เกรต อาร์ทีเชียน เบซิน คืออะไร?
เกรต อาร์ทีเชียน เบซิน คืออะไร?
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในออสเตรเลีย
ขณะที่เราบินไปทางทิศตะวันตกข้ามเทือกเขาสุดท้ายซึ่งดูเหมือนนิ้วมือที่เหยียดออกจากเทือกเขาแถบชายฝั่งอันยิ่งใหญ่ของออสเตรเลีย ทิวทัศน์ที่ปรากฏต่อตาเรานั้นน่าทึ่งจริง ๆ. เหนือศีรษะเราเป็นท้องฟ้าสีครามไร้เมฆบดบังที่โค้งลงมาเบื้องหน้าจนจรดกับเส้นขอบฟ้า. พื้นดินโล่งเตียนทอดไปไกลจนสุดสายตา. ภาพของพืชไร่สีเขียวและทุ่งหญ้าสะวันนาสีทองซึ่งสลับกันก็หายไปกลายเป็นภูมิประเทศที่เป็นดินแดงมีหญ้าสีน้ำตาลเป็นหย่อม ๆ ดูไม่น่าสนใจ.
แต่เชื่อหรือไม่ ใต้พื้นดินนี้เป็นแหล่งน้ำที่มีขนาดถึงสองในสามของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน. อ่างเก็บน้ำใต้ดินขนาดยักษ์นี้เรียกกันว่า เกรต อาร์ทีเชียน เบซิน (Great Artesian Basin).
มหาสมุทรใต้ดินนี้สำคัญมากต่อคนที่ดำรงชีวิตอยู่ในดินแดนอันร้อนระอุที่ห่างไกลของประเทศนี้. เพื่อจะเข้าใจว่าทำไมทรัพย์ใต้ดินนี้จึงสำคัญมากและมันเกิดขึ้นอย่างไร เราต้องเข้าใจโครงสร้างของทวีปออสเตรเลียเสียก่อน.
ข้างบนแห้ง
อาจกล่าวได้อย่างเหมาะสมว่าออสเตรเลียเป็นดินแดนที่ถูกแดดเผาจนไหม้เกรียม. ทวีปที่เล็กที่สุดในทวีปทั้งห้าของโลกแห่งนี้มีทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก. ดินแดนนี้ยังมีแม่น้ำที่เป็นหนึ่งในแม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลกด้วย คือแม่น้ำดาร์ลิง. แต่แม่น้ำของออสเตรเลียมีน้ำอยู่เพียงน้อยนิด. ในสหรัฐ แม่น้ำมิสซิสซิปปีสายเดียวปล่อยน้ำออกมาเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์มากกว่าที่แม่น้ำลำธารทั้งหมดของออสเตรเลียรวมกันจะสามารถปล่อยน้ำลงสู่ทะเลได้ในแต่ละปี. ทำไมฝนจึงไม่ค่อยตกในดินแดนแห่งนี้?
เนื่องจากตำแหน่งของทวีปนี้บนลูกโลก ซึ่งอยู่ที่ละติจูด 30 องศาใต้ ลมฟ้าอากาศของทวีปนี้จึงได้รับอิทธิพลจากความกดอากาศสูงที่ครอบคลุมบริเวณกว้าง. ลักษณะ
อากาศดีแบบนี้พัดพาลมอุ่นผ่านใจกลางประเทศ. ลมที่พัดผ่านพื้นที่ราบกว้างใหญ่นี้ไม่ได้ปะทะกับภูเขาสูง ๆ ซึ่งจะจับความชื้นจากอากาศไว้. เทือกเขาเพียงแห่งเดียวที่พอจะมีความสำคัญอยู่บ้างตั้งอยู่ตามชายฝั่งด้านตะวันออกของทวีป. ยอดเขาที่สูงที่สุดสูงเพียง 2,228 เมตร ซึ่งไม่ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับเทือกเขาอื่น ๆ ในโลก. ลมที่พัดพาฝนมาทางทิศตะวันออกจากมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าหาแผ่นดินจะมาปะทะกับเทือกเขานี้และโปรยปรายฝนที่บำรุงชีวิตลงมาตามพื้นที่แถบชายฝั่งแคบ ๆ. การไม่มีพื้นที่สูง ๆ, อุณหภูมิเฉลี่ยที่สูง, และตำแหน่งของเทือกเขา ทั้งหมดนี้ทำให้ออสเตรเลียเป็นทวีปที่แห้งแล้งที่สุดในโลก—อย่างน้อยก็ที่พื้นผิว.ข้างล่างเต็มไปด้วยน้ำ
ใต้เปลือกที่แห้งแข็งของทวีปออสเตรเลียมีแอ่งน้ำบาดาลใหญ่ ๆ 19 แอ่ง. แอ่งที่ใหญ่ที่สุดคือเกรต อาร์ทีเชียน เบซิน ซึ่งมีขนาดถึงหนึ่งในห้าของทวีป. แอ่งน้ำบาดาลนี้มีพื้นที่ 1.7 ล้านตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ปลายคาบสมุทรเคปยอร์กทางเหนือจนถึงทะเลสาบแอร์ในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย. แอ่งนี้มีน้ำ 8,700 ล้านล้านลิตร ซึ่งมากพอจะใส่ในทะเลสาบมิชิแกนกับทะเลสาบฮูรอนในอเมริกาเหนือจนเต็ม.
แต่ไม่เหมือนทะเลสาบเกรตเลกของอเมริกาเหนือ น้ำในเกรต อาร์ทีเชียน เบซินไม่ได้ถูกนำขึ้นมาใช้ได้ง่าย ๆ. น้ำฝนเข้าไปในแอ่งโดยซึมผ่านดินและทำให้ชั้นหินทราย
อิ่มน้ำ. น้ำประมาณ 300 ล้านลิตรเข้าไปในแอ่งน้ำโดยวิธีนี้ทุกวัน. เกิดอะไรขึ้นกับน้ำทั้งหมดนั้น?ฟองน้ำยักษ์ชุ่มน้ำ
เกรต อาร์ทีเชียน เบซินก็เหมือนกับฟองน้ำ แต่มีขนาดใหญ่มาก. ชั้นหินทรายที่เป็นเหมือนฟองน้ำนี้มีความหนาตั้งแต่ 100 เมตรไปจนถึงเกือบสามกิโลเมตร อยู่ระหว่างชั้นหินต้านน้ำ. ชั้นหินโค้งเหล่านี้ลาดลงไปทางตะวันตก โดยขอบทางด้านตะวันออกจะอยู่ตามแนวเทือกเขาเกรต ดิไวดิง เรนจ์. น้ำฝนที่ซึมเข้าไปตามแนวขอบนี้จะค่อย ๆ ไหลไปทางตะวันตกอย่างช้า ๆ ด้วยอัตราเพียง 5 เมตรต่อปี.
ถ้ามีการเจาะบ่อบาดาลบริเวณพื้นที่ที่ลาดต่ำลงมาจากเทือกเขาโดยเจาะผ่านหินต้านน้ำชั้นบนลงไปถึงชั้นหินทราย แรงโน้มถ่วงก็จะดันน้ำที่ถูกปิดกั้นไว้ให้พลุ่งขึ้นสู่ผิวดิน. เนื่องจากน้ำจะทะลักขึ้นเมื่อถูกแรงกด บ่อนี้จึงถูกเรียกว่าอาร์ทีเชียน บอร์ (บ่อน้ำบาดาล) ซึ่งเป็นคำที่ได้มาจากแคว้นอาร์ตัวของฝรั่งเศสในสมัยก่อน ที่ซึ่งมีการเจาะบ่อลักษณะนี้เป็นครั้งแรก. เมื่อน้ำบาดาลอันมีค่าของออสเตรเลียถูกค้นพบ ก็มีการเจาะบ่อบาดาลหลายพันบ่อในทางน้ำโบราณนี้.
ระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำ
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ผู้ตั้งถิ่นฐานซึ่งกระหายจะใช้ประโยชน์จากที่ราบกว้างใหญ่ของรัฐควีนส์แลนด์และนิวเซาท์เวลส์ต่างก็พยายามตักตวงจากแหล่งน้ำนี้ที่พวกเขาคิดว่าจะให้น้ำไม่จำกัด. พอถึงปี 1915 บ่อบาดาลประมาณ 1,500 บ่อได้ระบายน้ำจากเกรต อาร์ทีเชียน เบซินออกมาวันละ 2,000 ล้านลิตร (เท่ากับสระว่ายน้ำโอลิมปิก 1,000 สระ). นี่เป็นการระบายน้ำออกมากกว่าปริมาณน้ำที่เข้าไป; ผลคือบ่อบาดาลหลายบ่อไม่มีน้ำไหลออกมาอีกต่อไป.
ปัจจุบัน ในบรรดาบ่อน้ำบาดาล 4,700 แห่ง มีเพียง 3,000 แห่งที่ยังมีน้ำไหลอยู่ตามธรรมชาติ. มีอีก 20,000 บ่อที่เจาะเข้าไปในฟองน้ำยักษ์นี้ มีการสูบน้ำขึ้นมาสู่พื้นผิวโดยปั๊มกังหันลมที่คุณเห็นกระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นดินเบื้องล่าง. รัฐบาลที่เป็นห่วงกำลังดำเนินการเพื่อป้องกันอ่างเก็บน้ำนี้เพราะในปัจจุบัน 95 เปอร์เซ็นต์ของน้ำบาดาลที่ถูกสูบขึ้นมานั้นเสียไปเปล่า ๆ โดยการระเหย.
คุณค่าของการอนุรักษ์ทรัพยากรนี้เห็นได้ชัด เพราะน้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำเพียงแหล่งเดียวที่วางใจได้ตลอดพื้นที่ 60 เปอร์เซ็นต์ของออสเตรเลีย. เมืองและอุตสาหกรรมหลายแห่งที่อยู่ห่างชายฝั่งต้องพึ่งแหล่งน้ำนี้เพียงแหล่งเดียว. น้ำนี้มีรสเป็นอย่างไร? เจสัน ซึ่งโตขึ้นในฟาร์มแห่งหนึ่งในรัฐควีนส์แลนด์ที่ใช้น้ำจากบ่อบาดาลกล่าวว่า “น้ำนี้มีรสกร่อย และผมชอบน้ำฝนมากกว่าถ้ามี; แต่พวกวัวชอบน้ำนี้.” รสกร่อยนี้เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุที่ละลายอยู่ในน้ำขณะที่มันซึมผ่านชั้นหิน. บริเวณขอบแอ่งน้ำบาดาลนี้ น้ำเกือบจะบริสุทธิ์ แต่ตรงกลาง ๆ น้ำมีรสเค็มมาก ซึ่งเหมาะจะใช้สำหรับให้ฝูงแกะและฝูงวัวกินเท่านั้น. น้ำที่มนุษย์ไม่ได้สูบขึ้นมาใช้ก็ยังไหลไปทางตะวันตกจนถึงดินแดนที่แห้งผากที่อยู่ลึกเข้าไป.
ยักษ์ที่บอบบาง
ขณะที่เราบินไปทางทิศตะวันตก ไกลออกไปเบื้องล่างเราเห็นแอ่งน้ำเล็ก ๆ ที่ส่องประกาย กระจัดกระจายราวกับเม็ดกระดุมที่อยู่ในทะเลทราย. หลังจากเดินทางใต้ดินเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรโดยใช้เวลานับพันปี ในที่สุดน้ำฝนก็มาถึงขอบด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเกรต อาร์ทีเชียน เบซินและเอ่อขึ้นมาสู่ผิวดิน ทำให้เกิดมูนดินของน้ำพุธรรมชาติเบื้องล่างเรา. น้ำที่ระเหยจากน้ำพุทิ้งตะกอนแร่ไว้. ตะกอนเหล่านี้จะจับทรายที่ลมหอบมา และค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นทำให้น้ำพุอยู่สูงกว่าพื้นที่รอบ ๆ.
แม้แต่ที่พำนักอันห่างไกลสำหรับพืชและนกก็ยังได้รับความเสียหายจากน้ำมือมนุษย์. หนังสือดิสคัฟเวอร์ ออสเตรเลีย ให้ข้อสังเกตว่า “การนำปศุสัตว์และกระต่ายเข้ามา รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่เพิ่งเข้ามาเมื่อไม่นานมานี้ ได้ทำลายมูนน้ำพุที่บอบบางหลายแห่ง. . . . บางทีสิ่งที่ทำความเสียหายมากที่สุดคือการสูบน้ำจากบ่อบาดาลขึ้นมามากเกินไปเพื่อเลี้ยงสัตว์ ซึ่งทำให้น้ำพุหลายแห่งมีอัตราการไหลลดลง ในบางแห่งน้ำไหลริน ๆ เท่านั้น.”
ทางน้ำโบราณแห่งนี้เป็นยักษ์ที่บอบบาง คือมีขนาดอันใหญ่โต แต่ก็ไวต่ออิทธิพลของมนุษย์. ดังที่เป็นจริงกับทรัพยากรอื่น ๆ ของโลก จำเป็นต้องมีการจัดการที่ดีเพื่ออนุรักษ์ระบบประปาใต้ดินมหึมาแห่งนี้ไว้ นั่นคือเกรต อาร์ทีเชียน เบซิน.
[แผนที่หน้า 25]
(ดูรายละเอียดในวารสาร)
เกรต อาร์ทีเชียน เบซิน
[ที่มาของภาพ]
Mountain High Maps® Copyright © 1997 Digital Wisdom, Inc.
[ภาพหน้า 25]
สัญลักษณ์ของเขตชนบทในออสเตรเลีย ปั๊มกังหันลมทำให้ชีวิตอยู่ได้ในทะเลทราย
[ภาพหน้า 26]
เช่นเดียวกับผู้อาศัยในฟาร์มที่ห่างไกลแห่งนี้ 60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ในออสเตรเลียอาศัยน้ำบาดาลเพียงแหล่งเดียว
[ภาพหน้า 26]
มูนน้ำพุธรรมชาติปล่อยน้ำที่มีอายุนับพันปีออกมา
[ที่มาของภาพ]
Courtesy of National Parks and Wildlife South Australia
[ภาพหน้า 26]
ทะเลสาบน้ำเค็มที่ขอบด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเกรต อาร์ทีเชียน เบซิน
[ภาพหน้า 26]
ตะกอนแร่รอบ ๆ น้ำพุที่ก่อตัวขึ้นอย่างช้า ๆ ทำให้มันสูงถึง 15 เมตร
[ที่มาของภาพ]
Courtesy of National Parks and Wildlife South Australia