ฉันจะเลิกกังวลจนเกินเหตุได้อย่างไร?
หนุ่มสาวถามว่า . . .
ฉันจะเลิกกังวลจนเกินเหตุได้อย่างไร?
“อนาคตอาจเป็นเรื่องหนึ่งซึ่งก่อความกดดันแก่หนุ่มสาวมากที่สุด. คุณวิตกกังวลเกี่ยวกับตัวเอง. เป็นต้นว่า ฉันควรออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่นไหม? จะเรียนต่อไหม? เป็นผู้เผยแพร่เต็มเวลาไหม? แต่งงานดีไหม? คุณมีทางเลือกมากมายซึ่งแต่ละอย่างต่างก็น่าหวั่น.”—เชน หนุ่มอายุ 20 ปี.
คุณกังวลมากไหม? หนุ่มสาวหลายคนวิตกกังวลมาก และด้วยสาเหตุหลายประการ. จดหมายข่าวที่พิมพ์ขึ้นเพื่อให้คำแนะนำแก่บิดามารดารายงานว่า “การสำรวจทั่วโลกเมื่อไม่นานมานี้ที่ทำกับวัยรุ่นอายุ 15 ถึง 18 ปีใน 41 ประเทศได้เผยให้ทราบว่า การได้งานที่น่าพอใจคือสุดยอดแห่งความใฝ่ฝันของวัยรุ่นสมัยนี้.” ถัดจากนั้นคือการเป็นห่วงสุขภาพของบิดามารดา. การกลัวว่าจะสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รักก็จัดอยู่ในข่ายความวิตกกังวลลำดับต้น ๆ เช่นกัน.
การสำรวจของกระทรวงศึกษาธิการในสหรัฐพบว่า “ความกดดันเพื่อจะได้คะแนนสูง” เป็นความกังวลประการสำคัญของหนุ่มสาวหลายคนในสหรัฐ. การสำรวจแหล่งเดียวกันเผยให้ทราบว่าหนุ่มสาวจำนวนมากมีความรู้สึกทำนองเดียวกันกับเชน (ที่เอ่ยถึงข้างต้น). แอชลีย์ เด็กสาวอีกคนหนึ่งบอกว่า “หนูกังวลเกี่ยวกับอนาคตตัวเอง.”
กระนั้น เยาวชนคนอื่น ๆ กังวลเรื่องความปลอดภัยในชีวิต. ตามการสำรวจเมื่อปี 1996 หนุ่มสาวเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ในสหรัฐรู้สึกว่าความรุนแรงในโรงเรียนกำลังเพิ่มมากขึ้น. วัยรุ่นกว่าแปดล้านคน (37 เปอร์เซ็นต์) รายงานว่า พวกเขารู้จักบางคนที่ถูกยิงบาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิต!
ทว่า ไม่ใช่ความกังวลทุกอย่างจะดูน่ากลัวไปเสียทั้งหมด. สำหรับหนุ่มสาวหลายคน ความวิตกกังวลที่ทำให้พวกเขาเป็นทุกข์หนักใจมากที่สุดนั้นเป็นเรื่องชีวิตในสังคม. นิตยสารออนไลน์ซึ่งมุ่งไปที่บิดามารดากล่าวว่า “วัยรุ่นกังวลเรื่องการจะมีคู่รัก แต่บ่อยครั้งพวกเขากังวลเนื่องจากไม่มีเพื่อน.” แมเกน เด็กสาววัยรุ่นพร่ำรำพันว่า “ฉันจะทำอย่างไรและจะแต่งตัวอย่างไรดีเพื่อให้ดูเท่? ฉันก็อยากมีเพื่อนบ้าง.” นะธานาเอล คริสเตียนหนุ่มวัย 15 ปีมองคล้าย ๆ กันว่า “เพื่อนวัยรุ่นที่โรงเรียนเป็นห่วงในเรื่องสไตล์การแต่งตัว. พวกเขากังวลเกี่ยวกับท่าเดิน, การพูดจาสนทนา, และการปรากฏตัวต่อหน้าผู้อื่น แถมกลัวจะถูกหัวเราะเยาะ.”
ปัญหาต่าง ๆ—ส่วนหนึ่งของชีวิต
เราคงสบายใจ ถ้าสามารถดำเนินชีวิตอย่างไร้กังวล. อย่างไรก็ดี คัมภีร์ไบเบิลกล่าวดังนี้: “อันมนุษย์ซึ่งเกิดจากเพศหญิงย่อมมีแต่วันเวลาน้อยนัก, และประกอบไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก.” (โยบ 14:1) ปัญหาต่าง ๆ และความวิตกกังวลที่ตามมาจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต. แต่ถ้าคุณปล่อยให้ความวิตกกังวลครอบงำความคิดของคุณ คุณอาจทำให้ตัวเองยิ่งกลุ้มมากขึ้น. คัมภีร์ไบเบิล เตือนสติดังนี้: “ความกระวนกระวายในหัวใจคนจะทำให้หัวใจท้อแท้.”—สุภาษิต 12:25, ล.ม.
วิธีหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงความกังวลโดยไม่จำเป็นคือการควบคุมพฤติกรรมของตัวเอง. อันนาเด็กสาววัย 16 พูดว่า “นักเรียนหลายคนในชั้นวิตกกังวลว่าจะตั้งครรภ์หรือติดโรคร้ายเนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์.” แต่คุณเลี่ยงความวิตกกังวลเช่นนั้นได้ด้วยการยึดมั่นกับมาตรฐานทางศีลธรรมของคัมภีร์ไบเบิล. (ฆะลาเตีย 6:7) ถึงกระนั้น ก็ใช่ว่าปัญหาทุกอย่างจะแก้ได้หมด หรือแก้ได้ง่ายดายอย่างนั้น. คุณจะเลิกกังวลจนเกินเหตุโดยวิธีใด?
“กังวลอย่างฉลาด”
หลายคนปล่อยให้ความวิตกกังวลครอบงำจนทำอะไรไม่ได้. แต่บทความหนึ่งที่ลงในนิตยสารสำหรับวัยรุ่นแนะว่าคนเราอาจ “กังวลอย่างฉลาด” ได้ โดยเปลี่ยนความกังวลเป็นการกระทำในเชิงสร้างสรรค์! คัมภีร์ไบเบิลมีหลักการหลายอย่างที่จะช่วยคุณให้ทำเช่นนั้น. ขอพิจารณาพระธรรมสุภาษิต 21:5 (ล.ม.) “แผนการของคนขยันก่อผลประโยชน์แน่นอน.” ยกตัวอย่าง ถ้าคุณต้องการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์กับเพื่อนบางคนในประชาคม. การวางแผนอย่างรอบคอบจะช่วยลดความกังวลใจได้มากทีเดียว. จงถามตัวเองว่า ‘จะเชิญใครโดยเฉพาะ? ฉันต้องการให้เขามาเวลาไหน? ฉันต้องการให้เขากลับเมื่อไร? จริง ๆ แล้วฉันต้องเตรียมอาหารว่างและเครื่องดื่มไว้มากแค่ไหน? มีกิจกรรมอะไรบ้างที่ทุกคนจะร่วมสนุกได้?’ ยิ่งคุณคิดอย่างรอบคอบถึงปัจจัยเหล่านี้ ก็ยิ่งดูเหมือนว่าการสังสรรค์ที่คุณจัดขึ้นจะเป็นไปอย่างราบรื่น.
แต่คุณอาจก่อความกังวลเสียเองโดยทำให้เรื่องยุ่งยากเกินไป. พระเยซูคริสต์ทรงให้คำแนะนำแก่ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งทำให้ปัญหานั้นยุ่งยากเกินความจำเป็นเมื่อเตรียมอาหารเลี้ยงแขก ดังนี้: “แต่ที่จำเป็นมีไม่กี่สิ่ง หรือเพียงสิ่งเดียว.” (ลูกา 10:42, ล.ม.) ดังนั้น ถามตัวเองสิว่า ‘สิ่งสำคัญจริง ๆ นั้นคืออะไรที่จะทำให้การสังสรรค์นั้นประสบผลสำเร็จ?’ การทำให้สิ่งต่าง ๆ ดูเรียบง่ายเสมออาจช่วยคุณลดความกังวลใจลงไปได้.
สาเหตุของความกังวลอีกอย่างหนึ่งอาจเป็นเรื่องความปลอดภัยของคุณในโรงเรียน. ที่นั่นคุณอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มาก. แต่คุณสามารถปฏิบัติตามขั้นตอนที่ใช้ได้ผลเพื่อป้องกันตัวเอง. พระธรรมสุภาษิต 22:3 บอกว่า “คนฉลาดมองเห็นภัยแล้วหนีไปซ่อนตัว.” วิธีง่าย ๆ คือหลีกเลี่ยงพื้นที่อันตราย ไม่เฉพาะที่ห่างไกลนอกสายตา แต่รวมถึงบริเวณที่ไม่มีใครดูแล ซึ่งพวกอันธพาลชอบจับกลุ่มกัน แล้วโอกาสที่คุณจะประสบความยุ่งยากก็จะน้อยลง.
การเล่าเรียนอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ก่อความกังวล. บางทีคุณอาจมีการบ้านสำคัญหลายอย่างที่ต้องทำ และคุณกังวลว่าจะทำไม่เสร็จทั้งหมด. หลักการที่ฟิลิปปอย 1:10 (ล.ม.) เป็นประโยชน์ที่ว่า “ตรวจดูให้รู้แน่ถึงสิ่งที่สำคัญกว่า.” ใช่แล้ว จงฝึกที่จะจัดอันดับความสำคัญก่อนหลัง! ประเมินดูว่าการบ้านอันไหนด่วนที่สุด และลงมือทำอันนั้นก่อน. ต่อจากนั้นทำอันดับถัดไป. คุณจะค่อย ๆ เริ่มรู้สึกว่าควบคุมสถานการณ์ได้.
แสวงหาคำแนะนำ
ตอนที่แอรอนเป็นวัยรุ่น เขากังวลเรื่องการสอบไล่มากถึงขนาดที่เขามีอาการเจ็บหน้าอก. เขาเล่าว่า “ผมบอกพ่อแม่ว่าผมเจ็บหน้าอกและท่านให้ผมไปหาหมอ. หมอรู้ทันทีว่าหัวใจของผมปกติดี และอธิบายว่าความวิตกกังวลมีผลกระทบอย่างไรต่อร่างกาย. หลังจากนั้น พ่อกับแม่ช่วยผมให้ตระหนักว่าผมทำสุดกำลังแล้วในการเตรียมตัวสอบ และขณะนี้เป็นเวลาที่ผมควรเป็นห่วงเรื่องการเอาใจใส่ตัวเองมากกว่า. ผมรู้สึกโล่งอก อาการเจ็บหน้าอกก็หายเป็นปลิดทิ้ง และผมทำข้อสอบได้ดี.”
หากความกังวลทำให้คุณเป็นทุกข์หนัก อย่าทนเก็บกดโดยไม่ปริปาก. สุภาษิต 12:25 (ล.ม.) ที่ยกบางส่วนขึ้น มากล่าวตอนต้น มีข้อความทั้งหมดว่าอย่างนี้: “ความกระวนกระวายในหัวใจคนจะทำให้หัวใจท้อแท้ แต่ถ้อยคำที่ดีจะทำให้หัวใจชื่นชม.” เฉพาะถ้าคุณพูดถึง “ความกระวนกระวายในหัวใจ” คุณก็จะได้รับ “ถ้อยคำที่ดี” ที่ให้กำลังใจ!
ทีแรก คุณอาจอยากพูดเรื่องนั้นกับคุณพ่อคุณแม่ ท่านอาจจะให้ข้อแนะดี ๆ บางประการก็ได้. ผู้อาวุโสฝ่ายวิญญาณในประชาคมคริสเตียนที่คุณร่วมด้วยก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ให้การชูใจ. เจเนล อายุ 15 ปีเล่าว่า “ฉันวิตกเรื่องการเรียนต่อระดับมัธยมศึกษา และนึกกลัวไปเสียทุกอย่าง เช่น ยาเสพย์ติด, เซ็กซ์, และความรุนแรง จนกระทั่งฉันได้ปรึกษาผู้ปกครองในประชาคม. เขาให้คำแนะนำที่ใช้การได้หลายข้อ. ฉันรู้สึกสบายใจทันที เพราะตอนนี้ฉันรู้ว่าจะรับมือกับสถานการณ์นั้นได้.”
อย่าผัดวันประกันพรุ่ง
บางครั้งมีบางอย่างที่เราต้องทำ แต่เราผัดเวลาออกไปเพราะมันไม่น่ายินดีนัก. ยกตัวอย่าง เชวัน วัยสิบเก้า มีเรื่องขัดแย้งส่วนตัวกับเพื่อนชายคริสเตียนคนหนึ่ง. เธอรู้ว่าจำเป็นต้องพูดกันให้รู้เรื่อง แต่เธอผัดวันออกไป. เธอสารภาพว่า “ยิ่งผัดเลื่อนเวลาออกไป ฉันยิ่งกลุ้มหนัก.” แล้วเชวันระลึกถึงคำตรัสของพระเยซูในมัดธาย 5:23, 24 ซึ่งกระตุ้นเตือนคริสเตียนให้ลงมือจัดการปัญหาโดยเร็ว. เชวันเล่าว่า “ในที่สุดเมื่อฉันได้ปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น ฉันก็รู้สึกสบายใจ.”
คุณกำลังผัดเลื่อนการทำอะไรบางอย่างไหม อาทิ งานมอบหมายซึ่งไม่สู้จะถูกใจสักเท่าไร หรือการเผชิญสิ่งซึ่งไม่สะดวกสบาย? ถ้าเช่นนั้น ให้ลงมือทำทันที และคุณจะลดความวิตกกังวลไปได้อีกหนึ่งอย่าง.
สภาพการณ์ที่ร้ายแรง
ไม่ใช่สภาพการณ์ทุกอย่างจะแก้กันได้ง่าย ๆ. ขอพิจารณากรณีของชายหนุ่มคนหนึ่งชื่ออับดูร. มารดาของเขาป่วยด้วยโรคมะเร็ง และเขาต้องหาเลี้ยงมารดากับน้องชาย. เป็นธรรมดาอยู่เองที่อับดูรจะเป็นห่วงอาการป่วยของมารดา. แต่เขาพูดว่า “ผมนึกถึงคำเตือนสติจากคำตรัสของพระเยซูที่ว่า ‘มีใครในพวกท่านโดยความวิตกกังวลจะยืดชีวิตให้ยาวออกไปอีกสักศอกหนึ่งได้หรือ?’ แทนที่จะรู้สึกท้อแท้ ผมพยายามคิดถึงสภาพการณ์นั้นและตั้งใจจะทำสิ่งที่เป็นผลดีที่สุด.”—มัดธาย 6:27.
การข่มใจให้สงบในยามวิกฤติไม่ใช่เรื่องง่าย. บางคนกลายเป็นคนตรมทุกข์จนไม่ได้เอาใจใส่ตัวเอง และไม่อยากรับประทานอาหาร. อย่างไรก็ดี หนังสือการช่วยบุตรวัยรุ่นรับมือกับความเครียด (ภาษาอังกฤษ) เตือนว่า เมื่อคุณไม่ยอมรับประทานอาหาร คุณ “อาจถึงกับไม่สามารถต้านทานผลเสียอันเนื่องมาจากความเครียดและสุขภาพร่างกายก็อาจทรุดโทรมเสียด้วยซ้ำ.” ดังนั้น จงดูแลสุขภาพของคุณให้ดี, พักผ่อนให้พอ, และรับประทานอาหารบำรุงร่างกาย.
คุณจะได้รับการปลดเปลื้องที่วิเศษยิ่งโดยการปฏิบัติตามคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “จงมอบภาระของท่านไว้กับพระยะโฮวา และพระองค์เองจะทรงค้ำจุนท่าน. ไม่มีวันที่พระองค์จะทรงยอมให้คนชอบธรรมกะปลกกะเปลี้ยเลย.” (บทเพลงสรรเสริญ 55:22, ล.ม.) เชน ที่เอ่ยถึงตอนแรกนั้นก็เคยกังวลเกี่ยวกับอนาคตของตัวเอง. เขาเล่าว่า “ผมเริ่มจดจ่อกับพระคำของพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์มากขึ้น.” ไม่นาน เขาก็ตระหนักว่าจะมีความสุขในอนาคตได้ก็ต่อเมื่อเขาใช้ชีวิตของเขาไปในงานรับใช้พระเจ้า. (วิวรณ์ 4:11) เชนบอกว่า “ผมเลิกกังวลถึงตัวเอง ผมมีเรื่องอื่นสำคัญกว่าที่จะใคร่ครวญ.”
ดังนั้น เมื่อคุณรู้ตัวว่ากำลังกังวลจนเกินเหตุ จงพยายามหาแนวทางต่าง ๆ ในเชิงสร้างสรรค์เพื่อใช้จัดการกับปัญหาของคุณ. รับเอาคำแนะนำที่สุขุมรอบคอบ. และสำคัญอย่างยิ่งคือ มอบความกระวนกระวายใจของคุณไว้กับพระยะโฮวา “เพราะว่าพระองค์ทรงใฝ่พระทัยในท่านทั้งหลาย.” (1 เปโตร 5:7, ล.ม.) ด้วยการสงเคราะห์ของพระองค์ บางทีคุณอาจเลิกกังวลจนเกินเหตุได้.
[ภาพหน้า 13]
คุยกับบิดามารดาเกี่ยวกับสิ่งที่คุณกังวล
[ภาพหน้า 14]
ยิ่งคุณจัดการกับปัญหาเร็วเท่าไร คุณก็ยิ่งเลิกกังวลใจได้เร็วขึ้น