ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

มาไซ—ชนผู้ไม่เหมือนใครและเปี่ยมด้วยสีสัน

มาไซ—ชนผู้ไม่เหมือนใครและเปี่ยมด้วยสีสัน

มาไซ—ชน​ผู้​ไม่​เหมือน​ใคร​และ​เปี่ยม​ด้วย​สี​สัน

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​เคนยา

เสียง​เพลง​ของ​เด็ก​ชาย​ชาว​มาไซ​คน​หนึ่ง​ดัง​ก้อง​ไป​ทั่ว​หุบเขา และ​เสียง​แหลม​สูง​นั้น​ล่อง​ลอย​มา​กับ​อากาศ​ยาม​ฟ้า​สาง​ที่​ชุ่ม​ไป​ด้วย​ความ​ชื้น. ขณะ​ที่​ดวง​อาทิตย์​ยาม​เช้า​เคลื่อน​สูง​ขึ้น​ไป เสียง​อัน​สดใส​ของ​เด็ก​คน​นี้​ก็​เข้ม​ยิ่ง​ขึ้น ฟัง​แล้ว​คล้าย​กัน​มาก​กับ​นก​ที่​โก่ง​คอ​ร้อง​เพลง​ตอน​ตะวัน​เริ่ม​ทอแสง.

ผม​ฟัง​เสียง​นั้น​ขณะ​ที่​ดวง​อาทิตย์​เคลื่อน​สูง​ขึ้น​จน​เห็น​ตัว​เด็ก​เลี้ยง​วัว​ชาว​มาไซ​ที่​ยืน​อยู่​ใน​หมู่​ฝูง​วัว​ของ​พ่อ. โดย​มี​ผ้า​ผืน​ยาว​สี​แดง​พัน​ร่าง​ไว้​บาง​ส่วน เด็ก​คน​นี้​ยืน​ขา​เดียว​คล้าย​กับ​นก​กระสา มือ​จับ​ด้าม​หอก​ยัน​ตัว​ไว้​และ​ร้อง​เพลง​ให้​ฝูง​วัว​ฟัง. ขอ​ให้​ผม​เล่า​เรื่อง​ของ​ชน​เผ่า​มาไซ​ผู้​ไม่​เหมือน​ใคร​อีก​สัก​นิด.

ยินดี​ต้อนรับ​สู่​เขต​มาไซ

ชาว​มาไซ ชน​เผ่า​เลี้ยง​สัตว์​ผู้​มี​สี​สัน อาศัย​ใน​พื้น​ที่​โล่ง​อัน​กว้าง​ใหญ่​ของ​แอ่ง​เกรต ริฟต์ แวลลีย์ ใน​เขต​แอฟริกา​ตะวัน​ออก. ชน​เผ่า​มาไซ​ซึ่ง​อาศัย​อยู่​ใน​ประเทศ​เคนยา​และ​แทนซาเนีย เป็น​ผู้​เหลือ​รอด​จาก​ยุค​อดีต ดำรง​ชีวิต​เกือบ​จะ​แบบ​เดียว​กับ​บรรพบุรุษ​ของ​ตน​เมื่อ​หลาย​ศตวรรษ​มา​แล้ว. โดย​ไม่​สนใจ​เวลา​ที่​ผ่าน​ไป ชีวิต​ของ​พวก​เขา​ถูก​ควบคุม​โดย​การ​ขึ้น​และ​ตก​ของ​ดวง​อาทิตย์​รวม​ทั้ง​ฤดู​กาล​ที่​เปลี่ยน​ไป​เรื่อย ๆ.

ความ​สามารถ​อย่าง​หนึ่ง​ของ​ชน​เผ่า​มาไซ​คือ​การ​เอา​ชีวิต​รอด​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​อัน​ทารุณ​และ​ภูมิ​ประเทศ​อัน​ขรุขระ​ของ​ริฟต์ แวลลีย์. ด้วย​ก้าว​เท้า​ที่​ยาว​และ​เดิน​แบบ​สบาย ๆ พวก​เขา​เดิน​ทาง​เป็น​ระยะ​ไกล​มาก​เพื่อ​หา​ทุ่ง​หญ้า​อัน​เขียว​สด​และ​แหล่ง​น้ำ​สำหรับ​ฝูง​วัว​ของ​ตน. พวก​เขา​เลี้ยง​วัว​ท่ามกลาง​ฝูง​นู, ม้าลาย, ยีราฟ, และ​สัตว์​อื่น ๆ ที่​หา​กิน​ใน​ทุ่ง​ราบ​ซึ่ง​ร่วม​แผ่นดิน​ถิ่น​เกิด​เดียว​กัน.

ชาว​วัว

ชน​เผ่า​มาไซ​เชื่อ​ว่า​วัว​ทุก​ตัว​บน​แผ่นดิน​โลก​เป็น​ของ​พวก​เขา. ความ​เชื่อ​นี้​มา​จาก​ตำนาน​ที่​ว่า ใน​ตอน​แรก​เริ่ม​พระเจ้า​ทรง​มี​บุตร​ชาย​สาม​คน และ​พระองค์​ประทาน​ของ​ขวัญ​ให้​คน​ละ​อย่าง. บุตร​คน​แรก​ได้​ธนู​สำหรับ​ล่า​สัตว์, บุตร​คน​ที่​สอง​ได้​จอบ​สำหรับ​ทำ​การ​เพาะ​ปลูก, และ​บุตร​คน​ที่​สาม​ได้​ไม้เท้า​สำหรับ​ใช้​ต้อน​ฝูง​วัว. ว่า​กัน​ว่า บุตร​คน​สุด​ท้อง​นี้​คือ​ปฐม​บรรพบุรุษ​ของ​ชาว​มาไซ. แม้​ว่า​เผ่า​อื่น ๆ มี​ฝูง​วัว​ใน​ครอบครอง แต่​ชาว​มาไซ​เชื่อ​ว่า จริง ๆ แล้ว​สัตว์​เหล่า​นี้​เป็น​ของ​พวก​เขา.

ใน​ชุมชน​ชาว​มาไซ สถานภาพ​และ​ความ​สำคัญ​ของ​ชาย​คน​หนึ่ง​วัด​ได้​จาก​ขนาด​ของ​ฝูง​วัว​และ​จำนวน​บุตร​ของ​เขา. อัน​ที่​จริง คน​ที่​มี​วัว​น้อย​กว่า 50 ตัว​ถือ​ว่า​ยาก​จน. โดย​มี​บุตร​และ​ภรรยา​หลาย ๆ คน​ช่วย​งาน ผู้​ชาย​ชาว​มาไซ​วาด​หวัง​ว่า​ฝูง​สัตว์​ของ​เขา​จะ​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ จน​ใน​ที่​สุด​จะ​มี​จำนวน​นับ​พัน.

สมาชิก​ใน​ครอบครัว​ชาว​มาไซ​มี​ความ​ผูก​พัน​ทาง​อารมณ์​กับ​ฝูง​สัตว์​ของ​ตน. สัตว์​แต่​ละ​ตัว​ต่าง​ก็​มี​เสียง​และ​นิสัย​เฉพาะ​ซึ่ง​ทั้ง​ครอบครัว​จะ​รู้​จัก​เป็น​อย่าง​ดี. วัว​มัก​ถูก​ตี​ตรา​และ​ทำ​เครื่องหมาย​เป็น​เส้น​โค้ง​ยาว​หลาย​เส้น​และ​มี​ลวด​ลาย​ที่​ซับซ้อน​ซึ่ง​ออก​แบบ​ไว้​เพื่อ​เสริม​ความ​งาม​ให้​วัว. มี​การ​ร้อง​เพลง​ซึ่ง​พรรณนา​ลักษณะ​ที่​สวย​งาม​ของ​วัว​บาง​ตัว​ใน​ฝูง​และ​แสดง​ถึง​ความ​รัก​ต่อ​พวก​มัน. วัว​ผู้​ที่​มี​เขา​ใหญ่​โง้ง​มี​ราคา​สูง​เป็น​พิเศษ และ​ลูก​วัว​จะ​ได้​รับ​การ​ทะนุถนอม​และ​เอา​ใจ​ใส่​ราว​กับ​บุตร​ที่​เพิ่ง​เกิด.

ตาม​ประเพณี​ของ​ชาว​มาไซ ผู้​หญิง​เป็น​คน​สร้าง​บ้าน โดย​สร้าง​จาก​กิ่ง​ไม้​ขัด​สาน​กัน​กับ​หญ้า​แล้ว​ยา​ด้วย​มูล​วัว. บ้าน​ซึ่ง​มี​ลักษณะ​ทรง​กลม​และ​วง​รี​ถูก​สร้าง​เรียง​เป็น​วง​ขนาด​ใหญ่ ล้อม​พื้น​ที่​ตรง​กลาง​ไว้​เป็น​คอก​ให้​ฝูง​วัว​นอน​อย่าง​ปลอด​ภัย​ใน​ตอน​กลางคืน. บริเวณ​โดย​รอบ​ทั้ง​หมด​ล้อม​ด้วย​กิ่ง​ไม้​ที่​มี​หนาม​แหลม​คม​เพื่อ​เป็น​รั้ว​ป้องกัน​ทั้ง​ชาว​มาไซ​เอง​และ​ฝูง​วัว​ของ​พวก​เขา​จาก​ไฮยีนา, เสือ​ดาว, และ​สิงโต​ที่​เพ่นพ่าน​ไป​ทั่ว.

ความ​อยู่​รอด​ของ​ชาว​มาไซ​ขึ้น​อยู่​กับ​สุขภาพ​และ​ความ​แข็งแรง​ของ​ฝูง​สัตว์​ของ​พวก​เขา. นม​วัว​ใช้​บริโภค และ​มูล​วัว​ใช้​ยา​ผนัง​บ้าน. มี​น้อย​ครั้ง​ที่​ชาว​มาไซ​จะ​ฆ่า​วัว​เป็น​อาหาร; โดย​ทั่ว​ไป พวก​เขา​จะ​เลี้ยง​แกะ​และ​แพะ​ไว้​บ้าง​เพื่อ​เป็น​อาหาร. แต่​เมื่อ​ไร​ที่​มี​การ​ล้ม​วัว​กัน ทุก​ส่วน​ของ​วัว​จะ​นำ​มา​ใช้​ประโยชน์​ได้​หมด. เขา​วัว​ใช้​เป็น​ภาชนะ; กีบ​และ​กระดูก​ใช้​ประดิษฐ์​เป็น​เครื่อง​ประดับ; ส่วน​หนัง​ก็​จะ​ถูก​นำ​มา​ผ่าน​กรรมวิธี​รักษา​หนัง​ไม่​ให้​เน่า​ก่อน​จะ​นำ​ไป​ทำ​รอง​เท้า, เสื้อ​ผ้า, หนัง​คลุม​เตียง, และ​เชือก.

มี​สี​สัน​และ​ไม่​เหมือน​ใคร

ชาว​มาไซ​สง่า​งาม เพราะ​มี​รูป​ร่าง​สูง​เพรียว อีก​ทั้ง​มี​ลักษณะ​ทาง​กาย​ที่​ดี. เสื้อ​ผ้า​ของ​พวก​เขา​มี​สี​สัน​ที่​น่า​ทึ่ง. พวก​เขา​จะ​ใช้​ผ้า​ซึ่ง​ย้อม​ด้วย​สี​แดง​สด​และ​ฟ้า​สด​พัน​หลวม ๆ รอบ​กาย​ที่​คล่องตัว​กระฉับกระเฉง. โดย​ทั่ว​ไป พวก​ผู้​หญิง​จะ​มี​เครื่อง​ประดับ​คอ​ซึ่ง​เป็น​แผ่น​กลม ๆ ขนาด​ใหญ่​ที่​ร้อย​ด้วย​ลูกปัด และ​มี​ผ้า​คาด​ศีรษะ​หลาก​สี. รอบ​แขน​และ​ข้อ​เท้า​อาจ​มี​ห่วง​ทองแดง​เส้น​หนา ๆ รัด​ไว้​แน่น. ทั้ง​ผู้​ชาย​และ​ผู้​หญิง​มัก​ยืด​ติ่ง​หู​ให้​ยาว​ด้วย​การ​ใส่​ตุ้ม​หู​หนัก ๆ และ​เครื่อง​ประดับ​พวก​ลูกปัด. หิน​แดง ซึ่ง​เป็น​แร่​สี​แดง​ที่​บด​จน​เป็น​ผง​ละเอียด มัก​ถูก​นำ​มา​ผสม​กับ​ไข​วัว​และ​ใช้​ทา​ร่าง​กาย​อย่าง​มี​ศิลป์.

เย็น​วัน​หนึ่ง โดย​อาศัย​แสง​จาก​กอง​ไฟ ผม​ดู​ชาว​มาไซ​กลุ่ม​หนึ่ง​มา​ชุมนุม​กัน​เพื่อ​เต้น​รำ. พวก​เขา​ยืน​ล้อม​วง​กัน เคลื่อน​ไหว​เป็น​จังหวะ. ขณะ​ที่​จังหวะ​เต้น​รำ​ทวี​ความ​เข้มข้น​ขึ้น เครื่อง​ประดับ​คอ​ที่​หนัก​อึ้ง​ของ​พวก​ผู้​หญิง​ก็​กระทบ​กระแทก​กับ​ไหล่​ขึ้น​ลง ๆ เป็น​จังหวะ. จาก​นั้น นัก​รบ​ชาว​มาไซ​ก็​จะ​ผลัด​กัน​ก้าว​เข้า​มา​อยู่​กลาง​วง​ที​ละ​คน แล้ว​แสดง​การ​ดีด​ตัว​ขึ้น​ไป​ตรง ๆ สูง ๆ ติด​ต่อ​กัน​เป็น​ชุด​อย่าง​น่า​ชม. การ​เต้น​รำ​อาจ​ดำเนิน​ไป​ถึง​ดึกดื่น จน​ทุก​คน​หมด​เรี่ยว​แรง.

ชีวิต​ครอบครัว​ชาว​มาไซ

ตลอด​วัน​นั้น​ซึ่ง​อากาศ​ร้อน​มาก ผม​นั่ง​อยู่​กับ​พวก​ผู้​หญิง​ชาว​มาไซ​ใต้​ร่ม​เงา​ของ​ต้น​อะคาเซีย ดู​พวก​เธอ​เย็บ​ลูก​ปัด​อย่าง​ประณีต​ติด​กับ​แผ่น​หนัง​ที่​ผ่าน​กรรมวิธี​รักษา​ไม่​ให้​เน่า. ขณะ​หัวเราะ​และ​พูด​คุย​กัน​ไป พวก​เธอ​แทบ​ไม่​ได้​สังเกต​พวก​นก​กระจาบ​ที่​ร้อง​จ้อกแจ้ก ๆ อยู่​เหนือ​ศีรษะ สาน​สร้าง​รัง​ของ​มัน​ด้วย​เส้น​หญ้า​แห้ง. ขณะ​ที่​เวลา​ใน​แต่​ละ​วัน​ผ่าน​ไป พวก​ผู้​หญิง​จะ​ง่วน​อยู่​กับ​การ​ตัก​น้ำ​และ​เก็บ​ฟืน, การ​ซ่อมแซม​บ้าน​เรือน, และ​การ​เลี้ยง​ลูก​น้อย.

เมื่อ​ดวง​อาทิตย์​ที่​กำลัง​จะ​ตก​เริ่ม​คลาย​ความ​ร้อน​ที่​แผด​เผา​แผ่นดิน บรรดา​คน​เลี้ยง​วัว​ก็​เริ่ม​กลับ​มา​พร้อม​กับ​ฝูง​วัว. ฝูง​วัว​เดิน​เอื่อย ๆ ช้า ๆ มุ่ง​สู่​บ้าน กีบ​เท้า​ของ​พวก​มัน​ตะกุย​ฝุ่น​สี​แดง​ฟุ้ง​ตลบ​ใน​ลำ​แสง​สี​ทอง​ของ​ดวง​อาทิตย์​ที่​จวน​จะ​ลับ​ขอบ​ฟ้า. เมื่อ​พวก​ผู้​หญิง​เห็น​ม่าน​ฝุ่น​แต่​ไกล พวก​เธอ​ก็​จะ​ทิ้ง​งาน​ที่​ทำ​อยู่​ทันที​เพื่อ​เตรียม​รับ​ฝูง​วัว​ที่​ใกล้​จะ​มา​ถึง.

ทันที​ที่​พวก​วัว​เข้า​ไป​อยู่​ใน​คอก​อัน​ปลอด​ภัย​แล้ว พวก​ผู้​ชาย​ก็​จะ​เดิน​ไป​มา​ใน​หมู่​สัตว์​ของ​ตน ตบ​เขา​วัว​ผู้​เบา ๆ และ​ชื่นชม​ความ​งาม​ของ​พวก​มัน. เด็ก​ชาย​ตัว​เล็ก ๆ คน​หนึ่ง​บีบ​เต้า​นม​แม่​วัว​ให้​นม​อุ่น​พุ่ง​เป็น​สาย​เล็ก ๆ เข้า​ปาก และ​ก็​ถูก​แม่​ดุ​เอา​ทันที. พวก​เด็ก​ผู้​หญิง​เดิน​เข้า​ออก ๆ ท่ามกลาง​เขา​วัว​และ​กีบ​เท้า​ที่​แน่น​ขนัด​จน​ลาย​ตา รีด​นม​วัว​อย่าง​คล่องแคล่ว​ใส่​ขวด​น้ำเต้า​ยาว​จน​เต็ม​เปี่ยม.

พอ​พลบ​ค่ำ เรา​ทุก​คน​นั่ง​เบียด​กัน​รอบ​กอง​ไฟ​เพื่อ​ไล่​ความ​หนาว​เย็น​ของ​อากาศ. มี​กลิ่น​ควัน​ไฟ​และ​เนื้อ​ย่าง รวม​ทั้ง​กลิ่น​สาบ​ของ​ฝูง​วัว​ที่​อยู่​ใกล้ ๆ. ผู้​เฒ่า​คน​หนึ่ง​นั่ง​ลง​และ​เล่า​ประวัติ​ของ​ชาว​มาไซ​และ​วีรกรรม​ของ​นัก​รบ​ชาว​มาไซ. เขา​หยุด​นิด​หนึ่ง​ก็​แค่​ตอน​ที่​มี​เสียง​สิงโต​คำราม​ดัง​มา​แต่​ไกล แล้ว​ก็​ไม่​ได้​ใส่​ใจ​อะไร​อีก หัน​ไป​เล่า​ต่อ​อย่าง​ละเอียด เป็น​ที่​ชอบ​อก​ชอบ​ใจ​ของ​ผู้​ฟัง. ใน​ที่​สุด​ก็​หาย​กัน​ไป​ที​ละ​คน​สอง​คน เข้า​ไป​ใน​บ้าน​ดิน​ทรง​โดม​อัน​มืด​มิด​เพื่อ​จะ​นอน​หลับ. หาก​ไม่​นับ​เสียง​หายใจ​แผ่ว ๆ ของ​วัว​ที่​นอน​หลับ กลางคืน​ที่​นี่​เงียบ​สนิท สรรพสิ่ง​จม​อยู่​ใน​ความ​มืด​และ​ความ​ห่าง​ไกล​ของ​ป่า​โปร่ง.

วัย​เด็ก​ของ​ชาว​มาไซ

พอ​ดวง​อาทิตย์​ขึ้น หมู่​บ้าน​ก็​มี​ชีวิต​ชีวา​ขึ้น​มา​ด้วย​กิจกรรม. เด็ก​เล็ก ๆ สวม​แค่​สาย​คาด​เอว​ร้อย​ลูกปัด​และ​สร้อย​คอ เล่น​กัน​ท่ามกลาง​ความ​เย็น​ยะเยือก​ของ​อากาศ​ยาม​เช้า. เสียง​หัวเราะ​ของ​เด็ก ๆ เป็น​เสียง​ที่​น่า​ชื่น​ใจ​สำหรับ​ชาว​มาไซ​ซึ่ง​รัก​ลูก ๆ ของ​ตน​อย่าง​ยิ่ง​และ​หวัง​พึ่ง​ลูก​หลาน​ใน​เรื่อง​อนาคต​และ​ความ​อยู่​รอด​ของ​ตน.

การ​เลี้ยง​ดู​เด็ก​เป็น​เรื่อง​ที่​ช่วย​กัน​ทั้ง​ชุมชน—ใคร​ก็​แล้ว​แต่​ที่​มี​อายุ​มาก​กว่า​ใน​ชุมชน​อาจ​ตี​สอน​และ​ลง​โทษ​เด็ก​ที่​ไม่​เชื่อ​ฟัง​ได้. เด็ก ๆ ได้​รับ​การ​สั่ง​สอน​ให้​นับถือ​ผู้​สูง​อายุ และ​พวก​เขา​เรียน​รู้​วิถี​ชีวิต​ครอบครัว​ของ​ชาว​มาไซ​อย่าง​รวด​เร็ว. ใน​ช่วง​ที่​ยัง​เล็ก พวก​เขา​จะ​ถูก​ปล่อย​เป็น​อิสระ แต่​เมื่อ​พวก​เขา​โต​ขึ้น เด็ก​หญิง​จะ​ได้​รับ​การ​สอน​ให้​เอา​ใจ​ใส่​งาน​ใน​ครัว​เรือน และ​เด็ก​ชาย​ได้​รับ​การ​สอน​ให้​ดู​แล​และ​ปก​ป้อง​ฝูง​สัตว์. บิดา​มารดา​จะ​ถ่ายทอด​ความ​รู้​เกี่ยว​กับ​ยา​พื้น​บ้าน​แก่​บุตร​และ​สอน​พวก​เขา​เกี่ยว​กับ​จารีต​ประเพณี​ของ​ชาว​มาไซ​ซึ่ง​มี​ผล​กระทบ​ทุก​แง่​มุม​ใน​ชีวิต​ของ​ชาว​มาไซ.

เข้า​สู่​วัย​ผู้​ใหญ่

เมื่อ​พวก​เขา​โต​ขึ้น คน​หนุ่ม​สาว​เรียน​รู้​ธรรมเนียม​และ​พิธีกรรม​ต่าง ๆ ซึ่ง​จะ​เป็น​เครื่อง​แสดง​ว่า​พวก​เขา​เปลี่ยน​จาก​วัย​เด็ก​เข้า​สู่​วัย​ผู้​ใหญ่. พิธีกรรม​บาง​อย่าง​ที่​พวก​เขา​เรียน​รู้​ได้​แก่​พิธีกรรม​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​เจ็บ​ป่วย, โชค​ร้าย, การ​สมรส, และ​ความ​ตาย. ชาว​มาไซ​เชื่อ​ว่า​หาก​ไม่​ปฏิบัติ​ตาม​พิธีกรรม​เหล่า​นี้ พวก​เขา​จะ​ถูก​สาป.

บิดา​มารดา​ชาว​มาไซ​อาจ​จัดแจง​การ​สมรส​ให้​แก่​บุตร​สาว​ตั้ง​แต่​เธอ​ยัง​เป็น​ทารก. เด็ก​หญิง​จะ​ถูก​หมั้น​ไว้​กับ​ชาย​ที่​มี​วัว​มาก​พอ​จะ​จ่าย​สินสอด​ที่​ผู้​เป็น​บิดา​เรียก​เอา. บ่อย​ครั้ง เด็ก​สาว​จะ​สมรส​กับ​ชาย​ซึ่ง​มี​อายุ​แก่​กว่า​เธอ​เอง​มาก​และ​เป็น​ภรรยา​ร่วม​กับ​ภรรยา​คน​อื่น ๆ ใน​ครัว​เรือน​ของ​เขา.

ขณะ​ที่​เด็ก​หนุ่ม​ใน​ชุมชน​มาไซ​เติบ​ใหญ่​ขึ้น พวก​เขา​คบ​สนิท​กับ​เด็ก​หนุ่ม​คน​อื่น ๆ ที่​รุ่น​ราว​คราว​เดียว​กัน. สัมพันธภาพ​ที่​แน่นแฟ้น​เป็น​พิเศษ​กับ​เพื่อน​รุ่น​เดียว​กัน​อาจ​ยั่งยืน​ไป​ชั่ว​ชีวิต. พวก​เขา​จะ​พัฒนา​จาก​วัย​เด็ก​ที่​ไม่​รู้​ประสีประสา​จน​กระทั่ง​เป็น​นัก​รบ​ด้วย​กัน. ใน​ฐานะ​นัก​รบ พวก​เขา​จะ​รับ​เอา​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ใน​การ​ปก​ป้อง​เคหสถาน, รักษา​แหล่ง​น้ำ​สำหรับ​ชุมชน, และ​ปก​ป้อง​ฝูง​วัว​จาก​สัตว์​ป่า​และ​โจร​ขโมย. สอดคล้อง​กับ​ชื่อเสียง​ของ​พวก​เขา​ใน​เรื่อง​ความ​กล้า​หาญ ตาม​ปกติ​เรา​จะ​เห็น​ชาย​ชาว​มาไซ​มี​หอก​ซึ่ง​ลับ​ไว้​คม​กริบ​อยู่​ข้าง​กาย​เสมอ.

เมื่อ​นัก​รบ​มี​อายุ​ประมาณ 30 ปี ถือ​ว่า​พวก​เขา​เข้า​สู่​ขั้น​ตอน​สุด​ท้าย​ของ​การ​เปลี่ยน​เข้า​สู่​วัย​ผู้​ใหญ่. ด้วย​ความ​ตื่นเต้น​อย่าง​ยิ่ง จะ​มี​การ​ทำ​พิธี​ประกาศ​ความ​เป็น​ผู้​ใหญ่​ให้​แก่​พวก​เขา; ถึง​ตอน​นี้ พวก​เขา​ก็​จะ​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​สมรส​ได้. โดย​มี​สถานภาพ​ซึ่ง​ได้​รับ​ความ​นับถือ​เช่น​นี้ พวก​เขา​จะ​หมกมุ่น​อยู่​กับ​การ​หา​เจ้าสาว​และ​การ​เพิ่ม​จำนวน​วัว​ใน​ฝูง​ของ​ตน และ​พวก​เขา​ถูก​คาด​หมาย​ด้วย​ว่า​จะ​เป็น​ผู้​ให้​คำ​แนะ​นำ​และ​ระงับ​การ​ทะเลาะ​วิวาท.

อนาคต​ของ​ชาว​มาไซ​จะ​เป็น​อย่าง​ไร?

ปัจจุบัน ธรรมเนียม​และ​วัฒนธรรม​ที่​ไม่​เหมือน​ใคร​ของ​ชาว​มาไซ​กำลัง​เลือน​หาย​ไป​อย่าง​รวด​เร็ว. ใน​บาง​พื้น​ที่ ชาว​มาไซ​ไม่​อาจ​ท่อง​ไป​อย่าง​อิสระ​พร้อม​กับ​ฝูง​วัว​เพื่อ​หา​ทุ่ง​หญ้า​ใหม่ ๆ ได้​อีก​ต่อ​ไป. ผืน​ดิน​อัน​กว้าง​ใหญ่​ซึ่ง​เคย​เป็น​มาตุภูมิ​ที่​สืบ​ทอด​กัน​มา​กำลัง​ถูก​พัฒนา​ให้​เป็น​เขต​อนุรักษ์​ชีวิต​ป่า​หรือ​จัด​เป็น​เขต​ที่​อยู่​อาศัย​และ​พื้น​ที่​ทำ​การ​เกษตร​เพื่อ​จะ​มี​ที่​พอ​เพียง​สำหรับ​ประชากร​ที่​เพิ่ม​ขึ้น. ความ​แห้ง​แล้ง​และ​ความ​ลำบาก​ด้าน​เศรษฐกิจ​กำลัง​บีบ​ให้​ชาว​มาไซ​หลาย​คน​ขาย​วัว​ที่​เขา​รัก​เพื่อ​ความ​อยู่​รอด. เมื่อ​พวก​เขา​ย้าย​เข้า​มา​อยู่​ใน​เมือง​ใหญ่ ๆ พวก​เขา​เผชิญ​ปัญหา​ต่าง ๆ แบบ​เดียว​กับ​ปัญหา​ที่​สร้าง​ความ​ทุกข์​เดือดร้อน​แก่​โลก​สมัย​ใหม่​ใน​ที่​อื่น ๆ ทั้ง​หมด.

ปัจจุบัน งาน​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​กำลัง​เข้า​ไป​ถึง​ชุมชน​ชาว​มาไซ​ใน​แอฟริกา​ตะวัน​ออก. มี​การ​พิมพ์​จุลสาร​เพลิดเพลิน​กับ​ชีวิต​บน​แผ่นดิน​โลก​ตลอด​ไป! ใน​ภาษา​มาไซ​มาก​กว่า 6,000 เล่ม. โดย​วิธี​นี้ ชาว​มาไซ​กำลัง​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​ให้​เห็น​ว่า​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​แตกต่าง​กับ​ความ​เชื่อ​ใน​เรื่อง​โชค​ลาง​ซึ่ง​ปราศจาก​พื้น​ฐาน​ของ​ความ​จริง. เป็น​เรื่อง​น่า​อบอุ่น​ใจ​จริง ๆ ที่​เห็น​ว่า​พระ​ผู้​สร้าง​ของ​เรา พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า ได้​ประทาน​โอกาส​แก่​ชน​ผู้​มี​เอกลักษณ์​และ​เปี่ยม​ด้วย​สี​สัน​กลุ่ม​นี้​เพื่อ​จะ​ถูก​นับ​รวม​อยู่​ใน​หมู่​คน​จำนวน​มาก​จาก “ชาติ​และ​ตระกูล​และ​ชน​ชาติ​และ​ภาษา​ทั้ง​ปวง” ที่​จะ​รอด​ผ่าน​การ​ทำลาย​ล้าง​ระบบ​อัน​ยุ่งยาก​ลำบาก​นี้.—วิวรณ์ 7:9, ล.ม.

[ภาพ​หน้า 25]

บ้าน​แบบ​ดั้งเดิม​ของ​ชาว​มาไซ

[ภาพ​หน้า 26]

ชาว​มาไซ​มา​ชุมนุม​เพื่อ​เต้น​รำ​กัน

[ภาพ​หน้า 26]

พยาน​ฯ ชาว​มาไซ​สอง​คน