มีเหตุผลที่จะหวังไหม?
มีเหตุผลที่จะหวังไหม?
ปัญหาหนึ่งของชีวิตสมรสที่ประสบ ความยุ่งยากคือการเชื่อฝังหัวว่าสิ่งต่าง ๆ ไม่มีทางดีขึ้น. ความเชื่อแบบนี้เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากมันทำให้คุณไม่มีแรงกระตุ้นที่จะลองทำสิ่งที่สร้างสรรค์.”—นายแพทย์แอรอน ที. เบก.
ขอให้นึกภาพว่าคุณรู้สึกเจ็บปวดและไปหาหมอเพื่อตรวจอาการ. คุณกังวลใจ—และก็น่าจะเป็นอย่างนั้น. ถึงอย่างไร สุขภาพของคุณ—หรือแม้แต่ชีวิตของคุณเอง—อาจตกอยู่ในอันตราย. แต่สมมุติว่าหลังจากตรวจเสร็จคุณหมอบอกข่าวดีว่าปัญหาของคุณนั้นถึงจะไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ แต่ก็สามารถ รักษาได้. ที่จริง หมอบอกว่า ถ้าคุณรับประทานอาหารและออกกำลังกายตามกำหนดการที่เหมาะสมอย่างเคร่งครัด คุณก็หวังได้ว่าจะหายดีดังเดิม. คุณคงรู้สึกโล่งใจจริง ๆ และยินดีทำตามคำแนะนำของคุณหมอ!
ขอให้เปรียบเทียบตัวอย่างนี้กับเรื่องที่เรากำลังพิจารณา. ชีวิตสมรสของคุณก่อความเจ็บปวดให้กับคุณไหม? แน่นอน คู่สมรสทุกคู่ย่อมมีปัญหาและความไม่ลงรอยกันบ้าง. ดังนั้น สัมพันธภาพที่มีปัญหาเพียงแค่บางช่วงจึงไม่ได้หมายความว่าคุณมีชีวิตสมรสที่หมดสิ้นความรัก. แต่ถ้าสภาพการณ์ที่ก่อความเจ็บปวดยืดเยื้ออยู่นานนับสัปดาห์, นับเดือน, หรือนับปีล่ะ? ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็สมควรที่คุณจะกังวล เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ. ที่จริง คุณภาพชีวิตสมรสของคุณอาจส่งผลกระทบแทบจะทุกแง่มุมในชีวิตของคุณและบุตรของคุณ. เพื่อเป็นตัวอย่าง เชื่อกันว่าความเจ็บปวดรวดร้าวในชีวิตสมรสอาจเป็นปัจจัยสำคัญของปัญหาต่าง ๆ เช่น ความซึมเศร้า, การมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง, และการที่เด็กมีผลการเรียนตกต่ำ. แต่ไม่ใช่แค่นั้น. คริสเตียนตระหนักว่าความสัมพันธ์ของตนกับคู่สมรสอาจส่งผลกระทบถึงสัมพันธภาพของตนกับพระเจ้าทีเดียว.—1 เปโตร 3:7.
ข้อเท็จจริงที่ว่าคุณกับคู่สมรสมีปัญหากันนั้นไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์หมดทางแก้ไขแล้ว. การเผชิญหน้ากับความเป็นจริงของชีวิตสมรสที่ว่าจะ มีเรื่องยุ่งยาก สามารถช่วยคู่สมรสให้มองปัญหาตามสภาพที่เป็นจริงและพยายามแก้ไข. สามีคนหนึ่งชื่อไอแซ็กกล่าวว่า “ผมไม่เคยนึกเลยว่าเป็นเรื่องปกติที่คู่สมรสจะมีความสุขมากบ้างน้อยบ้างตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกัน. ผมคิดว่ามีอะไรบางอย่างผิดปกติกับเรา!”
แม้แต่เมื่อชีวิตสมรสของคุณตกเข้าสู่สภาพที่ขาดความรัก ชีวิตสมรสของคุณก็สามารถ กู้ได้. จริงอยู่ บาดแผลซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นอาจเป็นแผลลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าปัญหายืดเยื้ออยู่นานหลายปี. กระนั้นก็มีเหตุผลที่ดีที่จะหวัง. แรงกระตุ้นเป็นปัจจัยสำคัญ. แม้แต่คนสองคนที่มีปัญหาร้ายแรงในชีวิตสมรสก็สามารถทำให้ *
สภาพการณ์ดีขึ้นได้ถ้าสิ่งนี้มีความหมายมากพอสำหรับเขาทั้งสอง.ดังนั้น ขอให้ถามตัวคุณเองว่า ‘ฉันปรารถนามากเพียงไรที่จะมีสายสัมพันธ์ที่น่าพึงพอใจ?’ คุณกับคู่สมรสของคุณเต็มใจจะใช้ความพยายามเพื่อปรับปรุงชีวิตสมรสของคุณไหม? นายแพทย์เบกที่อ้างถึงข้างต้นกล่าวว่า “ผมมักจะแปลกใจที่เห็นว่าสัมพันธภาพที่ดูเหมือนแย่นั้นดีขึ้นมากขนาดไหนเมื่อทั้งคู่ช่วยกันแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างคุณลักษณะที่ดีในชีวิตสมรสของตน.” แต่จะเป็นอย่างไรถ้าคู่สมรสของคุณไม่ค่อยให้ความร่วมมือด้วย? หรือถ้าเขาดูเหมือนไม่ตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่ากำลังมีปัญหา? นับว่าเสียแรงเปล่าไหมที่คุณจะพยายามอยู่ฝ่ายเดียว? ไม่เลย! นายแพทย์เบกกล่าวว่า “ถ้าคุณ ทำการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง สิ่งนี้ในตัวมันเองอาจกระตุ้นคู่สมรสของคุณให้เปลี่ยนแปลง—และมักจะเป็นเช่นนั้น.”
อย่าด่วนสรุปว่าสิ่งนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นในกรณีของคุณ. การคิดแบบยอมแพ้เช่นนั้นในตัวมันเองแล้วอาจเป็นสิ่งที่คุกคามชีวิตสมรสของคุณมากที่สุด! ไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่งต้องเริ่มขั้นแรก. จะเป็นคุณได้ไหม? เมื่อเกิดแรงผลักดันขึ้นแล้ว คู่สมรสของคุณอาจเห็นประโยชน์ของการร่วมมือกับคุณเพื่อสร้างชีวิตสมรสที่มีความสุขมากขึ้น.
ถ้าอย่างนั้น คุณจะทำอะไรได้บ้างทั้งเป็นส่วนตัวและฐานะเป็นคู่เพื่อจะกู้ชีวิตสมรสของคุณ? คัมภีร์ไบเบิลเป็นเครื่องช่วยที่ทรงพลังจริง ๆ ในการตอบคำถามนี้. ให้เรามาพิจารณากัน.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 6 จริงอยู่ ในบางกรณีที่ร้ายแรงมาก ๆ อาจมีเหตุผลเพียงพอที่สามีและภรรยาจะแยกกันอยู่. (1 โกรินโธ 7:10, 11) นอกจากนั้น คัมภีร์ไบเบิลยอมให้หย่าได้เมื่อมีการผิดประเวณี. (มัดธาย 19:9) เรื่องที่ว่าจะหย่าคู่สมรสที่นอกใจหรือไม่นั้นถือเป็นการตัดสินใจส่วนตัว และคนอื่นไม่ควรกดดันฝ่ายที่ไม่ได้ทำผิดให้ตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง.—ดูหนังสือเคล็ดลับสำหรับความสุขในครอบครัว หน้า 158-161 จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.