ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

อันตรายในที่ทำงานเกิดจากอะไร?

อันตรายในที่ทำงานเกิดจากอะไร?

อันตราย​ใน​ที่​ทำ​งาน​เกิด​จาก​อะไร?

“ผู้​เสีย​ชีวิต​ใน​ที่​ทำ​งาน​มี​มาก​กว่า​ผู้​เสีย​ชีวิต​บน​ท้องถนน.” นี่​เป็น​หัวข้อ​ตัว​หนา​ใน​แผ่น​โปสเตอร์​ที่​แจก​จ่าย​โดย​เวิร์กคัฟเวอร์ องค์กร​ด้าน​ความ​ปลอด​ภัย​ใน​รัฐ​นิวเซาท์เวลส์ ประเทศ​ออสเตรเลีย.

แน่นอน อุบัติเหตุ​ที่​ทำ​ให้​มี​ผู้​เสีย​ชีวิต​เป็น​ปัญหา​เพียง​อย่าง​หนึ่ง. ทุก​ปี หลาย​ล้าน​คน​ได้​รับ​บาดเจ็บ​อย่าง​รุนแรง​จาก​ที่​ทำ​งาน​จน​ทำ​ให้​ชีวิต​ผันแปร​ไป. อีก​หลาย​คน​เสีย​ชีวิต​ก่อน​วัย​อัน​ควร​เนื่อง​จาก​ได้​รับ​สาร​อันตราย​จาก​งาน​ที่​ทำ หรือ​เนื่อง​จาก​ความ​เครียด​ใน​ที่​ทำ​งาน.

เนื่อง​จาก​การ​เสีย​ชีวิต​จาก​การ​ทำ​งาน​และ​การ​บาดเจ็บ​สาหัส​เกิด​ขึ้น​ใน​แทบ​ทุก​วงการ​อุตสาหกรรม​และ​การ​พาณิชย์ จึง​เหมาะ​ที่​จะ​ถาม​ว่า คุณ​ปลอด​ภัย​เพียง​ไร​เมื่อ​อยู่​ใน​ที่​ทำ​งาน? สภาพการณ์​อะไร​บ้าง​ใน​ที่​ทำ​งาน​ซึ่ง​อาจ​เป็น​อันตราย​ต่อ​สุขภาพ​และ​ชีวิต​ของ​คุณ?

สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​ตึงเครียด

บ่อย​ครั้ง​คน​งาน​ถูก​กดดัน​อย่าง​หนัก​เพื่อ​จะ​ได้​ผล​งาน​มาก ๆ. ใน​ญี่ปุ่น มี​การ​ใช้​คำ​คาโรชิ หรือ “การ​เสีย​ชีวิต​จาก​การ​ทำ​งาน​มาก​เกิน​ไป” เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​การ​เรียก​ร้อง​เงิน​ชดเชย​โดย​ครอบครัว​ของ​ผู้​เสีย​ชีวิต. จาก​การ​สำรวจ​ใน​ประเทศ​นั้น​เมื่อ​หลาย​ปี​ก่อน 40 เปอร์เซ็นต์​ของ​ชาว​ญี่ปุ่น​ที่​ทำ​งาน​ใน​สำนักงาน​กลัว​ว่า​อาจ​จะ​ตาย​เพราะ​ทำ​งาน​มาก​เกิน​ไป. ทนาย​ความ​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​เชี่ยวชาญ​เป็น​พิเศษ​ใน​เรื่อง​นี้​กะ​ประมาณ​ว่า “ทุก​ปี​มี​อย่าง​น้อย​ที่​สุด 30,000 คน​เป็น​เหยื่อ​ของ​คาโรชิ​ใน​ญี่ปุ่น.”

ตำรวจ​ใน​ญี่ปุ่น​บอก​ว่า ปัญหา​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ทำ​งาน​เป็น​ปัจจัย​สำคัญ​ที่​ทำ​ให้​มี​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย​เพิ่ม​ขึ้น​ใน​หมู่​ผู้​ที่​มี​อายุ​ระหว่าง 50 ถึง 59 ปี. ดัง​ที่​บอก​ไว้​ใน​หนังสือ​ที่​ทำ​งาน​ซึ่ง​เต็ม​ไป​ด้วย​ความ​รุนแรง (ภาษา​อังกฤษ) ศาล​แห่ง​หนึ่ง​ได้​ถือ​ว่า นาย​จ้าง​ต้อง​รับผิดชอบ​ต่อ​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย​ของ​ลูกจ้าง​ซึ่ง​ถูก​รุม​ล้อม​ด้วย​ความ​กังวล​เกี่ยว​กับ​งาน.

หนังสือ​พิมพ์​เดอะ แคนเบอร์รา ไทมส์ ของ​ออสเตรเลีย​รายงาน​ว่า ‘ชาว​อเมริกัน​แซง​หน้า​ชาว​ญี่ปุ่น​ใน​เรื่อง​ชั่วโมง​ทำ​งาน​ที่​ยาว​นาน​ที่​สุด​ใน​โลก.’ ดัง​นั้น รายงาน​ข่าว​ซึ่ง​มี​หัวข้อ​อย่าง​เช่น “วัน​ทำ​งาน​ที่​ยาว​นาน​กำลัง​ฆ่า​คน” จึง​บอก​ถึง​เรื่อง​ราว​ของ​คน​งาน​ที่​เหนื่อย​ล้า เช่น พนักงาน​ขน​ส่ง, คน​ขับ​รถ​พยาบาล, นัก​บิน, คน​งาน​ก่อ​สร้าง, และ​คน​ทำ​งาน​กะ​กลางคืน​ซึ่ง​เสีย​ชีวิต​ขณะ​ทำ​งาน.

ขณะ​ที่​บริษัท​ต่าง ๆ กำลัง​ดำเนิน​การ​ปฏิรูป​ระบบ​และ​ลด​ขนาด​องค์กร​เพื่อ​รักษา​ผล​กำไร​ไว้ ลูกจ้าง​ก็​ถูก​กดดัน​ให้​สร้าง​ผล​งาน​มาก​ขึ้น. วารสาร​การ​แพทย์​อังกฤษ (ภาษา​อังกฤษ) รายงาน​ว่า การ​ลด​ขนาด​องค์กร​ส่ง​ผล​เสีย​ต่อ​สุขภาพ​ของ​ลูกจ้าง.

ความ​รุนแรง​ใน​ที่​ทำ​งาน

ลูกจ้าง​ที่​ทำ​งาน​หนัก​เกิน​ไป​และ​เครียด​ไม่​เพียง​แต่​เป็น​อันตราย​ต่อ​ตัว​เอง​เท่า​นั้น. การ​สำรวจ​ใน​บริเตน​พบ​ว่า พนักงาน​หลาย​คน​ใน​สำนักงาน​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​ขุ่นเคือง​เพื่อน​ร่วม​งาน​เสีย​เป็น​ส่วน​ใหญ่​ใน​ช่วง​วัน​ทำ​งาน​และ​ความ​ขัด​แย้ง​เช่น​นั้น​มัก​กระตุ้น​ให้​เกิด​ปฏิกิริยา​ที่​รุนแรง.

วารสาร​บิสเนสส์ วีก กล่าว​ว่า “แต่​ละ​สัปดาห์​มี​คน​งาน​ชาว​อเมริกัน​ประมาณ 15 คน​ถูก​ฆ่า​ตาย​ใน​ที่​ทำ​งาน.” วารสาร​ฮาร์เวิร์ด บิสเนสส์ รีวิว ให้​ความ​เห็น​ว่า “ไม่​มี​ผู้​จัด​การ​คน​ไหน​อยาก​พูด​ถึง​ความ​รุนแรง​ใน​ที่​ทำ​งาน. แต่​ข้อ​เท็จ​จริง​บ่ง​ชี้​ว่า ทุก​ปี ลูกจ้าง​หลาย​ร้อย​คน​ถูก​เพื่อน​ร่วม​งาน​ทำ​ร้าย​หรือ​ฆ่า.”

ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง หลาย​คน​ประสบ​ความ​รุนแรง​ใน​ที่​ทำ​งาน​จาก​ลูก​ค้า. รายงาน​เรื่อง​อาชญา​วิทยา​ของ​ออสเตรเลีย​ระบุ​ว่า แพทย์​บาง​คน​กลัว​จะ​ถูก​ทำ​ร้าย​จน​ต้อง​จ้าง​ผู้​คุ้ม​กัน​เมื่อ​ไป​หา​คนไข้​ที่​บ้าน. นอก​จาก​นั้น​ยัง​มี​คน​อื่น​ที่​เสี่ยง​ต่อ​การ​ถูก​ทำ​ร้าย​ด้วย เช่น ตำรวจ​และ​ครู.

ความ​รุนแรง​ใน​ที่​ทำ​งาน​อีก​รูป​แบบ​หนึ่ง​คือ​การ​ทำ​ร้าย​ทาง​อารมณ์ ซึ่ง​องค์การ​แรงงาน​ระหว่าง​ประเทศ​ถือ​ว่า​เป็น​ความ​รุนแรง​ทาง​จิตใจ. ส่วน​ใหญ่​การ​ทำ​ร้าย​รูป​แบบ​นี้​เป็น​การ​พูด​ด่า​ว่า.

ศาสตราจารย์​โรเบิร์ต แอล. เวนิงกา​แห่ง​มหาวิทยาลัย​มินนิโซตา สหรัฐ​อเมริกา รายงาน​ว่า “ความ​เครียด​และ​ความ​เจ็บ​ป่วย​จาก​ความ​เครียด​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​คน​งาน​แทบ​ทุก​มุม​โลก.” เขา​ให้​ความ​เห็น​ว่า “ดัง​ที่​องค์การ​แรงงาน​ระหว่าง​ประเทศ​แห่ง​สหประชาชาติ​กล่าว​ใน​รายงาน​แรงงาน​โลก​ปี 1993 ปัญหา​หลัก​คือ​ความ​เครียด​อัน​เกิด​จาก​สภาพ​ที่​ไม่​มี​ความ​เป็น​ส่วน​ตัว, มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​อยู่​เสมอ, และ​มัก​จะ​มี​ความ​เป็น​ศัตรู​กัน​ใน​ที่​ทำ​งาน.”

ดัง​นั้น คำ​ถาม​คือ นาย​จ้าง​และ​ลูกจ้าง​จะ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง​เพื่อ​ให้​ที่​ทำ​งาน​ของ​ตน​ปลอด​ภัย​ยิ่ง​ขึ้น? จะ​มี​การ​พิจารณา​เรื่อง​นี้​ใน​บทความ​ถัด​ไป.