ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

มหาวิหาร—อนุสรณ์สถานแด่พระเจ้าหรือมนุษย์?

มหาวิหาร—อนุสรณ์สถานแด่พระเจ้าหรือมนุษย์?

มหา​วิหาร—อนุสรณ์​สถาน​แด่​พระเจ้า​หรือ​มนุษย์?

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​ฝรั่งเศส

ใน​กรุง​มอสโก มี​สิ่ง​ที่​คล้าย​กับ​การ​กลับ​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย. มหา​วิหาร​พระ​คริสต์​พระ​ผู้​ช่วย​ให้​รอด ซึ่ง​ถูก​สตาลิน​ทำลาย​ใน​ปี 1931 ได้​รับ​การ​สร้าง​ขึ้น​ใหม่ โดย​มี​โดม​ทองคำ​ส่อง​ประกาย​และ​มี​ท้องฟ้า​ของ​รัสเซีย​เป็น​ฉาก​หลัง. ใน​เมือง​เอฟวรี ใกล้​กรุง​ปารีส คน​งาน​ได้​ตกแต่ง​ราย​ละเอียด​ขั้น​สุด​ท้าย ณ มหา​วิหาร​เพียง​หลัง​เดียว​ซึ่ง​ถูก​สร้าง​ขึ้น​ใน​ฝรั่งเศส​ระหว่าง​ศตวรรษ​ที่ 20. เรื่อง​นี้​เกิด​ขึ้น​เพียง​ไม่​กี่​ปี​เท่า​นั้น​หลัง​จาก​การ​อุทิศ​มหา​วิหาร​อัลมูเดนา​ใน​กรุง​มาดริด. ใน​เหตุ​การณ์​ที่​คล้าย ๆ กัน นคร​นิวยอร์ก​มี​มหา​วิหาร​ชื่อ เซนต์จอห์น เดอะ ดิไวน์. เนื่อง​จาก​ใช้​เวลา​ก่อ​สร้าง​นาน​กว่า 100 ปี มหา​วิหาร​หลัง​นี้​จึง​มัก​ถูก​เรียก​ว่า​เซนต์จอห์น​ที่​สร้าง​ไม่​เสร็จ. ถึง​กระนั้น มหา​วิหาร​หลัง​นี้​ก็​เป็น​หนึ่ง​ใน​มหา​วิหาร​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​โลก โดย​ครอบ​คลุม​พื้น​ที่​กว่า 11,000 ตาราง​เมตร.

ตลอด​ทั่ว​คริสต์​ศาสนจักร มหา​วิหาร​อัน​ใหญ่​โต​เป็น​สถาน​ที่​ที่​โดด​เด่น​สำหรับ​หลาย ๆ เมือง. สำหรับ​ผู้​มี​ความ​เชื่อ​แล้ว มหา​วิหาร​เหล่า​นี้​เป็น​อนุสรณ์​สถาน​แห่ง​ความ​ศรัทธา​ใน​พระเจ้า. แม้​แต่​ผู้​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​ก็​อาจ​ชื่น​ชอบ​มหา​วิหาร​เหล่า​นี้​ฐานะ​เป็น​ผล​งาน​ทาง​ศิลปะ​หรือ​เป็น​ตัว​อย่าง​ความ​ยอด​เยี่ยม​ทาง​สถาปัตยกรรม. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​มี​สถาน​นมัสการ​ซึ่ง​งดงาม​ประณีต​และ​มัก​จะ​แพง​จน​เกิน​เหตุ​นั้น​ก่อ​ให้​เกิด​คำ​ถาม​สำคัญ: มหา​วิหาร​เหล่า​นี้​ถูก​สร้าง​ขึ้น​เพื่อ​อะไร​และ​โดย​วิธี​ใด? จุด​ประสงค์​ของ​มหา​วิหาร​เหล่า​นี้​คือ​อะไร?

มหา​วิหาร​คือ​อะไร?

หลัง​จาก​พระ​คริสต์​สิ้น​พระ​ชนม์ เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์​รวบ​รวม​กัน​ขึ้น​เป็น​ประชาคม ซึ่ง​หลาย​ประชาคม​ประชุม​กัน​ใน​บ้าน​ส่วน​ตัว. (ฟิเลโมน 2) เป็น​เวลา​หลาย​สิบ​ปี​ที่​ประชาคม​เหล่า​นี้​ได้​รับ​การ​ดู​แล​จาก “ผู้​ปกครอง” ฝ่าย​วิญญาณ. (กิจการ 20:17, 28; เฮ็บราย 13:17) อย่าง​ไร​ก็​ตาม หลัง​จาก​เหล่า​อัครสาวก​สิ้น​ชีวิต​แล้ว ก็​มี​การ​เขว​ออก​ไป​จาก​แนว​ทาง​ของ​ศาสนา​คริสเตียน​แท้. (กิจการ 20:29, 30) ใน​เวลา​ต่อ​มา ผู้​ปกครอง​จำนวน​หนึ่ง​ยก​ตัว​เอง​ขึ้น​เหนือ​คน​อื่น ๆ และ​ถือ​กัน​ว่า​เป็น​บิชอป​มี​อำนาจ​เหนือ​ประชาคม​จำนวน​หนึ่ง—ซึ่ง​เป็น​สิ่ง​ที่​พระ​เยซู​ทรง​ห้าม​ไว้. (มัดธาย 23:9-12) คำ​ภาษา​กรีก เอคเคลเซีย ซึ่ง​แต่​เดิม​ใช้​กับ​คน​ที่​เป็น​คริสเตียน​เอง ก็​ถูก​นำ​ไป​ใช้​กับ​สถาน​นมัสการ​ของ​พวก​เขา—ตัว​อาคาร​เอง—หรือ​โบสถ์. ไม่​นาน​นัก บิชอป​บาง​คน​ก็​เริ่ม​หา​ทาง​สร้าง​โบสถ์​ที่​เหมาะ​กับ​ตำแหน่ง​ของ​ตน. มี​การ​คิด​คำ​ใหม่​ขึ้น​มา​เพื่อ​ใช้​เรียก​โบสถ์​ของ​บิชอป—มหา​วิหาร.

คำ​ภาษา​กรีก​สำหรับ​คำ​ว่า​มหา​วิหาร​คือ คาเทดรา ซึ่ง​หมาย​ถึง “ที่​นั่ง.” มหา​วิหาร​จึง​เป็น​บัลลังก์​ของ​บิชอป สัญลักษณ์​ของ​อำนาจ​ทาง​โลก​ของ​เขา. จาก​มหา​วิหาร​ของ​ตน บิชอป​ปกครอง​เหนือ​เขต​ปกครอง.

“ยุค​แห่ง​มหา​วิหาร”

ใน​ปี ส.ศ. 325 สภา​นีเซีย​รับรอง​การ​ตั้ง​บิชอป​ใน​เมือง​ต่าง ๆ อย่าง​เป็น​ทาง​การ. ใน​ตอน​นี้​เมื่อ​ได้​รับ​การ​หนุน​หลัง​จาก​ทาง​การ​โรมัน บิชอป​จึง​มัก​ได้​รับ​มอบ​ที่​ดิน​จำนวน​มาก​จาก​พวก​เจ้าหน้าที่. พวก​เขา​ยัง​ได้​ยึด​สถาน​นมัสการ​พระ​นอก​รีต​หลาย​แห่ง​ด้วย. เมื่อ​จักรวรรดิ​โรมัน​ล่ม​สลาย โครง​สร้าง​การ​ปกครอง​โดย​พวก​นัก​บวช​อยู่​รอด​มา​ได้​และ​เติบโต​จน​มี​อำนาจ​โดด​เด่น​ใน​ยุค​กลาง. ไม่​นาน ช่วง​เวลา​นั้น​จึง​กลาย​เป็น “ยุค​แห่ง​มหา​วิหาร” ดัง​ที่​ชอร์ช ดูบี นัก​ประวัติศาสตร์​ชาว​ฝรั่งเศส​เรียก.

ตั้ง​แต่​ศตวรรษ​ที่ 7 จน​ถึง​ศตวรรษ​ที่ 14 ประชากร​ของ​ยุโรป​เพิ่ม​ขึ้น​สาม​เท่า. การ​เพิ่ม​ขึ้น​ขนาน​ใหญ่​ของ​ประชากร​นี้​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​เมือง​ต่าง ๆ เป็น​ส่วน​ใหญ่ ซึ่ง​มี​ความ​มั่งคั่ง​เพิ่ม​ขึ้น. ผล​ก็​คือ เขต​ปกครอง​ที่​ร่ำรวย​ที่​สุด​ของ​บิชอป​จึง​เป็น​ทำเล​ซึ่ง​เหมาะ​ที่​สุด​ที่​จะ​เกิด​มี​มหา​วิหาร​อัน​ใหญ่​โต. ทำไม? เพราะ​ว่า​โครงการ​ขนาด​ใหญ่​นี้​จะ​ดำเนิน​ไป​ได้​ดี​ก็​ต่อ​เมื่อ​มี​เงิน​หลั่งไหล​เข้า​มา​อย่าง​สม่ำเสมอ​เท่า​นั้น!

อีก​ปัจจัย​หนึ่ง​ซึ่ง​กระตุ้น​ให้​มี​การ​สร้าง​มหา​วิหาร​คือ​ความ​นิยม​ใน​การ​บูชา​พระ​แม่​มาเรีย​และ​วัตถุ​ทาง​ศาสนา. การ​บูชา​นี้​ได้​รับ​ความ​นิยม​สูง​สุด​ใน​ศตวรรษ​ที่ 11 และ 12. บิชอป​ส่ง​เสริม​การ​นมัสการ​นี้ ด้วย​เหตุ​นี้​จึง​ทำ​ให้​มหา​วิหาร​ของ​ตน​เป็น​ที่​นิยม​มาก​ขึ้น. คำ นอเตรอดาม (สุภาพสตรี​ของ​เรา) เริ่ม​กลาย​มา​เป็น​ชื่อ​มหา​วิหาร​ต่าง ๆ ใน​ฝรั่งเศส ณ ช่วง​เวลา​นี้. สารานุกรม​ของ​คาทอลิก​ชื่อ​เทโอ ถาม​ว่า “เมือง​ไหน​บ้าง​ที่​ไม่​ได้​อุทิศ​โบสถ์​หรือ​บ่อย​ครั้ง​ไม่​ได้​อุทิศ​มหา​วิหาร​ให้​แก่​นาง?” ด้วย​เหตุ​นี้ จึง​มี​การ​อุทิศ​มหา​วิหาร​แซงต์เอเตียน​ใน​กรุง​ปารีส​ให้​แก่​นอเตรอดาม. มหา​วิหาร​นอเตรอดาม​ใน​เมือง​ชาตร์ ประเทศ​ฝรั่งเศส ได้​กลาย​มา​เป็น​ศาสนสถาน​ที่​มี​ชื่อเสียง​ที่​สุด​ของ​ยุโรป​เหนือ. หนังสือ​แวดวง​ความ​รู้​เกี่ยว​กับ​มหา​วิหาร (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “ไม่​มี​ใคร​คน​ใด—แม้​กระทั่ง​พระ​คริสต์​เอง—จะ​ควบคุม​ชีวิต​และ​ความ​คิด​ของ​ผู้​สร้าง​มหา​วิหาร​ได้​มาก​เท่า​กับ​พระ​แม่​มาเรีย.”

“เรา​จะ​สร้าง​มหา​วิหาร​ที่​ใหญ่​โต​จน​ถึง​กับ . . . ”

แล้ว​ทำไม​อาคาร​เหล่า​นี้​หลาย​หลัง​จึง​ใหญ่​โต​นัก? แม้​กระทั่ง​ศตวรรษ​ที่​สี่ มหา​วิหาร​แห่ง​เมือง​เทรียร์ เยอรมนี และ​นคร​เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ครอบ​คลุม​พื้น​ที่​กว้าง​ใหญ่ ทั้ง ๆ ที่​มี​ผู้​นมัสการ​ค่อนข้าง​น้อย. ใน​ศตวรรษ​ที่ 11 ที่​เมือง​ชไปเออร์ เยอรมนี ประชากร​ที่​นั่น​ยัง​ไม่​สามารถ​ทำ​ให้​มหา​วิหาร​อัน​ใหญ่​โต​ของ​เมือง​นั้น​เต็ม​ได้​เลย. หนังสือ​แวดวง​ความ​รู้​เกี่ยว​กับ​มหา​วิหาร จึง​ลง​ความ​เห็น​ว่า “ขนาด​และ​ความ​โอ่อ่า [ของ​มหา​วิหาร​ต่าง ๆ] เผย​ถึง​แรง​กระตุ้น​ที่​ค่อนข้าง​เป็น​แบบ​โลก.” แรง​กระตุ้น​เหล่า​นั้น​รวม​ไป​ถึง “ความ​รู้สึก​หยิ่ง​และ​ถือ​ว่า​ตน​สำคัญ​ของ​บิชอป​หรือ​พระ​ราชา​คณะ​ซึ่ง​เป็น​ผู้​อุปถัมภ์​การ​สร้าง​อาคาร​ที่​ใหญ่​โต​นั้น.”

ระหว่าง​ศตวรรษ​ที่ 12 และ 13 มหา​วิหาร​มี​ขนาด​โดย​เฉลี่ย 100 เมตร โดย​พยายาม​จะ​ทำ​ให้​ความ​สูง​เท่า​กับ​ความ​ยาว. มหา​วิหาร​วินเชสเตอร์​ใน​อังกฤษ ซึ่ง​มี​ความ​ยาว 169 เมตร และ​มหา​วิหาร​ดูโอโม​แห่ง​เมือง​มิลาน อิตาลี มี​ความ​ยาว 145 เมตร เป็น​มหา​วิหาร​ที่​โดด​เด่น​มาก. เจ้าหน้าที่​โบสถ์​ชาว​สเปน​ใน​เมือง​เซบียา​ประกาศ​ใน​ปี 1402 ว่า “เรา​จะ​สร้าง​มหา​วิหาร​ที่​ใหญ่​โต​จน​ถึง​กับ​ทำ​ให้​คน​ที่​เห็น​มหา​วิหาร​ซึ่ง​สร้าง​เสร็จ​แล้ว​จะ​คิด​ว่า​เรา​เสีย​สติ.” ที่​จริง กล่าว​กัน​ว่า​มหา​วิหาร​แห่ง​เมือง​เซบียา​มี​ขนาด​ใหญ่​เป็น​อันดับ​สอง​ของ​โลก มี​หลังคา​โค้ง​สูง 53 เมตร. หอ​ของ​มหา​วิหาร​สตราสบูร์ก​ใน​ฝรั่งเศส​สูง 142 เมตร ซึ่ง​เท่า​กับ​ตึก 40 ชั้น. ใน​ศตวรรษ​ที่ 19 หอ​ของ​มหา​วิหาร​กอทิก มึนสเตอร์ ใน​เมือง​อุล์ม เยอรมนี สูง​ถึง 161 เมตร ทำ​ให้​หอ​นี้​เป็น​หอ​ศิลา​ซึ่ง​สูง​ที่​สุด​ใน​โลก. นัก​ประวัติศาสตร์​ปีแอร์ ดู โกลองบีแอร์​กล่าว​ว่า “ไม่​มี​ข้อ​เรียก​ร้อง​ใน​การ​นมัสการ​ข้อ​ใด​ที่​ทำ​ให้​ขนาด​อัน​ใหญ่​โต​มโหฬาร​นั้น​เป็น​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง.”

ระหว่าง​ศตวรรษ​ที่ 12 และ 13 ผู้​ส่ง​เสริม​มหา​วิหาร​ใช้​ประโยชน์​จาก “แรง​กระตุ้น​แบบ​โลก” อีก​อย่าง​หนึ่ง—ความ​ภูมิ​ใจ​ใน​เมือง​ของ​ตน​เอง. สารานุกรม​บริแทนนิกา กล่าว​ว่า “เมือง​ต่าง ๆ แข่งขัน​กัน​สร้าง​มหา​วิหาร​ที่​สูง​ที่​สุด.” สมาชิก​คณะ​เทศมนตรี, ชาว​เมือง, และ​สมาคม​พ่อค้า​ต่าง ๆ ใช้​มหา​วิหาร​เป็น​สัญลักษณ์​แห่ง​เมือง​ของ​ตน.

แพง​ใน​อดีต แพง​ใน​ปัจจุบัน

นัก​เขียน​คน​หนึ่ง​พรรณนา​โครงการ​ก่อ​สร้าง​มหา​วิหาร​ว่า​เป็น “เหว​ทาง​การ​เงิน​ที่​ไม่​มี​ก้น.” แล้ว​อาคาร​เหล่า​นี้ ซึ่ง​แม้​แต่​ใน​ปัจจุบัน​ก็​ยัง​มี​ค่า​ซ่อม​บำรุง​สูง​ขึ้น​เรื่อย ๆ ได้​เงิน​จาก​ไหน​ใน​อดีต? ใน​บาง​กรณี บาทหลวง​ชั้น​สูง​เช่น มอรีส เดอ ซุลลี ใน​ปารีส ออก​ค่า​ใช้​จ่าย​ด้วย​ตน​เอง. บาง​ครั้ง ผู้​ปกครอง​ทาง​การ​เมือง เช่น กษัตริย์​เจมส์​ที่ 1 แห่ง​อารา​กอน เป็น​ผู้​ออก​ค่า​ใช้​จ่าย. แต่​โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว​เงิน​ทุน​สำหรับ​การ​สร้าง​มหา​วิหาร​เป็น​ราย​ได้​ที่​รวบ​รวม​จาก​เขต​ปกครอง​ของ​บิชอป. เงิน​นี้​ประกอบ​ด้วย​ภาษี​จาก​ระบบ​ศักดินา​และ​ราย​ได้​จาก​ที่​ดิน. อัน​ที่​จริง บิชอป​แห่ง​โบโลนญา​ใน​อิตาลี​เคย​เป็น​เจ้าของ​ที่​ดิน​ถึง 2,000 แปลง! นอก​จาก​นั้น​ยัง​มี​ราย​ได้​ทาง​ศาสนา​จาก​การ​เรี่ยไร, การ​ล้าง​บาป, และ​เบี้ย​ปรับ​สำหรับ​บาป. ใน​เมือง​รูออง ประเทศ​ฝรั่งเศส คน​ที่​ซื้อ​สิทธิ์​เพื่อ​จะ​รับประทาน​ผลิตภัณฑ์​จาก​นม​ระหว่าง​ช่วง​ถือ​ศีล​อด​อาหาร​ก่อน​เทศกาล​อีสเตอร์​ต้อง​จ่าย​ค่า​สร้าง​หอ​ของ​มหา​วิหาร​ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า หอ​เนย.

ผู้​บริจาค​บาง​คน​ใจ​กว้าง​เป็น​พิเศษ และ​พวก​เขา​ได้​รับ​เกียรติ​โดย​มี​ภาพ​ของ​เขา​ใน​หน้าต่าง​กระจก​สี​และ​ทำ​เป็น​รูป​ปั้น​ใน​โบสถ์. หลักการ​ของ​การ​ให้​แบบ​คริสเตียน​โดย​ไม่​ระบุ​นาม​จึง​ดู​เหมือน​ถูก​ลืม​ไป. (มัดธาย 6:2) จำเป็น​ต้อง​มี​เงิน​หลั่งไหล​มา​เรื่อย ๆ เนื่อง​จาก​ค่า​ใช้​จ่าย​มัก​จะ​เกิน​งบประมาณ​บ่อย ๆ. ดัง​นั้น ไม่​น่า​แปลก​ใจ​ที่​ความ​กระตือรือร้น​ใน​การ​หา​เงิน​จึง​มัก​นำ​ไป​สู่​การ​บังคับ​ให้​บริจาค. ตัว​อย่าง​เช่น การ​ถูก​กล่าวหา​ว่า​มี​ความ​เชื่อ​แบบ​นอก​รีต​มัก​ทำ​ให้​ถูก​ยึด​ทรัพย์​สมบัติ​ส่วน​ตัว. นี่​ทำ​ให้​เป็น​ไป​ได้​ที่​จะ​ปล้น​คน​ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า​คน​นอก​รีต เช่น พวก​คาทาร์ และ​ทำ​ให้​มี​เงิน​สำหรับ​โครงการ​ก่อ​สร้าง​โบสถ์​หลาย​โครงการ. *

แน่นอน ต้อง​มี​แรง​กดดัน​จาก​คริสตจักร​อยู่​เสมอ​เพื่อ​ทำ​ให้​เงิน​หลั่งไหล​มา​เรื่อย ๆ. เรื่อง​ราว​ไม่​ได้​เป็น​อย่าง​ที่​นัก​ประวัติศาสตร์​บาง​คน​เคย​อ้าง ที่​ว่า​ฝูง​ชน​ได้​สร้าง​อาคาร​เหล่า​นั้น​ด้วย​แรง​ศรัทธา​ของ​ตน. นัก​ประวัติศาสตร์​เฮนรี เคราส์​กล่าว​ว่า “ถึง​แม้​ว่า​ผู้​คน​ใน​ยุค​กลาง​เคร่ง​ศาสนา​มาก แต่​การ​สร้าง​โบสถ์​วิหาร​ไม่​ใช่​เรื่อง​สำคัญ​ที่​สุด​สำหรับ​ผู้​คน.” นัก​ประวัติศาสตร์​หลาย​คน​จึง​วิจารณ์​คริสตจักร​เกี่ยว​กับ​ความ​หรูหรา​ฟุ่มเฟือย​นี้. หนังสือ​แวดวง​ความ​รู้​เกี่ยว​กับ​มหา​วิหาร ยอม​รับ​ว่า “เงิน​ที่​คริสตจักร​ใช้​เพื่อ​การ​ก่อ​สร้าง​อาจ​ถูก​นำ​ไป​ใช้​เพื่อ​ซื้อ​อาหาร​ให้​แก่​ผู้​คน​ที่​หิว​โหย . . . หรือ​ดำเนิน​กิจการ​โรง​พยาบาล​และ​โรง​เรียน. ดัง​นั้น อาจ​กล่าว​ได้​ว่า​มหา​วิหาร​ทำ​ให้​ชีวิต​มนุษย์​หลาย​แสน​คน​ต้อง​เสีย​ไป.”

วิธี​การ​สร้าง​มหา​วิหาร

มหา​วิหาร​เป็น​สิ่ง​ที่​แสดง​ถึง​ความ​ปราดเปรื่อง​ของ​มนุษย์. เป็น​เรื่อง​น่า​ทึ่ง​จริง ๆ ที่​อาคาร​ขนาด​มหึมา​เหล่า​นี้​ถูก​สร้าง​โดย​ใช้​เทคโนโลยี​แบบ​สมัย​เก่า. ตอน​แรก มี​การ​เขียน​แบบ​แปลน​ที่​มี​ราย​ละเอียด​ของ​อาคาร. ที่​เหมือง​หิน มี​การ​ใช้​แผ่น​แบบ​เพื่อ​ทำ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​จะ​ได้​ลวด​ลาย​ประดับ​ที่​เหมือน​กัน​และ​ได้​หิน​ขนาด​ที่​ถูก​ต้อง. มี​การ​ทำ​เครื่องหมาย​ไว้​ที่​หิน​อย่าง​ระมัดระวัง​เพื่อ​ระบุ​ตำแหน่ง​ที่​แน่นอน​ใน​อาคาร. การ​ขน​ย้าย​ดำเนิน​ไป​อย่าง​เชื่อง​ช้า​และ​เสีย​ค่า​ใช้​จ่าย​สูง​มาก แต่​แม้​ว่า​จะ​เป็น​เช่น​นี้ นัก​ประวัติศาสตร์​ชาว​ฝรั่งเศส​ชื่อ ชอง แกง​เปล กล่าว​ว่า ‘ระหว่าง​ปี 1050 ถึง​ปี 1350 ฝรั่งเศส​ขุด​หิน​ขึ้น​มา​ใช้​มาก​กว่า​อียิปต์​โบราณ.’

ณ สถาน​ที่​ก่อ​สร้าง คน​งาน​ได้​ทำ​สิ่ง​ที่​น่า​ทึ่ง​ให้​สำเร็จ​ด้วย โดย​ใช้​เครื่อง​ยก​ของ​แบบ​ง่าย ๆ ที่​ใช้​กัน​ใน​ยุค​นั้น—ลูก​รอก​กับ​กว้าน ซึ่ง​มัก​ได้​พลัง​จาก​คน​ที่​เหยียบ​บน​แกน​หมุน. สูตร​คณิตศาสตร์​ที่​วิศวกร​ใน​ปัจจุบัน​ใช้​กัน​ยัง​ไม่​เป็น​ที่​รู้​จัก​ใน​สมัย​นั้น. ผู้​สร้าง​ต้อง​อาศัย​สัญชาตญาณ​และ​ประสบการณ์. ไม่​น่า​แปลก​ใจ​ที่​หลาย​ครั้ง​มี​ความ​ผิด​พลาด​ร้ายแรง​เกิด​ขึ้น. ตัว​อย่าง​เช่น ใน​ปี 1284 หลังคา​โค้ง​ของ​มหา​วิหาร​โบเว ใน​ฝรั่งเศส ปรากฏ​ว่า​ใหญ่​เกิน​ไป และ​พัง​ลง​มา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ลักษณะ​ใหม่ ๆ เช่น ผนัง​ยัน, ครีบ​ยัน​ลอย, สัน​โครง​สร้าง​โค้ง, และ​หอ​ยอด​แหลม ช่วย​ให้​ผู้​สร้าง​สามารถ​สร้าง​อาคาร​ที่​สูง​ขึ้น​เรื่อย ๆ.

การ​ก่อ​สร้าง​กิน​เวลา​ตั้ง​แต่ 40 ปี ซึ่ง​เป็น​ระยะ​เวลา​ที่​เร็ว​ที่​สุด (ซาลิสบิวรี ใน​อังกฤษ) ไป​จน​ถึง​หลาย​ศตวรรษ. มหา​วิหาร​บาง​หลัง เช่น โบเว​และ​สตราสบูร์ก​ใน​ฝรั่งเศส สร้าง​ไม่​เสร็จ​จน​ถึง​ปัจจุบัน.

“การ​จัด​ลำดับ​ความ​สำคัญ​ที่​ผิด​พลาด”

‘อาคาร​ที่​สวย​งาม​และ​ด้วย​เหตุ​นั้น​จึง​มี​ค่า​ใช้​จ่าย​สูง’ ดัง​ที่​โปปออนเนอรีอุส​ที่ 3 เรียก​ไว้​นั้น ก่อ​ให้​เกิด​การ​โต้​เถียง​กัน​ตั้ง​แต่​เริ่ม​แรก. มี​คน​ใน​คริสตจักร​แสดง​ความ​คิด​เห็น​ต่อ​ต้าน​โครงการ​และ​เงิน​จำนวน​มหาศาล​ซึ่ง​เกี่ยว​ข้อง​ด้วย. ปีแอร์ เลอ ชานตร์ บาทหลวง​ชั้น​สูง​แห่ง​ศตวรรษ​ที่ 13 ของ​มหา​วิหาร​นอเตรอดาม เดอ ปารีส ประกาศ​ว่า “เป็น​เรื่อง​ผิด​บาป​ที่​จะ​สร้าง​โบสถ์​อย่าง​ที่​ทำ​กัน​ใน​ตอน​นี้.”

แม้​แต่​ใน​ปัจจุบัน มหา​วิหาร​เอฟวรี และ​อีก​หลาย​แห่ง ก่อ​ให้​เกิด​การ​วิพากษ์วิจารณ์​อย่าง​รุนแรง. ดัง​ที่​หนังสือ​พิมพ์​เลอ มงด์ ของ​ฝรั่งเศส​รายงาน หลาย​คน​รู้สึก​ว่า​มหา​วิหาร​สะท้อน​ถึง “การ​จัด​ลำดับ​ความ​สำคัญ​ที่​ผิด​พลาด” และ​คริสตจักร “ควร​ใช้​เงิน​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​ผู้​คน​และ​การ​เผยแพร่​ศาสนา​มาก​กว่า​ไป​ลง​ทุน​กับ​หิน​และ​สิ่ง​ประดับ.”

ไม่​มี​ข้อ​สงสัย​ว่า​หลาย​คน​ซึ่ง​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​การ​สร้าง​อาคาร​อัน​โอ่อ่า​เหล่า​นี้​มี​ความ​รัก​อย่าง​จริง​ใจ​ต่อ​พระเจ้า. คน​เหล่า​นั้น “มี​ใจ​ร้อน​รน​ใน​การ​ปฏิบัติ​พระเจ้า, แต่​หา​ได้​เป็น​ตาม​ปัญญา​ไม่.” (โรม 10:2) พระ​เยซู​คริสต์​ไม่​เคย​แนะ​นำ​ให้​ผู้​ติด​ตาม​พระองค์​สร้าง​สถาน​นมัสการ​อัน​หรูหรา. พระองค์​กระตุ้น​ผู้​นมัสการ​แท้​ให้ “นมัสการ​ด้วย​วิญญาณ​และ​ความ​จริง.” (โยฮัน 4:21-24, ล.ม.) แม้​ว่า​จะ​มี​ความ​งดงาม แต่​มหา​วิหาร​อัน​โอ่อ่า​ของ​คริสต์​ศาสนจักร​ขัด​กับ​หลักการ​นี้. มหา​วิหาร​เหล่า​นั้น​อาจ​เป็น​อนุสรณ์​สถาน​สำหรับ​มนุษย์​ที่​สร้าง แต่​ไม่​ได้​ถวาย​เกียรติ​แด่​พระเจ้า.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 18 ดู​บทความ “พวก​คาทาร์—เขา​เป็น​คริสเตียน​ผู้​พลี​ชีพ​เพื่อ​ความ​เชื่อ​ไหม?” ใน​หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 กันยายน 1995 หน้า 27-30 จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

[ภาพ​หน้า 13]

มหา​วิหาร​ซันเตียโก เด กอมโปสเตลา ประเทศ​สเปน

[ภาพ​หน้า 15]

บน​สุด: หน้าต่าง​กระจก​สี รูป​ดอก​กุหลาบ​ของ​นอเตรอดาม เมือง​ชาตร์ ประเทศ​ฝรั่งเศส บน: ราย​ละเอียด​ของ​ช่าง​ตัด​หิน นอเตรอดาม กรุง​ปารีส

[ภาพ​หน้า 15]

มหา​วิหาร​นอเตรอดาม กรุง​ปารีส แห่ง​ศตวรรษ​ที่ 12

[ภาพ​หน้า 15]

ภาย​ใน​มหา​วิหาร​นอเตรอดาม อาเมียง มหา​วิหาร​หลัง​นี้​เป็น​อาคาร​ทาง​ศาสนา​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ของ​ฝรั่งเศส มี​หลังคา​โค้ง​สูง 43 เมตร