มนุษย์กำลังทำลายแหล่งอาหารของตัวเองอยู่ไหม?
มนุษย์กำลังทำลายแหล่งอาหารของตัวเองอยู่ไหม?
“ปัญหายุ่งยากที่แท้จริงของเราในสมัยนี้ไม่ใช่เรื่องหนี้สิน, การมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ, หรือการแข่งขันกันในระดับโลก แต่คือความจำเป็นที่ต้องค้นหาวิธีดำเนินชีวิตอย่างมีความหมายและน่าพึงพอใจโดยไม่ทำลายชีวภาคของโลก ซึ่งค้ำจุนชีวิตทุกชีวิต. มนุษยชาติไม่เคยเผชิญกับภัยคุกคามเช่นนี้มาก่อน นั่นคือการล่มสลายของปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้.”—เดวิด ซูซูกิ นักพันธุศาสตร์.
เป็นเรื่องง่ายที่จะถือว่าแอปเปิลเป็นผลไม้ธรรมดา ๆ ชนิดหนึ่ง. ถ้าคุณอาศัยอยู่ในที่ซึ่งมีการปลูกแอปเปิลกันมาก คุณอาจคิดว่าแอปเปิลนั้นหาได้ง่ายและยังมีให้เลือกหลายพันธุ์ด้วย. แต่คุณทราบไหมว่าสมัยนี้อาจมีแอปเปิลพันธุ์ต่าง ๆ ให้เลือกน้อยกว่าเมื่อ 100 ปีก่อนมากทีเดียว?
ระหว่างปี 1804 ถึง 1905 มีการปลูกแอปเปิล 7,098 พันธุ์ในสหรัฐ. ปัจจุบันนี้ 6,121 พันธุ์จากจำนวนนั้นได้สูญพันธุ์ไปแล้ว—คิดเป็น 86 เปอร์เซ็นต์. แพร์ก็คล้าย ๆ กัน. ประมาณ 88 เปอร์เซ็นต์ของแพร์ 2,683 พันธุ์ซึ่งเคยปลูกได้สูญพันธุ์ไปแล้วในปัจจุบัน. และในเรื่องพืชผักก็มีตัวเลขที่น่าวิตกมากกว่านี้เสียอีก. มีบางอย่างกำลังสูญไป นั่นคือความหลากหลายทางชีวภาพ—ไม่ใช่แค่ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ แต่รวมไปถึงความหลากหลายของพันธุ์ต่าง ๆ ภายในชนิดเดียวกันด้วย. ความหลากหลายภายในชนิดต่าง ๆ ของผักซึ่งปลูกในสหรัฐลดลงถึง 97 เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลาไม่ถึง 80 ปี! แต่ความหลากหลายนั้นสำคัญจริง ๆ หรือ?
นักวิทยาศาสตร์หลายคนบอกว่าสำคัญ. แม้ว่าบทบาทของความหลากหลายทางชีวภาพยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนกล่าวว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับชีวิตบนแผ่นดินโลก. พวกเขากล่าวว่า ความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญต่อพืชที่งอกขึ้นเองในป่าและในทุ่งหญ้าของโลกพอ ๆ กับพืชที่เราปลูกเพื่อเป็นอาหาร. ความหลากหลายภายใน ชนิดก็สำคัญด้วย. ตัวอย่างเช่น การมีข้าวหลายสายพันธุ์ทำให้มีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นที่บางสายพันธุ์จะสามารถต้านทานโรคระบาดได้. ด้วยเหตุนี้ เอกสารฉบับหนึ่งซึ่งจัดพิมพ์โดยสถาบันเวิลด์วอตช์ให้ข้อสังเกตเมื่อไม่นานมานี้ว่า สิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่าอะไรทั้งหมดซึ่งอาจแสดงให้มนุษยชาติเห็นว่าการทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพบนแผ่นดินโลกลดลงนั้นเป็นเรื่องร้ายแรงเพียงใด นั่นคือผลกระทบต่อแหล่งอาหารของเรา.
การสูญพันธุ์ของพืชอาจส่งผลกระทบต่อพืชผลที่เป็นอาหารอย่างน้อยสองประการ: ประการแรก โดยทำลายพืชที่งอกขึ้นเองซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกันกับพืชที่มีการเพาะปลูก ซึ่งอาจเป็นแหล่งของยีนที่จะใช้สำหรับการปรับปรุงพันธุ์ในอนาคต และประการที่สอง โดยลดจำนวนสายพันธุ์ภายใน ชนิดของพืชที่มีการเพาะปลูก. ตัวอย่างเช่น ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 อาจมีการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองมากกว่า 100,000 พันธุ์ในเอเชีย โดยในอินเดียประเทศเดียวมีการปลูกอย่างน้อย 30,000 พันธุ์. ในปัจจุบัน 75 เปอร์เซ็นต์ของข้าวที่ปลูกในอินเดียประกอบด้วยพันธุ์ต่าง ๆ เพียงสิบพันธุ์. ข้าวเกือบทั้งหมดที่ศรีลังกาเคยมีถึง 2,000 สายพันธุ์ก็ถูกแทนที่ด้วย 5 สายพันธุ์. เม็กซิโก ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของการทำไร่ข้าวโพด มีการปลูกข้าวโพดเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่เคยมีในทศวรรษ 1930.
แต่ไม่ใช่อาหารเท่านั้นที่ตกอยู่ในอันตราย. ยาประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ซึ่งผลิตเพื่อการค้านั้นได้มาจากพืช และมีการค้นพบพืชชนิดใหม่ ๆ ซึ่งสามารถใช้เป็นยาได้อยู่เสมอ ๆ. ถึงกระนั้นก็มีการทำให้พืชสูญพันธุ์อยู่เรื่อย ๆ. ที่แท้แล้วเรากำลังเลื่อยไม้ที่ค้ำยันเราอยู่ไหม?
ตามรายงานของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์โลก จากจำนวนพืชและสัตว์ประมาณ 18,000 ชนิดที่มีการสำรวจ มีมากกว่า 11,000 ชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์. ในบางแห่ง เช่นที่อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, และลาตินอเมริกา ซึ่งมีการถางป่ากันอย่างมากเพื่อการเพาะปลูก นักวิจัยได้แต่คาดเดาว่ามีสิ่งมีชีวิตสักกี่ชนิดที่กำลังจะสูญพันธุ์—หรือได้สูญพันธุ์ไปแล้ว. ถึงกระนั้น วารสารเดอะ ยูเนสโก คูเรียร์ รายงานคำกล่าวของบางคนที่ว่า การสูญพันธุ์นั้นเกิดขึ้น “อย่างรวดเร็วจนน่าตื่นตระหนก.”
แน่นอน แผ่นดินโลกยังคงผลิตอาหารได้ในปริมาณมหาศาล. แต่ประชากรมนุษย์ที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจะมีอาหารพอเลี้ยงตัวเองได้อีกนานแค่ไหนถ้าความหลากหลายทางชีวภาพของโลกลดน้อยลงเรื่อย ๆ? หลายประเทศได้ตอบสนองต่อความห่วงใยเช่นนั้นโดยก่อตั้งธนาคารเชื้อพันธุ์ขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่สูญเสียพันธุ์พืชที่สำคัญ. สวนพฤกษศาสตร์บางแห่งได้ดำเนินการอนุรักษ์พันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ. วิทยาศาสตร์ได้จัดหาเครื่องมือที่ทรงพลังชนิดใหม่ นั่นคือพันธุวิศวกรรม. แต่ธนาคารเชื้อพันธุ์และวิทยาศาสตร์จะจัดการกับปัญหานี้ได้จริง ๆ ไหม? บทความถัดไปจะพิจารณาคำถามนี้.