สิ่งเสพย์ติด—ใครบ้างที่ใช้?
สิ่งเสพย์ติด—ใครบ้างที่ใช้?
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในแอฟริกาใต้
“ใคร ๆ ก็เสพยากันทั้งนั้นแหละ.” อาจมีคนใช้คำพูดกว้าง ๆ แบบนี้เพื่อชักชวนคนที่ด้อยประสบการณ์ให้ลองใช้ยาเสพย์ติด. แต่คำพูดนี้ก็อาจจริงอยู่บ้าง ขึ้นอยู่กับว่าอะไรที่เราถือเป็น “สิ่งเสพย์ติด.”
คำ “สิ่งเสพย์ติด” ได้รับการนิยามไว้ดังนี้: “สารเคมีใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่ามาจากธรรมชาติหรือจากการสังเคราะห์ ซึ่งอาจใช้เพื่อเปลี่ยนการรับรู้, อารมณ์, หรือสภาพทางจิต.” นี่คือคำอธิบายกว้าง ๆ ที่มีประโยชน์ว่าอะไรคือสิ่งซึ่งเรียกกันว่ายาที่มีฤทธิ์ทางจิต แม้ว่าจะไม่ครอบคลุมยาหลายชนิดซึ่งใช้เพื่อรักษาโรคทางกาย.
ตามคำนิยามนี้ แอลกอฮอล์ก็เป็นสิ่งเสพย์ติดชนิดหนึ่ง. อันตรายของแอลกอฮอล์อยู่ที่การดื่มมากเกินไป ซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด. การสำรวจในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในประเทศทางตะวันตกประเทศหนึ่งพบว่า “การดื่มจัดเป็นปัญหาด้านสิ่งเสพย์ติดที่ร้ายแรงที่สุดในหมู่นักศึกษา.” การสำรวจนั้นแสดงว่า นักศึกษา 44 เปอร์เซ็นต์เป็นนักดื่มจัด. *
ยาสูบก็เหมือนแอลกอฮอล์ คือหาซื้อได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แม้ว่ามันจะมีสารพิษชนิดร้ายแรง คือนิโคติน. องค์การอนามัยโลกกล่าวว่าการสูบบุหรี่ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณปีละสี่ล้านคน. กระนั้น พวกเจ้าพ่อยาสูบก็ยังเป็นคนร่ำรวยและมีหน้ามีตาในสังคม. การสูบบุหรี่ยังทำให้ติดอย่างรุนแรงด้วย บางทีอาจทำให้ติดได้มากกว่าการใช้ยาเสพย์ติดผิดกฎหมาย.
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลายประเทศได้จำกัดการโฆษณายาสูบและวางข้อจำกัดอื่น ๆ อีก. ถึงกระนั้น หลาย
คนก็ยังถือว่าการสูบบุหรี่เป็นกิจปฏิบัติทางสังคมซึ่งยอมรับได้. อุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็ยังคงทำให้การสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่ดูมีเสน่ห์. การสำรวจภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดระหว่างปี 1991 ถึง 1996 โดยมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียที่เมืองซานฟรานซิสโกพบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของพระเอกในภาพยนตร์เหล่านั้นแสดงบทบาทของคนสูบบุหรี่.จะว่าอย่างไรกับยา “ที่ไม่มีอันตราย”?
แน่นอนว่า ยารักษาโรคได้ช่วยหลายคน แต่ยาเหล่านี้ก็อาจถูกนำไปใช้อย่างผิด ๆ ได้ด้วย. บางครั้งแพทย์อาจสั่งจ่ายยาง่ายเกินไป หรืออาจถูกคนไข้บีบให้สั่งจ่ายยาที่ไม่จำเป็น. แพทย์คนหนึ่งให้ความเห็นว่า “แพทย์ไม่ได้ใช้เวลากับคนไข้เพื่อค้นหาสาเหตุของอาการทุกครั้งไป. เป็นเรื่องง่ายกว่าที่จะบอกว่า ‘กินยานี่.’ แต่ปัญหาซึ่งเป็นต้นตอยังไม่ได้รับการเอาใจใส่.”
แม้แต่ยาที่ไม่ต้องให้แพทย์สั่งจ่าย เช่น แอสไพรินและพาราเซตามอล (ไทลีนอล, พานาดอล) ก็อาจทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงด้านสุขภาพได้ถ้าใช้ผิดวิธี. ผู้คนทั่วโลกกว่า 2,000 คนเสียชีวิตทุกปีเนื่องจากใช้ยาพาราเซตามอลอย่างผิด ๆ.
ตามคำนิยามข้างต้น กาเฟอีนในชาและกาแฟก็เป็นสิ่งเสพย์ติดด้วย แม้พวกเราแทบจะไม่ถือว่าเป็นอย่างนั้นขณะที่เราดื่มเครื่องดื่มถ้วยโปรดพร้อมกับอาหารเช้า. และคงเป็นเรื่องเหลวไหลที่จะมองว่าเครื่องดื่มซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในสังคม เช่น ชาหรือกาแฟ เป็นสิ่งเสพย์ติดชนิดร้ายแรงเช่นเดียวกับเฮโรอีน. นั่นก็เหมือนการเปรียบลูกแมวในบ้านกับสิงโตที่ดุร้าย. กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพบางคนกล่าวว่า ถ้าคุณดื่มกาแฟมากกว่าวันละห้าถ้วยหรือชามากกว่าวันละเก้าถ้วยเป็นประจำ นั่นก็อาจเป็นอันตรายกับคุณได้. ยิ่งกว่านั้น ถ้าคุณดื่มในปริมาณมาก ๆ แล้วเลิกดื่มทันที คุณอาจมีอาการถอนยาคล้ายกับที่นักดื่มชาคนหนึ่งประสบคือ อาเจียน, ปวดศีรษะมาก, และแพ้แสง.
จะว่าอย่างไรกับการใช้ยาผิดกฎหมาย?
ประเด็นที่มีการโต้เถียงกันมากกว่าเรื่องที่กล่าวมาคือการใช้สารกระตุ้นในการแข่งขันกีฬา. เรื่องนี้ได้รับความสนใจเป็นพิเศษในการแข่งขันจักรยานตูร์ เดอ ฟรองซ์ ประจำปี 1998 เมื่อนักปั่นจักรยานเก้าคนจากทีมที่กำลังนำถูกปรับออกจากการแข่งขันเพราะใช้สารกระตุ้น. นักกีฬาได้คิดค้นวิธีต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ตรวจพบการใช้สารกระตุ้น. วารสารไทม์ รายงานว่า นักกีฬาบางคนถึงกับ “‘ปลูกถ่ายปัสสาวะ’ ซึ่งหมายถึงการฉีดปัสสาวะที่ ‘ปลอดสาร’ ของคนอื่นเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะของตนด้วยหลอดสวน ซึ่งมักเป็นขั้นตอนที่ทำให้เจ็บปวด.”
เรายังไม่ได้พูดถึงยาเสพย์ติดอีกมากมายหลายชนิดซึ่งใช้เพื่อทำให้ “ผ่อนคลาย.” ยาเหล่านี้รวมถึงกัญชา, ยาอี (เมทีลีนไดออกซี-เมทแอมเฟตามีน หรือเอ็มดีเอ็มเอ), แอลเอสดี (ลีเซอร์จิก แอซิด ดีเอทีลามีด), ยากระตุ้น (เช่น โคเคนและยาบ้า), ยากดประสาท (เช่น ยากล่อมประสาท) และเฮโรอีน. สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือสารที่ใช้สูดดมหลายชนิด เช่น กาวและน้ำมันเบนซิน ซึ่งพวกวัยรุ่นนิยมกัน. แน่นอน ของพวกนี้ไม่ใช่สารต้องห้ามและสามารถหาได้ง่าย.
ทัศนะซึ่งมีอยู่ทั่ว ๆ ไปที่ว่าคนติดยาเป็นคนที่ซูบผอมนั่งฉีดยาอยู่ในห้องสกปรกซอมซ่อนั้นอาจทำให้ไขว้เขว
ได้. คนติดยาหลายคนยังสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ค่อนข้างปกติ แม้ว่าการติดยาคงต้องส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเขาไม่มากก็น้อย. ถึงกระนั้น เราไม่อาจจะมองข้ามด้านมืดของวงการยาเสพย์ติด. นักเขียนคนหนึ่งพรรณนาว่าผู้ใช้โคเคนบางคน “สามารถ ‘ฉีดยา’ เป็นสิบ ๆ ครั้งในช่วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งทำให้ร่างกายของตนโชกไปด้วยเลือดและเต็มไปด้วยรอยเข็ม.”การใช้ยาผิดกฎหมายดูเหมือนว่าลดลงบ้างในช่วงปลายทศวรรษ 1980 แต่หลังจากนั้นกลับเพิ่มขึ้นทั่วโลกอีกครั้ง. วารสารนิวส์วีก ให้ข้อสังเกตว่า “พวกเจ้าหน้าที่ไม่อาจจะสู้กับการลักลอบขนยาเสพย์ติดที่ทวีขึ้นอย่างมาก, การใช้ยาเสพย์ติดเกือบทุกชนิดที่เพิ่มขึ้นและการขาดเงินทุนรวมทั้งการขาดข้อมูลซึ่งจำเป็นต่อการต่อสู้กับยาเสพย์ติด.” หนังสือพิมพ์เดอะ สตาร์ แห่งนครโจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ กล่าวว่า ตามสถิติของรัฐบาล “หนึ่งในสี่ของผู้อาศัยในแอฟริกาใต้ติดแอลกอฮอล์หรือไม่ก็ยาเสพย์ติด.”
สถาบันวิจัยแห่งสหประชาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมชี้ว่า “ผู้ผลิตและผู้ค้ายาเสพย์ติด . . . ได้รวมกลุ่มกันในระดับโลกและทุ่มกำไรก้อนโตจากการค้ายาเสพย์ติดไปในศูนย์กลางทางการเงินซึ่งช่วยปกปิดความลับและให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่น่าดึงดูดใจ. . . . ตอนนี้ผู้ค้ายาเสพย์ติดสามารถฟอกเงินกำไรที่ได้มาอย่างผิดกฎหมายโดยการโอนเงินไปรอบโลกทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งประเทศต่าง ๆ ไม่ค่อยได้ควบคุม.”
จริง ๆ แล้วชาวอเมริกันหลายคนอาจสัมผัสกับโคเคนทุกวัน แม้ว่าจะไม่รู้ตัว. บทความหนึ่งในวารสารดิสคัฟเวอร์ อธิบายว่า ธนบัตรอเมริกันส่วนใหญ่มีร่องรอยของโคเคน.
ข้อเท็จจริงคือในปัจจุบันนี้การใช้สิ่งเสพย์ติด รวมทั้งยาเสพย์ติดผิดกฎหมาย กลายเป็นสิ่งที่หลายคนยอมรับได้ โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน. เมื่อคำนึงถึงการเผยแพร่อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความเสียหายซึ่งเกิดจากการใช้ยาเสพย์ติดรวมทั้งยาสูบและแอลกอฮอล์ จึงเกิดคำถามที่ชัดเจนว่า ทำไมผู้คนยังใช้สิ่งเสพย์ติดเหล่านี้อยู่? ขณะที่เราพิจารณาคำถามนี้ นับว่าเหมาะที่เราจะพิจารณาทัศนะของเราเองเกี่ยวกับสิ่งเสพย์ติด.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 5 การดื่มจัดแบบบินจ์ได้รับการนิยามว่าเป็น ‘การดื่มติดต่อกันห้าแก้วขึ้นไปสำหรับผู้ชาย และสี่แก้วขึ้นไปสำหรับผู้หญิง.’
[ภาพหน้า 3]
การดื่มจัดเป็นปัญหาใหญ่ในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง
[ภาพหน้า 5]
หลายคนถือว่าบุหรี่และยาที่ทำให้ “ผ่อนคลาย” ไม่มีอันตรายใด ๆ