เมืองในแอฟริกาซึ่งตะวันออกพบตะวันตก
เมืองในแอฟริกาซึ่งตะวันออกพบตะวันตก
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในแอฟริกาใต้
ช่างเป็นภาพที่มีสีสันสดใสอะไรเช่นนี้เมื่อคุณเดินไปตามถนนในเมืองเดอร์บัน! คุณจะเห็นว่าหลายคนใส่เสื้อผ้าแบบตะวันตก โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว. แต่โปรดสังเกตสุภาพสตรีชาวซูลูผู้สูงอายุด้วยซึ่งสวมชุดยาวที่สุภาพและประดับศีรษะด้วยผ้าโพกสีสดใส. นอกจากนั้นยังมีสุภาพสตรีชาวอินเดียแต่งชุดส่าหรีหรือชุดของแคว้นปัญจาบพร้อมด้วยกางเกง. ขณะที่คุณเข้าไปใกล้ชายหาด คุณคงจะเห็นพวกผู้ชายชาวซูลูบางคนในชุดที่ประณีตซึ่งกำลังลากรถลาก. จริงทีเดียว เมืองเดอร์บันเป็นเมืองที่ไม่ธรรมดาของแอฟริกาที่ซึ่งตะวันออกพบตะวันตก. ประวัติความเป็นมาของเมืองอันน่าทึ่งนี้เป็นอย่างไร?
เมืองเดอร์บันซึ่งอยู่ในแอฟริกาใต้มีผู้อาศัยอยู่ยังไม่ถึงสองศตวรรษ. ผู้ตั้งอาณานิคมซึ่งเป็นเชื้อสายของชาวยุโรปประมาณ 40 คนได้ตั้งถิ่นฐานขึ้นที่นี่ในปี 1824. ในเวลานั้น อาณาจักรที่เข้มแข็งของชาวซูลูภายใต้ชากา กษัตริย์นักรบของพวกเขา มีศูนย์กลางอยู่ทางเหนือของเมืองเดอร์บัน. ยี่สิบปีต่อมา เมืองเดอร์บันและพื้นที่โดยรอบที่อยู่ลึกเข้าไปก็ถูกบริเตนผนวกเข้าเป็นอาณานิคม. มีการรบกันหลายครั้งระหว่างผู้ตั้งอาณานิคมใหม่กับชาวซูลูในช่วงศตวรรษที่ 19.
ขณะเดียวกัน ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอังกฤษพบว่าต้นอ้อยเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่แถบชายฝั่งทะเล. เพื่อจะทำไร่อ้อยได้ พวกเขาจึงจัดการนำคนงานมาจากอินเดีย ซึ่งตอนนั้นเป็นอาณานิคมอีกแห่งหนึ่งของอังกฤษ. ระหว่างปี 1860 ถึงปี 1911 มีชาวอินเดียกว่า 150,000 คนมาที่เมืองเดอร์บัน. ผลก็คือปัจจุบันนี้ในเขตเมืองใหญ่ของเดอร์บันมีประชากรมากกว่าสามล้านคน ซึ่งประกอบด้วยผู้คนจากสามพื้นที่ที่แตกต่างกันของแผ่นดินโลก—ชาวซูลูพื้นเมือง, ชาวเอเชียจากอินเดีย, และผู้คนที่เป็นเชื้อสายของชาวบริเตนและชาวยุโรปตะวันตกอื่น ๆ.
เมืองนี้มีลักษณะที่น่าสนใจอื่น ๆ อีก. ดังที่เห็นได้ในภาพถ่ายที่ลงไว้นี้ เมืองนี้มีท่าเรือธรรมชาติที่ได้รับการปกป้องจากมหาสมุทรอินเดียโดยผืนดินที่ยาวออกไปซึ่งเรียกว่า บลัฟฟ์. ผืนดินอันสวยงามนี้สูงกว่า 90 เมตรและปกคลุมไปด้วยต้นไม้. ทุกวัน เรือลำใหญ่ ๆ ผ่านเข้ามาในท่าเรือที่ได้รับการปกป้องโดยธรรมชาติแห่งนี้. หนังสือคู่มือการค้นพบแอฟริกาทางใต้ (ภาษาอังกฤษ) อธิบายว่า เดอร์บันมี “ท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดและพลุกพล่านที่สุดในแอฟริกา ซึ่งเป็นอันดับที่เก้าของโลก.” นักท่องเที่ยวถูกดึงดูดไปที่ชายหาดชั้นดีของเดอร์บันและชื่นชมกับน้ำอุ่น. มีที่ที่ยอดเยี่ยมสำหรับการโต้คลื่น และคนที่เล่นน้ำก็รู้สึกสบายใจเมื่อมีตาข่ายกันปลาฉลามที่ปลอดภัยและมีการดูแลรักษาอย่างดี.
ผู้รักคัมภีร์ไบเบิลมีเหตุผลมากขึ้นอีกที่จะสนใจในเมืองนี้. นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งเป็นชื่อเรียกพยานพระยะโฮวาในสมัยนั้น ตั้งสำนักงานสาขาขึ้นที่นี่ในปี 1910. จากนั้น การประชุมใหญ่ครั้งแรกของนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลในแอฟริกาก็ถูกจัดขึ้นที่เมืองเดอร์บันในเดือนเมษายน 1914. มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 50 คน รวมทั้งตัวแทนจากพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลในแอฟริกาใต้. ณ การประชุมครั้งประวัติศาสตร์นั้น มีผู้นมัสการใหม่ 16 คนได้รับบัพติสมา. ผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนหนึ่งเป็นคริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งพิสูจน์ความซื่อสัตย์ตราบจนสิ้นชีวิต รวมทั้งวิลเลียม ดับเบิลยู. จอห์นสตัน ซึ่งเป็นคนแรกที่ดูแลสำนักงานสาขาในแอฟริกา.
พยานพระยะโฮวาได้จัดการประชุมใหญ่อีกหลายครั้งในเมืองเดอร์บันตั้งแต่ปี 1914. ในเดือนธันวาคมปี 2000 มีประมาณ 14,848 คนเข้าร่วมการประชุมภาค “ผู้ปฏิบัติตามพระคำของพระเจ้า” ซึ่งจัดขึ้นสองแห่งในเมืองนั้น และมีคนใหม่ 278 คนรับบัพติสมา. ขอให้พิจารณาครอบครัวชาวอินเดียครอบครัวหนึ่งที่เข้าร่วมการประชุม. เมื่อสิบปีที่แล้ว แอลลันผู้เป็นพ่อได้มารู้จักความจริงของคัมภีร์ไบเบิลเนื่องจากลูกสาวของเขาชื่อโซมาชีนี. แอลลันกำลังฟื้นตัวจากโรคพิษสุราเรื้อรังและกำลังเสาะหาจุดมุ่งหมายในชีวิต. โซมาชีนี ซึ่งตอนนั้นมีอายุเพียงสามขวบ ได้นำหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเธอพบในบ้านของเพื่อนบ้านไปให้พ่อของเธอ. ชื่อหนังสือสันติภาพที่แท้จริงและความปลอดภัย—คุณจะพบได้อย่างไร? (ภาษาอังกฤษ) นั้นดึงดูดใจแอลลันทันที. เขาชอบสิ่งที่อ่านและเริ่มคบหากับพยานพระยะโฮวา. เนื่องจากสิ่งที่เขาเรียนรู้จากคัมภีร์ไบเบิล แอลลันได้จดทะเบียนสมรส. ไม่นาน รานีซึ่งเป็นภรรยาของเขาก็เริ่มสนใจและเริ่มเข้าร่วมการประชุมของพยานพระยะโฮวาด้วย. ในตอนนั้น ทั้งคู่อยู่กับบิดามารดาของรานี ซึ่งเข้าร่วมกับคริสตจักรแห่งหนึ่งในคริสต์ศาสนจักร. บิดามารดาต่อต้านศาสนาที่หนุ่มสาวคู่นี้เพิ่งค้นพบและยื่นคำขาดว่า “ถ้าไม่เลิกคบกับพวกพยานฯ ก็ออกจากบ้านไป!”
แอลลันกับรานีตัดสินใจออกจากบ้าน แม้ว่าจะหาที่อยู่ได้ยาก. เพื่อน ๆ ท่ามกลางพยานพระยะโฮวาช่วยพวกเขาหาที่ซึ่งเหมาะจะอยู่ได้. ในปี 1992 แอลลันกับรานีรับบัพติสมาเป็นพยานพระยะโฮวา. พวกเขาก้าวหน้าต่อไป และปัจจุบันนี้แอลลันทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองในประชาคมคริสเตียน.
มีประชาคมของพยานพระยะโฮวามากกว่า 50 ประชาคมในเขตเมืองใหญ่ของเดอร์บัน. ส่วนใหญ่เป็นชาวซูลู. อย่างไรก็ตาม บางประชาคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบใกล้ ๆ ใจกลางเมืองประกอบไปด้วยชาวซูลู, ชาวอินเดีย, และคนที่มีเชื้อสายจากยุโรป. ถ้าคุณไปที่การประชุมเหล่านี้สักแห่งหนึ่ง คุณจะเห็นยิ่งกว่าตะวันออกพบตะวันตกเสียอีก. บางทีพยานฯ ชาวแอฟริกาที่แต่งตัวภูมิฐานหรือไม่ก็พยานฯ ชาวอินเดีย หรือพยานฯ เชื้อสายยุโรปอาจนำการประชุมอยู่. แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ ในหมู่ผู้ฟังคุณจะเห็นข้อพิสูจน์ที่มีชีวิตที่ว่า คัมภีร์ไบเบิลมีพลังที่ทำให้ผู้คนจากทุกชาติเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในมิตรภาพที่อบอุ่นและยืนนาน.
[ภาพหน้า 26]
การประชุมประชาคมนำผู้คนจากทุกเชื้อชาติมารวมกัน
[ภาพหน้า 26]
ศาลากลางเมืองเดอร์บัน
[ภาพหน้า 26]
แอลลัน, รานี, กับลูก ๆ
[ที่มาของภาพหน้า 25]
Photos: Courtesy Gonsul Pillay