พม่า—“แผ่นดินทอง”
พม่า—“แผ่นดินทอง”
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในพม่า
“แผ่นดินทอง” แห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาที่เป็นพรมแดนทางธรรมชาติกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย. ทิศตะวันตกเฉียงใต้จดอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามัน โดยมีชายฝั่งทะเลยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร. ทิศตะวันตกจดบังกลาเทศและอินเดีย; ทิศเหนือจดประเทศจีน; และทิศตะวันออกจดลาวและไทย. ประเทศนี้มีขนาดใหญ่กว่าเกาะมาดากัสการ์และเล็กกว่ารัฐเทกซัสในอเมริกาเหนือเล็กน้อย. ดินแดนแห่งนี้มีชื่อว่าอะไร? พม่า.
ผู้ตั้งถิ่นฐานกลุ่มแรก ๆ เรียกดินแดนแห่งนี้ว่าแผ่นดินทอง. พม่ามีทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ, ทองแดง, ดีบุก, เงิน, ทังสเตน, รวมทั้งแร่อื่น ๆ และอัญมณีต่าง ๆ เช่น แซปไฟร์, มรกต, ทับทิม, และหยก. ทรัพยากรอื่น ๆ รวมไปถึงป่าดิบชื้นซึ่งมีไม้หายาก เช่น ไม้สัก, ไม้พะยูง, และไม้ประดู่. ป่ายังเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น ลิง, เสือ, หมี, ควาย, และช้างเป็นต้น. แต่ทรัพยากรที่แท้จริงของแผ่นดินทองแห่งนี้ก็คือพลเมือง.
พลเมืองพม่า
ชาวพม่าเป็นคนอ่อนโยนและรักสงบ มีมารยาทและมีน้ำใจรับรองแขกมาแต่โบราณ. พวกเขาต้อนรับผู้มาเยือนด้วยความนับถือและให้เกียรติ. เด็ก ๆ มักเรียกผู้ใหญ่ว่าคุณลุงและคุณป้า.
ผู้มาเยือนมักกล่าวชมว่าผู้สูงอายุในพม่าไม่ค่อยมีรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า. พวกผู้หญิงจะบอกว่าสาเหตุหนึ่งที่คนพม่ามีหน้าอ่อนกว่าวัยก็คือพวกเขานิยมใช้เครื่องสำอางสีทองอ่อนชนิดหนึ่ง—ทานาคา—ซึ่งได้มาจากต้นทานาคา. พวกผู้หญิงจะฝนกิ่งทานาคา บนแผ่นหินแบน ๆ ใส่น้ำลงไปเล็กน้อยแล้วเอามาทาหน้าเป็นลวดลายแบบต่าง ๆ. นอกจากจะช่วยรักษาผิวและทำให้เย็นสบายแล้ว ทานาคา ยังปกป้องผิวไว้จากแสงแดดอันร้อนระอุในเขตร้อนด้วย.
เครื่องแต่งกายโดยทั่วไปสำหรับทั้งผู้ชายและผู้หญิงใน
พม่าคือโสร่ง ซึ่งทำขึ้นง่าย ๆ โดยนำผ้าประมาณสองเมตรมาเย็บริมด้านข้างให้ติดกัน. เมื่อใส่โสร่ง ผู้หญิงก็จะทบโสร่งรอบตัวเหมือนนุ่งกระโปรง แล้วเหน็บชายไว้ที่เอว. ส่วนผู้ชายก็จะมัดชายโสร่งทั้งสองข้างแบบหลวม ๆ ไว้ที่หน้าท้อง. โสร่งแบบนี้ดูสุภาพและอากาศถ่ายเทได้ดีจึงเหมาะอย่างยิ่งกับประเทศเขตร้อน.ถ้าไปชมตลาดก็จะเห็นว่าชาวพม่ามีความสามารถหลายอย่าง เก่งในการทอผ้าไหม, ทำเครื่องประดับ, และแกะสลักไม้. มีการแกะไม้สัก, ไม้ประดู่, และไม้ชนิดอื่น ๆ เป็นรูปคน, เสือ, ม้า, ควาย, และช้างซึ่งล้วนแต่ดูสวยงาม. แม้แต่ของใช้ประจำวันเช่น หน้าโต๊ะ, ฉากกั้นห้อง, และเก้าอี้ก็ประดับด้วยลายแกะสลักอันซับซ้อน. แต่ถ้าคุณคิดจะซื้อจริง ๆ ก็จงเตรียมตัวต่อรองราคาให้ดี!
ชาวพม่ายังมีฝีมือเป็นเลิศในเรื่องการทำเครื่องเขินอันงดงามอีกด้วย เช่น ถ้วย, จาน, และกล่องที่มีฝาปิด. แต่สิ่งที่ทำให้เครื่องเขินของพม่าไม่เหมือนใครก็คือรูปแบบและลวดลายที่ไม่ตายตัว. เครื่องเขินแบบง่าย ๆ เริ่มจากการสานตอกไม้ไผ่. (ของที่มีคุณภาพสูงกว่าจะเริ่มด้วยการสานตอกไม้ไผ่กับขนม้า.) ช่างจะลงรักบนโครงไม้ไผ่นี้ถึงเจ็ดชั้น น้ำรักนี้ได้จากยางของต้นทิเซ หรือต้นรัก ผสมกับเถ้ากระดูกสัตว์บดละเอียด.
พอแห้งแล้วช่างก็จะใช้เหล็กแหลมแกะหรือขุดลวดลายลงบนพื้นผิว. ภายหลังลงสีเล็กน้อยและขัดเงา ผลงานที่ออกมาก็ไม่ได้เป็นเพียงงานศิลปะชั้นยอดเท่านั้น แต่เป็นของที่มีประโยชน์ใช้สอยในบ้านอีกด้วย.
อิทธิพลอันเข้มแข็งของศาสนา
พลเมืองประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ของพม่านับถือศาสนาพุทธ; ที่เหลือส่วนใหญ่อ้างว่าเป็นมุสลิมและคริสเตียน. พม่าก็เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ศาสนามีส่วนสำคัญในวิถีชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่. อย่างไรก็ตาม ผู้
มาเยือนหลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับธรรมเนียมทางศาสนาบางอย่าง.ยกตัวอย่าง พระสงฆ์ในศาสนาพุทธต้องรักษาศีลโดยห้ามถูกเนื้อต้องตัวผู้หญิง. ดังนั้น ด้วยความนับถือ พวกผู้หญิงจะไม่เข้าใกล้พระสงฆ์มากเกินไป. ธรรมเนียมทางศาสนามีผลแม้กระทั่งในการโดยสารบนรถประจำทาง. ชาวตะวันตกอาจงงเมื่อเห็นป้ายบนรถประจำทางเขียนว่า “โปรดอย่าถามพนักงานขับรถว่าเราจะไปถึงจุดหมายกี่โมง.” พวกคนขับต่างพากันเบื่อหน่ายผู้โดยสารขี้บ่นไหม? เปล่า. ชาวพุทธในพม่าเชื่อว่านัต (เหล่าวิญญาณหรือผี) จะไม่ชอบคำถามนี้และอาจทำให้รถล่าช้าได้!
ประวัติศาสตร์พม่า
ประวัติศาสตร์ตอนต้น ๆ ของพม่านั้นคลุมเครือ แต่ดูเหมือนว่าชนเผ่าต่าง ๆ หลายเผ่าอพยพเข้ามาจากดินแดนใกล้เคียง. ดูเหมือนว่าชาวมอญคงเป็นผู้ตั้งชื่อดินแดนแห่งนี้ว่าสุวรรณภูมิ ซึ่งหมายความว่า “แผ่นดินทอง.” ชาวทิเบต-พม่าอพยพมาจากทางตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย และชาวไทยอพยพมาจากดินแดนซึ่งในปัจจุบันคือภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน. ภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสูง ๆ ต่ำ ๆ ของพม่าทำให้ชนเผ่าต่าง ๆ อยู่แยกจากกัน ด้วยเหตุนี้จึงมีชนเผ่าและภาษาต่าง ๆ มากมาย.
ตอนต้นศตวรรษที่ 19 ชาวอังกฤษเริ่มเข้ามาจากอินเดีย ซึ่งเพิ่งเป็นอาณานิคมใหม่ ๆ. พวกอังกฤษตั้งถิ่นฐานอยู่ทางภาคใต้ของประเทศก่อน แล้วในที่สุดก็ยึดครองได้ทั้งประเทศ. พอถึงปี 1886 พม่าก็ถูกผนวกเข้ากับอินเดียของอังกฤษ.
ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ดินแดนแห่งนี้กลายเป็นสมรภูมิอันดุเดือด และภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนในปี 1942 กองทัพญี่ปุ่นก็ขับพวกอังกฤษออกไป. ต่อมา “ทางรถไฟสายมรณะ” ก็ถูกสร้างขึ้น. ทางรถไฟสายนี้ซึ่งมีความยาว 400 กิโลเมตรตัดผ่านเขตป่าเขาที่อันตรายซึ่งเชื่อมต่อเมืองธันบูชายัตในพม่ากับหนองปลาดุกในประเทศไทย. เนื่องจากขาดแคลนโลหะ จึงมีการรื้อรางรถไฟส่วนใหญ่มาจากมลายากลาง (ปัจจุบันคือมาเลเซีย) มาสร้างทางรถไฟสายนี้. การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแควซึ่งเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของโครงการถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์อันโด่งดังในเวลาต่อมา.
มีการสร้างทางรถไฟสายนี้โดยใช้ช้าง 400 เชือกและคนกว่า 300,000 คนซึ่งประกอบด้วยเชลยศึกและพลเมืองชาวอินเดียและพม่า. มีคนเสียชีวิตระหว่างการก่อสร้างหลายหมื่นคน. เนื่องจากถูกเครื่องบินของฝ่ายพันธมิตรทิ้งระเบิดบ่อย ๆ ทางรถไฟสายนี้จึงไม่ค่อยถูกใช้งานและเลิกใช้ไปในที่สุด. ต่อมารางส่วนใหญ่ก็ถูกรื้อไปใช้ในที่อื่น.
ในที่สุด ชาวอังกฤษก็ต่อสู้จนกลับเข้ามาในประเทศได้อีกครั้ง โดยยึดพม่าคืนจากญี่ปุ่นในปี 1945. แต่การปกครองของอังกฤษก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในวันที่ 4 มกราคม 1948. ในวันที่ 22 มิถุนายน 1989 สหประชาชาติรับรองชื่อใหม่ของประเทศนี้ นั่นคือ เมียนมาร์ (Myanmar).
ดินแดนแห่งราชธานีทอง
ตลอดหลายศตวรรษพม่าเคยมีนครหลวงหลายแห่ง. ตัวอย่างเช่น ใจกลางของพม่าเป็นที่ตั้งของเมืองมัณฑะเลย์ หรือที่นิยมเรียกกันว่านครทอง. เมืองนี้ซึ่งมีประชากร 500,000 คน มีเจดีย์จากทุกยุคทุกสมัยกระจายอยู่ทั่วเมือง และเป็นราชธานีแห่งสุดท้ายก่อนที่อังกฤษจะเข้ามายึดครอง. พระเจ้ามินดงสืบราชสมบัติ ณ เมืองมัณฑะเลย์ในปี 1857 เมื่อพระองค์ทรงสร้างพระราชวังอันใหญ่โตขึ้นที่นั่นสำหรับพระองค์เองและเหล่าพระมเหสี. เมืองเก่าซึ่งมีพื้นที่ 4 ตารางกิโลเมตรนี้อยู่ภายในกำแพงที่สูง 8 เมตรและมีฐานหนา 3 เมตร. มีคูกว้าง 70 เมตรล้อมรอบกำแพงเมือง.
ในปี 1885 อังกฤษเนรเทศพระเจ้าสีป่อ ผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้ามินดง ไปประทับอยู่ที่อินเดีย แต่พวกอังกฤษไม่ได้แตะต้องพระราชวัง. อย่างไรก็ตาม
สงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ได้ละเว้นพระราชวังนั้น และก็ถูกเผาทำลายไป. ด้วยความมุ่งมั่น ชาวพม่าสร้างพระราชวังจำลองอันงดงามขึ้นรวมทั้งเรือนไม้หลังใหญ่สีแดงและสีทองบนที่ตั้งเดิม. พระราชวังนี้เปิดให้เข้าเยี่ยมชมได้.จากเมืองมัณฑะเลย์ลงมาตามแม่น้ำเป็นระยะทาง 200 กิโลเมตรเป็นที่ตั้งของเมืองพุกาม. เมืองนี้เป็นราชธานีเก่าอีกแห่งหนึ่งซึ่งตั้งขึ้นในช่วงสหัสวรรษแรกของสากลศักราชและรุ่งเรืองถึงจุดสูงสุดในศตวรรษที่ 11; แต่เมืองนี้ถูกทิ้งร้างหลังจากนั้นเพียง 200 ปี. ถึงกระนั้น ซากปรักหักพังของวัดและเจดีย์ต่าง ๆ หลายร้อยแห่งที่กระจัดกระจายอยู่ตามหมู่บ้านเล็ก ๆ หลายแห่งก็สะท้อนถึงสง่าราศีในอดีต.
นครหลวงในปัจจุบันคือกรุงย่างกุ้ง (ชื่ออย่างเป็นทางการจนถึงปี 1989 คือ Rangoon) เมืองนี้เป็นเมืองที่พลุกพล่าน มีประชากรกว่าสามล้านคน มีรถยนต์, รถประจำทาง, และรถโดยสารขนาดเล็กวิ่งกันขวักไขว่และบีบแตรเสียงดัง. แม้จะมีตึกเก่า ๆ หลายหลังซึ่งทำให้นึกย้อนไปถึงสมัยที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ตั้งอยู่บนถนนกว้างซึ่งมีต้นไม้เรียงรายอยู่สองข้างทาง แต่ปัจจุบันเมืองนี้ก็มีโรงแรมทันสมัยและมีอาคารสำนักงานด้วย.
เมืองนี้ยังมีเจดีย์ชเวดากองซึ่งเป็นเจดีย์ยอดทองสูง 98 เมตรและมีอายุ 2,500 ปี เจดีย์นี้สะท้อนถึงความมั่งคั่งและความยอดเยี่ยมทางสถาปัตยกรรมของสมัยก่อน. กล่าวกันว่า มีเพชรพลอยและอัญมณีอื่น ๆ ประมาณ 7,000 เม็ดฝังอยู่รอบ ๆ ยอดเจดีย์นี้. ปลายยอดประดับด้วยเพชรเม็ดหนึ่งหนัก 76 กะรัต. เช่นเดียวกับอาคารสมัยโบราณหลายหลังในพม่า เจดีย์ชเวดากองได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวและสงคราม และเจดีย์องค์นี้ก็ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่แทบทั้งหมด.
อย่างไรก็ตาม บางคนกล่าวว่าเจดีย์ทองที่ชื่อสุเล เป็นศูนย์กลางของกรุงย่างกุ้งที่แท้จริง. เจดีย์สุเลที่อายุ 2,000 ปีและสูง 46 เมตรนี้เป็นเกาะกลางถนนขนาดใหญ่สีทองอยู่บนทางแยกที่ถนนหลักสี่สายมาบรรจบกัน. มีร้านขายของตั้งอยู่รอบเจดีย์นี้ด้วย.
ทองคำฝ่ายวิญญาณ
ในปี 1914 นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลนานาชาติสองคน (ชื่อที่พยานพระยะโฮวาเป็นที่รู้จักกันในสมัยนั้น) เดินทางจากอินเดียมาถึงกรุงย่างกุ้งเพื่อเสาะหาผู้คนที่หยั่งรู้ค่าทองคำที่มีค่ามากกว่า นั่นคือทองคำฝ่ายวิญญาณ. ในปี 1928 และ 1930 มีมิชชันนารีเดินทางมาสมทบเพิ่มขึ้น และพอถึงปี 1939 มีการตั้งสามประชาคมซึ่งมีพยานฯ ทั้งหมด 28 คน. สำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาที่ประเทศอินเดียซึ่งตั้งอยู่ในเมืองบอมเบย์ดูแลงานที่นี่จนถึงปี 1938. ตั้งแต่ปีนั้นจนถึงปี 1940 สาขาออสเตรเลียดูแลงานที่นี่. หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการเปิดสำนักงานสาขาของพม่าเองในกรุงย่างกุ้งเมื่อปี 1947.
ในเดือนมกราคม 1978 สำนักงานสาขาย้ายไปยังถนนอินยา. อาคารสำนักงานใหญ่ขนาดสามชั้นถูกเรียกว่าสำนักเบเธลพม่า. สมาชิกครอบครัวเบเธล 52 คนกำลังทำงานอย่างขันแข็งในการเอาใจใส่ความจำเป็นของพยานฯ ประมาณ 3,000 คนซึ่งทำงานอยู่ในประเทศนี้. การที่มีภาษาเผ่าต่าง ๆ มากมายในพม่าทำให้การแปลเป็นงานหลักของสาขานี้. งานหนักของพยานพระยะโฮวาทำให้มี ‘ทองคำ’ อีกชนิดหนึ่งเพิ่มเข้ากับทรัพยากรที่มีมากมายในแผ่นดินทองแห่งนี้.
[แผนที่หน้า 17]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
บังกลาเทศ
อินเดีย
จีน
ลาว
ไทย
พม่า
มัณฑะเลย์
พุกาม
ย่างกุ้ง
อ่าวเบงกอล
[ที่มาของภาพ]
Mountain High Maps® Copyright © 1997 Digital Wisdom, Inc.
[ภาพหน้า 17]
จากบน: ผู้ชายและผู้หญิงนุ่งโสร่ง; สามเณรในศาสนาพุทธ; ผู้หญิงพอกหน้าด้วย “ทานาคา”
[ภาพหน้า 18]
การประกาศในไร่ถั่วลิสง
[ภาพหน้า 18]
ไม้แกะสลักวางขายในตลาดท้องถิ่น
[ที่มาของภาพ]
chaang.com
[ภาพหน้า 18]
การขุดลวดลายลงบนพื้นผิวของหน้าโต๊ะเครื่องเขิน
[ภาพหน้า 18]
ถ้วยเครื่องเขินที่ได้รับการประดับอย่างงดงาม
[ที่มาของภาพ]
chaang.com
[ภาพหน้า 20]
สำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาในพม่า
[ที่มาของภาพหน้า 16]
© Jean Leo Dugast/Panos