สาเหตุที่ผู้คนไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป
สาเหตุที่ผู้คนไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป
“คนที่ฆ่าตัวตายแต่ละคนมีเหตุผลของตัวเอง: เป็นเรื่องส่วนตัวมาก ๆ, ไม่มีใครทราบได้, และน่ากลัวมาก.” จิตแพทย์เคย์ เรดฟีลด์ เจมีสัน.
“การมีชีวิตอยู่ทำให้ทุกข์ทรมานเหลือเกิน.” นั่นเป็นข้อความที่ริวโนสุเกะ อะกุทากาวะ นักเขียนที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เขียนไว้ก่อนที่เขาจะฆ่าตัวตายไม่นาน. อย่างไรก็ตาม ก่อนข้อความนั้นเขาเขียนว่า “แน่นอน ข้าพเจ้าไม่อยากตาย แต่ . . . ”
เช่นเดียวกับอะกุทากาวะ หลายคนที่ฆ่าตัวตายไม่อยากตาย แต่พวกเขาอยาก “ให้เรื่องจบไปเสีย” ตามคำกล่าวของศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาคนหนึ่ง. ข้อความที่พบบ่อย ๆ ในจดหมายลาตายบ่งชี้อย่างนั้น. ข้อความอย่างเช่น ‘ฉันทนต่อไปไม่ไหวแล้ว’ หรือ ‘จะอยู่ไปเพื่ออะไร?’ แสดงถึงความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะหนีให้พ้นจากความเป็นจริงอันโหดร้ายในชีวิต. แต่ดังที่ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งพรรณนาไว้ การฆ่าตัวตายเป็น “เหมือนการรักษาอาการหวัดด้วยระเบิดนิวเคลียร์.”
แม้ว่าสาเหตุที่ผู้คนฆ่าตัวตายมีต่างกันไป แต่โดยทั่วไปแล้วเหตุการณ์บางอย่างในชีวิตมักจะกระตุ้นให้เขาฆ่าตัวตาย.
ชนวนเหตุ
ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่เยาวชนจะรู้สึกสิ้นหวังและฆ่าตัวตายเนื่องด้วยสาเหตุที่คนอื่นเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย. เมื่อพวกเขารู้สึกช้ำใจและไม่อาจทำอะไรได้ เยาวชนอาจมองว่าความตายของตนเป็นการแก้แค้นคนที่ทำให้
พวกเขาช้ำใจ. ฮิโรชิ อินามุระ ผู้เชี่ยวชาญในการเกลี้ยกล่อมผู้คิดจะฆ่าตัวตายในญี่ปุ่น เขียนว่า “เด็กหวังอยู่ลึก ๆ ว่าความตายของตัวเองจะเป็นการลงโทษคนที่ทรมานพวกเขา.”การสำรวจครั้งหนึ่งในบริเตนเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่า ถ้าเด็ก ๆ ถูกข่มเหงรังแกมาก แนวโน้มที่พวกเขาพยายามฆ่าตัวตายจะเพิ่มขึ้นถึงเกือบเจ็ดเท่า. ความปวดร้าวซึ่งเด็กเหล่านี้ทนรับนั้นเป็นเรื่องจริงทีเดียว. เด็กชายวัย 13 ปีคนหนึ่งที่ผูกคอตายได้เขียนชื่อคนห้าคนซึ่งได้รังแกเขาและถึงกับรีดไถเงินจากเขา. เขาเขียนว่า “ได้โปรดละเว้นเด็กคนอื่น ๆ.”
บางคนอาจพยายามปลิดชีวิตตัวเองเมื่อมีปัญหาในโรงเรียนหรือมีปัญหาทางกฎหมาย, อกหัก, ผลการสอบตกต่ำ, เครียดกับการสอบไล่, หรือสิ้นหวังเกี่ยวกับอนาคต. ท่ามกลางเยาวชนที่เรียนเก่งและอาจมีแนวโน้มจะเป็นคนที่มุ่งแต่ความสมบูรณ์พร้อม ความล้มเหลวไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือคิดเอาเอง อาจทำให้เขาพยายามฆ่าตัวตาย.
สำหรับผู้ใหญ่ ปัญหาด้านการเงินหรือปัญหาซึ่งเกี่ยวข้องกับงานอาชีพเป็นชนวนเหตุที่พบเห็นทั่วไป. ในญี่ปุ่น หลังจากเศรษฐกิจตกต่ำอยู่หลายปี การฆ่าตัวตายในปีหลัง ๆ นี้เพิ่มสูงกว่า 30,000 รายต่อปี. ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไมนิชิ เดลี นิวส์ เกือบสามในสี่ของผู้ชายวัยกลางคนที่ฆ่าตัวตายทำเช่นนั้น “เพราะปัญหาซึ่งเกิดจากหนี้สิน, ธุรกิจล้มเหลว, ความยากจนและการตกงาน.” ปัญหาครอบครัวก็อาจเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายด้วย. หนังสือพิมพ์ภาษาฟินแลนด์ฉบับหนึ่งรายงานว่า “ผู้ชายวัยกลางคนซึ่งเพิ่งหย่าได้ไม่นาน” เป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงกลุ่มหนึ่ง. การศึกษาในฮังการีพบว่า เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ซึ่งคิดฆ่าตัวตายเป็นเด็กที่โตขึ้นในครอบครัวที่แตกแยก.
การเกษียณอายุและความเจ็บป่วยก็เป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้สูงอายุ. บ่อยครั้งมีการหาทางออกด้วยการฆ่าตัวตาย ไม่ใช่เพราะไม่มีทางรักษาให้หาย แต่เมื่อผู้ป่วยมองว่าความทุกข์ทรมานนั้นเกินจะทนได้.
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนจะฆ่าตัวตายเมื่อเจอเหตุการณ์กระตุ้นเหล่านี้. ตรงกันข้าม เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียด คนส่วนใหญ่ไม่ได้ฆ่าตัวตาย. ถ้าอย่างนั้นทำไมบางคนจึงมองว่าการฆ่าตัวตายเป็นวิธีแก้ปัญหาขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้มองเช่นนั้น?
ปัจจัยแฝง
เคย์ เรดฟีลด์ เจมีสัน ศาสตราจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์แห่งวิทยาลัยแพทย์จอนส์ ฮอบกินส์ กล่าวว่า “การตัดสินใจที่จะตายส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับวิธีมองดูเหตุการณ์ต่าง ๆ.” เธอเสริมว่า “จิตใจของคนส่วนใหญ่เมื่อปกติดี จะไม่มองเหตุการณ์ใด ๆ ว่ารุนแรงถึงขั้นที่ต้องฆ่าตัวตาย.” อีฟ เค. มอชชิตสกี จากสถาบันสุขภาพจิตสหรัฐ ให้ข้อสังเกตว่ามีหลายปัจจัย—บางอย่างเป็นปัจจัยแฝง—ประกอบกันทำให้เกิดพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย. ปัจจัยแฝงเหล่านี้รวมไปถึงโรคทางจิตและการติดยาเสพติด, ลักษณะทางพันธุกรรม, และสารเคมีในสมอง. ขอให้เราพิจารณาปัจจัยเหล่านี้บางอย่าง.
ที่เด่นที่สุดในบรรดาปัจจัยเหล่านี้คือความผิดปกติทางจิตและปัญหาสิ่งเสพติด เช่น โรคซึมเศร้า, โรคไบโพลาร์, โรคจิตเภท, และการใช้แอลกอฮอล์และยาเสพติด. การวิจัยทั้งในยุโรปและในสหรัฐบ่งชี้ว่า
กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของการฆ่าตัวตายที่ทำสำเร็จนั้นเกี่ยวข้องกับความผิดปกติเหล่านี้. ที่จริง นักวิจัยชาวสวีเดนพบว่า ท่ามกลางผู้ชายที่ไม่มีความผิดปกติใด ๆ ในลักษณะนั้น อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 8.3 ต่อ 100,000 คน แต่ท่ามกลางคนที่เป็นโรคซึมเศร้า อัตราสูงถึง 650 ต่อ 100,000 คน! และผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าปัจจัยซึ่งนำไปสู่การฆ่าตัวตายนั้นมีคล้ายกันในประเทศทางตะวันออก. อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นโรคซึมเศร้าประกอบกับมีชนวนเหตุต่าง ๆ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้.ศาสตราจารย์เจมีสัน ซึ่งเคยพยายามฆ่าตัวตายด้วย กล่าวว่า “ดูเหมือนผู้คนจะสามารถทนกับความซึมเศร้าได้ตราบที่ยังมีหวังว่าสิ่งต่าง ๆ จะดีขึ้น.” อย่างไรก็ตาม เธอพบว่าเมื่อความสิ้นหวังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสิ่งที่ทนรับไม่ไหว ความสามารถของจิตใจที่จะต้านทานแรงผลักดันให้ฆ่าตัวตายก็ค่อย ๆ อ่อนแอลง. เธอเปรียบเรื่องนี้กับเบรกของรถยนต์ซึ่งถูกเสียดสีอยู่เรื่อย ๆ จนบาง.
นับเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะตระหนักถึงแนวโน้มเช่นนั้น เพราะโรคซึมเศร้ารักษาได้. ความรู้สึกสิ้นหวังแก้ไขได้. เมื่อมีการจัดการปัจจัยแฝงแล้ว ผู้คนก็อาจแสดงปฏิกิริยาต่างออกไปต่อความปวดร้าวและความตึงเครียด ซึ่งมักกระตุ้นให้เกิดการฆ่าตัวตาย.
บางคนคิดว่าลักษณะทางพันธุกรรมของคนเราอาจเป็นปัจจัยแฝงสำหรับการฆ่าตัวตายในหลายราย. จริงอยู่ ยีนอาจมีบทบาทต่อการกำหนดอารมณ์ของคนเรา และการศึกษาหลายรายก็เผยว่าบางวงศ์ครอบครัวมีเหตุการณ์ฆ่าตัวตายมากกว่าครอบครัวอื่น ๆ. ถึงกระนั้น ศาสตราจารย์เจมีสันกล่าวว่า “การมีแนวโน้มทางพันธุกรรมที่จะฆ่าตัวตายไม่ได้หมายความว่าการฆ่าตัวตายนั้นเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้.”
สารเคมีในสมองก็อาจเป็นปัจจัยแฝงเช่นกัน. ในสมอง เซลล์ประสาทหลายพันล้านเซลล์สื่อสารกันแบบเคมีไฟฟ้า. ที่ปลายเส้นใยเซลล์ประสาทที่แตกแขนงออกมามีช่องว่างเล็ก ๆ ซึ่งเรียกว่าซินแนปส์ ที่ซึ่งสารถ่ายทอดสัญญาณประสาทจะส่งผ่านข้อมูลแบบเคมี. ระดับของสารถ่ายทอดสัญญาณประสาทตัวหนึ่ง คือเซโรโทนิน อาจเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงทางชีววิทยาของคนเราที่จะฆ่าตัวตาย. หนังสือภายในสมอง (ภาษาอังกฤษ) อธิบายว่า “การมีเซโรโทนินในระดับต่ำ . . . อาจทำให้ความสุขในชีวิตเหือดแห้งไป ทำให้คนนั้นมีความสนใจน้อยลงต่อการมีชีวิตอยู่และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย.”
อย่างไรก็ตาม จริง ๆ แล้วไม่มีใครถูกลิขิต ให้ฆ่าตัวตาย. หลายล้านคนรับมือกับความปวดร้าวใจและความเครียดได้. วิธีที่จิตใจและหัวใจมีปฏิกิริยา ต่อความกดดันนั้นต่างหากที่ทำให้บางคนฆ่าตัวตาย. ต้องมีการจัดการไม่เพียงแค่ชนวนเหตุที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันแต่รวมถึงปัจจัยแฝงด้วย.
ถ้าเช่นนั้นแล้วจะทำอะไรได้เพื่อสร้างมุมมองที่ดีขึ้นซึ่งจะฟื้นฟูความสุขความยินดีให้กับชีวิตในระดับหนึ่ง?
[กรอบหน้า 6]
เพศกับการฆ่าตัวตาย
ตามการศึกษาวิจัยครั้งหนึ่งในสหรัฐ ขณะที่ผู้หญิงมักจะพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ชายสองถึงสามเท่า แต่ผู้ชายมักจะทำสำเร็จมากกว่าผู้หญิงถึงสี่เท่า. ผู้หญิงมักจะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชายอย่างน้อยสองเท่า ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการพยายามฆ่าตัวตายมากกว่า. อย่างไรก็ตาม โรคซึมเศร้าของผู้หญิงอาจมีความรุนแรงน้อยกว่า และด้วยเหตุนี้ผู้หญิงจึงใช้วิธีฆ่าตัวตายที่รุนแรงน้อยกว่า. ส่วนผู้ชายอาจมีแนวโน้มจะใช้วิธีที่รุนแรงและเด็ดขาดมากกว่าเพื่อแน่ใจว่าจะประสบความสำเร็จ.
อย่างไรก็ตาม ในประเทศจีนผู้หญิงฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้ชาย. ที่จริง การศึกษาเผยว่า ประมาณ 56 เปอร์เซ็นต์ของการฆ่าตัวตายของผู้หญิงในโลกเกิดขึ้นในประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท. กล่าวกันว่าเหตุผลหนึ่งสำหรับการพยายามฆ่าตัวตายของผู้หญิงที่นั่นซึ่งนำไปสู่การฆ่าตัวตายจนสำเร็จคือสามารถหายากำจัดศัตรูพืชซึ่งมีฤทธิ์ร้ายแรงได้ง่าย.
[กรอบ/ภาพหน้า 7]
การฆ่าตัวตายและความว้าเหว่
ความว้าเหว่เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้ผู้คนเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย. โยอูโก เลินน์ควิสต์ ซึ่งเป็นหัวหน้าในการศึกษาเรื่องการฆ่าตัวตายในฟินแลนด์ กล่าวว่า “สำหรับ [คนที่ฆ่าตัวตาย] ส่วนใหญ่ ชีวิตประจำวันของเขานั้นเปล่าเปลี่ยว. พวกเขามีเวลาว่างมากแต่ติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่นน้อย.” เคนชิโร โอฮาระ จิตแพทย์แห่งวิทยาลัยแพทย์ฮามามัตสุ แห่งญี่ปุ่น ให้ความเห็นว่า “ความว้าเหว่” เป็นสาเหตุที่ทำให้เมื่อเร็ว ๆ นี้มีจำนวนการฆ่าตัวตายในหมู่ชายวัยกลางคนที่ประเทศนั้นเพิ่มสูงขึ้น.
[ภาพหน้า 5]
สำหรับผู้ใหญ่ ปัญหาด้านการเงินหรือปัญหาซึ่งเกี่ยวข้องกับงานอาชีพเป็นชนวนเหตุที่พบเห็นบ่อย ๆ