ปัญหาระดับโลก
ปัญหาระดับโลก
“การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาร้ายแรงด้านสาธารณสุข.”—เดวิด แซตเชอร์ แพทย์ใหญ่ที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของประธานาธิบดีสหรัฐ ในปี 1999.
นี่ถือเป็นครั้งแรกที่แพทย์ใหญ่ที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของประธานาธิบดีสหรัฐได้กล่าวว่า การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสนใจ. ปัจจุบันผู้ที่ฆ่าตัวเองในสหรัฐมีจำนวนมากกว่าผู้ที่ถูกคนอื่นฆ่า. ไม่น่าแปลกใจที่วุฒิสภาสหรัฐประกาศว่าการป้องกันการฆ่าตัวตายเป็นงานเร่งด่วนของชาติ.
กระนั้น อัตราการฆ่าตัวตายในสหรัฐซึ่งอยู่ที่ 11.4 ต่อประชากร 100,000 คนในปี 1997 ก็ต่ำกว่าอัตราทั่วโลกซึ่งมีการพิมพ์เผยแพร่โดยองค์การอนามัยโลกในปี 2000 ซึ่งอยู่ที่ 16 ต่อประชากร 100,000 คน. อัตราการฆ่าตัวตายทั่วโลกได้เพิ่มขึ้น 60 เปอร์เซ็นต์ภายในช่วงเวลา 45 ปีที่ผ่านมา. ปัจจุบัน ภายในปีเดียวมีคนฆ่าตัวตายทั่วโลกประมาณหนึ่งล้านคน. นั่นเท่ากับมีคนตายหนึ่งคนทุก ๆ 40 วินาทีโดยประมาณ!
อย่างไรก็ตาม สถิติไม่ได้ทำให้เข้าใจเรื่องราวอย่างครบถ้วน. ในหลายกรณี สมาชิกครอบครัวปฏิเสธว่าผู้ที่เสียชีวิตนั้นไม่ได้ฆ่าตัวตาย. ยิ่งกว่านั้น ประมาณกันว่าทุก ๆ หนึ่งคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ จะมีราว ๆ 10 ถึง 25 คนที่พยายามฆ่าตัวตาย. การสำรวจครั้งหนึ่งพบว่า 27 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนชั้นมัธยมปลายในสหรัฐยอมรับว่า ในปีที่ผ่านมาพวกเขาเคยคิดอย่างจริงจังที่จะฆ่าตัวตาย; 8 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มที่ถูกสำรวจกล่าวว่าเคยพยายามฆ่าตัวตาย. การศึกษาวิจัยรายอื่น ๆ พบว่า 5 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของประชากรวัยผู้ใหญ่เคยคิดจะฆ่าตัวตายในช่วงใดช่วงหนึ่ง.
ความแตกต่างทางวัฒนธรรม
ผู้คนมีทัศนะที่ต่างกันอย่างมากเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย. บางคนถือว่าเป็นอาชญากรรม, บางคนถือว่าเป็นการหลบหนีของคนขี้ขลาด, และส่วนบางคนก็ถือว่าเป็นการขออภัยอย่างมีเกียรติสำหรับความผิดพลาด. บางคนถึงกับถือว่าเป็นวิธีที่น่ายกย่องในการส่งเสริมอุดมการณ์บางอย่าง. ทำไมจึงมีทัศนะที่แตกต่างกันอย่างนี้? วัฒนธรรมมีบทบาทสำคัญ. ที่จริง จดหมายข่าวสุขภาพจิตของฮาร์เวิร์ด (ภาษาอังกฤษ) ชี้ว่าวัฒนธรรมอาจ “ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มในการฆ่าตัวตาย” ด้วยซ้ำ.
ขอพิจารณาประเทศหนึ่งในยุโรปกลาง นั่นคือฮังการี. ดร. ซอลทัน รีห์เมอร์ กล่าวถึงการที่ประเทศนั้นมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงว่าเป็น “‘ธรรมเนียม’ อันน่าเศร้า” ของฮังการี. เบลา บูดา ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อสุขภาพของฮังการี กล่าวว่าชาวฮังการีฆ่าตัวตายง่ายเกินไป ในแทบจะทุกสาเหตุ. บูดากล่าวว่า ปฏิกิริยาที่มีแพร่หลายคือ “เขาเป็นมะเร็ง—เขารู้ว่าจะหยุดมันอย่างไร.”
ที่อินเดียเคยมีประเพณีทางศาสนาซึ่งรู้จักกันว่าสุตที. ในประเพณีนี้ภรรยาของผู้ตายจะกระโจนเข้าไปในกองเพลิงที่เผาศพสามี ซึ่งแม้ว่าการทำอย่างนี้จะถูกห้ามมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่หมดไปทีเดียว. เมื่อมีข่าวว่าผู้หญิงคนหนึ่งฆ่าตัวตายด้วยวิธีนี้ คนในท้องถิ่นหลายคนสรรเสริญโศกนาฏกรรมครั้งนั้น. ตามรายงานของหนังสือพิมพ์อินเดีย ทูเดย์ ในภูมิภาคนั้นของอินเดีย “มีผู้หญิงเกือบ 25 คนเผาตัวเองในกองเพลิงที่เผาศพสามีภายในระยะเวลา 25 ปี.”
น่าสังเกต ในญี่ปุ่นการฆ่าตัวตายทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าอุบัติเหตุทางรถยนต์ถึงสามเท่า! สารานุกรมเจแปน—แอน อิลลัสเทรตเตด เอ็นไซโคลพีเดีย กล่าวว่า “ประเพณีที่สืบทอดกันมาของญี่ปุ่นซึ่งไม่เคยตำหนิการฆ่าตัวตาย เป็นที่รู้จักกันในเรื่องการคว้านท้องตัวเอง (เซ็ปปุกุ หรือฮารา-คีรี) ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ได้รับการยอมรับนับถืออย่างยิ่ง.”
ในหนังสือชื่อบุชิโดะ—จิตวิญญาณของญี่ปุ่น (ภาษาอังกฤษ) อินาโซะ นิโตเบะ ซึ่งต่อมาได้เป็นรองเลขาธิการใหญ่สันนิบาตชาติ ได้อธิบายเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่หลงใหลความตายนี้. เขาเขียนว่า “ความคิดนี้เกิดขึ้นในยุคกลาง [เซ็ปปุกุ] เป็นวิธีที่นักรบจะสามารถลบล้างอาชญากรรมของตน, ขอขมาสำหรับความผิดพลาด, หนีจากการเสียเกียรติ, ชดใช้ให้มิตรสหาย, หรือพิสูจน์ความจริงใจ.” แม้ว่าการฆ่าตัวตายที่เป็นพิธีกรรมนี้โดยทั่วไปแล้วเป็นเรื่องของอดีต แต่ก็ยังมีบางคนทำเช่นนั้นเพื่อก่อผลกระทบต่อสังคม.
ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศในคริสต์ศาสนจักรถือกันมานานแล้วว่าการฆ่าตัวตายเป็นอาชญากรรม. พอถึงศตวรรษที่หกและเจ็ด คริสตจักรโรมันคาทอลิกตัดคนที่ฆ่าตัวตายออกจากศาสนาและไม่ยอมประกอบพิธีศพให้. ในบางแห่ง ความรู้สึกแรงกล้าทางศาสนาทำให้เกิดธรรมเนียมแปลก ๆ เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย เช่น การแขวนคอศพ และแม้แต่การตอกหมุดเข้าที่หัวใจของศพ.
น่าแปลก คนที่พยายามฆ่าตัวตายอาจได้รับโทษประหารชีวิต. เนื่องจากพยายามจะฆ่าตัวเองโดยการตัดคอ ชายชาวอังกฤษคนหนึ่งในศตวรรษที่ 19 จึงถูกแขวนคอ. ด้วยเหตุนี้พวกเจ้าหน้าที่ก็ทำสิ่งที่ชายคนนั้นทำไม่สำเร็จ. แม้ว่าบทลงโทษสำหรับการพยายามฆ่าตัวตายได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่การทำเช่นนั้นก็เป็นความผิดจนกระทั่งถึงปี 1961 เมื่อรัฐสภาอังกฤษประกาศว่าอัตวินิบาตกรรมและการพยายามฆ่าตัวตายไม่ได้เป็นอาชญากรรมอีกต่อไป. ในไอร์แลนด์ อัตวินิบาตกรรมเป็นความผิดทางอาญาจนถึงปี 1993.
ในปัจจุบัน นักเขียนบางคนสนับสนุนการฆ่าตัวตายว่าเป็นทางเลือก. หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งออกในปี 1991 เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายที่ได้รับการช่วยเหลือสำหรับผู้ป่วยที่หมดหวังจะรักษาได้แนะนำวิธีต่าง ๆ ในการจบชีวิตตัวเอง. ต่อมา มีคนที่ไม่ใช่ ผู้ป่วยหนักจำนวนเพิ่มมากขึ้นได้ใช้วิธีหนึ่งในหลาย ๆ วิธีซึ่งแนะนำไว้ในหนังสือนั้น.
การฆ่าตัวตายเป็นวิธีแก้ปัญหาจริง ๆ ไหม? หรือมีเหตุผลที่ดีที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป? ก่อนจะพิจารณาคำถามเหล่านี้ ขอให้เราพิจารณาว่าอะไรเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตาย.
[คำโปรยหน้า 4]
แต่ละปีมีคนฆ่าตัวตายทั่วโลกประมาณหนึ่งล้านคน. นั่นเท่ากับมีคนตายหนึ่งคนในเกือบทุก ๆ 40 วินาที!