การแก้แค้นนั้นผิดตรงไหน?
หนุ่มสาวถามว่า . . .
การแก้แค้นนั้นผิดตรงไหน?
“เขาดูถูกผม.”—คอนนีลวัย 15 ปี ติดคุกข้อหาฆาตกรรม.
แอนดรูว์วัย 14 ปี ซึ่งฆ่าครูคนหนึ่งในงานเต้นรำของโรงเรียน บอกว่าเขาเกลียดครูและพ่อแม่ของเขาและโกรธพวกเด็กผู้หญิงเพราะปฏิเสธเขา.
วารสารไทม์ เรียกสิ่งนี้ว่า “แนวโน้มร้ายกาจ.” วัยรุ่นที่เดือดดาลคนหนึ่งแอบนำอาวุธร้ายแรงเข้าไปในโรงเรียนและยิงกราดใส่เพื่อนนักเรียนและครู. โศกนาฏกรรมแบบนี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นแพร่หลายในสหรัฐจนเครือข่ายโทรทัศน์แห่งหนึ่งเรียกแนวโน้มนี้ว่า “การปะทุของความรุนแรง.”
น่ายินดีที่การยิงกันในโรงเรียนยังคงเกิดขึ้นน้อย. ถึงกระนั้น อาชญากรรมในช่วงหลัง ๆ ซึ่งเกิดจากความเดือดดาลเผยว่าหนุ่มสาวบางคนมีความขุ่นแค้นมากสักเพียงใด. อะไรดูเหมือนกระตุ้นให้เกิดการบันดาลโทสะเช่นนั้น? หนุ่มสาวเหล่านี้บางคนดูเหมือนโกรธแค้นที่ไม่ได้รับความยุติธรรมหรือประสบกับการใช้อำนาจอย่างผิด ๆ จากน้ำมือของคนที่มีอำนาจ. ส่วนบางคนดูเหมือนโกรธเมื่อถูกเพื่อน ๆ ล้อเลียนไม่จบสิ้น. เด็กชายวัย 12 ปีคนหนึ่งถูกล้อเรื่องอ้วนเกินไป จึงยิงเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งแล้วก็ยิงตัวเอง.
จริงอยู่ หนุ่มสาวส่วนใหญ่ไม่เคยคิดจริงจังที่จะทำอะไรรุนแรงเช่นนั้น. ถึงกระนั้น การรับมือกับความเจ็บใจและความปวดร้าวที่เกิดขึ้นเมื่อคุณเป็นเหยื่อของการเหยียดผิว, การกลั่นแกล้ง, หรือการยั่วเย้าแรง ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย. เมื่อมองย้อนไปถึงสมัยที่ยังเรียนอยู่ เบนเล่าว่า “ผมเตี้ยที่สุดในเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันเสมอ. และเนื่องจากผมโกนศีรษะเกลี้ยง เด็กคนอื่น ๆ ก็ล้อผมอยู่เรื่อย ๆ และตบหัวผม. ผมจึงโมโหมาก. เรื่องราวแย่ลงไปอีกเมื่อผมขอความช่วยเหลือจากผู้ที่มีอำนาจ แต่พวกเขากลับเพิกเฉย. ผมจึงยิ่งโมโหมากขึ้นอีก!” เบนกล่าวว่า “สิ่งเดียวที่ทำให้ผมไม่ได้เอาปืนไปยิงคนพวกนั้นคือผมหาปืนไม่ได้.”
คุณควรมีทัศนะอย่างไรต่อหนุ่มสาวที่พยายามแก้แค้นคนที่ทำให้พวกเขาเจ็บใจ? และคุณควรทำอย่างไรถ้าคุณตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งเสียเอง? เพื่อจะตอบคำถามดังกล่าว ขอพิจารณาสิ่งที่กล่าวในพระคำของพระเจ้า.
การรู้จักบังคับตน—สัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง!
การถูกกลั่นแกล้งและความอยุติธรรมนั้นมีมานานแล้ว. ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งแนะนำว่า “จงอดกลั้นความโกรธไว้, และระงับความโทโสเสีย: อย่าให้ใจเดือดร้อน, มีแต่จะเป็นเหตุให้ทำการชั่วเท่านั้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 37:8) บ่อยมากทีเดียวที่ความเดือดดาลเกี่ยวข้องกับการสูญเสียการบังคับตนเองและปะทุออกมาโดยไม่คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้น. การสะสมความโกรธมากขึ้น โดยไม่ควบคุมอาจทำให้เกิดการระเบิดอารมณ์ได้! ผลอาจเป็นอย่างไร?
ขอพิจารณาตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลเรื่องคายินกับเฮเบล. ‘คายินโกรธแค้น’ เฮเบลน้องชายของตน. ผลก็คือ “เมื่ออยู่ที่นาด้วยกัน, คายินก็ลุกขึ้นฆ่าเฮเบลน้องชายของตนเสีย.” (เยเนซิศ 4:5, 8) ตัวอย่างของความเดือดดาลที่ไม่มีการควบคุมอีกตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวข้องกับกษัตริย์ซาอูล. เนื่องจากอิจฉาวีรกรรมทางทหารของเด็กหนุ่มดาวิด ท่านซัดหอกใส่—ไม่ใช่ดาวิดคนเดียวแต่โยนาธานราชบุตรของท่านเองด้วย!—1 ซามูเอล 18:11; 19:10; 20:30-34.
จริงอยู่ มีบางครั้งที่สมควรโกรธ. แต่แม้กระทั่งตอนนั้น ความขุ่นเคืองที่ถูกต้องก็อาจทำให้เกิดผลเสียได้ถ้าไม่ได้ควบคุม. ตัวอย่างเช่น ซิมโอนกับเลวีย่อมมีสิทธิ์จะโกรธเซเค็มเมื่อพวกเขารู้ว่าเซเค็มข่มขืนดีนาน้องสาวของตน. แต่แทนที่จะข่มใจไว้ พวกเขากระตุ้นให้เกิดความโกรธแค้น ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวในภายหลังของพวกเขาที่ว่า “มันจะทำกับน้องสาวของเราเหมือนเป็นหญิงแพศยาหรือ?” (เยเนซิศ 34:31) และเมื่อความโกรธของเขาพุ่งขึ้นถึงขีดสุดแล้ว พวกเขา “ก็ถือดาบเข้าไปในเมืองด้วยใจกล้าหาญฆ่าผู้ชายในเมือง [ของเซเค็ม] นั้นเสียสิ้น.” ความเดือดดาลของพวกเขาลุกลามไปถึงคนอื่น ๆ ด้วยเพราะ “บุตรชายของยาโคบ [“บุตรชายคนอื่น ๆ ของยาโคบ,” ล.ม.]” ร่วมในการโจมตีซึ่งเป็นการฆาตกรรมนั้น. (เยเนซิศ 34:25-27) แม้เวลาจะผ่านไปหลายปี ยาโคบ บิดาของซิมโอนกับเลวียังตำหนิความโกรธที่ไม่มีการควบคุมของพวกเขา.—เยเนซิศ 49:5-7.
เราเรียนจุดสำคัญจุดหนึ่งจากเรื่องนี้คือ ความโกรธที่ไม่มีการควบคุมไม่ได้แสดงถึงความเข้มแข็ง แต่แสดงถึงความอ่อนแอ. สุภาษิต 16:32 กล่าวว่า “คนที่อดโทโสได้ก็ดีกว่าคนที่มีกำลังแข็งแรง; คนที่ชนะใจของตน ก็ดีกว่าคนที่ชนะตีเมืองได้.”
ความโง่เขลาของการแก้แค้น
ด้วยเหตุนี้ พระคัมภีร์จึงแนะนำดังนี้ “อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเลย. . . . อย่าทำการแก้แค้น.” (โรม 12:17, 19) การแก้แค้น—ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายหรือเป็นเพียงคำด่าว่า—ไม่ได้เป็นตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. นอกจากนั้น การแก้แค้นไม่เกิดผลดีและไม่สุขุม. เหตุผลอย่างหนึ่งคือ ความรุนแรงมักถูกโต้ตอบด้วยความรุนแรงยิ่งขึ้น. (มัดธาย 26:52) และคำด่าว่าก็จะถูกโต้ตอบด้วยคำด่าว่ามากขึ้น. และอย่าลืมว่าบ่อยครั้งความโกรธไม่ได้มีเหตุอันควร. ตัวอย่างเช่น คุณจะแน่ใจไหมว่าคนที่ทำให้คุณโกรธมีเจตนาร้ายต่อคุณ? เป็นไปได้ไหมที่คนนั้นเพียงแต่ไม่ได้คิดหรือไม่ทันระวัง? และแม้ว่านั่นเป็นการจงใจกลั่นแกล้ง สถานการณ์นั้นทำให้การแก้แค้นเป็นสิ่งที่สมควรทำจริง ๆ ไหม?
ลองพิจารณาถ้อยคำในคัมภีร์ไบเบิลที่ท่านผู้ประกาศ 7:21, 22 ที่ว่า “อย่าปล่อยใจให้ไปฟังบรรดาถ้อยคำที่ใคร ๆ กล่าว, เกรงว่าเจ้าจะได้ยินทาสของเจ้าแช่งด่าตัวเจ้า: ด้วยว่าหลายครั้งหลายคราวเจ้าก็แจ้งอยู่กับใจของเจ้าเองแล้วว่า, ตัวเจ้าเองได้แช่งด่าเขาเหมือนกัน.” ถูกแล้ว เป็นเรื่องไม่น่ายินดีเมื่อมีคนพูดถึงคุณในทางที่ไม่ดี. แต่คัมภีร์ไบเบิลยอมรับว่านั่นเป็นสิ่งธรรมดาที่เกิดขึ้นในชีวิต. คุณคงเคยพูดถึงคนอื่นแบบที่ไม่น่าพูดมิใช่หรือ? แล้วทำไมคุณจะต้องมีปฏิกิริยาเกินควรเมื่อมีใครพูดอะไรบางอย่างที่ไม่ดีเกี่ยวกับคุณ? หลายครั้ง วิธีที่ดีที่สุดที่จะรับมือกับการยั่วเย้าคือแค่เฉยเสีย.
คล้ายกัน เป็นสิ่งที่ไม่สุขุมที่จะแสดงปฏิกิริยามากเกินไปเมื่อคุณรู้สึกว่าถูกกลั่นแกล้ง. วัยรุ่นคนหนึ่งชื่อเดวิดเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเขาเล่นบาสเกตบอลกับเพื่อนคริสเตียน. เดวิดเล่าว่า “มีคนหนึ่งจากอีกทีมขว้างบอลโดนผม.” โดยคิดว่าเป็นการแกล้งกัน เดวิดแก้แค้นทันที เขาขว้างบอลกลับไปใส่ผู้เล่นคนนั้น. เดวิดยอมรับว่า “ผมโกรธมากจริง ๆ.” แต่ก่อนที่เรื่องจะบานปลาย เดวิดอธิษฐานต่อพระยะโฮวา. เขาพูดกับตัวเองว่า ‘ผมกำลังทำอะไร อยากจะสู้กับพี่น้องคริสเตียนหรือ?’ ต่อมาพวกเขาต่างก็ขอโทษกัน.
ในสถานการณ์เช่นนั้น นับว่าดีที่จะจำตัวอย่างของพระเยซูคริสต์. “ครั้นเขากล่าวคำหยาบคายต่อพระองค์, พระองค์ไม่ได้กล่าวคำหยาบคายตอบแทนเลย เมื่อพระองค์ได้ทรงทนเอาการร้ายเช่นนั้น พระองค์ไม่ได้ขู่ตวาด.” (1 เปโตร 2:23) ใช่แล้ว เมื่อรู้สึกเครียด แทนที่จะตอบโต้ จงอธิษฐานต่อพระเจ้าขอพระองค์ทรงช่วยให้คุณบังคับตัวไว้. พระองค์จะ “ประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ แก่คนทั้งปวงที่ขอจากพระองค์” อย่างพระทัยกว้าง. (ลูกา 11:13) แทนที่จะแก้แค้นเมื่อมีคนทำให้คุณโมโห บางทีอาจดีที่สุดที่จะไปหาคนนั้นแล้วคุยถึงเรื่องนั้น. (มัดธาย 5:23, 24) หรือถ้าคุณถูกตามรังควานอย่างหนัก บางทีอาจถูกเพื่อนที่โรงเรียนกลั่นแกล้ง ก็อย่าพยายามเผชิญหน้ากันในแบบซึ่งอาจจะเกิดความรุนแรงขึ้นได้. แทนที่จะทำอย่างนั้น คุณต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อป้องกันตัวเอง. *
หนุ่มสาวคนหนึ่งซึ่งได้ขจัดความเดือดดาล
หนุ่มสาวหลายคนได้ใช้หลักการเหล่านี้จากคัมภีร์ไบเบิลแล้วเกิดผลดี. เพื่อเป็นตัวอย่าง แคทรีนาถูกยกให้เป็นลูกบุญธรรมของคนอื่นตั้งแต่อายุยังน้อย. เธอกล่าวว่า “ดิฉันมีปัญหากับความเดือดดาล เพราะดิฉันไม่เข้าใจว่าทำไมแม่ที่ให้กำเนิดจึงทิ้งดิฉัน. ดิฉันจึงระบายความโกรธกับแม่บุญธรรม. ด้วยเหตุผลโง่ ๆ บางอย่าง ดิฉันรู้สึกว่าถ้าทำให้แม่บุญธรรมเจ็บปวด นั่นเป็นการแก้แค้นแม่ที่ให้กำเนิดในทางใดทางหนึ่ง. ดิฉันจึงทำทุกอย่าง—พูดให้เจ็บ, กระทืบเท้า, แผดเสียง. ที่ดิฉันชอบทำมากคือกระแทกประตูดัง ๆ. ดิฉันยังเคยพูดว่า ‘หนูเกลียดคุณ!’—ทั้งหมดก็เพราะดิฉันโกรธมาก. เมื่อมองย้อนไป ดิฉันไม่อยากเชื่อเลยว่าดิฉันได้ทำสิ่งเหล่านั้นลงไป.”
อะไรช่วยแคทรีนาให้ควบคุมอารมณ์ของเธอ? เธอตอบว่า “การอ่านคัมภีร์ไบเบิลค่ะ! นั่นสำคัญจริง ๆ เพราะพระยะโฮวาทรงทราบว่าเรารู้สึกอย่างไร.” แคทรีนายังพบการปลอบโยนเมื่อเธอกับครอบครัวได้อ่านบทความในตื่นเถิด! ซึ่งพิจารณาสภาพการณ์ในครอบครัวแบบของเธอโดยเฉพาะ. * เธอบอกว่า “เราทุกคนสามารถนั่งลงปรึกษากันและเข้าใจความรู้สึกของกันและกันได้.”
คุณก็สามารถเรียนรู้การควบคุมความโกรธได้เช่นกัน. เมื่อถูกยั่วเย้า, รังแก, หรือถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม จงจำถ้อยคำของคัมภีร์ไบเบิลที่บทเพลงสรรเสริญ 4:4 (ล.ม.) ไว้ที่ว่า “ขุ่นเคืองไปเถิด แต่อย่าทำบาป.” ถ้อยคำเหล่านี้อาจช่วยคุณให้หลีกเลี่ยงการยอมจำนนต่อความเดือดดาลที่ก่อผลเสีย.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 18 สำหรับคำแนะนำที่ใช้ได้จริงเกี่ยวกับการรับมือกับครูที่ไม่ยุติธรรม, พวกอันธพาลในโรงเรียน, และพวกก่อกวน ดูบทความ “หนุ่มสาวถามว่า . . . ” ในตื่นเถิด! ฉบับ 8 กุมภาพันธ์ 1984 (ภาษาอังกฤษ); 8 กันยายน 1985; และ 8 สิงหาคม 1989 (ภาษาอังกฤษ).
^ วรรค 21 ดูชุดบทความ “การรับบุตรบุญธรรม—ความยินดี ข้อท้าทาย” ซึ่งลงในตื่นเถิด! ฉบับ 8 พฤษภาคม 1996 (ภาษาอังกฤษ).
[ภาพหน้า 15]
หลายครั้ง วิธีที่ดีที่สุดที่จะรับมือกับการยั่วเย้าคือแค่เฉยเสีย