พระเจ้าทรงเห็นชอบกับการค้าทาสไหม?
ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
พระเจ้าทรงเห็นชอบกับการค้าทาสไหม?
คนร่างดำซึ่งมีเหงื่อไหลโซมกายเดินลากขาขึ้นไปบนสะพานที่พาดกับเรือโดยแบกฝ้ายมัดใหญ่ซึ่งหนักมากจนหลังแทบหัก. ผู้คุมที่โหดเหี้ยมบังคับให้พวกเขาทำงานโดยใช้แส้หนังสัตว์. เด็ก ๆ ส่งเสียงกรีดร้องเมื่อถูกพรากจากอ้อมแขนของแม่ซึ่งกำลังร้องไห้คร่ำครวญและถูกขายให้กับผู้ประมูลที่ให้ราคาสูงสุด. ภาพที่โหดร้ายน่าสยดสยองเหล่านี้คงผุดขึ้นในใจคุณเมื่อนึกถึงทาส.
น่าแปลก มีการกล่าวกันว่านักค้าทาสและผู้ครอบครองทาสหลายคนเป็นคนเคร่งศาสนามาก. นักประวัติศาสตร์ เจมส์ วอลวิน เขียนว่า “มีคนเช่นนั้นหลายร้อยคน ทั้งชาวยุโรปและชาวอเมริกัน ซึ่งสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้าสำหรับการอวยพระพรของพระองค์ ขอบพระคุณสำหรับการค้าขายที่มีกำไรและปลอดภัยในแอฟริกาขณะที่พวกเขาหันหัวเรือบรรทุกทาสรับลมสินค้าและมุ่งหน้าไปสู่โลกใหม่.”
บางคนถึงกับยืนยันว่าพระเจ้าทรงเห็นชอบกับการค้าทาส. ตัวอย่างเช่น เมื่อบรรยาย ณ ที่ประชุมสามัญของคริสตจักรโปรเตสแตนต์แห่งเมโทดิสต์ในปี 1842 อะเล็กซานเดอร์ แมกเคน กล่าวว่า ระบบทาส “ได้รับการกำหนดขึ้นโดยพระเจ้าเอง.” แมกเคนพูดถูกไหม? พระเจ้าทรงเห็นชอบกับการลักพาและการข่มขืนเด็กผู้หญิง, การพรากครอบครัวจากกันอย่างไร้ความเมตตา, และการเฆี่ยนตีอย่างโหดร้ายซึ่งเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออกกับการค้าทาสในสมัยของแมกเคนไหม? แล้วจะว่าอย่างไรกับหลายล้านคนซึ่งถูกบังคับให้อยู่และทำงานเยี่ยงทาสในสภาพการณ์ที่โหดร้ายในปัจจุบัน? พระเจ้าทรงเห็นชอบกับการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมเช่นนั้นไหม?
ทาสกับชาวอิสราเอล
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “มนุษย์ใช้อำนาจเหนือมนุษย์อย่างที่ก่อผลเสียหายแก่เขา.” (ท่านผู้ประกาศ 8:9, ล.ม.) เรื่องนี้อาจเห็นได้ชัดเจนที่สุดจากระบบทาสในแบบที่กดขี่ซึ่งมนุษย์ได้ใช้. พระยะโฮวาพระเจ้าหาได้เมินเฉยต่อความทุกข์เดือดร้อนซึ่งเกิดจากระบบทาสไม่.
ตัวอย่างเช่น ขอพิจารณาสภาพการณ์ซึ่งเกิดขึ้นกับชาวอิสราเอล (ยิศราเอล). คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่าชาวอียิปต์ “ได้กระทำให้เขารู้สึกเบื่อหน่ายชีวิตของตนเพราะการหนักที่เขาทำ, เช่น ทำปูน ทำอิฐ และทำการต่าง ๆ ที่ทุ่งนาจนเหลือกำลัง.” ชาวอิสราเอล “ก็เศร้าสะท้อนใจมาก, เพราะเหตุที่เป็นทาส, เขาจึงร้องไห้คร่ำครวญจนเสียงนั้นได้ขึ้นไปถึงพระเจ้า.” พระยะโฮวาทรงเมินเฉยต่อความทุกข์ของพวกเขาไหม? ตรงข้ามเลยทีเดียว “พระเจ้าได้สดับฟังเสียงคร่ำครวญของเขา, เอ็กโซโด 1:14; 2:23, 24; 6:6-8.
จึงทรงระลึกถึงคำสัญญาที่พระองค์ได้ทรงกระทำไว้กับอับราฮาม, ยิศฮาค, และยาโคบ.” ยิ่งกว่านั้น พระยะโฮวาทรงบอกไพร่พลของพระองค์ว่า “เราจะนำหน้าเจ้าทั้งหลายให้ออกจากการเกณฑ์ของชนชาติอายฆุบโต. และจะให้พ้นจากการเป็นทาสของเขา.”—เห็นได้ชัดว่า พระยะโฮวาไม่ทรงเห็นชอบกับการที่ “มนุษย์ใช้อำนาจเหนือมนุษย์” โดยระบบทาสที่กดขี่. แต่ภายหลังพระเจ้าทรงยอมให้มีทาสท่ามกลางไพร่พลของพระองค์มิใช่หรือ? ถูกแล้ว พระองค์ทรงยอม. อย่างไรก็ตาม ระบบทาสที่มีอยู่ในอิสราเอลต่างกันมากจากระบบทาสในแบบที่กดขี่ซึ่งมีอยู่ตลอดประวัติศาสตร์.
พระบัญญัติของพระเจ้าระบุว่า การลักพาตัวและการค้ามนุษย์มีโทษถึงตาย. ยิ่งกว่านั้น พระเจ้าให้หลักการต่าง ๆ เพื่อปกป้องทาส. ตัวอย่างเช่น ทาสที่ถูกนายทำร้ายจนพิการจะถูกปล่อยเป็นอิสระ. ถ้าทาสตายเนื่องจากนายเฆี่ยนตีเขา นายอาจถูกลงโทษถึงตายได้. เชลยผู้หญิงอาจถูกนำไปเป็นทาส หรือไม่ก็ถูกรับเป็นภรรยา. แต่จะใช้ผู้หญิงเหล่านั้นเพียงเพื่อสนองความต้องการทางเพศไม่ได้. สาระสำคัญของพระบัญญัติคงต้องทำให้ชาวอิสราเอลที่มีหัวใจสุจริตปฏิบัติต่อทาสด้วยความนับถือและความกรุณา เหมือนกับคนงานที่เป็นลูกจ้าง.—เอ็กโซโด 20:10; 21:12, 16, 26, 27; เลวีติโก 22:10, 11; พระบัญญัติ 21:10-14.
ชาวยิวบางคนสมัครใจเป็นทาสเพื่อนชาวยิวด้วยกันเพื่อใช้หนี้. การทำอย่างนี้ป้องกันผู้คนไม่ให้อดตายและทำให้หลายคนฟื้นตัวจากความยากจนได้จริง ๆ. ยิ่งกว่านั้น ณ โอกาสสำคัญ ๆ ในปฏิทินของชาวยิว จะมีการปล่อยตัวทาสถ้าพวกเขาต้องการเช่นนั้น. * (เอ็กโซโด 21:2; เลวีติโก 25:10; พระบัญญัติ 15:12) เมื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายเรื่องทาส ผู้คงแก่เรียนชาวยิวชื่อ โมเสส มีลซีเนอร์ กล่าวว่า “ทาสไม่มีทางพ้นจากสภาพความเป็นคน เขาถูกมองฐานะเป็นบุคคล ที่มีสิทธิมนุษยชน ซึ่งแม้แต่นายก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะขัดขวาง.” นั่นช่างต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับระบบทาสที่กดขี่ซึ่งปรากฏเป็นรอยด่างพร้อยในประวัติศาสตร์!
ทาสและคริสเตียน
การค้าทาสเป็นส่วนหนึ่งในระบบเศรษฐกิจของจักรวรรดิโรมัน ซึ่งคริสเตียนในศตวรรษแรกก็อยู่ในระบบเศรษฐกิจนั้น. ดังนั้น คริสเตียนบางคนจึงเป็นทาส และบางคนก็มีทาส. (1 โกรินโธ 7:21, 22) แต่นี่หมายความว่าเหล่าสาวกของพระเยซูเป็นผู้ครอบครองทาสที่กดขี่อย่างนั้นไหม? ไม่ได้เป็นเช่นนั้นแน่! ไม่ว่ากฎหมายโรมันจะอนุญาตให้ทำอะไรก็ตาม เรามั่นใจได้ว่าคริสเตียนไม่ได้กดขี่คนที่อยู่ใต้อำนาจของตน. อัครสาวกเปาโลถึงกับสนับสนุนให้ฟิเลโมนปฏิบัติต่อโอเนซิโม ทาสของเขาซึ่งกลายมาเป็นคริสเตียน เหมือนเป็น “พี่น้อง.” *—ฟิเลโมน 10-17.
คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้ให้ข้อบ่งชี้เลยว่าการที่มนุษย์ใช้มนุษย์คนอื่นเป็นทาสเป็นส่วนหนึ่งในพระประสงค์ดั้งเดิมของพระเจ้าสำหรับมนุษยชาติ. ยิ่งกว่านั้น ไม่มีคำพยากรณ์ข้อใดในคัมภีร์ไบเบิลพาดพิงถึงการที่มนุษย์จะเป็นเจ้าของเพื่อนมนุษย์โดยทางระบบทาสในโลกใหม่ของพระเจ้า. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ในอุทยานที่กำลังจะมีมา ผู้ชอบธรรม “ต่างคนก็จะนั่งอยู่ใต้ซุ้มเถาองุ่นและใต้ต้นมะเดื่อเทศของตน; และจะไม่มีอะไรมาทำให้เขาสะดุ้งกลัว.”—มีคา 4:4.
เห็นได้ชัดว่า คัมภีร์ไบเบิลไม่เห็นชอบกับการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อผู้อื่นไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม. ตรงกันข้าม คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนให้มีความนับถือและมีความเสมอภาคกันท่ามกลางมนุษย์. (กิจการ 10:34, 35) คัมภีร์ไบเบิลยังกระตุ้นเตือนให้มนุษย์ปฏิบัติกับคนอื่นในวิธีที่พวกเขาอยากให้คนอื่นปฏิบัติกับตน. (ลูกา 6:31) ยิ่งกว่านั้น คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนให้คริสเตียนถือว่าคนอื่นเหนือกว่าตนด้วยความถ่อม ไม่ว่าพวกเขาจะมีฐานะทางสังคมเช่นไร. (ฟิลิปปอย 2:3) หลักการเหล่านี้ขัดกันอย่างสิ้นเชิงกับระบบทาสในแบบที่กดขี่ซึ่งหลายชาติใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ผ่านไป.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 11 ข้อเท็จจริงที่ว่ามีการจัดเตรียมเพื่อยอมให้ทาสบางคนอยู่กับนายของตนต่อไปแสดงอย่างชัดเจนว่าระบบทาสของชาวอิสราเอลไม่ใช่เป็นแบบกดขี่.
^ วรรค 13 คล้ายกัน คริสเตียนบางคนในปัจจุบันเป็นนายจ้าง; ส่วนบางคนเป็นลูกจ้าง. เช่นเดียวกับคริสเตียนที่เป็นนายจ้างจะไม่กดขี่คนที่ทำงานกับเขา สาวกของพระเยซูในศตวรรษแรกก็คงได้ปฏิบัติกับคนรับใช้ตามหลักการคริสเตียน.—มัดธาย 7:12.