ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเพ่งดูโลก

การเพ่งดูโลก

การ​เพ่ง​ดู​โลก

ความ​เสียหาย​จาก​อุทกภัย​ใน​โมซัมบิก

เดือน​ที่​แล้ว​เป็น​การ​ครบ​รอบ​หนึ่ง​ปี​ที่​เกิด​น้ำ​ท่วม​ใน​โมซัมบิก​ซึ่ง​ทำ​ให้​มาก​กว่า​ห้า​แสน​คน​ไร้​ที่​อยู่​อาศัย, ไร่​ข้าว​โพด​ประมาณ​หนึ่ง​ใน​สาม​ของ​ประเทศ​ถูก​ทำลาย, และ​ปศุสัตว์​มาก​กว่า 20,000 ตัว​จม​น้ำ​ตาย. ขณะ​ที่​ประเทศ​กำลัง​ฟื้น​ตัว​จาก​อุทกภัย​ครั้ง​นี้​ซึ่ง​เป็น​ครั้ง​ร้ายแรง​ที่​สุด​นับ​ตั้ง​แต่​ปี 1948 หลาย​คน​ได้​ถาม​ว่า​เหตุ​ใด​จึง​เกิด​อุทกภัย​ครั้ง​นี้​และ​เกิด​ขึ้น​อย่าง​ไร. วารสาร​ชีวิต​สัตว์​ป่า​ใน​แอฟริกา (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า การ​ขยาย​เมือง, การ​เพาะ​ปลูก​ที่​ทุ่ง​หญ้า, และ​การ​เลี้ยง​สัตว์​ล้น​ที่​ใน​ประเทศ​เพื่อน​บ้าน​ซึ่ง​อยู่​ทาง​ต้น​น้ำ​เหนือ​ประเทศ​โมซัมบิก เป็น​การ​ทำลาย​ความ​สามารถ​ทาง​ธรรมชาติ​ของ​ทุ่ง​หญ้า​และ​ที่​ราบ​ลุ่ม​ของ​ประเทศ​ใน​การ​ดูด​ซับ​น้ำ​ที่​ท่วม. ดัง​นั้น เมื่อ​ฝน​ตก​หนัก จึง​กลาย​เป็น​กระแส​น้ำ​ที่​เชี่ยวกราก​ใน​ที่​สุด. เดวิด ลินด์ลี ผู้​ประสาน​งาน​โครงการ​ที่​ลุ่ม​ชื้น​แฉะ​แห่ง​แอฟริกา​ใต้​กล่าว​ดัง​นี้: “สิ่ง​ที่​มนุษย์​ทำ​ด้วย​ความ​หยิ่ง​และ​ขาด​วิสัย​ทัศน์​ที่​กว้าง​ไกล​อย่าง​ยิ่ง​นั้น เป็น​การ​ทำลาย​ความ​สมบูรณ์​ของ​ที่​ลุ่ม​ชื้น​แฉะ​และ​ส่ง​ผล​ทำ​ให้​แม่น้ำ​ของ​เรา​เสื่อม​สภาพ​ลง.”

ปรับ​ปริมาณ​น้ำมัน​สำรอง​ของ​โลก​เพิ่ม​ขึ้น

วารสาร​ไซเยนติฟิก อเมริกัน รายงาน​ว่า “หลัง​จาก​การ​ศึกษา​วิจัย​ห้า​ปี หน่วย​สำรวจ​ธรณี​แห่ง​สหรัฐ [ยูเอสจีเอส] ได้​ปรับ​ปริมาณ​น้ำมัน​ดิบ​สำรอง​ของ​โลก​เพิ่ม​ขึ้น​จาก​การ​ประเมิน​ครั้ง​ก่อน​ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ คือ​รวม​ทั้ง​หมด 649,000 ล้าน​บาร์เรล.” ซูซาน วีดแมน ผู้​ประสาน​งาน​ฝ่าย​การ​ประเมิน​ปิโตรเลียม​ของ​โลก​ปี 2000 แห่ง​ยู​เอส​จี​เอส กล่าว​ว่า “สิ่ง​ที่​เรา​ทำ​คือ​มอง​ไป​ยัง​อนาคต​และ​ทำนาย​ว่า​จะ​มี​การ​ค้น​พบ [น้ำมัน] มาก​น้อย​เท่า​ไร​ใน​อีก 30 ปี​ข้าง​หน้า.” วารสาร​ฉบับ​นั้น​กล่าว​ว่า นอก​จาก​จะ​ค้น​พบ​แหล่ง​น้ำมัน​สำรอง​ใหม่​แล้ว ความ​ก้าว​หน้า​ทาง​ด้าน​เทคโนโลยี​การ​ขุด​เจาะ​น้ำมัน​จะ​ช่วย​เพิ่ม​ปริมาณ​น้ำมัน​สำรอง​ของ​โลก โดย​บริษัท​ปิโตรเลียม​ต่าง ๆ จะ “สูบ​น้ำมัน​จาก​แหล่ง​น้ำมัน​ได้​มาก​ขึ้น.”

แต่ง​กาย​แบบ​ลำลอง —ทำ​งาน​แบบ​สบาย ๆ หรือ?

การ​สำรวจ​ทั่ว​ประเทศ​ออสเตรเลีย​พบ​ว่า พนักงาน​บาง​คน​เชื่อ​ว่า​การ​ทำ​งาน​โดย​แต่ง​กาย​แบบ​ลำลอง​จะ​ก่อ​ให้​เกิด​ความ​ขี้​เกียจ หนังสือ​พิมพ์​เดอะ ซันเดย์ เทเลกราฟ รายงาน. เดี๋ยว​นี้​พนักงาน​ใน​บริษัท​คอมพิวเตอร์​ของ​ออสเตรเลีย​เกือบ 42 เปอร์เซ็นต์​แต่ง​กาย​แบบ​ลำลอง​ทุก​วัน และ 40 เปอร์เซ็นต์​ของ​บริษัท​ออสเตรเลีย​มี “วัน​ศุกร์​ลำลอง” ซึ่ง​ใน​วัน​นั้น​พนักงาน​จะ​สวม​ชุด​ลำลอง​หรือ​ไม่​ก็​ได้. ถึง​แม้​การ​สวม​ชุด​ลำลอง​ไป​ทำ​งาน​กำลัง​ได้​รับ​ความ​นิยม​ใน​หมู่​พนักงาน​ก็​ตาม แต่​จาก​การ​สำรวจ มี​หัวหน้า​คน​งาน 17 เปอร์เซ็นต์​ที่​คิด​ว่า​การ​แต่ง​กาย​แบบ​ลำลอง​ส่ง​ผล​ต่อ​ประสิทธิภาพ​ของ​ลูกจ้าง. ตัว​เลข​นี้​ใกล้​เคียง​กับ​ความ​เห็น​ของ​พนักงาน​เอง โดย​ผู้​หญิง 21 เปอร์เซ็นต์​และ​ผู้​ชาย 18 เปอร์เซ็นต์ กล่าว​ว่า​การ​สวม​ชุด​ลำลอง​ส่ง​ผล​ใน​แง่​ลบ​ต่อ​ผลิตภัณฑ์.

จง​เรียน​ต่อ​ไป ขณะ​ที่​อายุ​มาก​ขึ้น

หนังสือ​พิมพ์​เดอะ โทรอนโต สตาร์ รายงาน​ว่า การ​เรียน​รู้​เทคโนโลยี​ใหม่ ๆ ใน​ที่​ทำ​งาน เช่น ระบบ​คอมพิวเตอร์​และ​ระบบ​การ​สื่อสาร​อาจ​เป็น​เหตุ​ให้​ผู้​ทำ​งาน​สูง​อายุ​บาง​คน​เกิด​ความ​เครียด. ผู้​ตรวจ​สอบ​งาน​อาชีพ แอน เอบี กล่าว​ว่า ปัญหา​ที่​เกิด​ขึ้น​บ่อย ๆ มัก​จะ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​วิธี​ที่​เขา​เรียน​รู้ แทน​ที่​จะ​เกิด​จาก​เรื่อง​ที่​เขา​กำลัง​เรียน​รู้. จูเลีย เคนเนดี ประธาน​ศูนย์​พัฒนา​และ​อบรม​แห่ง​แอกเซียม อธิบาย​ว่า “เมื่อ​เรา​อายุ​มาก​ขึ้น ประสาท​ของ​เรา​สั่ง​งาน​ช้า​ลง แต่​สมอง​ยัง​คง​ดี​อยู่.” เคนเนดี​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า ไม่​เหมือน​เด็ก​ซึ่ง​ชำนาญ​ใน​การ​เรียน​แบบ​ท่อง​จำ​โดย​ไม่​สนใจ​ความ​หมาย​ของ​เรื่อง​นั้น แต่ “ผู้​ใหญ่​ต้อง​นำ​สิ่ง​ที่​เขา​รู้​อยู่​แล้ว (ประสบการณ์​ใน​ชีวิต) มา​เชื่อม​เข้า​กับ​สิ่ง​ที่​เขา​เพิ่ง​เรียน​รู้.” ถึง​แม้​ผู้​ทำ​งาน​สูง​อายุ​อาจ​ใช้​เวลา​มาก​กว่า​เพื่อ​เรียน​รู้​งาน​ที่​ซับซ้อน กระนั้น​พวก​เขา​ก็​ยัง​คง​มี​ความ​สามารถ​ที่​จะ​เรียน​รู้​ได้. เคนเนดี​ให้​คำ​แนะ​นำ​แก่​ผู้​ทำ​งาน​สูง​อายุ​ซึ่ง​กำลัง​พยายาม​เรียน​รู้​งาน​ใหม่​และ​ยาก​ดัง​ต่อ​ไป​นี้: หาก​เป็น​ได้ คุณ​ควร​จัด​ตาราง​การ​ฝึก​ไว้​ใน​ช่วง​เช้า, พยายาม​คิด​ถึง​ภาพ​รวม​แทน​ที่​จะ​คิด​ถึง​ราย​ละเอียด​ทุก​อย่าง, และ​หลีก​เลี่ยง​การ​เปรียบ​เทียบ​ตัว​คุณ​เอง​กับ​คน​อื่น ๆ.

โค​และ​ก๊าซ​เรือน​กระจก

กล่าว​กัน​ว่า​ก๊าซ​มีเทน​มี​ศักยะ​มาก​กว่า​ก๊าซ​คาร์บอนไดออกไซด์​ถึง 20 เท่า​ใน​การ​ทำ​ให้​โลก​ร้อน​ขึ้น. ประมาณ​กัน​ว่า​ตลอด​ทั่ว​โลก มี​ก๊าซ​มีเทน​เกิด​ขึ้น​ราว 100 ล้าน​ตัน​ทุก​ปี​จาก​ปศุสัตว์, แกะ, และ​แพะ​ประมาณ​สอง​พัน​ล้าน​ตัว. ตาม​รายงาน​จาก​หนังสือ​พิมพ์​เดอะ แคนเบอร์รา ไทมส์ ก๊าซ​เรือน​กระจก​ที่​กระจาย​อยู่​ใน​ออสเตรเลีย​เกิด​จาก​พวก​ปศุสัตว์ 13 เปอร์เซ็นต์ ใน​ขณะ​ที่​นิวซีแลนด์​ตัว​เลข​อยู่​ที่​ประมาณ 46 เปอร์เซ็นต์. จุลินทรีย์​ใน​กระเพาะ​ของ​สัตว์​จำพวก​เคี้ยว​เอื้อง​จะ​ย่อย​อาหาร​และ​ผลิต​ก๊าซ​มีเทน ซึ่ง​จะ​ปล่อย​ก๊าซ​นี้​ออก​มา​ทาง​ปาก. โดย​พยายาม​ลด​ก๊าซ​นี้​ที่​มา​จาก​สัตว์​ซึ่ง​ทำ​ให้​โลก​ร้อน​ขึ้น บัด​นี้​นัก​วิทยาศาสตร์​กำลัง​ทดลอง​วิธี​เพิ่ม​ผลิตภัณฑ์​นม​ต่อ​โค​หนึ่ง​ตัว​ขณะ​ที่​จะ​ลด​การ​เกิด​ก๊าซ​มีเทน​จาก​สัตว์.

ตำนาน​การ​สูบ​บุหรี่​ถูก​เปิดโปง

หนังสือ​พิมพ์​โกลบ แอนด์ เมล์ แห่ง​แคนาดา​รายงาน​ว่า “ถ้า​พูด​ใน​แง่​เศรษฐศาสตร์​แล้ว การ​ชัก​เหตุ​ผล​ที่​ว่า​ผู้​สูบ​บุหรี่​แบก​ภาระ​ด้าน​การ​ดู​แล​สุขภาพ​น้อย​กว่า​ผู้​ไม่​สูบ​บุหรี่​เนื่อง​จาก​เขา​เสีย​ชีวิต​ก่อน​วัย​อัน​ควร​นั้น​เป็น​เรื่อง​ไม่​จริง.” นัก​วิจัย​ชาว​ดัตช์​ซึ่ง​ศึกษา​สถานภาพ​สุขภาพ​ของ​ชาว​ดัตช์​และ​ชาว​อเมริกัน​ประมาณ 13,000 คน​พบ​ว่า ผู้​ไม่​สูบ​บุหรี่​มี​ช่วง​ชีวิต​ที่​เจ็บ​ป่วย​สั้น​กว่า​ผู้​สูบ​บุหรี่. ดร. วิลมา นุชเชลเดอร์ จาก​ภาค​วิชา​สาธารณสุข​ของ​มหาวิทยาลัย​เอราสมุส​แห่ง​รอตเทอร์ดัม​เขียน​ดัง​นี้: “การ​เลิก​สูบ​บุหรี่​ไม่​เพียง​แต่​จะ​ยืด​ชีวิต​ให้​ยืน​ยาว​ขึ้น​และ​เพิ่ม​จำนวน​ปี​ที่​ไม่​เจ็บ​ป่วย​แต่​ยัง​ทำ​ให้​ช่วง​ชีวิต​ที่​เจ็บ​ป่วย​สั้น​ลง​อีก​ด้วย.” ตาม​รายงาน​ของ​โกลบ “มี​ผู้​สูบ​บุหรี่​ตลอด​ทั่ว​โลก​เกือบ 1,150 ล้าน​คน หนึ่ง​ใน​สาม​ของ​ประชากร​โลก​ที่​เป็น​ผู้​ใหญ่. ผู้​สูบ​บุหรี่​ประมาณ 943 ล้าน​คน​อยู่​ใน​ประเทศ​กำลัง​พัฒนา.”

โรค​ติด​ต่อ​ทาง​เพศ​และ​เด็ก

“เด็ก​อายุ​แค่ 11 ขวบ​กำลัง​ได้​รับ​การ​รักษา​เนื่อง​จาก​เป็น​โรค​ติด​ต่อ​ทาง​เพศ” รายงาน​จาก​หนังสือ​พิมพ์​เดอะ ไทมส์ แห่ง​ลอนดอน. เมือง​หนึ่ง​ใน​อังกฤษ​มี​คน​เป็น​โรค​หนอง​ใน​มาก​กว่า​เฉลี่ย​ของ​ทั้ง​ประเทศ​ถึง​สอง​เท่า และ​เด็ก​สาว​วัยรุ่น 1 ใน 8 คน​ติด​โรค​คลามีเดีย. มี​การ​ติด​เชื้อ​คลามีเดีย​ใน​อังกฤษ​เกือบ​สอง​เท่า​นับ​ตั้ง​แต่​ปี 1995 และ​เพิ่ม​ขึ้น​โดย​เพียง​แค่​ปี​ที่​แล้ว มี​ถึง​หนึ่ง​ใน​ห้า​ของ​วัยรุ่น​ติด​โรค​นี้. ใน​ช่วง​ห้า​ปี​มี​ผู้​เป็น​โรค​หนอง​ใน​ทั้ง​ประเทศ​เพิ่ม​ขึ้น 56 เปอร์เซ็นต์​และ​ส่วน​ใหญ่​ที่​ติด​เชื้อ​เป็น​วัยรุ่น.

ใช้​หัว

นาง​พญา​มด​พันธุ์​เบลฟาริเดตตา โคนอปส์ ซึ่ง​มี​หัว​กลม​แบน​และ​ใหญ่​นั้น​มี​ถิ่น​กำเนิด​อยู่​ใน​ทุ่ง​หญ้า​สะวันนา​ของ​บราซิล. ตาม​รายงาน​ที่​แนชันแนล จีโอกราฟิก ฉบับ​ของ​บราซิล​กล่าว นาง​พญา​มด​ใช้​หัว​ที่​ไม่​ธรรมดา​นี้​ปิด​ทาง​เข้า​รัง​ของ​มัน​ซึ่ง​เป็น​ที่​เก็บ​ไข่, ตัว​อ่อน, และ​ตัว​ดักแด้, และ​เพื่อ​ป้องกัน​สิ่ง​เหล่า​นี้​จาก​ใคร ๆ ที่​อาจ​เป็น​ศัตรู. พวก​มด​งาน​สร้าง​ผนัง​รัง​ของ​นาง​พญา​มด​โดย​ใช้​ส่วน​ต่าง ๆ ของ​ซาก​แมลง​ที่​มัน​เก็บ​รวบ​รวม​เอา​ไว้. หลัง​จาก​ดูด​ของ​เหลว​และ​ขจัด​กล้ามเนื้อ​ออก​จาก​ซาก​ของ​แมลง​เหล่า​นั้น​อย่าง​ระมัดระวัง​แล้ว พวก​มด​งาน​จะ​สร้าง​ผนัง​ล้อม​นาง​พญา​มด​ไว้​และ​เหลือ​ทาง​เข้า​ให้​พอ​ดี​กับ​หัว​ของ​นาง​พญา. พวก​มด​งาน​สามารถ​เข้า​สู่​รัง​พิเศษ​นี้​ได้​โดย​เคาะ​ที่​หัว​ของ​นาง​พญา​มด​เบา ๆ ซึ่ง​เป็น​เหมือน​รหัส​ผ่าน​แบบ​หนึ่ง.

ขโมย​ไฟฟ้า

องค์กร​สาธารณูปโภค​ทั่ว​สหรัฐ​อเมริกา​กำลัง​เริ่ม​จัด​การ​กับ​ปัญหา​ที่​กำลัง​เพิ่ม​มาก​ขึ้น—การ​ขโมย​ไฟฟ้า. ตาม​ข้อ​สังเกต​จาก​หนังสือ​พิมพ์​เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล หลาย​ปี​ก่อน​ดู​เหมือน​ไม่​คุ้ม​ที่​จะ​ขโมย​ไฟฟ้า แต่​เมื่อ​ไม่​กี่​ปี​มา​นี้​ค่า​ไฟฟ้า​พุ่ง​ขึ้น​อย่าง​รวด​เร็ว จึง​ทำ​ให้​การ​ขโมย​ไฟฟ้า​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​มาก​ขึ้น. ยก​ตัว​อย่าง บริษัท เอดิสัน ดีทรอยต์ ประมาณ​ว่า​ใน​ปี 1999 บริษัท​ต้อง​สูญ​เสีย​เงิน 40 ล้าน​ดอลลาร์​จาก​การ​ถูก​ขโมย​ไฟฟ้า. เป็น​ที่​รู้​กัน​ว่า พวก​ขโมย​ที่​มัก​ไม่​ตระหนัก​ถึง​อันตราย ใช้​เครื่อง​มือ​ง่าย ๆ อย่าง​เช่น สาย​พ่วง​แบตเตอรี่​รถยนต์, สาย​พ่วง​ที่​ใช้​กัน​ใน​บ้าน, และ​ท่อ​ทองแดง. อีก​วิธี​หนึ่ง​คือ​ขุด​ลง​ไป​ใต้​ดิน​เพื่อ​ต่อ​สาย​เข้า​กับ​สาย​ไฟ​ใหญ่​ของ​บริษัท.

ไม่​มี​ใคร​คิด​ถึง​เขา​เลย​หรือ?

เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​มี​การ​พบ​ซาก​ศพ​แห้ง​แล้ว​ของ​ชาย​คน​หนึ่ง​ใน​อพาร์ตเมนต์​ที่​เฮลซิงกิ ประเทศ​ฟินแลนด์. ช่าง​ซ่อม​บำรุง​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​เข้า​ไป​ใน​อพาร์ตเมนต์​เพื่อ​ติด​ตั้ง​สัญญาณ​เตือน​อัคคี​ภัย ได้​สังเกต​เห็น​หน้า​ห้อง​หนึ่ง​มี​จดหมาย​กอง​โต​และ​มี​กลิ่น​เหม็น​ออก​มา​จาก​ห้อง. ตำรวจ​ซึ่ง​ได้​รับ​แจ้ง​เรื่อง​นี้​พบ​ว่า​ผู้​รับ​เงิน​สงเคราะห์​วัย 55 ปี​ราย​นี้​อาศัย​อยู่​ใน​ห้อง​เพียง​คน​เดียว​และ​เสีย​ชีวิต​นาน​กว่า​หก​ปี​แล้ว. ดัง​รายงาน​ใน​หนังสือ​พิมพ์​เฮลซิงกิน ซาโนเมต ได้​กล่าว ตลอด​ช่วง​เวลา​นั้น​สำนัก​ประกัน​สังคม​ส่ง​เบี้ย​บำนาญ​ให้​กับ​เขา​และ​สำนักงาน​สวัสดิการ​ก็​จ่าย​ค่า​เช่า​ให้​เขา กระนั้น​ไม่​เคย​มี​ใคร​ไป​เยี่ยม​เขา. ลูก ๆ ที่​โต​แล้ว​ของ​เขา​ซึ่ง​อยู่​ใน​เมือง​หลวง ​นี้​ก็​ไม่​เคย​คิด​ถึง​เขา​ด้วย. นาง​เอาลิกกิ กานาโนจา ผู้​อำนวย​การ​กอง​บริการ​สังคม​ใน​เฮลซิงกิ​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “เป็น​เวลา​หก​ปี​ที่​ชาย​คน​นี้​อยู่​ใน​สังคม​มนุษย์—คือ​ไม่​ใช่​บน​เกาะ​ที่​อ้างว้าง แต่​ใน​สังคม​เมือง—และ​ไม่​มี​ใคร​คิด​ถึง​เขา​พอ​ที่​อยาก​จะ​รู้​ว่า​เขา​ไป​ไหน​หรือ​เกิด​อะไร​ขึ้น​กับ​เขา​บ้าง.”