ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

สังเกตอาการให้ออก

สังเกตอาการให้ออก

สังเกต​อาการ​ให้​ออก

“ความ​โศก​เศร้า​เป็น​อารมณ์​ปกติ​ธรรมดา; โรค​ซึมเศร้า​เป็น​โรค​ชนิด​หนึ่ง. สิ่ง​ที่​ยาก​คือ​การ​เข้าใจ​และ​การ​แยกแยะ​ความ​แตกต่าง​ระหว่าง​สอง​อย่าง​นี้.”—นาย​แพทย์​เดวิด จี. ฟาสส์เลอร์.

เช่น​เดียว​กับ​โรค​อื่น ๆ ส่วน​ใหญ่ โรค​ซึมเศร้า​ก็​มี​อาการ​ที่​ชัดเจน. แต่​อาการ​แสดง​ไม่​ได้​มอง​ออก​ได้​ง่าย ๆ เสมอ​ไป. เพราะ​เหตุ​ใด? เพราะ​เด็ก​วัยรุ่น​เกือบ​ทุก​คน​มี​อารมณ์​เศร้า​เป็น​ครั้ง​คราว เช่น​เดียว​กับ​ผู้​ใหญ่. อารมณ์​เศร้า​ธรรมดา​กับ​โรค​ซึมเศร้า​มี​ความ​แตกต่าง​กัน​อย่าง​ไร? ส่วน​มาก​มัก​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​รุนแรง​และ​ระยะ​เวลา​ที่​มี​อาการ.

ความ​รุนแรง เกี่ยว​ข้อง​กับ​ระดับ​ของ​ความ​รู้สึก​ใน​แง่​ลบ​ซึ่ง​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​หนุ่ม​สาว. โรค​ซึมเศร้า​รุนแรง​กว่า​ช่วง​แห่ง​ความ​เศร้า​หมอง​สั้น ๆ โรค​นี้​เป็น​ความ​เจ็บ​ป่วย​ทาง​อารมณ์​ที่​รุนแรง​ซึ่ง​ส่ง​ผล​กระทบ​อย่าง​มาก​ต่อ​ความ​สามารถ​ของ​เด็ก​วัยรุ่น​ใน​การ​ดำเนิน​ชีวิต​อย่าง​ปกติ. นาย​แพทย์​แอนดรูว์ สเลบี พรรณนา​ความ​ร้ายแรง​ของ​โรค​ด้วย​วิธี​นี้: “ลอง​นึก​ถึง​ความ​เจ็บ​ปวด​ทาง​ร่าง​กาย​ที่​รุนแรง​ที่​สุด​เท่า​ที่​คุณ​เคย​ประสบ​มา—กระดูก​หัก, ปวด​ฟัน, หรือ​ความ​เจ็บ​ปวด​เมื่อ​คลอด​บุตร—เพิ่ม​ความ​เจ็บ​ปวด​ขึ้น​อีก​สิบ​เท่า แล้ว​นึก​ภาพ​ว่า​คุณ​ไม่​ทราบ​ว่า​อะไร​เป็น​สาเหตุ; แล้ว​คุณ​ก็​อาจ​จะ​ประเมิน​ความ​เจ็บ​ปวด​ของ​โรค​ซึมเศร้า​ได้.”

ระยะ​เวลา หมาย​ถึง​ช่วง​เวลา​ของ​ความ​เซื่อง​ซึม. ลีออน ซีทริน และ โดนัลด์ เอช. แมกนิว จูเนียร์ ศาสตราจารย์​ด้าน​การ​รักษา กล่าว​ว่า “เด็ก​ที่​ไม่​แสดง​สัญญาณ​ว่า​ฟื้น​ตัว​หรือ​กลับ​มา​มี​ชีวิต​ตาม​ปกติ​ภาย​ใน​หนึ่ง​สัปดาห์​หลัง​จาก​มี​อารมณ์​เศร้า​หมอง (ไม่​ว่า​ด้วย​สาเหตุ​ใด​ก็​ตาม)—หรือ​ภาย​ใน​หก​เดือน​หลัง​จาก​ประสบ​สิ่ง​ที่​เป็น​ความ​สูญ​เสีย​ครั้ง​ใหญ่​สำหรับ​เขา—มี​ความ​เสี่ยง​ต่อ​การ​เป็น​โรค​ซึมเศร้า.”

อาการ​ที่​พบ​เห็น​ทั่ว​ไป

หนุ่ม​สาว​คน​หนึ่ง​จะ​ได้​รับ​การ​วินิจฉัย​ว่า​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​ก็​ต่อ​เมื่อ​เขา​แสดง​อาการ​บาง​อย่าง​ทุก​วัน เกือบ​ทั้ง​วัน เป็น​เวลา​อย่าง​น้อย​สอง​สัปดาห์. ช่วง​ซึมเศร้า​ที่​ค่อนข้าง​สั้น​ถูก​เรียก​ว่า​ช่วง​เศร้า​หมอง. จะ​มี​การ​วินิจฉัย​ว่า​เป็น​ภาวะ​อารมณ์​ซึมเศร้า (ดิสไทเมีย) ซึ่ง​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​อย่าง​อ่อน​จน​ถึง​ปานกลาง​ที่​เรื้อรัง​มาก​กว่า เมื่อ​มี​อาการ​ติด​ต่อ​กัน​อย่าง​น้อย​หนึ่ง​ปี​โดย​มี​ช่วง​ที่​ดี​ขึ้น​ไม่​ถึง​สอง​เดือน. ไม่​ว่า​เป็น​กรณี​ใด อาการ​ของ​โรค​ซึมเศร้า​ที่​พบ​เห็น​ทั่ว​ไป​มี​อะไร​บ้าง? *

อารมณ์​และ​พฤติกรรม​เปลี่ยน​แปลง​อย่าง​กะทันหัน. เด็ก​วัยรุ่น​ที่​เมื่อ​ก่อน​เป็น​คน​หัว​อ่อน​จู่ ๆ ก็​กลาย​เป็น​คน​ก้าวร้าว. พฤติกรรม​ขืน​อำนาจ​และ​แม้​แต่​การ​หนี​ออก​จาก​บ้าน​เป็น​เรื่อง​ที่​แพร่​หลาย​ใน​หมู่​เด็ก​วัยรุ่น​ที่​ซึมเศร้า.

การ​ปลีก​ตัว​จาก​สังคม. เด็ก​วัยรุ่น​ที่​ซึมเศร้า​ปลีก​ตัว​ออก​จาก​เพื่อน​ฝูง. หรือ​อาจ​เป็น​ได้​ที่​เพื่อน ๆ เลิก​คบหา​เด็ก​วัยรุ่น​ที่​ซึมเศร้า เพราะ​สังเกต​เห็น​การ​เปลี่ยน​แปลง​ใน​ทาง​ที่​ไม่​ดี​ใน​เจตคติ​และ​พฤติกรรม​ของ​เขา.

หมด​ความ​สนใจ​ใน​กิจกรรม​แทบ​ทุก​อย่าง. เด็ก​วัยรุ่น​เซื่อง​ซึม​ผิด​ปกติ. งาน​อดิเรก​ที่​เป็น​เรื่อง​น่า​สนใจ​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้ บัด​นี้​กลับ​ถูก​มอง​ว่า​น่า​เบื่อ.

นิสัย​การ​กิน​เปลี่ยน​แปลง​อย่าง​มาก. ผู้​เชี่ยวชาญ​หลาย​คน​รู้สึก​ว่า​ความ​ผิด​ปกติ เช่น อะโนเรกเซีย, บูลิเมีย, และ​การ​กิน​อย่าง​ควบคุม​ไม่​ได้​มัก​เกิด​ขึ้น​พร้อม ๆ กับ (และ​บาง​ครั้ง​อาจ​เกิด​จาก) โรค​ซึมเศร้า.

ปัญหา​ใน​การ​นอน​หลับ. เด็ก​วัยรุ่น​นอน​หลับ​น้อย​เกิน​ไป​หรือ​ไม่​ก็​มาก​เกิน​ไป. บาง​คน​มี​นิสัย​การ​นอน​ผิด​ปกติ โดย​ตื่น​ตลอด​คืน​และ​หลับ​ตลอด​วัน.

การ​เรียน​ตก​ต่ำ. เด็ก​วัยรุ่น​ที่​ซึมเศร้า​มี​ปัญหา​เข้า​กับ​ครู​และ​เพื่อน​นัก​เรียน​ไม่​ได้ และ​ผล​การ​เรียน​ก็​เริ่ม​ตก​ต่ำ. ใน​ไม่​ช้า​เขา​ก็​เริ่ม​ไม่​อยาก​ไป​โรง​เรียน​เลย.

การ​กระทำ​ที่​เสี่ยง​หรือ​ทำ​ร้าย​ตัว​เอง. พฤติกรรม ‘ท้า​มฤตยู’ อาจ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เด็ก​วัยรุ่น​ไม่​ค่อย​อยาก​จะ​มี​ชีวิต​อยู่. การ​ทำ​ร้าย​ตัว​เอง (เช่น การ​เชือด​ตาม​เนื้อ​ตัว) อาจ​เป็น​อาการ​อย่าง​หนึ่ง​ด้วย.

รู้สึก​ไร้​ค่า​หรือ​รู้สึก​มี​ความ​ผิด​ทั้ง ๆ ที่​ไม่​ได้​ทำ​ผิด. เด็ก​วัยรุ่น​ชอบ​วิพากษ์วิจารณ์​ตัว​เอง รู้สึก​ว่า​ตน​เอง​ล้มเหลว​โดย​สิ้นเชิง แม้​ว่า​ข้อ​เท็จ​จริง​อาจ​เป็น​อีก​อย่าง​หนึ่ง.

ปัญหา​ความ​เจ็บ​ป่วย​ทาง​ร่าง​กาย​อัน​เนื่อง​มา​จาก​จิตใจ. เมื่อ​ไม่​พบ​สาเหตุ​ทาง​ร่าง​กาย การ​ปวด​หัว, ปวด​หลัง, ปวด​ท้อง, และ​ปัญหา​อื่น ๆ ทำนอง​นี้​อาจ​บ่ง​ชี้​ถึง​โรค​ซึมเศร้า​ที่​เป็น​สาเหตุ.

การ​คิด​อยู่​เรื่อย ๆ เกี่ยว​กับ​ความ​ตาย​หรือ​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย. การ​ครุ่น​คิด​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​น่า​กลัว​อาจ​ชี้​ถึง​โรค​ซึมเศร้า. เช่น​เดียว​กับ​การ​ขู่​จะ​ฆ่า​ตัว​ตาย.—ดู​กรอบ​ข้าง​ล่าง.

โรค​ไบโพลาร์

อาการ​เหล่า​นี้​บาง​อย่าง​อาจ​ชี้​ถึง​โรค​อีก​ชนิด​หนึ่ง​ที่​น่า​ฉงน นั่น​คือ​โรค​ไบโพลาร์. ดร. บาร์บารา ดี. อิงเกอร์ซอลล์ และ แซม โกลด์สไตน์ อธิบาย​ว่า โรค​ไบโพลาร์ (เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ด้วย​ว่า โรค​แมน​นิก-ดี​เพรส​ซิฟ) คือ “อาการ​ซึมเศร้า​ช่วง​หนึ่ง​สลับ​กับ​ช่วง​ที่​มี​อารมณ์​ร่าเริง​กระฉับกระเฉง​สุด​ขีด—ที่​จริง เกิน​ระดับ​อารมณ์​ดี​ตาม​ปกติ​มาก​นัก.”

ช่วง​ที่​ร่าเริง​นี้​ถูก​เรียก​ว่า​อาการ​ฟุ้ง​พล่าน. อาการ​ของ​ช่วง​นี้​อาจ​รวม​ไป​ถึง​การ​คิด​ฟุ้งซ่าน, พูด​ไม่​หยุด, และ​ต้องการ​การ​นอน​หลับ​น้อย​ลง. ที่​จริง ผู้​ป่วย​อาจ​อด​หลับ​อด​นอน​ได้​หลาย​วัน​โดย​ไม่​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เหน็ด​เหนื่อย. อาการ​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ของ​โรค​ไบโพลาร์​คือ​พฤติกรรม​ที่​ชอบ​ทำ​อะไร​หุนหัน​โดย​ไม่​คำนึง​ถึง​ผล​กระทบ. รายงาน​จาก​สถาบัน​สุขภาพ​จิต​ของ​สหรัฐ​กล่าว​ว่า “ช่วง​ฟุ้ง​พล่าน​มัก​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​ความ​คิด, การ​ตัดสิน​ใจ, และ​พฤติกรรม​ทาง​สังคม​ใน​แบบ​ที่​ก่อ​ให้​เกิด​ปัญหา​ร้ายแรง​และ​ความ​อับอาย.” ช่วง​ฟุ้ง​พล่าน​นาน​เท่า​ใด? บาง​ครั้ง​ก็​แค่​ไม่​กี่​วัน; แต่​ใน​บาง​กรณี ช่วง​ฟุ้ง​พล่าน​ก็​นาน​ติด​ต่อ​กัน​หลาย​เดือน​ก่อน​ที่​จะ​เกิด​อาการ​ซึมเศร้า​ตาม​มา.

คน​ที่​มี​ความ​เสี่ยง​สูง​ต่อ​การ​เป็น​โรค​ไบโพลาร์​นั้น​รวม​ไป​ถึง​คน​ที่​มี​สมาชิก​ใน​ครอบครัว​เป็น​โรค​นี้. ข่าว​ดี​คือ​มี​ความ​หวัง​สำหรับ​ผู้​ป่วย. หนังสือ​เด็ก​ไบโพลาร์ (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “ถ้า​ได้​รับ​การ​วินิจฉัย​แต่​เนิ่น ๆ และ​ได้​รับ​การ​รักษา​อย่าง​เหมาะ​สม เด็ก​เหล่า​นั้น​และ​ครอบครัว​ของ​เขา​อาจ​มี​ชีวิต​ที่​มั่นคง​มาก​ขึ้น​ที​เดียว.”

เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ที่​จะ​จำ​ไว้​ว่า​การ​มี​อาการ​เพียง​อย่าง​หนึ่ง​อย่าง​ใด​ไม่​ได้​แสดง​ว่า​เด็ก​วัยรุ่น​คน​นั้น​เป็น​โรค​ซึมเศร้า​หรือ​โรค​ไบโพลาร์. ส่วน​ใหญ่​แล้ว กลุ่ม​อาการ​ที่​แสดง​ออก​มา​ใน​ระยะ​เวลา​หนึ่ง​จะ​นำ​ไป​สู่​การ​วินิจฉัย​ว่า​เป็น​โรค​นี้. ถึง​กระนั้น ยัง​คง​มี​คำ​ถาม​อยู่​ที่​ว่า ทำไม​ความ​ผิด​ปกติ​ที่​น่า​ฉงน​นี้​จึง​เกิด​ขึ้น​กับ​เด็ก​วัยรุ่น?

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 7 อาการ​ที่​ได้​กล่าว​ใน​ที่​นี้ ก็​เพื่อ​ให้​พิจารณา​คร่าว ๆ ไม่​ใช่​บรรทัดฐาน​ใน​การ​วินิจฉัย​โรค.

[กรอบ​หน้า 6]

เมื่อ​เด็ก​อยาก​ตาย

ศูนย์​ควบคุม​โรค​ของ​สหรัฐ​รายงาน​ว่า ใน​ปี​หนึ่ง​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​หนุ่ม​สาว​ใน​สหรัฐ​เสีย​ชีวิต​จาก​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย​มาก​กว่า​การ​เสีย​ชีวิต​ด้วย​โรค​มะเร็ง, โรค​หัวใจ, เอดส์, ความ​ผิด​ปกติ​ซึ่ง​มี​มา​แต่​กำเนิด, โรค​เส้น​เลือด​สมอง, ปอด​อักเสบ, ไข้หวัด​ใหญ่, และ​โรค​ปอด​เรื้อรัง​รวม​กัน. ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​น่า​เป็น​ห่วง​อีก​อย่าง​หนึ่ง​คือ รายงาน​ที่​ว่า​มี​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​น่า​เป็น​ห่วง​ท่ามกลาง​เด็ก​อายุ 10 ถึง 14 ปี.

จะ​ป้องกัน​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย​ใน​หมู่​วัยรุ่น​ได้​ไหม? ใน​บาง​กรณี ทำ​ได้. ดร. แคทลีน แมกคอย เขียน​ว่า “สถิติ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​จริง ๆ แล้ว​ก่อน​จะ​ฆ่า​ตัว​ตาย หลาย​ราย​ได้​พยายาม​ฆ่า​ตัว​ตาย​หรือ​พูด​เป็น​นัย ๆ และ​บอก​ล่วง​หน้า. เมื่อ​บุตร​วัยรุ่น​ของ​คุณ​บอก​เป็น​นัย​เกี่ยว​กับ​ความ​คิด​ที่​จะ​ฆ่า​ตัว​ตาย นั่น​เป็น​เวลา​ที่​ต้อง​เอา​ใจ​ใส่​อย่าง​ใกล้​ชิด​และ​อาจ​ต้อง​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​แพทย์.”

การ​แพร่​ระบาด​ของ​โรค​ซึมเศร้า​ใน​เด็ก​วัยรุ่น​เน้น​ความ​จำเป็น​ที่​บิดา​มารดา​และ​ผู้​ใหญ่​คน​อื่น ๆ ต้อง​เอา​ใจ​ใส่​อย่าง​จริงจัง​ต่อ​ข้อ​บ่ง​ชี้​ใด ๆ ก็​ตาม​ที่​เด็ก​วัยรุ่น​แสดง​ออก​มา​ว่า​เขา​ต้องการ​ฆ่า​ตัว​ตาย. ดร. แอนดรูว์ สเลบี เขียน​ใน​หนังสือ​ของ​เขา​ชื่อ​ไม่​มี​ใคร​รู้​ถึง​ความ​เจ็บ​ปวด​ของ​ฉัน (ภาษา​อังกฤษ) ดัง​นี้: “ใน​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย​เกือบ​ทุก​กรณี​ที่​ผม​เคย​ตรวจ​สอบ เครื่อง​บ่ง​ชี้​ที่​บอก​ถึง​แผน​ของ​เด็ก​วัยรุ่น​มัก​ถูก​มอง​ข้าม​หรือ​ถือ​ว่า​ไม่​สำคัญ. สมาชิก​ครอบครัว​และ​เพื่อน​ฝูง​ไม่​เข้าใจ​ความ​ร้ายแรง​ของ​การ​เปลี่ยน​แปลง​ที่​เด็ก​วัยรุ่น​กำลัง​เผชิญ. พวก​เขา​เพ่งเล็ง​ที่​ผล ไม่​ใช่​ปัญหา​ที่​เป็น​สาเหตุ ดัง​นั้น​จึง​มี​การ​วินิจฉัย​ว่า​นั่น​เป็น​เพราะ ‘ปัญหา​ครอบครัว’ หรือ ‘การ​ใช้​ยา’ หรือ ‘อะโนเรกเซีย.’ บาง​ครั้ง​ความ​ข้องขัดใจ, ความ​สับสน, และ​การ​ฉุนเฉียว​ง่าย​ได้​รับ​การ​บำบัด แต่​ไม่​ใช่​โรค​ซึมเศร้า. ปัญหา​ที่​เป็น​สาเหตุ​ยัง​คง​มี​อยู่ ทรมาน​และ​รุนแรง​ยิ่ง​ขึ้น.”

คำ​แนะ​นำ​นั้น​ชัดเจน: จง​ถือ​ว่า​เครื่อง​บ่ง​ชี้​ทุก​อย่าง​ของ​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย​เป็น​เรื่อง​จริงจัง!

[ภาพ​หน้า 7]

บาง​ครั้ง​พฤติกรรม​ขืน​อำนาจ​เป็น​สัญญาณ​ของ​โรค​ซึมเศร้า​ที่​เป็น​สาเหตุ

[ภาพ​หน้า 7]

เด็ก​วัยรุ่น​ที่​ซึมเศร้า​มัก​หมด​ความ​สนใจ​ใน​กิจกรรม​ซึ่ง​พวก​เขา​เคย​ชอบ