เชอร์ราปุนจี—ที่ซึ่งฝนตกมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
เชอร์ราปุนจี—ที่ซึ่งฝนตกมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในอินเดีย
ที่ซึ่งฝนตกมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างนั้นหรือ? จะเป็นไปได้อย่างไร? การขาดแคลนน้ำเป็นเรื่องค่อนข้างธรรมดาที่นี่ในอินเดีย และส่วนใหญ่แล้วคุณไม่ต้องใช้ร่มด้วยซ้ำ! เรากำลังพูดถึงสถานที่อันแปลกประหลาดแห่งไหนอยู่หรือ? เชอร์ราปุนจี—เมืองแห่งหนึ่งในรัฐเมฆาลัย ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ติดกับบังกลาเทศ. รัฐเมฆาลัยเป็นสถานที่ซึ่งงดงามมากจนถูกเรียกว่า “สกอตแลนด์ตะวันออก.” ชื่อของรัฐนี้เองมีความหมายว่า “ที่อาศัยของเมฆ.” แต่ทำไมจึงถือกันมานานแล้วว่าเชอร์ราปุนจีเป็นที่ซึ่งมีฝนตกมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก? ให้เราไปแวะชมความมหัศจรรย์อันน่าทึ่งนี้ของธรรมชาติด้วยกันสักครู่. *
เราเริ่มการเดินทางที่เมืองชิลลอง เมืองหลวงของรัฐเมฆาลัย. เราขึ้นรถโดยสารสำหรับนักท่องเที่ยวมุ่งลงใต้. ขณะที่เราผ่านทิวเขาสูงต่ำและทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ เราเห็นเมฆลอยอยู่ข้างหน้าเรา ซึ่งทำให้เรานึกขึ้นมาทันทีว่าชื่อเมฆาลัยนั้นเหมาะจริง ๆ.
ถนนของเราลดเลี้ยวไต่ขึ้นไปตามขอบโกรกธารลึกซึ่งปกคลุมด้วยป่าไม้หนาทึบ. น้ำตกพุ่งลงมาจากหน้าผาสูงลิบทำให้มีกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากไหลผ่านหุบเขา. ขณะที่รถโดยสารของเราหยุดที่เมืองเมาก์ดอก เราเห็นเมฆรูปร่างต่าง ๆ ลอยตัวต่ำผ่านภูเขา. จู่ ๆ เมฆก็บดบังทัศนียภาพส่วนหนึ่ง แล้วก็ลอยผ่านไปอย่างรวดเร็วพอ ๆ กันและเผยให้เห็นทัศนียภาพอีกครั้ง. ชั่วครู่หนึ่ง เราเองก็ถูกปกคลุมไปด้วยเมฆก้อนใหญ่และหายเข้าไปในปุยขาวอันนุ่มนวล. แต่ไม่นาน เมฆก็ลอยผ่านไป และดวงอาทิตย์ก็ส่องประกายให้ทัศนียภาพอันงดงาม.
เชอร์ราปุนจีอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,300 เมตร. เมื่อเราไปถึงเมืองนั้น ไม่มีเมฆฝนให้เห็นแม้แต่ก้อนเดียว และไม่มีใครถือร่ม. นักท่องเที่ยวอย่างพวกเราเท่านั้นที่เตรียมพร้อมสำหรับฝนห่าใหญ่! ถ้าอย่างนั้นฝนตกตอนไหน?
ในแถบเขตร้อน ฝนจะตกหนักเมื่อดวงอาทิตย์ทำให้น้ำปริมาณมหาศาลจากมหาสมุทรส่วนที่อบอุ่นระเหยขึ้นไปเป็นไอ. เมื่อลมที่หอบเอาความชื้นจากมหาสมุทรอินเดียพัดไปปะทะกับลาดเขาด้านใต้ของเทือกเขาหิมาลัยและทำให้ต้องลอยสูงขึ้น ไอ
น้ำจะกลั่นตัวกลายเป็นฝนที่ตกหนักมาก. ที่ราบเมฆาลัยเป็นพื้นที่หลักที่รับน้ำฝน. ยิ่งกว่านั้น ดูเหมือนว่าพื้นที่ที่สูงนี้ได้รับแสงอาทิตย์เขตร้อนอย่างเต็มที่ในเวลากลางวัน เมฆฝนจึงลอยสูงขึ้นและวนเวียนอยู่เหนือที่ราบสูงนั้นจนกระทั่งอากาศเย็นลงในตอนเย็น. นี่อาจเป็นสาเหตุที่ฝนตกในตอนกลางคืนเป็นส่วนใหญ่.ในเดือนกรกฎาคม 1861 เชอร์ราปุนจีได้รับน้ำฝนอย่างน่าทึ่งถึง 9,300 มิลลิเมตร! และมีฝนตกถึง 26,460 มิลลิเมตรในช่วง 12 เดือนซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 1860 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 1861. ในทุกวันนี้ เฉลี่ยแล้วเชอร์ราปุนจีมีฝนตกปีละ 180 วัน. ฝนตกหนักที่สุดตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน. เนื่องจากส่วนใหญ่ฝนตกตอนกลางคืน นักท่องเที่ยวจึงสามารถไปเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องเปียกฝน.
เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ว่าทั้ง ๆ ที่มีฝนตกมากขนาดนั้น พื้นที่นี้จะมีวันประสบกับการขาดแคลนน้ำได้. อย่างไรก็ตาม กรณีเช่นนี้มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว. แล้วกระแสน้ำในฤดูมรสุมไปไหนหมด? เนื่องจากการถางป่าขนานใหญ่บริเวณนอกเมืองเชอร์ราปุนจี ฝนส่วนใหญ่จึงไหลจากที่ราบสูงลงสู่แม่น้ำบริเวณพื้นราบ ซึ่งส่วนใหญ่ไหลไปยังบังกลาเทศ. มีการพิจารณาโครงการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ. แต่ตามคำกล่าวของ จี. เอส. แมงยัง กษัตริย์ประจำเผ่าแห่งเมาซินรัม “ไม่มีการพยายามอย่างจริงจังที่จะแก้ปัญหาเรื่องน้ำ.”
การมาเยี่ยมชมเชอร์ราปุนจีนั้นน่าตื่นเต้นและให้ความรู้จริง ๆ. ที่นี่มีทัศนียภาพอันติดตาตรึงใจอะไรเช่นนั้น! และมีดอกไม้อันสวยงาม ซึ่งรวมไปถึงกล้วยไม้ประมาณ 300 ชนิด และยังมีพืชกินแมลงซึ่งแปลกประหลาดชนิดหนึ่ง. ยิ่งกว่านั้น มีชีวิตสัตว์ป่าหลากหลายชนิดให้ชื่นชม และมีถ้ำหินปูนที่สามารถเข้าไปสำรวจและมีแท่งหินใหญ่ให้ชม. พื้นที่ปลูกส้มอันกว้างใหญ่ในบริเวณนี้ให้ผลส้มที่หวานฉ่ำรวมทั้งทำให้เป็นไปได้ที่จะมีการผลิตน้ำผึ้งส้มแสนอร่อยอันเป็นผลิตผลจากธรรมชาติ. ทั้งหมดนี้รอคอยนักท่องเที่ยวให้มาเยือนรัฐเมฆาลัย “ที่อาศัยของเมฆ” และมาเยือนเชอร์ราปุนจี ที่ซึ่งมีฝนตกมากที่สุดแห่งหนึ่งบนแผ่นดินโลก.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 บางครั้งเขาไวอาลีอาเลบนเกาะเคาไอในหมู่เกาะฮาวาย และหมู่บ้านเมาซินรัม—หมู่บ้านแห่งหนึ่งห่างจากเชอร์ราปุนจีไปประมาณ 16 กิโลเมตร—มีบันทึกปริมาณฝนเฉลี่ยต่อปีสูงกว่าที่เชอร์ราปุนจี.
[แผนที่หน้า 22]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
อินเดีย
เชอร์ราปุนจี
[ที่มาของภาพ]
Mountain High Maps® Copyright © 1997 Digital Wisdom, Inc.
[ภาพหน้า 23]
น้ำตกไหลลงสู่แม่น้ำซึ่งไหลผ่านหุบเขา
[ภาพหน้า 23]
พืชกินแมลงชนิดนี้มีอยู่ที่นี่เพียงแห่งเดียวในโลก
[ที่มาของภาพ]
Photograph by Matthew Miller