การเพ่งดูโลก
การเพ่งดูโลก
จิตใจส่งผลกระทบต่อหัวใจ
จดหมายข่าวเรื่องสุขภาพและโภชนาการแห่งมหาวิทยาลัยทัฟตส์ (ภาษาอังกฤษ) ให้ข้อสังเกตว่า ความเครียดทางจิตใจทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันครั้งที่สอง นอกจากนี้ยัง “มีหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่แสดงว่าจิตใจมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนา ไปสู่การเป็นโรคหัวใจด้วย.” การศึกษาวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้เผยให้เห็นว่า “คนเจ้าอารมณ์มีอัตราเสี่ยงสูงกว่าคนอื่น ๆ ถึงสามเท่าในการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ” และเผยว่า “ผลกระทบต่าง ๆ ของความเกลียดชังปรากฏให้เห็นตั้งแต่ช่วงต้น ๆ ของชีวิต.” ความเครียดก่อความเสียหายต่อกล้ามเนื้อหัวใจและเส้นเลือดที่เลี้ยงและห่อหุ้มหัวใจ. ความซึมเศร้าอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือโรคหัวใจชนิดอื่น ๆ มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์. แต่เมื่อคนเราได้รับการสนับสนุนทางสังคมในระดับสูง—จากครอบครัวและเพื่อน ๆ—ผลกระทบจากความซึมเศร้าอาจลดลง นักวิจัยกล่าว.
เหตุใดจึงมีกาเฟอีนในเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม?
“หากกาเฟอีนไม่ได้ช่วยเพิ่มรสชาติให้น้ำอัดลม แล้วใส่ทำไมล่ะ?” วารสารนิว ไซเยนติสต์ ถาม. “นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ในบัลติมอร์ พบว่าผู้ใหญ่ที่ดื่มน้ำอัดลมโคลา มีแค่ 2 ใน 25 คนเท่านั้นที่แยกรสชาติออกว่าเครื่องดื่มชนิดใดมีกาเฟอีนและไม่มีกาเฟอีน.” กระนั้น 70 เปอร์เซ็นต์ของน้ำอัดลม 15,000 ล้านกระป๋องที่ผลิตในอเมริกาในปี 1998 มีกาเฟอีน. ในการศึกษาวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ นักจิตเภสัช โรแลนด์ กริฟฟิทส์ และเพื่อนร่วมงาน “พบหลักฐานของอาการถอนยาในเด็กที่ไม่ได้รับเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนตามที่ปกติเคยดื่ม.” กริฟฟิทส์กล่าวดังนี้: “พวกเขาใส่กาเฟอีนให้เป็นสารเสพย์ติดอย่างอ่อน นี่จึงเป็นเหตุผลที่หนักแน่นอย่างหนึ่งสำหรับข้อเท็จจริงที่ว่าเหตุใดผู้คนจึงดื่มน้ำอัดลมที่มีกาเฟอีนมากกว่าที่ไม่มีกาเฟอีน.”
นักขุดผู้ขยันขันแข็ง
ชาวนาในประเทศชิลีต้องรับมือกับโครูโร หนูใต้ดินที่มีขนค่อนข้างดำ ซึ่งขุดอุโมงค์ในผิวหน้าดินเป็นทางยาวถึง 600 เมตร. เมื่อไม่นานมานี้ มีการศึกษาอย่างละเอียดเกี่ยวกับระบบอุโมงค์ที่มีเครือข่ายกว้างขวางซึ่งมันได้สร้างไว้. นักสัตววิทยาสองคน คนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเอสเซน เยอรมนี และเพื่อนร่วมงานของเธอซึ่งเป็นชาวชิลี ได้ขุดพบอาณานิคมที่เป็นบ้านของหนู 26 ตัว. ในที่ที่เก็บอาหารของมัน พวกเขาพบหัวของพวกต้นหอมต้นกระเทียม 5,000 หัวซึ่งมันเก็บไว้สำหรับช่วงหน้าแล้ง. นอกจากนี้ ระบบอุโมงค์ยังรวมถึงรังที่ปูด้วยหญ้าและถุงพลาสติก. อย่างไรก็ตาม ชาวนากลับมองเพื่อนตัวน้อยที่มีขนสีค่อนข้างดำซึ่งฉลาดและน่าประทับใจพร้อมกับมีฟันคู่หน้าที่ยื่นออกมานั้นเป็นเหมือนตัวก่อกวน. บ่อยครั้ง วัวควายขาหักเมื่อพวกมันก้าวเหยียบลงไปบนอุโมงค์แล้วอุโมงค์ก็ยุบพังลง.
แดนดิไลเอ็น—หญ้าพิศวง
หญ้าแดนดิไลเอ็น “ถูกผู้ดูแลสนามกอล์ฟและเจ้าของสนามหญ้าที่พิถีพิถันทุกแห่งกล่าวหาว่าเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของสาธารณชน” และเป็น “หญ้าที่ไม่อาจกำจัดได้หมด” หนังสือพิมพ์เดอะ นิวส์ แห่งเม็กซิโกซิตี กล่าว. กระนั้น หญ้าแดนดิไลเอ็น “เป็นพืชชนิดหนึ่งในโลกที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากที่สุด” และอาจช่วยให้คุณมีสุขภาพและโภชนาการที่ดี. หญ้านี้อุดมไปด้วยวิตามินเอและโพแทสเซียม และบำรุงกำลังมากกว่าบรอกโคลีหรือผักขม. ทุกส่วนของหญ้านี้ใช้เป็นประโยชน์ได้. อาจใช้ใบอ่อนเป็นผักใบเขียวในสลัดต่าง ๆ หรือนำมาทำเป็นอาหารแทนผักขม; รากอบแห้งอาจนำมาทำเป็นเครื่องดื่มคล้ายกาแฟ; และดอกอาจนำมาทำเป็นไวน์. ตลอดประวัติศาสตร์ เคยมีการใช้หญ้าแดนดิไลเอ็นเป็นยาบำรุงและยาล้างตับ, เป็นตัวฟอกและตัวสร้างเลือด, และเป็นยาขับปัสสาวะอ่อน ๆ. เดอะ นิวส์ กล่าวว่า หญ้าแดนดิไลเอ็นเป็น “หนึ่งในสมุนไพรยอดนิยมหกชนิดในตู้ยาจีน.” และสำหรับคนที่มีสนามหญ้าหรือสามารถไปยังทุ่งหญ้า หญ้าแดนดิไลเอ็นจะขึ้นให้ฟรี ๆ.
เทือกเขาแอนดีสละลาย
หนังสือพิมพ์เอล โกเมอร์ซีโย แห่งเมืองลิมารายงานว่า ใน 67 ปีที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งบางแห่งในเทือกเขาแอนดีสของเปรูถอยกลับราว 850 ถึง 1,500 เมตร. ตามการศึกษาวิจัยที่ทำโดย อองตวน เอรู นักวิชาการด้านธารน้ำแข็งชาวฝรั่งเศส พบว่า เพียงแค่ 20 ปีเศษ น้ำแข็งที่ละลายทำให้เกิดทะเลสาบแห่งใหม่มากกว่า 70 แห่ง—ซึ่งหลายแห่งมีท่าว่าจะทะลักออกมาและทำลายเขื่อนธรรมชาติ. การสูญเสียธารน้ำแข็งและหิมะหมายถึงการลดลงของปริมาณน้ำบริสุทธิ์ที่สามารถนำไปใช้ใน
ฟาร์ม, โครงการชลประทาน, และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ. แหล่งน้ำเหล่านี้ยังเป็นแหล่งน้ำดื่มที่สำคัญของเมืองหลวงสามแห่งในประเทศแถบลาตินอเมริกา: เมืองลิมา เปรู; เมืองกีโต เอกวาดอร์; และเมืองลาปาซ โบลิเวีย. เอล โกเมอร์ซีโย ตั้งคำถามว่า “คุณนึกภาพออกไหมว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากหิมะและธารน้ำแข็งเหล่านี้อันตรธานไป?” เอรูให้ข้อคิดเห็นว่าสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของปัญหานี้คือภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงซึ่งเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์เอลนินโญ.“อาการรวยเฉียบพลัน”
หนังสือพิมพ์แนชันแนล โพสต์ แห่งแคนาดารายงานว่า “นับตั้งแต่ปี 1997 จำนวนเศรษฐีเงินล้านในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเพิ่มขึ้นเกือบ 40% คือมีถึงสองล้านห้าแสนคน.” หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นยังให้ข้อสังเกตด้วยว่าโลกยุคไฮเทคกำลังทำให้หนุ่มสาวหลายคนร่ำรวยมั่งคั่ง. กระนั้น ตามที่นักจิตวิทยา ดร. สตีเฟน โกลด์บาร์ต กล่าวว่า บางคนไม่สามารถรับมือกับความร่ำรวยฉับพลันได้. “ความร่ำรวยอาจทำลายชีวิตของพวกเขา, ทำให้ครอบครัวแตกแยก, และอาจชักนำพวกเขาสู่พฤติกรรมที่ก่อความเสียหายร้ายแรง. เงินไม่ได้นำมาซึ่งสันติสุขและความสำเร็จเสมอไป” โกลด์บาร์ตกล่าว. ตามที่นักจิตวิทยาบางคนกล่าว โลกยุคไฮเทคสร้าง “โรคใหม่—อาการรวยเฉียบพลัน” ซึ่งปรากฏเป็นอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรง, อาการหวาดกลัว, และโรคนอนไม่หลับ. ดังที่โพสต์ รายงานว่า “เศรษฐีใหม่บางคนรู้สึกผิดที่มีเงินมากเกินไปและรู้สึกว่าไม่มีสิทธิ์ในเงินนั้น, หรืออาจรู้สึกว่าพวกเขาไม่สมควรจะมีเงินนั้น.” ยังมีคนอื่นอีกที่กลายเป็นโรคหวาดระแวงและกลัวว่าจะถูกฉวยประโยชน์. ดร. โกลด์บาร์ตแนะว่า เศรษฐีผู้ไร้ความสุขควรเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมและไม่เพียงแค่เขียนเช็คให้แก่งานการกุศลเท่านั้น.
การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไป
วารสารนิว ไซเยนติสต์ ให้ข้อสังเกตว่า “การเตือนครั้งแล้วครั้งเล่าจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปกำลังถูกมองข้าม. จากการสำรวจประชาชน 10,000 คนในเก้ารัฐของสหรัฐเผยให้เห็นว่า 32 เปอร์เซ็นต์ยังคงเชื่อว่ายาปฏิชีวนะสามารถรักษาหวัดได้, 27 เปอร์เซ็นต์คิดว่าการกินยาปฏิชีวนะขณะเป็นหวัดจะป้องกันไม่ให้ป่วยหนักขึ้น, และ 48 เปอร์เซ็นต์คาดว่าเมื่อเขาไปหาหมอเนื่องด้วยอาการหวัด หมอคงเขียนใบสั่งยาปฏิชีวนะให้.” อย่างไรก็ตาม ยาปฏิชีวนะไม่ได้ทำหน้าที่ต่อต้านการติดเชื้อไวรัส เช่น โรคหวัด. ยานี้ต่อต้านเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรีย. มีการมองว่าการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของการเกิดโรคดื้อยา. (ดู ตื่นเถิด! ฉบับ 8 มกราคม 1999 หน้า 28.) ไบรอัน สแปรตต์แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด กล่าวดังนี้: “เราต้องหาวิธีที่ดีกว่านี้ในการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง.”
แมลงน้ำแข็งที่น่าพิศวง
หนังสือพิมพ์เดอะ ซันเดย์ เทเลกราฟ แห่งลอนดอนรายงานว่า “หนึ่งในภาพแรก ๆ ที่ได้รับการตีพิมพ์ของ ‘แมลงน้ำแข็ง’ ที่หาได้ยากและเหลือจะเข้าใจได้ซึ่งอาศัยอยู่แถบเทือกเขารอกกีและบางส่วนของรัสเซีย ปรากฏรวมอยู่ในหนังสือเล่มใหม่ คู่มือแมลง (ภาษาอังกฤษ).” แมลงชนิดนี้มีชีวิตอยู่รอด ณ ที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลมากโดยการกินเหยื่อที่ตายแล้วหรือชิ้นส่วนของแมลงที่ปลิวมาในอากาศ. แมลงนี้มีสีน้ำตาลแดงและเหลือง, มีหนวดยาวแต่ไม่มีปีก, และตัวอ่อนมีลักษณะคล้ายตัวอ่อนของแมลงเอียวิก. ความยาวของลำตัววัดได้ถึง 3 เซนติเมตร มีการพบแมลงชนิดนี้เกือบ 100 ปีมาแล้ว. หนังสือพิมพ์ฉบับนี้อธิบายว่า “แมลงนี้ปรับตัวได้ดีเยี่ยมในสภาพแวดล้อมที่หนาวเย็น แต่มันจะตายด้วยความร้อนหากกำไว้ในฝ่ามือมนุษย์.” ดร. จอร์จ แมคกาวิน แห่งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ผู้แต่งหนังสือคู่มือเล่มนั้นกล่าวว่า มีเพียงหนึ่งในห้าของโลกแมลงเท่านั้นที่เราระบุชื่อได้ในขณะนี้.
บุคคลที่ถูกเลือกซึ่งก่อให้เกิดการโต้แย้ง
ในเดือนกันยายน 2000 โปปจอห์น ปอลที่ 2 ได้ประกาศว่า ไพอัสที่ 9 (โปป 1846-1878) อยู่ในสรวงสวรรค์. ในหนังสือพิมพ์รายวันของคาทอลิก ลา ครัวซ์ นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เรเน เรมง กล่าวว่า ไพอัสที่ 9 ทำ “การตัดสินใจที่ทำให้ผู้เผยแพร่ตระหนกตกใจ—เช่น อนุญาตให้มีการตัดสินประหารชีวิตผู้รักชาติชาวอิตาลีที่สงสัยอำนาจของเขาฐานะเป็นประมุขของรัฐ.” หนังสือพิมพ์เลอ มงด์ เรียกเขาว่า “กษัตริย์จอมเผด็จการองค์สุดท้ายของยุโรป” และให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการไม่ยอมทนของกษัตริย์-โปปผู้นี้และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้ของเขาต่อ “เสรีภาพแห่งสติรู้สึกผิดชอบ, สิทธิมนุษยชน, และการปลดปล่อยชาวยิว.” หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยังเสริมว่าไพอัสที่ 9 “ประณามประชาธิปไตย, เสรีภาพทางศาสนา, และการแยกคริสตจักรออกจากรัฐ” รวมทั้ง “เสรีภาพในการพิมพ์, ความคิด, และการคบหาสมาคม.” ไพอัสที่ 9 เป็นผู้เปิดสภาวาติกันครั้งแรกในปี 1869 ที่ซึ่งมีการตั้งหลักคำสอนว่าโปปไม่มีทางผิดพลาดด้านความเชื่อและศีลธรรม.