สงครามไม่ได้ทำให้งานเผยแพร่ของเราต้องยุติ
สงครามไม่ได้ทำให้งานเผยแพร่ของเราต้องยุติ
เล่าโดย เลโอเดการิโอ บาร์ลาอัน
ปี 1942 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นกับสหรัฐสู้รบขับเคี่ยวกันเพื่อยึดฟิลิปปินส์ประเทศบ้านเกิดของผม. ตอนนั้นผมอยู่ที่หมู่บ้านบนเขาทาโบนัน ซึ่งกองโจรท้องถิ่นที่สู้รบกับทหารญี่ปุ่นได้ควบคุมตัวผมไว้. ผมถูกเฆี่ยน, ถูกกล่าวหาเป็นสายลับ, และถูกข่มขู่จะเอาชีวิต. ขอให้ผมชี้แจงว่าได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์นี้อย่างไร และผมรอดชีวิตได้อย่างไร.
ผมเกิดวันที่ 24 มกราคม 1914 ที่เมืองซานคาร์ลอส จังหวัดปังกาซินัน. ในช่วงทศวรรษ 1930 คุณพ่อส่งผมเข้าโรงเรียนเพื่อศึกษาด้านการเกษตร. พอถึงวันอาทิตย์ ผมเข้าร่วมพิธีมิสซา และบาทหลวงจะบรรยายเรื่องกิตติคุณทั้งสี่ ได้แก่พระธรรมมัดธาย, มาระโก, ลูกา, และโยฮัน. ผลคือผมอยากอ่านพระธรรมเหล่านี้.
วันหนึ่ง ผมไปที่คอนแวนต์เพื่อซื้อพระธรรมกิตติคุณสักเล่มหนึ่งด้วยเงินที่ผมขายผักได้. แทนที่จะได้หนังสือกิตติคุณ ผมกลับได้หนังสือเล่มเล็กชื่อ ทางสู่สวรรค์ (ภาษาอังกฤษ) และปรากฏว่าไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับกิตติคุณเลย. ผมรู้สึกผิดหวัง. ต่อมา เนื่องจากผมอยากได้พระธรรมกิตติคุณนั้น ผมจึงเดินทางไปกรุงมะนิลา. ที่นั่น ผมได้รับคัมภีร์ไบเบิลครบชุดจากคุณลุงซึ่งเป็นพยานพระยะโฮวา.
การได้พบพยานฯ หลายคนในกรุงมะนิลา ซึ่งช่ำชองในการยกอ้างข้อคัมภีร์ทำให้ผมรู้สึกประทับใจ. พวกเขาให้คำตอบที่น่าพอใจสำหรับคำถามหลายข้อ. ท้ายที่สุด ลุงริคาร์โด อูซอนได้พาผมไปยังการประชุม ณ สำนักงาน
สาขาของพยานพระยะโฮวา. เมื่อจวนถึงที่นั่น ผมจุดบุหรี่. ลุงบอกผมว่า “โยนทิ้งไปเถอะ พยานพระยะโฮวาไม่สูบบุหรี่.” ดังนั้น ผมจึงขว้างบุหรี่ทิ้งและไม่หวนไปสูบอีกเลย. ผมได้พบโจเซฟ โดสซานโตส ผู้ดูแลสาขารวมทั้งพยานฯ อีกหลายคน. เวลาผ่านไปหลายสิบปี ทุกวันนี้ผมยังจำพี่น้องคริสเตียนที่น่ารักเหล่านั้นได้.ความปรารถนาจะรับใช้พระเจ้า
พอถึงเดือนตุลาคมปี 1937 ขณะเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ลอส บันยอส ผมไม่ไปร่วมพิธีมิสซาอีกเลย. ผมอ่านคัมภีร์ไบเบิลแทน และอ่านควบกับหนังสือที่ลุงให้ไว้. พยานพระยะโฮวากลุ่มหนึ่งแวะมาเยี่ยมมหาวิทยาลัย และจากการสนทนากับเอลวิรา อะลินโสด พยานฯ คนหนึ่งในกลุ่มนั้นได้เสริมความปรารถนาของผมที่จะรับใช้พระยะโฮวาพระเจ้าให้มั่นคง.
เมื่อผมแจ้งบรรดาอาจารย์ประจำคณะว่าผมตกลงใจลาออก อาจารย์ถามว่า “ใครจะเลี้ยงดูเธอล่ะ?” ผมชี้แจงว่า ผมมั่นใจถ้าผมรับใช้พระเจ้า พระองค์จะทรงค้ำจุนผม. หลังจากลาออก ผมไปที่สำนักงานของสมาคมว็อชเทาเวอร์ และเสนอตัวขอเป็นอาสาสมัครพร้อมกับชี้แจงว่า “ผมได้อ่านหนังสือความภักดี, ความมั่งคั่ง, และคนตายอยู่ที่ไหน? (ภาษาอังกฤษ) บัดนี้ ผมต้องการรับใช้พระยะโฮวาเต็มเวลา.” มีการขอให้ผมไปที่จังหวัดเซบู เพื่อสมทบกับไพโอเนียร์สามคน ซึ่งเป็นชื่อเรียกผู้เผยแพร่เต็มเวลาของพยานพระยะโฮวา.
การเริ่มต้นของผมในงานประกาศ
วันที่ 15 กรกฎาคม 1938 ซัลวาดอร์ ลีวักได้ไปรับผมที่ท่าเรือตอนที่ผมมาถึงเกาะเซบู. วันรุ่งขึ้น ผมก็เริ่มงานประกาศตามบ้าน. ไม่มีใครฝึกสอนผม. ผมเพียงแต่เชิญเจ้าของบ้านอ่านบัตรให้คำพยานที่อธิบายถึงกิจการของเรา. อันที่จริง ผมรู้คำภาษาเซบูอาโนซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นแค่สองคำเท่านั้น. งานรับใช้วันแรกของผมจึงเริ่มต้นด้วยประการฉะนี้.
เมื่อตั้งต้นให้คำพยานในเมืองที่เราจะบุกเบิก ตามปกติเรามักจะไปที่สำนักงานเทศบาลเป็นแห่งแรก. ที่นั่น บราเดอร์ลีวักจะให้คำพยานกับนายกเทศมนตรี; พับโล บาวติสตา ให้คำพยานกับผู้กำกับการตำรวจ; ส่วนคอนราโด ดัคลัน ให้คำพยานกับผู้พิพากษา. ส่วนผมจะพูดกับนายไปรษณีย์. ต่อจากนั้น พวกเราจะไปที่สถานีขนส่ง, อาคารที่พักสำหรับตำรวจ, ห้างร้าน, และตามโรงเรียน. นอกจากนั้น เราจะไปหาประชาชนที่บ้านของเขา. เราเสนอหนังสือคู่มือศึกษาคัมภีร์ไบเบิลชื่อศัตรู (ภาษาอังกฤษ). ขณะที่ผมได้เลียนแบบวิธีให้คำพยานจากเพื่อนร่วมงาน ทีละเล็กละน้อยผมได้ฝึกพูดภาษาเซบูอาโน แล้วผมก็เริ่มจำหน่ายหนังสือ. ภายในเวลาสามเดือน เราทำงานเสร็จทั้ง 54 เมืองในจังหวัดเซบู. แล้วผมก็ถามบราเดอร์ลีวักว่า “ตอนนี้ผมจะรับบัพติสมาได้หรือยัง?”
“คุณยังรับไม่ได้” เขาตอบ. ดังนั้น เราจึงย้ายไปอีกเกาะหนึ่ง คือเกาะโบโฮล และเผยแพร่อยู่ที่นั่นเดือนครึ่ง ครอบคลุมมากกว่า 36 เมือง. อีกครั้งหนึ่ง ผมขอรับบัพติสมา และคำตอบคือ “ยังรับไม่ได้ครับ บาร์ลาอัน.” ครั้นได้ประกาศทั่วเกาะโบโฮล แล้วต่อจากนั้นเราไปที่เกาะคามิกูอิน เราไปถึงเกาะมินดาเนาซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่ และทำการเผยแพร่ที่เมืองคากายัน เด โอโร.
ในช่วงนั้น เวอร์ฮินโย ครูซ ได้ร่วมสมทบกับพวกเรา. เขาเคยเป็นครูโรงเรียนรัฐบาล และลาออกเพื่อจะเป็นไพโอเนียร์. เราย้ายไปยังเมืองอื่น ๆ อีกหลายเมืองและท้ายสุดไปถึงทะเลสาบลาเนา. เมื่ออยู่ที่นั่น ผมถามอีกว่าผมจะรับบัพติสมาได้หรือยัง. ในที่สุด วันที่ 28 ธันวาคม 1938 หลังจากทำงานเป็นไพโอเนียร์มาได้ประมาณหกเดือน บราเดอร์ครูซก็ให้ผมรับบัพติสมาโดยการจุ่มตัวในทะเลสาบลาเนา เมืองลุมบาตัน.
ได้บำเหน็จเพราะการวางใจในพระเจ้า
ต่อมา ผมได้ไปสมทบกับไพโอเนียร์สามคนที่จังหวัดเนกรอซ ออกซิเดนตัล. สามคนนี้ได้แก่ ฟุลเกนซิโย เด เฮซูส, เอสเปอร์รันซา เด เฮซูส, และนาทิวิดัด ซานโตส ซึ่งพวกเราเรียกชื่อเล่นเธอว่าแนที. เราทำงานเผยแพร่ด้วยกันหลายเมืองในจังหวัดนี้. จริง ๆ แล้วเราต้องไว้วางใจพระยะโฮวาอย่างเต็มที่ เนื่องจากบางครั้งเรามักขาดแคลนเงิน. คราวหนึ่ง เราอยากได้ปลามากินกับข้าว. ผม
พบชายคนหนึ่งที่ชายหาดและขอซื้อปลาจากเขา ทว่าเขาได้ส่งปลาไปขายที่ตลาดหมดแล้ว. อย่างไรก็ตาม เขาเต็มใจให้ปลาที่เขาเก็บไว้กินเองแก่ผม. ผมถามว่าเท่าไร. เขาบอกว่า “ไม่เป็นไรหรอก คุณเอาไปกินเถอะ.”ผมกล่าวขอบคุณเขา. แต่ขณะเตรียมจะกลับอยู่ทีเดียว ผมนึกขึ้นได้ว่าปลาตัวเดียวคงไม่พอสำหรับสี่คน. พอเดินผ่านทางน้ำเล็ก ๆ ผมประหลาดใจเมื่อเห็นปลาอยู่บนหินก้อนหนึ่ง มันยังเปียก ๆ อยู่เลย. ผมคิดว่า ‘มันอาจตายแล้วก็ได้.’ ผมก้าวไปหยิบปลาและแปลกใจที่มันยังไม่ตาย. ผมจับมันไว้มั่น ทันใดนั้นผมนึกถึงคำสัญญาของพระเยซูที่ว่า “ดังนั้น จงแสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์ก่อนเสมอไป แล้วสิ่งอื่นเหล่านี้ทั้งหมดจะเพิ่มเติมให้แก่ท่าน.”—มัดธาย 6:33, ล.ม.
การเผยแพร่ในช่วงสงคราม
เมื่อกลุ่มไพโอเนียร์ของเราเพิ่มเป็นเก้าคน จึงได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม. กลุ่มของเราถูกมอบหมายให้ไปที่เซบู. ตอนนั้นเป็นช่วงเดือนธันวาคม 1941 และที่ฟิลิปปินส์ก็เพิ่งก้าวเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง. ระหว่างที่เราทำงานในเมืองทูบูรัน นายทหารฟิลิปปินส์ยศร้อยโทเข้ามาในห้องเราตอนเที่ยงคืน. เขาพูดดังนี้: “ตื่นได้แล้ว ทหารกำลังค้นหาพวกคุณ.” พวกเราถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นสายลับให้ญี่ปุ่น และเราถูกสอบปากคำตลอดทั้งคืน.
หลังจากนั้น เขากักพวกเราไว้ในเรือนจำของเทศบาล. ทางหน่วยกองกำลังติดอาวุธของสหรัฐในเมืองเซบูต้องการให้เรามอบหนังสือทุกเล่มที่แต่ละคนมีอยู่ เพื่อจะตรวจดูว่าเราเป็นสายลับให้ญี่ปุ่นหรือไม่. ชาวบ้านหลายคนแวะไปที่เรือนจำ เขาอยากรู้ว่าคนที่ถูกกล่าวหาเป็นสายลับของญี่ปุ่นมีหน้าตาอย่างไร. บางคนซักถามหลายอย่าง และพวกเราได้ให้คำพยานแก่พวกเขาเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้า.
หลังจากอยู่ในเรือนจำห้าวัน ผู้กำกับการตำรวจได้รับโทรเลขจากกองบัญชาการทหารสูงสุดแห่งสหรัฐซึ่งสั่งการให้ปล่อยพยานพระยะโฮวา. อย่างไรก็ตาม เขาสั่งพวกเราให้เลิกประกาศ เนื่องจากอยู่ในภาวะสงคราม. พวกเราได้ชี้แจงว่าเราไม่อาจเลิกงานประกาศเนื่องจากเราได้รับมอบหน้าที่นี้จากพระเจ้า. (กิจการ 5:28, 29) ผู้กำกับการตำรวจรู้สึกโมโหแล้วกล่าวว่า “หากคุณยังขืนประกาศละก็ ผมจะปล่อยให้ประชาชนฆ่าคุณเสีย.”
ไม่กี่วันต่อมา ผู้กำกับการตำรวจคนนี้หาทางจะให้พวกเราถูกจับอีก. ในที่สุด ทหารสหรัฐหมู่หนึ่งเข้าสกัดพวกเรา และร้อยโทชื่อโซริอาโนถามซิสเตอร์ซานโตสว่า “คุณจะเลิกประกาศไหม?”
“ไม่” เธอตอบ.
“ถ้าเราสั่งให้หน่วยสังหารยิงคุณล่ะ?” เขาถามหยั่งเชิง.
“นั่นคงไม่เปลี่ยนการตัดสินใจของเรา” เธออธิบาย.
เมื่อได้ฟังคำตอบแบบนั้น พวกเราทั้งหมดถูกต้อนขึ้นรถบรรทุกและพาไปยังเมืองเซบู ซึ่งเราต้องรายงานตัวต่อพันเอกเอดมันด์. แล้วร้อยโทโซริอาโนกล่าวแนะนำพวกเราต่อนายพันเอกและแจ้งว่า “พวกนี้คือพยานพระยะโฮวา. เขาเป็นสายลับให้ญี่ปุ่น!”
“พยานพระยะโฮวาหรือ?” นายพันถาม. “ผมรู้จักพยานพระยะโฮวาในอเมริกาดี. พวกเขาไม่ใช่สายลับนี่
นา! พวกเขาวางตัวเป็นกลาง.” แล้วนายพันหันมาพูดกับพวกเราว่า “เนื่องจากพวกคุณเป็นกลาง เราจะไม่ปล่อยคุณ.” ในเวลาต่อมา หลังจากถูกกักตัวอยู่ในห้องเก็บของระยะหนึ่ง พันเอกเอดมันด์พูดกับเราอีกและถามว่า “พวกคุณยังเป็นกลางอยู่ไหม?”“ครับ พวกเราเป็นกลาง” เราตอบ.
“เมื่อเป็นเช่นนั้น คุณจะไม่ได้รับการปล่อยตัว เพราะถ้าเราปล่อยคุณออกไป คุณจะยังประกาศต่อไป และพวกที่ถูกชักนำให้เปลี่ยนศาสนาก็พลอยเป็นกลางไปด้วย. แล้วถ้าทุกคนทำแบบนี้ จะไม่มีใครออกรบ.”
มีเสรีภาพจะประกาศอีก
ทีหลัง เขาย้ายพวกเราไปขังในเรือนจำเมืองเซบู. วันที่ 10 เมษายน 1942 ทหารญี่ปุ่นได้โจมตีเมืองนี้. มีการทิ้งระเบิดทุกหนทุกแห่ง และเกิดไฟไหม้เป็นบริเวณกว้าง! พัศดีแลเห็นซิสเตอร์ซานโตส ซึ่งห้องขังของเธออยู่ด้านหน้าเรือนจำ. เขาร้องตะโกน “ตายจริง พยานพระยะโฮวายังติดอยู่ข้างใน! เปิดประตูปล่อยเขาออกมา!” พวกเราขอบพระคุณพระยะโฮวาที่ทรงให้การคุ้มครองเรา.
เรารีบมุ่งหน้าไปที่ภูเขาทันทีเพื่อตามหาเพื่อนพยานฯ. เราพบคนหนึ่งในเมืองคอมพอสเตลา. ก่อนหน้านั้น เขาเคยนำหน้าในงานเผยแพร่ แต่ตอนนี้เขาตัดสินใจเลิกงานประกาศ แล้วย้ายไปอยู่ที่เมืองเซบูและดำเนินธุรกิจขายสินค้านานาชนิด. แต่พวกเราตัดสินใจทำการเผยแพร่ราชอาณาจักรของพระเจ้าต่อไปไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น.
เรามีหนังสือปลอบโยนบรรดาผู้โศกเศร้าทั้งหลาย (ภาษาอังกฤษ) เป็นจำนวนมาก และเราพยายามแจกจ่ายให้ถึงมือประชาชน. แต่หลายคนพยายามขู่ให้เรากลัว โดยพูดว่าถ้าทหารญี่ปุ่นเห็นพวกเรา เขาจะตัดคอเราแน่. ไม่นานหลังจากนั้นมีการก่อตั้งขบวนการกองโจรต่อต้านญี่ปุ่น และคนนั้นซึ่งเลิกงานประกาศแล้วหันไปทำธุรกิจในเมืองเซบูก็ถูกจับกุม. พวกเรารู้สึกสลดใจเมื่อทราบว่าเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับให้ญี่ปุ่นและจึงถูกสังหาร.
ถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับ
ช่วงนั้นพวกเราประกาศต่อไปในแถบภูเขา. วันหนึ่งเราทราบว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งสนใจ แต่ที่จะไปให้ถึงบ้านของเธอ เราต้องผ่านด่านทหารกองโจรหลายด่าน. เรามาถึงหมู่บ้านมังกาโบนซึ่งหญิงคนนั้นอยู่ แต่ทหารหมู่หนึ่งเห็นเราและตะโกนถามว่า “พวกคุณมาทำอะไรที่นี่?”
“พวกเราเป็นพยานพระยะโฮวา” ผมตอบ. “คุณอยากฟังข่าวสารของเราไหม เรามีหีบเสียงติดตัวมาด้วย?” เมื่อพวกเขาตอบตกลง ผมจึงเปิดแผ่นเสียงให้เขาฟังเรื่องคุณค่าของความรู้ (ภาษาอังกฤษ). หลังจากนั้น พวกเขาได้ตรวจค้นและซักถามแล้วพาพวกเราไปยังกองบัญชาการหน่วยรบกองโจรที่หมู่บ้านทาโบนัน. เราอธิษฐานขอการคุ้มครองจากพระยะโฮวา เพราะปกติแล้วมีข่าวว่าแทบทุกคนที่ถูกนำตัวไปที่นั่นถูกสังหารทั้งนั้น.
เราถูกทหารยามคุมตัวแถมปฏิบัติต่อเราอย่างโหดร้าย. ทั้งนี้ทำให้เราตกสู่สภาพการณ์ดังที่ผมเกริ่นไว้ตอนเริ่มเรื่องคือตอนที่ผมถูกเฆี่ยนและนายร้อยโทชี้มาที่ผม แล้วพูดว่า “นายเป็นสายลับ!” แล้วพวกเขาก็ยังปฏิบัติต่อพวกเราอย่างโหดร้ายชั่วระยะหนึ่ง แต่แทนที่เราจะถูกประหาร เขากลับตัดสินลงโทษเราให้ทำงานหนัก.
เบอร์นาบี น้องชายของผมเป็นหนึ่งในกลุ่มไพโอเนียร์ที่ถูกจำคุกในเมืองทาโบนัน. ทุกเช้า พวกเรานักโทษต้องร้องเพลงชาติ “พระเจ้าคุ้มครองอเมริกา” และเพลงชาติฟิลิปปินส์ “พระเจ้าคุ้มครองฟิลิปปินส์.” แทนที่เหล่าพยานฯ จะร้องเพลงชาติของสองประเทศนั้น พวกเขาพากันร้องเพลง “ใครอยู่ฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้า?” มีอยู่คราวหนึ่ง ผู้คุมตะโกนว่า “คนไหนไม่ร้องเพลง ‘พระเจ้าคุ้มครองอเมริกา’ จะถูกแขวนคอที่ต้นกระถินต้นนั้น!” แต่ทั้งที่มีการข่มขู่ ไม่มีสักคนในกลุ่มของเราถูกฆ่า. สุดท้ายเราถูกย้ายไปอยู่ค่ายอื่น. ในที่สุด ผมได้รับหนังสือปลดปล่อยเป็นอิสระ ซึ่งออกให้ในเดือนกรกฎาคม 1943. ถึงตอนนั้น ผมตกเป็นนักโทษนานแปดเดือนสิบวัน.
ตลอดชีวิตในงานประกาศ
ความปรารถนาของเราที่อยากพบคนสนใจเหล่านั้นที่เราเคยประกาศให้เขาฟังเมื่อเริ่มทำงานตอนแรก ๆ นั้นเป็นแรงบันดาลใจให้เราเดินเท้าเป็นระยะทาง 60 กิโลเมตรไปยังเมืองโทเลโด. ที่นั่น การประชุมถูกจัดขึ้นเป็นประจำ และต่อมาหลายคนได้รับบัพติสมา. ในที่สุด สงครามยุติลงในปี 1945. สองปีต่อมา หลังจากผมได้รับบัพติสมานานเกือบเก้าปี ผมสามารถเข้าร่วมการประชุมใหญ่ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรก ณ สนามแข่งกรีฑาซานตาอานาในกรุงมะนิลา. มีประมาณ 4,200 คนไปชุมนุมกันฟังคำบรรยายสาธารณะหัวเรื่อง “ความชื่นชมยินดีของคนทั้งปวง.”
ก่อนเกิดสงคราม จำนวนพยานพระยะโฮวาในประเทศฟิลิปปินส์มีประมาณ 380 คน ครั้นมาในปี 1947 มีมากกว่า 2,700 คน! ตั้งแต่นั้นเรื่อยมา ผมได้รับสิทธิพิเศษมากมายในงานรับใช้พระยะโฮวา. จากปี 1948 ถึง 1950 ผมรับใช้ฐานะผู้ดูแลเดินทางในเขตซูริเกา. ปี 1951 ผมแต่งงานกับนาทิวิดัด ซานโตส ซึ่งเคยร่วมงานประกาศอย่างกล้าหาญกับกลุ่มของเราในช่วงสงคราม. หลังการแต่งงาน ระหว่างปี 1954 ถึง 1972 เราทำงานรับใช้เดินทางเยี่ยมทั่วเกาะมินดาเนา.
เพื่อเราจะอยู่ใกล้คุณพ่อคุณแม่ที่ชราภาพและให้การช่วยเหลือท่าน เราเปลี่ยนมารับใช้เป็นไพโอเนียร์พิเศษในปี 1972. แม้เราทั้งสองอยู่ในวัย 80 เศษ ๆ เรายังคงทำงานไพโอเนียร์เรื่อยมา รวมเวลาที่เราสองคนได้ร่วมในงานรับใช้เต็มเวลาแล้วก็มากกว่า 120 ปี. ช่างเป็นความชื่นชมอย่างแท้จริงเมื่อเราเห็นจำนวนผู้ประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าในประเทศฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นเป็น 130,000 กว่าคน! เรายังคงปรารถนาจะช่วยผู้คนอีกมากให้เข้าใจว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นความหวังอย่างเดียวเพื่อจะมีสันติภาพและความสุขแท้บนแผ่นดินโลก.
[คำโปรยหน้า 22]
พวกเราถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นสายลับให้ญี่ปุ่น และเราถูกสอบปากคำตลอดทั้งคืน
[ภาพหน้า 23]
ปี 1963 กับเพื่อน ๆ บนเกาะโบโฮล. นับจากด้านขวา คนที่สี่คือภรรยาผมคนที่ห้าคือผมเอง
[ภาพหน้า 24]
ผมกับภรรยาในปัจจุบัน
[ที่มาของภาพหน้า 20]
Background photo: U.S. Signal Corps photo