คุณจะพบความช่วยเหลือได้
คุณจะพบความช่วยเหลือได้
‘ยานอนหลับสี่สิบเก้าเม็ดอยู่ในถ้วย. ผมควรจะกินมันหรือไม่?’ ชายวัย 28 ปีคนหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์ถามตัวเอง. ภรรยากับลูก ๆ ทิ้งเขาไป และเขาเป็นโรคซึมเศร้าอย่างหนัก. แต่หลังจากกินยานั้นเข้าไป เขาพูดกับตัวเองว่า ‘ไม่. ผมไม่อยากตาย!’ น่ายินดีที่เขารอดชีวิตมาเล่าเรื่องราวของตนได้. แรงผลักดันให้ฆ่าตัวตายไม่ได้นำไปสู่ความตายเสมอไป.
อเลกซ์ ครอสบี จากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ กล่าวเกี่ยวกับการพยายามฆ่าตัวตายในหมู่วัยรุ่นว่า “ถ้าคุณสามารถหน่วงไว้ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง คุณอาจจะหยุดมันได้. ถ้ามีการแทรกแซง ก็อาจมีหลายรายที่คุณจะป้องกันไม่ให้ฆ่าตัวตายได้สำเร็จ. คุณสามารถช่วยชีวิตพวกเขาได้.”
ขณะที่ทำงานในศูนย์ช่วยชีวิตและเหตุฉุกเฉิน ณ วิทยาลัยแพทย์แห่งญี่ปุ่น ศาสตราจารย์ฮิซาชิ คุโรซาวะ ได้ช่วยคนที่คิดจะฆ่าตัวตายหลายร้อยคนให้กลับมามีความปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่อีกครั้ง. ถูกแล้ว ถ้ามีการแทรกแซงโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ก็อาจช่วยชีวิตหลายคนไว้ได้. ความช่วยเหลือแบบใดที่จำเป็น?
เผชิญปัญหาที่แฝงเร้น
ดังที่กล่าวในบทความก่อนหน้านี้ นักวิจัยกล่าวว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ฆ่าตัวตายมีความผิดปกติทางจิตเวช
หรือไม่ก็ปัญหายาเสพติด. ด้วยเหตุนั้น อีฟ เค. มอชชิตสกี แห่งสถาบันสุขภาพจิตสหรัฐจึงกล่าวว่า “ความหวังอันยิ่งใหญ่ที่สุดในการป้องกันการฆ่าตัวตายของคนทุกกลุ่มอายุก็คือการป้องกันความผิดปกติทางจิตและปัญหายาเสพติด.”น่าเศร้า หลายคนซึ่งมีความผิดปกติดังกล่าวมักไม่แสวงหาความช่วยเหลือ. เพราะเหตุใด? โยชิโตโมะ ทากาฮาชิ แห่งสถาบันจิตเวชศาสตร์โตเกียว ให้ความเห็นว่า “เพราะว่าสังคมมีอคติอย่างมาก.” เขาเสริมว่าเนื่องจากเหตุนี้ แม้แต่คนที่พอจะรู้ว่าตัวเองป่วยก็ลังเลที่จะหาทางรักษาโดยทันที.
แต่บางคนไม่ยอมให้ความอายยับยั้งพวกเขาไว้. ฮิโรชิ โอกาวะ พิธีกรทางโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงซึ่งได้จัดรายการในญี่ปุ่นมาเป็นเวลากว่า 17 ปี ยอมรับอย่างเปิดเผยว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้า และเกือบจะฆ่าตัวตายด้วยซ้ำ. โอกาวะกล่าวว่า “โรคซึมเศร้าเป็นเหมือนกับอาการหวัดทางจิตใจ.” เขาอธิบายว่า ใคร ๆ ก็อาจติดได้ แต่ก็หายได้ด้วย.
คุยกับใครสักคน
เบลา บูดา เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขของฮังการีซึ่งกล่าวถึงข้างต้นกล่าวว่า “เมื่อใครสักคนสู้กับปัญหาโดยลำพัง เขาก็มักจะมองปัญหานั้นว่าใหญ่เกินจริงและไม่มีทางแก้.” ข้อสังเกตนี้เน้นถึงสติปัญญาของสุภาษิตโบราณในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “คนที่ปลีกตัวออกไปจากผู้อื่นจงใจจะทำตามตนเอง, และค้านคติแห่งปัญญาอันถูกต้องทั้งหลาย.”—สุภาษิต 18:1.
ขอคุณรับฟังถ้อยคำแห่งสติปัญญานี้. อย่าสู้กับปัญหาส่วนตัวที่หนักหนาสาหัสโดยลำพัง. จงหาใครสักคนที่คุณไว้ใจและที่คุณสามารถเปิดเผยเรื่องราวต่าง ๆ ได้. คุณอาจกล่าวว่า ‘แต่ไม่มีใครที่ฉันจะระบายความในใจให้ฟังเลย.’ หลายคนรู้สึกอย่างนั้น ตามคำกล่าวของผู้
เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ดร. นาโอกิ ซาโตะ. เขากล่าวว่า คนไข้อาจไม่อยากจะเล่าเรื่องส่วนตัวให้คนอื่นฟังเพราะพวกเขาไม่ต้องการเปิดเผยความอ่อนแอของตัวเอง.คนเราจะหันไปหาใครที่ยินดีรับฟัง? ในหลายแห่ง เขาอาจขอความช่วยเหลือจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตาย หรือศูนย์ฮอตไลน์หรือพบแพทย์ที่มีชื่อเสียงในการรักษาปัญหาทางอารมณ์. แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังตระหนักว่ามีแหล่งที่ให้ความช่วยเหลืออีกแหล่งหนึ่ง นั่นคือศาสนา. ศาสนาจะช่วยได้อย่างไร?
การพบความช่วยเหลือที่จำเป็น
มาริน ผู้ทุพพลภาพในบัลแกเรีย เกิดความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายมาก. อยู่มาวันหนึ่งเขาได้พบวารสารทางศาสนาเล่มหนึ่งโดยบังเอิญ นั่นคือหอสังเกตการณ์ ซึ่งจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา. เขาตอบรับคำเชิญในวารสารนั้นที่ให้พยานพระยะโฮวามาเยี่ยมเขาเป็นส่วนตัว. มารินอธิบายถึงผลที่เกิดขึ้นดังนี้: “ผมได้เรียนรู้จากพวกเขาว่าชีวิตเป็นของประทานจากพระบิดาฝ่ายสวรรค์และเราไม่มีสิทธิ์จะทำร้ายตัวเองหรือจงใจจบชีวิตของตัวเอง. เพราะเหตุนี้ จากเมื่อก่อนที่ผมเคยอยากฆ่าตัวตาย ผมจึงกลับมารักชีวิตอีกครั้ง!” มารินยังได้รับการหนุนกำลังใจด้วยความรักจากประชาคมคริสเตียนอีกด้วย. แม้ว่ายังทุพพลภาพ แต่เขากล่าวว่า “แต่ละวันของผมในตอนนี้มีความยินดีและความสงบสุข และมีสิ่งที่น่ายินดีให้ทำมากกว่าที่ผมมีเวลาเสียอีก! ทั้งหมดนี้ผมเป็นหนี้พระคุณพระยะโฮวารวมทั้งเหล่าพยานของพระองค์.”
ชายหนุ่มชาวสวิสซึ่งกล่าวถึงในตอนต้นก็ได้รับความช่วยเหลือจากพยานพระยะโฮวาด้วย. ปัจจุบันนี้เขากล่าวชม “ความกรุณาของครอบครัวคริสเตียน” ซึ่งรับเขาไว้ให้อาศัยในบ้าน. เขาเสริมว่า “ต่อมา สมาชิกในประชาคม [ของพยานพระยะโฮวา] ต่างก็เวียนกันเชิญผมไปรับประทานอาหารวันแล้ววันเล่า. สิ่งที่ช่วยผมไม่ใช่แค่การได้รับการปฏิบัติอย่างกรุณาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการที่ได้พูดให้ใครสักคนฟัง.”
ชายคนนี้ได้รับการหนุนกำลังใจอย่างมากจากการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาเรียนรู้เกี่ยวกับความรักที่พระยะโฮวา พระเจ้าองค์เที่ยงแท้ ทรงมีต่อมนุษยชาติ. (โยฮัน 3:16) ที่จริง พระยะโฮวาพระเจ้าทรงฟังเมื่อคุณ ‘ระบายความในใจของคุณ’ ต่อพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 62:8, ล.ม.) “พระยะโฮวาทรงทอดพระเนตรไปทั่วพิภพโลก” ไม่ใช่เพื่อจับผิดไพร่พลของพระองค์ แต่ “เพื่อจะสำแดงว่าพระองค์ทรงฤทธานุภาพสถิตอยู่กับคนทั้งปวงที่มีใจซื่อสัตย์สุจริตต่อพระองค์.” (2 โครนิกา 16:9) พระยะโฮวาทรงรับรองกับเราว่า “อย่ากลัวเลย, ด้วยว่าเราอยู่กับเจ้า, อย่าท้อใจ, เพราะเราเป็นพระเจ้าของเจ้า, เราจะหนุนกำลังเจ้า, เออ, เราจะช่วยเจ้า, เออ, เราจะยกชูเจ้าไว้ด้วยมือขวาอันชอบธรรมของเรา.”—ยะซายา 41:10.
เฮ็บราย 6:19; บทเพลงสรรเสริญ 37:10, 11, 29.
เกี่ยวกับโลกใหม่ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ ชายชาวสวิสคนนั้นกล่าวว่า “เรื่องนี้ได้ช่วยบรรเทาความกลัดกลุ้มของผมลงมากทีเดียว.” ความหวังนี้ ซึ่งได้รับการพรรณนาว่าเป็น “สมอของจิตต์วิญญาณ” เกี่ยวข้องกับคำสัญญาเรื่องชีวิตนิรันดร์ในอุทยานบนแผ่นดินโลก.—ชีวิตของคุณมีความสำคัญสำหรับคนอื่น
จริงอยู่ คุณอาจเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกว่าคุณอยู่ตัวคนเดียวจริง ๆ และถ้าคุณตายไปก็คงไม่กระทบกระเทือนใคร. แต่จงจำไว้ว่า มีความแตกต่างอย่างมากทีเดียวระหว่างการรู้สึก ว่าอยู่เดียวดายกับการอยู่เดียวดายจริง ๆ. ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ผู้พยากรณ์เอลียาประสบกับช่วงที่ท้อแท้ในชีวิต. ท่านทูลพระยะโฮวาว่า “[พวกเขาได้] ฆ่าผู้พยากรณ์ด้วยดาบ; ยังเหลือเฉพาะแต่ข้าพเจ้าผู้เดียวเท่านั้น.” ถูกแล้ว เอลียารู้สึกว่าท่านอยู่คนเดียวจริง ๆ และก็มีเหตุผลที่จะคิดเช่นนั้น. เพื่อนผู้พยากรณ์หลายคนถูกฆ่า. ท่านเองก็ถูกขู่ฆ่า และกำลังหนีเอาชีวิตรอด. แต่ท่านอยู่ตัวคนเดียวจริง ๆ ไหม? เปล่า. พระยะโฮวาทรงบอกให้ท่านทราบว่ายังมีผู้ภักดีอีกประมาณ 7,000 คนที่เป็นเช่นเดียวกับท่าน คือพยายามรับใช้พระเจ้าเที่ยงแท้อย่างซื่อสัตย์ในสมัยอันมืดมนนั้น. (1 กษัตริย์ 19:1-18) แล้วจะว่าอย่างไรกับคุณ? เป็นไปได้ไหมที่คุณอาจไม่ได้อยู่เดียวดายอย่างที่คุณคิด?
มีคนที่ห่วงใยคุณ. คุณอาจคิดถึงบิดามารดา, คู่สมรส, บุตร, และเพื่อนของคุณ. แต่มีมากกว่านั้น. ในประชาคมของพยานพระยะโฮวา คุณจะพบคริสเตียนผู้อาวุโสซึ่งสนใจในตัวคุณ ผู้ซึ่งจะฟังคุณ และจะอธิษฐานกับคุณและเพื่อคุณ. (ยาโกโบ 5:14, 15) และถึงแม้มนุษย์ไม่สมบูรณ์ทุกคนจะทำให้คุณผิดหวัง แต่มีผู้หนึ่งซึ่งจะไม่ทอดทิ้งคุณเลย. กษัตริย์ดาวิดผู้อยู่ในสมัยโบราณกล่าวว่า “เมื่อบิดามารดาละทิ้งข้าพเจ้าแล้ว, พระยะโฮวาจะทรงรับข้าพเจ้าไว้.” (บทเพลงสรรเสริญ 27:10) ถูกแล้ว พระยะโฮวา “ทรงใฝ่พระทัยในท่านทั้งหลาย.” (1 เปโตร 5:7, ล.ม.) ขออย่าได้ลืมว่าตัวคุณมีค่าในสายพระเนตรของพระยะโฮวา.
ชีวิตเป็นของประทานจากพระเจ้า. จริงอยู่ บางครั้งชีวิตอาจดูเหมือนเป็นภาระแทนที่จะเป็นของประทาน. แต่ขอนึกดูว่าคุณจะรู้สึกอย่างไรถ้าคุณให้ของขวัญที่มีค่าชิ้นหนึ่งกับใครสักคนซึ่งทิ้งมันไปก่อนที่จะใช้ของชิ้นนั้นอย่างเต็มที่? มนุษย์ไม่สมบูรณ์อย่างพวกเราเพียงแค่ได้เริ่มใช้ของประทานแห่งชีวิต. ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าชีวิตที่เรามีอยู่ในปัจจุบันไม่ใช่ “ชีวิตแท้” ด้วยซ้ำในสายพระเนตรของพระเจ้า. (1 ติโมเธียว 6:19, ล.ม.) ใช่แล้ว ในอนาคตอันใกล้นี้ ชีวิตของเราจะสมบูรณ์, มีความหมาย, และมีความสุขยิ่งกว่าในปัจจุบันนี้มาก. จะเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร?
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “พระเจ้าจะทรงเช็ดน้ำตาทุก ๆ หยดจากตาของเขา ความตายจะไม่มีต่อไป การคร่ำครวญและร้องไห้และการเจ็บปวดอย่างหนึ่งอย่างใดจะไม่มีอีกเลย เพราะเหตุการณ์ที่ได้มีอยู่แต่ดั้งเดิมนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว.” (วิวรณ์ 21:3, 4) ลองนึกภาพว่าชีวิตของคุณจะเป็นเช่นไรเมื่อถึงวันที่ถ้อยคำเหล่านี้สำเร็จเป็นจริง. อย่ารีบร้อน. จงพยายามสร้างภาพให้กระจ่างและสดใสในจิตใจของคุณ. ภาพนั้นไม่ใช่ความเพ้อฝันเลื่อนลอย. ขณะที่คุณคิดรำพึงถึงวิธีที่พระยะโฮวาทรงปฏิบัติต่อไพร่พลของพระองค์ในอดีต คุณก็จะยิ่งเชื่อมั่นในพระองค์มากขึ้น และภาพนั้นก็จะเป็นจริงสำหรับคุณยิ่งขึ้น.—บทเพลงสรรเสริญ 136:1-26.
อาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งก่อนที่คุณจะฟื้นฟูความปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปให้กลับคืนมาอย่างเต็มที่. จงทูลอธิษฐานต่อ ๆ ไปถึง “พระเจ้าผู้ทรงชูใจทุกอย่าง, พระองค์ผู้ทรงโปรดให้เราได้รับความชูใจในการทุกข์ยากทั้งสิ้นของเรา.” (2 โกรินโธ 1:3, 4; โรม 12:12; 1 เธซะโลนิเก 5:17) พระยะโฮวาจะทรงประทานความเข้มแข็งที่จำเป็นสำหรับคุณ. พระองค์จะสอนคุณว่า ชีวิตยังมีค่า.—ยะซายา 40:29.
[กรอบ/ภาพหน้า 9]
คุณจะช่วยเหลือผู้ที่คิดฆ่าตัวตายได้อย่างไร?
คุณควรจะทำอย่างไรถ้ามีใครสักคนบอกคุณว่าเขาอยากฆ่าตัวตาย? ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (ซีดีซี) แนะนำว่า “จงตั้งใจฟังเขา.” ให้เขาระบายความรู้สึกของตนออกมา. แต่ในหลายกรณี คนที่คิดฆ่าตัวตายจะเก็บตัวอยู่คนเดียวและไม่อยากพูดคุยกับใคร. จงยอมรับว่าความเจ็บปวดหรือความสิ้นหวังที่เขาประสบนั้นเป็นเรื่องจริง. ถ้าคุณกล่าวอย่างนิ่มนวลว่าคุณได้สังเกตเห็นเขามีพฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนไป คุณอาจทำให้เขาเปิดใจและเล่าให้คุณฟัง.
ขณะที่ฟัง จงแสดงความร่วมรู้สึก. ศูนย์ ซีดีซี กล่าวว่า “เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเน้นว่าชีวิตของเขาสำคัญต่อคุณและคนอื่น.” บอกเขาให้รู้ว่าถ้าเขาเสียชีวิตไป คุณกับคนอื่น ๆ จะเป็นทุกข์สักเพียงไร. ช่วยให้เขาเข้าใจว่าพระผู้สร้างทรงใฝ่พระทัยในตัวเขา.—1 เปโตร 5:7.
ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำให้กำจัดอะไรก็ตามที่คนนั้นอาจใช้เพื่อฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาวุธปืน. ถ้าสถานการณ์ดูท่าว่าจะร้ายแรง คุณอาจสนับสนุนคนนั้นให้ไปพบแพทย์. ในกรณีที่รุนแรงมาก คุณอาจไม่มีทางเลือกนอกจากจะขอความช่วยเหลือจากแผนกฉุกเฉินในโรงพยาบาลด้วยตัวคุณเอง.
[กรอบหน้า 11]
‘พระเจ้าจะทรงให้อภัยที่ฉันรู้สึกแบบนี้ไหม?’
การคบหากับพยานพระยะโฮวาได้ช่วยหลายคนให้เอาชนะความคิดที่จะฆ่าตัวตาย. แต่ไม่มีใครเลยในเวลานี้ที่ชีวิตไม่เคยประสบเหตุการณ์ที่ทำให้เครียดหรือซึมเศร้า. คริสเตียนซึ่งเคยคิดจะฆ่าตัวตายมักต้องต่อสู้กับความรู้สึกผิดอย่างรุนแรงที่มีความคิดเช่นนั้น. ความรู้สึกผิดอาจทำให้ปัญหาของเขาหนักขึ้นไปอีก. ดังนั้น จะจัดการกับความรู้สึกเช่นนั้นได้อย่างไร?
น่าสังเกตว่า ชายหญิงผู้ซื่อสัตย์บางคนในสมัยคัมภีร์ไบเบิลเคยแสดงความรู้สึกในแง่ลบอย่างมากต่อชีวิต. นางริบะคา ภรรยาของยิศฮาคบุรุษต้นตระกูล เคยเป็นทุกข์กับปัญหาในครอบครัวมากจนครั้งหนึ่งนางกล่าวว่า “ฉันเบื่อชีวิตของฉันเหลือเกิน.” (เยเนซิศ 27:46, ฉบับแปลใหม่) โยบ ซึ่งสูญเสียบุตร, สุขภาพทรุดโทรม, สูญเสียความมั่งคั่งและฐานะทางสังคม กล่าวว่า “ดวงจิตของข้าฯ เบื่อหน่ายต่อชีวิตของข้าฯ.” (โยบ 10:1) ครั้งหนึ่งโมเซเคยร้องทูลพระเจ้าว่า “ขอพระองค์จงประหารชีวิตข้าพเจ้าเสียทีเดียว.” (อาฤธโม 11:15) เอลียา ผู้พยากรณ์ของพระเจ้า เคยกล่าวว่า “พอแล้วพระองค์เจ้าข้า, ขอพระยะโฮวาทรงประหารชีวิตข้าพเจ้าเสียเดี๋ยวนี้เถิด.” (1 กษัตริย์ 19:4) และผู้พยากรณ์โยนากล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า “ตายเสียก็ดีกว่าที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป.”—โยนา 4:8.
พระยะโฮวาทรงตำหนิพวกเขาที่รู้สึกอย่างนั้นไหม? เปล่า. พระองค์ถึงกับให้มีการบันทึกถ้อยคำของพวกเขาไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. แต่นับว่าสำคัญที่จะสังเกตว่า ไม่มีใครในบุคคลเหล่านี้ที่ยอมให้ความรู้สึกดังกล่าวกระตุ้นเขาให้ฆ่าตัวตาย. พระยะโฮวาทรงหยั่งรู้ค่าพวกเขา; พระองค์ทรงต้องการให้เขามีชีวิตอยู่. ความจริงก็คือพระเจ้าทรงเป็นห่วงแม้กระทั่งชีวิตของคนชั่ว. พระองค์ทรงกระตุ้นให้พวกเขาเปลี่ยนแนวทางของตนและ “มีชีวิตอยู่.” (ยะเอศเคล 33:11, ฉบับแปลใหม่) พระองค์ทรงปรารถนาให้คนที่เป็นห่วงเรื่องการได้รับความโปรดปรานจากพระองค์มีชีวิตอยู่ต่อไปมากยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด!
พระเจ้าทรงจัดเตรียมเครื่องบูชาไถ่ของพระบุตรของพระองค์, ประชาคมคริสเตียน, คัมภีร์ไบเบิล, และสิทธิพิเศษของการอธิษฐาน. ช่องทางในการติดต่อกับพระเจ้าโดยการอธิษฐานนี้เปิดอยู่เสมอ. พระเจ้าทรงสามารถและจะทรงฟังทุกคนที่เข้าหาพระองค์ด้วยหัวใจถ่อมและจริงใจ. “เหตุฉะนั้น ให้เราทั้งหลายเข้าไปถึงราชบัลลังก์แห่งพระกรุณาอันไม่พึงได้รับและพูดอย่างสะดวกใจ เพื่อเราจะได้รับความเมตตาและประสบพระกรุณาอันไม่พึงได้รับมาช่วยในเวลาอันควร.”—เฮ็บราย 4:16, ล.ม.
[กรอบหน้า 12]
คนที่คุณรักฆ่าตัวตายหรือ?
เมื่อมีคนฆ่าตัวตาย สมาชิกในครอบครัวและเพื่อนสนิทจะประสบกับความทุกข์ใจอย่างมาก. หลายคนโทษตัวเองสำหรับโศกนาฏกรรมนั้น. พวกเขาจะพูดทำนองนี้: ‘ถ้าฉันเพียงแต่อยู่กับเขานานขึ้นอีกหน่อยในวันนั้น,’ ‘ถ้าตอนนั้นฉันเพียงแต่ยั้งปากไว้,’ ‘ถ้าฉันเพียงแต่ช่วยเขามากขึ้นอีกหน่อย.’ ความหมายคือว่า ‘ถ้าฉันเพียงแต่ทำนี่หรือทำนั่น คนที่ฉันรักคงยังมีชีวิตอยู่.’ กระนั้น มีเหตุผลไหมที่จะโทษตัวเองเมื่อคนอื่นฆ่าตัวตาย?
จำไว้ว่า เป็นเรื่องง่ายมากที่จะรู้ถึงสัญญาณเตือนของความคิดที่จะฆ่าตัวตายหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว. แต่ก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้นนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ใจของใครก็ย่อมรู้ความขื่นขมของตนเอง; และคนอื่นจะเข้ามายุ่มย่ามกับความปลาบปลื้มยินดีในดวงใจของใครนั้นก็หาได้ไม่.” (สุภาษิต 14:10) บางครั้งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหยั่งรู้ว่าอีกคนหนึ่งคิดหรือรู้สึกอย่างไร. คนที่คิดจะฆ่าตัวตายหลายคนไม่อาจบอกความรู้สึกเบื้องลึกของตนเองให้คนอื่นรู้ได้เลย แม้แต่กับคนใกล้ชิดในครอบครัว.
หนังสือการให้ถ้อยคำแก่ความขมขื่น (ภาษาอังกฤษ) กล่าวเกี่ยวกับสัญญาณที่บอกให้ทราบว่าคนหนึ่งอาจคิดฆ่าตัวตายดังนี้: “ข้อเท็จจริงคือว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมองสัญญาณเหล่านั้นออก.” หนังสือเล่มเดียวกันเสริมว่า ถึงแม้คุณจะรู้ว่ามีสัญญาณเตือนบางอย่าง นั่นก็ไม่ได้รับประกันว่าคุณจะป้องกันการฆ่าตัวตายได้. แทนที่จะทรมานตัวเอง คุณอาจได้การปลอบโยนจากถ้อยคำของกษัตริย์ซะโลโมที่ว่า “เพราะว่าคนเป็นย่อมรู้ว่าเขาเองคงจะตาย, แต่คนตายแล้วก็ไม่รู้อะไรเลย.” (ท่านผู้ประกาศ 9:5) คนที่คุณรักไม่ได้ถูกทรมานในไฟนรก. และความทุกข์ทางจิตใจและทางอารมณ์ซึ่งกระตุ้นให้เขาฆ่าตัวตายนั้นก็ยุติลงแล้ว. เขาไม่ทนทุกข์; เขาเพียงแต่พักผ่อนอยู่.
ตอนนี้อาจดีที่สุดที่จะมุ่งสนใจสวัสดิภาพของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ รวมทั้งของตัวคุณเองด้วย. ซะโลโมกล่าวต่อไปว่า “เมื่อมือไม้ของเจ้าจับการอันใดทำ, จงกระทำการอันนั้นด้วยกำลังวังชาของเจ้า” ขณะที่คุณมีชีวิตอยู่. (ท่านผู้ประกาศ 9:10) ขอให้มั่นใจว่าความหวังเรื่องชีวิตในอนาคตของผู้ที่ฆ่าตัวตายอยู่ในพระหัตถ์ของพระยะโฮวา “พระบิดาผู้ทรงความเมตตาและพระเจ้าผู้ทรงชูใจทุกอย่าง.”—2 โกรินโธ 1:3. *
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 40 คุณจะพบทัศนะที่สมดุลเรื่องความหวังเกี่ยวกับอนาคตของคนที่ฆ่าตัวตายได้ในบทความ “ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล: คนฆ่าตัวตาย—จะได้เป็นขึ้นมาไหม?” ในตื่นเถิด! ฉบับ 8 กันยายน 1990.
[ภาพหน้า 8]
คุยกับใครสักคน
[ภาพหน้า 10]
ชีวิตของคุณมีความสำคัญสำหรับคนอื่น