช้​กับ​ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ​ได้. แทน​ที่​จะ​เพ่งเล็ง​ข้อ​บกพร่อง​ของ​คู่​สมรส​ของ​คุณ จง​เลือก​คำ​แนะ​นำ​บาง​ข้อ​ที่​ตัว​คุณ​เอง สามารถ​นำ​ไป​ปฏิบัติ​ได้ แล้ว​ใช้​คำ​แนะ​นำ​จาก​พระ​คัมภีร์. คุณ​อาจ​จะ​พบ​ว่า​มี​ความ​หวัง​สำหรับ​ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ​มาก​กว่า​ที่​คุณ​เคย​คิด.

ตอน​แรก​ขอ​ให้​เรา​พิจารณา​เรื่อง​เจตคติ เนื่อง​จาก​ทัศนะ​ของ​คุณ​ต่อ​พันธะ​ผูก​มัด​และ​ความ​รู้สึก​ของ​คุณ​ต่อ​คู่​สมรส​เป็น​สิ่ง​ที่​สำคัญ​ที่​สุด.

ทัศนะ​ของ​คุณ​ต่อ​พันธะ​ผูก​มัด

การ​มอง​ไป​ให้​ไกล​เป็น​สิ่ง​ที่​สำคัญ​มาก​ถ้า​คุณ​จะ​พยายาม​ปรับ​ปรุง​ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ. ถึง​อย่าง​ไร การ​จัด​เตรียม​เรื่อง​การ​สมรส​นั้น​พระเจ้า​ทรง​มุ่ง​หมาย​ให้​เชื่อม​คน​สอง​คน​เข้า​ด้วย​กัน​อย่าง​ที่​ไม่​อาจ​แยก​จาก​กัน​ได้. (เยเนซิศ 2:24; มัดธาย 19:4, 5) ด้วย​เหตุ​นี้ ความ​สัมพันธ์​ระหว่าง​คุณ​กับ​คู่​สมรส​จึง​ไม่​เหมือน​การ​ทำ​งาน​อาชีพ​ที่​คุณ​จะ​ลา​ออก​ได้ หรือ​ไม่​เหมือน​การ​อยู่​บ้าน​เช่า​ที่​คุณ​จะ​ย้าย​ออก​ได้​โดย​เพียง​แต่​เลิก​สัญญา​เช่า​เสีย. แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น เมื่อ​แต่งงาน​กัน คุณ​ได้​สัญญา​อย่าง​หนักแน่น​ที่​จะ​อยู่​กับ​คู่​สมรส​ของ​คุณ​ไม่​ว่า​จะ​เกิด​อะไร​ขึ้น. การ​สำนึก​ถึง​พันธะ​ผูก​มัด​อย่าง​ลึกซึ้ง​ลง​รอย​กับ​สิ่ง​ที่​พระ​เยซู​คริสต์​ตรัส​ไว้​เกือบ 2,000 ปี​มา​แล้ว​ที่​ว่า “ซึ่ง​พระเจ้า​ได้​ผูก​พัน​กัน​แล้ว. อย่า​ให้​มนุษย์​ทำ​ให้​พราก​จาก​กัน​เลย.”—มัดธาย 19:6.

บาง​คน​อาจ​พูด​ว่า ‘แต่​เรา​ก็​ยัง​อยู่​ด้วย​กัน​นี่. เรื่อง​นี้​พิสูจน์​ว่า​เรา​มี​ความ​สำนึก​ถึง​พันธะ​ผูก​มัด​ไม่​ใช่​หรือ?’ อาจ​เป็น​เช่น​นั้น. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ดัง​ที่​กล่าว​ไว้​ข้าง​ต้น​ใน​ชุด​บทความ​นี้ คู่​สมรส​บาง​ราย​ที่​อยู่​ด้วย​กัน​ติด​อยู่​ใน​วัง​วน​ของ​ปัญหา คือ​ติด​อยู่​ใน​ชีวิต​สมรส​ที่​ขาด​ความ​รัก. เป้าหมาย​ของ​คุณ​คือ​การ​ทำ​ให้​ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ​มี​ความ​สุข ไม่​ใช่​แค่​พอ​ทน​อยู่​ได้. ความ​สำนึก​ถึง​พันธะ​ผูก​พัน​ควร​สะท้อน​ให้​เห็น​ความ​ภักดี ไม่​เพียง​ต่อ​สถาบัน​การ​สมรส​เท่า​นั้น แต่​ต่อ​บุคคล​ที่​คุณ​ปฏิญาณ​ว่า​จะ​รัก​และ​ทะนุถนอม​เช่น​กัน.—เอเฟโซ 5:33.

สิ่ง​ที่​คุณ​พูด​กับ​คู่​สมรส​อาจ​เผย​ว่า​คุณ​รู้สึก​ถึง​พันธะ​ผูก​มัด​ของ​คุณ​มาก​สัก​เพียง​ไร. ตัว​อย่าง​เช่น เมื่อ​กำลัง​ทะเลาะ​กัน​อย่าง​รุนแรง สามี​กับ​ภรรยา​บาง​คู่​พูด​อย่าง​หุนหัน​ว่า “ผม​จะ​เลิก​กับ​คุณ!” หรือ “ผม​จะ​ไป​หา​คน​ใหม่​ที่​เห็น​ค่า​ใน​ตัว​ผม!” แม้​ว่า​คำ​พูด​เช่น​นั้น​จะ​ไม่​ได้​หมาย​ความ​อย่าง​นั้น​จริง ๆ แต่​มัน​ก็​บ่อน​ทำลาย​ความ​สำนึก​ถึง​พันธะ​ผูก​มัด​โดย​บอก​เป็น​นัย​ว่า​มี​โอกาส​เสมอ​ที่​จะ​แยก​กัน และ​คน​ที่​พูด​อย่าง​นั้น​ก็​ตั้ง​ท่า​และ​พร้อม​จะ​ไป.

เพื่อ​จะ​ฟื้น​ความ​รัก​ใน​ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ​ขึ้น​ใหม่ จง​เลิก​ใช้​คำ​พูด​เชิง​ขู่​แบบ​นั้น​เสีย. คิด​ดู​สิ คุณ​จะ​ตกแต่ง​บ้าน​ของ​คุณ​ไหม​ถ้า​รู้​ว่า​ใน​เร็ว​วัน​นี้​คุณ​อาจ​ต้อง​ย้าย​ออก​ไป? ดัง​นั้น ทำไม​จะ​คาด​หมาย​ให้​คู่​สมรส​ของ​คุณ​พยายาม​ปรับ​ปรุง​ชีวิต​สมรส​ที่​อาจ​จะ​ไม่​ยั่งยืน​ล่ะ? จง​ตั้งใจ​และ​พยายาม​อย่าง​จริงจัง​เพื่อ​หา​ทาง​แก้​ปัญหา.

ภรรยา​คน​หนึ่ง​ทำ​เช่น​นี้​หลัง​จาก​ผ่าน​ช่วง​เวลา​อัน​ยุ่งยาก​กับ​สามี​ของ​เธอ. เธอ​บอก​ว่า “ถึง​แม้​ดิฉัน​ไม่​ชอบ​เขา​มาก​ใน​บาง​ครั้ง แต่​ดิฉัน​ก็​ไม่​คิด​จะ​เลิก​กับ​เขา. ไม่​ว่า​มี​อะไร​ผิด​พลาด​ไป เรา​ก็​จะ​แก้ไข​ได้​โดย​วิธี​ใด​วิธี​หนึ่ง. และ​หลัง​จาก​สอง​ปี​ที่​มี​ปัญหา​มาก ตอน​นี้​ดิฉัน​พูด​ได้​อย่าง​เต็ม​ปาก​ว่า​เรา​มี​ความ​สุข​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​ที่​ได้​อยู่​ด้วย​กัน.”

ถูก​แล้ว ความ​สำนึก​ถึง​พันธะ​ผูก​พัน​หมาย​ถึง​การ​ทำ​งาน​ร่วม​กัน คือ​ไม่​ใช่​แค่​ใช้​ชีวิต​อยู่​ด้วย​กัน​แต่​พยายาม​มุ่ง​ไป​สู่​จุด​มุ่ง​หมาย​เดียว​กัน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม คุณ​อาจ​รู้สึก​ว่า ณ เวลา​นี้​มี​เพียง​การ​ทำ​ตาม​หน้า​ที่​เท่า​นั้น​ที่​ทำ​ให้​ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ​ยัง​คง​อยู่. ถ้า​เป็น​เช่น​นั้น ก็​อย่า​สิ้น​หวัง. ความ​รัก​อาจ​ฟื้น​กลับ​มา​อีก​ครั้ง. โดย​วิธี​ใด?

ให้​เกียรติ​คู่​สมรส​ของ​คุณ

คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “จง​ให้​การ​สมรส​นั้น​เป็น​ที่​นับถือ​แก่​คน​ทั้ง​ปวง.” (เฮ็บราย 13:4; โรม 12:10) รูป​คำ​ภาษา​กรีก​ซึ่ง​ที่​นี่​แปล​ว่า “เป็น​ที่​นับถือ” ได้​รับ​การ​แปล​ใน​ส่วน​อื่น​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ว่า “เป็น​ที่​รักใคร่,” “มี​ค่า,” และ “เป็น​สิ่ง​ประเสริฐ.” เมื่อ​เรา​ถือ​ว่า​บาง​สิ่ง​มี​ค่า​มาก เรา​จะ​บากบั่น​พยายาม​เพื่อ​ดู​แล​รักษา​สิ่ง​นั้น. คุณ​อาจ​เคย​สังเกต​ว่า เรื่อง​นี้​เป็น​จริง​กับ​คน​ที่​เป็น​เจ้าของ​รถยนต์​คัน​ใหม่​ราคา​แพง. เขา​จะ​รักษา​รถ​ที่​เขา​รัก​ซึ่ง​ถือ​ว่า​มี​ค่า​มาก​ให้​เงา​งาม​อยู่​เสมอ​และ​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​ดี. สำหรับ​เขา​แล้ว รอย​ขีด​ข่วน​เล็ก ๆ น้อย ๆ อาจ​กลาย​เป็น​เรื่อง​ใหญ่​โต! ส่วน​คน​อื่น​ก็​ดู​แล​สุขภาพ​ของ​ตัว​เอง​ใน​ลักษณะ​เดียว​กัน. เพราะ​เหตุ​ใด? เพราะ​พวก​เขา​เห็น​คุณค่า​ของ​การ​มี​สุขภาพ​ดี และ​พวก​เขา​จึง​ต้องการ​จะ​รักษา​ไว้.

จง​เอา​ใจ​ใส่​ปก​ป้อง​ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ​ใน​ลักษณะ​เดียว​กัน. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า ความ​รัก “หวัง​ทุก​สิ่ง.” (1 โกรินโธ 13:7, ล.ม.) แทน​ที่​จะ​จำนน​ต่อ​ความ​คิด​แบบ​ยอม​แพ้—เช่น คิด​ว่า​ไม่​มี​ทาง​ที่​สิ่ง​ต่าง ๆ จะ​ดี​ขึ้น​และ​กล่าว​ว่า “เรา​ไม่​เคย​รัก​กัน​จริง ๆ เลย,” “เรา​แต่งงาน​กัน​ตอน​อายุ​น้อย​เกิน​ไป,” หรือ “ตอน​นั้น​เรา​ไม่​รู้​ว่า​กำลัง​ทำ​อะไร​กัน”—ทำไม​ไม่​หวัง​ว่า​สิ่ง​ต่าง ๆ จะ​ดี​ขึ้น​และ​พยายาม​ปรับ​ปรุง​สิ่ง​ต่าง ๆ และ​รอ​คอย​ผล​ที่​จะ​เกิด​ขึ้น​ด้วย​ความ​อด​ทน? ผู้​ให้​คำ​ปรึกษา​ด้าน​ชีวิต​สมรส​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ดิฉัน​ได้​ยิน​ผู้​มา​ปรึกษา​หลาย​คน​บอก​ว่า ‘ฉัน​ทน​ต่อ​ไป​ไม่​ไหว​แล้ว!’ แทน​ที่​จะ​วิเคราะห์​ความ​สัมพันธ์​เพื่อ​ดู​ว่า​ต้อง​ปรับ​ปรุง​ใน​ส่วน​ไหน​บ้าง พวก​เขา​ด่วน​ล้ม​เลิก​ความ​พยายาม​ทั้ง​สิ้น​ที่​ได้​ทำ​มา รวม​ทั้ง​ค่า​นิยม​ที่​พวก​เขา​มี​ร่วม​กัน, เรื่อง​ราว​ใน​อดีต​ที่​พวก​เขา​ค่อย ๆ สร้าง​สม​มา​ด้วย​กัน, และ​สิ่ง​ที่​อาจ​หวัง​ได้​ใน​อนาคต.”

คุณ​กับ​คู่​สมรส​ของ​คุณ​เคย​ทำ​อะไร​ร่วม​กัน​บ้าง? ไม่​ว่า​สัมพันธภาพ​ของ​คุณ​จะ​มี​ปัญหา​อะไร แน่นอน​ว่า​คุณ​คง​สามารถ​นึก​ถึง​ช่วง​เวลา​ที่​มี​ความ​สุข, การ​ประสบ​ความ​สำเร็จ, และ​ข้อ​ท้าทาย​ที่​คุณ​ผ่าน​มา​ด้วย​กัน. จง​ใคร่ครวญ​ถึง​โอกาส​เหล่า​นี้ และ​แสดง​ว่า​คุณ​ให้​เกียรติ​ชีวิต​สมรส​และ​คู่​สมรส​ของ​คุณ​โดย​พยายาม​ปรับ​ปรุง​สัมพันธภาพ​ของ​คุณ​อย่าง​จริง​ใจ. คัมภีร์​ไบเบิล​แสดง​ว่า​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​สน​พระทัย​จริง ๆ ว่า​คู่​สมรส​ปฏิบัติ​ต่อ​กัน​อย่าง​ไร. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​สมัย​ของ​ผู้​พยากรณ์​มาลาคี พระ​ยะโฮวา​ทรง​ตำหนิ​สามี​ชาว​ยิศราเอล​ซึ่ง​ทรยศ​ภรรยา​ของ​ตน​ด้วย​การ​หย่า​ภรรยา​โดย​ไม่​มี​เหตุ​อัน​ควร. (มาลาคี 2:13-16) คริสเตียน​ต้องการ​ให้​ชีวิต​สมรส​ของ​ตน​ถวาย​เกียรติ​แด่​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า.

ความ​ขัด​แย้ง—ร้ายแรง​เพียง​ไร?

ปัจจัย​สำคัญ​อย่าง​หนึ่ง​ใน​ชีวิต​สมรส​ที่​ขาด​ความ​รัก​ดู​เหมือน​จะ​เป็น​การ​ที่​สามี​และ​ภรรยา​ไม่​สามารถ​จัด​การ​กับ​ข้อ​ขัด​แย้ง​ได้. เนื่อง​จาก​ไม่​มี​คน​สอง​คน​ที่​เหมือน​กัน​ทุก​อย่าง ชีวิต​สมรส​ทุก​ราย​จึง​ต้อง​มี​ความ​ขัด​แย้ง​เป็น​ครั้ง​คราว. แต่​คู่​สมรส​ที่​ขัด​แย้ง​กัน​เสมอ​อาจ​พบ​ว่า​เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป​หลาย​ปี ความ​รัก​ของ​พวก​เขา​ได้​เยือกเย็น​ลง. พวก​เขา​อาจ​ถึง​กับ​ลง​ความ​เห็น​ว่า ‘เรา​เข้า​กัน​ไม่​ค่อย​ได้. เรา​ทะเลาะ​กัน​อยู่​เสมอ!’

กระนั้น แค่​มี​ความ​ขัด​แย้ง​กัน​ก็​ไม่​ได้​เป็น​ลาง​บอก​ถึง​จุด​จบ​ของ​ชีวิต​สมรส​เสมอ​ไป. ประเด็น​คือ มี​การ​จัด​การ​กับ​ความ​ขัด​แย้ง​กัน​อย่าง​ไร? ใน​ราย​ที่​ชีวิต​สมรส​ประสบ​ความ​สำเร็จ สามี​และ​ภรรยา​ได้​เรียน​รู้​ที่​จะ​พูด​คุย​เกี่ยว​กับ​ปัญหา​ต่าง ๆ โดย​ไม่​กลาย​เป็น​แบบ​ที่​ด็อกเตอร์​คน​หนึ่ง​บอก คือ “ศัตรู​ใกล้​ชิด.”

“อำนาจ​ลิ้น”

คุณ​กับ​คู่​สมรส​รู้​วิธี​พูด​คุย​เกี่ยว​กับ​ปัญหา​ต่าง ๆ ของ​พวก​คุณ​ไหม? ทั้ง​สอง​ฝ่าย​ควร​เต็ม​ใจ​คุย​กัน​ถึง​เรื่อง​นั้น. จริง​ที​เดียว เรื่อง​นี้​เป็น​ทักษะ​อย่าง​หนึ่ง—ซึ่ง​อาจ​เป็น​เรื่อง​ท้าทาย​ที่​จะ​เรียน​รู้. เพราะ​เหตุ​ใด? ประการ​หนึ่ง เรา​ทุก​คน​ต่าง​ก็ “พลั้ง​ผิด​ใน​วาจา” เป็น​ครั้ง​คราว เนื่อง​จาก​เป็น​คน​ไม่​สมบูรณ์. (ยาโกโบ 3:2) อีก​ประการ​หนึ่ง บาง​คน​เติบโต​มา​ใน​บ้าน​ที่​บิดา​มารดา​บันดาล​โทสะ​เป็น​ประจำ. ตั้ง​แต่​อายุ​น้อย ๆ พวก​เขา​เหมือน​กับ​ถูก​สอน​ให้​เชื่อ​ว่า​การ​บันดาล​โทสะ​และ​การ​ด่า​ว่า​เป็น​เรื่อง​ปกติ. เด็ก​ผู้​ชาย​ที่​เติบโต​ขึ้น​มา​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​แบบ​นี้​อาจ​กลาย​เป็น “คน​เจ้า​โมโห” หรือ “คน​เจ้า​โทโส.” (สุภาษิต 29:22) ใน​ทำนอง​เดียว​กัน เด็ก​ผู้​หญิง​ที่​เติบโต​ใน​สภาพ​นั้น​อาจ​กลาย​เป็น “หญิง​ปาก​ร้าย​และ​ขี้​โมโห.” (สุภาษิต 21:19, เดอะ ไบเบิล อิน เบสิก อิงลิช) อาจ​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​จะ​ถอน​ราก​รูป​แบบ​ที่​ฝัง​ลึก​ใน​การ​คิด​และ​การ​ปฏิสัมพันธ์​กับ​คน​อื่น. *

ดัง​นั้น การ​จัด​การ​กับ​ความ​ขัด​แย้ง​จึง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​เรียน​รู้​วิธี​ใหม่​ใน​การ​แสดง​ความ​คิด. นี่​ไม่​ใช่​เรื่อง​เล็ก ๆ เพราะ​สุภาษิต​ข้อ​หนึ่ง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “ความ​ตาย​และ​ชีวิต​อยู่​ใน​อำนาจ​ลิ้น.” (สุภาษิต 18:21) ถูก​แล้ว วิธี​ที่​คุณ​พูด​กับ​คู่​สมรส​ของ​คุณ​อาจ​ดู​เหมือน​เป็น​เรื่อง​ไม่​สำคัญ แต่​มัน​สามารถ​ทำลาย​ความ​สัมพันธ์​ของ​คุณ​หรือ​ฟื้นฟู​ความ​สัมพันธ์​นั้น​ได้. สุภาษิต​อีก​ข้อ​หนึ่ง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “คำ​พูด​พล่อย ๆ ของ​คน​บาง​จำพวก​เหมือน​การ​แทง​ของ​กระบี่; แต่​ลิ้น​ของ​คน​มี​ปัญญา​ย่อม​รักษา​แผล​ให้​หาย.”—สุภาษิต 12:18.

แม้​ดู​เหมือน​ว่า​ส่วน​ใหญ่​คู่​ของ​คุณ​จะ​เป็น​ฝ่าย​ที่​ทำ​ผิด​ใน​เรื่อง​นี้ แต่​จง​คิด​ถึง​คำ​พูด​ของ​คุณ​เอง ตอน​ที่​มี​ความ​ขัด​แย้ง​กัน. คำ​พูด​ของ​คุณ​ทำ​ให้​เจ็บ หรือ​รักษา​แผล​ให้​หาย? คำ​พูด​นั้น​ยั่ว​ยุ​ให้​โกรธ​หรือ​ทำ​ให้​ความ​โกรธ​สงบ​ลง? คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “คำ​ขม​เผ็ด​ร้อน​กระทำ​ให้​โทโส​พลุ่ง​ขึ้น.” แต่​ตรง​กัน​ข้าม “คำ​ตอบ​อ่อน​หวาน​กระทำ​ให้​ความ​โกรธ​ผ่าน​พ้น​ไป.” (สุภาษิต 15:1) คำ​พูด​ที่​ทำ​ให้​เจ็บ​ช้ำ—แม้​จะ​พูด​แบบ​เรียบ ๆ—จะ​ยิ่ง​ทำ​ให้​สถานการณ์​เลว​ร้าย​ยิ่ง​ขึ้น.

แน่​ละ ถ้า​คุณ​ไม่​สบาย​ใจ​ด้วย​เรื่อง​อะไร คุณ​ก็​มี​สิทธิ์​จะ​พูด​ถึง​เรื่อง​นั้น. (เยเนซิศ 21:9-12) แต่​คุณ​สามารถ​ทำ​เช่น​นั้น​ได้​โดย​ไม่​ต้อง​ใช้​คำ​พูด​ประชดประชัน, สบประมาท, และ​ดูถูก. จง​กำหนด​ขอบ​เขต​ที่​แน่นอน​ไว้​สำหรับ​ตัว​คุณ​เอง—คำ​พูด​บาง​คำ​ที่​คุณ​ตั้งใจ​จะ​ไม่ พูด​กับ​คู่​สมรส​ของ​คุณ เช่น “ฉัน​เกลียด​คุณ” หรือ “ผม​ว่า​เรา​ไม่​น่า​แต่งงาน​กัน​เลย.” และ​แม้​ว่า​คริสเตียน​อัครสาวก​เปาโล​ไม่​ได้​พูด​ถึง​การ​สมรส​โดย​เฉพาะ แต่​ก็​เป็น​การ​สุขุม​ที่​จะ​หลีก​เลี่ยง​สิ่ง​ที่​ท่าน​เรียก​ว่า “การ​โต้​เถียง​กัน​เรื่อง​ถ้อย​คำ” และ “การ​โต้​เถียง​กัน​อย่าง​รุนแรง​ด้วย​เรื่อง​หยุมหยิม.” * (1 ติโมเธียว 6:4, 5, ล.ม.) ถ้า​คู่​สมรส​ของ​คุณ​ใช้​วิธี​แบบ​นี้ คุณ​ก็​ไม่​จำเป็น​ต้อง​โต้​ตอบ​ใน​วิธี​เดียว​กัน. ตราบ​เท่า​ที่​ขึ้น​อยู่​กับ​คุณ จง​แสวง​หา​สันติ​สุข.—โรม 12:17, 18; ฟิลิปปอย 2:14.

จริง​อยู่ เมื่อ​อารมณ์​พลุ่ง​ขึ้น ก็​ยาก​ที่​จะ​ควบคุม​คำ​พูด​ของ​เรา. ยาโกโบ​ผู้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “ลิ้น​นั้น​ก็​เป็น​ไฟ . . . ไม่​มี​ผู้​ใด​อาจ​ทำ​ให้​เชื่อง​ได้ มัน​เป็น​สิ่ง​อัน​ชั่ว​ซึ่ง​อยู่​ไม่​สุข, เต็ม​ด้วย​พิษ​ร้าย​ที่​จะ​ทำ​ให้​ถึง​ตาย.” (ยาโกโบ 3:6, 8) ถ้า​อย่าง​นั้น คุณ​จะ​ทำ​อะไร​ได้​เมื่อ​เริ่ม​โมโห? คุณ​จะ​พูด​กับ​คู่​สมรส​ของ​คุณ​ด้วย​ท่าที​ที่​จะ​ทำ​ให้​ข้อ​ขัด​แย้ง​สงบ​ลง​แทน​ที่​จะ​เติม​เชื้อ​ไฟ​เข้า​ไป​ได้​อย่าง​ไร?

ถอด​ชนวน​ความ​ขัด​แย้ง

บาง​คน​พบ​ว่า​ง่าย​กว่า​ที่​จะ​ระงับ​อารมณ์​และ​มุ่ง​ความ​สนใจ​ไป​ที่​ปัญหา​ซึ่ง​เป็น​ต้น​เหตุ​ถ้า​พวก​เขา​เน้น​ที่​ความ​รู้สึก​ของ​ตัว​เอง แทน​ที่​จะ​เน้น​การ​กระทำ​ของ​คู่​สมรส. ตัว​อย่าง​เช่น การ​พูด​ว่า “ฉัน​รู้สึก​สะเทือน​ใจ​ที่​คุณ​พูด​อย่าง​นั้น” จะ​ได้​ผล​มาก​กว่า “คำ​พูด​ของ​คุณ​ทำ​ให้​ฉัน​เจ็บ” หรือ “คุณ​ไม่​น่า​จะ​พูด​อย่าง​นั้น.” แน่นอน เมื่อ​พรรณนา​ว่า​คุณ​รู้สึก​อย่าง​ไร น้ำ​เสียง​ของ​คุณ​ก็​ไม่​ควร​แฝง​ไว้​ด้วย​ความ​ขมขื่น​หรือ​การ​ดูถูก. เป้าหมาย​ของ​คุณ​ควร​เป็น​การ​เน้น​ที่​ปัญหา​แทน​ที่​จะ​โจมตี​บุคคล.—เยเนซิศ 27:46–28:1.

นอก​จาก​นั้น จง​จำ​ไว้​เสมอ​ว่า​มี “เวลา​นิ่ง​เงียบ​และ​เวลา​พูด.” (ท่าน​ผู้​ประกาศ 3:7, ล.ม.) เมื่อ​คน​สอง​คน​พูด​พร้อม ๆ กัน ก็​ไม่​มี​คน​ไหน​ฟัง และ​ไม่​ได้​อะไร​ขึ้น​มา. ดัง​นั้น เมื่อ​ถึง​คราว​ที่​คุณ​จะ​ฟัง จง “ว่องไว​ใน​การ​ฟัง, ช้า​ใน​การ​พูด.” ที่​สำคัญ​พอ ๆ กัน​คือ จง “ช้า​ใน​การ​โกรธ.” (ยาโกโบ 1:19) อย่า​ถือ​สา​คำ​พูด​ที่​น่า​โมโห​ทุก​คำ​ที่​คู่​สมรส​ของ​คุณ​พูด​ออก​มา และ “อย่า​ให้​ใจ​ของ​เจ้า​โกรธ​เร็ว.” (ท่าน​ผู้​ประกาศ 7:9) แต่​จง​พยายาม​มอง​ลึก​ไป​ถึง​ความ​รู้สึก​เบื้อง​หลัง​คำ​พูด​ของ​คู่​สมรส​ของ​คุณ. คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “ความ​หยั่ง​เห็น​ของ​คน​ย่อม​ทำ​ให้​เขา​ช้า​ใน​การ​โกรธ และ​ที่​เขา​มอง​ข้าม​การ​ล่วง​ละเมิด​ไป​ก็​เป็น​ความ​งดงาม​ของ​เขา.” (สุภาษิต 19:11, ล.ม.) ความ​หยั่ง​เห็น​สามารถ​ช่วย​สามี​หรือ​ภรรยา​ให้​มอง​ลึก​กว่า​ความ​ขัด​แย้ง​ภาย​นอก.

ตัว​อย่าง​เช่น เมื่อ​ภรรยา​บ่น​เรื่อง​ที่​สามี​ไม่​ค่อย​ให้​เวลา​กับ​เธอ​นั้น​คง​ไม่​ใช่​แค่​เรื่อง​ที่​ว่า​สามี​ให้​เวลา​กับ​เธอ​นาน​เท่า​ไร. เรื่อง​นี้​อาจ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ที่​เธอ​รู้สึก​ถูก​ละเลย​หรือ​รู้สึก​ว่า​สามี​ไม่​เห็น​ค่า. เช่น​เดียว​กัน การ​ที่​สามี​บ่น​เรื่อง​ที่​ภรรยา​ชอบ​ซื้อ​ของ​แพง ๆ มา​ใช้​ก็​อาจ​ไม่​ใช่​แค่​เรื่อง​ที่​เธอ​ใช้​เงิน​มาก​เท่า​ไร. มัน​อาจ​เกี่ยว​กับ​ความ​รู้สึก​ที่​ว่า​เขา​ไม่​ได้​มี​ส่วน​ใน​การ​ตัดสิน​ใจ​ซื้อ​ของ. สามี​หรือ​ภรรยา​ที่​มี​ความ​หยั่ง​เห็น​จะ​เจาะ​ลึก​ลง​ไป​จน​ถึง​ต้นตอ​ของ​ปัญหา.—สุภาษิต 16:23.

เรื่อง​นี้​เป็น​เรื่อง​ที่​พูด​ง่าย​กว่า​ทำ​ไหม? แน่นอน! บาง​ครั้ง ทั้ง ๆ ที่​พยายาม​อย่าง​ดี​ที่​สุด แต่​ก็​อาจ​มี​การ​ใช้​คำ​พูด​ที่​ไม่​กรุณา​และ​อารมณ์​ก็​จะ​พลุ่ง​ขึ้น. เมื่อ​คุณ​เห็น​ว่า​เริ่ม​จะ​เป็น​อย่าง​นี้ คุณ​อาจ​จำ​ต้อง​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ที่​สุภาษิต 17:14 (ล.ม.) ที่​ว่า “ก่อน​ที่​จะ​เกิด​การ​ทะเลาะ​กัน จง​หลบ​ไป​เสีย.” ไม่​ผิด​อะไร​ถ้า​จะ​เลื่อน​การ​พิจารณา​ไป​ก่อน​จน​กว่า​อารมณ์​จะ​เย็น​ลง. ถ้า​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​จะ​พูด​คุย​กัน​โดย​ไม่​ให้​ลุก​ลาม​จน​ควบคุม​ไม่​ได้ ก็​นับ​ว่า​ดี​ที่​จะ​ให้​เพื่อน​ที่​อาวุโส​สัก​คน​นั่ง​อยู่​กับ​คุณ​ทั้ง​สอง​และ​ช่วย​คุณ​แก้ไข​ความ​ขัด​แย้ง. *

คง​ไว้​ซึ่ง​ความ​คาด​หมาย​อย่าง​ที่​ตรง​ตาม​สภาพ​จริง

อย่า​ท้อ​ใจ​ถ้า​ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ​ไม่​ได้​เป็น​อย่าง​ที่​คุณ​เคย​คิด​ไว้​ตอน​ที่​กำลัง​ฝาก​รัก​กัน. ผู้​เชี่ยวชาญ​กลุ่ม​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “การ​สมรส​ของ​คน​ส่วน​ใหญ่​ไม่​ได้​มี​ความ​สุข​สำราญ​ตลอด​กาล. ชีวิต​สมรส​นั้น​บาง​ครั้ง​ก็​สุข​มาก​และ​บาง​ครั้ง​ก็​มี​ปัญหา​มาก.”

ใช่​แล้ว การ​สมรส​อาจ​ไม่​ได้​เป็น​แบบ​นิยาย​รัก แต่​มัน​ก็​ไม่​ต้อง​เป็น​แบบ​นิยาย​เศร้า. แม้​ว่า​บาง​ช่วง​คุณ​กับ​คู่​สมรส​ต้อง​อด​ทน​ซึ่ง​กัน​และ​กัน แต่​ก็​ยัง​มี​บาง​โอกาส​ที่​คุณ​สามารถ​มอง​ข้าม​ความ​ขัด​แย้ง และ​ชื่นชม​กับ​การ​ได้​อยู่​ด้วย​กัน, มี​ความ​สนุกสนาน, และ​พูด​คุย​กัน​เสมือน​เพื่อน​สนิท. (เอเฟโซ 4:2; โกโลซาย 3:13) นี่​แหละ​เป็น​เวลา​ที่​คุณ​อาจ​จุด​ไฟ​แห่ง​ความ​รัก​ที่​มอด​ดับ​แล้ว​ให้​ลุก​ขึ้น​มา​ใหม่.

จง​จำ​ไว้​ว่า​มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์​สอง​คน​ไม่​สามารถ​สร้าง​ชีวิต​สมรส​ที่​สมบูรณ์​แบบ​ได้. แต่​พวก​เขา​สามารถ​พบ​ความ​สุข​ได้​ใน​ระดับ​หนึ่ง. ที่​จริง แม้​ว่า​มี​ปัญหา ความ​สัมพันธ์​ระหว่าง​คุณ​กับ​คู่​สมรส​ก็​อาจ​เป็น​เหตุ​แห่ง​ความ​พึง​พอ​ใจ​มาก​ยิ่ง. มี​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​แน่นอน กล่าว​คือ ถ้า​คุณ​กับ​คู่​สมรส​ของ​คุณ​บากบั่น​พยายาม​และ​เต็ม​ใจ​จะ​ยืดหยุ่น​และ​พยายาม​คิด​ถึง​ผล​ประโยชน์​ของ​อีก​ฝ่าย​หนึ่ง ก็​มี​เหตุ​ผล​ที่​ดี​ที่​จะ​เชื่อ​ว่า​ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ​นั้น​สามารถ กู้​ได้.—1 โกรินโธ 10:24.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 22 อิทธิพล​ของ​บิดา​มารดา​ไม่​ได้​เป็น​ข้อ​แก้​ตัว​ให้​คน​เรา​ใช้​คำ​พูด​ที่​รุนแรง​กับ​คู่​สมรส. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เรื่อง​นี้​อาจ​ช่วย​อธิบาย​ว่า​ทำไม​แนว​โน้ม​ดัง​กล่าว​อาจ​ฝัง​ราก​ลึก​และ​ยาก​ที่​จะ​ถอน​ออก.

^ วรรค 25 คำ​ภาษา​กรีก​ดั้งเดิม​ที่​แปล​ใน​ที่​นี่​ว่า “การ​โต้​เถียง​กัน​อย่าง​รุนแรง​ด้วย​เรื่อง​หยุมหยิม” อาจ​แปล​ได้​ด้วย​ว่า “สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​ทั้ง​สอง​ฝ่าย​เคือง​ใจ​กัน.”

^ วรรค 31 พยาน​พระ​ยะโฮวา​มี​ผู้​ปกครอง​ใน​ประชาคม. แม้​ว่า​ไม่​ใช่​เรื่อง​ของ​เขา​ที่​จะ​ไป​ยุ่ง​กับ​เรื่อง​ส่วน​ตัว​ของ​คู่​สมรส แต่​พวก​ผู้​ปกครอง​ก็​อาจ​ช่วย​คู่​สมรส​ได้​เมื่อ​เกิด​ปัญหา.—ยาโกโบ 5:14, 15.

[คำ​โปรย​หน้า 12]

คำ​พูด​ของ​คุณ​ทำ​ให้​เจ็บ​หรือ​รักษา​แผล​ให้​หาย?

[กรอบ​/ภาพ​หน้า 10]

โยน​ลูก​บอล​เบา ๆ

คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า “ให้​วาจา​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ประกอบ​ด้วย​ความ​สุภาพ​อ่อนโยน​เสมอ ปรุง​รส​ด้วย​เกลือ เพื่อ​จะ​รู้​ว่า​ท่าน​ควร​ให้​คำ​ตอบ​แต่​ละ​คน​อย่าง​ไร.” (โกโลซาย 4:6, ล.ม.) ข้อ​นี้​ใช้​กับ​ชีวิต​สมรส​ได้​อย่าง​แน่นอน! เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง: ใน​การ​เล่น​โยน​ลูก​บอล​นั้น คุณ​จะ​ต้อง​โยน​ลูก​บอล​ให้​อีก​คน​หนึ่ง​รับ​ได้​ง่าย ๆ. คุณ​คง​ไม่​ขว้าง​ลูก​บอล​แรง​ถึง​ขนาด​ทำ​ให้​ผู้​ที่​เล่น​กับ​คุณ​เจ็บ​ตัว. จง​ใช้​หลักการ​เดียว​กัน​นี้​เมื่อ​พูด​กับ​คู่​สมรส​ของ​คุณ. การ​พูด​แรง ๆ รัง​แต่​จะ​ทำ​ให้​เจ็บ. แทน​ที่​จะ​ใช้​คำ​พูด​แบบ​นั้น จง​พูด​อย่าง​นุ่มนวล—ด้วย​ความ​สุภาพ​อ่อนโยน—เพื่อ​ที่​คู่​สมรส​ของ​คุณ​จะ​เข้าใจ​คุณ.

[กรอบ​หน้า 11]

ระลึก​ถึง​วัน​คืน​เก่า ๆ!

จง​อ่าน​จดหมาย​และ​ไปรษณียบัตร​เก่า ๆ. ดู​รูป​ถ่าย. ถาม​ตัว​คุณ​เอง​ว่า ‘อะไร​เคย​ทำ​ให้​ฉัน​ชื่น​ชอบ​เขา? ฉัน​เคย​ชอบ​คุณลักษณะ​อะไร​ใน​ตัว​เขา​มาก​ที่​สุด? เรา​เคย​ทำ​อะไร​ร่วม​กัน​บ้าง? เรา​เคย​หัวเราะ​กัน​เรื่อง​อะไร?’ แล้ว​ก็​พูด​ถึง​ความ​ทรง​จำ​เก่า ๆ เหล่า​นี้​กับ​คู่​สมรส​ของ​คุณ. การ​สนทนา​กัน​ซึ่ง​เริ่ม​ด้วย​วลี​ที่​ว่า “จำ​ได้​ไหม ตอน​นั้น . . . ?” อาจ​ช่วย​คุณ​กับ​คู่​ของ​คุณ​ให้​ฟื้น​ความ​รู้สึก​เดิม ๆ ที่​พวก​คุณ​เคย​มี​ร่วม​กัน.

[กรอบ​หน้า 12]

ได้​คู่​คน​ใหม่ แต่​มี​ปัญหา​เก่า

สามี​หรือ​ภรรยา​บาง​คน​ที่​รู้สึก​ว่า​ตน​ติด​อยู่​ใน​ชีวิต​สมรส​ที่​หมด​สิ้น​ความ​รัก​อาจ​อยาก​จะ​เริ่ม​ต้น​อีก​ครั้ง​กับ​คน​ใหม่. แต่​คัมภีร์​ไบเบิล​ตำหนิ​การ​เล่นชู้ โดย​บอก​ว่า​คน​ที่​ทำ​บาป​อย่าง​นี้ “ไม่​มี​สามัญสำนึก” และ “ทำลาย​ตน​เอง.” (สุภาษิต 6:32, ฉบับ​แปล​ใหม่) ใน​ที่​สุด​แล้ว คน​เล่นชู้​ที่​ไม่​กลับ​ใจ​จะ​สูญ​เสีย​ความ​โปรดปราน​จาก​พระเจ้า ซึ่ง​เป็น​ความ​หายนะ​ที่​เลว​ร้าย​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​เกิด​ขึ้น​ได้.—เฮ็บราย 13:4.

ความ​โง่​เขลา​อย่าง​ยิ่ง​ของ​การ​เล่นชู้​นั้น​แสดง​ออก​มา​ให้​เห็น​ใน​ทาง​อื่น​ด้วย. ประการ​หนึ่ง คน​ที่​เล่นชู้​ซึ่ง​มี​คู่​คน​ใหม่​มัก​จะ​ประสบ​กับ​ปัญหา​เก่า​ที่​เคย​ประสบ​ใน​การ​สมรส​ครั้ง​แรก. ดร. ไดแอน เมดเวด​กล่าว​ถึง​อีก​ปัจจัย​หนึ่ง​ดัง​นี้: “สิ่ง​แรก​ที่​คู่​คน​ใหม่​รู้​เกี่ยว​กับ​คุณ​คือ คุณ​เป็น​คน​ที่​พร้อม​จะ​ไม่​ซื่อ​สัตย์. เขา​รู้​ว่า​คุณ​สามารถ​หลอก​คน​ที่​คุณ​สัญญา​จะ​ซื่อ​สัตย์​ได้. รู้​ว่า​คุณ​เป็น​คน​ที่​แก้​ตัว​เก่ง. รู้​ว่า​คุณ​ทิ้ง​ความ​รับผิดชอบ​ได้. รู้​ว่า​คุณ​จะ​ติด​ตาม​ความ​เพลิดเพลิน​หรือ​ความ​ใคร่​อัน​เห็น​แก่​ตัว. . . . คู่​สมรส​คน​ใหม่​จะ​รู้​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​คุณ​จะ​ไม่​ถูก​ล่อ​ใจ​ไป​หา​คู่​คน​ใหม่​อีก?”

[กรอบ​หน้า 14]

สติ​ปัญญา​จาก​สุภาษิต​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล

สุภาษิต 10:19: “การ​พูด​มาก​มัก​มี​ความ​ผิด; แต่​ผู้​ที่​ยับยั้ง​ริมฝีปาก​ของ​ตน​ย่อม​ประพฤติ​เป็น​คน​มี​ปัญญา.”

ตอน​ที่​คุณ​รู้สึก​โมโห คุณ​อาจ​พูด​อะไร​ออก​ไป​โดย​ไม่​ได้​ตั้งใจ—และ​มา​เสียใจ​ภาย​หลัง.

สุภาษิต 15:18: “คน​โมโห​ร้าย​เป็น​เหตุ​ให้​ทะเลาะ​กัน; แต่​คน​ที่​ยั้ง​โทสะ​ไว้​ได้​ย่อม​ระงับ​การ​วิวาท​กัน.”

การ​ต่อ​ว่า​ด้วย​ถ้อย​คำ​ที่​เสียด​แทง​ใจ​คง​จะ​ทำ​ให้​คู่​สมรส​ของ​คุณ​พยายาม​ปก​ป้อง​ตัว​เอง แต่​การ​ฟัง​อย่าง​อด​ทน​จะ​ช่วย​คุณ​ทั้ง​สอง​พยายาม​หา​ทาง​แก้ไข.

สุภาษิต 17:27: “คน​ที่​มี​ความ​รู้​ย่อม​ประหยัด​คำ​พูด​ของ​เขา; และ​ผู้​ที่​มี​ความ​เข้าใจ​ย่อม​มี​อารมณ์​เยือกเย็น.”

เมื่อ​คุณ​รู้สึก​ว่า​เริ่ม​โมโห ดี​ที่​สุด​ที่​จะ​เงียบ​ไว้​เพื่อ​ไม่​ให้​เกิด​การ​โต้​เถียง​กัน​ถึง​ขั้น​แตก​หัก.

สุภาษิต 29:11 (ล.ม.): “คน​โฉด​เขลา​ปล่อย​อารมณ์​ออก​มา​หมด แต่​ผู้​ที่​ฉลาด​จะ​ระงับ​อารมณ์​จน​ถึง​ที่​สุด.”

การ​รู้​จัก​บังคับ​ตน​เป็น​สิ่ง​สำคัญ. การ​บันดาล​โทสะ​ออก​มา​ด้วย​คำ​พูด​ที่​รุนแรง​รัง​แต่​จะ​ทำ​ให้​คู่​สมรส​ของ​คุณ​ห่าง​เหิน​ไป.