ได้รับการค้ำจุนด้วยความไว้วางใจพระเจ้า
ได้รับการค้ำจุนด้วยความไว้วางใจพระเจ้า
เล่าโดย ราเชล ซักซิโอนี เละเว
เมื่อผู้คุมตบหน้าฉันซ้ำ ๆ หลายครั้งเพราะฉันไม่ยอมประกอบชิ้นส่วนเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายนาซี ผู้คุมอีกคนหนึ่งปรามคนแรกว่า “เธอหยุดเสียทีเถอะ. ‘นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล’ พวกนี้จะยอมให้ตีจนตายเพื่อพระเจ้าของเขา.”
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 1944 ที่เมืองเบนดอร์ฟ ในค่ายแรงงานหญิงใกล้เหมืองเกลือทางตอนเหนือประเทศเยอรมนี. ขอให้ฉันชี้แจงว่ามาอยู่ที่ค่ายนี้ได้อย่างไรและฉันรอดชีวิตมาได้อย่างไรในช่วงสองสามเดือนสุดท้ายระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2.
ฉันถือกำเนิดจากครอบครัวยิวเมื่อปี 1908 ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ฉันเป็นลูกคนกลางในจำนวนลูกสาวสามคน. พ่อฉันเป็นช่างเจียระไนเพชร เหมือนชาวยิวหลาย ๆ คนในกรุงอัมสเตอร์ดัมสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2. พ่อตายเมื่อฉันอายุ 12 ขวบ และหลังจากนั้นไม่นานปู่ก็ได้มาอยู่กับพวกเรา. ปู่เป็นคนยิวที่เคร่งศาสนา และท่านคอยอบรมสั่งสอนเราตามประเพณีของชาวยิว.
โดยเจริญรอยตามพ่อ ฉันได้ฝึกเป็นช่างเจียระไนเพชร และปี 1930 ฉันก็ได้สมรสกับเพื่อนร่วมอาชีพ. เรามีลูกสองคนคือซิลเวนซึ่งเป็นเด็กชายที่กระฉับกระเฉงมีชีวิตชีวาและใจกล้า และแครีซึ่งเป็นเด็กหญิงที่น่ารักน่าเอ็นดูและอ่อนโยน. ทว่า น่าเสียดายชีวิตสมรสของเราไม่ยั่งยืน. ปี 1938 หลังการหย่าร้างไม่นาน ฉันก็แต่งงานกับลูอิส ซักซิโอนี ซึ่งเป็นช่างเจียระไนเพชรเช่นกัน. เดือนกุมภาพันธ์ 1940 เราได้ลูกสาวชื่อโยฮันนา.
แม้ลูอิสเป็นคนยิว แต่เขาก็ไม่ได้ปฏิบัติกิจของศาสนานั้น. ดังนั้น เราจึงไม่ได้ฉลองเทศกาลต่าง ๆ ของยิวอีกต่อไป ซึ่งสมัยฉันเป็นเด็กมีความรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่น่าจับใจเสียจริง ๆ. ฉันรู้สึกขาดอะไรบางอย่างไป แต่ภายในหัวใจ ฉันยังคงเชื่อพระเจ้าเช่นเดิม.
เปลี่ยนศาสนา
ต้นปี 1940 ปีนั้นทหารเยอรมันเริ่มเข้ายึดครองเนเธอร์แลนด์ สตรีคนหนึ่งมาเคาะประตูเรียกและพูดคุยกับฉันเรื่องคัมภีร์ไบเบิล. ฉันไม่ค่อยเข้าใจเรื่องที่เธอพูดสักเท่าไร แต่เมื่อเธอมาที่บ้านทีไรฉันก็รับสรรพหนังสือไว้. อย่างไรก็ดี ฉันไม่ได้อ่านสิ่งที่เธอให้ไว้เพราะฉันไม่ต้องการเกี่ยวข้องอะไรกับพระเยซู. ฉันได้รับการสอนมาว่าพระเยซูเป็นยิวที่ออกหาก.
แต่แล้ววันหนึ่งมีผู้ชายมาที่บ้าน. ฉันถามข้อข้องใจหลายอย่าง เช่น “ทำไมพระเจ้าไม่
สร้างคนอื่น ๆ ขึ้นมาบ้างหลังจากอาดามและฮาวาทำบาป? ทำไมมีความทุกข์ยากมากเหลือเกิน? ทำไมผู้คนเกลียดชังกันและสู้รบกัน?” เขารับปากว่าหากฉันอดใจรอ เขาจะตอบคำถามของฉันจากคัมภีร์ไบเบิล. ดังนั้น จึงได้จัดการศึกษาพระคัมภีร์ขึ้นที่บ้าน.ถึงกระนั้น ฉันยังค้านความคิดที่ว่าพระเยซูเป็นมาซีฮา. แต่หลังจากอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องนั้นแล้ว ฉันเริ่มอ่านคำพยากรณ์ที่กล่าวถึงมาซีฮาในคัมภีร์ไบเบิล โดยมองจากแง่มุมอื่น. (บทเพลงสรรเสริญ 22:7, 8, 18; ยะซายา 53:1-12) พระยะโฮวาทรงช่วยฉันให้เข้าใจคำพยากรณ์เหล่านั้นว่าได้สำเร็จเป็นจริงในพระเยซู. สามีไม่สนใจสิ่งที่ฉันกำลังศึกษาอยู่ แต่เขาไม่ขัดขวางเมื่อฉันเข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวา.
หลบซ่อน—แต่ยังคงทำการเผยแพร่
การที่ทหารเยอรมันเข้ายึดครองเนเธอร์แลนด์นั้นถือว่าเป็นช่วงอันตรายสำหรับฉัน. เพราะนอกจากฉันเป็นคนยิวซึ่งจะถูกเยอรมันจับส่งเข้าค่ายกักกันแล้ว ฉันยังเป็นพยานพระยะโฮวาอีกด้วย ซึ่งเป็นองค์การศาสนาที่พวกนาซีพยายามกำจัดให้หมดสิ้น. กระนั้น ฉันยังคงทำงานอย่างขันแข็ง ด้วยการใช้เวลาเฉลี่ยเดือนละ 60 ชั่วโมงบอกเล่าให้คนอื่นทราบความหวังของคริสเตียนที่ฉันเพิ่งได้พบ.—มัดธาย 24:14.
เย็นวันหนึ่งในเดือนธันวาคม 1942 สามีของฉันไม่ได้กลับบ้านหลังเลิกงาน. ปรากฏว่าเขาพร้อมกับเพื่อนร่วมงานถูกจับ ณ ที่ทำงาน. ฉันไม่ได้เห็นเขาอีกเลย. เพื่อนพยานฯ แนะนำฉันให้พาลูก ๆ ไปหลบซ่อนตัวเสีย. ฉันสามารถไปอาศัยอยู่กับพี่น้องหญิงคริสเตียนที่อยู่อีกฟากหนึ่งของกรุงอัมสเตอร์ดัม. เนื่องจากอันตรายมากสำหรับพวกเราสี่คนที่จะพักในที่เดียวกัน ฉันจึงต้องฝากลูกไว้กับคนอื่น.
บ่อยครั้งฉันรอดจากการจับกุมมาได้อย่างหวุดหวิด. เย็นวันหนึ่งพยานฯ พาฉันซ้อนท้ายจักรยานไปยังที่หลบซ่อนแห่งใหม่. ทว่าไฟหน้ารถจักรยานเสีย และตำรวจชาวดัตช์สองนายสั่งให้เราหยุดรถ. เขาฉายไฟส่องหน้าฉันและมองออกว่าฉันเป็นยิว. น่ายินดีที่เขาเพียงบอกว่า “รีบไปเร็ว ๆ แต่เดินไปนะ.”
ถูกจับและติดคุก
เช้าวันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม 1944 ขณะที่ฉันกำลังเริ่มงานรับใช้ ฉันถูกจับ ไม่ใช่เพราะฉันเป็นพยานฯ แต่เพราะเป็นคนยิว. ฉันถูกนำตัวไปยังเรือนจำในกรุงอัมสเตอร์ดัม และอยู่ที่นั่นสิบวัน. จากนั้นฉันกับคนยิวอื่น ๆ ถูกนำตัวขึ้นรถไฟไปยังค่ายชั่วคราว ณ เมืองเวสเทอร์บอร์ก ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเนเธอร์แลนด์. จากที่นั่น คนยิวจะถูกส่งไปยังเยอรมนี.
ในเวสเทอร์บอร์ก ฉันบังเอิญได้พบกับพี่เขยและบุตรชายของเขาซึ่งก็ถูกจับเช่นกัน. ฉันเป็นพยานฯ คนเดียวในหมู่คนยิวและฉันได้อธิษฐานตลอดเวลาขอให้พระยะโฮวาค้ำจุนฉัน. สองวันถัดมา พี่เขย, บุตรชายของเขา, และตัวฉันนั่งในตู้รถไฟบรรทุกปศุสัตว์ที่มุ่งหน้าไปยังค่ายเอาชวิทซ์หรือไม่ก็ค่ายซบอีบอร์ ค่ายมรณะในโปแลนด์. ทันใดนั้นเอง ฉันถูกเรียกชื่อแล้วก็ถูกพาไปขึ้นตู้โดยสารธรรมดาของอีกขบวนหนึ่ง.
บนรถไฟขบวนนั้นมีอดีตเพื่อนร่วมงานหลายคนที่เป็นช่างเจียระไนเพชร. ช่างเพชรประมาณ 100 คนถูกส่งไปที่เบอร์เกิน-เบลเซิน ทางตอนเหนือของเยอรมนี. ฉันได้มารู้ภายหลังว่าอาชีพของฉันช่วยรักษาชีวิตฉันไว้ เพราะคนยิวเมื่อไปถึงค่ายกักกันเอาชวิทซ์และซบอีบอร์มักจะถูกส่งตรงไปที่ห้องประหารด้วยแก๊สพิษ. นั่นเป็นสิ่งซึ่งได้เกิดขึ้นกับสามี, ลูกสองคนของฉัน, และญาติพี่น้องอีกหลายคน. แต่ตอนนั้น ฉันยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา.
ในเบอร์เกิน-เบลเซิน พวกเราช่างเจียระไนเพชรได้อาศัยในโรงเรือนพิเศษ. เพื่อถนอมมือไว้ทำงานที่ประณีตละเอียดอ่อน เขาจึงไม่ได้ให้พวกเราทำงานอย่างอื่น. ฉันเป็นพยานฯ คนเดียวในกลุ่ม และฉันบอกเพื่อนชาวยิวคนอื่นอย่างกล้าหาญเกี่ยวกับความเชื่อที่ฉันเพิ่งได้เรียนรู้มา. อย่างไรก็ดี พวกเขากลับมองฉันเป็นคนออกหาก ไม่ต่างจากที่เขามองอัครสาวกเปาโลในศตวรรษแรก.
ฉันไม่มีคัมภีร์ไบเบิล และฉันหิวกระหายอาหารฝ่ายวิญญาณเหลือเกิน. หมอชาวยิวประจำค่ายมีคัมภีร์อยู่เล่มหนึ่ง และเขายกให้ฉันเพื่อแลกกับขนมปังเพียงไม่กี่แผ่นและเนยนิดหน่อย. ฉันอยู่กับ ‘กลุ่มช่างเจียระไนเพชร’ เป็นเวลาเจ็ดเดือนในเบอร์เกิน-เบลเซิน. เขาปฏิบัติต่อเราค่อนข้างดี ซึ่งเป็นเหตุให้นักโทษยิวอีกกลุ่มหนึ่งรู้สึกไม่ดีต่อพวกเรา. แต่ในที่สุดปรากฏว่าไม่มีเพชรให้เราเจียระไน. ดังนั้น พอวันที่ 5 ธันวาคม 1944 พวกเราที่เป็นหญิงชาวยิวราว ๆ 70 คนจึงถูกส่งไปยังค่ายแรงงานหญิงในเบนดอร์ฟ.
ไม่ยอมประกอบอาวุธ
ในเหมืองใกล้ค่ายกักกัน ลึกลงไปใต้พื้นดินประมาณ 400 เมตร พวกนักโทษถูกเกณฑ์ให้ประกอบชิ้นส่วนเครื่องบินทิ้งระเบิด. ครั้นฉันปฏิเสธที่จะทำงานนั้น ฉันโดนชกอย่างแรงสองสามครั้ง. (ยะซายา 2:4) ผู้คุมพูดอย่างเกรี้ยวกราดว่าจะดีกว่าถ้าฉันพร้อมจะทำงานในวันรุ่งขึ้น.
เช้าวันรุ่งขึ้น ฉันไม่ไปตามเวลาเรียกชื่อ ทว่ายังอยู่ในโรงเรือน. ฉันรู้ดีว่าจะต้องถูกยิง ดังนั้น ฉันอธิษฐานขอพระยะโฮวาโปรดให้รางวัลฉันสำหรับความเชื่อ. ฉันท่องพระธรรมบทเพลงสรรเสริญในคัมภีร์ไบเบิลซ้ำแล้วซ้ำอีกดังนี้: “ข้าพเจ้าได้วางใจในพระเจ้าแล้ว, ข้าพเจ้าจะไม่หวั่นกลัว; มนุษย์จะทำอะไรแก่ข้าพเจ้าได้เล่า?”—บทเพลงสรรเสริญ 56:11.
โรงเรือนถูกตรวจค้น และเขาได้ตัวฉันออกมา. ตอนนั้นผู้คุมตบตีฉันซ้ำ ๆ หลายครั้ง ทั้งได้ถามว่า “ใครสั่งไม่ให้แกทำงาน?” ทุกครั้งฉันตอบว่าผู้นั้นคือพระเจ้า. นี่เป็นตอนที่ผู้คุมอีกคนหนึ่งได้ปรามเธอว่า “เธอหยุดเสียทีเถอะ. นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล * พวกนี้จะยอมให้ตีจนตายเพื่อพระเจ้าของเขา.” คำพูดของเธอให้กำลังใจฉันมากทีเดียว.
เนื่องจากหน้าที่ทำสะอาดห้องส้วมเป็นเสมือนการลงโทษและเป็นงานสกปรกน่ารังเกียจที่สุดเท่าที่ฉันนึกภาพออก กระนั้น ฉันเสนอตัวทำงานนี้. ฉันสบายใจเมื่อรับเอาหน้าที่นี้เพราะเป็นงานที่ฉันสามารถทำได้โดยไม่ฝืนสติรู้สึกผิดชอบ. เช้าวันหนึ่ง ผู้บัญชาการค่ายซึ่งเป็นที่น่าเกรงขามแก่ทุกคนก็เข้ามา. เขามายืนอยู่ตรงหน้าฉันและพูดว่า “แกนี่คนยิวที่ไม่อยากทำงานใช่ไหม?”
ฉันตอบว่า “คุณก็เห็นแล้วว่าฉันกำลังทำอยู่.”
“แต่แกจะไม่ยอมทำงานเพื่อสนับสนุนสงครามใช่ไหม?”
“ใช่ค่ะ” ฉันตอบ. “เพราะพระเจ้าไม่ทรงประสงค์เช่นนั้น.”
“แต่แกจะไม่ยอมเข้าส่วนในการฆ่าใช่ไหม?”
ฉันชี้แจงว่า ถ้าฉันเข้าส่วนในการสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ ฉันก็คงต้องฝืนสติรู้สึกผิดชอบของฉันในฐานะที่เป็นคริสเตียน.
เขาคว้าไม้กวาดของฉันไปได้แล้วพูดว่า “ฉันจะฆ่าแกด้วยไม้กวาดนี้ได้ใช่ไหม?”
ฉันตอบว่า “คุณทำได้แน่ ๆ แต่ไม้กวาดไม่ได้มีไว้ให้ฆ่าคน. แต่ปืนทำไว้เพื่อฆ่าคน.”
เราพูดกันถึงเรื่องพระเยซูซึ่งก็เป็นคนยิว และเกี่ยวกับข้อที่ว่าแม้ฉันเป็นยิว แต่ฉันได้กลายเป็นพยานพระยะโฮวาไปแล้ว. เมื่อเขาเดินออกไป เพื่อนนักโทษบางคนเดินมาหาฉัน รู้สึกประหลาดใจที่เห็นฉันกล้าพูดกับผู้บัญชาการค่ายได้ด้วยอารมณ์เยือกเย็น. ฉันบอกพวกเขาว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับความกล้า แต่ที่ฉันทำได้ก็เพราะพระเจ้าของฉันทรงประทานความเข้มแข็งแก่ฉันที่จะทำเช่นนั้น.
รอดชีวิตเมื่อสงครามยุติลง
วันที่ 10 เมษายน 1945 ขณะที่กองกำลังฝ่ายพันธมิตรรุกเข้าไปใกล้เบนดอร์ฟ เราต้องยืนเข้าแถวที่สนามหน้าเมืองเพื่อรอเรียกชื่อเกือบทั้งวัน. หลังจากนั้น พวกเราผู้หญิงประมาณ 150 คนก็ถูกยัดเข้าไปในตู้ขนปศุสัตว์โดยไม่มีทั้งอาหารและน้ำ. รถไฟมุ่งไปที่ไหนไม่อาจรู้ได้ และขบวนรถไฟของเราก็แล่นวกไปวนมาระหว่างแนวรบตั้งหลายวัน. บางคนถึงกับบีบคอเพื่อนนักโทษจนตายเพื่อในตู้รถจะมีที่มากขึ้น ทั้งนี้ทำให้ผู้หญิงหลายคนคลุ้มคลั่ง. สิ่งที่ช่วยฉันอดทนได้คือความมั่นใจในการอารักขาดูแลของพระยะโฮวา.
วันหนึ่งขบวนรถไฟของเราได้มาจอดใกล้ค่ายผู้ชาย และเขาอนุญาตให้เราลงจากรถ. มีไม่กี่คนในพวกเราได้รับแจกถังให้เข้าไปเอาน้ำในค่าย. พอฉันไปถึงก๊อกน้ำ ฉันดื่มอย่างกระหายตั้งนานก่อนจะรองน้ำให้เต็มถัง. เมื่อกลับมา พวกผู้หญิงกรูกันมาหาฉันเยี่ยงสัตว์ร้ายจนน้ำในถังหกหมด. หน่วยเอสเอส (หน่วยรักษาการณ์ชั้นยอดของฮิตเลอร์) ที่ยืนอยู่ตรงนั้นพากันหัวเราะ. สิบเอ็ดวันต่อมา เราก็มาถึงค่ายไอเดลสเทดท์ ณ ชานเมืองฮัมบูร์ก. ในกลุ่มของเรามีคนเสียชีวิตไปประมาณครึ่งหนึ่ง เพราะการเดินทางที่โหดร้าย.
วันหนึ่งขณะอยู่ที่ค่ายไอเดลสเทดท์ ฉันอ่านคัมภีร์ไบเบิลให้ผู้หญิงสองสามคนฟัง. ทันใดนั้นเอง ผู้บัญชาการค่ายมายืนที่หน้าต่าง. เราตกใจกลัวมากเพราะคัมภีร์ไบเบิลเป็นของต้องห้ามภายในค่าย. ผู้บัญชาการเข้ามาในห้อง คว้าคัมภีร์ไบเบิลไปและพูดว่า “นี่หรือคัมภีร์ไบเบิล?” ฉันรู้สึกโล่งอกเมื่อเขายื่นคัมภีร์ไบเบิลคืนให้และพูดว่า “ถ้าในหมู่ผู้หญิงที่นี่มีใครตายละก็ แกต้องอ่านจากพระคัมภีร์นี้ด้วยเสียงดังนะ.”
กลับมาอยู่ร่วมกับเพื่อนพยานฯ
สิบสี่วันภายหลังเราได้รับอิสรภาพ สภากาชาดได้พาเราไปยังโรงเรียนใกล้เมืองมอลโม ประเทศสวีเดน. ที่นั่น เราถูกกักตัวไว้ในสถานควบคุมโรคติดต่อชั่วระยะหนึ่ง. ฉันจึงขอร้องเจ้าหน้าที่ที่ดูแลพวกเราช่วยแจ้งพยานพระยะโฮวาว่าฉันได้มาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย. ไม่กี่วันต่อมา มีการเรียกชื่อฉัน. เมื่อฉันบอกผู้หญิงนั้นว่าฉันเป็นพยานฯ เธอ
ร่ำไห้สะอึกสะอื้น. เธอเองก็เป็นพยานฯ เหมือนกัน! ครั้นหยุดร้องไห้แล้ว เธอบอกว่าบรรดาพยานฯ ในสวีเดนมักอธิษฐานเผื่อพี่น้องคริสเตียนชายหญิงในค่ายกักกันของนาซีเสมอ.ตั้งแต่นั้นมา มีพี่น้องหญิงมาหาฉันทุกวันพร้อมกับกาแฟและขนมหวานติดมือมาฝาก. หลังจากออกจากค่ายผู้ลี้ภัยแล้ว ฉันถูกส่งไปที่หนึ่งใกล้เมืองเกอเทบอร์ก. ที่นั่นเหล่าพยานฯ ได้จัดงานสังสรรค์อย่างดีเยี่ยมในตอนบ่ายเพื่อต้อนรับฉัน. ถึงแม้ไม่อาจเข้าใจสิ่งที่เขาพูด แต่ฉันรู้สึกปลาบปลื้มที่ได้อยู่ท่ามกลางพี่น้องชายหญิงอีกครั้งหนึ่ง.
ในระหว่างที่อยู่ในเมืองเกอเทบอร์ก ฉันได้รับจดหมายจากพยานฯ คนหนึ่งในอัมสเตอร์ดัม แจ้งให้รู้ว่าลูกของฉันคือซิลเวนกับแครีและญาติพี่น้องทุกคนถูกจับกุมและไม่กลับมาอีกเลย. มีแต่โยฮันนาลูกสาวและน้องสาวของฉันที่ยังรอดชีวิตอยู่. ไม่นานมานี้ฉันพบชื่อลูกชายและลูกสาวของฉันในทะเบียนราษฎร์ของยิวซึ่งถูกส่งตัวเข้าห้องปล่อยแก๊สพิษที่ค่ายเอาชวิทซ์และค่ายซบอีบอร์.
การงานหลังสงคราม
เมื่อกลับไปอัมสเตอร์ดัมและได้อยู่ร่วมกับโยฮันนาอีก ซึ่งตอนนั้นอายุห้าขวบ ฉันเริ่มงานเผยแพร่ทันที. บางครั้งฉันพบคนเหล่านั้นซึ่งเคยเป็นสมาชิกหน่วย NSB ขบวนการสังคมนิยมแห่งชาติของชาวดัตช์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ร่วมมือกับชาวเยอรมัน. คนเหล่านี้มีส่วนในการสังหารครอบครัวของฉันจนแทบไม่เหลือ. ฉันต้องเอาชนะความรู้สึกในแง่ลบเพื่อจะบอกข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าแก่พวกเขา. ฉันคิดอยู่เสมอว่า พระยะโฮวาคือผู้ที่มองเห็นสภาพหัวใจและในที่สุดพระองค์จะเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่ฉัน. และการคิดเช่นนี้ทำให้ฉันได้รับพระพรมากเพียงใด!
ฉันได้เริ่มการศึกษาพระคัมภีร์กับผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งสามีของเธอติดคุกอยู่ เนื่องจากเขาเคยร่วมมือกับฝ่ายนาซี. ขณะที่ฉันเดินขึ้นบันไดบ้านของเขา ฉันได้ยินชาวบ้านพูดว่า “ดูซิ! ยิวคนนั้นแวะมาเยี่ยมคนในพรรค NSB อีกแล้ว.” ทั้ง ๆ ที่ถูกขัดขวางอย่างรุนแรงจากสามีที่ติดคุกซึ่งเป็นพวกหัวรุนแรงต่อต้านยิว แต่หญิงคนนี้พร้อมกับลูกสาวสามคนเข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวากันหมดทุกคน.
ในเวลาต่อมา โยฮันนาลูกสาวของฉันได้อุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวาซึ่งทำให้ฉันรู้สึกปลาบปลื้มยินดี. ฉันกับลูกย้ายไปอยู่หัวเมืองซึ่งมีความต้องการมากกว่าในด้านผู้เผยแพร่ข่าวราชอาณาจักร. เราได้รับพระพรมากมายฝ่ายวิญญาณ. เวลานี้ ฉันอยู่ในเมืองเล็ก ๆ ทางภาคใต้ของเนเธอร์แลนด์ ที่นี่ฉันร่วมทำงานเผยแพร่กับประชาคมบ่อยครั้งเท่าที่ทำได้. เมื่อมองย้อนหลัง ฉันพูดได้แต่เพียงว่าพระยะโฮวาไม่เคยทอดทิ้งฉันเลย. ตลอดเวลาฉันรู้สึกว่าพระยะโฮวาและพระเยซู พระบุตรที่รักของพระองค์สถิตกับฉัน แม้ในยามที่เลวร้ายที่สุด.
ในช่วงสงคราม ฉันสูญเสียสามี, ลูกสองคน, และญาติ ๆ เกือบทั้งครอบครัวทีเดียว. แต่ฉันมีความหวังว่าจะพบพวกเขาอีกในไม่ช้าในโลกใหม่ของพระเจ้า. คราใดที่ฉันอยู่คนเดียวและหวนนึกถึงสิ่งที่เคยประสบ ฉันใคร่ครวญด้วยความยินดีและสำนึกด้วยความหยั่งรู้ค่าต่อถ้อยคำของท่านผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญที่ว่า “ทูตของพระยะโฮวาแวดล้อมเหล่าคนที่ยำเกรงพระองค์, และทรงช่วยเขาให้พ้นจากภัยอันตราย.”—บทเพลงสรรเสริญ 34:7.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 25 ชื่อเรียกพยานพระยะโฮวาสมัยนั้น.
[ภาพหน้า 20]
ชาวยิวถูกนำตัวจากค่ายในเมืองเวสเทอร์บอร์กไปยังเยอรมนี
[ที่มาของภาพหน้า 20]
Herinneringscentrum kamp Westerbork
[ภาพหน้า 21]
กับลูกของฉัน แครีและซิลเวน ทั้งสองได้เสียชีวิตในคราวที่พวกนาซีทำการสังหารหมู่พลเรือน
[ภาพหน้า 22]
ขณะถูกกักตัวที่สถานควบคุมโรคติดต่อในสวีเดน
[ภาพหน้า 22]
บัตรประจำตัวชั่วคราวเพื่อการกลับถิ่นเดิม
[ภาพหน้า 23]
ในปัจจุบันกับโยฮันนาลูกสาว