ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เหตุใดความรักจึงจืดจาง?

เหตุใดความรักจึงจืดจาง?

เหตุ​ใด​ความ​รัก​จึง​จืด​จาง?

“ดู​เหมือน​ว่า​การ​ตก​หลุม​รัก​นั้น​ง่าย​กว่า​มาก​เมื่อ​เทียบ​กับ​การ​คง​อยู่​ใน​ความ​รัก.”—ดร. คาเรน ไคเซอร์.

อาจ​ไม่​ใช่​เรื่อง​แปลก​ที่​ชีวิต​สมรส​ซึ่ง​ความ​รัก​หมด​สิ้น​ไป​แล้ว​มี​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​พรวด​พราด. การ​สมรส​เป็น​ความ​สัมพันธ์​ของ​มนุษย์​ซึ่ง​ซับซ้อน และ​หลาย​คน​เข้า​สู่​การ​สมรส​โดย​แทบ​ไม่​ได้​เตรียม​ตัว​เลย. นาย​แพทย์​ดีน เอส. เอเดลล์​ตั้ง​ข้อ​สังเกต​ว่า “เรา​ต้อง​แสดง​ความ​รู้​ความ​สามารถ​บาง​อย่าง​เพื่อ​จะ​ได้​ใบ​ขับ​ขี่ แต่​ทะเบียน​สมรส​นั้น​แค่​เซ็น​ชื่อ​ครั้ง​เดียว​ก็​ได้​แล้ว.”

ด้วย​เหตุ​นี้ ขณะ​ที่​ชีวิต​สมรส​หลาย​ราย​ไป​ได้​ดี​และ​มี​ความ​สุข​จริง ๆ แต่​มี​ชีวิต​สมรส​จำนวน​หนึ่ง​กลับ​ประสบ​กับ​ความ​ตึงเครียด. ฝ่าย​ใด​ฝ่าย​หนึ่ง​หรือ​ทั้ง​สอง​ฝ่าย​อาจ​คาด​หวัง​ไว้​สูง​เมื่อ​แต่งงาน​กัน​แต่​ขาด​ทักษะ​ที่​จำเป็น​เพื่อ​จะ​สร้าง​สัมพันธภาพ​ที่​ยืน​นาน. ดร. แฮร์รี ไรส์​อธิบาย​ว่า “เมื่อ​คน​เรา​เริ่ม​สนิท​กัน พวก​เขา​จะ​รู้สึก​ไว้​เนื้อ​เชื่อใจ​กัน​อย่าง​มาก.” พวก​เขา​รู้สึก​เหมือน​กับ​ว่า​คู่​ของ​ตน​นั้น “เป็น​คน​เดียว​ใน​โลก​ที่​มอง​สิ่ง​ต่าง ๆ แบบ​เดียว​กับ​ตน. ความ​รู้สึก​แบบ​นี้​บาง​ครั้ง​ก็​จาง​หาย​ไป และ​เมื่อ​เป็น​อย่าง​นั้น ก็​เป็น​อันตราย​มาก​ต่อ​ชีวิต​สมรส.”

น่า​ดีใจ​ที่​ชีวิต​สมรส​หลาย​ราย​ไม่​ได้​ไป​ถึง​จุด​นั้น. แต่​ขอ​ให้​เรา​พิจารณา​สั้น ๆ ถึง​ปัจจัย​บาง​อย่าง​ซึ่ง​ใน​บาง​กรณี​ได้​ทำ​ให้​ความ​รัก​จืด​จาง​ไป.

ภาพ​ลวง​ตา—“ฉัน​ไม่​คิด​ว่า​จะ​เป็น​อย่าง​นี้”

โรส​บอก​ว่า “ตอน​ที่​ดิฉัน​แต่งงาน​กับ​จิม ดิฉัน​คิด​ว่า​เรา​จะ​เป็น​เหมือน​เจ้า​หญิง​นิทรา​กับ​เจ้า​ชาย​ผู้​ทรง​เสน่ห์—มี​ทั้ง​ความ​รัก​ความ​อ่อนโยน​และ​การ​เอื้อ​อาทร​ต่อ​กัน​และ​กัน.” แต่​เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป “เจ้า​ชาย” ของ​โรส​ดู​จะ​ไม่​ค่อย​มี​เสน่ห์​เท่า​ไร. เธอ​บอก​ว่า “ดิฉัน​กลับ​รู้สึก​ผิด​หวัง​ใน​ตัว​เขา​อย่าง​มาก.”

ภาพยนตร์, หนังสือ, และ​เพลง​ยอด​นิยม​จำนวน​มาก​มาย ต่าง​ก็​พรรณนา​ถึง​ความ​รัก​อย่าง​ที่​ไม่​ตรง​กับ​สภาพ​จริง. เมื่อ​อยู่​ใน​ช่วง​ติด​ต่อ​ฝาก​รัก ชาย​และ​หญิง​อาจ​รู้สึก​เหมือน​กับ​ว่า​ความ​ฝัน​ของ​พวก​เขา​กลาย​เป็น​ความ​จริง​แล้ว; แต่​พอ​แต่งงาน​กัน​ได้​ไม่​กี่​ปี พวก​เขา​ก็​ลง​ความ​เห็น​ว่า​จริง ๆ แล้ว​พวก​เขา​เพิ่ง​ตื่น​จาก​ความ​ฝัน! ถ้า​ชีวิต​สมรส​ไม่​ได้​เป็น​เหมือน​ใน​นิยาย​รัก​แล้ว ชีวิต​สมรส​ที่​ไป​ได้​ดี​ก็​อาจ​ดู​เหมือน​ว่า​ล้มเหลว​อย่าง​สิ้นเชิง.

แน่นอน ความ​คาด​หวัง​บาง​อย่าง​ใน​ชีวิต​สมรส​เป็น​เรื่อง​เหมาะ​สม​อย่าง​แท้​จริง. ตัว​อย่าง​เช่น นับ​ว่า​มี​เหตุ​ผล​ที่​คาด​หมาย​จะ​ได้​รับ​ความ​รัก, ความ​เอา​ใจ​ใส่, และ​การ​เกื้อ​หนุน​จาก​คู่​สมรส​ของ​เรา. กระนั้น แม้​แต่​ความ​ปรารถนา​เหล่า​นี้​ก็​อาจ​ไม่​เป็น​จริง. มีนา ภรรยา​สาว​ชาว​อินเดีย บอก​ว่า “ดิฉัน​รู้สึก​เหมือน​กับ​ว่า​ยัง​ไม่​ได้​แต่งงาน. ดิฉัน​รู้สึก​เหงา​และ​รู้สึก​ถูก​ทอดทิ้ง.”

ความ​เข้า​กัน​ไม่​ได้—“เรา​ไม่​มี​อะไร​เหมือน​กัน​เลย”

หญิง​คน​หนึ่ง​บอก​ว่า “ดิฉัน​กับ​สามี​อยู่​กัน​คน​ละ​ขั้ว​ใน​เกือบ​จะ​ทุก​เรื่อง. ไม่​มี​สัก​วัน​เดียว​ที่​ผ่าน​ไป​โดย​ดิฉัน​ไม่​ได้​นึก​เสียใจ​ที่​ตก​ลง​แต่งงาน​กับ​เขา. เรา​เข้า​กัน​ไม่​ได้​จริง ๆ.”

ตาม​ปกติ​แล้ว พอ​เวลา​ผ่าน​ไป​ไม่​นาน​เท่า​ไร​คู่​สมรส​ก็​จะ​เริ่ม​รู้​ว่า​พวก​เขา​ไม่​ได้​มี​อะไร​เหมือน​กัน​มาก​อย่าง​ที่​พวก​เขา​อาจ​เคย​คิด​ตอน​ที่​กำลัง​ติด​ต่อ​ฝาก​รัก. ดร. นีนา เอส. ฟีลดส์​เขียน​ว่า “การ​สมรส​มัก​เผย​ให้​เห็น​ลักษณะ​นิสัย​ที่​แต่​ละ​คน​ต่าง​ก็​เก็บ​ซ่อน​ไว้​ตลอด​ช่วง​ชีวิต​ที่​เป็น​โสด.”

ผล​ก็​คือ หลัง​จาก​แต่งงาน​กัน คู่​สมรส​บาง​คู่​ลง​ความ​เห็น​ว่า​พวก​เขา​เข้า​กัน​ไม่​ได้​เลย. นาย​แพทย์​แอรอน ที. เบก​กล่าว​ว่า “แม้​จะ​มี​รสนิยม​และ​บุคลิกภาพ​บาง​อย่าง​คล้ายคลึง​กัน ผู้​คน​ส่วน​ใหญ่​เข้า​สู่​ชีวิต​สมรส​โดย​มี​รูป​แบบ, นิสัย, และ​เจตคติ​ใน​เรื่อง​หลัก ๆ ต่าง​กัน.” หลาย​คู่​ไม่​รู้​วิธี​ปรับ​ความ​แตกต่าง​เหล่า​นี้​ให้​เข้า​กัน.

ความ​ขัด​แย้ง—“เรา​ทะเลาะ​กัน​อยู่​เรื่อย ๆ”

ซินดี​เล่า​ถึง​ช่วง​ที่​เธอ​แต่งงาน​ตอน​แรก ๆ ว่า “เรา​แปลก​ใจ​ที่​เรา​ทะเลาะ​กัน​มาก​ขนาด​นั้น—บาง​ครั้ง​ถึง​กับ​ตะโกน​ใส่​กัน หรือ​ที่​แย่​กว่า​นั้น​คือ​งอน​ไม่​พูด​กัน​เป็น​วัน ๆ.”

การ​ไม่​เห็น​พ้อง​กัน​เป็น​สิ่ง​ที่​เลี่ยง​ไม่​ได้​ใน​ชีวิต​สมรส. แต่​จะ​จัด​การ​อย่าง​ไร? ดร. แดเนียล โกลแมน​เขียน​ว่า “ใน​ชีวิต​สมรส​ที่​ดี​นั้น สามี​และ​ภรรยา​รู้สึก​สะดวก​ใจ​ที่​จะ​ระบาย​ความ​ข้องขัดใจ​ออก​มา. แต่​บ่อย​ครั้ง​เหลือ​เกิน​เมื่อ​มี​อารมณ์​โกรธ​จัด การ​บ่น​ว่า​นั้น​ออก​มา​ใน​ลักษณะ​ที่​ไม่​สร้าง​สรรค์ เช่น การ​โจมตี​บุคลิก​ของ​อีก​ฝ่าย​หนึ่ง.”

เมื่อ​สิ่ง​นี้​เกิด​ขึ้น การ​พูด​คุย​กัน​กลาย​เป็น​สนาม​รบ​ที่​ซึ่ง​มี​การ​ปก​ป้อง​ทัศนะ​ของ​ตัว​เอง​ด้วย​การ​พยายาม​เอา​ชนะ​และ​คำ​พูด​ก็​กลาย​เป็น​อาวุธ​แทน​ที่​จะ​เป็น​เครื่อง​มือ​ใน​การ​สื่อ​ความ. ผู้​เชี่ยวชาญ​กลุ่ม​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “สิ่ง​ที่​ก่อ​ความ​เสียหาย​มาก​ที่​สุด​อย่าง​หนึ่ง​ใน​การ​ทุ่มเถียง​กัน​ซึ่ง​ลุก​ลาม​จน​ควบคุม​ไม่​ได้​นั้น​คือ​การ​ที่​ทั้ง​คู่​มัก​จะ​พูด​ใน​สิ่ง​ที่​คุกคาม​สิ่ง​ค้ำจุน​ชีวิต​สมรส​ของ​ตน​เอง.”

ความ​เย็นชา—“เรา​ล้ม​เลิก​ความ​ตั้งใจ​แล้ว”

หญิง​คน​หนึ่ง​ที่​แต่งงาน​มา​ห้า​ปี​ยอม​รับ​ว่า “ดิฉัน​ล้ม​เลิก​ความ​พยายาม​ที่​จะ​ทำ​ให้​ชีวิต​สมรส​ของ​เรา​ประสบ​ความ​สำเร็จ​แล้ว. ตอน​นี้​ดิฉัน​รู้​ว่า​มัน​จะ​ไม่​มี​วัน​ประสบ​ความ​สำเร็จ. ดิฉัน​จึง​ห่วง​แต่​ลูก ๆ.”

กล่าว​กัน​ว่า​สิ่ง​ที่​ตรง​กัน​ข้าม​กับ​ความ​รัก​จริง ๆ แล้ว​ไม่​ใช่​ความ​เกลียด​ชัง แต่​เป็น​ความ​เย็นชา. จริง​ที​เดียว ความ​เฉยเมย​อาจ​ก่อ​ความ​เสียหาย​ให้​กับ​ชีวิต​สมรส​ได้​มาก​เท่า​กับ​ความ​เป็น​อริ​กัน.

กระนั้น น่า​เศร้า​ที่​สามี​หรือ​ภรรยา​บาง​คน​ชินชา​กับ​ชีวิต​สมรส​ที่​ปราศจาก​ความ​รัก​จน​กระทั่ง​พวก​เขา​เลิก​หวัง​ว่า​จะ​มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​ใด ๆ. ตัว​อย่าง​เช่น สามี​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า การ​ได้​สมรส​เป็น​เวลา 23 ปี​เป็น​เหมือน “การ​ได้​งาน​อาชีพ​ที่​คุณ​ไม่​ชอบ.” เขา​เสริม​ว่า “คุณ​ก็​ทำ​ดี​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​ทำ​ได้​ใน​สถานการณ์​อย่าง​นั้น.” ใน​ทำนอง​เดียว​กัน ภรรยา​คน​หนึ่ง​ชื่อ​เวน​ดี​เลิก​หวัง​ที่​จะ​ปรับ​ปรุง​ความ​สัมพันธ์​กับ​สามี​ของ​เธอ​ที่​อยู่​กัน​มา​เจ็ด​ปี. เธอ​กล่าว​ว่า “ดิฉัน​พยายาม​หลาย​ครั้ง​เหลือ​เกิน และ​เขา​ก็​ทำ​ให้​ดิฉัน​ผิด​หวัง​ทุก​ครั้ง. ดิฉัน​กลาย​เป็น​คน​ซึมเศร้า. ดิฉัน​ไม่​ต้องการ​จะ​ประสบ​สิ่ง​นั้น​อีก. ถ้า​ดิฉัน​ยัง​หวัง​อีก ดิฉัน​ก็​จะ​เจ็บ​ปวด​อีก. ดิฉัน​จึง​คิด​ว่า​ดี​กว่า​ที่​จะ​ไม่​หวัง​อะไร​เลย—ดิฉัน​ไม่​ได้​มี​ความ​สุข​มาก​นัก แต่​อย่าง​น้อย​ดิฉัน​ก็​ไม่​ซึมเศร้า.”

ภาพ​ลวง​ตา, ความ​เข้า​กัน​ไม่​ได้, ความ​ขัด​แย้ง, และ​ความ​เย็นชา​เป็น​ปัจจัย​เพียง​บาง​ส่วน​ที่​อาจ​ทำ​ให้​ชีวิต​สมรส​หมด​สิ้น​ความ​รัก. เห็น​ได้​ชัด​ว่า​มี​ปัจจัย​อื่น​อีก ซึ่ง​มี​การ​อธิบาย​ไว้​บาง​ประการ​ใน​กรอบ​หน้า 5. ไม่​ว่า​จะ​มี​สาเหตุ​จาก​อะไร มี​ความ​หวัง​ไหม​สำหรับ​คู่​สมรส​ที่​ดู​เหมือน​ติด​อยู่​ใน​ชีวิต​สมรส​ที่​หมด​สิ้น​ความ​รัก?

[กรอบ/ภาพ​หน้า 5]

ชีวิต​สมรส​ที่​หมด​สิ้น​ความ​รัก—ปัจจัย​อื่น ๆ บาง​ปัจจัย

เงิน: “คน​เรา​อาจ​คิด​ว่า​การ​ทำ​งบประมาณ​จะ​ช่วย​ให้​คู่​สมรส​ปรองดอง​กัน​เนื่อง​จาก​ต้อง​ทำ​งาน​ร่วม​กัน, นำ​ทรัพย์​สิน​ของ​พวก​เขา​มา​รวม​กัน​เพื่อ​ซื้อ​หา​สิ่ง​จำเป็น​พื้น​ฐาน​ของ​ชีวิต, และ​ชื่นชม​กับ​ผล​จาก​การ​งาน​ของ​ตน. แต่​เรื่อง​นี้​ก็​เช่น​กัน สิ่ง​ที่​อาจ​ทำ​ให้​คู่​สมรส​ผูก​พัน​กัน​ใน​การ​เป็น​หุ้น​ส่วน​มัก​เป็น​สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​พวก​เขา​แตก​แยก​กัน.”—นาย​แพทย์​แอรอน ที. เบก.

การ​เป็น​บิดา​มารดา: “เรา​พบ​ว่า 67 เปอร์เซ็นต์​ของ​คู่​สมรส​มี​ความ​พึง​พอ​ใจ​ใน​ชีวิต​สมรส​ลด​ลง​อย่าง​น่า​สังเกต​หลัง​จาก​บุตร​คน​แรก​ของ​พวก​เขา​เกิด​มา และ​มี​ความ​ขัด​แย้ง​กัน​เพิ่ม​ขึ้น​แปด​เท่า. ส่วน​หนึ่ง​เป็น​เพราะ​บิดา​มารดา​เหน็ด​เหนื่อย​และ​ไม่​มี​เวลา​สำหรับ​ตัว​เอง​มาก​นัก.”—ดร. จอห์น กอตต์แมน.

การ​หลอก​ลวง: “การ​นอก​ใจ​มัก​พัวพัน​กับ​การ​หลอก​ลวง และ​การ​หลอก​ลวง​จริง ๆ แล้ว​ก็​คือ​การ​ทรยศ​ต่อ​ความ​ไว้​วางใจ. เนื่อง​จาก​มี​การ​ระบุ​ว่า​ความ​ไว้​วางใจ​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ของ​ชีวิต​สมรส​ทุก​ราย​ที่​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​ระยะ​ยาว มี​ข้อ​สงสัย​ใด ๆ ไหม​ที่ว่าการ​หลอก​ลวง​สามารถ​ทำลาย​สาย​สมรส​ได้?”—ดร. นีนา เอส. ฟีลดส์.

เพศ: “เมื่อ​ถึง​ตอน​ที่​ผู้​คน​ยื่น​ฟ้อง​หย่า การ​งด​ความ​เกี่ยว​พัน​ทาง​เพศ​เป็น​ระยะ​เวลา​หลาย​ปี​เป็น​เรื่อง​ที่​แพร่​หลาย​จน​น่า​ตกใจ. ใน​บาง​ราย​ไม่​เคย​มี​เพศ​สัมพันธ์​กัน​เลย และ​ใน​บาง​ราย เรื่อง​เพศ​เป็น​สิ่ง​ที่​ไร้​ชีวิต​จิตใจ คือ​เป็น​เพียง​เครื่อง​สนอง​ความ​ต้องการ​ทาง​ร่าง​กาย​ของ​คู่​สมรส.”—จูดิท เอส. วอลเลอร์สไตน์ นัก​จิตวิทยา​ด้าน​การ​รักษา.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 6]

เด็ก ๆ ได้​รับ​ผล​กระทบ​อย่าง​ไร?

คุณภาพ​ของ​การ​สมรส​อาจ​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​บุตร​ของ​คุณ​ไหม? ตาม​คำ​กล่าว​ของ​ดร. จอห์น กอตต์แมน ซึ่ง​ได้​วิจัย​เกี่ยว​กับ​คู่​สมรส​มา​เป็น​เวลา​ประมาณ 20 ปี คำ​ตอบ​คือ​ใช่. เขา​กล่าว​ว่า “ใน​การ​ศึกษา​วิจัย​สอง​ราย​ซึ่ง​ใช้​เวลา​สิบ​ปี เรา​พบ​ว่า​ทารก​ของ​บิดา​มารดา​ที่​ขาด​ความ​สุข​มี​อัตรา​การ​เต้น​ของ​หัวใจ​สูง​กว่า​ใน​ช่วง​ที่​หยอก​เล่น​และ​ไม่​สามารถ​ผ่อน​คลาย​ได้​เท่า​กับ​เด็ก​คน​อื่น. เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป ความ​ขัด​แย้ง​ใน​ชีวิต​สมรส​ทำ​ให้​การ​เรียน​ของ​เด็ก​ตก​ต่ำ ไม่​ว่า​เด็ก​จะ​มี​ไอ​คิว​เท่า​ไร.” ตรง​กัน​ข้าม ดร. กอตต์แมน​กล่าว​ว่า บุตร​ของ​คู่​สมรส​ที่​ปรับ​ตัว​เข้า​กัน​ได้​ดี “เรียน​เก่ง​กว่า​ทั้ง​ด้าน​วิชาการ​และ​สังคม เนื่อง​จาก​บิดา​มารดา​ของ​พวก​เขา​แสดง​ให้​เขา​เห็น​วิธี​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น​ด้วย​ความ​นับถือ​และ​วิธี​รับมือ​กับ​ปัญหา​ทาง​อารมณ์.”