ภาษาสัตว์ป่า—ความลับในการสื่อความของสัตว์
ภาษาสัตว์ป่า—ความลับในการสื่อความของสัตว์
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในเคนยา
ไม่มีข้อสงสัย ของประทานอันล้ำค่าที่สุดอย่างหนึ่งซึ่งมนุษยชาติได้รับคือความสามารถในการสื่อความ. ด้วยความสามารถนี้ เราส่งข้อมูลสำคัญถึงกันทั้งทางวาจาและวิธีอื่น ๆ ที่ไม่ออกเสียง เช่น การใช้ท่าทาง. ที่จริง เสรีภาพในการพูดของคนเราเป็นประเด็นที่ถกกันอย่างกว้างขวางทั่วโลก. ด้วยเหตุนั้น บางคนจึงทึกทักเอาว่าการสื่อความมีอยู่ในหมู่มนุษย์เท่านั้น.
ทว่า ผลจากการวิจัยแสดงว่าสัตว์แลกเปลี่ยนข้อมูลกันด้วยวิธีอันซับซ้อนจนคนเรางงงวยอยู่บ่อยครั้ง. ที่จริง พวกมันไม่ได้ “พูด” เป็นคำ แต่ด้วยการส่งสัญญาณที่เห็นได้เช่น การกระดิกหาง, การกระตุกของหู, หรือการตีปีกพับ ๆ. การสื่อความในรูปแบบอื่น ๆ อาจเกี่ยวข้องกับการใช้เสียง เช่น เสียงเห่า, เสียงคำราม, เสียงแยกเขี้ยวคำราม, หรือเสียงเพลงของนก. มนุษย์เราเข้าใจ “ภาษา” บางอย่างของสัตว์ได้ไม่ยาก แต่ภาษาบางอย่างต้องอาศัยการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มากทีเดียวจึงจะเข้าใจ.
นักล่า!
ตอนนั้นเป็นช่วงกลางเดือนกรกฎาคม. ในอุทยานแห่งชาติเซเรงเกติอันกว้างใหญ่ไพศาลในประเทศแทนซาเนีย ฝูงนู (วิลเดอบีสต์) นับพันนับหมื่นตัวกำลังบ่ายหน้าขึ้นเหนือไปยังเขตอนุรักษ์สัตว์ป่ามาไซ มารา ในเคนยา เพื่อแสวงหาทุ่งหญ้าที่เขียวสดกว่า. ในการอพยพประจำปีอย่างนี้ เสียงกีบเท้าตะกุยดินจะดังก้องไปทั่วที่ราบแห่งนี้. อย่างไรก็ตาม มีอันตรายซุ่มซ่อนอยู่ตามทาง. เส้นทางสายนี้มีสัตว์ล่าเหยื่อซุ่มอยู่ตลอดทาง เช่น สิงโต, เสือชีตาห์, ไฮยีนา, และเสือดาว. นอกจากนั้น ฝูงนูพวกนี้ยังต้องเสี่ยงชีวิตข้ามแม่น้ำมาราที่ชุกชุมไปด้วยจระเข้. พวกนูทำอย่างไรเพื่อเอาตัวรอดจากพวกนักล่า?
เพื่อทำให้ศัตรูสับสน พวกนูจะวิ่งอย่างเร็วระยะสั้น ๆ แล้วหันกลับมาเผชิญหน้ากับศัตรู และส่ายหัวไปมาอยู่ตลอดเวลา. มันจะดีดแข้งขากระโดดขึ้นลงอย่างพิสดาร ดู ๆ แล้วออกจะเป็นการแสดงที่แปลกประหลาดน่าหัวเราะ. แม้แต่นักล่าที่ใจแข็งก็ยังต้องชะงักด้วยความงุนงงเมื่อได้เห็นการเต้นที่แปลกประหลาดอย่างนี้. หากนักล่ายังปรี่เข้ามาอีก พวกนูก็จะแสดงซ้ำอีกรอบหนึ่ง. ผู้บุกรุกจะรู้สึกสับสนจนอาจเลิกคิดจะไล่ล่าหลังจากที่ได้เห็นการเต้นโชว์อย่างนั้น. การเต้นที่พิสดารอย่างนั้นทำให้พวกนูถูกเรียกเป็นตัวตลกแห่งท้องทุ่ง.
อิมพาลา สัตว์คล้าย ๆ กับนูแต่ตัวเล็กกว่า ขึ้นชื่อในเรื่องการกระโดดได้สูงมาก. สำหรับ
หลายคนแล้ว การกระโดดสูงของพวกมันอาจหมายถึงความสง่างามและความเร็ว. อย่างไรก็ตาม ในยามคับขัน แอนทีโลปชนิดนี้จะใช้เทคนิคการกระโดดสูงของมันเพื่อทำให้สัตว์นักล่าจับขามันได้ยาก. การกระโดดของพวกมัน ซึ่งอาจไกลถึง 9 เมตร เป็นการส่งสารบอกผู้โจมตีอย่างชัดเจนว่า “เก่งจริงก็ตามมาซิ.” มีสัตว์นักล่าไม่กี่ตัวที่อยากทำอย่างนั้นเพียงเพื่อจะจับเจ้าอิมพาลาผู้ไม่ยินยอม!ได้เวลากิน
ในป่า สัตว์ล่าเหยื่อหลายชนิดต้องพัฒนาความชำนาญในการล่าเพื่อจะเป็นนักล่าที่ดี. พวกลูกน้อยต้องคอยสังเกตให้ดีเมื่อพ่อแม่พามันไปด้วยเพื่อสาธิตการล่าให้ดู. ในเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าแห่งหนึ่งในแอฟริกา มีผู้พบว่าแม่เสือชีตาห์ตัวหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า ซาบา กำลังสอนบทเรียนสำคัญแก่ลูก ๆ ในเรื่องการอยู่รอด. หลังจากที่สะกดรอยตามกาเซลล์ทอมสันซึ่งและเล็มหญ้าอยู่นานกว่าชั่วโมง นางเสือก็กระโจนพรวดเดียวถึงตัว ตะปบกาเซลล์ผู้เคราะห์ร้ายตัวนี้ไว้จนอยู่หมัดและขย้ำคอ—แต่ไม่ฆ่า. ครู่ต่อมา เจ้าซาบาก็ปล่อยกาเซลล์ที่ยังมึนงงไว้ต่อหน้าลูก ๆ ของมัน ซึ่งต่างก็รู้สึกแปลกและยังกล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะกระโจนเข้าขย้ำเหยื่อ. ชีตาห์น้อยเหล่านี้เข้าใจว่าทำไมแม่จึงนำสัตว์เป็น ๆ มาให้พวกมัน. แม่เสือต้องการให้ลูก ๆ เรียนรู้วิธีฆ่ากาเซลล์. ทุกครั้งที่เหยื่อตัวนี้พยายามจะลุกขึ้นวิ่ง พวกลูกเสือที่ตื่นเต้นกันยกใหญ่ก็จะจัดการมันจนล้มลงอีก. เมื่อหมดแรง กาเซลล์ก็เลิกคิดจะต่อสู้เอาชีวิตรอด. เจ้าซาบาคอยดูอยู่ห่าง ๆ และแสดงให้เห็นว่ามันพอใจฝีมือของลูก ๆ.
สัตว์บางชนิดเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการทำเสียงให้ดังที่สุดเท่าที่จะทำได้ขณะไล่ล่าเหยื่อเป็นอาหาร. ไฮยีนาลายจุดทั้งโขยงจะคำรามอยู่ในลำคอ, พ่นลมออกจมูก, และทำเสียงหัวเราะคิก ๆ คัก ๆ ขณะวิ่งไล่ตามเหยื่อ. พอฆ่าเหยื่อแล้ว พวกมันก็จะเชิญพรรคพวกให้มาร่วมงานเลี้ยงด้วย “เสียงหัวเราะ” อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของไฮยีนาซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี. อย่างไรก็ตาม ไฮยีนาไม่หาอาหารด้วยการล่าเหยื่อเองเสมอไป. พวกมันนับเป็นโจรปล้นอาหารที่ร้ายกาจที่สุดในป่า ซึ่งใช้ทุกวิธีรังควานสัตว์นักล่าอื่น ๆ เพื่อแย่งเหยื่อที่ล่าได้. เป็นที่รู้กันว่า ไฮยีนาสามารถขู่สิงโตให้ทิ้งอาหารของมัน! พวกมันทำอย่างนี้ได้อย่างไร? ด้วยความที่เป็นสัตว์นิสัยเอะอะเจี๊ยวจ๊าว พวกมันจะช่วยกันทำเสียงคลุ้มคลั่งวุ่นวายเพื่อรบกวนสิงโตที่กำลังกินเหยื่อ. หากสิงโตไม่สนใจเสียงนั้น พวกไฮยีนาก็จะทำเสียงคลุ้มคลั่งหนักกว่าเดิมและอาจหาญยิ่งขึ้น. เมื่อถูกรบกวนความสงบสุขอย่างนี้ สิงโตก็มักจะทิ้งซากสัตว์นั้นไว้และเดินหนีไปจากบริเวณนั้น.
การเสาะหาอาหารของผึ้งเป็นพิธีการอันสลับซับซ้อนอย่างหนึ่ง. การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อนเผยให้ทราบว่า โดยการเต้นรำ ผึ้งงานตัวหนึ่งบอกผึ้งตัวอื่น ๆ ในรังให้ทราบเกี่ยวกับแหล่ง,
ประเภท, และแม้กระทั่งคุณภาพของอาหารที่มันพบ. ผึ้งจะนำตัวอย่างอาหาร เช่น น้ำหวานหรือเกสร ติดตัวมันกลับมาให้ผึ้งตัวอื่น ๆ ในรังดู. ด้วยการเต้นเป็นรูปเลขแปด มันไม่เพียงแต่ชี้ทางให้ผึ้งตัวอื่นรู้แหล่งอาหารเท่านั้น แต่ยังสามารถระบุระยะทางด้วย. ระวังตัวให้ดี! ผึ้งตัวที่บินวนเวียนอยู่รอบตัวคุณอาจกำลังเก็บรวบรวมข้อมูลสำคัญบางอย่างเพื่อนำกลับไปที่รังของมัน. อาจเป็นได้ที่มันสำคัญผิดว่าน้ำหอมที่คุณใช้เป็นอาหารมื้อต่อไปของมัน!รักษาการติดต่อ
มีไม่กี่เสียงที่น่าตื่นใจเท่ากับเสียงคำรามของสิงโตในยามราตรีอันเงียบสงัด. มีผู้เสนอเหตุผลหลายอย่างสำหรับการสื่อความแบบนี้. เสียงคำรามอันทรงพลังของสิงโตตัวผู้เป็นเสียงเตือนทุกชีวิตว่ามันอยู่ในพื้นที่นั้น; อย่าเสี่ยงบุกรุกเข้ามาจะดีกว่า. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมันเป็นสัตว์ในตระกูลแมวที่ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม สิงโตจะคำรามเพื่อรักษาการติดต่อกับสมาชิกตัวอื่น ๆ ในฝูงด้วย. ตามปกติแล้ว เสียงคำรามด้วยจุดประสงค์นี้จะนุ่มกว่า ไม่กระโชกโฮกฮากเท่า. ในคืนหนึ่ง มีคนได้ยินเสียงสิงโตตัวหนึ่งคำรามทุก ๆ 15 นาทีจนกระทั่งญาติของมันคำรามตอบจากระยะไกล. ทั้งสองตัว “คุย” กันต่อไปอีก 15 นาทีจนกระทั่งมันพบกันในที่สุด. ถึงตอนนี้ เสียงคำรามจึงได้สิ้นสุดลง.
การติดต่อกันเช่นนั้นไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดี แต่ยังให้การปกป้องคุ้มครองจากสภาพอากาศที่เลวร้ายด้วย. แม่ไก่จะเปล่งเสียงออกมาหลายแบบมัดธาย 23:37.
เพื่อส่งข่าวสารที่แตกต่างกันถึงลูก ๆ ของมัน. แต่เสียงที่เด่นชัดที่สุดคือเสียงระรัวต่ำ ๆ ยาว ๆ ที่แม่ไก่ร้องในตอนเย็น ซึ่งบอกให้รู้ว่าแม่ไก่กลับมาจับคอนนอนรังแล้ว. ลูกไก่ที่อยู่กระจัดกระจายก็จะเชื่อฟังเสียงเรียกของแม่ไก่และพากันกลับมาซุกตัวนอนใต้ปีกแม่.—หาคู่
คุณเคยละมือจากงานที่ทำอยู่เพราะเสียงเพลงอันไพเราะของนกบางชนิดไหม? คุณทึ่งความสามารถของมันในการร้องโน้ตเพลงเหล่านั้นไหม? แต่คุณทราบไหมว่าจริง ๆ แล้วมันไม่ได้ตั้งใจจะสร้างความบันเทิงใจให้คุณ? เพลงที่มันร้องเป็นวิธีส่งข่าวสารสำคัญ ๆ. แม้ว่าบางครั้งการร้องเพลงเป็นวิธีประกาศอาณาเขต แต่ก็ยังถูกใช้เป็นวิธีหลักในการดึงดูดตัวที่จะมาเป็นคู่ของมันด้วย. ตามที่กล่าวในหนังสือความรู้เล่มใหม่ (ภาษาอังกฤษ) “จำนวนครั้งที่นกร้องลดลงถึง 90 เปอร์เซ็นต์” เมื่อตัวผู้และตัวเมียได้พบกันแล้ว.
แต่บางครั้ง เพียงแค่เพลงที่ไพเราะก็ยังไม่เพียงพอที่จะชนะใจสาวเจ้า. นกตัวเมียบางชนิดเรียกร้องให้จ่าย “สินสอด” ก่อนจึงจะยอมเป็นคู่. ด้วยเหตุนั้น นกกระจาบตัวผู้จะต้องแสดงความสามารถในการสร้างรังให้ประจักษ์ก่อนจะสานสัมพันธ์กันต่อไป. นกตัวผู้ชนิดอื่นจะพิสูจน์ความสามารถในการหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการหาอาหารมาป้อนให้ตัวเมีย.
วิธีต่าง ๆ อันซับซ้อนซึ่งสัตว์ใช้ในการสื่อความไม่เพียงแต่สนองความจำเป็นทางกายเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดการต่อสู้กันน้อยลงและส่งเสริมสันติสุขในป่า. ในขณะที่กำลังมีการวิจัยกันมากขึ้นเกี่ยวกับการสื่อความของสัตว์ เรายังต้องรอเพื่อจะได้รับความเข้าใจครบถ้วนเกี่ยวกับการ “สนทนาของสัตว์ป่า.” แม้ว่าเราอาจยังไม่เข้าใจอย่างเต็มที่ แต่ที่แน่ ๆ คือการสื่อความของสัตว์ป่านำคำสรรเสริญมาสู่พระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ผู้ทรงทำให้สัตว์มีความสามารถในการสื่อความ นั่นคือพระยะโฮวาพระเจ้า.
[กรอบ/ภาพหน้า 18, 19]
“เสียงแห่งความเงียบ” ของช้าง
บ่ายวันหนึ่งอันร้อนระอุในอุทยานแห่งชาติอัมโบเซลีอันกว้างใหญ่ไพศาลในประเทศเคนยา ดูเหมือนช้างโขลงใหญ่ที่นั่นไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไรจากการที่มีคนบุกรุกถิ่นที่อยู่ของพวกมัน. ถึงกระนั้น มวลอากาศก็ยังอัดแน่นไปด้วย “เสียงพูดคุยของช้าง” ไล่ตั้งแต่เสียงความถี่ต่ำไปจนถึงเสียงความถี่สูงอย่างเสียงแปร้นแปร๋, เสียงคำราม, เสียงคำรามลึก ๆ, เสียงสั้น ๆ คล้ายเสียงเห่า, และเสียงพ่นลมออกปลายงวงดังแปร๊ด. เสียงร้องเรียกบางเสียงมีความถี่ต่ำกว่าระดับที่มนุษย์สามารถได้ยิน แต่ก็มีพลังมากจนช้างที่อยู่ไกลออกไปหลายกิโลเมตรสามารถได้ยิน.
ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมของสัตว์ยังงงงวยในเรื่องวิธีการอันซับซ้อนที่ช้างใช้ส่งข่าวสารสำคัญ ๆ. จอยซ์ พูล ได้ใช้เวลามากกว่า 20 ปีแล้วในการศึกษาแนวคิดเรื่องการสื่อความในหมู่ช้างแอฟริกา. เธอลงความเห็นว่า สัตว์ขนาดมหึมาชนิดนี้ ซึ่งคนทั่วไปรู้จักกันดีเพราะงาอันน่าปรารถนาของมัน แสดงความรู้สึกอย่างที่ไม่ค่อยได้พบเห็นในสัตว์ทั้งหลาย. พูลกล่าวว่า “เมื่อเฝ้าดูพฤติกรรมอันน่าทึ่งของช้างขณะที่พวกมันทักทายสมาชิกครอบครัวหรือสมาชิกในโขลงซึ่งผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น [หรือตอนที่] มีสมาชิกตัวใหม่เกิดมา . . . เราสามารถนึกภาพได้ไม่ยากว่าพวกมันมีอารมณ์ความรู้สึกที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ซึ่งอาจพรรณนาได้ดีที่สุดด้วยคำต่าง ๆ อย่างเช่น ความยินดี, ความสุข, ความรัก, ความรู้สึกถึงมิตรภาพ, ความร่าเริง, ความตลกขบขัน, ความสนุกเพลิดเพลิน, ความเมตตาการุณย์, ความปลอดโปร่งโล่งใจ, และความนับถือ.”
เมื่อกลับมาอยู่ด้วยกันอีกหลังจากแยกกันมานาน การทักทายของพวกมันจะกลายเป็นเหตุการณ์โกลาหล ขณะที่พวกมันวิ่งเข้าหากันพร้อมกับชูหัวขึ้นและโบกหูพับไปพับมา. บางครั้ง ช้างตัวหนึ่งจะแหย่งวงของมันเข้าไปในปากของอีกตัวหนึ่งด้วยซ้ำ. การทักทายกันอย่างนี้ดูเหมือนจะทำให้ช้างรู้สึกยินดีอย่างดื่มด่ำ ราวกับพวกมันจะพูดว่า “โอ้โฮ! ช่างวิเศษจริง ๆ ที่ได้เจอหน้าเกลออีก!” ความผูกพันเช่นนี้ช่วยฟื้นระบบการสนับสนุนเกื้อกูลกันให้เข้มแข็งซึ่งสำคัญต่อความอยู่รอดของพวกมัน.
ดูเหมือนว่า ช้างมีอารมณ์ขันด้วย. พูลพรรณนาว่า เธอได้เฝ้าดูและเห็นช้างทำท่าที่เธอเรียกว่าเป็นการยิ้มที่มุมปาก แกว่งหัวในลักษณะที่ชวนให้คิดว่ามันกำลังขำ. ครั้งหนึ่ง เธอเอาเกมอย่างหนึ่งมาเล่นกับพวกช้าง และพวกมันมีพฤติกรรมที่แปลกและน่าหัวเราะจริง ๆ ตลอด 15 นาทีนั้น. สองปีต่อมา ช้างบางตัวที่เล่นเกมนั้นดูเหมือนจะ “ยิ้ม” ให้เธออีก ซึ่งก็อาจเป็นได้ที่มันจำได้ว่าเธอเคยเล่นเกมกับมัน. ไม่เพียงแต่ช้างจะเล่นสนุกกันเท่านั้น แต่มันยังเลียนเสียงด้วย. ในโครงการวิจัยหนึ่ง พูลได้ยินเสียงซึ่งต่างไปจากเสียงร้องปกติของช้าง. เมื่อวิเคราะห์เสียงนั้นก็ดูเหมือนว่าช้างพวกนั้นเลียนเสียงรถบรรทุกซึ่งวิ่งผ่านไปผ่านมาแถวนั้น. และดูเหมือนว่าพวกมันทำเพราะนึกสนุก! พวกช้างดูเหมือนจะมองหาอะไรบางอย่างเพื่อจะมีเรื่องสนุกตื่นเต้นทำ.
มีการกล่าวกันมากในเรื่องที่ว่า ช้างดูเหมือนจะแสดงความทุกข์โศกเมื่อมีเรื่องร้ายเกิดขึ้นกับสมาชิกครอบครัว. ครั้งหนึ่ง พูลสังเกตว่าช้างพังตัวหนึ่งยืนคร่อมคุ้มกันลูกของมันที่ตายตอนคลอดนานถึงสามวัน และเธอพรรณนาไว้ว่า “สีหน้า” ของแม่ช้างตัวนั้นดู ๆ จะ “คล้ายคลึงกับสีหน้าของคนที่เป็นทุกข์โศกและหดหู่ กล่าวคือ คอตก, หูตก, มุมปากห้อย.”
พวกคนที่ฆ่าช้างเพื่อเอางาไม่เคยคิดถึง ‘ความบอบช้ำทางจิตใจ’ ที่เกิดกับลูกช้างกำพร้าซึ่งรู้เห็นการฆ่าแม่ของมัน. ลูกช้างเหล่านี้พยายามเอาชนะ “ความโศกเศร้า” ในช่วงสองสามวันแรกที่โรงเลี้ยงสัตว์กำพร้า. ผู้ดูแลคนหนึ่งรายงานว่าเขาได้ยินลูกช้างกำพร้า “กรีดร้อง” ในตอนเช้า. ผลสะท้อนนั้นอาจเห็นได้เป็นเวลาหลายปีหลังจากที่แม่ช้างถูกฆ่าตาย. พูลเสนอความเห็นว่าช้างสามารถสังเกตได้ว่ามนุษย์เป็นตัวการที่ทำให้มันทุกข์ทรมาน. เราคอยท่าให้ถึงเวลาที่คนและสัตว์จะอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข.—ยะซายา 11:6-9.
[ภาพหน้า 16, 17]
นกเคป แกนเนต กำลังทักทายกันอันเป็นกิจวัตรของพวกมัน
[ภาพหน้า 17]
นูแสดงการเต้นที่พิสดารเพื่อทำให้ศัตรูงุนงงสับสน
[ภาพหน้า 17]
“การหัวเราะ” อันเป็นเอกลักษณ์ของไฮยีนาซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี
[ที่มาของภาพ]
© Joe McDonald
[ภาพหน้า 18]
การเต้นรำของผึ้งงาน