การเดินทางข้ามเส้น
การเดินทางข้ามเส้น
มนุษย์ใฝ่ฝันมานานแล้วที่จะเดินทางข้ามเวลา ไม่ว่าจะย้อนไปในอดีตหรือก้าวไปสู่โลกอนาคต. ดังนั้น คุณจะแปลกใจไหมถ้าทราบว่าในแง่หนึ่งผู้คนก็กำลังเดินทางข้ามเวลาอยู่ทุกวัน? ลองคิดถึงนักธุรกิจจากโตเกียวที่บินไปประชุมในนิวยอร์ก. ถ้าเที่ยวบินของเขาออกตอนเที่ยงวัน แล้วหลังจากบินโดยไม่แวะที่ใดเลยเป็นระยะทางเกือบครึ่งโลก เขาจะมาถึงจุดหมายในตอนเช้าของวันเดียวกันนั้นเอง ดูเหมือนว่าถึงก่อนเวลาที่เขาเริ่มออกเดินทางเสียด้วยซ้ำ.
จริง ๆ แล้วเป็นไปได้ไหมที่จะเดินทางเป็นระยะทางไกล ๆ แล้วถึงจุดหมายก่อน เวลาที่คุณเริ่มออกเดินทาง? เป็นไปไม่ได้. แต่เมืองที่อยู่ห่างไกลกันจะอยู่คนละเขตภาคเวลา. ที่จริง การเดินทางข้ามเส้นวันที่ก็หมายถึงการข้ามเส้นสมมุติบนโลกซึ่งนานาชาติได้ตกลงกันเพื่อใช้เป็นเขตแบ่งวันที่. นี่เป็นประสบการณ์ที่น่าฉงนจริง ๆ! มันเหมือนกับว่าคุณได้หรือเสียวันหนึ่งไปในทันทีทันใด ขึ้นอยู่กับว่าคุณกำลังเดินทางไปในทิศทางไหน.
สมมุติว่านักธุรกิจชาวโตเกียวออกจากนิวยอร์กตอนดึกของคืนวันอังคารในเที่ยวบินขากลับ. เมื่อเขาก้าวลงจากเครื่องบินในอีกราว ๆ 14 ชั่วโมงต่อมา ที่ญี่ปุ่นก็จะเป็นวันพฤหัสบดีแล้ว. ช่างเป็นความรู้สึกที่แปลกจริง ๆ ที่วันหายไปหนึ่งวันเต็ม ๆ! นักเดินทางที่มีประสบการณ์คนหนึ่งนึกถึงการเดินทางข้ามเส้นวันที่ครั้งแรกของเธอ เธอยอมรับว่า “ดิฉันไม่เข้าใจว่าวันนั้นหายไปไหน. ช่างน่าฉงนจริง ๆ.”
เนื่องจากเส้นวันที่อาจทำให้นักเดินทางสับสนได้ บางคนอาจสงสัยว่าทำไมจึงคิดเส้นแบ่งนี้ขึ้นมา.
กะลาสีเป็นผู้ค้นพบ
จะเห็นได้ชัดถึงความจำเป็นที่ต้องมีเส้นวันที่ถ้าเรามองย้อนไปในปี 1522 เมื่อลูกเรือของเฟอร์ดินันด์ แมกเจลแลน แล่นเรือรอบโลกสำเร็จเป็นครั้งแรก. หลังจากเดินทางอยู่ในทะเลเป็นเวลาสามปี พวกเขามาถึงสเปนในวันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน. อย่างไรก็ตาม บันทึกการเดินเรือของพวกเขาบอกว่า วันนั้นเป็นวันเสาร์ที่ 6 กันยายน. ทำไมวันที่จึงไม่ตรงกัน? โดยแล่นเรือรอบโลกในทิศทางเดียวกับดวงอาทิตย์ พวกเขาเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นน้อยกว่าคนที่อยู่ในสเปนหนึ่งครั้ง.
นักเขียน จูลส์ เวิร์น ใช้ปรากฏการณ์นี้ในทางกลับกันให้เป็นจุดหักเหในนวนิยายของเขาเรื่องแปดสิบวันรอบโลก.
ตัวเอกของเรื่องต้องเดินทางรอบโลกภายใน 80 วันเพื่อจะได้เงินจำนวนมาก. ในตอนจบของการผจญภัย เขากลับถึงบ้านด้วยความผิดหวัง เพราะเขามาช้ากว่าวันที่เขาจะได้รับรางวัลไปเพียงวันเดียว. เขาคิดว่าเป็นอย่างนั้น. เขาต้องประหลาดใจที่รู้ว่าจริง ๆ แล้วเขามาทันตามเวลากำหนด. ดังที่นวนิยายเรื่องนั้นอธิบาย “โดยไม่รู้ตัว ฟิเลียส ฟอกก์ ได้หนึ่งวันเพิ่มขึ้นจากการเดินทาง และที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเขามุ่งหน้าไปทางตะวันออก อย่างต่อเนื่อง.”แม้ดูเหมือนว่าเส้นวันที่ทำให้นวนิยายของเวิร์นจบลงอย่างมีความสุข แต่จริง ๆ แล้ว ไม่มีเส้นวันที่แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเมื่อนวนิยายที่มีชื่อเสียงเรื่องนี้จัดพิมพ์เมื่อปี 1873. กัปตันเรือในสมัยนั้นจะปรับวันที่หนึ่งวันทุกครั้งขณะที่ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก แต่เส้นวันที่แบบปัจจุบันไม่ได้ปรากฏบนแผนที่ของพวกเขา. นั่นคือช่วงก่อนที่จะมีการรับรองระบบเขตภาคเวลาสากล. ด้วยเหตุนี้ ในสมัยที่อะแลสกาเป็นของรัสเซีย ชาวอะแลสกาจึงมีวันที่เหมือนกับชาวมอสโก. แต่ในปี 1867 เมื่อสหรัฐได้ซื้ออะแลสกา ดินแดนแห่งนั้นก็มีวันที่เหมือนกับสหรัฐ.
พัฒนาการในประวัติศาสตร์
ในปี 1884 ขณะที่มีความสับสนวุ่นวายในเรื่องการกำหนดเวลากันนี้ ตัวแทนจาก 25 ประเทศได้มาพบกันที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อประชุมเกี่ยวกับเส้นเมริเดียนแรกสากล. พวกเขาตั้งระบบเขตภาคเวลา 24 เขตที่ครอบคลุมทั่วโลกและตกลงกันเรื่องเส้นเมริเดียนแรก ซึ่งก็คือเส้นลองจิจูดที่ลากผ่านเมืองกรีนิช ประเทศอังกฤษ. * เส้นนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการวัดตำแหน่งในทิศตะวันออก-ตะวันตกบนโลก.
ดูเหมือนจุดที่เหมาะสำหรับเส้นวันที่ก็คือ จุดที่อยู่ครึ่งทางรอบโลกนับจากเมืองกรีนิช หรือนับไปทางตะวันออกหรือไม่ ก็ทางตะวันตก 12 เขตภาคเวลา. แม้ว่าไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการในการประชุมเมื่อปี 1884 แต่เส้นเมริเดียน 180 องศาก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นจุดที่เหมาะเป็นพิเศษเนื่องจากจะทำให้เส้นวันที่ไม่ได้ลากผ่านทวีปใดทวีปหนึ่ง. คุณนึกภาพความวุ่นวายออกไหมถ้าครึ่งหนึ่งของประเทศที่คุณอยู่เป็นวันอาทิตย์และอีกครึ่งหนึ่งเป็นวันจันทร์?
ถ้าคุณดูแผนที่โลกหรือลูกโลก คุณจะเห็นเส้นเมริเดียน 180 องศาอยู่ทางตะวันตกของฮาวาย. คุณจะเห็นทันทีว่าเส้นวันที่ไม่ได้อยู่ทับเส้นเมริเดียนโดยตลอด. เส้นวันที่ลากผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกแบบซิกแซ็กเพื่อเลี่ยงไม่ให้ทับแผ่นดินเลย. และเนื่องจากมีการกำหนดเส้นวันที่โดยความตกลงทั่วไป ไม่ใช่สนธิสัญญาระหว่างประเทศ เส้นนี้จึงถูกเปลี่ยนตามความต้องการของประเทศใดก็ได้. ตัวอย่างเช่น ในปี 1995 คิริบาสประกาศว่า เส้นวันที่ซึ่งตัดผ่านกลางหมู่เกาะนี้ จะอ้อมไปนอกเกาะที่อยู่สุดทางตะวันออกของหมู่เกาะนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป. แผนที่ในปัจจุบันจึงแสดงให้เห็นว่า ทุกเกาะในหมู่เกาะคิริบาสอยู่ในฝั่งเดียวกันของเส้นวันที่. ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงมีวันที่ตรงกัน.
เส้นวันที่ทำงานอย่างไร
เพื่อยกตัวอย่างให้เห็นว่าทำไมวันจึงเพิ่มขึ้นหรือเสียไปเมื่อข้ามเส้นวันที่ ให้ลองนึกภาพว่าคุณกำลังแล่นเรือรอบโลก. สมมุติว่าคุณมุ่งหน้าไปทางตะวันออก. คุณอาจไม่รู้ตัว แต่คุณจะได้เวลาเพิ่มหนึ่งชั่วโมงทุกครั้งที่คุณข้ามเขตภาคเวลาแต่ละเขต. ในที่สุด เมื่อคุณเดินทางรอบโลกแล้ว คุณก็จะเดินทางผ่านเขตภาคเวลาไป 24 เขต. ถ้าไม่มีเส้นวันที่ คุณก็จะถึงที่หมายหนึ่งวันก่อนเวลาในท้องถิ่น. เส้นวันที่แก้ไขความแตกต่างนี้. เรื่องนี้น่าสับสนอยู่บ้างมิใช่หรือ? ไม่แปลกที่ลูกเรือของแมกเจลแลนและฟิเลียส ฟอกก์ ในนวนิยายจึงคำนวณวันที่ที่เสร็จสิ้นการเดินทางรอบโลกผิดไป!
คนที่เคยเดินทางข้ามเส้นนี้คุ้นเคยกับความรู้สึกแปลก ๆ ที่ได้หรือเสียวันหนึ่งไปทันที. แต่การเดินทางคงจะยิ่งวุ่นวายมากกว่านี้ถ้าไม่มีเส้นวันที่.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 11 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเขตภาคเวลาและเส้นลองจิจูด ดูบทความ “เส้นแห่งจินตนาการที่มีประโยชน์” ในตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 8 มีนาคม 1995.
[แผนภูมิ/แผนที่หน้า 13]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
มีนาคม | มีนาคม
2 | 1
[ภาพหน้า 14]
บน: หอดูดาวหลวงกรีนิช
ขวา: เส้นบนหินก้อนนี้แสดงเส้นเมริเดียนแรก