รูปแบบของสงครามสมัยใหม่
รูปแบบของสงครามสมัยใหม่
มีการตั้งค่ายผู้ลี้ภัยขึ้นอย่างเร่งรีบเพื่อรองรับผู้ลี้ภัย 1,548 คนซึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้านแถบแอฟริกาโดยไม่คาดคิด. มีการขึงเต็นท์สีน้ำเงินและสีกากีในพื้นที่ซึ่งถางไว้และเต็มไปด้วยโคลนกลางป่าต้นปาล์ม. ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีเครื่องนอน ไม่มีน้ำประปา ไม่มีห้องน้ำ. ฝนก็กำลังตก. พวกผู้ลี้ภัยเอากิ่งไม้เซาะพื้นเป็นร่องเล็ก ๆ เพื่อไม่ให้น้ำท่วมเต็นท์. องค์การบรรเทาทุกข์ระหว่างชาติสององค์การทำงานอย่างหนักเพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่.
ก่อนหน้านั้น ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้ฉวยโอกาสขึ้นเรือสินค้าเก่าคร่ำคร่าลำหนึ่งเพื่อหนีสงครามกลางเมืองซึ่งได้โหมกระหน่ำประเทศของตนมาหลายปีแล้ว. สงครามนั้นไม่ได้สู้กันด้วยขบวนรถถังหรือเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่. มันเริ่มขึ้นเมื่อทหารประมาณ 150 นายพร้อมปืนเล็กยาว (ไรเฟิล) ชนิดจู่โจมเคลื่อนกำลังเข้ามาในประเทศ. ระหว่างหลายปีต่อจากนั้น พวกทหารยึดหมู่บ้านแล้วหมู่บ้านเล่า, เรียกร้องให้พลเรือนจ่ายค่าคุ้มครอง, เกณฑ์ทหารเพิ่ม, และฆ่าใครก็ตามที่ต่อต้าน. ในที่สุด ทหารพวกนี้ก็ยึดทั้งประเทศ.
ผู้ลี้ภัยคนหนึ่งในค่ายนั้นเป็นหญิงสาวชื่อเอสเทอร์. เธอบอกว่า “สิ่งที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตซึ่งดิฉันเคยประสบมาคือการที่สามีดิฉันตายในสงครามนี้. พวกนั้นยิงเขา. พวกเรากลัวกันมาก. ถ้าคุณได้ยินเสียงใครสักคนร้องตะโกน คุณก็คิดว่ามีคนกำลังมาฆ่าคุณ. เมื่อใดก็ตามที่คุณเห็นคนถือปืน คุณก็คิดว่าเขาจะมาฆ่าคุณ. ดิฉันไม่เคยรู้สึกผ่อนคลายเลย. เมื่อมาอยู่ที่นี่ดิฉันถึงได้นอนหลับตอนกลางคืน. ที่บ้าน ดิฉันหลับไม่ลง. ที่นี่ดิฉันหลับเหมือนกับเด็กทารก.”
ผู้เขียนตื่นเถิด! คนหนึ่งถามว่า “ในเต็นท์แฉะ ๆ อย่างนี้ก็หลับได้หรือครับ?”
เอสเทอร์หัวเราะ. “ถ้าดิฉันต้องนอนในโคลนนั่น ดิฉันก็จะหลับได้สนิทกว่าในที่ที่ดิฉันหนีมา.”
แอมโบรส วัยสิบปี ใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของเขาด้วยการหนีจากเขตสงครามพร้อมกับครอบครัวของเขา. เขาบอกว่า “ผมอยากให้มีสันติภาพ แล้วจะได้กลับไปเรียนหนังสือ. เพราะผมก็เริ่มโตแล้ว.”
คปานา วัยเก้าปี มีดวงตาสีน้ำตาลสวย. เมื่อถามว่าเธอจำอะไรได้เป็นสิ่งแรกในชีวิต เธอตอบโดยไม่ลังเลว่า “สงคราม! การสู้รบ!”
สงครามแบบที่คนเหล่านี้หนีมาเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้. ตามการรายงานของแหล่งหนึ่ง ในบรรดาการสู้รบใหญ่ ๆ 49 แห่งซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1990 มี 46 ครั้งที่สู้กันด้วยอาวุธเบาล้วน ๆ. ไม่เหมือนดาบหรือหอก ซึ่งต้องมีทักษะและกำลังเพื่อจะใช้สู้รบได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาวุธปืนเล็กทำให้ทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพสู้รบในสงครามได้เหมือน ๆ กัน. * บ่อยครั้งมีการเกณฑ์วัยรุ่นและเด็ก ๆ และบังคับให้ปล้น, ทำให้คนอื่นพิการ, และฆ่า.
การสู้รบเหล่านี้หลายแห่งไม่ใช่การสู้รบระหว่างประเทศ แต่เป็นการสู้รบภายในประเทศ. พวกที่สู้รบกันไม่ใช่ทหารที่ได้รับการฝึกและรบกันในสนามรบ แต่ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนซึ่งสู้รบกันในเมืองและหมู่บ้านต่าง ๆ. เนื่องจากคนที่สู้รบกันส่วนใหญ่คือคนที่ไม่เคยได้รับการฝึกอบรมทางทหาร จึงแทบไม่มีความสะทกสะท้านต่อการฝ่าฝืนกฎแห่งสงครามที่ยึดถือกันมา. ผลก็คือ การโจมตีอย่างรุนแรงต่อชาย, หญิง, และเด็กซึ่งไม่มีอาวุธเกิดขึ้นบ่อย ๆ. เชื่อกันว่าในสงครามสมัยนี้ กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เสียชีวิตเป็นพลเรือน. ในสงครามแบบนี้ อาวุธปืนเล็กและอาวุธเบามีบทบาทสำคัญ.
แน่นอน ปืนไม่ใช่สาเหตุโดยตรงของการสู้รบ—มนุษย์ทำสงครามกันมานานแล้วก่อนที่จะมีการคิดค้นดินปืน. อย่างไรก็ตาม ปืนที่มีเก็บไว้ในคลังมากมายอาจกระตุ้นให้เกิดการสู้รบมากกว่าการเจรจา. อาวุธอาจทำให้สงครามยืดเยื้อและมีการฆ่าอย่างรุนแรงมากขึ้น.
แม้ว่าสงครามสมัยนี้ใช้อาวุธเบา แต่ผลที่เกิดขึ้นนั้นไม่เบาเลย. ระหว่างทศวรรษ 1990 อาวุธแบบนั้นสังหารคนมากกว่าสี่ล้านคน. อีกกว่า 40 ล้านคนกลายเป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่ก็ผู้พลัดถิ่น. อาวุธปืนเล็กทำให้ประเทศที่มีการสู้รบกันได้รับความเสียหายย่อยยับในทางการเมือง, สังคม, เศรษฐกิจ, และสภาพแวดล้อม. ประชาคมโลกต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการบรรเทาทุกข์ฉุกเฉิน, การดูแลผู้ลี้ภัย, การรักษาสันติภาพ, และการเข้าแทรกแซงทางทหารมากจนนึกภาพไม่ออก.
ทำไมอาวุธปืนเล็กจึงมีบทบาทมากขนาดนั้นในการสู้รบสมัยใหม่? อาวุธพวกนี้มาจากไหน? จะทำอะไรได้บ้างเพื่อควบคุมหรือขจัดความเสียหายที่ทำให้ถึงตายของอาวุธพวกนี้? เราจะพิจารณาคำถามเหล่านี้ในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 9 คำ “อาวุธปืนเล็ก” หมายถึงปืนเล็กยาวและปืนพกชนิดต่าง ๆ—ซึ่งเป็นอาวุธที่ถือคนเดียวได้; คำ “อาวุธเบา” รวมไปถึงปืนกล, ปืนครก, และเครื่องยิงลูกระเบิด ซึ่งบางครั้งต้องใช้สองคนควบคุม.
[ที่มาของภาพหน้า 3]
UN PHOTO 186797/J. Isaac