ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การเที่ยวชมเมืองแห่งทองคำสีดำ

การเที่ยวชมเมืองแห่งทองคำสีดำ

การ​เที่ยว​ชม​เมือง​แห่ง​ทองคำ​สี​ดำ

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​บราซิล

คุณ​อาจ​ไม่​เคย​ได้​ยิน​ชื่อ​เมือง​โอรูเปรตู ใน​ประเทศ​บราซิล แต่​ใน​ศตวรรษ​ที่ 18 เมือง​นี้​มี​ประชากร​มาก​กว่า​นคร​นิวยอร์ก​ใน​สมัย​นั้น​สาม​เท่า และ​เคย​มี​การ​นำ​ราย​ได้​ของ​เมือง​นี้​ไป​สร้าง​กรุง​ลิสบอน​ของ​โปรตุเกส​ขึ้น​ใหม่​เมื่อ​ครั้ง​ที่​ได้​รับ​ความ​เสียหาย​ยับเยิน​จาก​แผ่นดิน​ไหว. ใน​ปี 1980 องค์การ​ศึกษา วิทยาศาสตร์ และ​วัฒนธรรม​แห่ง​สหประชาชาติ​ประกาศ​รวม​โอรูเปรตู ไว้​ใน​ราย​ชื่อ​มรดก​โลก ซึ่ง​ปัจจุบัน​มี​สถาน​ที่​ที่​มี​คุณค่า​ทาง​วัฒนธรรม​และ​ธรรมชาติ​อยู่​เกือบ 700 แห่ง. ทำไม​เมือง​โอรูเปรตู​จึง​ถูก​จัด​ให้​อยู่​ใน​ฐานะ​เช่น​นี้? ขอ​ให้​พิจารณา​ประวัติ​ของ​เมือง​ที่​โดด​เด่น​แห่ง​นี้.

น้ำ​ดื่ม​ทอง

ใน​ช่วง​ครึ่ง​แรก​ของ​ศตวรรษ​ที่ 17 นัก​สำรวจ​ชาว​โปรตุเกส​หลาย​คน​ซึ่ง​ถูก​เรียก​ว่า​บานเดรานเต เดิน​ทาง​ไป​ทั่ว​ประเทศ​บราซิล​เพื่อ​ค้น​หา​ดินแดน​ใหม่, ทาส​ชาว​อินเดียน​แดง, และ​ทองคำ. นัก​สำรวจ​กลุ่ม​หนึ่ง​บุก​ลึก​เข้า​ไป​ใน​ใจ​กลาง​ประเทศ​จน​ถึง​ภูเขา​อิตาโกโลมี. ที่​นั่น ดัวร์เต โลปิช เดิน​ไป​ที่​ลำธาร​สาย​หนึ่ง​เพื่อ​จะ​ดับ​กระหาย. เขา​ใช้​ถ้วย​ไม้​ตัก​น้ำ​ขึ้น​มา​ดื่ม. ตอน​นั้น​เอง เขา​เห็น​หิน​สี​ดำ​ก้อน​เล็ก ๆ ใน​ถ้วย​น้ำ.

โลปิช​ขาย​หิน​เหล่า​นั้น​ให้​เพื่อน​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​คิด​ว่า​มัน​เป็น​ของ​มี​ค่า เขา​จึง​ส่ง​ไป​ให้​ผู้​ว่า​ราชการ​รัฐ​ริวเดจาเนโร. เมื่อ​วิเคราะห์​หิน​เหล่า​นั้น​แล้ว ผู้​ว่า​ราชการ​พบ​ว่า​มัน​เป็น​ทองคำ​คุณภาพ​เยี่ยม​ซึ่ง​มี​สาร​ประกอบ​ของ​เหล็ก​กับ​ออกซิเจน​สี​ดำ​เคลือบ​อยู่​บาง ๆ. แต่​ทองคำ​เหล่า​นั้น​มา​จาก​ไหน? ทันที​ที่​โลปิช​เล่า​ถึง​ภูเขา​อิตาโกโลมี การ​ค้น​หา​ก็​เริ่ม​ขึ้น. ใน​ปี 1698 บานเดรานเต ชื่อ​อันโตนิว ดีอาส ดี โอลิเวรา พบ​ภูเขา​ที่​เป็น​ต้น​กำเนิด​ของ​ทองคำ​นั้น. ด้วย​ความ​รวด​เร็ว นัก​ล่า​ทอง​แห่​กัน​เข้า​มา​ตั้ง​ค่าย​อยู่​ใกล้​สถาน​ที่​ซึ่ง​ถูก​ค้น​พบ ซึ่ง​ต่อ​มา​ถูก​เรียก​ว่า​วีลารีกา. ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น วีลารีกา​ก็​มี​ประชากร 80,000 คน. ต่อ​มา เมือง​นี้​กลาย​เป็น​เมือง​หลวง​ของ​รัฐ​มีนัสเจไรส์​และ​ถูก​ตั้ง​ชื่อ​ว่า​โอรูเปรตู ซึ่ง​หมาย​ความ​ว่า “ทองคำ​สี​ดำ.”

ทองคำ​สี​ดำ​กลาย​เป็น​สี​เลือด

ระหว่าง​ปี 1700 ถึง​ปี 1820 นัก​สำรวจ​แร่​ขุด​ทองคำ​ขึ้น​มา​ได้ 1,200 ตัน หรือ​เท่า​กับ 80 เปอร์เซ็นต์​ของ​ทองคำ​ที่​ผลิต​ได้​ทั่ว​โลก​ระหว่าง​เวลา​นั้น. แต่​ทองคำ​เหล่า​นั้น​ไป​ไหน​หมด? ทอง​ที่​ขุด​ขึ้น​มา​ได้​ถูก​หล่อ​เป็น​แท่ง​ที่​กาซา โดส โกนโตส—หมาย​ถึง​โรง​กษาปณ์. หลัง​จาก​นั้น ทองคำ​หนึ่ง​ใน​ห้า​ที่​ถูก​หัก​ไว้​เป็น​ภาษี​ก็​ตก​เป็น​ทรัพย์​สิน​ของ​ราชวงศ์​โปรตุเกส.

ผู้​ที่​อยู่​ใน​อาณานิคม​คัดค้าน​การ​เก็บ​ภาษี​นี้. คน​หนึ่ง​คือ​เฟลีเป ดอส ซานตอส ซึ่ง​ปลุกระดม​คน​งาน​เหมือง, ทหาร, และ​สมาชิก​โบสถ์​ให้​ต่อ​ต้าน​กษัตริย์​โปรตุเกส. แต่​พวก​โปรตุเกส​โต้​กลับ. ใน​ปี 1720 ดอส ซานตอส ถูก​แขวน​คอ​และ​ศพ​ของ​เขา​ถูก​ม้า​ลาก​ไป​ตาม​ถนน. คน​งาน​เหมือง​ก็​กลับ​ไป​ทำ​งาน​และ​ภาษี​ก็​สูง​ขึ้น​เรื่อย ๆ.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​กบฏ​ยุติ​ลง​เพียง​ชั่ว​คราว. ต่อ​มา​ใน​ศตวรรษ​เดียว​กัน​นั้น​ก็​มี​บุรุษ​คน​หนึ่ง​ปรากฏ​ตัว​ขึ้น​ชื่อ​ชัวคิน ดา ซิลวา ชาเวียร์ ผู้​มี​ฉายา​ว่า ตีราเดนเตส หมาย​ถึง “คน​ถอน​ฟัน” ซึ่ง​เป็น​งาน​อย่าง​หนึ่ง​ของ​เขา. เขา​เป็น​คน​หนึ่ง​ใน​กลุ่ม​กวี, นัก​กฎหมาย, และ​ทหาร​ใน​โอรูเปรตู​ที่​ชุมนุม​กัน​ใน​บ้าน​ของ​บาทหลวง​คน​หนึ่ง​ชื่อ​โตเลโด. ตอน​แรก การ​สนทนา​ก็​เป็น​เรื่อง​หยอก​ล้อ​เชิง​ปรัชญา​เสีย​เป็น​ส่วน​ใหญ่ แต่​แล้ว​พวก​เขา​ก็​เปลี่ยน​มา​คุย​เรื่อง​การ​เมือง​ใน​ยุค​นั้น นั่น​คือ​เรื่อง​ที่​อาณานิคม​ใน​อเมริกา​เหนือ​ของ​บริเตนใหญ่​ได้​รับ​เอกราช และ​ฝรั่งเศส​ก็​ตัด​พระ​เศียร​กษัตริย์​ของ​ตน. ต่อ​มา​พวก​เขา​ก็​เปลี่ยน​มา​ปรึกษา​กัน​เรื่อง​การ​กบฏ​เมื่อ​คน​กลุ่ม​นั้น​แอบ​กระซิบ​กัน​เกี่ยว​กับ​ข้อ​เรียก​ร้อง​ที่​กดขี่​ของ​ราชสำนัก​โปรตุเกส. พระ​นาง​มาเรีย​ที่ 1 ราชินี​ของ​โปรตุเกส ทรง​เตือน​ว่า​พวก​กบฏ​จะ​ถูก​ตัด​ศีรษะ. อย่าง​ไร​ก็​ดี ใน​ปี 1788 ตีราเดนเตส ซึ่ง​ตอน​นั้น​เป็น​นาย​เรือ​ตรี ได้​นำ​หน้า​ใน​การ​กบฏ​อินกอนฟีเดนเซีย มีเนรา หรือ​การ​กบฏ​แห่ง​รัฐ​มีนัสเจไรส์.

สาย​ลับ​คน​หนึ่ง​เปิด​เผย​ราย​ชื่อ​บรรดา​ผู้​ร่วม​ก่อ​การ​กบฏ. พวก​เขา​ถูก​จับ​ที​ละ​คน​และ​ถูก​เนรเทศ​ให้​ไป​ตาย​ที่​แอฟริกา. ตีราเดนเตส​ถูก​จำ​อยู่​ใน​คุก​ที่​ร้อน​อบอ้าว​ใน​นคร​ริวเดจาเนโร​จน​กระทั่ง​ถูก​แขวน​คอ​และ​ตัด​ศีรษะ​ใน​วัน​ที่ 21 เมษายน 1792. ศีรษะ​ของ​ตีราเดนเตส​ถูก​เสียบ​ประจาน​ไว้​บน​เสา​ใน​จัตุรัส​เมือง​โอรูเปรตู และ​ศพ​ของ​เขา​ถูก​ตัด​เป็น​สี่​ส่วน​และ​ถูก​มัด​ไว้​กับ​เสา​ตาม​ถนน​สาย​ต่าง ๆ. สิ่ง​นี้​ยับยั้ง​การ​กบฏ​ได้​ชั่ว​ระยะ​หนึ่ง. แต่​สาม​สิบ​ปี​ต่อ​มา​ใน​ปี 1822 บราซิล​ก็​ได้​รับ​เอกราช​จาก​โปรตุเกส.

สิ่ง​ล้ำ​ค่า​ด้าน​ศิลปะ, ประวัติศาสตร์, และ​ศาสนา

ต่อ​มา ทองคำ​ของ​เมือง​โอรูเปรตู​ก็​หมด​ไป และ​ความ​สำคัญ​ของ​เมือง​นี้​ก็​ลด​น้อย​ลง. แต่​เมือง​นี้​ยัง​มี​วัตถุ​โบราณ​และ​เครื่อง​เตือน​ใจ​อื่น ๆ เกี่ยว​กับ​ประวัติ​ของ​เมือง​นี้. วัตถุ​เหล่า​นี้​บาง​ชิ้น​หา​ดู​ได้​ง่าย​ใน​พิพิธภัณฑสถาน​อินกอนฟีเดนเซีย ซึ่ง​ตั้ง​อยู่​ที่​จัตุรัส​ปราซา ตีราเดนเตส. พิพิธภัณฑสถาน​แห่ง​นี้​เคย​เป็น​ศาลา​กลาง​และ​เรือน​จำ แต่​ปัจจุบัน​เป็น​ที่​เก็บ​รักษา​อนุสรณ์​ทาง​ศิลปะ, ประวัติศาสตร์, และ​โศกนาฏกรรม​ของ​เมือง​นี้​ที่​ยัง​คง​แจ่ม​ชัด.

สิ่ง​ที่​จัด​แสดง​นั้น​รวม​ไป​ถึง​คำ​ตัดสิน​ประหาร​ชีวิต​ตีราเดนเตส ซึ่ง​ออก​โดย​พระ​นาง​มาเรีย​ที่ 1 และ​ส่วน​ที่​เป็น​เสา​สำหรับ​แขวน​คอ​ซึ่ง​ใช้​ประหาร​เขา. ศพ​ของ​ผู้​คบ​คิด​กับ​ตีราเดนเตส​บาง​คน​ถูก​ฝัง​อยู่​ใต้​แผ่น​หิน​ที่​เรียง​กัน​เป็น​แถว​เหมือน​โรง​นอน​ใน​หอ​พัก. อีก​ชั้น​หนึ่ง ตาม​ห้อง​ต่าง ๆ มี​เครื่อง​เรือน​เก่า​แก่​สมัย​อาณานิคม, และ​สมัย​จักรวรรดิ​เก็บ​อยู่.

ความ​ปีติ​ยินดี​ของ​ผู้​ชื่น​ชอบ​อัญมณี

เมื่อ​เดิน​ไป​สุด​ทาง​ด้าน​เหนือ​ของ​ปราซา ตีราเดนเตส เรา​ก็​จะ​ไป​ถึง​ขุม​ทรัพย์​อีก​แห่ง​หนึ่ง นั่น​คือ​บ้าน​ของ​ผู้​ว่า​ราชการ ซึ่ง​เคย​ใช้​เป็น​ที่​พัก​ของ​ผู้​ว่า​ราชการ​และ​ผู้​ว่า​การ​รัฐ. ใน​ปัจจุบัน อาคาร​หลัง​นี้​เป็น​ที่​ตั้ง​ของ​เอสโกลา ดี มีนาส วิทยาลัย​วิศวกรรม​เหมือง​แร่, ธรณี​วิทยา, และ​โลหะ​กรรม​ชั้น​สูง. พิพิธภัณฑ์​ของ​วิทยาลัย​แห่ง​นี้​จัด​แสดง​ตัว​อย่าง​ที่​น่า​ทึ่ง​ของ​แร่, รัตนชาติ, ผลึก, และ​แน่นอน โอรูเปรตู หรือ​ทองคำ​สี​ดำ รวม​ทั้ง​สิ้น 20,000 ชิ้น​ใน 3,000 ชนิด.

ปัจจุบัน ไม่​มี​ทองคำ​จำนวน​มาก​เช่น​นั้น​แล้ว. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ภูมิภาค​นี้​ยัง​คง​มี​อะความารีน, มรกต, และ​บุษราคัม. ประมาณ 50 ปี​ที่​แล้ว ศิลปะ​แห่ง​การ​เจียระไน​เป็น​ที่​รู้​กัน​อยู่​เพียง​แค่​ใน​หมู่​ผู้​เชี่ยวชาญ​ไม่​กี่​คน. แต่​ปัจจุบัน​มี​นัก​ล่า​อัญมณี​อิสระ​และ​ร้าน​เครื่อง​ประดับ​มาก​มาย​รอบ ๆ ปราซา ตีราเดนเตส. ผู้​จัด​การ​ร้าน​ไม่​เพียง​แต่​สอน​วิธี​ดู​อัญมณี​แต่​ยัง​แนะ​นำ​ให้​คุณ​รู้​จัก​ช่าง​เจียระไน​และ​ช่าง​ขัด​เงา​ซึ่ง​ทำ​งาน​อยู่​ใน​ห้อง​หลัง​ร้าน​อีก​ด้วย และ​พวก​เขา​ก็​ยินดี​แสดง​วิธี​เจียระไน​ให้​คุณ​ดู​ด้วย. การ​ต้อนรับ​อย่าง​ดี​เช่น​นี้​สะท้อน​ให้​เห็น​ว่า​ชาว​เมือง​นั้น​รู้สึก​อย่าง​ไร​ต่อ​การ​ได้​อยู่​ใน​เมือง​ที่​มี​ประวัติ​อัน​น่า​ทึ่ง​นี้.

ถ้า​คุณ​มี​แผน​จะ​ไป​เที่ยว​บราซิล คุณ​ต้อง​วาง​แผน​ไป​เที่ยว​แถว ๆ เมือง​โอรูเปรตู​อัน​งดงาม​แห่ง​นี้​ให้​ได้.

[แพน​ที่​หน้า 13]

(ดู​ราย​ละเอียด​ใน​วารสาร)

โอรูเปรตู

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Map: Mountain High Maps® Copyright © 1997 Digital Wisdom, Inc.

[ภาพ​หน้า 13, 14]

เมื่อ​ขัด​สาร​ประกอบ​ของ​เหล็ก​กับ​ออกซิเจน​ออก​ไป​แล้ว หิน​สี​ดำ​ก็​กลาย​เป็น​ก้อน​ทอง

[ภาพ​หน้า 14]

เมือง​โอรูเปรตู​และ​ไกล​ออก​ไป​คือ​ภูเขา​อิตาโกโลมี

[ภาพ​หน้า 15]

พิพิธภัณฑสถาน​อินกอนฟีเดนเซีย จัตุรัส​ปราซา ตีราเดนเตส

[ภาพ​หน้า 15]

อะความารีน, บุษราคัม, และ​มรกต

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Gems: Brasil Gemas, Ouro Preto, MG