ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การค้นพบทรัพย์อันล้ำค่าในเมืองท่าแห่งไข่มุก

การค้นพบทรัพย์อันล้ำค่าในเมืองท่าแห่งไข่มุก

การ​ค้น​พบ​ทรัพย์​อัน​ล้ำ​ค่า​ใน​เมือง​ท่า​แห่ง​ไข่มุก

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​ออสเตรเลีย

บรูม​เป็น​เมือง​ที่​อยู่​ทาง​ตะวัน​ตก​เฉียง​เหนือ​ของ​ออสเตรเลีย​ซึ่ง​ล้อม​รอบ​ด้วย​ทะเล​ทราย​กับ​มหาสมุทร. ทาง​ตะวัน​ออก​เฉียง​ใต้​ของ​เมือง​นี้ ทะเล​ทราย​เกรต แซนดี เดสเซิร์ต ทอด​ยาว​ไป​ถึง​ใจ​กลาง​ประเทศ​ออสเตรเลีย. ทาง​ตะวัน​ตก มหาสมุทร​อินเดีย​ทอด​ยาว​ไป​ถึง​ชายฝั่ง​ของ​แอฟริกา. พายุ​ไซโคลน​มัก​ทำ​ความ​เสียหาย​อยู่​เนือง ๆ แก่​พื้น​ที่​ทาง​ตะวัน​ตก​เฉียง​เหนือ​ของ​ทวีป​นี้.

ใน​สมัย​ก่อน ใต้​ทะเล​เขต​ร้อน​ของ​เมือง​บรูม​มี​หอย​มุก​มาก​เสีย​จน​ทำ​ให้​บรูม​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ว่า​เมือง​ท่า​แห่ง​ไข่มุก. โจร​สลัด, ทาส, และ​เจ้า​พ่อ​ไข่มุก​ต่าง​ก็​มี​บทบาท​ใน​ประวัติ​ที่​น่า​สนใจ​ของ​เมือง​บรูม.

การ​ค้น​พบ​ของ​โจร​สลัด

แม้​ว่า​ชาว​ดัตช์​ที่​ชื่อ เดิร์ก ฮาร์ท​อก เคย​สำรวจ​พื้น​ที่​อัน​ห่าง​ไกล​แห่ง​นี้​ของ​โลก​ใน​ปี 1616 แต่​ชายฝั่ง​ด้าน​ตะวัน​ตก​ของ​ออสเตรเลีย​แทบ​จะ​ยัง​ไม่​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​จน​กระทั่ง​ปี 1688. ใน​ปี​นั้น ชาว​อังกฤษ​ชื่อ วิลเลียม แดมปิเออร์ ซึ่ง​เป็น​ทั้ง​นัก​เขียน, ศิลปิน, และ​โจร​สลัด มา​ถึง​ชายฝั่ง​นี้​โดย​บังเอิญ​ด้วย​เรือ​โจร​สลัด​ชื่อ​ซิกเนต. เมื่อ​กลับ​ถึง​บ้าน แดมปิเออร์​ตี​พิมพ์​ประสบการณ์​ของ​เขา. ข้อ​เขียน​และ​ภาพ​วาด​ของ​เขา​ทำ​ให้​เพื่อน​ร่วม​ชาติ​หลงใหล​จน​กองทัพ​เรือ​หลวง​อังกฤษ​มอบหมาย​ให้​เขา​นำ​เรือ​ลำ​หนึ่ง​ออก​เดิน​ทาง​เพื่อ​สำรวจ​ดินแดน​นิว​ฮอลแลนด์ ซึ่ง​เป็น​ชื่อ​ของ​ออสเตรเลีย​ใน​ตอน​นั้น.

การ​ออก​สำรวจ​ของ​แดมปิเออร์​โดย​เรือ​รบ​โร​บัก ถือ​ว่า​ล้มเหลว. ไม่​มี​การ​ค้น​พบ​ดินแดน​ใหม่ และ​การ​เดิน​ทาง​ก็​ต้อง​ยุติ​ลง​เมื่อ​เรือ​ที่​ผุ​พัง​ของ​เขา​แตก​และ​จม​ลง. แดมปิเออร์​รอด​ชีวิต​มา​ได้ และ​ใน​บันทึก​การ​เดิน​ทาง​ของ​เขา เขา​เขียน​ถึง​การ​ค้น​พบ​หอย​มุก.

สร้าง​จาก​เลือด​และ​กระดุม

อีก 160 ปี​ต่อ​มา​จึง​จะ​มี​ผู้​ที่​ตระหนัก​ถึง​คุณค่า​แห่ง​การ​ค้น​พบ​ของ​แดมปิเออร์. ใน​ปี 1854 เริ่ม​มี​การ​เก็บ​ไข่มุก​ใน​บริเวณ​ที่​แดมปิเออร์​ตั้ง​ชื่อ​ว่า อ่าว​ฉลาม แต่​การ​เสี่ยง​ครั้ง​นี้​ประสบ​ความ​สำเร็จ​เพียง​เล็ก​น้อย. ขณะ​เดียว​กัน ใน​อ่าว​นิโคล​ซึ่ง​อยู่​ใกล้ ๆ มี​การ​ค้น​พบ​หอย​มุก​ยักษ์​พิง​ทา​ดา มัก​ซิมา หรือ​หอย​มุก​จาน. เปลือก​ของ​หอย​มุก​ขนาด​เท่า​จาน​ข้าว​นี้​ผลิต​มุก​ที่​มี​คุณภาพ​ยอด​เยี่ยม​ที่​สุด​ใน​โลก—เป็น​ทรัพยากร​ซึ่ง​เป็น​ที่​ต้องการ​อย่าง​สูง​ใน​การ​ผลิต​กระดุม.

พอ​ถึง​ทศวรรษ 1890 เมือง​บรูม​ส่ง​เปลือก​มุก​มูลค่า​ประมาณ 140,000 ปอนด์​ไป​ที่​อังกฤษ​ทุก​ปี. แม้​ว่า​มี​การ​ค้น​พบ​ไข่มุก​ที่​มี​ค่า​หลาย​เม็ด​ใน​ตัว​หอย แต่​อัญมณี​เหล่า​นี้​ก็​เป็น​ผล​พลอย​ได้. สิ่ง​ที่​สร้าง​ความ​มั่งคั่ง​ร่ำรวย​ให้​เจ้า​พ่อ​ไข่มุก​ยุค​แรก ๆ คือ​เปลือก​มุก ซึ่ง​บ่อย​ครั้ง​ต้อง​แลก​มา​ด้วย​เลือด.

ตอน​แรก เจ้า​พ่อ​ไข่มุก​หลอกล่อ​หรือ​บังคับ​ชาว​พื้นเมือง​อะบอริจินี​ให้​เป็น​นัก​งม​มุก งาน​ที่​ชาว​อะบอริจินี​ชำนิ​ชำนาญ​อย่าง​รวด​เร็ว. แต่​การ​งม​มุก​เป็น​งาน​ที่​อันตราย และ​หลาย​คน​จม​น้ำ​ตาย​หรือ​ไม่​ก็​ถูก​ฉลาม​กัด​ตาย. นอก​จาก​นี้ นัก​งม​มุก​หลาย​คน​เสีย​ชีวิต​เนื่อง​จาก​สภาพ​การ​ทำ​งาน​ที่​ย่ำแย่​ซึ่ง​นาย​จ้าง​เป็น​ผู้​ทำ​ให้​เกิด​ขึ้น. มี​การ​นำ​คน​งาน​มา​จาก​มาเลเซีย​และ​เกาะ​ชวา​เพื่อ​ทดแทน​คน​งาน​ชาว​อะบอริจินี. เมื่อ​หอย​มุก​ที่​อยู่​ใน​น้ำ​ตื้น ๆ หมด​ไป​แล้ว ก็​มี​การ​งม​หอย​ใน​น้ำ​ที่​ลึก​มาก​ขึ้น​โดย​ใช้​หมวก​ดำ​น้ำ​ที่​เพิ่ง​คิด​ค้น​ขึ้น​ใหม่.

การ​ล้ม​ละลาย​ส่ง​ผล​ต่อ “โซโดม​และ​โกโมร์ราห์”

กอง​เรือ​หา​มุก​ของ​เมือง​บรูม​มี​เรือ​เพิ่ม​ขึ้น​ถึง​กว่า 400 ลำ. วัฒนธรรม​เอเชีย, ยุโรป, และ​อะบอริจินี​หล่อ​หลอม​ให้​เกิด​เป็น​กลุ่ม​ชน​ที่​ไม่​มี​ใคร​เหมือน​และ​บ่อย​ครั้ง​ไร้​กฎหมาย. สถานการณ์​ทาง​สังคม​ใน​เวลา​นั้น​ได้​รับ​การ​พรรณนา​อย่าง​เหมาะ​สม​โดย​นัก​งม​มุก​คน​หนึ่ง​ดัง​นี้: “เมือง​บรูม [เป็น] ชุมชน​ที่​มั่งคั่ง, เสื่อม​ทราม, และ​ปล่อย​ตาม​ใจ ที่​ซึ่ง​เมื่อ​นัก​เทศน์​กล่าว​ถึง​โซโดม​และ​โกโมร์ราห์​บ่อย ๆ ก็​กลับ​กลาย​เป็น​การ​ยกย่อง​ความ​เจริญ​ของ​เมือง แทน​ที่​จะ​เป็น​การ​เตือน​ถึง​การ​ลง​โทษ​จาก​พระเจ้า​ซึ่ง​จะ​มี​มา​ใน​อนาคต.”

อย่าง​ไร​ก็​ตาม เมื่อ​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​หนึ่ง​ระเบิด​ขึ้น ตลาด​เปลือก​มุก​ของ​โลก​ก็​ล่ม​สลาย และ​เมือง​บรูม​ก็​ล้ม​ละลาย​ไป​ทันที. อุตสาหกรรม​นี้​ฟื้น​ตัว​ขึ้น​ช่วง​สั้น ๆ ระหว่าง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​หนึ่ง​และ​ครั้ง​ที่​สอง แต่​หลัง​จาก​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง เมือง​บรูม​ก็​ประสบ​กับ​ความ​หายนะ​อีก​ครั้ง. มี​การ​คิด​ทำ​พลาสติก​ขึ้น และ​ไม่​ช้า​กระดุม​พลาสติก​ก็​ทำ​ให้​ความ​ต้องการ​เปลือก​มุก​ลด​ลง​ไป.

การ​ผลิต ‘เพชร​แห่ง​ท้อง​ทะเล’

เมื่อ​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง​สิ้น​สุด​ลง ผู้​แทน​ชาว​ออสเตรเลีย​ได้​ไป​เยือน​ฟาร์ม​ไข่มุก​เลี้ยง​ที่​อ่าว​อาโกะ ประเทศ​ญี่ปุ่น. ที่​นี่ โคคิชิ มิคิโมโตะ ได้​พัฒนา​ศิลปะ​แห่ง​การ​เพาะ​เลี้ยง​ไข่มุก​ได้​อย่าง​ยอด​เยี่ยม โดย​ให้​คน​สอด​กรวด​ทราย​เข้า​ไป​ใน​หอย​มุก. หนังสือ​เมือง​ท่า​แห่ง​ไข่มุก (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า มิคิโมโตะ​บอก​พวก​ออสเตรเลีย​ว่า “หอย [มุก] ออสเตรเลีย​ใน​น่าน​น้ำ​อุ่น​ของ​พวก​เขา​เอง​ซึ่ง​มี​ขนาด​ใหญ่​กว่า​คง​จะ​ผลิต​ไข่มุก​ได้​ดี​กว่า​นี้​อีก.” มี​การ​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​เขา และ​พอ​ถึง​ทศวรรษ 1970 หอย​มุก​ออสเตรเลีย​ก็​ผลิต​ไข่มุก​เลี้ยง​บาง​เม็ด​ที่​มี​ขนาด​ใหญ่​ที่​สุด​และ​มี​ค่า​มาก​ที่​สุด​ใน​โลก.

ขณะ​ที่​ไข่มุก​เลี้ยง​ใน​ส่วน​อื่น ๆ ของ​โลก​มี​ขนาด​เส้น​ผ่า​ศูนย์กลาง​ได้​ถึง 11 มิลลิเมตร แต่​ไข่มุก​ใน​ทะเล​ใต้​อาจ​มี​ขนาด​ถึง 18 มิลลิเมตร. ไข่มุก​ขนาด​ใหญ่​เหล่า​นี้​ที่​ร้อย​เป็น​สร้อย​เส้น​เดียว​อาจ​มี​ราคา​ถึง 500,000 ดอลลาร์. ไม่​แปลก​ที่​เครื่อง​ประดับ​ที่​มี​ค่า​เหล่า​นี้​จะ​ถูก​เรียก​ว่า​เพชร​แห่ง​ท้อง​ทะเล!

[ภาพ​หน้า 14, 15]

วิลเลียม แดมปิเออร์

นัก​งม​มุก​เก็บ​เปลือก​มุก​ใน​ทะเล​ตาม​ชายฝั่ง​ด้าน​เหนือ​ของ​เมือง​บรูม

ผู้​เชี่ยวชาญ​ดึง​ไข่มุก​ออก​จาก​หอย

เรือ​เก็บ​มุก​แบบ​ดั้งเดิม​ลำ​หนึ่ง​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​บูรณะ​จน​สามารถ​ออก​ทะเล​ได้

ไข่มุก​มี​สี​หลาก​หลาย (ภาพ​ขยาย)

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 14]

William Dampier: By permission of the National Library of Australia - Rex Nan Kivell Collection, NK550; diver: © C. Bryce - Lochman Transparencies; necklace and expert: Courtesy Department of Fisheries WA, J. Lochman; ship: Courtesy Department of Fisheries WA, C. Young; pearls close-up: Courtesy Department of Fisheries WA, R. Rose