ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเพ่งดูโลก

การเพ่งดูโลก

การ​เพ่ง​ดู​โลก

คน​อังกฤษ​เป็น​นัก​ดู​ทีวี​อันดับ​หนึ่ง

หนังสือ​พิมพ์​ดิ อินดิเพนเดนต์ แห่ง​กรุง​ลอนดอน​รายงาน​ว่า “ชาว​อังกฤษ​เกือบ​หนึ่ง​ใน​สี่​ใช้​เวลา​ดู​โทรทัศน์​เท่า​กับ​เวลา​ที่​ใช้​ทำ​งาน​ใน​สัปดาห์​ปกติ.” ตาม​คำ​กล่าว​ของ​นัก​วิจัย ชาว​อังกฤษ​โดย​ทั่ว​ไป​ใช้​เวลา​ดู​โทรทัศน์ 25 ชั่วโมง​ใน​แต่​ละ​สัปดาห์ ขณะ​ที่ 21 เปอร์เซ็นต์​ดู​โทรทัศน์​มาก​กว่า 36 ชั่วโมง. หนังสือ​พิมพ์​ฉบับ​นั้น​กล่าว​ว่า “ไม่​ใช่​แค่​เยาวชน​เท่า​นั้น​ที่​ดู​มาก​เกิน​ไป เพราะ​เป็น​เช่น​นั้น​กับ​ชาย​และ​หญิง​รวม​ทั้ง​คน​สูง​อายุ​ด้วย.” ครอบครัว​หนึ่ง​ซึ่ง​ดู​โทรทัศน์​ประมาณ 30 ชั่วโมง​ต่อ​สัปดาห์​กล่าว​ว่า โทรทัศน์​ทำ​ให้​มี “ทาง​ออก​ที่​จำเป็น.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม นิสัย​การ​ดู​โทรทัศน์​มาก​เกิน​ไป​เช่น​นั้น​มี​ผล​เสีย. หนังสือ​พิมพ์​การ์เดียน วีกลี แห่ง​กรุง​ลอนดอน​รายงาน​ว่า ใน​การ​สำรวจ​ประเทศ​ต่าง ๆ 20 ประเทศ สหราชอาณาจักร “นำ​โด่ง​เป็น​อันดับ​หนึ่ง​ใน​การ​ดู​ทีวี.” กระนั้น “บริเตน​อยู่​ใน​อันดับ​ที่​ต่ำ​มาก​ใน​เกณฑ์​วัด​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​สาม​ประการ​ด้าน​การ​รู้​หนังสือ.”

สอน​เรื่อง​เพศ​ศึกษา​ตั้ง​แต่​เนิ่น ๆ

หนังสือ​พิมพ์​บางกอก​โพสต์ รายงาน​ว่า อีก​ไม่​นาน​จะ​มี​การ​สอน​เรื่อง​เพศ​ศึกษา​ให้​กับ​เด็ก​ชั้น​อนุบาล​ใน​กรุงเทพ​ฯ. รายงาน​ฉบับ​นั้น​อ้าง​คำ​กล่าว​ของ​แพทย์​หญิง​สุวรรณา วรคามิน แห่ง​กอง​วาง​แผน​ครอบครัว​และ​ประชากร ดัง​นี้: “ครู​และ​เจ้าหน้าที่​ด้าน​สาธารณสุข​จะ​ได้​รับ​การ​ฝึก​อบรม​เป็น​พิเศษ​ให้​สอน​และ​พูด​เรื่อง​เพศ​ใน​แบบ​วิทยาศาสตร์.” หนังสือ​พิมพ์​นั้น​รายงาน​คำ​กล่าว​ของ​แพทย์​หญิง​สุวรรณา​ว่า “การ​เริ่ม​สอน​เรื่อง​เพศ​ศึกษา​ตั้ง​แต่​ชั้น​อนุบาล​ไม่​ได้​มุ่ง​หมาย​ที่​จะ​กระตุ้น​พฤติกรรม​ทาง​เพศ​ของ​เด็ก​ตั้ง​แต่​เยาว์​วัย. . . . ความ​รู้​ที่​ให้​กับ​เด็ก​ตั้ง​แต่​อายุ​น้อย ๆ จะ​ช่วย​ให้​พวก​เด็ก ๆ หลีก​เลี่ยง​พฤติกรรม​อัน​ไม่​พึง​ปรารถนา​และ​ความ​เสี่ยง​ของ​การ​ตั้ง​ครรภ์​ที่​ไม่​พึง​ประสงค์​เมื่อ​โต​ขึ้น​เป็น​วัยรุ่น.”

ตีน​เหนียว

ตุ๊กแก​สามารถ​วิ่ง​ไป​มา​บน​เพดาน​ที่​เรียบ​เหมือน​กระจก​ได้​สบาย ๆ. มัน​ทำ​ได้​อย่าง​ไร? นัก​วิทยาศาสตร์​ซึ่ง​ได้​พยายาม​ตอบ​คำ​ถาม​นี้​มา​นับ​สิบ​ปี คิด​ว่า​ตอน​นี้​พวก​เขา​อาจ​มี​คำ​อธิบาย​แล้ว. วารสาร​ไซเยนซ์ นิวส์ รายงาน​ว่า นัก​วิทยาศาสตร์​และ​วิศวกร​กลุ่ม​หนึ่ง​ได้​ค้น​พบ​ว่า “มี​แรง​ยึด​ที่​เหนียวแน่น​อย่าง​น่า​ประหลาด​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​ขน​เล็ก ๆ ใต้​ตีน​ตุ๊กแก​ซึ่ง​เรียก​ว่า​ซี​ตา เสียดสี​กับ​พื้น​ผิว​ต่าง ๆ. ขน​ซี​ตา​แต่​ละ​เส้น​ยัง​แตก​ออก​เป็น​ขน​ที่​เล็ก​ลง​ไป​อีก​ซึ่ง​เรียก​ว่า สปาตูลา. เมื่อ​ตุ๊กแก​ใช้​ตีน​เกาะ​พื้น​ผิว ขน​สปาตูลา​ราว ๆ หนึ่ง​พัน​ล้าน​เส้น​ใต้​ตีน​ของ​มัน​จะ​แนบ​สนิท​กับ​พื้น​ผิว​ถึง​ขนาด​ที่​แรง​ระหว่าง​โมเลกุล . . . อาจ​เข้า​มา​เกี่ยว​ข้อง.” นัก​วิจัย​ยัง​สังเกต​ด้วย​ว่า​วิธี​ที่​ตุ๊กแก​วาง​ตีน​ของ​มัน “ดู​เหมือน​มัน​จะ​กด​อุ้ง​ตีน​ให้​ขน​ซีตา​แนบ​ไป​กับ​พื้น​ผิว.” วารสาร​นั้น​กล่าว​ว่า การ​ทำ​อย่าง​นี้​เพิ่ม “แรง​ยึด​ของ​ขน​ซี​ตา​แต่​ละ​เส้น​มาก​ขึ้น​ถึง 10 เท่า​เมื่อ​เทียบ​กับ​การ​กด​ลง​ไป​อย่าง​เดียว.”

หัวใจ​วาย​แบบ​ไม่​เจ็บ​ปวด

หลาย​คน​ตื่น​ตัว​ต่อ​อาการ​แสดง​ที่​เกิด​ขึ้น​บ่อย​ที่​สุด​ของ​ภาวะ​กล้ามเนื้อ​หัวใจ​ขาด​เลือด​เฉียบ​พลัน นั่น​คือ​การ​จุก​แน่น​ใน​ทรวง​อก​เหมือน​ถูก​บีบ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม วารสาร​ไทม์ รายงาน​ว่า​มี​คน​จำนวน​น้อย​มาก​ที่​รู้​ว่า “ผู้​ป่วย​หนึ่ง​ใน​สาม​ราย​ไม่​รู้สึก​เจ็บ​ปวด​ใน​ทรวง​อก​เลย​ใน​ช่วง​ที่​เกิด​ภาวะ​กล้ามเนื้อ​หัวใจ​ขาด​เลือด​เฉียบ​พลัน.” การ​ศึกษา​วิจัย​ซึ่ง​ตี​พิมพ์​ใน​วารสาร​แพทยสมาคม​แห่ง​อเมริกา (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า เรื่อง​นี้​ช่วย​ให้​เข้าใจ​ว่า​ทำไม “ผู้​ซึ่ง​เกิด​อาการ​กล้ามเนื้อ​หัวใจ​ขาด​เลือด​เฉียบ​พลัน​แบบ​ไม่​รู้สึก​เจ็บ​หน้า​อก​จึง​มัก​จะ​ผัด​เลื่อน​การ​ไป​โรง​พยาบาล—โดย​เฉลี่ย​สอง​ชั่วโมง.” อย่าง​ไร​ก็​ตาม ความ​ล่า​ช้า​ใด ๆ ใน​การ​รับ​การ​รักษา​ที่​อาจ​ช่วย​ชีวิต​ได้​นั้น​เป็น​อันตราย. คุณ​ควร​สังเกต​อาการ​อะไร​บ้าง? วารสาร​ไทม์ กล่าว​ว่า “อาการ​แสดง​ที่​เห็น​ได้​ชัด​ใน​อันดับ​ต่อ​มา​อาจ​เป็น​การ​เหนื่อย​หอบ​หายใจ​ไม่​อิ่ม.” บทความ​นั้น​กล่าว​ว่า อาการ​แสดง​อื่น ๆ ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น​นั้น​รวม​ถึง​อาการ​คลื่นเหียน, เหงื่อ​แตก​พลั่ก, และ “‘อาการ​จุก​เสียด’ ใด ๆ ที่​หนัก​ขึ้น​เมื่อ​คุณ​เดิน​ไป​รอบ ๆ หรือ​ออก​แรง.”

จีน​สู้​กับ​พายุ​ฝุ่น

หนังสือ​พิมพ์​ไชนา ทูเดย์ รายงาน​ว่า พายุ​ฝุ่น​ซึ่ง​มี​ต้น​กำเนิด​จาก​พื้น​ที่​ทะเล​ทราย​ใน​เขต​มองโกเลีย​ใน​ได้​พัด​ผ่าน​ตอน​เหนือ​ของ​ประเทศ​จีน​ใน​ช่วง​ไม่​กี่​ปี​มา​นี้ และ​ทำลาย​พืช​ผล​และ​ปศุสัตว์​มูลค่า​หลาย​ล้าน​ดอลลาร์. ใน​ปี 2000 พายุ​ฝุ่น​หลาย​ลูก​พัด​ไป​ไกล​ถึง​เมือง​หลวง คือ​กรุง​ปักกิ่ง. พายุ​ฝุ่น​ใน​ปี 1998 ทำ​ความ​เสียหาย​แก่​ธัญพืช​มาก​กว่า 200,000 ไร่​และ​ทำ​ให้​สัตว์​เลี้ยง​ตาย​ไป 110,000 ตัว. มี​การ​ระบุ​ว่า​สาเหตุ​หลัก​คือ​การ​ที่​มนุษย์​จัด​การ​กับ​ที่​ดิน​ผิด​พลาด. พืช​ถูก​ถอน​ราก​ถอน​โคน​เป็น​บริเวณ​กว้าง​และ​ทำ​ให้​พื้น​ที่​เหล่า​นั้น​กลาย​เป็น​ทะเล​ทราย. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​ปี 1984 ผู้​คน​ใน​เขต​ปกครอง​หนิงเซี่ยหุย ซึ่ง​อยู่​ใน​ภาค​ตะวัน​ตก​เฉียง​เหนือ​ของ​จีน เริ่ม​ขุด​ชะ​เอม​เพื่อ​นำ​มา​ทำ​ยา​สมุนไพร​จีน. หนังสือ​พิมพ์​ไชนา ทูเดย์ กล่าว​ว่า “ภาย​ใน​ไม่​ถึง 10 ปี ทุ่ง​หญ้า 600,000 เฮกตาร์ [3,750,000 ไร่] ถูก​ทำลาย​และ​พื้น​ที่​ฟาร์ม 13,333 เฮกตาร์ [83,331 ไร่] กลาย​เป็น​พื้น​ที่​ทะเล​ทราย.” พื้น​ที่​ทะเล​ทราย​อื่น ๆ เกิด​จาก​การ​เลี้ยง​สัตว์​ล้น​ที่​และ​จาก​การ​ใช้​แหล่ง​น้ำ​ใน​ท้องถิ่น​มาก​เกิน​ไป. เพื่อ​ต่อ​สู้​กับ​ปัญหา​และ​จำกัด​การ​แผ่​ขยาย​ของ​พื้น​ที่​ทะเล​ทราย มี​การ​พยายาม​อย่าง​มาก​ที่​จะ​ปลูก​ต้น​ไม้​และ​ทุ่ง​หญ้า​ขึ้น​มา​ใหม่.

โจร​แอบ​อ้าง​ชื่อ

หนังสือ​พิมพ์​เอล เอโคโนมิสตา แห่ง​กรุง​เม็กซิโก​ซิตี เตือน​ให้​ระวัง​อาชญากร​ซึ่ง​แอบ​อ้าง​ชื่อ​คุณ​เพื่อ​ฉ้อ​โกง​เจ้าหนี้. หลัง​จาก​ได้​ข้อมูล​ส่วน​ตัว​มา​โดย​การ​ขโมย​จดหมาย​หรือ​กระเป๋า​สตางค์​ของ​คุณ อาชญากร​พวก​นี้​จะ​ใช้​ชื่อ​ของ​คุณ​ทำ​บัตร​เครดิต​และ​ให้​ส่ง​บัตร​เหล่า​นั้น​ไป​ยัง​ที่​อยู่​ของ​ตน. แล้ว​พวก​เขา​จะ​ใช้​ชื่อ​คุณ​ซื้อ​ของ​หรือ​เช่า​อสังหาริมทรัพย์​ผ่าน​ทาง​โทรศัพท์​หรือ​อินเทอร์เน็ต. หนังสือ​พิมพ์​ฉบับ​นี้​กล่าว​ว่า ผู้​ที่​ตก​เป็น​เหยื่อ​ของ​อาชญากรรม​ประเภท​นี้​อาจ​ต้อง​ใช้​เวลา​หลาย​ปี หรือ​กระทั่ง​หลาย​สิบ​ปี เพื่อ​จัด​การ​กับ​ความ​เสียหาย​ที่​เกิด​ขึ้น. คุณ​จะ​ป้องกัน​ตัว​เอง​จาก​พวก​ขโมย​ที่​แอบ​อ้าง​ชื่อ​ได้​อย่าง​ไร? หนังสือ​พิมพ์​เอล เอโคโนมิสตา แนะ​นำ​ว่า อย่า​พก​เอกสาร​สำคัญ​ติด​ตัว​นอก​จาก​คุณ​จะ​ใช้, บันทึก​การ​ใช้​จ่าย​ทาง​บัตร​เครดิต​ทุก​ครั้ง​และ​ใช้​บันทึก​นั้น​ตรวจ​ใบ​แจ้ง​หนี้, ฉีก​ใบ​เสร็จ​รับ​เงิน​ก่อน​ทิ้ง, อย่า​ส่ง​ข้อมูล​ส่วน​ตัว​ผ่าน​ทาง​อีเมล, และ​บันทึก​หมาย​เลข​บัตร​เครดิต, วัน​ที่​หมด​อายุ, และ​หมาย​เลข​โทรศัพท์​ของ​ผู้​ออก​บัตร​เพื่อ​จะ​สามารถ​แจ้ง​เมื่อ​บัตร​หาย​หรือ​ถูก​ขโมย.

สงคราม​แบคทีเรีย​ที่​ไม่​มี​เหตุ​ผล

หนังสือ​พิมพ์​ยู​เอส​เอ ทูเดย์ รายงาน​ว่า “ผู้​บริโภค​ชาว​อเมริกัน​กำลัง​ทำ​สงคราม​กับ​จุล​ชีพ​ที่​บ้าน​ด้วย​ความ​เข้าใจ​ผิด.” ตาม​รายงาน​ของ​หนังสือ​พิมพ์​ฉบับ​นี้ สจ็วต ลีวี แพทย์​และ​นัก​จุล​ชีววิทยา​แห่ง​มหาวิทยาลัย​ทัฟตส์ กล่าว​ว่า “การ​แพร่​หลาย​ของ​ผลิตภัณฑ์​ขจัด​แบคทีเรีย . . . อาจ​กระตุ้น​ให้​เกิด​แบคทีเรีย​ชนิด​ที่​ไม่​เพียง​ต้านทาน​สบู่​ขจัด​แบคทีเรีย​เท่า​นั้น แต่​ต้านทาน​ยา​ปฏิชีวนะ​ด้วย.” ลีวี​กล่าว​ว่า การ​ใช้​ผลิตภัณฑ์​ขจัด​แบคทีเรีย​เพื่อ​ทำ​ความ​สะอาด​สิ่ง​แวด​ล้อม​ใน​บ้าน​ก็​เหมือน​การ​ใช้ “ค้อน​ฆ่า​แมลงวัน.” ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง น้ำ​ยา​ทำ​ความ​สะอาด​ประจำ​บ้าน​เช่น น้ำ​ยา​ฟอก​ขาว, ไฮโดรเจน​เพอร์ออกไซด์, และ​น้ำ​ร้อน​กับ​สบู่ จะ​ชำระ​ล้าง​สิ่ง​สกปรก​ออก​ไป​แต่​ไม่​กระตุ้น​ให้​แบคทีเรีย​กลาย​พันธุ์​เป็น​แบคทีเรีย​ซึ่ง​ต้านทาน​ผลิตภัณฑ์​นั้น. ลี​วี​กล่าว​ว่า “แบคทีเรีย​เป็น​พันธมิตร​ของ​เรา. เรา​ต้อง​อยู่​กับ​มัน​อย่าง​มี​สันติ.”

คลัง​เมล็ด​พืช

หนังสือ​พิมพ์​แนชันแนล โพสต์ แห่ง​แคนาดา​รายงาน​ว่า “นัก​วิทยาศาสตร์​คาด​การณ์​ว่า​พรรณ​ไม้​ใน​โลก​ถึง 25 % อาจ​จะ​สูญ​พันธุ์​ภาย​ใน 50 ปี​ข้าง​หน้า.” เพื่อ​จะ​สงวน​พันธุ์​พืช​ที่​ใกล้​สูญ​พันธุ์ สวน​พฤกษชาติ​หลวง​แห่ง​คิว ประเทศ​อังกฤษ ได้​ก่อ​ตั้ง​โครงการ​ธนาคาร​เมล็ด​พืช​แห่ง​สหัสวรรษ (เอ็ม​เอส​บี). หนังสือ​พิมพ์​ฉบับ​นี้​ชี้​แจง​ว่า “โครงการ​เอ็ม​เอส​บี​มี​จุด​ประสงค์​ที่​จะ​รวบ​รวม​และ​เก็บ​รักษา​พรรณ​พืช​ไว้​มาก​กว่า 25,000 ชนิด—กว่า 10 % ของ​พืช​ที่​มี​เมล็ด​ใน​โลก.” ผู้​ร่วม​ก่อ​ตั้ง​โครงการ​เอ็ม​เอส​บี​หวัง​จะ​ใช้​เมล็ด​พืช​เหล่า​นี้​เมื่อ​จำ​ต้อง​ฟื้นฟู​พื้น​ที่​ซึ่ง​มี​การ​เพาะ​ปลูก​มาก​เกิน​ไป, ลด​โอกาส​ที่​จะ​เกิด​การ​กันดาร​อาหาร, และ​จัด​ให้​มี​พืช​พรรณ​เพื่อ​ใช้​ผลิต​ยา​ทั้ง​แผน​โบราณ​และ​แผน​ปัจจุบัน. โรเจอร์ สมิท หัวหน้า​โครงการ​ดัง​กล่าว​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “พืช​พรรณ​ที่​เป็น​ประโยชน์​มาก​ที่​สุด​ต่อ​มนุษย์​และ​สัตว์​มัก​จะ​สูญ​พันธุ์​ก่อน.”

คริสตจักร​กรีก​ออร์โทด็อกซ์ ไม่​พอ​ใจ​การ​ตัดสิน

รายงาน​ใน​เว็บไซต์ Newsroom.org กล่าว​ว่า การ​ตัด​ข้อ​ความ​ที่​ระบุ​ศาสนา​ของ​ประชาชน​ชาว​กรีก​ออก​จาก “บัตร​ประชาชน​ทำ​ให้​คริสตจักร​กรีก​ออร์โทด็อกซ์​เกิด​ความ​ไม่​พอ​ใจ​อย่าง​มาก.” การ​ตัดสิน​นี้​เกิด​ขึ้น​หลัง​การ​รายงาน​ใน​ปี 1998 โดย​สหพันธ์​สิทธิ​มนุษยชน​ระหว่าง​ประเทศ​แห่ง​กรุง​เฮลซิงกิ​ซึ่ง “อ้าง​ว่า​ประเทศ​กรีซ​เลือก​ปฏิบัติ​ต่อ​คริสตจักร​ที่​ไม่​ใช่​ออร์โทด็อกซ์​และ​อ้าง​ว่า​ข้อ​บังคับ​ที่​ให้​ระบุ​ศาสนา​บน​บัตร​ประชาชน​ทำ​ให้​เกิด​ความ​ลำเอียง​ใน​การ​จ้าง​งาน​และ​ใน​การ​ปฏิบัติ​งาน​ของ​ตำรวจ.” รัฐบาล​กรีก​กล่าว​ว่า​การ​เปลี่ยน​แปลง​นี้​จะ “ทำ​ให้​บัตร​ประชาชน​สอดคล้อง​กับ​มาตรฐาน​ของ​สหภาพ​ยุโรป​และ​กฎหมาย​ของ​ประเทศ​ว่า​ด้วย​การ​คุ้มครอง​สิทธิ​ส่วน​บุคคล​แห่ง​ปี 1997. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ผู้​นำ​คริสตจักร​กรีก​ออร์โทด็อกซ์​กล่าว​ถึง​คน​ที่​ต้องการ​ให้​ตัด​การ​ระบุ​ศาสนา​ออก​จาก​บัตร​ประชาชน​ว่า​เป็น​ผู้​ที่​อยู่​ฝ่าย “พลัง​แห่ง​ความ​ชั่ว.”