เมื่อเกิดความสับสนทางอารมณ์ความรู้สึก
เมื่อเกิดความสับสนทางอารมณ์ความรู้สึก
ชายสูงอายุคนหนึ่งเล่าว่า “หลังจากได้รับแจ้งว่าผมเป็นโรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ผมก็พยายามขจัดความกลัวออกไป แต่ความรู้สึกไม่แน่ใจทำให้ผมอ่อนล้า.” คำพูดของเขาเน้นข้อเท็จจริงที่ว่า นอกจากความเจ็บป่วยจะก่อให้เกิดความเสียหายกับร่างกายแล้ว มันยังส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกด้วย. แม้กระนั้น ก็มีคนที่กำลังรับมือกับความเสียหายเหล่านี้ได้อย่างประสบความสำเร็จ. พวกเขาหลายคนอยากจะให้คำรับรองกับคุณว่ามีหลายวิธีที่จะรับมือกับความเจ็บป่วยเรื้อรังได้อย่างเป็นผลสำเร็จ. แต่ก่อนที่เราจะพิจารณาถึงสิ่งที่คุณทำได้ ขอให้เราพิจารณาละเอียดขึ้นถึงความรู้สึกบางอย่างที่คุณอาจมีในช่วงแรก ๆ.
ไม่เชื่อ, ไม่ยอมรับ, ทุกข์ใจ
ความรู้สึกของคุณอาจแตกต่างจากคนอื่นมาก. อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและผู้ที่เจ็บป่วยบางรายตั้งข้อสังเกตว่า คนที่เผชิญปัญหาร้ายแรงด้านสุขภาพมักมีความรู้สึกหลายอย่างคล้าย ๆ กัน. ความรู้สึกตกตะลึงและไม่เชื่อในช่วงแรกอาจกลายเป็นความรู้สึกไม่ยอมรับ เช่น ‘ไม่จริง.’ ‘ต้องมีอะไรผิดพลาด.’ ‘ผลตรวจจากห้องแล็บอาจสลับกันก็ได้.’ ผู้หญิงคนหนึ่งพรรณนาถึงปฏิกิริยาของเธอตอนที่รู้ว่าเป็นมะเร็งดังนี้: “คุณอยากจะเอาผ้ามาคลุมศีรษะไว้ และหวังว่าเมื่อคุณเปิดผ้าออกดูอีกทีมันจะหายไปแล้ว.”
อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นความจริง การไม่ยอมรับอาจเปลี่ยนเป็นความทุกข์ใจ ซึ่งเป็นความรู้สึกเศร้าหมองที่ครอบงำคุณเหมือนเมฆหมอกแห่งความหายนะที่คืบใกล้เข้ามา. ‘ฉันจะอยู่ได้นานแค่ไหน?’ ‘ฉันต้องใช้ชีวิตที่เหลือด้วยความเจ็บปวดหรือ?’ และคำถามคล้าย ๆ กันอาจรุมเร้าคุณ. คุณอาจอยากย้อนเวลากลับไปก่อนที่จะมีการวินิจฉัยโรค แต่คุณทำไม่ได้. ไม่ช้าความรู้สึกอันรุนแรงที่ก่อความเจ็บปวดอื่น ๆ อีกมากมายอาจโถมทับคุณ. ความรู้สึกอะไรบ้าง?
ไม่แน่ใจ, กังวล, กลัว
ความเจ็บป่วยร้ายแรงทำให้เกิดความรู้สึกไม่แน่ใจและความกังวลอย่างมากในชีวิตของคุณ. ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นโรคพาร์คินสันกล่าวว่า “สภาพการณ์ของผมที่ไม่อาจคาดเดาได้บางครั้งทำให้ชีวิตน่าข้องขัดใจมาก. แต่ละวัน ผมต้องคอยดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น.” ความเจ็บป่วยของคุณอาจทำให้คุณกลัวด้วย. ถ้ามันเกิดขึ้นโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า คุณอาจรู้สึกตกใจกลัว. อย่างไรก็ตาม ถ้าการวินิจฉัยโรคมีขึ้นหลังจากที่คุณกังวลมาเป็นเวลาหลายปีเนื่องจากการวินิจฉัยที่ผิดพลาด ความกลัวอาจไม่ปรากฏให้เห็นทันที. ตอนแรก คุณอาจถึงกับโล่งใจที่ในที่สุดคนอื่นก็จะเชื่อว่าคุณป่วยจริง ๆ และไม่ได้กุเรื่องทั้งหมดขึ้น. แต่ไม่นาน ความโล่งใจอาจกลายเป็นความกลัวเมื่อตระหนักว่าการวินิจฉัยโรคนั้นหมายถึงอะไร.
ความกลัวว่าจะไม่สามารถควบคุมชีวิตของตัวเองได้อีกอาจทำให้คุณกังวลด้วย. โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณ
ให้ความสำคัญกับการพึ่งพาตัวเองอยู่บ้าง คุณอาจกังวลมากเมื่อคิดว่าคุณจะต้องพึ่งพาคนอื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ. คุณอาจกังวลว่าความเจ็บป่วยกำลังเริ่มจะครอบงำชีวิตและควบคุมทุกย่างก้าวของคุณ.โกรธ, อับอาย, เปล่าเปลี่ยว
การรู้สึกว่าตัวเองกำลังสูญเสียความสามารถในการควบคุมชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้รู้สึกโกรธอีกด้วย. คุณอาจถามตัวเองว่า ‘ทำไมต้องเป็นฉัน? ฉันทำผิดอะไรถึงต้องเป็นอย่างนี้?’ การที่สุขภาพของคุณทรุดโทรมลงในครั้งนี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมและไร้เหตุผล. ความอับอายและความสิ้นหวังอาจโถมทับคุณ. ผู้หนึ่งที่เป็นอัมพาตเล่าว่า “ผมรู้สึกอับอายมากที่สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดเกิดขึ้นกับผมเพราะอุบัติเหตุที่น่าโมโหนั่น!”
ความโดดเดี่ยวอาจรุมเร้าคุณ. ความโดดเดี่ยวทางกายอาจนำไปสู่ความโดดเดี่ยวทางสังคมได้ง่าย ๆ. ถ้าความเจ็บป่วยทำให้คุณออกไปไหนมาไหนไม่ได้ คุณอาจไม่สามารถคบหากับเพื่อนเก่า ๆ ของคุณได้อีก. กระนั้น คุณอยากมีเพื่อนมากยิ่งกว่าแต่ก่อน. ในช่วงแรกอาจมีคนมาเยี่ยมและโทรศัพท์มาหามากมาย แต่หลังจากนั้นคนที่มาเยี่ยมหรือโทรศัพท์มาจะลดน้อยลงเรื่อย ๆ.
เนื่องจากเป็นสิ่งที่ปวดร้าวใจเมื่อเห็นเพื่อน ๆ ตีจาก คุณอาจมีปฏิกิริยาต่อประสบการณ์อันเจ็บปวดนี้โดยปลีกตัวอยู่คนเดียว. แน่นอน เป็นที่เข้าใจได้ว่าคุณอาจต้องการเวลาที่จะอยู่ตามลำพังบ้างก่อนจะพบกับคนอื่นอีกครั้ง. แต่ถ้าตอนนี้คุณปล่อยให้ตัวเองแยกตัวจากคนอื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ คุณอาจถลำลึกจากความโดดเดี่ยวทางสังคม (เมื่อคนอื่นไม่มาเยี่ยมคุณ) เข้าสู่ความโดดเดี่ยวทางอารมณ์ความรู้สึก (เมื่อคุณไม่อยากพบคนอื่น). ไม่ว่าจะในทางใด คุณอาจต่อสู้กับความรู้สึกเปล่าเปลี่ยวเป็นอย่างมาก. * บางครั้ง คุณอาจถึงกับสงสัยว่าคุณจะอยู่รอดไปอีกวันหนึ่งหรือไม่.
การเรียนรู้จากคนอื่น
แต่ยังมีหวัง. ถ้าเมื่อเร็ว ๆ นี้คุณเพิ่งถูกโถมทับด้วยปัญหาร้ายแรงด้านสุขภาพ ก็มีขั้นตอนต่าง ๆ ที่ใช้ได้ผลเพื่อจะช่วยให้คุณสามารถควบคุมชีวิตได้อีกในระดับหนึ่ง.
จริงอยู่ บทความชุดนี้ไม่อาจแก้ปัญหาเรื้อรังด้านสุขภาพของคุณ ไม่ว่าปัญหานั้นจะเป็นอะไร. กระนั้น ความรู้นี้อาจช่วยคุณให้รู้วิธียอมรับและรับมือกับปัญหานั้น. ผู้หญิงซึ่งเป็นมะเร็งคนหนึ่งสรุปเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกของเธอดังนี้: “หลังจากการไม่ยอมรับก็รู้สึกโกรธอย่างมากแล้วก็ตามมาด้วยการค้นหาสิ่งที่จะช่วยดิฉันได้.” คุณก็สามารถค้นหาแบบนั้นได้เช่นกัน โดยปรึกษาคนที่เคยมีประสบการณ์แบบเดียวกันมาก่อนและเรียนรู้จากพวกเขาถึงวิธีที่คุณอาจได้รับประโยชน์จากเครื่องช่วย ซึ่งอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 12 แน่นอน หลายคนมีความรู้สึกเหล่านี้ในปริมาณที่มากน้อยต่างกันและในลำดับที่ต่างกัน.
[คำโปรยหน้า 5]
คุณอาจถามตัวเองว่า ‘ทำไมต้องเป็นฉัน? ฉันทำผิดอะไรถึงต้องเป็นอย่างนี้?’