ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

น้ำตกไนแอการา—ประสบการณ์อันน่าครั่นคร้าม

น้ำตกไนแอการา—ประสบการณ์อันน่าครั่นคร้าม

น้ำ​ตก​ไนแอการา—ประสบการณ์​อัน​น่า​ครั่นคร้าม

เมื่อ​เร็ว ๆ นี้​ผม​มี​โอกาส​เห็น​น้ำ​ตก​ไนแอการา​ใน​แบบ​ที่​ผม​ไม่​เคย​ได้​เห็น​มา​ก่อน—ใน​ระยะ​ที่​ใกล้​มาก ๆ. ผม​รับรอง​กับ​คุณ​ได้​ว่า​นั่น​เป็น​ประสบการณ์​ที่​น่า​ครั่นคร้าม​จริง ๆ. ผม​กับ​เพื่อน ๆ ไป​เที่ยว​น้ำ​ตก​ฮอร์สชู (เกือก​ม้า) ที่​แคนาดา ซึ่ง​ได้​ชื่อ​อย่าง​นั้น​เนื่อง​จาก​รูป​ร่าง​ของ​มัน. ผม​ไป​ที่​นั่น​หลาย​ครั้ง​แล้ว​นับ​ตั้ง​แต่​ที่​ไป​ครั้ง​แรก​ใน​ปี 1958 แต่​มี​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​ผม​ไม่​เคย​ทำ​มา​ก่อน คือ​นั่ง​เรือ​ขึ้น​ไป​ตาม​แม่น้ำ เข้า​ไป​ใกล้​กับ​ด้าน​หน้า​ของ​น้ำ​ตก. แต่​ผู้​คน​ทำ​อย่าง​นี้​ตั้ง​แต่​ที่​เรือ​นำ​เที่ยว​เมด ออฟ เดอะ มิสต์ เริ่ม​ดำเนิน​กิจการ​ใน​ปี 1848. คน​นับ​ล้าน​เคย​เดิน​ทาง​โดย​ใช้​เส้น​ทาง​ที่​น่า​ตื่นเต้น​นี้. ตอน​นี้​ถึง​คราว​ของ​ผม.

เรือ​ออก​จาก​ทั้ง​สอง​ฝั่ง​แม่น้ำ​เป็น​ระยะ ๆ ทั้ง​ฝั่ง​สหรัฐ​และ​ฝั่ง​แคนาดา. มี​คน​เข้า​คิว​ไม่​ขาด. เรา​เห็น​คน​ทุก​วัย​แม้​แต่​เด็ก​ตัว​เล็ก ๆ ใส่​เสื้อ​กัน​ฝน​พลาสติก​สี​ฟ้า​น้ำหนัก​เบา​ซึ่ง​จำเป็น​เพื่อ​ป้องกัน​ไม่​ให้​โดน​น้ำ​ที่​กระเซ็น​ขึ้น​มา. (สำหรับ​คน​ที่​ไป​ชม​น้ำ​ตก​อเมริกัน​ซึ่ง​อยู่​อีก​ฝั่ง​หนึ่ง​จะ​ใส่​เสื้อ​กัน​ฝน​สี​เหลือง.) เรือ​เมด ออฟ เดอะ มิสต์ 7 สามารถ​จุ​ผู้​โดยสาร​ได้ 582 คน. เรือ​ลำ​นี้​มี​น้ำหนัก 145 ตัน ยาว 24 เมตร และ​ช่วง​ที่​กว้าง​ที่​สุด​กว้าง 9 เมตร. ปัจจุบัน​มี​เรือ​ที่​ให้​บริการ​อยู่​สี่​ลำ​คือ เมด ออฟ เดอะ มิสต์ 4, 5, 6, และ 7.

ถึง​คราว​เปียก

เรา​เข้า​แถว​กับ​คน​กลุ่ม​ใหญ่ และ​ทันที​ที่​เรือ​เมด ออฟ เดอะ มิสต์ 7 ปล่อย​นัก​ท่อง​เที่ยว​ที่​เปียก​โชก​ขึ้น​ฝั่ง เรา​ก็​ทยอย​กัน​ลง​เรือ. ผม​รู้สึก​ได้​เลย​ว่า​การ​เดิน​ทาง​ที่​น่า​ตื่นเต้น​กำลัง​รอ​เรา​อยู่. ที่​เห็น​อยู่​ไกล​ออก​ไป​ไม่​ถึง​หนึ่ง​ไมล์​นั้น​คือ​น้ำ​ที่​ส่ง​เสียง​ดัง​สนั่น​เมื่อ​ตก​จาก​หน้าผา​พุ่ง​ลง​มา 52 เมตร​สู่​แอ่ง​น้ำ​ลึก 55 เมตร​เบื้อง​ล่าง. เรือ​ของ​เรา​มุ่ง​หน้า​ออก​สู่​แม่น้ำ​และ​แล่น​ไป​ยัง​น้ำ​ตก​อเมริกัน ที่​ซึ่ง​เรา​แล่น​ฝ่า​กระแส​น้ำ​วน​ที่​ฐาน​น้ำ​ตก​อเมริกัน ซึ่ง​มี​ความ​สูง​ทั้ง​หมด​ถึง 54 เมตร. * ตอน​ที่​น่า​ตื่นเต้น​ที่​สุด​อยู่​ข้าง​หน้า​เรา​นี้​เอง.

ความ​ตื่นเต้น​เพิ่ม​มาก​ขึ้น​ขณะ​ที่​เรา​เข้า​ไป​ใกล้​น้ำ​ที่​พุ่ง​ลง​มา​มาก​ขึ้น​ทุก​ที. ไม่​นาน​เรา​ก็​ถ่าย​รูป​ไม่​ได้​เพราะ​ลม​และ​น้ำ​ที่​กระเซ็น​ขึ้น​มา​อย่าง​แรง. คน​ขับ​เรือ​ดู​เหมือน​ใช้​เวลา​นาน​เหลือ​เกิน​ใน​การ​ค่อย ๆ นำ​เรือ​เข้า​ไป​ใกล้​จุด​ที่​น้ำ​พุ่ง​กระทบ​กัน ที่​ซึ่ง​ทุก ๆ นาที น้ำ​เกือบ​หนึ่ง​แสน​เจ็ด​หมื่น​ลูก​บาศก์​เมตร​พุ่ง​จาก​ผา​ตก​ลง​มา​กระแทก​น้ำ​เบื้อง​ล่าง​ข้าง​หน้า​หัว​เรือ​นี่​เอง! เสียง​นั้น​ดัง​กึกก้อง. คุณ​แทบ​จะ​ไม่​ได้​ยิน​เสียง​ตัว​เอง​ตะโกน. ผม​หัวใจ​เต้น​ระทึก. จริง ๆ แล้ว​ผม​ได้​ชิม​น้ำ​ของ​น้ำ​ตก​ไนแอการา​ด้วย เย็น​แต่​บริสุทธิ์​อย่าง​แน่นอน. นั่น​เป็น​ประสบการณ์​ครั้ง​หนึ่ง​ใน​ชีวิต​จริง ๆ!

หลัง​จาก​เวลา​ผ่าน​ไป​เหมือน​กับ​ชั่ว​กาล​นาน ใน​ที่​สุด​คน​ขับ​ก็​ค่อย ๆ ถอย​เรือ​เมด ออก​จาก​เส้น​อันตราย​และ​พา​เรา​ล่อง​แม่น้ำ​กลับ. ผม​ถอน​หายใจ​โล่ง​อก. เรา​รอด​มา​ได้. แต่​จริง ๆ แล้ว​ก็​ไม่​มี​อะไร​ต้อง​กังวล. บริษัท​เดิน​เรือ​เหล่า​นี้​ไม่​เคย​ประสบ​อุบัติเหตุ. อีมิล เบนดี ผู้​จัด​การ​ทั่ว​ไป​ของ​บริษัท​เรือ​กลไฟ รับรอง​กับ​เรา​ว่า​เรือ​แต่​ละ​ลำ​มี​เสื้อ​ชูชีพ​และ​แพ​มาก​เพียง​พอ​สำหรับ​ผู้​โดยสาร​จำนวน​มาก​ที่​สุด. ความ​ผิด​พลาด​แบบ​เรือ​ไททานิก จะ​ไม่​เกิด​ขึ้น​ที่​นี่!

น้ำ​ตก​กำลัง​ร่น​เข้า​ไป!

ใช่​แล้ว การ​เซาะกร่อน​ทำ​ความ​เสียหาย​แก่​น้ำ​ตก. มี​การ​กะ​ประมาณ​ว่า ใน​ช่วง 12,000 ปี​ที่​ผ่าน​มา น้ำ​ตก​ไนแอการา​ร่น​เข้า​ไป​ประมาณ​สิบ​เอ็ด​กิโลเมตร จน​ถึง​จุด​ที่​อยู่​ใน​ปัจจุบัน. สมัย​หนึ่ง อัตรา​การ​เซาะกร่อน​คือ​ประมาณ​หนึ่ง​เมตร​ต่อ​ปี. ใน​ปัจจุบัน​นี้​ลด​ลง​เหลือ​ประมาณ 36 เซนติเมตร​ต่อ​ทุก ๆ สิบ​ปี. อะไร​เป็น​สาเหตุ​ของ​การ​เซาะกร่อน​นี้?

น้ำ​ไหล​ผ่าน​หินปูน​ชั้น​บน​ที่​แข็ง​เรียก​ว่า​โดโลไมต์​ซึ่ง​อยู่​บน​ชั้น​หิน​ทราย​และ​หิน​ดิน​ดาน​ที่​อ่อน. หิน​ชั้น​ล่าง​นี้​ถูก​เซาะ​ไป แล้ว​หินปูน​ก็​พัง​และ​ร่วง​ลง​สู่​แอ่ง​น้ำ​เบื้อง​ล่าง.

น้ำ​ไม่​ได้​เสีย​เปล่า

น้ำ​ปริมาณ​มหาศาล​ที่​ไหล​มา​ใน​แม่น้ำ​ไนแอการา​ซึ่ง​มี​ระยะ​ทาง​สั้น ๆ (56 กิโลเมตร) มา​จาก​ทะเลสาบ​เกรตเลกส์​สี่​ใน​ห้า​แห่ง. แม่น้ำ​นี้​ไหล​ไป​ทาง​เหนือ​จาก​ทะเลสาบ​อีรี​สู่​ทะเลสาบ​ออนแทรีโอ. ระหว่าง​เส้น​ทาง​สั้น ๆ นี้ มี​การ​ใช้​ประโยชน์​จาก​น้ำ​เพื่อ​ผลิต​ไฟฟ้า​พลัง​น้ำ ซึ่ง​แคนาดา​กับ​สหรัฐ​ใช้​ร่วม​กัน. กล่าว​กัน​ว่า​นี่​เป็น​แหล่ง​ไฟฟ้า​พลัง​น้ำ​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​แห่ง​หนึ่ง​ของ​โลก. โรง​ไฟฟ้า​ของ​แคนาดา​และ​สหรัฐ​สามารถ​ผลิต​ไฟฟ้า​รวม​กัน​ได้ 4,200,000 กิโล​วัตต์. น้ำ​สำหรับ​เครื่อง​กังหัน​น้ำ​ได้​มา​จาก​แม่น้ำ​ไนแอการา​ช่วง​ก่อน​จะ​ถึง​น้ำ​ตก.

ฮันนีมูน​กับ​แสง​ยาม​ค่ำ​คืน

น้ำ​ตก​ไนแอการา​เป็น​สถาน​ที่​ที่​คู่​สมรส​ชอบ​ไป​ฮันนีมูน. เป็น​เช่น​นี้​จริง ๆ โดย​เฉพาะ​หลัง​จาก​ที่​มี​ภาพยนตร์​ปี 1953 เรื่อง​ไนแอการา. ใน​ตอน​กลางคืน น้ำ​ตก​สว่างไสว​ด้วย​แสง​จาก​สปอตไลต์​สี​ต่าง ๆ ซึ่ง​ให้​ความ​งดงาม​และ​ความ​ยิ่ง​ใหญ่​ใน​อีก​แบบ​หนึ่ง​แก่​สถาน​ที่​ซึ่ง​หา​ที่​เปรียบ​มิ​ได้​แห่ง​นี้​ของ​โลก. แน่นอน​ว่า​การ​ไป​เยือน​แคนาดา​และ​สหรัฐ​จะ​ไม่​สมบูรณ์​ถ้า​ไม่​ได้​ไป​เยือน​สิ่ง​มหัศจรรย์​แห่ง​นี้​ของ​โลก. และ​ถ้า​คุณ​ชอบ​ผจญ​ภัย​อยู่​บ้าง ก็​อย่า​ลืม​ไป​นั่ง​เรือ​เที่ยว​ล่ะ! คุณ​จะ​ไม่​มี​วัน​เสียใจ​หรือ​ลืม​เลือน​ประสบการณ์​นี้​เลย.—ผู้​อ่าน​ส่ง​มา.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 5 “ที่​น้ำ​ตก​อเมริกัน น้ำ​พุ่ง​ลง​ใน​แนว​ดิ่ง​ตั้ง​แต่ 21 ถึง 34 เมตร (70 ถึง 110 ฟุต) สู่​โขด​หิน​ที่​ฐาน​ของ​น้ำ​ตก.”—อุทยาน​ไนแอการา​แห่ง​ออนแทรีโอ (ภาษา​อังกฤษ).

[กรอบ/รูปภาพ​หน้า 26]

กระเช้า​ลอย​ฟ้า​ไนแอการา​สแปนิช แอโร คาร์

ห่าง​จาก​น้ำ​ตก​ไป 4.5 กิโลเมตร​มี​น้ำ​วน​ขนาด​ใหญ่ “ก่อ​ตัว​ขึ้น​ตรง​ปลาย​แก่ง ที่​ซึ่ง​โกรก​ธาร​ใหญ่​หัก​ออก​ไป​ทาง​ตะวัน​ออก​เฉียง​เหนือ. ที่​นี่​น้ำ​วน​ขนาด​ใหญ่​สี​เขียว​มรกต​วน​เข้า​และ​คลาย​ออก​เพื่อ​หา​ทาง​ออก​จาก​ร่อง​น้ำ​ที่​แคบ​ที่​สุด​ของ​โกรก​ธาร.”—อุทยาน​ไนแอการา​แห่ง​ออนแทรีโอ.

วิธี​ที่​ดี​ที่​สุด​ที่​จะ​เข้าใจ​ถึง​ขนาด​ทั้ง​หมด​ของ​น้ำ​วน​อัน​น่า​ทึ่ง​นี้​คือ​การ​นั่ง​กระเช้า​ลอย​ฟ้า​ไนแอการา สแปนิช แอโร คาร์ ซึ่ง​เป็น​รถ​กระเช้า​ที่​ทอด​ข้าม​น้ำ​วน​และ​ทำ​ให้​เห็น​ทิวทัศน์​ที่​น่า​ตื่น​ตา​ตื่น​ใจ​ของ​แม่น้ำ​ทั้ง​ขา​ขึ้น​และ​ขา​ล่อง. แต่​ทำไม​จึง​มี​ชื่อ​ว่า​กระเช้า​ลอย​ฟ้า “สแปนิช”? เนื่อง​จาก​มัน​ได้​รับ​การ​ออก​แบบ​และ​สร้าง​โดย​วิศวกร​ชาว​สเปน​ผู้​เฉลียวฉลาด​ชื่อ ลีโอนาร์โด ทอร์เรส เคเวโด (1852-1936) และ​เปิด​ดำเนิน​การ​มา​ตั้ง​แต่​ปี 1916. กระเช้า​ลอย​ฟ้า​ชนิด​นี้​มี​อยู่​ที่​นี่​เพียง​แห่ง​เดียว.

[แผนภูมิ/รูปภาพ​หน้า 25]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

การ​เซาะกร่อน​ทำ​ให้​แนว​น้ำ​ตก​ร่น​เข้า​ไป​ประมาณ 1,000 ฟุต​ตั้ง​แต่​ปี 1678

1678

1764

1819

1842

1886

1996

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Source: Niagara Parks Commission

[แผนที่​ภาพ​หน้า 27]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

แคนาดา

สหรัฐ​อเมริกา

แคนาดา

สหรัฐ​อเมริกา

ทะเลสาบ​อีรี

น้ำ​ตก​ไนแอการา

แม่น้ำ​ไนแอการา

ทะเลสาบ​ออนแทรีโอ

[ภาพ​หน้า 25]

น้ำ​ตก​อเมริกัน

น้ำ​ตก​ฮอร์สชู​ของ​แคนาดา

[ภาพ​หน้า 26]

ทิวทัศน์​ยาม​ฤดู​หนาว​ของ​น้ำ​ตก​สว่างไสว​ใน​ยาม​ค่ำ​คืน