ถ้าฉันเจอเพื่อนที่โรงเรียนเดียวกันล่ะ?
หนุ่มสาวถามว่า . . .
ถ้าฉันเจอเพื่อนที่โรงเรียนเดียวกันล่ะ?
“เมื่อกลับไปเรียนหนังสือวันจันทร์ ผมรู้สึกลำบากใจจริง ๆ. ถ้าเพื่อนคนใดเห็นผมไปร่วมงานเผยแพร่ ผมมักจะคิดแต่งเรื่องขึ้นมาอย่างระมัดระวัง. อย่างเช่น ผมจะบอกเพื่อน ๆ ว่าผมตามไปเก็บเงินนำส่งให้พรรคแรงงาน.”—เจมส์, ประเทศอังกฤษ.
“ที่โรงเรียนมีคนเยาะเย้ยฉัน เนื่องจากเขาเห็นฉันไปประกาศเผยแพร่. ฉันได้รับความกดดันไม่ใช่น้อย.”—เดโบรา, ประเทศบราซิล.
ทำไมเยาวชนเหล่านี้จึงกลัวเพื่อน ๆ จะเห็นมากถึงปานนั้น? พวกเขาร่วมทำกิจกรรมบางอย่างที่ผิดกฎหมายหรือ? ตรงกันข้าม เขาเข้าร่วมกิจกรรมอันทรงเกียรติอย่างยิ่งและเป็นงานสำคัญที่สุดซึ่งทำกันอยู่บนแผ่นดินโลกในปัจจุบัน. พวกเขากำลังทำงานตามพระบัญชาของพระเยซูที่ตรัสว่า “เหตุฉะนั้น จงไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก . . . สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้.”—มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.
จากการสำรวจความคิดเห็นของแกลลัปในสหรัฐ ปรากฏว่าวัยรุ่นมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เชื่อพระเจ้า. ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ไปโบสถ์ทุกสัปดาห์. และถึงแม้หนุ่มสาวหลายคนร่วมทำกิจกรรมในโบสถ์ อาทิ เป็นคณะร้องเพลงประสานเสียง แต่มีเพียงไม่กี่คนที่พูดคุยเรื่องพระเจ้ากับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน. อย่างไรก็ตาม พยานพระยะโฮวาเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลกเพราะงานประกาศตามบ้านเรือน. พยานฯ หนุ่มสาวหลายพันคนมีส่วนร่วมในงานนี้.
ไม่ต้องสงสัย ถ้าคุณเป็นพยานฯ วัยหนุ่มสาว คุณคงได้ร่วมทำงานเผยแพร่อยู่แล้ว. แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณจะทำงานนี้ด้วยความสบายใจเสมอไป. เช่นเดียวกับหนุ่มสาวที่พูดถึงตอนต้น คุณอาจรู้สึกลำบากใจเมื่อคุณคาดเดาว่าอาจพบเพื่อนนักเรียนที่ประตูบ้าน. เจนนี เด็กสาวชาวบริเตนยอมรับว่า “ที่แย่ที่สุดอย่างหนึ่งคือ เด็กในโรงเรียนเดียวกันเห็นฉันแต่งตัวประณีต เช่น นุ่งกระโปรง หิ้วกระเป๋าหนังสือ—ดูเรียบร้อยกว่าตอนที่ฉันอยู่ในโรงเรียนเสียอีก.”
การกลัวเจอหน้าเพื่อนนักเรียนอาจรุนแรงถึงขนาดที่หนุ่มสาวคริสเตียนบางคนหาอุบายหลบเลี่ยง. เด็กหนุ่มชื่อลีออนพูดว่า “ผมรู้จักพยานฯ รุ่นเยาว์คนหนึ่งซึ่งมักใส่เสื้อแจ๊กเกตที่มีหมวกติดกับคอเสื้อเมื่อออกไปในงานรับใช้เพื่อเขาจะดึงหมวกลงมาปิดหน้าได้ถ้าบังเอิญพบเพื่อนนักเรียนโรงเรียนเดียวกัน.” ยังมีหนุ่มสาวคนอื่น ๆ อีกที่ไม่ยอมออกประกาศในละแวกใกล้บ้าน. เด็กหนุ่มชื่อไซมอนเล่าดังนี้: “ผมจำได้ว่าเคยอธิษฐานขออย่าให้เราทำงานบนถนนสาย
นั้นหรือสายนี้เลย เพราะผมรู้ว่ามีเพื่อนที่โรงเรียนอยู่บนถนนสายนั้นเต็มไปหมด.”เป็นเรื่องปกติที่คุณจะรู้สึกอึดอัดบ้างเมื่อต้องเจอหน้าบางคนที่เรารู้จักขณะออกไปเผยแพร่ตามบ้าน. อย่างไรก็ตาม การยอมให้ความกลัวเข้าครอบงำมีแต่จะก่อความเสียหายแก่คุณ. อะลิเซียเด็กสาวชาวเยอรมันยอมรับว่า “ดิฉันเคยมีทัศนะที่ไม่ดีต่องานประกาศ แง่คิดในทางลบเช่นนี้เป็นอันตรายต่อสถานะฝ่ายวิญญาณของดิฉัน.”
กระนั้น ทำไมคุณต้องประกาศตั้งแต่แรกล่ะ โดยเฉพาะเมื่อคุณรู้สึกหนักใจที่จะทำงานนี้? เพื่อตอบคำถาม ให้เราพิเคราะห์ดูว่าทำไมพระเจ้าจึงวางพันธะหน้าที่นี้ไว้กับคุณ? แล้วเราจะแสดงให้คุณเห็นว่า เมื่อคุณบากบั่นและตั้งใจแน่วแน่ คุณจะเอาชนะความกลัวนั้นได้.
พันธะหน้าที่ในการประกาศ
ประการแรก การพิจารณาข้อเท็จจริงอาจช่วยคุณให้เข้าใจว่าการช่วยผู้อื่นมีความเชื่ออย่างคุณไม่ใช่เรื่องใหม่หรือแปลกแต่อย่างใด. ตั้งแต่โบราณกาล มนุษย์ชายหญิงที่เกรงกลัวพระเจ้าเคยทำเช่นนั้น. อาทิ โนฮา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ต่อเรือลำมหึมา. (เยเนซิศ 6:14-16) แต่ดังข้อความใน 2 เปโตร 2:5 (ล.ม.) ยังแสดงว่าท่านเป็น “ผู้ประกาศความชอบธรรม” ด้วย. โนฮาสำนึกถึงพันธะหน้าที่ที่ต้องเตือนคนอื่นให้ทราบถึงความพินาศซึ่งจวนจะเกิดขึ้น.—มัดธาย 24:37-39.
ในเวลาต่อมา แม้พวกยิวไม่ได้รับคำบัญชาเจาะจงให้ประกาศแก่คนที่ไม่ใช่ยิว แต่หลายคนก็ได้แบ่งปันความเชื่อแก่ผู้อื่น. ด้วยเหตุนี้ นางรูธหญิงต่างชาติจึงได้มาเรียนรู้จักพระยะโฮวา. ด้วยความสำนึกบุญคุณนางนาอะมี แม่ผัวชาวยิว นางรูธบอกเธอว่า “ญาติพี่น้องของแม่, จะเป็นญาติพี่น้องของฉัน, และพระเจ้าของแม่จะเป็นพระเจ้าของฉันด้วย.” (ประวัตินางรูธ 1:16) ต่อมา กษัตริย์ซะโลโมแถลงว่า คนจำนวนมากที่ไม่ใช่ชาวยิวจะได้ยินถึง “พระนามอันใหญ่ยิ่ง” ของพระยะโฮวาและจะมานมัสการ ณ พระวิหารของพระองค์.—1 กษัตริย์ 8:41, 42.
บัดนี้ ถ้าผู้รับใช้ของพระเจ้าในคราวโบราณได้พูดให้ผู้อื่นฟัง แม้ไม่มีพระบัญชาโดยตรงให้ทำเช่นนั้น คริสเตียนสมัยนี้น่าจะตระหนักถึงพันธะหน้าที่ในการประกาศมากกว่านั้นสักเท่าใด! อันที่จริง เราได้รับพระบัญชาให้ประกาศ “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรนี้.” (มัดธาย 24:14) เราจึงเป็นเช่นเดียวกับอัครสาวกเปาโลในข้อที่ว่า จำเป็น ต้องประกาศข่าวดีตามที่ได้มอบไว้กับเราแล้ว. (1 โกรินโธ 9:16) ความรอดของเราเป็นเรื่องความเป็นความตายทีเดียว. พระธรรมโรม 10:9, 10, (ล.ม.) กล่าวดังนี้: “เพราะถ้าท่านประกาศอย่างเปิดเผย ‘คำนั้นในปากของท่านเอง’ ว่า พระเยซูเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า . . . ท่านก็จะรอด. ด้วยว่าด้วยหัวใจคนเราสำแดงความเชื่อเพื่อความชอบธรรม แต่ด้วยปากคนเราประกาศอย่างเปิดเผยเพื่อความรอด.”
เราจะ “ประกาศอย่างเปิดเผย” เพื่อความรอดที่ไหนล่ะ? แม้จะทำการเผยแพร่อย่างไม่เป็นทางการอยู่บ้าง กระนั้น การประกาศเผยแพร่ตามบ้านเรือนก็ยังคงเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลมากที่สุดวิธีหนึ่งเพื่อจะเข้าถึงผู้คน. (กิจการ 5:42; 20:20) คุณได้รับการยกเว้นไหมว่าไม่ต้องมีส่วนในงานนี้เนื่องจากคุณเป็นเด็ก? ไม่มีข้อยกเว้น. คัมภีร์ไบเบิลแถลงพระบัญชาข้อนี้ในบทเพลงสรรเสริญ 148:12,13, (ล.ม.) ดังนี้: “ท่านที่เป็นคนหนุ่มและทั้งหญิงสาวพรหมจารีด้วย พวกท่านที่เป็นชายแก่พร้อมกับพวกเด็กชายด้วย. จงให้พวกเขาสรรเสริญพระนามของพระยะโฮวาเถิด.”
การประกาศให้เพื่อนรุ่นเดียวกันฟังถือเป็นงานท้าทาย
เป็นที่ยอมรับกันว่า เมื่อออกไปทำงานรับใช้ แล้วคุณได้เจอบางคนที่เรียนโรงเรียนเดียวกัน คุณอาจรู้สึกเขินอายและกระอักกระอ่วนใจ. ว่ากันตามจริง มันเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เราอยากให้คนอื่นยอมรับเรา. ไม่มีใครอยากให้คนอื่นล้อเล่นตน, พูดเย้ยหยัน, หรือด่าว่าด้วยคำหยาบคาย. และอย่างที่เด็กสาวชื่อทันยาพูด “พวกเด็กที่โรงเรียนร้ายมาก!” ดังนั้น เป็นธรรมดาอยู่เองที่คุณอาจนึกสงสัยว่าเพื่อนนักเรียนจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไรถ้าเขาเห็นคุณแต่งตัวดีและในมือถือคัมภีร์ไบเบิล. น่าเศร้า เป็นไปได้มากทีเดียวที่เขาจะเยาะเย้ยคุณ. ฟิลีปี เด็กหนุ่มชาวบราซิลเล่าว่า “มีเด็กนักเรียนชายคนหนึ่งเรียนชั้นเดียวกับผม อาศัยอยู่ในตึกเดียวกัน. เขาจะพูดเยาะทำนองนี้ ‘มาแล้วรึ แถมเอาคัมภีร์ไบเบิลมาด้วย! ในกระเป๋ามีอะไรมั่ง?’”
เยเนซิศ 21:9) อัครสาวกเปาโลหาได้ถือว่าการประพฤติผิด ๆ แบบนี้เป็นเรื่องไม่สลักสำคัญ. ในฆะลาเตีย 4:29 อัครสาวกเปาโลเรียกการกระทำนี้อย่างถูกต้องว่า ‘การข่มเหง.’
การที่ต้องถูกล้ออย่างนั้นไม่ใช่เรื่องสนุกเลย. คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า ยิศฮาคลูกชายอับราฮามถูกยิศมาเอลพี่ชายต่างมารดาล้ออย่างประสงค์ร้าย. (คล้ายกัน พระเยซูทรงเตือนล่วงหน้าว่าบางคนจะเป็นปฏิปักษ์กับเหล่าสาวกของพระองค์. พระองค์ตรัสว่า “ถ้าโลกเกลียดชังเจ้าทั้งหลาย เจ้าก็รู้ว่าโลกได้เกลียดชังเราก่อน. ถ้าเจ้าทั้งหลายเป็นส่วนของโลก โลกก็จะรักซึ่งเป็นของโลกเอง. บัดนี้เพราะเจ้ามิได้เป็นส่วนของโลก แต่เราได้เลือกเจ้าออกจากโลก ด้วยเหตุนี้โลกจึงเกลียดชังเจ้า.”—โยฮัน 15:18, 19, ล.ม.
ทีนี้ในฐานะคริสเตียน คุณก็ต้องเตรียมทนรับการกดขี่ข่มเหงอยู่บ้าง. (2 ติโมเธียว 3:12) ถึงแม้คุณจะไม่เคยพูดเรื่องคัมภีร์ไบเบิลกับเพื่อน ๆ เลย บางคนก็ไม่วายข่มเหงคุณ เนื่องจากคุณรักษามาตรฐานสูงด้านความประพฤติและไม่ประพฤติตนเป็นพาลเกเรร่วมกับเขา. (1 เปโตร 4:4) อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงให้ถ้อยคำที่ปลอบประโลมดังนี้: “ความสุขมีแก่เจ้าทั้งหลายเมื่อเขาได้ติเตียนเจ้าและข่มเหงเจ้าและพูดสิ่งชั่วร้ายทุกรูปแบบด้วยคำเท็จต่อเจ้าเพราะเรา.” (มัดธาย 5:11, ล.ม.) เป็นไปได้อย่างไรว่าการถูกล้อเล่นหรือการเยาะเย้ยทำให้คุณมีความสุข? เพราะคุณรู้ว่าคุณกำลังทำให้พระยะโฮวาพระเจ้าเบิกบานพระทัย! (สุภาษิต 27:11) และโดยทำให้พระเจ้าชอบพระทัย คุณจึงนำตัวเองสู่เส้นทางที่จะรับชีวิตนิรันดร์เป็นบำเหน็จ!—ลูกา 10:25-28.
เป็นที่น่ายินดี มิใช่เพื่อนนักเรียนทุกคนหรือแทบทั้งหมดซึ่งคุณอาจพบเห็นขณะประกาศเผยแพร่จะเป็นปฏิปักษ์กับคุณ. เด็กสาวชาวอังกฤษชื่อแองเจลาเตือนใจเราว่า “เมื่อคุณพบเพื่อนนักเรียนที่หน้าประตู บ่อยครั้งเขาจะตกใจกลัวยิ่งกว่าคุณเสียอีก!” ที่จริง บางคนอาจสงสัยใคร่รู้ด้วยซ้ำไปว่าคุณมีอะไรจะบอกเขา. ไม่ว่ากรณีใด หนุ่มสาวคริสเตียนหลายคนกำลังประสบความสำเร็จอย่างมากเมื่อให้คำพยานแก่เพื่อนนักเรียนนักศึกษา. บทความชุดนี้ที่จะนำลงพิมพ์ครั้งหน้าจะพูดถึงแนวทางบางอย่างที่คุณสามารถทำได้เหมือนกัน.
[ภาพหน้า 21]
เยาวชนหลายคนหวั่นเกรงว่าจะได้พบเพื่อนนักเรียน ขณะทำการประกาศเผยแพร่
[ภาพหน้า 23]
อย่ายอมให้การถูกล้อเป็นเหตุให้คุณรู้สึกอับอายเนื่องด้วยความเชื่อของคุณ