ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเพ่งดูโลก

การเพ่งดูโลก

การ​เพ่ง​ดู​โลก

เพชฌฆาต​ที่​ร้ายกาจ​ที่​สุด​ใน​โลก

หนังสือ​พิมพ์​ฟรังค์ฟูร์เทอร์ อาลล์เกไมเน ซอนน์ทากส์​ไซทุง กล่าว​ว่า “โรค​ซึ่ง​เกิด​จาก​ไวรัส, แบคทีเรีย, และ​ปรสิต​ยัง​คง​เป็น​สาเหตุ​อันดับ​แรก​ที่​ทำ​ให้​ผู้​คน​ทั่ว​โลก​เสีย​ชีวิต.” เพียง​แค่​สาม​โรค คือ​เอดส์, มาลาเรีย, และ​วัณโรค ก็​ทำ​ให้ “มี​ผู้​ติด​โรค​ราย​ใหม่​หลาย​ร้อย​ล้าน​ราย​ใน​แต่​ละ​ปี โดย​มี​ผู้​เสีย​ชีวิต​จาก​สาเหตุ​ดัง​กล่าว​เกือบ 10 ล้าน​ราย.” หนังสือ​พิมพ์​ฉบับ​นี้​อธิบาย​ว่า “พอ​ถึง​กลาง​ศตวรรษ​ที่ 20 แม้​แต่​ผู้​เชี่ยวชาญ​หลาย​คน​ก็​เชื่อ​มั่น​ว่า​อีก​ไม่​นาน​โรค​ติด​เชื้อ​จะ​ไม่​มี​ผล​กระทบ​รุนแรง​อีก​ต่อ​ไป. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ดัง​ที่​เห็น​ได้​ชัด​ตั้ง​แต่​การ​ระบาด​ของ​โรค​เอดส์, โรค​วัว​บ้า, และ​โรค​ปาก​และ​เท้า​เปื่อย​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้ ภัย​คุกคาม​ของ​เชื้อ​โรค​ที่​ติด​ต่อ​ไป​ยัง​คน​และ​สัตว์ [ยัง​คง] เป็น​ความ​จริง​อัน​เลว​ร้าย. . . . ใน​ที่​ต่าง ๆ ทั่ว​โลก เชื้อ​ไวรัส​และ​แบคทีเรีย​ที่​เป็น​อันตราย​อย่าง​ยิ่ง​ปรากฏ​ขึ้น​อย่าง​ที่​คาด​ไม่​ถึง​เลย.” ขณะ​ที่​บ่อย​ครั้ง​ลักษณะ​ตาม​ธรรมชาติ​ของ​จุลินทรีย์​เอง​เป็น​สาเหตุ แต่​รูป​แบบ​ชีวิต​และ​พฤติกรรม​ของ​มนุษย์​ก็​ส่ง​เสริม​ให้​เกิด​พาหะ​นำ​โรค​และ​แพร่​พาหะ​นั้น​ออก​ไป.

การ​ขโมย​วัตถุ​ทาง​ศาสนา

หนังสือ​พิมพ์​คาทอลิก​ภาษา​ฝรั่งเศส​ชื่อ​ลา ครัวซ์ ให้​ความ​เห็น​ว่า “ทั้ง ๆ ที่​มี​การ​ออก​กฎหมาย​ที่​เข้มงวด​มาก​ขึ้น แต่​การ​โจรกรรม​และ​การ​ค้า​วัตถุ​ทาง​ศาสนา​ใน​ยุโรป​ก็​ยัง​ไม่​ลด​ลง.” สิ่ง​ที่​ถูก​ขโมย​มี​ทั้ง​ไม้กางเขน, เฟอร์นิเจอร์, วัตถุ​ที่​ทำ​ด้วย​ทอง​และ​เงิน, รูป​ปั้น, ภาพ​เขียน, และ​แม้​กระทั่ง​แท่น​บูชา. ตาม​รายงาน​ของ​สภา​พิพิธภัณฑสถาน​นานา​ชาติ ใน​ปี​หลัง ๆ นี้​วัตถุ​ราว 30,000 ถึง 40,000 ชิ้น​ใน​สาธารณรัฐ​เช็ก​ถูก​ขโมย​ไป และ​มาก​กว่า 88,000 ชิ้น​ใน​อิตาลี. ฝรั่งเศส​ซึ่ง​มี​มหา​วิหาร 87 แห่ง​ก็​เป็น​เป้าหมาย​หลัก​ของ​พวก​โจร​ด้วย. ระหว่าง​ปี 1907 ถึง 1996 สิ่ง​ของ​ประมาณ 2,000 ชิ้น​ซึ่ง​ถือ​กัน​ว่า​เป็น “อนุสรณ์​ทาง​ประวัติศาสตร์” ถูก​ขโมย​ไป​จาก​สถาบัน​ทาง​ศาสนา​ใน​ฝรั่งเศส และ​สามารถ​นำ​กลับ​คืน​มา​ได้​ไม่​ถึง 10 เปอร์เซ็นต์. การ​โจรกรรม​เช่น​นี้​เป็น​เรื่อง​ที่​ควบคุม​ได้​ยาก โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​เนื่อง​จาก​โบสถ์​ต่าง ๆ เข้า​ออก​ได้​ง่าย​และ​ไม่​ค่อย​มี​การ​ป้องกัน.

ระดับ​น้ำ​ที่​เป็น​อันตราย​ใน​กรุง​ลอนดอน

วารสาร​ดิ อิโคโนมิสต์ รายงาน​ว่า ใน​กรุง​ลอนดอน “กำลัง​มี​การ​เจาะ​บ่อ​บาดาล​เพื่อ​สูบ​น้ำ​ใต้​ดิน​ซึ่ง​มี​ท่า​ว่า​จะ​เอ่อ​ล้น​ขึ้น​มา​ท่วม [เมือง​นี้] ทิ้ง​ไป.” ขณะ​นี้​ระดับ​น้ำ​ใต้​ดิน​ได้​ขึ้น​มา​อยู่​ที่ 40 เมตร​ใต้​จัตุรัส​ทราฟัลการ์. ตอน​ต้น​ศตวรรษ​ที่​แล้ว​เมื่อ​อุตสาหกรรม​ได้​สูบ​น้ำ​หลาย​ล้าน​ลิตร​ขึ้น​มา คาด​กัน​ว่า​ระดับ​น้ำ​ใต้​ดิน​บริเวณ​จัตุรัส​นั้น​อยู่​ลึก 93 เมตร. ระดับ​น้ำ​สูง​ขึ้น​ประมาณ​ปี​ละ 3 เมตร​และ​อาจ​เป็น​อันตราย​อย่าง​ยิ่ง​ต่อ​ระบบ​รถไฟ​ใต้​ดิน, สาย​ไฟ​ยาว​หลาย​กิโลเมตร​ซึ่ง​อยู่​ใต้​ดิน, และ​ฐาน​ราก​ของ​ตึก​หลาย​หลัง​ใน​กรุง​ลอนดอน. ประมาณ​กัน​ว่า​ต้อง​เจาะ​บ่อ​บาดาล​ราว ๆ 50 บ่อ. วารสาร​ฉบับ​นี้​กล่าว​ว่า “องค์กร​ด้าน​สิ่ง​แวด​ล้อม​คาด​ว่า​ใน​ตอน​นี้​กำลัง​มี​การ​สูบ​น้ำ​ทั้ง​หมด​วัน​ละ​ประมาณ [50 ล้าน​ลิตร] ขึ้น​มา​จาก​ใต้​พื้น​ดิน​กรุง​ลอนดอน” แต่​พวก​เขา​จะ​ต้อง​สูบ​น้ำ​มาก​กว่า​นั้น​อีก​สอง​เท่า​ภาย​ใน​ระยะ​เวลา​สิบ​ปี​เพื่อ​ทำ​ให้​ระดับ​น้ำ​คงตัว.

จริง ๆ แล้ว​ไม่​ได้​พิเศษ​เท่า​ไร’

วารสาร​นิว ไซเยนติสต์ กล่าว​ว่า “เรา​ต้อง​สำนึก​ถึง​ความ​ต่ำต้อย​ของ​เรา​อย่าง​ที่​ไม่​เคย​เป็น​มา​ก่อน . . . ขณะ​ที่​เรา​แสดง​ความ​ยินดี​กับ​ตัว​เอง​เมื่อ​ประสบ​ความ​สำเร็จ​อัน​ยิ่ง​ใหญ่​ใน​การ​ถอด​รหัส​จี​โนม​ของ​มนุษย์ แต่​จี​โนม​นั้น​เอง​ทำ​ให้​เรา​สำนึก​ว่า​จริง ๆ แล้ว​เรา​ไม่​ได้​พิเศษ​เท่า​ไร. ปรากฏ​ว่า​เรา​มี​ยีน​มาก​กว่า​แบคทีเรีย​เพียง​ห้า​เท่า, มาก​กว่า​หนอน​เพียง​สาม​เท่า และ​มาก​กว่า​แมลงวัน​ประมาณ​สอง​เท่า.” นอก​จาก​นั้น “ยีน​ของ​เรา​ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์​คล้าย​กับ​ยีน​ของ​พยาธิ​ตัว​กลม, 60 เปอร์เซ็นต์​คล้าย​กับ​ยีน​ของ​แมลงวัน​ผลไม้​และ 90 เปอร์เซ็นต์​คล้าย​กับ​ยีน​ของ​หนู.” วารสาร​นั้น​กล่าว​ว่า ความ​รู้​เกี่ยว​กับ​จี​โนม​มนุษย์​ยัง​เปลี่ยน​ทัศนะ​ของ​เรา​ใน​เรื่อง​เชื้อชาติ​อีก​ด้วย. คน​สอง​คน​อาจ​ดู​หน้า​ตา​เหมือน​กัน​และ​เป็น​คน​เชื้อชาติ​เดียว​กัน แต่​ใน​ทาง​พันธุกรรม​แล้ว พวก​เขา​อาจ​แตกต่าง​กัน​มาก​กว่า​คน​สอง​คน​ซึ่ง​มา​จาก​คน​ละ​กลุ่ม​ชาติ​พันธุ์​และ​รูป​ร่าง​หน้า​ตา​แตกต่าง​กัน​มาก. ลุยจิ คา​วาล​ลี-สฟอร์ซา แห่ง​มหาวิทยาลัย​สแตนฟอร์ด​กล่าว​ว่า “ความ​แตกต่าง​ระหว่าง​คน​ที่​อยู่​ใน​เชื้อชาติ​เดียว​กัน​นั้น​มี​มาก​จน​เป็น​เรื่อง​เหลวไหล​ที่​จะ​คิด​ว่า​มี​เชื้อชาติ​ซึ่ง​แตกต่าง​กัน—หรือ​แม้​แต่​คิด​ว่า​มี​เชื้อชาติ​ต่าง ๆ อยู่.”

ธุรกิจ​สื่อ​ลามก

วารสาร​เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ กล่าว​ว่า “สื่อ​ลามก​เป็น​ธุรกิจ​ที่​ใหญ่​กว่า​อเมริกัน​ฟุตบอล, บาสเกตบอล, และ​เบส​บอล​รวม​กัน. ใน​หนึ่ง​ปี​ผู้​คน​ใน​อเมริกา​จ่าย​เงิน​ไป​กับ​สื่อ​ลามก​มาก​กว่า​จ่าย​เงิน​เพื่อ​ซื้อ​ตั๋ว​ชม​ภาพยนตร์ และ​มาก​กว่า​จ่าย​เงิน​เพื่อ​ชม​ศิลปะ​การ​แสดง​ทั้ง​หมด​รวม​กัน.” วารสาร​ฉบับ​นี้​กล่าว​อีก​ว่า “ประมาณ​กัน​ว่า​ธุรกิจ​สื่อ​ลามก​ใน​สหรัฐ​มี​มูลค่า​รวม​ทั้ง​สิ้น​ราว ๆ หนึ่ง​หมื่น​ล้าน​ถึง​หนึ่ง​หมื่น​สี่​พัน​ล้าน​ดอลลาร์​ต่อ​ปี เมื่อ​คุณ​รวม​เอา​สถานี​โทรทัศน์​ที่​มี​รายการ​ลามก, ภาพยนตร์​ทาง​เคเบิล​ทีวี​และ​ดาว​เทียม​ซึ่ง​ต้อง​จ่าย​พิเศษ, เว็บไซต์​ใน​อินเทอร์เน็ต, ภาพยนตร์​ใน​ห้อง​พัก​ของ​โรงแรม, โฟนเซ็กซ์, อุปกรณ์​ทาง​เพศ​และ . . . นิตยสาร​ลามก.” บทความ​นี้​เสริม​ว่า “เมื่อ​มี​มูลค่า​นับ​หมื่น​ล้าน​ดอลลาร์ สื่อ​ลามก​ก็​ไม่​ได้​เป็น​ธุรกิจ​ย่อย​อีก​ต่อ​ไป​เมื่อ​เทียบ​กับ​ธุรกิจ​หลัก อย่าง​เช่น อุตสาหกรรม​ละคร​บรอด​เวย์​ซึ่ง​มี​มูลค่า 600 ล้าน​ดอลลาร์—สื่อ​ลามก​นั่น​แหละ​เป็น ธุรกิจ​หลัก.” ตัว​อย่าง​เช่น ปี​ที่​แล้ว ฮอลลีวูด​เปิด​ตัว​ภาพยนตร์ 400 เรื่อง ขณะ​ที่​อุตสาหกรรม​สื่อ​ลามก​ทำ​วิดีโอ​หนัง​ลามก 11,000 เรื่อง. กระนั้น แทบ​ไม่​มี​ชาว​อเมริกัน​คน​ใด​เลย​ที่​ยอม​รับ​ว่า​ดู​ภาพยนตร์​ลามก​เหล่า​นั้น. หนังสือ​พิมพ์​ไทมส์ กล่าว​ว่า “ไม่​มี​ธุรกิจ​ใด​เหมือน​ธุรกิจ​สื่อ​ลามก. สื่อ​ลามก​เป็น​ความ​บันเทิง​อย่าง​เดียว​ที่​ไม่​มี​ใคร​ดู แต่​ก็​น่า​อัศจรรย์​ที่​ไม่​เคย​ปิด​กิจการ.”

วาติกัน​ลด​กำลัง​ส่ง​คลื่น​วิทยุ

วารสาร​นิว ไซเยนติสต์ รายงาน​ว่า “สถานี​วิทยุ​วาติกัน​ยอม​ลด​กำลัง​ส่ง​เพื่อ​เห็น​แก่​ความ​กลัว​ที่​ว่า​เครื่อง​ส่ง​วิทยุ​กำลัง​สูง​ของ​ตน​อาจ​เป็น​อันตราย​ต่อ​สุขภาพ.” จะ​มี​การ​ลด​เวลา​ส่ง​สัญญาณ​ความ​ถี่​ปานกลาง​ลง​ครึ่ง​หนึ่ง​และ​ลด​กำลัง​ส่ง​ลง​ด้วย. มี​การ​กระจาย​เสียง​ทุก​วัน​ออก​ไป​ทั่ว​โลก​ใน 60 ภาษา​และ​ใน​หลาย​ความ​ถี่​ต่าง ๆ กัน. ตอน​ที่​สถานี​นี้​ถูก​สร้าง​ขึ้น​เมื่อ 50 ปี​ที่​แล้ว สาย​อากาศ 33 สาย​ของ​สถานี​ติด​ตั้ง​อยู่​นอก​กรุง​โรม​ใน​ที่​ซึ่ง​ไม่​ค่อย​มี​ผู้​คน​อาศัย​อยู่. ปัจจุบัน ประมาณ 100,000 คน​อาศัย​อยู่​ใน​บริเวณ​นั้น และ​มี​ความ​กลัว​ว่า​การ​ส่ง​สัญญาณ​กำลัง​สูง​เป็น​สาเหตุ​ของ​การ​ป่วย​เป็น​โรค​ลูคีเมีย​ใน​แถบ​นั้น. สถานี​วิทยุ​วาติกัน​นี้​ไม่​มี​สถานี​ถ่ายทอด​สัญญาณ​ข้าม​ทะเล​เพื่อ​เพิ่ม​กำลัง​ส่ง. หลัง​จาก​ที่​อิตาลี​กำหนด​มาตรฐาน​คลื่น​วิทยุ​ใหม่​ใน​ปี 1998 อิตาลี​ได้​เรียก​ร้อง​ให้​วาติกัน​ลด​กำลัง​ส่ง​ของ​สถานี​ลง. วารสาร​นิว ไซเยนติสต์ กล่าว​ว่า ขณะ​ที่​ไม่​ยอม​รับ​ว่า​มี​อันตราย​ใด ๆ ต่อ​สุขภาพ​หรือ​ที่​ว่า​อิตาลี​มี​อำนาจ​ใด ๆ เหนือ​ตน​ใน​ฐานะ​รัฐ​อิสระ แต่​วาติกัน​ตัดสิน​ใจ​จะ​ลด​กำลัง​ส่ง​สัญญาณ​ลง “เพื่อ​แสดง​ถึง​ความ​ปรารถนา​ดี.”

น้ำ​บรรจุ​ขวด​กับ​น้ำ​ก๊อก

หนังสือ​พิมพ์​เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ รายงาน​ว่า “น้ำ​บรรจุ​ขวด​เป็น​ที่​นิยม​กัน​มาก​ถึง​ขนาด​ที่​มี​การ​ผลิต​ออก​มา​มาก​กว่า 700 ยี่ห้อ​ทั่ว​โลก.” กระนั้น “ใน​หลาย​กรณี​ความ​แตกต่าง​เพียง​อย่าง​เดียว​ระหว่าง​น้ำ​บรรจุ​ขวด​ราคา​แพง​กับ​น้ำ​ประปา​ก็​คือ​ภาชนะ​บรรจุ.” ดัง​ที่​กองทุน​อนุรักษ์​ธรรมชาติ​แห่ง​โลก (ดับเบิลยู​ดับเบิลยู​เอฟ) ได้​ชี้​แจง “น้ำ​บรรจุ​ขวด​อาจ​ไม่​ได้​ปลอด​ภัย​กว่า​หรือ​ถูก​สุขอนามัย​กว่า​น้ำ​ประปา​ใน​หลาย​ประเทศ​ทั้ง ๆ ที่​ขาย​แพง​กว่า 1,000 เท่า.” การ​ใช้​น้ำ​ประปา​ไม่​เพียง​ประหยัด​เงิน​เท่า​นั้น​แต่​ยัง​ช่วย​อนุรักษ์​สิ่ง​แวด​ล้อม​อีก​ด้วย เนื่อง​จาก​แต่​ละ​ปี​มี​การ​ใช้​พลาสติก​ถึง 1.5 ล้าน​ตัน​สำหรับ​ผลิต​ขวด​น้ำ​ดื่ม และ “สาร​พิษ​ซึ่ง​เกิด​จาก​การ​ผลิต​และ​การ​กำจัด​ขวด​เหล่า​นี้​จะ​ปล่อย​ก๊าซ​ซึ่ง​มี​ส่วน​ทำ​ให้​บรรยากาศ​เปลี่ยน​แปลง.” ดร. บิกแชม กุจจา หัวหน้า​โครงการ​น้ำ​สะอาด​สากล​ของ​ดับเบิลยู​ดับเบิลยู​เอฟ กล่าว​ว่า “มาตรฐาน​การ​ควบคุม​น้ำ​ประปา​ใน​ยุโรป​และ​สหรัฐ​นั้น​สูง​กว่า​มาตรฐาน​ที่​ใช้​ใน​อุตสาหกรรม​น้ำ​บรรจุ​ขวด.”

ทำ​แผนที่​เมือง​อะเล็กซานเดรีย​โบราณ

หลัง​จาก​การ​ขุด​ค้น​และ​การ​สำรวจ​ใต้​น้ำ​เป็น​เวลา​ห้า​ปี ใน​ที่​สุด​ก็​มี​การ​ทำ​แผนที่​เมือง​อะเล็กซานเดรีย​โบราณ​อย่าง​ครบ​ถ้วน. แผนที่​นี้​แสดง​ที่​ตั้ง​พระ​ราชวัง​ของ​ฟาโรห์​และ​ตำแหน่ง​ของ​อู่​เรือ​และ​วิหาร. ฟรังก์ กอดดีโอ นัก​โบราณคดี​ชาว​ฝรั่งเศส และ​คณะ​ทำ​งาน​ของ​เขา​ใช้​ภาพ​วาด​ซึ่ง​อาศัย​ข้อมูล​จาก​นัก​ประดา​น้ำ​รวม​ทั้ง​การ​สำรวจ​ทาง​อิเล็กทรอนิกส์​ของ​เมือง​ซึ่ง​จม​อยู่​ใต้​น้ำ และ​พวก​เขา​ประหลาด​ใจ​กับ​ผล​ที่​ได้. กอด​ดีโอ​กล่าว​ว่า “ไม่​นาน​หลัง​จาก​การ​สำรวจ​อ่าว​โดย​ทาง​อิเล็กทรอนิกส์​เป็น​ครั้ง​แรก เรา​ก็​ตระหนัก​ว่า​ลักษณะ​ภูมิ​ประเทศ​ของ​เมือง​อะเล็กซานเดรีย​โบราณ​แตกต่าง​อย่าง​สิ้นเชิง​จาก​ที่​เคย​เชื่อ​กัน​มา​จน​กระทั่ง​ทุก​วัน​นี้.”

“คุณ​เชื่อ​เรื่อง​ทูต​สวรรค์​ไหม?”

มี​การ​ถาม​คำ​ถาม​ข้าง​ต้น​กับ​ผู้​ที่​อาศัย​ใน​มณฑล​ควิเบก​กว่า 500 คน​และ 66 เปอร์เซ็นต์​ตอบ​ว่า​ตน​เชื่อ. ดัง​ที่​รายงาน​ใน​หนังสือ​พิมพ์​เลอ ชูร์นัล เดอ มอนทรีออล ของ​แคนาดา นัก​วิจัย​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า ความ​เชื่อ​ที่​แพร่​หลาย​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​เหนือ​ธรรมชาติ​ไม่​ได้​เป็น​เพราะ​ศาสนา​โรมัน​คาทอลิก​เท่า​นั้น​แต่​ยัง​รวม​ถึง​อิทธิพล​ที่​เข้มแข็ง​ของ​ศาสนา​พุทธ​ใน​มณฑล​นี้​ด้วย. ถึง​กระนั้น มาร์ติน เจฟฟรอย นัก​สังคม​วิทยา​ประหลาด​ใจ​ที่​มี​เพียง​หนึ่ง​ใน​สาม​ของ​ผู้​ที่​ตอบ​คำ​ถาม​ยอม​รับ​ว่า​เชื่อ​เรื่อง​พญา​มาร. เขา​กล่าว​ว่า “สิ่ง​ที่​น่า​กังวล​คือ​การ​เชื่อ​แต่​สิ่ง​ที่​เป็น​แง่​บวก. เรา​เชื่อ​ว่า​มี​ทูต​สวรรค์​แต่​ไม่​เชื่อ​ว่า​มี​พญา​มาร. เรา​ไม่​ยอม​รับ​แง่​ลบ.”