ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ความหลากหลาย—สำคัญยิ่งต่อชีวิต

ความหลากหลาย—สำคัญยิ่งต่อชีวิต

ความ​หลาก​หลาย—สำคัญ​ยิ่ง​ต่อ​ชีวิต

ใน​ทศวรรษ 1840 ประชากร​ของ​ไอร์แลนด์​เพิ่ม​ขึ้น​กว่า​แปด​ล้าน​คน ทำ​ให้​ไอร์แลนด์​เป็น​ประเทศ​ที่​มี​ประชากร​หนา​แน่น​ที่​สุด​ใน​ยุโรป. มันฝรั่ง​เป็น​อาหาร​หลัก​ของ​ที่​นี่ และ​พันธุ์​เดียว​ที่​มี​การ​ปลูก​กัน​แพร่​หลาย​ที่​สุด​คือ​พันธุ์​ลัมเปอร์.

ใน​ปี 1845 ชาว​ไร่​ปลูก​มันฝรั่ง​พันธุ์​ลัมเปอร์​กัน​ตาม​ปกติ แต่​โรค​ใบ​ไหม้​เกิด​ระบาด​และ​ทำลาย​พืช​ผล​เกือบ​ทั้ง​หมด. พอล เรเบิร์น เขียน​ใน​หนังสือ​ชื่อ​การ​เก็บ​เกี่ยว​ครั้ง​สุด​ท้าย—ความ​เสี่ยง​ทาง​พันธุกรรม​ซึ่ง​ส่อ​เค้า​ว่า​จะ​ทำลาย​การ​เกษตร​ของ​อเมริกา (ภาษา​อังกฤษ) ดัง​นี้: “ส่วน​ใหญ่​ของ​ประเทศ​ไอร์แลนด์​รอด​พ้น​ปี​ที่​ยาก​ลำบาก​นั้น​มา​ได้. ความ​หายนะ​เกิด​ขึ้น​ใน​ปี​ถัด​ไป. ชาว​ไร่​ไม่​มี​ทาง​เลือก​อื่น​นอก​จาก​จะ​ปลูก​มันฝรั่ง​พันธุ์​เดิม​อีก​ครั้ง. พวก​เขา​ไม่​มี​พันธุ์​อื่น. โรค​ใบ​ไหม้​ระบาด​อีก​ครั้ง คราว​นี้​ด้วย​ความ​รุนแรง​อย่าง​ยิ่ง. ความ​ทุกข์​นั้น​เหลือ​ที่​จะ​พรรณนา.” นัก​ประวัติศาสตร์​ประมาณ​ว่า มี​คน​เสีย​ชีวิต​เพราะ​ความ​อดอยาก​ถึง 1 ล้าน​คน ขณะ​ที่​อีก 1.5 ล้าน​คน​อพยพ​ออก​นอก​ประเทศ ส่วน​ใหญ่​ไป​สหรัฐ. คน​ที่​ยัง​เหลือ​อยู่​ก็​ประสบ​กับ​ความ​ยาก​จน​สุด​ขีด.

ใน​แถบ​เทือก​เขา​แอนดีส​แห่ง​อเมริกา​ใต้ ชาว​ไร่​ปลูก​มันฝรั่ง​หลาย​พันธุ์ และ​มี​ไม่​กี่​พันธุ์​เท่า​นั้น​ที่​เป็น​โรค​ใบ​ไหม้. ดัง​นั้น จึง​ไม่​มี​โรค​ระบาด. เห็น​ได้​ชัด​ว่า ความ​หลาก​หลาย​ของ​ชนิด​พืช​และ​ความ​หลาก​หลาย​ภาย​ใน​ชนิด​เดียว​กัน​ช่วย​ป้องกัน​ได้. การ​ปลูก​พืช​ชนิด​เดียว​กัน​ไม่​ได้​เป็น​ไป​ตาม​มาตรการ​พื้น​ฐาน​เพื่อ​การ​อยู่​รอด​นี้​และ​ทำ​ให้​พืช​เสี่ยง​ต่อ​การ​เกิด​โรค​หรือ​ศัตรู​พืช ซึ่ง​อาจ​ทำลาย​พืช​ผล​ทั้ง​หมด​ของ​พื้น​ที่​นั้น​ได้. นั่น​เป็น​เหตุ​ผล​ที่​เกษตรกร​หลาย​คน​อาศัย​ยา​กำจัด​ศัตรู​พืช, ยา​ฆ่า​วัชพืช, และ​ยา​ฆ่า​เชื้อ​รา​กัน​อยู่​บ่อย ๆ แม้​ว่า​สาร​เคมี​เหล่า​นี้​เป็น​อันตราย​ต่อ​สิ่ง​แวด​ล้อม.

ถ้า​อย่าง​นั้น ทำไม​เกษตรกร​จึง​เลิก​ปลูก​พืชพันธุ์​พื้นเมือง​ซึ่ง​มี​หลาก​หลาย​พันธุ์​แล้ว​หัน​ไป​ปลูก​พืชพันธุ์​เดียว​กัน? บ่อย​ครั้ง​เนื่อง​จาก​ความ​กดดัน​ทาง​เศรษฐกิจ. การ​ปลูก​พืช​ชนิด​เดียว​กัน​ทำ​ให้​มี​โอกาส​ที่​การ​เก็บ​เกี่ยว​จะ​ทำ​ได้​ง่าย, ให้​ผล​ผลิต​ที่​น่า​ดึงดูด​ใจ, ป้องกัน​ความ​เสียหาย, และ​ได้​ผล​ผลิต​มาก. แนว​โน้ม​นี้​เริ่ม​แพร่​หลาย​มาก​ขึ้น​ใน​ทศวรรษ 1960 พร้อม​กับ​สิ่ง​ที่​เรียก​ว่า​การ​ปฏิวัติ​เขียว.

การ​ปฏิวัติ​เขียว

โดย​การ​รณรงค์​ขนาน​ใหญ่​จาก​รัฐบาล​และ​บริษัท​ต่าง ๆ เกษตรกร​ใน​ดินแดน​ที่​มัก​ขาด​แคลน​อาหาร​ถูก​โน้ม​น้าว​ให้​เลิก​ปลูก​พืช​ที่​หลาก​หลาย​พันธุ์​แล้ว​หัน​ไป​ปลูก​ธัญพืช​ที่​ให้​ผล​ผลิต​สูง​ชนิด​เดียว​กัน โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ข้าว​เจ้า​และ​ข้าว​สาลี. เมล็ด​พันธุ์ “มหัศจรรย์” เหล่า​นี้​ได้​รับ​การ​ยกย่อง​ว่า​เป็น​ทาง​แก้​สำหรับ​ความ​อดอยาก​ใน​โลก. แต่​เมล็ด​พันธุ์​เหล่า​นี้​ไม่​ได้​มี​ราคา​ถูก ๆ คือ​แพง​กว่า​ปกติ​ถึง​สาม​เท่า. นอก​จาก​นั้น ผล​ผลิต​ที่​ได้​ก็​ต้อง​อาศัย​สาร​เคมี​เป็น​อย่าง​มาก รวม​ทั้ง​ปุ๋ย และ​ยัง​ไม่​ต้อง​พูด​ถึง​อุปกรณ์​ราคา​แพง​อย่าง​เช่น​รถ​แทรกเตอร์. ถึง​กระนั้น โดย​อาศัย​งบประมาณ​จาก​รัฐบาล การ​ปฏิวัติ​เขียว​จึง​แพร่​หลาย. เรเบิร์น​กล่าว​ว่า “แม้​ว่า​การ​ปฏิวัติ​เขียว​ได้​ช่วย​ชีวิต​หลาย​ล้าน​คน​จาก​การ​อด​ตาย แต่​ตอน​นี้ [มัน] กำลัง​คุกคาม​ความ​มั่นคง​ของ​อาหาร​โลก.”

ที่​แท้​แล้ว การ​ปฏิวัติ​เขียว​อาจ​มี​ผล​ดี​ใน​ระยะ​สั้น​แต่​เสี่ยง​ต่อ​ความ​เสียหาย​ใน​ระยะ​ยาว. การ​เพาะ​ปลูก​พืชพันธุ์​เดียว​กลาย​เป็น​สิ่ง​ที่​ทำ​กัน​แพร่​หลาย​ตลอด​ทั่ว​ทวีป—ขณะ​ที่​การ​ใช้​ปุ๋ย​ปริมาณ​มาก​กระตุ้น​ให้​วัชพืช​เจริญ​เติบโต และ​การ​ใช้​ยา​กำจัด​ศัตรู​พืช​ได้​ทำลาย​แมลง​ที่​เป็น​ประโยชน์​ไป​พร้อม ๆ กับ​ศัตรู​พืช. ใน​นา​ข้าว สาร​เคมี​ที่​เป็น​พิษ​ทำ​ให้​ปลา​ตาย รวม​ทั้ง​กุ้ง, ปู, กบ, สมุนไพร​และ​พืช​ป่า​ที่​กิน​ได้ ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​เป็น​อาหาร​เสริม​ที่​มี​คุณค่า. การ​ได้​รับ​สาร​เคมี​ยัง​ทำ​ให้​เกิด​อาการ​ถูก​พิษ​ท่ามกลาง​เกษตรกร​ด้วย.

ดร. เม-วัน โฮ อาจารย์​ภาค​วิชา​ชีววิทยา​แห่ง​มหาวิทยาลัย​เปิด​ใน​สหราชอาณาจักร เขียน​ว่า “บัด​นี้​ไม่​มี​ข้อ​สงสัย​ใด ๆ แล้ว​ว่า​การ​ปลูก​พืช​ชนิด​เดียว​กัน​ซึ่ง​เริ่ม​มา​ตั้ง​แต่ ‘การ​ปฏิวัติ​เขียว’ นั้น​ได้​ส่ง​ผล​เสีย​ต่อ​ความ​หลาก​หลาย​ทาง​ชีวภาพ​และ​ความ​มั่นคง​ของ​อาหาร​ตลอด​ทั่ว​โลก.” ตาม​รายงาน​ของ​องค์การ​อาหาร​และ​เกษตรกรรม​แห่ง​สหประชาชาติ 75 เปอร์เซ็นต์​ของ​ความ​หลาก​หลาย​ทาง​พันธุกรรม​ที่​เคย​มี​ใน​พืช​ซึ่ง​เพาะ​ปลูก​เมื่อ​ศตวรรษ​ก่อน​ได้​สูญ​หาย​ไป​หมด​แล้ว​ใน​เวลา​นี้ ส่วน​ใหญ่​เนื่อง​จาก​การ​ทำ​ไร่​แบบ​อุตสาหกรรม.

เอกสาร​ซึ่ง​จัด​พิมพ์​โดย​สถาบัน​เวิลด์วอตช์​เตือน​ว่า “ความ​เสี่ยง​ทาง​นิเวศ​วิทยา​ที่​เรา​รับ​เอา​จาก​ความ​เหมือน​กัน​ทาง​พันธุกรรม​นั้น​มี​มาก​มหาศาล.” เรา​จะ​ควบคุม​ความ​เสี่ยง​เหล่า​นี้​ได้​อย่าง​ไร? จำเป็น​ต้อง​มี​นัก​วิทยาศาสตร์​ที่​ชำนาญ​ใน​ด้าน​การ​เกษตร​และ​สาร​เคมี​ที่​รุนแรง​รวม​ทั้ง​เงิน​ทุน​สำหรับ​เกษตรกร. กระนั้น ก็​ไม่​อาจ​รับประกัน​ความ​สำเร็จ​ได้. ความ​เหมือน​กัน​ทาง​พันธุกรรม​เป็น​ปัจจัย​สำคัญ​ที่​ทำ​ให้​เกิด​โรค​ใบ​ไหม้​ใน​ข้าว​โพด​ซึ่ง​ก่อ​ความ​เสียหาย​ร้ายแรง​ใน​สหรัฐ​และ​ทำ​ให้​สูญ​เสีย​ข้าว​มาก​กว่า​หนึ่ง​ล้าน​สอง​แสน​ไร่​ใน​อินโดนีเซีย. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เมื่อ​ไม่​กี่​ปี​มา​นี้​การ​ปฏิวัติ​การ​เกษตร​ครั้ง​ใหม่​ได้​เริ่ม​ขึ้น ซึ่ง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ควบคุม​ชีวิต​ใน​ระดับ​มูลฐาน​ยิ่ง​ขึ้น นั่น​คือ​หน่วย​พันธุกรรม (ยีน).

การ​ปฏิวัติ​พันธุกรรม

การ​ศึกษา​เกี่ยว​กับ​พันธุกรรม​ได้​ก่อ​ให้​เกิด​อุตสาหกรรม​แนว​ใหม่​ที่​ให้​ผล​กำไร​งาม ซึ่ง​เรียก​ว่า​เทคโนโลยี​ชีวภาพ. ดัง​ที่​ชื่อ​บ่ง​บอก อุตสาหกรรม​นี้​ผสมผสาน​ชีววิทยา​เข้า​กับ​เทคโนโลยี​สมัย​ใหม่​ด้วย​กรรมวิธี​อย่าง​เช่น​พันธุวิศวกรรม. บริษัท​ด้าน​เทคโนโลยี​ชีวภาพ​ใหม่ ๆ บาง​บริษัท เชี่ยวชาญ​เรื่อง​การ​เกษตร​และ​กำลัง​ทำ​งาน​อย่าง​ขันแข็ง​เพื่อ​จะ​จด​สิทธิ​บัตร​เมล็ด​พืช​ซึ่ง​ให้​ผล​ผลิต​สูง ซึ่ง​ทนทาน​ต่อ​โรค, ความ​แห้ง​แล้ง, และ​ความ​เย็น​จัด รวม​ทั้ง​ลด​ความ​จำเป็น​ใน​การ​ใช้​สาร​เคมี​อันตราย. ถ้า​สามารถ​บรรลุ​เป้าหมาย​เหล่า​นั้น​ได้ ก็​จะ​เป็น​ประโยชน์​อย่าง​มาก. แต่​บาง​คน​ได้​แสดง​ความ​เป็น​ห่วง​เกี่ยว​กับ​พืช​ที่​ผ่าน​กรรมวิธี​ทาง​พันธุวิศวกรรม.

หนังสือ​พันธุวิศวกรรม, อาหาร, และ​สิ่ง​แวด​ล้อม​ของ​เรา (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “ใน​ธรรมชาติ ความ​หลาก​หลาย​ทาง​พันธุกรรม​ถูก​สร้าง​ให้​อยู่​ภาย​ใน​ขอบ​เขต​จำกัด. กุหลาบ​จะ​ผสม​ข้าม​พันธุ์​กับ​กุหลาบ​อีก​พันธุ์​หนึ่ง​ได้ แต่​กุหลาบ​จะ​ไม่​มี​ทาง​ผสม​ข้าม​พันธุ์​กับ​มันฝรั่ง. . . . ใน​ทาง​กลับ​กัน พันธุวิศวกรรม​มัก​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​นำ​ยีน​จาก​สิ่ง​มี​ชีวิต​ชนิด​หนึ่ง​ไป​ใส่​ใน​สิ่ง​มี​ชีวิต​อีก​ชนิด​หนึ่ง​เพื่อ​พยายาม​ถ่ายทอด​ลักษณะ​ซึ่ง​เป็น​ที่​ต้องการ. ตัว​อย่าง​เช่น นี่​อาจ​หมาย​ถึง​การ​คัดเลือก​ยีน​ซึ่ง​จะ​ทำ​ให้​เกิด​การ​ผลิต​สาร​เคมี​ที่​มี​คุณสมบัติ​ต้านทาน​การ​เป็น​น้ำ​แข็ง​จาก​ปลา​ขั้ว​โลก (เช่น ปลา​เฟลาน์เดอร์) และ​ใส่​เข้า​ไป​ใน​มันฝรั่ง​หรือ​สตรอเบอร์รี​เพื่อ​ให้​มัน​ทน​ต่อ​ความ​หนาว​เย็น. ตอน​นี้​เป็น​ไป​ได้​ที่​จะ​ดัด​แปลง​พืช​โดย​ใช้​ยีน​จาก​แบคทีเรีย, ไวรัส, แมลง, สัตว์ หรือ​แม้​กระทั่ง​มนุษย์.” * ดัง​นั้น ที่​แท้​แล้ว​เทคโนโลยี​ชีวภาพ​ทำ​ให้​มนุษย์​ทำลาย​กำแพง​ทาง​พันธุกรรม​ซึ่ง​กั้น​ระหว่าง​สิ่ง​มี​ชีวิต​ชนิด​ต่าง ๆ.

เช่น​เดียว​กับ​การ​ปฏิวัติ​เขียว สิ่ง​ที่​บาง​คน​เรียก​ว่า การ​ปฏิวัติ​พันธุกรรม​ก็​มี​ส่วน​ทำ​ให้​เกิด​ปัญหา​เรื่อง​ความ​เหมือน​กัน​ทาง​พันธุกรรม—บาง​คน​กล่าว​ว่า​ปัญหา​นั้น​ยิ่ง​รุนแรง​ขึ้น​ด้วย​ซ้ำ เนื่อง​จาก​นัก​พันธุศาสตร์​สามารถ​ใช้​กรรมวิธี​อย่าง​เช่น​การ​โคลนนิง​และ​การ​ปลูก​ถ่าย​เนื้อ​เยื่อ อัน​เป็น​กรรมวิธี​ซึ่ง​ทำ​ให้​เกิด​สิ่ง​มี​ชีวิต​ที่​เหมือน​กัน​ทุก​ประการ. ความ​ห่วงใย​เกี่ยว​กับ​การ​ลด​ลง​ของ​ความ​หลาก​หลาย​ทาง​ชีวภาพ​จึง​ยัง​คง​มี​อยู่​ต่อ​ไป. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พืช​ที่​ตัด​แต่ง​พันธุกรรม​ก่อ​ให้​เกิด​ประเด็น​ใหม่ ๆ เช่น ผล​กระทบ​ที่​พืช​เหล่า​นั้น​อาจ​มี​ต่อ​เรา​และ​สิ่ง​แวด​ล้อม. เจเรมี ริฟกิน นัก​เขียน​เรื่อง​ทาง​วิทยาศาสตร์ กล่าว​ว่า “เรา​กำลัง​เข้า​สู่​ยุค​ใหม่​แห่ง​เทคโนโลยี​ชีวภาพ​ด้าน​การ​เกษตร​โดย​ไม่​รู้​แน่ชัด​ว่า​มัน​จะ​พา​เรา​ไป​ที่​ไหน พร้อม​ด้วย​ความ​หวัง​อัน​ยิ่ง​ใหญ่, ข้อ​จำกัด​ไม่​กี่​อย่าง, และ​แทบ​ไม่​รู้​เลย​เกี่ยว​กับ​ผล​ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น.” *

ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง อำนาจ​ที่​จะ​ควบคุม​ชีวิต​ใน​ระดับ​พันธุกรรม​นั้น​อาจ​เป็น​แหล่ง​ของ​ผล​ประโยชน์​มหาศาล และ​บริษัท​ต่าง ๆ ก็​กำลัง​แข่งขัน​กัน​เพื่อ​จด​สิทธิ​บัตร​เมล็ด​พันธุ์​ใหม่ ๆ และ​สิ่ง​มี​ชีวิต​ที่​ได้​รับ​การ​ดัด​แปลง​ชนิด​อื่น ๆ. ใน​ระหว่าง​นี้ การ​สูญ​พันธุ์​ของ​พืช​ก็​ยัง​ดำเนิน​ต่อ​ไป. ดัง​ที่​กล่าว​ไป​ก่อน​หน้า​นี้ เพื่อ​จะ​หลีก​เลี่ยง​ความ​หายนะ รัฐบาล​บาง​ประเทศ​และ​องค์กร​เอกชน​บาง​แห่ง​ได้​จัด​ตั้ง​ธนาคาร​เชื้อ​พันธุ์. ธนาคาร​เหล่า​นี้​จะ​ช่วย​คน​รุ่น​ต่อ ๆ ไป​ให้​มี​เมล็ด​พืช​หลาก​หลาย​ชนิด​ไว้​เพื่อ​การ​เพาะ​ปลูก​และ​การ​เก็บ​เกี่ยว​ไหม?

ธนาคาร​เชื้อ​พันธุ์—หลัก​ประกัน​การ​สูญ​พันธุ์​หรือ?

สวน​พฤกษชาติ​หลวง​แห่ง​คิว ประเทศ​อังกฤษ ได้​ดำเนิน​โครงการ​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​ยกย่อง​ว่า​เป็น “โครงการ​อนุรักษ์​ระดับ​นานา​ชาติ​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​เท่า​ที่​เคย​ทำ​มา” นั่น​คือ​โครงการ​ธนาคาร​เชื้อ​พันธุ์​แห่ง​สหัสวรรษ. เป้าหมาย​หลัก​ของ​โครงการ​นี้​คือ (1) เพื่อ​รวบ​รวม​และ​เก็บ​รักษา​พรรณ​ไม้​ที่​มี​อยู่​ใน​โลก​ซึ่ง​เป็น​ประเภท​ที่​มี​เมล็ด​ไว้ 10 เปอร์เซ็นต์—หรือ​กว่า 24,000 ชนิด—ก่อน​ถึง​ปี 2010 และ (2) นาน​ก่อน​หน้า​นั้น เพื่อ​รวบ​รวม​และ​เก็บ​รักษา​เมล็ด​ของ​พรรณ​ไม้​พื้นเมือง​ที่​มี​เมล็ด​ทั้ง​หมด​ใน​สหราชอาณาจักร. ประเทศ​อื่น ๆ ได้​ก่อ​ตั้ง​ธนาคาร​เชื้อ​พันธุ์​ขึ้น​มา​เช่น​เดียว​กัน ซึ่ง​บาง​ที​เรียก​กัน​ว่า​ธนาคาร​ยีน.

นัก​ชีววิทยา จอห์น ทักซิลล์ กล่าว​ว่า อย่าง​น้อย 90 เปอร์เซ็นต์​ของ​เมล็ด​พืช​หลาย​ล้าน​เมล็ด​ซึ่ง​เก็บ​ไว้​ที่​ธนาคาร​เชื้อ​พันธุ์​เป็น​พืช​ที่​มี​ค่า​ซึ่ง​ใช้​เป็น​อาหาร​และ​มี​ประโยชน์ เช่น ข้าว​สาลี, ข้าว​เจ้า, ข้าว​โพด, ข้าว​ฟ่าง, มันฝรั่ง, หัว​หอม, กระเทียม, อ้อย, ฝ้าย, ถั่ว​เหลือง, และ​ถั่ว​ชนิด​อื่น ๆ อีก​มาก. แต่​เมล็ด​พืช​เป็น​สิ่ง​มี​ชีวิต​ซึ่ง​จะ​อยู่​ได้​ตราบ​เท่า​ที่​ยัง​มี​พลังงาน​อยู่​ภาย​ใน. ดัง​นั้น ธนาคาร​เชื้อ​พันธุ์​ไว้​ใจ​ได้​เพียง​ใด?

ปัญหา​ที่​ธนาคาร

ธนาคาร​เชื้อ​พันธุ์​ต้อง​ใช้​เงิน​ใน​การ​ดำเนิน​งาน ซึ่ง​ทักซิลล์​กล่าว​ว่า​ต้อง​ใช้​ประมาณ 300 ล้าน​ดอลลาร์​ต่อ​ปี. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เขา​กล่าว​ว่า​แม้​แต่​เงิน​จำนวน​นี้​ก็​อาจ​ไม่​เพียง​พอ เพราะ “มี​เพียง 13 เปอร์เซ็นต์​ของ​เมล็ด​พืช​ที่​เก็บ​ไว้​ใน​ธนาคาร​เชื้อ​พันธุ์​ซึ่ง​อยู่​ใน​ที่​ที่​มี​การ​ดู​แล​อย่าง​ดี​และ​มี​ศักยภาพ​จะ​เก็บ​เมล็ด​พืช​ไว้​เป็น​เวลา​นาน ๆ.” เนื่อง​จาก​เมล็ด​พืช​ที่​เก็บ​ไว้​ไม่​ดี​จะ​อยู่​ได้​ไม่​นาน จึง​ต้อง​ปลูก​ใหม่​ตั้ง​แต่​เนิ่น ๆ เพื่อ​จะ​ได้​เมล็ด​พืช​รุ่น​ต่อ​ไป; มิ​ฉะนั้น​ธนาคาร​เชื้อ​พันธุ์​ก็​อาจ​กลาย​เป็น​โรง​เก็บ​เมล็ด​พืช​ที่​ตาย​แล้ว. แน่นอน งาน​เหล่า​นี้​เป็น​งาน​ที่​ต้อง​ใช้​แรงงาน​จำนวน​มาก ซึ่ง​ทำ​ให้​เรื่อง​ยาก​มาก​ขึ้น​สำหรับ​องค์กร​ที่​ขาด​เงิน​ทุน​อยู่​แล้ว.

หนังสือ​เมล็ด​แห่ง​ความ​เปลี่ยน​แปลง—ขุม​ทรัพย์​ที่​มี​ชีวิต​อยู่ (ภาษา​อังกฤษ) อธิบาย​ว่า ห้อง​ปฏิบัติการ​เก็บ​เมล็ด​พืช​แห่ง​ชาติ​ใน​โคโลราโด สหรัฐ​อเมริกา “ประสบ​กับ​ความ​ยุ่งยาก​หลาย​อย่าง รวม​ทั้ง​ไฟฟ้า​ดับ, อุปกรณ์​ทำ​ความ​เย็น​เสีย, และ​การ​ขาด​คน​งาน​ซึ่ง​ทำ​ให้​มี​เมล็ด​พืช​ปริมาณ​มหาศาล​ที่​ยัง​ไม่​ได้​แยก​ประเภท.” ธนาคาร​เชื้อ​พันธุ์​ยัง​ได้​รับ​ผล​กระทบ​จาก​ความ​ไม่​สงบ​ทาง​การ​เมือง, ความ​ตก​ต่ำ​ทาง​เศรษฐกิจ, และ​ภัย​พิบัติ​ธรรมชาติ​อีก​ด้วย.

การ​เก็บ​รักษา​เป็น​เวลา​นาน​ก่อ​ให้​เกิด​ปัญหา​อื่น ๆ เช่น​กัน. ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​ตาม​ธรรมชาติ​ของ​มัน พืช​มี​ความ​สามารถ​ใน​การ​ปรับ​ตัว​ได้​ใน​ระดับ​หนึ่ง​ซึ่ง​เป็น​สิ่ง​ที่​สำคัญ และ​นี่​ทำ​ให้​มัน​รอด​จาก​โรค​พืช​และ​ปัญหา​อื่น ๆ. แต่​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​ได้​รับ​การ​ปก​ป้อง​ใน​ธนาคาร​เชื้อ​พันธุ์ มัน​อาจ​สูญ​เสีย​การ​ต้านทาน​นั้น​ไป​บาง​ส่วน​หลัง​จาก​มี​การ​ปลูก​ขึ้น​ใหม่​ไม่​กี่​รุ่น. อย่าง​ไร​ก็​ดี เมล็ด​พันธุ์​ที่​เก็บ​ไว้​อย่าง​ดี​อาจ​อยู่​ได้​นาน​นับ​ร้อย​ปี​ก่อน​จะ​ถึง​เวลา​ที่​ต้อง​นำ​มา​ปลูก​ใหม่. แม้​ว่า​มี​ข้อ​จำกัด​และ​ความ​ไม่​แน่นอน​เหล่า​นี้ แต่​การ​ที่​มี​ธนาคาร​เชื้อ​พันธุ์​อยู่​ก็​แสดง​ว่า​มี​ความ​ห่วงใย​เพิ่ม​ขึ้น​เกี่ยว​กับ​อนาคต​ของ​พืช​ผล​ที่​เป็น​อาหาร​ของ​มนุษยชาติ.

แน่นอน วิธี​ที่​ดี​ที่​สุด​ที่​จะ​ลด​การ​สูญ​พันธุ์​คือ​การ​ปก​ป้อง​ถิ่น​กำเนิด​ดั้งเดิม​และ​ทำ​ให้​ความ​หลาก​หลาย​ของ​พืช​ที่​เพาะ​ปลูก​กลับ​คืน​มา. แต่​ที่​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น ทักซิลล์​กล่าว​ว่า เรา​ต้อง “สร้าง​ความ​สมดุล​ใหม่​ระหว่าง​ความ​ต้องการ​ของ​มนุษย์​และ​ความ​ต้องการ​ของ​ธรรมชาติ.” กระนั้น เป็น​ไป​ได้​สัก​เพียง​ไร​ที่​จะ​คิด​ว่า​มนุษย์​จะ “สร้าง​ความ​สมดุล​ใหม่” กับ​โลก​ธรรมชาติ​ขณะ​ที่​พวก​เขา​มุ่ง​ติด​ตาม​ความ​ก้าว​หน้า​ทาง​อุตสาหกรรม​และ​ทาง​เศรษฐกิจ​ด้วย​ความ​กระตือรือร้น​อย่าง​ยิ่ง? ดัง​ที่​เรา​ได้​เห็น​แล้ว แม้​แต่​การ​เกษตร​ก็​กำลัง​ถูก​ดูด​กลืน​เข้า​ไป​ใน​โลก​ธุรกิจ​ขนาด​ใหญ่​ที่​ใช้​เทคโนโลยี​ชั้น​สูง​และ​ได้​รับ​แรง​ผลัก​ดัน​จาก​ผล​ประโยชน์. จำ​ต้อง​มี​ทาง​แก้​ทาง​อื่น.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 13 ทฤษฎี​เกี่ยว​กับ​ผล​กระทบ​ของ​อาหาร​ที่​ผ่าน​กรรมวิธี​ตัด​แต่ง​พันธุกรรม​ที่​อาจ​มี​ต่อ​สุขภาพ​ของ​มนุษย์​และ​สัตว์​รวม​ทั้ง​สิ่ง​แวด​ล้อม​ยัง​คง​เป็น​ที่​ถกเถียง​กัน. การ​ผสม​ยีน​ของ​สิ่ง​มี​ชีวิต​ที่​ไม่​เกี่ยว​ข้อง​กัน​เลย​ได้​ทำ​ให้​บาง​คน​ตั้ง​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​จริยธรรม.—ดู​ตื่นเถิด! (ภาษา​อังกฤษ) 22 เมษายน 2000 หน้า 25-27.

^ วรรค 14 วารสาร​นิว ไซเยนติสต์ รายงาน​ว่า​ต้น​ชูการ์​บีต ยุโรป “ซึ่ง​ถูก​ตัด​แต่ง​พันธุกรรม​เพื่อ​ให้​ต้านทาน​ยา​กำจัด​วัชพืช​ชนิด​หนึ่ง​กลับ​ได้​รับ​ยีน​ซึ่ง​ต้านทาน​ยา​กำจัด​วัชพืช​อีก​ชนิด​หนึ่ง​โดย​บังเอิญ.” ยีน​ที่​ผิด​พลาด​นั้น​ได้​เล็ดลอด​เข้า​สู่​ต้น​บีต​เมื่อ​มี​การ​ผสม​เกสร​โดย​บังเอิญ​จาก​บีต​อีก​พันธุ์​หนึ่ง​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​ดัด​แปลง​เพื่อ​ต้านทาน​ยา​กำจัด​วัชพืช​อีก​ชนิด​หนึ่ง. นัก​วิทยาศาสตร์​บาง​คน​กลัว​ว่า​การ​แพร่​หลาย​ของ​พืช​ที่​ต้านทาน​ยา​กำจัด​วัชพืช​อาจ​นำ​ไป​สู่​การ​สร้าง​ยอด​วัชพืช​ซึ่ง​สามารถ​ต้านทาน​ยา​กำจัด​วัชพืช​ได้.

[กรอบ/รูปภาพ​หน้า 7]

เกษตรกร—‘ใกล้​สูญ​พันธุ์’ หรือ?

วารสาร​เวิลด์ วอตช์ กล่าว​ว่า “ตั้ง​แต่​ปี 1950 จำนวน​ผู้​ที่​ถูก​ว่า​จ้าง​ใน​การ​เกษตร​ได้​ลด​ลง​อย่าง​มาก​ใน​ประเทศ​อุตสาหกรรม​ทุก​ประเทศ บาง​ภูมิภาค​ลด​ลง​มาก​กว่า 80 เปอร์เซ็นต์.” เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง ปัจจุบัน​สหรัฐ​มี​จำนวน​เกษตรกร​น้อย​กว่า​นัก​โทษ​ใน​เรือน​จำ. อะไร​ทำ​ให้​ผู้​คน​ละ​ทิ้ง​ไร่​นา​ครั้ง​ใหญ่​เช่น​นี้?

ปัจจัย​สำคัญ​คือ​ราย​ได้​ลด​ลง, หนี้สิน​จาก​การ​ทำ​ไร่​ทำ​นา​เพิ่ม​ขึ้น, ความ​ยาก​จน​เพิ่ม​ขึ้น, และ​การ​ใช้​เครื่องจักร​กล​มาก​ขึ้น. ใน​ปี 1910 เกษตรกร​ใน​สหรัฐ​ได้​เงิน​ราว ๆ 40 เซนต์​จาก​ทุก ๆ หนึ่ง​ดอลลาร์​ที่​ผู้​บริโภค​จ่าย​เพื่อ​ซื้อ​อาหาร แต่​พอ​ถึง​ปี 1997 ส่วน​แบ่ง​ของ​เกษตรกร​ลด​ลง​เหลือ​แค่​ประมาณ 7 เซนต์. วารสาร​เวิลด์ วอตช์ กล่าว​ว่า ชาว​นา​ที่​ปลูก​ข้าว​สาลี “ได้​เพียง 6 เซนต์​จาก​หนึ่ง​ดอลลาร์​ที่​ผู้​บริโภค​จ่าย​ไป​เพื่อ​ซื้อ​ขนมปัง​หนึ่ง​แถว.” นี่​หมาย​ความ​ว่า ลูก​ค้า​จ่าย​ค่า​ข้าว​สาลี​ให้​ชาว​นา​มาก​พอ ๆ กับ​จ่าย​ค่า​พลาสติก​ห่อ​ของ. เกษตรกร​ใน​ประเทศ​กำลัง​พัฒนา​มี​สภาพ​ที่​แย่​กว่า​นี้​อีก. เกษตรกร​ใน​ออสเตรเลีย​และ​ยุโรป​อาจ​กู้​เงิน​จาก​ธนาคาร​ได้​เพื่อ​ช่วย​ให้​ผ่าน​พ้น​ปี​ที่​ผล​ผลิต​ตก​ต่ำ แต่​เกษตรกร​ใน​แอฟริกา​ตะวัน​ตก​อาจ​ไม่​สามารถ​แก้​ตัว​ได้​อีก. เขา​อาจ​ไม่​รอด​ด้วย​ซ้ำ.

[ภาพ​หน้า 7]

“การ​ปลูก​พืช​ชนิด​เดียว​ซึ่ง​เริ่ม​มา​ตั้ง​แต่ ‘การ​ปฏิวัติ​เขียว’ ได้​ส่ง​ผล​เสีย​ต่อ​ความ​หลาก​หลาย​ทาง​ชีวภาพ​และ​ความ​มั่นคง​ของ​อาหาร​ตลอด​ทั่ว​โลก.”—ดร. เม-วัน โฮ

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Background: U.S. Department of Agriculture

Centro Internacional de Mejoramiento de Maíz y Trigo (CIMMYT)

[ภาพ​หน้า 8]

ธนาคาร​เชื้อ​พันธุ์​แห่ง​สหัสวรรษ​ใน​อังกฤษ​กำลัง​อนุรักษ์​เมล็ด​พืช​ที่​มี​ค่า

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 8]

© Trustees of Royal Botanic Gardens, Kew