ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ติดอยู่ในชีวิตสมรสที่หมดสิ้นความรัก

ติดอยู่ในชีวิตสมรสที่หมดสิ้นความรัก

ติด​อยู่​ใน​ชีวิต​สมรส​ที่​หมด​สิ้น​ความ​รัก

“ใน​สังคม​ที่​มี​การ​หย่าร้าง​กัน​มาก ไม่​เพียง​แต่​ชีวิต​สมรส​ที่​ไม่​มี​ความ​สุข​จำนวน​มาก​ขึ้น​มี​ที​ท่า​ว่า​จะ​จบ​ลง​ด้วย​การ​หย่าร้าง​เท่า​นั้น แต่​ชีวิต​สมรส​ราย​อื่น ๆ จำนวน​มาก​ขึ้น​ก็​มี​ที​ท่า​ว่า​จะ​กลาย​เป็น​การ​สมรส​ที่​ไม่​มี​ความ​สุข​ด้วย.”—สภา​ที่​ปรึกษา​ด้าน​ครอบครัว​ใน​อเมริกา.

กล่าว​กัน​ว่า​ความ​สุข​และ​ความ​ทุกข์​ใน​ชีวิต​นั้น​โดย​มาก​มา​จาก​แหล่ง​เดียว​กัน คือ​ชีวิต​สมรส​ของ​คน​เรา. จริง​ที​เดียว มี​ไม่​กี่​สิ่ง​ใน​ชีวิต​ที่​สามารถ​ก่อ​ให้​เกิด​ความ​ปีติ​ยินดี—หรือ​ความ​เจ็บ​ปวด​รวดร้าว—มาก​ขนาด​นั้น​ได้. ดัง​ที่​กรอบ​ใน​บทความ​นี้​แสดง​ให้​เห็น คู่​สมรส​หลาย​ราย​ประสบ​กับ​อย่าง​หลัง​มาก​กว่า.

แต่​สถิติ​ของ​การ​หย่าร้าง​เผย​ให้​เห็น​เพียง​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ปัญหา. ทุก ๆ การ​สมรส​ที่​อับปาง​ลง​หนึ่ง​ราย จะ​มี​การ​สมรส​อีก​นับ​ไม่​ถ้วน​ที่​ยัง​คง​ลอย​ลำ​อยู่​ได้​แต่​ติด​อยู่​ใน​วัง​วน​ของ​ปัญหา. หญิง​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​สมรส​มา​กว่า 30 ปี​แล้ว​เผย​ว่า “พวก​เรา​เคย​เป็น​ครอบครัว​ที่​มี​ความ​สุข แต่​ช่วง 12 ปี​หลัง​นี้​เลว​ร้าย​มาก. สามี​ของ​ดิฉัน​ไม่​สนใจ​ความ​รู้สึก​ของ​ดิฉัน. ที่​จริง เขา​เป็น​ศัตรู​ที่​ร้ายกาจ​ที่​สุด​ต่อ​อารมณ์​ความ​รู้สึก​ของ​ดิฉัน.” สามี​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​สมรส​มา​เป็น​เวลา​เกือบ 25 ปี​โอด​ครวญ​ใน​ทำนอง​เดียว​กัน​ว่า “ภรรยา​ของ​ผม​บอก​ผม​ว่า​เธอ​ไม่​รัก​ผม​แล้ว. เธอ​บอก​ว่า ถ้า​เรา​เพียง​แต่​อยู่​กัน​เหมือน​เป็น​เพื่อน​ร่วม​ห้อง และ​ต่าง​คน​ต่าง​ใช้​เวลา​ว่าง​ตาม​ทาง​ของ​ตน เรา​ก็​คง​จะ​ทน​อยู่​กัน​ต่อ​ไป​ได้.”

แน่นอน บาง​คน​ซึ่ง​ตก​อยู่​ใน​สภาพ​ทุกข์​ทรมาน​เช่น​นี้​จะ​ยุติ​ชีวิต​สมรส​ของ​ตน. แต่​สำหรับ​หลาย​คน​แล้ว พวก​เขา​ไม่​อาจ​หย่า​ได้. ทำไม? ดร. คาเรน ไคเซอร์​อธิบาย​ว่า ปัจจัย​ต่าง ๆ เช่น บุตร, รอย​มลทิน​ใน​ชีวิต​สังคม, การ​เงิน, เพื่อน, ญาติ, และ​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา​อาจ​ทำ​ให้​คู่​สมรส​อยู่​ด้วย​กัน​ต่อ​ไป แม้​จะ​ไม่​ได้​รัก​กัน​แล้ว. เธอ​กล่าว​ว่า “เนื่อง​จาก​ไม่​อาจ​หย่า​กัน​ทาง​กฎหมาย คู่​สมรส​เหล่า​นี้​จึง​ตัดสิน​ใจ​จะ​อยู่​ด้วย​กัน​ต่อ​ไป​ทั้ง ๆ ที่​พวก​เขา​หย่า​กัน​ทาง​อารมณ์ แล้ว.”

คู่​สมรส​ที่​มี​ความ​สัมพันธ์​เย็นชา​ลง​จำ​ต้อง​ปล่อย​ให้​ตัว​เอง​ตก​เข้า​สู่​ชีวิต​ที่​ไร้​ความ​สุข​ด้วย​หรือ? ชีวิต​สมรส​ที่​หมด​สิ้น​ความ​รัก​เป็น​ทาง​เลือก​เพียง​อย่าง​เดียว​นอก​จาก​การ​หย่าร้าง​หรือ? ประสบการณ์​พิสูจน์​ว่า​ชีวิต​สมรส​ที่​มี​ปัญหา​หลาย​ราย​สามารถ กู้​ได้—ไม่​เพียง​จาก​ความ​ปวด​ร้าว​ของ​การ​แตก​หัก​แต่​จาก​ความ​ทุกข์​ระทม​ของ​การ​ขาด​ซึ่ง​ความ​รัก​ด้วย.

[กรอบ​หน้า 3]

การ​หย่าร้าง​ทั่ว​โลก

ออสเตรเลีย: อัตรา​การ​หย่า​เพิ่ม​ขึ้น​เกือบ​สี่​เท่า​ตั้ง​แต่​ต้น​ทศวรรษ 1960.

บริเตน: คาด​กัน​ว่า​การ​สมรส 4 ใน 10 ราย​จะ​จบ​ลง​ด้วย​การ​หย่า.

แคนาดา​และ​ญี่ปุ่น: มี​การ​หย่า​ประมาณ​หนึ่ง​ใน​สาม​ของ​การ​สมรส.

สหรัฐ: นับ​ตั้ง​แต่​ปี 1970 คู่​ที่​แต่งงาน​กัน​มี​โอกาส​จะ​อยู่​ด้วย​กัน​เพียง​ครึ่ง​ต่อ​ครึ่ง.

ซิมบับเว: การ​สมรส​ประมาณ 2 ใน 5 ราย​ลงเอย​ด้วย​การ​หย่า.