การเพ่งดูโลก
การเพ่งดูโลก
รอดอย่างน่าประหลาด
หนังสือพิมพ์เลอ มงด์ แห่งกรุงปารีสรายงานว่า แม้ป่าไม้ของฝรั่งเศสได้รับความเสียหายอย่างหนักจากพายุที่รุนแรงในเดือนธันวาคม 1999 การเฝ้าสังเกตเมื่อเร็ว ๆ นี้เผยให้เห็นว่าสัตว์ป่าขนาดใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบมากอย่างที่คาดกันไว้. มีการพบซากสัตว์เพียง 20 ตัว—กวาง 10 ตัว, กวางโรเดียร์ 5 ตัว, และหมูป่า 5 ตัว—ในพื้นที่ 625,000 ไร่ในป่าซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักทางตะวันออกของฝรั่งเศส. สัตว์เหล่านั้นทำตาม “สัญชาตญาณซึ่งยังเป็นสิ่งที่ลึกลับ” โดยหาทางหนี บางทีอาจหลบอยู่ใต้ต้นไม้ที่หักโค่นลงมาหรือรวมกลุ่มกันอยู่ในที่โล่ง. ชอง-ปอล วีดเม แห่งสำนักงานป่าไม้ของฝรั่งเศสกล่าวว่า “เราทราบเกี่ยวกับ [พฤติกรรม] ของกวางและหมูป่าน้อยกว่าพฤติกรรมของสิงโตและสัตว์ที่อยู่ไกล ๆ ชนิดอื่น.”
โรคชั้นประหยัด
หนังสือพิมพ์เดอะ เดลี โยมิอูริ รายงานว่า ในช่วงแปดปีที่ผ่านมา มีผู้โดยสาร 25 คนที่เดินทางมาถึงสนามบินนาริตะของญี่ปุ่น “ได้เสียชีวิตจากโรคที่เรียกกันว่าโรคชั้นประหยัด.” แม้จะมีชื่อว่า “โรคชั้นประหยัด” แต่ผู้โดยสารชั้นหนึ่งก็เป็นโรคนี้ได้เช่นกัน. การนั่งเป็นเวลาหลายชั่วโมงอาจทำให้เลือดที่ขาไหลเวียนไม่สะดวกและทำให้เลือดจับตัวเป็นลิ่ม. ถ้าลิ่มเลือดไหลเข้าปอด ก็อาจทำให้หายใจลำบากหรือถึงกับเสียชีวิต. โตชิโร มากิโน หัวหน้าคลินิกท่าอากาศยานสากลโตเกียวแห่งใหม่ของวิทยาลัยการแพทย์นิปปอนกล่าวว่า ทุกปี ผู้โดยสารประมาณ 100 ถึง 150 คนซึ่งเดินทางมาถึงสนามบินนาริตะมีอาการบางอย่างของโรคนี้. เขาแนะนำว่า “ผู้โดยสารที่ต้องเดินทางนานกว่าเจ็ดหรือแปดชั่วโมงควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติและใช้มาตรการป้องกันบางอย่าง เช่น การเหยียดและงอขา.”
โตเกียวร้อนขึ้น
หนังสือพิมพ์เดอะ เดลี โยมิอูริ รายงานว่า “จำนวนวันเฉลี่ยต่อปีที่อุณหภูมิในกรุงโตเกียวลดต่ำกว่าจุดเยือกแข็งนั้นลดลง 95 เปอร์เซ็นต์ระหว่างศตวรรษที่ 20.” ในช่วงทศวรรษ 1990 เฉลี่ยแล้วในหนึ่งปีมีเพียง 3.2 วันเท่านั้นที่อุณหภูมิในกรุงโตเกียวต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง เทียบกับ 61.7 วันในสิบปีแรกของศตวรรษ. นักอุตุนิยมวิทยาผู้มีประสบการณ์มากคนหนึ่งในกรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นให้ความเห็นว่า ภาวะที่โลกร้อนขึ้นทำให้อุณหภูมิไม่ลดต่ำลงเหมือนเมื่อก่อน และเขาแสดงความเป็นห่วงว่าอีกไม่นาน “ฤดูหนาวที่หนาวจริง ๆ” ในกรุงโตเกียวนั้นอาจกลายเป็นเรื่องในอดีต. ตามคำแถลงของกรมนั้น ถ้าก๊าซเรือนกระจกยังคงถูกปล่อยออกมาในระดับนี้ต่อไป คาดกันว่าอุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้น 1.0 ถึง 3.5 องศาเซลเซียสระหว่างศตวรรษที่ 21. ถ้าทั่วประเทศญี่ปุ่นมีอุณหภูมิสูงขึ้น 3.5 องศา กรุงโตเกียวก็จะร้อนพอ ๆ กับกรุงไนโรบีสมัยปัจจุบัน.
ซิฟิลิสกลับมา
โรคซิฟิลิสเกือบจะสาบสูญไปจากฝรั่งเศสหลายสิบปีแล้ว. อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์รายวันเลอ ฟิกาโร แห่งฝรั่งเศสรายงานว่า ปีที่แล้วแพทย์ได้สังเกตการระบาดครั้งใหม่ของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดนี้ ส่วนใหญ่ในหมู่ผู้รักร่วมเพศ. มีการพบการระบาดของซิฟิลิสคล้าย ๆ กันในบริเตนและไอร์แลนด์ด้วยในปี 2000. ซิฟิลิสเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียซึ่งทำให้เกิดแผลและผื่นขึ้นบนผิวหนังในระยะแรกและถ้าไม่ได้รับการรักษาก็จะทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบประสาทรวมทั้งหัวใจและหลอดเลือด. เลอ ฟิกาโร ให้ความเห็นว่า การระบาดครั้งใหม่ของซิฟิลิสนั้นน่าเป็นห่วง เพราะโรคนี้ “ไม่เป็นที่รู้จักเลยสำหรับแพทย์รุ่นใหม่ซึ่งไม่เคยวินิจฉัยโรคนี้สักครั้งเดียวระหว่างการฝึกอบรมทางการแพทย์.” แพทย์จึงอาจวินิจฉัยผิด ซึ่งทำให้การรักษาที่มีประสิทธิภาพล่าช้าไป. ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคคาดว่า กิจปฏิบัติทางเพศที่อันตรายเป็นสาเหตุที่ทำให้ซิฟิลิสกลับมาอีกครั้ง. ดังนั้น พวกเขากลัวว่าแนวโน้มนี้จะเป็นลางบอกถึง “การระบาดอย่างรุนแรงครั้งใหม่ของโรคเอดส์.”
ข้อควรระวังสำหรับนักเดินทางที่สูงอายุ
จดหมายข่าวเรื่องสุขภาพและโภชนาการแห่งมหาวิทยาลัยทัฟตส์ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า ผู้สูงอายุที่เดินทางไปประเทศด้อยพัฒนากำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้น และหลายคนป่วยเพราะรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนแบคทีเรีย. “โรคท้องร่วงของนักท่องเที่ยว” ซึ่งเกิดขึ้นอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงกว่านั้นสำหรับผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไป. นอกจากว่าคุณกำลังรับประทานอาหารในโรงแรมหรือภัตตาคารชั้นหนึ่งในเมืองใหญ่ที่ทันสมัย จดหมายข่าวเรื่องสุขภาพและโภชนาการ เตือนดังนี้:
□ อย่าดื่มน้ำจากก๊อกหรือแปรงฟันด้วยน้ำนั้น. ใช้แต่น้ำบรรจุขวด, น้ำต้ม, หรือน้ำที่ฆ่าเชื้อแล้ว. อย่าใส่น้ำแข็งในเครื่องดื่มนอกจากคุณแน่ใจว่าน้ำแข็งนั้นทำจากน้ำสะอาด.
□ อย่ารับประทานปลาหรือเนื้อสัตว์นอกจากจะสุกดีแล้ว.
□ อย่าดื่มผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ และอย่ารับประทานผักดิบ.
□ อย่ารับประทานผลไม้นอกจากคุณจะปอกเปลือกเองหลังจากล้างผลไม้นั้นในน้ำสะอาด. หลังจากปอกเปลือกแล้ว ควรล้างมือก่อนจะรับประทาน.
□ อย่ารับประทานอาหารที่ขายข้างถนน แม้ว่าจะทำร้อน ๆ.
“คนพลัดถิ่นภายในประเทศ” จำนวนมาก
หนังสือพิมพ์ดิ อินดิเพนเดนต์ แห่งกรุงลอนดอนรายงานว่า “ผู้คนเหล่านั้นมีจำนวนมากพอ ๆ กับคนติดเชื้อเอชไอวี และมีมากเป็นสองเท่าของผู้ลี้ภัย. กลุ่มที่ให้ความช่วยเหลือระหว่างชาติเรียกเขาเหล่านั้นว่า ‘คนพลัดถิ่นภายในประเทศ.’” แม้ว่าจำต้องหนีจากบ้านเนื่องจากภาวะสงคราม แต่พวกเขายังคงอยู่ในประเทศของตน. สหประชาชาติกะประมาณว่ามีคนพลัดถิ่นเช่นนี้ 25 ถึง 30 ล้านคนทั่วโลก. ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย แต่อยู่กับครอบครัวอื่นหรืออยู่ตามถนน. เดนนิส แมกนามารา ผู้ประสานงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับปัญหานี้กล่าวว่า แทนที่จะไปลี้ภัยในประเทศอื่น “หลายคนพยายามอยู่ใกล้บ้านมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะไร่นาของพวกเขาอยู่ที่นั่น.” บางครั้งหน่วยงานบรรเทาทุกข์ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงคนเหล่านี้ ซึ่ง 90 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิงและเด็ก. แมกนามารากล่าวเสริมว่า “ผู้ชายเป็นคนทำสงคราม. ผู้หญิงและเด็กเป็นผู้รับเคราะห์. ผู้หญิงพลัดถิ่นเสี่ยงอยู่เสมอต่อการถูกข่มขืนโดยทหารที่ข่มเหงพวกเขา.”
ลิ้นที่เป็นเบ้าดูด
กิ้งก่าคามีเลียนจับกิ้งก่าอื่น ๆ และแม้แต่นกซึ่งมีน้ำหนักถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของตัวมันได้อย่างไร? จนกระทั่งปัจจุบัน มีการเชื่อกันว่าเหยื่อติดอยู่กับผิวลิ้นซึ่งหยาบและเหนียวของกิ้งก่าคามีเลียน. แต่นั่นไม่ได้อธิบายว่าสัตว์ชนิดนี้จับเหยื่อที่มีน้ำหนักค่อนข้างมากโดยวิธีใด. วารสารข่าววิทยาศาสตร์ บิลด์ แดร์ วิสเซนชาฟท์-ออนไลน์ ของเยอรมนีรายงานว่า เพื่อจะได้คำตอบ นักวิทยาศาสตร์ในเมืองแอนต์เวิร์ป เบลเยี่ยม ได้ทำการบันทึกภาพวิดีโอความเร็วสูงตอนที่กิ้งก่าคามีเลียนแลบลิ้นออกมาเร็วปานสายฟ้าแลบ. นักวิทยาศาสตร์พบว่าเมื่อลิ้นมันแลบออกมา ปลายลิ้นของกิ้งก่าคามีเลียนจะม้วนเป็นรูปกลม ๆ. ก่อนจะถึงตัวเหยื่อ กล้ามเนื้อสองมัดที่ลิ้นจะหดตัว ทำให้ปลายลิ้นกลายเป็นเบ้าดูดที่ยึดเหยื่อไว้.
ทะเลทรายคืบคลานเข้ามา
หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน แห่งกรุงลอนดอนรายงานว่า “ทะเลทรายสะฮาราข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแล้ว เพราะความเสียหายร้ายแรงจากการเสื่อมสภาพของดินประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศได้ทำให้ภาคใต้ของยุโรปเปลี่ยนเป็นทะเลทราย.” ในการประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยการต่อสู้กับการเปลี่ยนเป็นทะเลทราย ซึ่งจัดขึ้นในเดือนธันวาคม 2000 ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งกล่าวว่าสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการทำธุรกิจการเกษตรระดับโลก ซึ่งทำให้เป็นเรื่องยากที่เกษตรกรรายย่อยหลายรายจะแข่งขันด้วย. ดังนั้น เกษตรกรจึงทิ้งที่ดินของตนซึ่งเคยรักษาไว้นับพัน ๆ ปีโดยการทำนาแบบขั้นบันไดและการชลประทานที่รอบคอบ และในที่สุดดินก็ถูกชะไป. ปัญหานี้อยู่ในขั้นวิกฤติในอิตาลีทางใต้, สเปน, และกรีซ. ส่วนบัลแกเรีย, ฮังการี, โรมาเนีย, มอลโดวา, รัสเซีย, และจีนก็กำลังประสบกับการเปลี่ยนเป็นทะเลทรายเพิ่มขึ้นด้วย. เคลาส์ เทิพเฟอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า “ดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติซึ่งสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมไม่น้อยไปกว่าน้ำสะอาดและอากาศสะอาด.”
พบต้นน้ำแอมะซอน
หนังสือพิมพ์เดอะ ไทมส์ แห่งกรุงลอนดอนรายงานว่า ทีมนักสำรวจ 22 คนได้ยืนยันตำแหน่ง “ต้นน้ำของแม่น้ำสายที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นการยุติการคาดคะเนและการค้นพบที่ขัดแย้งกันมาหลายทศวรรษ.” แม่น้ำแอมะซอนเริ่มต้นด้วยธารน้ำเล็ก ๆ ที่ไหลจากเขาเนวาโด มิสมี ซึ่งสูง 5,000 เมตร ในเทือกเขาแอนดีสทางใต้ของเปรู. จากที่นั่น แม่น้ำนี้ไหลวนเวียนผ่านหุบเขาที่มีหญ้าและมอสที่ซึ่งธารน้ำและแม่น้ำสายอื่น ๆ ไหลมารวมกันก่อนที่จะไหลต่อไปอีกเป็นระยะทาง 6,000 กิโลเมตรสู่มหาสมุทรแอตแลนติก. แอนดรูว์ พีโทสกี หัวหน้าทีม พรรณนาต้นน้ำนี้ว่า “มันเป็นสถานที่ที่สวยงาม. คุณกำลังยืนอยู่ในหุบเขาสีเขียว ณ ฐานสีเทาเข้มของหน้าผาอันน่าครั่นคร้ามซึ่งสูงประมาณ 40 เมตร. มันเงียบสงบมาก.”