การเพ่งดูโลก
การเพ่งดูโลก
เงินสกปรก
หนังสือพิมพ์เดอะ โกลบ แอนด์ เมล์ ของแคนาดากล่าวว่า “ธนบัตรเต็มไปด้วยแบคทีเรีย.” การค้นคว้าวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ในสหรัฐอเมริกาเผยให้เห็นว่าธนบัตรส่วนใหญ่ที่ใช้หมุนเวียนกันอยู่นั้นปนเปื้อนเชื้อสเตรปโตค็อกคัส, เอ็นเทอโรแบคเทอร์, ซูโดโมนาส, รวมทั้งเชื้อโรคชนิดอื่น ๆ ด้วย. เดอะ โกลบ กล่าวว่า เชื้อโรคเหล่านี้ “อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น คนสูงอายุที่เจ็บออด ๆ แอด ๆ หรือคนที่ติดเชื้อเอชไอวี-เอดส์.” ธนบัตรบางใบปนเปื้อนแบคทีเรียที่เป็นอันตรายมากกว่านั้นอีก. นักวิจัยแนะว่าอาจถึงเวลาแล้วที่จะ “ฟอกเงิน” ตามตัวอักษรจริง ๆ. ผู้บริโภคในญี่ปุ่นสามารถได้รับเงินสดจาก “ตู้เอทีเอ็มสะอาด” ที่ “ให้เงินเยนซึ่งผ่านความร้อน 200 องศาเซลเซียส—ร้อนพอที่จะฆ่าแบคทีเรียหลายชนิดแต่ไม่ถึงกับทำให้ธนบัตรไหม้.” เดอะ โกลบ เตือนว่า หลังจากจับเงินแล้ว “จงล้างมือของคุณ!”
ลดการใช้เกลือบนถนน
วารสารเกี่ยวกับธรรมชาติชื่อแตร์ โซวาช รายงานว่า ในฤดูหนาวทุกปี มีการโปรยเกลือประมาณ 400,000 ถึง 1,400,000 ตันลงบนถนนสายต่าง ๆ ในฝรั่งเศสเพื่อขจัดหิมะและน้ำแข็ง. “มีการค้นพบมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าเกลือทั้งหมดนั้นก่อผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม.” เกลือที่โปรยลงบนถนนอาจสะสมในดินและปนเปื้อนลงบ่อน้ำดื่ม, น้ำบาดาล, ทะเลสาบ, และสระน้ำ. เกลือทำลายพืชที่บอบบางในรัศมี 50 เมตรจากถนนที่มีการโปรยเกลือและทำให้ปลายรากของต้นไม้ไหม้. เมื่อรากต้นไม้ดูดซึมเกลือเข้าไป นั่นก็จะขัดขวางการสังเคราะห์แสง. ถ้าต้นไม้ดูดซึมเกลือเข้าไปเรื่อย ๆ มันก็จะค่อย ๆ อ่อนแอและตายไป. สัตว์ที่ชอบขึ้นมาเลียเกลือบนถนนมักถูกรถชนหรือตายเนื่องจากกิน
เกลือมากเกินและเร็วเกินไป. ในบางสภาพการณ์ เกลืออาจมีส่วนทำให้เกิดน้ำแข็ง “ดำ” ที่เป็นอันตราย. บนถนนที่มีหิมะปกคลุม คนขับมักจะระมัดระวัง แต่หลายคนไม่ค่อยระวังบนถนนที่ไม่มีหิมะ โดยไม่ทราบว่าอาจมีน้ำแข็งแบบนั้นอยู่. ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า “ใช้เกลืออย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และใช้น้อยลง.”เสียงร้องของนกเค้าแมวแสดงถึงสุขภาพของมัน
วารสารดิ อิโคโนมิสต์ กล่าวว่า เมื่อนกเค้าสีน้ำตาลปนเหลืองร้อง นั่นจะบอกให้ทราบว่าสุขภาพของมันเป็นอย่างไร. “สตีเฟน เรดแพท จากศูนย์นิเวศวิทยาและอุทกวิทยาแห่งบริเตนและเพื่อนร่วมงานของเขาได้ศึกษานกเค้าสีน้ำตาลปนเหลือง 22 ตัวในป่าคีลเดอร์ทางตอนเหนือของอังกฤษ.” พวกนักวิจัย “เปิดเสียงร้องของนกตัวผู้ต่างถิ่นซึ่งบันทึกไว้และจับเวลาที่นกซึ่งพวกเขากำลังศึกษาอยู่ใช้ในการร้องโต้ตอบการท้าทาย.” นกเค้าแมวที่มีปรสิตอยู่ในกระแสเลือดมากกว่าจะร้องโต้ตอบช้ากว่า นกที่มีปรสิตมากที่สุดร้องโต้ตอบช้ากว่านกที่ไม่มีปรสิตเลยถึงสองเท่า. นอกจากนั้น นกเค้าสีน้ำตาลปนเหลืองที่มีปรสิตมากกว่าจะมีระดับเสียงต่ำกว่านกที่แข็งแรง. วารสารดิ อิโคโนมิสต์ กล่าวว่า “ไม่ต้องสงสัยว่า สำหรับนกเค้าแมวแล้ว นี่เป็นการเปิดเผยโดยไม่ตั้งใจ.”
ผลดีของการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง
วารสารรายสัปดาห์ปชียาชูกา ของโปแลนด์กล่าวว่า “เมื่อ [เด็ก] เห็นบิดาและมารดาอ่านหนังสือด้วยความตั้งใจ เด็กก็จะพยายามเลียนแบบ.” บทความนั้นกล่าวว่า ในยุคที่เด็ก ๆ ดูทีวีมากขึ้น นับว่าคุ้มค่าที่จะอ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่เขาอายุแค่สองขวบ โดยให้เขาดูรูปภาพและอธิบายให้เขาฟัง. บิดามารดาอาจถามบุตรเกี่ยวกับสิ่งที่เพิ่งอ่านไปเพื่อจะทราบว่าเขาเข้าใจเรื่องหรือไม่. “และถ้าจู่ ๆ เด็กเกิดเบื่อขึ้นมา . . . ก็จงพยายามอ่านให้มีชีวิตชีวาขึ้นโดยการแสดงท่าทางและเปลี่ยนน้ำเสียง.” มีการสนับสนุนให้บิดามารดาสังเกตว่าบุตรชอบอะไรและคุยกับเขาเกี่ยวกับเรื่องนั้น. วารสารปชียาชูกา กล่าวว่า “จงพูดถึงหนังสือเล่มโปรดของคุณตอนเป็นเด็ก และแนะให้อ่านหนังสือบางเล่มที่น่าสนใจ. . . . อย่าเลิกอ่านหนังสือให้บุตรของคุณฟัง แม้ว่าเขาจะอ่านเองได้แล้ว. บางครั้ง การอ่านสองสามหน้าแรกเพื่อกระตุ้นความสนใจก็เพียงพอแล้ว จากนั้นเด็กก็จะอ่านต่อเอง.”
ปุ่มรับรสไม่ทำงาน
ฮิโรชิ โตมิตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหูคอจมูก กะประมาณว่า แต่ละปีมีกว่า 140,000 คนในญี่ปุ่นรวมทั้งเยาวชนจำนวนมากขึ้นที่สูญเสียความไวต่อการรับรสไป. หนังสือพิมพ์เดอะ เดลี โยมิอูริ รายงานว่า แม้เรื่องนี้อาจมีสาเหตุมาจากยาและปัญหาสุขภาพ แต่นายโตมิตะเชื่อว่า ราว ๆ 30 เปอร์เซ็นต์ของการสูญเสียการรับรสนั้นเกี่ยวข้องกับการได้รับธาตุสังกะสีไม่เพียงพอ ซึ่งธาตุนี้เป็นแร่ธาตุที่สำคัญแม้จะมีเพียงเล็กน้อย. บทความนั้นกล่าวว่า “สังกะสีมีส่วนสำคัญในการสร้างปุ่มรับรสใหม่ ๆ และการขาด [สังกะสี] ทำให้สูญเสียความไวต่อการรับรสไปทีละน้อย.” อาหารด้อยคุณค่า, อาหารที่ผ่านการแปรรูป, และการกินอาหารที่ไม่หลากหลายล้วนมีส่วนทำให้เกิดปัญหา. บทความนั้นอธิบายว่า “สารปรุงแต่ง เช่น ฟอสเฟต ซึ่งมีอยู่ในอาหารสำเร็จรูปหลายชนิด ทำให้สังกะสีในร่างกายหมดไปและขัดขวางการดูดซึมสังกะสีด้วย.” โตมิตะแนะนำว่า คนที่รู้สึกว่าอาหารไม่มีรสชาติควรกินอาหารที่อุดมด้วยธาตุสังกะสี. อาหารเหล่านี้ได้แก่ หอยนางรม, ปลาเล็กปลาน้อย, และตับ เป็นต้น. โตมิตะกล่าวว่า การกินอาหารที่หลากหลายและมีประโยชน์สามารถฟื้นฟูปุ่มรับรสได้ แต่ถ้ามีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษานานกว่าหกเดือน ก็มีโอกาสหายน้อยลง.
มัสยิดในสหรัฐผุดขึ้นมากมาย
หนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ กล่าวว่า “จำนวนมัสยิดในสหรัฐได้เพิ่มขึ้นประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ภายในหกปี จนมีมากกว่า 1,200 แห่ง” ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าประชากรมุสลิมกำลังเพิ่มขึ้น. จอห์น เอสโปซิโต ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเข้าใจระหว่างมุสลิมกับคริสเตียนในมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ เชื่อว่าประชากรมุสลิมในปัจจุบันมี “ประมาณสี่ถึงหกล้านคน.” ตัวเลขอาจสูงกว่านี้ด้วยซ้ำ ตามการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยองค์กรอิสลามแห่งอเมริกาสี่องค์กร. นายเอสโปซิโตให้ความเห็นว่า ไม่ว่าอย่างไร “การเข้าเมืองซึ่งมีอยู่อย่างต่อเนื่องและขนาดครอบครัวมุสลิมที่ค่อนข้างใหญ่” จะทำให้มีการเพิ่มจำนวนต่อไป. “เพียงแค่อีกไม่กี่สิบปี อิสลามจะเป็นศาสนาที่ใหญ่เป็นอันดับสองในอเมริกา.” หนังสือพิมพ์ไทมส์ กล่าวว่า ผู้ไปมัสยิด “ส่วนมากเป็นผู้ชาย.” นอกจากนี้ การศึกษายังแสดงให้เห็นว่า “ผู้นับถือศาสนาอิสลามมีหลากหลายเชื้อชาติ กล่าวคือ หนึ่งในสามเป็นชาวเอเชียใต้, 30 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา, 25 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวอาหรับ.”
บ้านที่ทำให้ป่วย
วารสารนิว ไซเยนติสต์ รายงานว่า “บ้านในนครเมลเบิร์น [ออสเตรเลีย] ที่สร้างยังไม่ถึงหนึ่งปีมีสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) สูงกว่าระดับปลอดภัยซึ่งสภาวิจัยสุขภาพและการแพทย์แห่งชาติคือสูงกว่าที่กำหนดไว้ถึง 20 เท่า.” หนึ่งในสารเคมีเหล่านี้คือฟอร์มาลดีไฮด์ “ซึ่งทำให้ผิวหนังระคายเคืองและอาจก่อมะเร็ง.” ฟอร์มาลดีไฮด์ระเหยเข้าสู่อากาศจากวัสดุก่อสร้าง เช่น กระดานปูพื้นและเครื่องเรือน. รายงานนั้นอธิบายว่า พรมผืนใหม่จะปล่อยสารสไตรีน ซึ่งสงสัยกันว่าเป็นสารก่อมะเร็งอีกตัวหนึ่ง “ขณะที่สีและตัวทำละลายจะปล่อยสารประกอบหลายอย่างที่เป็นพิษ. . . . สารเคมีต่าง ๆ คงไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของคนส่วนใหญ่. แต่มันอาจทำให้ปวดหัวและก่อผลกระทบอย่างมากต่อคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ไวต่อสารเคมีเป็นพิเศษ.”
ผู้ผลิตนมรายใหญ่ที่สุด
หนังสือพิมพ์ฮินดูสถาน ไทมส์ รายงานว่า ปัจจุบันอินเดียเป็นผู้ผลิตนมรายใหญ่ที่สุดในโลก. รายงานนั้นกล่าวว่า “สถาบันเวิลด์วอตช์ [ในกรุงวอชิงตัน ดี. ซี.] ซึ่งเป็นสถาบันที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม ได้ยกย่องการปฏิวัติการผลิตนมในอินเดีย. . . . ตั้งแต่ปี 1994 นมกลายเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่มีมากที่สุดในอินเดีย และในปี 1997 อินเดียได้แซงหน้าสหรัฐในการเป็นผู้ผลิตนมรายใหญ่ที่สุดในโลก.” มีการยกคำกล่าวของเลสเตอร์ บราวน์ ประธานสถาบันเวิลด์วอตช์ ขึ้นมาดังนี้ “น่าทึ่งทีเดียว อินเดียทำอย่างนั้นโดยใช้ผลพลอยได้จากไร่นาและสิ่งที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวเป็นอาหารสัตว์ แทนที่จะใช้ธัญพืช. อินเดียสามารถเพิ่มแหล่งโปรตีนโดยไม่ต้องเอาธัญพืชที่มนุษย์บริโภคไปให้ปศุสัตว์กิน.”
ทำให้ใช้จ่ายง่ายขึ้น
หนังสือพิมพ์คาลการี เฮรัลด์ รายงานว่า เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้การจับจ่ายซื้อของกลายเป็นการหย่อนใจประจำชาติของชาวแคนาดาหลายคน ที่ทำกันวันละ 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์. “ผู้บริโภคสามารถซื้อของได้ตลอดเวลาทางอินเทอร์เน็ต, ช่องขายสินค้าทางโทรทัศน์, แคตตาล็อกสั่งของทางไปรษณีย์หรือซื้อของได้รวดเร็วทันใจด้วยบัตรเครดิต.” บัตรเครดิตที่มีวงเงินสูง ๆ กระตุ้นให้ผู้คนใช้จ่ายมากเกินไป. บัตรเครดิตบางชนิดสร้างแรงจูงใจเพิ่มขึ้นอีก. แลร์รี วูด อาจารย์ด้านการเงินที่มหาวิทยาลัยคาลการี กล่าวว่า “ผู้คนมีเงินสดมากพอที่จะซื้อของแต่กลับใช้บัตรเครดิตเพื่อจะได้รางวัลหรือคะแนนสะสม และคิดว่าจะใช้เงินสดจ่ายตอนสิ้นเดือน. แต่พวกเขากลับใช้เงินนั้นจนหมดแถมยังมีหนี้เครดิตอีกด้วย.” อย่างไรก็ตาม วูดเชื่อว่าปัญหาไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้. เขาคิดว่า เพื่อพยายามรักษามาตรฐานความเป็นอยู่ไว้ ผู้บริโภคจะยอมเป็นหนี้แทนที่จะลดการใช้จ่าย. ตามสถิติที่สำรวจในแคนาดาเมื่อปี 1999 ชาวแคนาดาเป็นหนี้บัตรเครดิตทั้งสิ้นกว่า 14,000 ล้านดอลลาร์.