ทำไมจึงอ่านออกเสียงให้ลูกฟัง?
ทำไมจึงอ่านออกเสียงให้ลูกฟัง?
“ลูกสาวเข้ามาหาผม แล้วปีนขึ้นมาบนตัก แกลากหนังสือที่ยับยู่ยี่แถมเปื้อนเนยถั่วมาด้วย และอ้อนผม . . . ‘พ่อขา ช่วยอ่านให้หนูฟัง; ช่วยอ่านให้หนูฟังหน่อยนะคะ พ่อ.’”—ดร. คลิฟฟอร์ด ชิมเมลส์ อาจารย์ทางการศึกษา.
เด็ก—พวกเขาเรียนเร็วมาก. ผลการวิจัยแสดงว่า สมองของเด็กอายุต่ำกว่าสามขวบพัฒนาเร็วมาก. กิจกรรมที่พ่อแม่ทำเป็นประจำทุกวัน เป็นต้นว่าการอ่าน การร้องเพลง และการแสดงความรักใคร่ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก. อย่างไรก็ดี การศึกษาวิจัยแห่งหนึ่งแสดงว่า บิดามารดาที่มีบุตรอายุระหว่างสองถึงแปดขวบ มีประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่อ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นประจำทุกวัน. คุณอาจสงสัยว่า ‘การอ่านหนังสือให้ลูกฟังมีนัยสำคัญจริง ๆ หรือ?’
ปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการอ่านหนังสือให้ลูกฟังสำคัญจริง ๆ. รายงานในหนังสือก้าวสู่การเป็นชาตินักอ่าน (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “กิจกรรมที่สำคัญที่สุดในการสั่งสมความรู้ที่จำเป็นเพื่อจะประสบผลสำเร็จในที่สุดนั้นคือการอ่านออกเสียงให้ลูกฟัง. สิ่งนี้สำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในช่วงก่อนเข้าโรงเรียน.”
ขณะที่ฟังการอ่านเรื่องราวจากหนังสือ เด็กเรียนรู้ตั้งแต่วัยเยาว์ว่าตัวอักษรบนหน้าหนังสือนั้นก็ตรงกับคำศัพท์ที่เราพูด. พวกเขาเริ่มคุ้นกับภาษาในหนังสืออีกด้วย. คู่มือการอ่านออกเสียงเล่มหนึ่งกล่าวว่า “ทุกครั้งที่เราอ่านกับลูก เรากำลังส่งข่าวสาร ‘น่าเพลิดเพลิน’ ไปยังสมองของลูก. คุณอาจเรียกการอ่านแบบนี้ว่าเป็นเหมือนการโฆษณาทางวิทยุหรือโทรทัศน์ด้วยซ้ำ คือทำให้เด็กเห็นว่าหนังสือและตัวอักษรเกี่ยวข้องกับความเพลิดเพลิน.” พ่อแม่ที่ส่งเสริมลูกให้รักหนังสือตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ย่อมปลูกฝังความปรารถนาที่ยั่งยืนเพื่อให้ลูกเป็นนักอ่าน.
ช่วยลูกเข้าใจโลกรอบตัวเขา
พ่อแม่ที่อ่านออกเสียงให้ลูกฟังเท่ากับให้ของขวัญอันมีค่า กล่าวคือให้ความรู้เรื่องผู้คน, สถานที่, และสิ่งต่าง ๆ. พวกเขาสามารถ “เดินทาง” ท่องโลกทางหน้าหนังสือโดยแทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย. ขอพิจารณาตัวอย่างของแอนโทนีวัยสองขวบ ซึ่งแม่อ่านหนังสือให้เขาฟังตั้งแต่เกิด. เธอบอกว่า “การเที่ยวชมสวนสัตว์ครั้งแรกของเขาถือเป็นการเดินทางเพื่อการค้นพบอีกครั้ง.” ทำไมจึงพูดว่าเป็นการค้นพบอีกครั้ง? จริงอยู่ แม้แอนโทนีเพิ่งจะเห็นม้าลาย, สิงโต, ยีราฟ, และสัตว์อื่น ๆ เป็นครั้งแรก แต่เขาเคยรู้จักสัตว์เหล่านี้มาก่อนแล้ว.
แม่ของเขาอธิบายต่อดังนี้: “ในช่วงสองขวบแรก แอนโทนีได้รู้จักผู้คน, สัตว์, วัตถุสิ่งของและความคิดนับไม่ถ้วน ทั้งหมดนี้จากหน้าหนังสือ.” ใช่แล้ว การอ่านออกเสียงให้ลูกฟังขณะที่เขายังเล็กอยู่จะช่วยพวกเขาอย่างมากให้เข้าใจโลกซึ่งพวกเขาอาศัยอยู่.
การสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น
ในช่วงระยะที่ได้รับการปลูกฝังนิสัยนั้น เด็กเล็ก ๆ ย่อมพัฒนาเจตคติซึ่งจะส่งผลต่อการกระทำของเขาในวันข้างหน้า. ด้วยเหตุนี้ พ่อแม่จึงจำต้องวางรากฐานเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นขึ้นด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ, ความนับถือต่อกัน, และความเข้าใจกัน. การอ่านย่อมเอื้อประโยชน์แก่กระบวนการนี้.
เมื่อพ่อแม่ให้เวลาเพื่อจะโอบกอดลูกไว้ในวงแขนแล้วกางหนังสืออ่านกับลูก พวกเขาได้สื่อสารอย่างชัดเจนว่า: “พ่อ [หรือ] แม่รักหนู.” ฟีเบ คุณแม่ชาวแคนาดาพูดถึงการอ่านหนังสือกับลูกชายซึ่งตอนนี้อายุแปดขวบแล้วว่า “ฉันกับสามีรู้สึกว่าการทำเช่นนี้ช่วยได้มากทีเดียวเพื่อนาทานจะรู้สึกใกล้ชิดกับเรา. ลูกเป็นคนที่พร้อมจะคุยกับเราและมักจะบอกเราว่าเขารู้สึกเช่นไร. การทำเช่นนี้ทำให้เรามีความผูกพันเป็นพิเศษ.”
ซินดีอ่านออกเสียงให้ลูกสาวฟังเป็นกิจวัตรตั้งแต่ลูกอายุหนึ่งขวบ และลูกของเธอก็จะตื่นตัวนั่งฟังได้เป็นนาทีหรือสองนาที. การใช้เวลาและความพยายามอย่างนี้คุ้มค่าไหม? ซินดีให้ข้อสังเกตดังนี้: “การอ่านด้วยกันท่ามกลางบรรยากาศที่อบอุ่นแบบเพื่อนที่เอื้ออาทรกัน เท่านี้ก็มากพอที่จะเร้าให้อะบีเกลเผยเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนหรือเมื่อลูกมีปัญหากับเพื่อน ๆ ให้เรารู้. พ่อแม่คนใดจะไม่ยินดีที่ได้การตอบสนองอย่างนี้?” แน่นอน การอ่านออกเสียงสามารถเสริมความผูกพันอันแนบแน่นระหว่างบิดามารดากับบุตรได้จริง.
การปลูกฝังทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิต
หนังสือ 3 ขั้นตอนที่ทำให้ครอบครัวมั่นคง (ภาษาอังกฤษ) กล่าวดังนี้: “สมัยนี้เด็กของเราบริโภคสิ่งไร้คุณค่าทางจิตใจอย่างมากจากโทรทัศน์และจากแหล่งอื่น ส่วนที่พวกเขาจำต้องได้รับมากยิ่งกว่าแต่ก่อนคือสิ่งที่เป็นอาหารบำรุงจิตใจ, แนวความคิดที่ชัดเจน, สติปัญญา, ที่พึ่งทางใจซึ่งจะช่วยเขาให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมองชีวิตด้วยทัศนะที่ถูกต้อง.” บิดามารดาอยู่ในฐานะดีที่สุดในการสร้างอิทธิพลอันดีงามและเป็นประโยชน์.
การให้ลูกรู้จักประโยคที่ซับซ้อนและประโยคที่แต่งขึ้นอย่างดีในหนังสือย่อมเป็นเครื่องมืออันทรงค่าสำหรับใช้สอนลูกให้แสดงออกทั้งในการพูดและการเขียน. โดโรที บัทเลอร์ ผู้แต่งหนังสือเด็กน้อยต้องการหนังสือ (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า “คุณภาพทางความคิดของแต่ละคนย่อมขึ้นอยู่กับคุณภาพทางภาษาของเขา. จริง ๆ แล้ว ภาษาเป็นแก่นแท้ของการเรียนรู้และเชาวน์ปัญญา.” ความสามารถในการสื่อความที่ดีเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงสัมพันธภาพที่ดี.
การอ่านจากหนังสือที่เหมาะสมจะเสริมความเข้มแข็งด้านจริยธรรมและค่านิยมที่ดีได้เช่นกัน. พ่อแม่ซึ่งอ่านและหาเหตุผลกับลูกของตนอาจช่วยลูกพัฒนาทักษะในการแก้ปัญหา. ขณะที่ซินดีอ่านกับอะบีเกลลูกสาว เธอคอยสังเกตปฏิกิริยาของอะบีเกลต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีกล่าวไว้ในเรื่องนั้น. “ในฐานะพ่อแม่ เราอาจเรียนรู้ได้มากขึ้นเกี่ยวกับนิสัยที่ซ่อนเร้นอยู่ในบุคลิกภาพ
ของลูกและด้วยความคาดหวังที่จะช่วยสกัดกั้นแนวคิดไม่ดีเสียตั้งแต่อายุน้อย ๆ.” จริงทีเดียว การอ่านออกเสียงกับลูกเป็นการอบรมสั่งสอนทั้งจิตใจและหัวใจ.ทำให้การอ่านน่าเพลิดเพลิน
จงอ่าน “ด้วยน้ำเสียงอ่อนละมุน,” ในบรรยากาศผ่อนคลาย, เป็นกันเอง, และน่าเพลิดเพลิน. บิดามารดาที่ช่างสังเกตจะรู้ว่าควรหยุดอ่านตอนไหน. เลนาพูดว่า “บางครั้งแอนดรูว์ซึ่งอายุสองขวบ รู้สึกเหนื่อยหน่ายและนั่งนิ่ง ๆ ไม่ได้นาน. เราจึงตัดทอนเวลาอ่านให้สั้นลงเพื่อให้เหมาะกับอารมณ์ของลูก. เราไม่อยากให้แอนดรูว์เกิดความรู้สึกในแง่ลบต่อการอ่าน ฉะนั้น เราจึงไม่ฝืนใจเกินกว่าที่แกจะรับไหว.”
การอ่านออกเสียงไม่ได้เป็นเพียงการออกเสียงตามตัวพิมพ์เท่านั้น. ต้องรู้ว่าจะพลิกไปหน้าที่มีรูปภาพเมื่อไรเพื่อกระตุ้นความกระหายใคร่รู้. รักษาจังหวะการอ่านให้ราบรื่นไม่ติดขัด. อนึ่ง การปรับเสียงสูงต่ำและลงเสียงหนักเบาก็ทำให้เรื่องราวมีชีวิตชีวามากขึ้นด้วย. น้ำเสียงที่แฝงด้วยความอบอุ่นจะค่อย ๆ ซึมซาบเข้าในใจลูกทำให้เขารู้สึกอุ่นใจ.
การอ่านจะได้ประโยชน์สูงสุดเมื่อลูกมีส่วนร่วมกับคุณ. จงหยุดอ่านเป็นครั้งคราวและตั้งคำถามแบบเปิดกว้าง. แล้วขยายคำตอบของลูกโดยเสนอคำตอบอื่น ๆ ที่เป็นไปได้.
เป็นคนพิถีพิถันในการเลือกหนังสือ
แต่บางทีปัจจัยสำคัญที่สุดอาจอยู่ที่การเลือกหาหนังสือดี ๆ. การจะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องทำการบ้านบ้าง. จงตรวจดูหนังสือต่าง ๆ อย่างรอบคอบ และเลือกแต่หนังสือซึ่งมีสาระ หรือมีข้อคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์ หรือในเชิงแนะนำและมีคติธรรม. พิจารณาปกหนังสือ, รูปภาพต่าง ๆ, และสำนวนโวหารโดยทั่วไปให้ถี่ถ้วน. เลือกหนังสือที่ทั้งพ่อแม่และลูกต่างก็สนใจเหมือนกัน. บ่อยครั้งลูกจะขอให้อ่านเรื่องเดิมนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก.
บิดามารดาทุกหนแห่งทั่วโลกชอบหนังสือของฉันเกี่ยวด้วยเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล *เป็นพิเศษ. การออกแบบหนังสือนี้ก็เพื่อให้บิดามารดาอ่านกับบุตรวัยเยาว์ของตน และไม่เพียงจะช่วยลูกเป็นนักอ่านที่ดีเท่านั้น แต่จะช่วยกระตุ้นลูกให้สนใจเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลได้ด้วย.
บิดามารดาที่อ่านออกเสียงให้บุตรฟังสามารถปลูกฝังนิสัยการอ่านที่ดีแก่บุตร ซึ่งอาจเป็นผลดีกับเขาไปตลอดชั่วชีวิต. โจแอนพูดถึงลูกสาวของเธอดังนี้: “เจนนิเฟอร์ไม่เพียงแต่สามารถอ่านออกเขียนได้ก่อนเริ่มเข้าโรงเรียนและรักการอ่าน แต่ที่สำคัญกว่านั้น ลูกได้พัฒนาความรักต่อพระยะโฮวา พระผู้สร้างองค์ใหญ่ยิ่งของพวกเรา. เจนนิเฟอร์เรียนรู้ที่จะวางใจคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์ที่จารึกไว้ เพื่อเธอจะใช้เป็นเครื่องนำทางในการตัดสินใจทุกอย่าง.” แท้จริง สิ่งที่คุณส่งเสริมลูกให้รักย่อมสำคัญกว่าสิ่งที่คุณช่วยลูกให้เรียนรู้.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 24 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[กรอบ/ภาพหน้า 15]
เมื่อคุณอ่านให้ลูกฟัง
• เริ่มเมื่อลูกยังเป็นทารก.
• ให้ลูกมีจิตใจสงบก่อนที่จะอ่าน.
• อ่านเรื่องที่คุณและลูกต่างก็ชอบเหมือนกัน.
• อ่านบ่อย ๆ ตราบที่คุณทำได้ และอ่านด้วยอารมณ์ความรู้สึก.
• ให้ลูกมีส่วนร่วมโดยการตั้งคำถาม.
[ที่มาของภาพหน้า 14]
Photograph taken at the Wildlife Conservation Society’s Bronx Zoo