ความมหัศจรรย์ของระบบไหลเวียน
ความมหัศจรรย์ของระบบไหลเวียน
ขอให้นึกภาพบ้านที่มีระบบประปาซับซ้อนมากจนของเหลวที่ไหลผ่านระบบประปานั้นสามารถลำเลียงอาหาร, น้ำ, ออกซิเจน, และของเสียได้อย่างปลอดภัย. ยิ่งกว่านั้น ท่อเหล่านี้มีวิธีการในการซ่อมแซมตัวเองและเพิ่มจำนวนได้ตามความจำเป็นที่เปลี่ยนไปในบ้าน. ช่างเป็นผลงานด้านวิศวกรรมที่เฉียบแหลมจริง ๆ!
ถึงกระนั้น “ระบบประปา” ในร่างกายคุณทำได้ยิ่งกว่านั้นอีก. นอกจากช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายคุณแล้ว ระบบนี้ยังลำเลียงฮอร์โมนหรือสารเคมีซึ่งทำหน้าที่สื่อสารมากมายหลายชนิดจนทำให้งุนงง และช่วยป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ. เครือข่ายทั้งหมดยังนิ่มและยืดหยุ่นได้ด้วย ทำให้สามารถรับแรงสั่นสะเทือนและโค้งรับกับอวัยวะของคุณ. ไม่มีวิศวกรคนใดสามารถออกแบบระบบเช่นนั้นได้ แต่นั่นแหละคือสิ่งที่พระผู้สร้างได้ทำเมื่อพระองค์ทรงสร้างหลอดเลือดดำ, หลอดเลือดแดง, และหลอดเลือดฝอยที่อยู่ในร่างกายมนุษย์.
ส่วนประกอบหลัก ๆ ของระบบไหลเวียน
จริง ๆ แล้ว ระบบไหลเวียนของมนุษย์มีสองระบบที่ทำงานร่วมกัน. ระบบหนึ่งคือระบบหัวใจร่วมหลอดเลือด ซึ่งประกอบด้วยหัวใจ, เลือด, และหลอดเลือดทั้งหมด. อีกระบบคือระบบน้ำเหลือง—เครือข่ายของหลอดที่ลำเลียงของเหลวส่วนเกิน ซึ่งเรียกว่าน้ำเหลือง จากเนื้อเยื่อของร่างกายกลับสู่กระแสเลือด. หากนำเอาหลอดเลือดของผู้ใหญ่เพียงคนเดียวมาวางต่อกัน หลอดเลือดนี้จะมีความยาวถึง 100,000 กิโลเมตร และสามารถพันรอบโลกได้สองรอบครึ่ง! ระบบที่มีเครือข่ายกว้างขวางดังกล่าวช่วยลำเลียงเลือดที่ให้ชีวิต ซึ่งมีน้ำหนักรวมกันประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว ไปยังเซลล์หลายพันล้านเซลล์.
แน่ล่ะ แหล่งพลังงานที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของระบบหัวใจร่วมหลอดเลือดคือหัวใจ. หัวใจซึ่งมีขนาดประมาณกำปั้นของคุณสูบฉีดเลือดอย่างน้อย 9,500 ลิตรไปทั่วร่างกายคุณในแต่ละวัน—เทียบคร่าว ๆ ได้กับการยกของหนักหนึ่งตันให้ลอยขึ้นจากพื้น 12.5 เมตรทุก ๆ 24 ชั่วโมง!
พาชมระบบหัวใจร่วมหลอดเลือด
เลือดมีเส้นทางลำเลียงเช่นไร? ให้เรามาเริ่มกันที่เลือดขาดออกซิเจนซึ่งมาถึงหัวใจทางหลอดเลือดดำ (vein) ขนาดใหญ่สองหลอด—วีนาคาวาหลอดบนและหลอดล่าง. (ดูแผนภาพ.) เลือดจะไหลผ่านหลอดเลือดดำทั้งสองนี้เข้าสู่หัวใจห้องแรก คือเอเตรียมขวา (หัวใจห้องบนขวา). จากนั้น เอเตรียมขวาจะบีบให้เลือดเข้าสู่ห้องที่มีกล้ามเนื้อแข็งแรงกว่า คือเวนตริเคิลขวา (หัวใจห้องล่างขวา). จากที่นี่ เลือดจะไหลไปสู่ปอดทางโคนปอดแล้วแยกออกเป็นหลอดเลือดที่เข้าสู่ปอด
สองหลอด—หลอดเลือดที่ออกจากหัวใจ (ซึ่งเรียกว่าหลอดเลือดแดง) สองหลอดนี้เท่านั้นที่ลำเลียงเลือดขาดออกซิเจน. ตามปกติ การลำเลียงเลือดขาดออกซิเจนทำโดยหลอดเลือดที่เข้าสู่หัวใจ (ซึ่งเรียกว่าหลอดเลือดดำ).ขณะอยู่ที่ปอด เลือดจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และดูดซับออกซิเจน. จากนั้น เลือดจะไหลลงไปเข้าสู่เอเตรียมซ้าย (หัวใจห้องบนซ้าย) ทางหลอดเลือดสี่หลอดจากปอดเข้าสู่หัวใจ—หลอดเลือดที่เข้าสู่หัวใจ (ซึ่งเรียกว่าหลอดเลือดดำ) สี่หลอดนี้เท่านั้นที่ลำเลียงเลือดที่อุดมด้วยออกซิเจน. เอเตรียมซ้ายจะส่งเลือดเข้าสู่หัวใจห้องที่ทรงพลังที่สุด คือเวนตริเคิลซ้าย (หัวใจห้องล่างซ้าย) ซึ่งจะสูบฉีดเลือดที่อุดมด้วยออกซิเจนออกไปทางท่อเลือดแดง (aorta) และไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย. หัวใจห้องบนทั้งสองห้องจะบีบตัวพร้อมกันตามด้วยการบีบตัวพร้อมกันของหัวใจห้องล่างทั้งสองห้อง ซึ่งการบีบตัวเป็นจังหวะต่อเนื่องของทั้งสองส่วนนี้ประกอบกันเป็นการเต้นของหัวใจ. ลิ้นหัวใจที่อยู่ภายในสี่ลิ้นทำให้เลือดไหลผ่านหัวใจไปทางเดียว ไม่ไหลย้อน.
เนื่องจากต้องสูบฉีดเลือดไปยังส่วนที่อยู่สุดปลายของร่างกาย เวนตริเคิลซ้ายซึ่งมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงกว่าจึงมีแรงบีบมากกว่าเวนตริเคิลขวาประมาณหกเท่า. แรงบีบที่สูงมากอย่างนี้สามารถดันหลอดเลือดให้โป่งพองได้อย่างง่ายดายหรือแม้แต่อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองซึ่งเป็นอันตรายถึงตาย หากไม่ใช่เป็นเพราะกลไกอันชาญฉลาดในการซับแรงดันที่เพิ่มสูงอย่างฉับพลัน.
หลอดเลือดแดงที่ยืดหยุ่น
หลอดเลือดแดงที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายคุณ คือท่อเลือดแดง และหลอดเลือดหลัก ๆ ที่แตกแขนงออกไป ประกอบกันเป็น “หลอดเลือดแดงที่ยืดหยุ่น.” ช่องภายในหลอดกว้างขวาง ทำให้เลือดไหลได้สะดวก. นอกจากนี้ หลอดเลือดแดงยังมีผนังกล้ามเนื้อหนาซึ่งประกอบด้วยแผ่นอีลาสติน (สารโปรตีนที่ยืดหยุ่นคล้ายยาง) สานกันเป็นร่างแห. เมื่อเวนตริเคิลซ้ายสูบฉีดเลือดเข้าสู่หลอด *
เลือดแดงเหล่านี้ หลอดเลือดจะขยายหรือพองตัว ซับแรงดันที่มีกำลังสูงและขับดันเลือดไปสู่หลอดเลือดแดงกลุ่มถัดไป ซึ่งก็คือหลอดเลือดแดงแขนงซึ่งมีอีลาสตินที่ผนังด้วยเหมือนกัน. ด้วยการออกแบบที่น่าทึ่งเช่นนี้ ความดันโลหิตจึงสม่ำเสมอเมื่อไปถึงหลอดเลือดฝอยที่ละเอียดอ่อน.หลอดเลือดแดงแขนงมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ประมาณ 1 เซนติเมตรจนถึง 0.3 มิลลิเมตร. ด้วยการขยายหรือหดตามที่เส้นใยประสาทพิเศษสั่ง หลอดเลือดเหล่านี้ช่วยควบคุมการไหลของเลือด ทำให้ระบบไหลเวียนทำงานอย่างแข็งขันยิ่ง. ยกตัวอย่าง ในกรณีที่เกิดบาดแผลหรือตื่นตกใจ ตัวรับสัญญาณความดันในเยื่อบุของหลอดเลือดแดงจะส่งสัญญาณไปที่สมอง สมองจะส่งสัญญาณไปยังหลอดเลือดแดงที่เหมาะสมให้จำกัดการไหลของเลือดที่ไปยังบริเวณซึ่งสำคัญน้อยกว่าเช่นที่ผิวหนัง และผันเลือดไปยังอวัยวะสำคัญ ๆ. วารสารนิว ไซเยนติสต์ กล่าวว่า “หลอดเลือดแดงของคุณสามารถ ‘รู้สึก’ ได้ถึงการไหลของเลือด แล้วก็ตอบสนอง.” จึงไม่แปลกมิใช่หรือที่มีการพรรณนาถึงหลอดเลือดแดงว่าเป็น “ท่อฉลาด”?
เมื่อถึงตอนที่เลือดออกจากหลอดเลือดแดงที่เล็กที่สุด—หลอดเลือดแดงจิ๋ว—ความดันโลหิตจะคงที่อยู่ประมาณ 35 มิลลิเมตรปรอท. ความดันต่ำและคงที่มีความสำคัญมากที่นี่ เพราะหลอดเลือดแดงจิ๋วจะเชื่อมต่อกับหลอดเลือดที่เล็กที่สุด คือหลอดเลือดฝอย.
เซลล์สีแดงแถวเรียงหนึ่ง
เนื่องจากมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงแปดถึงสิบไมครอน (หนึ่งในล้านของเมตร) หลอดเลือดฝอยเล็กมากจนเซลล์เม็ดเลือดแดงต้องไหลผ่านแบบแถวเรียงหนึ่ง. แม้ว่ามีความหนาเท่ากับเซลล์เพียงชั้นเดียว ผนังหลอดเลือดฝอยถ่ายเทสารอาหาร (ซึ่งลำเลียงมาในพลาสมาหรือส่วนที่เป็นของเหลวในเลือด) และออกซิเจน (ซึ่งลำเลียงส่งมากับเม็ดเลือดแดง) ให้แก่เนื้อเยื่อที่อยู่ชิดกับหลอดเลือดฝอย. ขณะเดียวกัน คาร์บอนไดออกไซด์และของเสียอื่น ๆ จากเนื้อ
เยื่อก็จะซึมผ่านกลับเข้ามาในหลอดเลือดฝอยเพื่อนำไปกำจัด. โดยอาศัยกล้ามเนื้อขนาดจิ๋วที่คล้ายบ่วงบาศซึ่งเรียกว่ากล้ามเนื้อหูรูด หลอดเลือดฝอยยังสามารถควบคุมการไหลของเลือดที่ผ่านมันไปตามความจำเป็นของเนื้อเยื่อโดยรอบได้ด้วย.จากหลอดเลือดดำเล็กไปยังหลอดเลือดดำแล้วเข้าสู่หัวใจ
เมื่อออกจากหลอดเลือดฝอย เลือดจะเข้าสู่หลอดเลือดดำเล็ก. หลอดเลือดดำเล็กซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 ถึง 100 ไมครอนจะเชื่อมต่อกับหลอดเลือดดำซึ่งนำเลือดกลับสู่หัวใจ. เมื่อเลือดไปถึงหลอดเลือดดำ มันจะสูญเสียความดันเกือบทั้งหมด ดังนั้น ผนังหลอดเลือดดำจึงบางกว่าผนังหลอดเลือดแดง. นอกจากนี้ผนังหลอดเลือดดำยังมีอีลาสตินน้อยกว่าด้วย. ทว่า ช่องภายในหลอดกว้างกว่า ทำให้หลอดเลือดดำมีเลือดในร่างกายของคุณเต็มที่ถึง 65 เปอร์เซ็นต์.
เพื่อชดเชยกับความดันโลหิตต่ำ หลอดเลือดดำมีวิธีการอันชาญฉลาดในการนำเลือดกลับสู่หัวใจ. วิธีแรก หลอดเลือดดำมีลิ้นพิเศษคล้ายถ้วยซึ่งป้องกันเลือดที่จะเข้าสู่หัวใจไหลย้อนเนื่องด้วยแรงโน้มถ่วง. วิธีที่สอง หลอดเลือดดำใช้ประโยชน์จากกล้ามเนื้อโครงร่างของร่างกายคุณ. โดยวิธีใด? เมื่อกล้ามเนื้อของคุณเกร็ง เช่น กล้ามเนื้อที่ขาตอนคุณเดิน กล้ามเนื้อเหล่านี้จะกดหลอดเลือดดำที่อยู่ใกล้เคียง. การกดนี้จะดันเลือดให้ไหลไปสู่หัวใจผ่านลิ้นซึ่งเปิดให้ไหลผ่านได้ทางเดียว. วิธีสุดท้าย แรงดันในช่องท้องและอก ซึ่งเปลี่ยนแปลงตามการหายใจ จะช่วยดันเลือดที่อยู่ในหลอดเลือดดำเข้าสู่เอเตรียมขวาของหัวใจ.
ระบบหัวใจร่วมหลอดเลือดมีประสิทธิภาพมากถึงขนาดที่แม้แต่เมื่อคนเราพักผ่อน ระบบนี้นำเลือดเข้าสู่หัวใจประมาณ 5 ลิตรในทุก ๆ หนึ่งนาที! การเดินทำให้ปริมาณดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 8 ลิตร และนักวิ่งมาราธอนที่สมบูรณ์แข็งแรงอาจมีเลือดผ่านหัวใจถึง 35 ลิตรในทุก ๆ หนึ่งนาที—เพิ่มขึ้นเจ็ดเท่าเมื่อเทียบกับขณะพักผ่อน!
ในบางกรณี ลิ้นในหลอดเลือดดำอาจรั่ว ซึ่งอาจเป็นเพราะแนวโน้มทางพันธุกรรม หรือเพราะคนนั้นเป็นโรคอ้วน, ตั้งครรภ์, หรือยืนเป็นเวลานาน ๆ. เมื่อลิ้นเหล่านี้ทำงานได้ไม่ดี เลือดจะรวมตัวเป็นแอ่งใต้ลิ้น ทำให้หลอดเลือดดำโป่งออกและกลายเป็นปัญหาที่เรียกกันว่า หลอดเลือดขอด. ในทำนองเดียวกัน การเบ่งในการคลอดบุตรหรือการเบ่งถ่ายอุจจาระจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะขัดขวางการไหลกลับของเลือดจากหลอดเลือดดำบริเวณทวารหนักและลำไส้ใหญ่. เมื่อเป็นอย่างนี้ อาจเกิดอาการหลอดเลือดขอดที่เรียกว่าริดสีดวงทวาร.
ระบบน้ำเหลือง
เมื่อหลอดเลือดฝอยนำสารอาหารไปสู่เนื้อเยื่อและรับของเสียกลับมา หลอดเลือดฝอยเหล่านี้รับของเหลวน้อยกว่าที่ได้ให้ออกไปเล็กน้อย. โปรตีนในเลือดที่สำคัญจะซึมแทรกออกสู่เนื้อเยื่อ. ด้วยเหตุนั้น ร่างกายจึงจำเป็นต้องมีระบบน้ำเหลือง. ระบบนี้รวบรวมของเหลวส่วนเกินที่เรียกว่า น้ำเหลือง และส่งกลับสู่กระแสเลือดทางหลอดเลือดดำใหญ่ที่ฐานคอ และอีกแห่งที่อก.
เช่นเดียวกับหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ หลอดน้ำเหลืองมีหลายชนิด. ชนิดที่เล็กที่สุดคือ หลอดน้ำเหลืองฝอย อยู่ในชั้นของหลอดเลือดฝอย. ด้วยคุณสมบัติที่ยอมให้มีการซึมผ่านได้ดี หลอดขนาดจิ๋วเหล่านี้ซึมซับของเหลวส่วนเกินแล้วลำเลียงไปยังหลอดรวบรวมน้ำเหลืองที่ใหญ่กว่าซึ่งจะลำเลียงน้ำเหลืองไปยังหลอดน้ำเหลืองหลัก. หลอดเหล่านี้จะรวมกันเป็นท่อน้ำเหลือง แล้วท่อน้ำเหลืองเหล่านี้ก็จะส่งน้ำเหลืองเข้าสู่หลอดเลือดดำ.
น้ำเหลืองไหลทางเดียว—ไปสู่หัวใจ. ดังนั้น หลอดน้ำเหลืองไม่ไหลวนเหมือนกับระบบหัวใจร่วมหลอดเลือด. การทำงานเบา ๆ ของกล้ามเนื้อในหลอดน้ำเหลือง เสริมด้วยการเต้นเป็นจังหวะของหลอดเลือดแดงที่อยู่ใกล้ ๆ และการเคลื่อนไหวของแขนขา ช่วยดันน้ำเหลืองให้ไหลไปตามระบบ. การอุดตันของหลอดน้ำเหลืองทำให้ของเหลวสะสมในบริเวณที่อุดตัน ทำให้เกิดการบวมที่เรียกว่า อาการบวมน้ำ.
หลอดน้ำเหลืองยังเป็นเส้นทางสัญจรสำหรับเชื้อโรคด้วย. ดังนั้น พระผู้สร้างของเราจึงทรงจัดให้ระบบน้ำเหลืองมีเครื่องป้องกันที่มีประสิทธิภาพ คือ ปุ่มน้ำเหลือง—กระจายอยู่ตามท่อต่าง ๆ ที่รวบรวมน้ำเหลือง—ที่ม้าม, ต่อมไทมัส, ต่อมทอนซิล, ไส้ติ่ง, และต่อมน้ำเหลืองน้อย (Peyer’s patches) ซึ่งพบในลำไส้เล็ก. อวัยวะเหล่านี้ช่วยผลิตและเป็นที่เก็บเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ ซึ่งเป็นเซลล์ปฐมภูมิของระบบภูมิคุ้มกัน. ด้วยเหตุนั้น ระบบน้ำเหลืองที่ทำหน้าที่อย่างดีจึงมีส่วนทำให้ร่างกายแข็งแรง.
การเดินทางชมระบบไหลเวียนสิ้นสุดลงตรงนี้. แม้ว่าเป็นการเที่ยวชมสั้น ๆ แต่ก็เผยให้เห็นความมหัศจรรย์ด้านวิศวกรรมที่ซับซ้อนและมีประสิทธิภาพอย่างน่าทึ่ง. ยิ่งไปกว่านั้น ระบบไหลเวียนนี้ยังทำงานไม่หยุดหย่อนอย่างเงียบ ๆ โดยที่คุณไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ—เว้นเสียแต่จะเกิดปัญหาขัดข้องขึ้น. ดังนั้น ขอให้ดูแลระบบไหลเวียนของคุณให้ดี ๆ แล้วระบบไหลเวียนของคุณจะดูแลคุณเป็นอย่างดี.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 12 ความดันโลหิตวัดเป็นมิลลิเมตร โดยวัดระยะที่ความดันนี้ดันแท่งปรอทขึ้นไป. ความดันบนและล่างซึ่งเกิดจากการบีบและการคลายของหัวใจเรียกว่าความดันช่วงหัวใจบีบ (systolic pressure) และความดันช่วงหัวใจคลาย (diastolic pressure). ความดันดังกล่าวแตกต่างกันไปในแต่ละคนโดยเป็นผลมาจากอายุ, เพศ, ความตึงเครียดด้านจิตใจและร่างกาย, และความล้า. ความดันโลหิตของผู้หญิงมักต่ำกว่าของผู้ชาย, ต่ำกว่าในเด็ก, และสูงกว่าในผู้สูงอายุ. คนหนุ่มสาวที่สุขภาพดีอาจวัดความดันช่วงหัวใจบีบได้ในช่วง 100 ถึง 140 มิลลิเมตรปรอท และความดันช่วงหัวใจคลายอยู่ในช่วง 60 ถึง 90 มิลลิเมตรปรอท.
[กรอบ/ภาพหน้า 26]
ดูแลหลอดเลือดแดงของคุณให้ดี!
“ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง” เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในหลายประเทศ. รูปแบบที่พบมากที่สุดได้แก่โรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งเกิดจากการสะสมของไขมันที่คล้ายกับข้าวโอ๊ตบดหยาบภายในหลอดเลือดแดง. การสะสมดังกล่าวทำให้ช่องภายในหลอดเลือดแดงแคบลง ทำให้หลอดเลือดแดงเสี่ยงต่อการอุดตันอย่างสิ้นเชิงเมื่อแผ่นตะกอนมีมากจนถึงจุดวิกฤติและฉีก. การอุดตันอย่างสิ้นเชิงอาจเกิดจากลิ่มเลือดซึ่งล่องลอยไปเรื่อย ๆ หรือจากการหดเกร็งของผนังหลอดเลือดแดงด้วย.
สภาวะที่อันตรายยิ่งอย่างหนึ่งได้แก่การสะสมของแผ่นตะกอนที่ผนังหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเอง. ผลก็คือ กล้ามเนื้อหัวใจได้รับเลือดไม่เพียงพอ ซึ่งมักเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดเค้นหน้าอกเมื่อมีการออกแรงมาก ๆ. หากหลอดเลือดหัวใจอุดตันเต็มที่ ก็อาจนำไปสู่อาการหัวใจล้มและทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย. อาการหัวใจล้มที่รุนแรงอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นโดยสิ้นเชิง.
ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ทำให้เกิดโรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็งได้แก่ การสูบบุหรี่, ความเครียด, โรคเบาหวาน, โรคอ้วน, การออกกำลังกายน้อยเกินไป, ความดันโลหิตสูง, การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง, และความโน้มเอียงด้านพันธุกรรม.
[รูปภาพ]
สุขภาพดี
การสะสมในระยะกลาง
การอุดตันอย่างมาก
[แผนผัง]
(ดูรายละเอียดจากวารสาร)
หลอดเลือดหัวใจ
[แผนผังหน้า 24, 25]
(ดูรายละเอียดจากวารสาร)
ระบบหัวใจร่วมหลอดเลือด
ปอด
หัวใจ
เวนตริเคิลซ้าย
หลอดเลือดแดง
หลอดเลือดแดงจิ๋ว
หลอดเลือดฝอย
หลอดเลือดดำเล็ก
หลอดเลือดดำ
หัวใจ
เวนตริเคิลขวา
เลือดที่อุดมด้วยออกซิเจน
เลือดขาดออกซิเจน
จากร่างกาย
วีนาคาวาหลอดบน
เอเตรียมขวา
วีนาคาวาหลอดล่าง
จากร่างกาย
เวนตริเคิลขวา
ลิ้น
ไปยังปอด
หลอดเลือดเข้าสู่ปอด
จากปอด
เอเตรียมซ้าย
ลิ้น
เวนตริเคิลซ้าย
ท่อเลือดแดง
สู่ร่างกาย
[แผนผังหน้า 25]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
วิธีที่หัวใจเต้น
1. การคลาย
2. เอเตรียมบีบตัว
3. เวนตริเคิลบีบตัว
[ภาพหน้า 25]
เซลล์เม็ดเลือดเดินทางไปทั่วหลอดเลือดทั้งหมดเป็นระยะทาง 100,000 กิโลเมตร
[ภาพหน้า 26]
ภาพถ่ายของหลอดเลือดฝอยที่มีเซลล์เม็ดเลือดแดงไหลผ่านแถวเรียงหนึ่ง
[ที่มาของภาพหน้า 26]
Lennart Nilsson