ภาพสลักบนหินที่น่าทึ่งแห่งวัล กาโมนีกา
ภาพสลักบนหินที่น่าทึ่งแห่งวัล กาโมนีกา
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในอิตาลี
เป็นเวลานับพันปี สิ่งนี้เป็นพยานหลักฐานอย่างเงียบ ๆ ถึงวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยโบราณ. สิ่งเหล่านี้คือภาพที่มีรูปแบบเฉพาะตัวซึ่งถูกสลักบนหิน เป็นภาพของการล่าสัตว์, การเกษตร, การสู้รบ, และการนมัสการ. ในวัล กาโมนีกา หุบเขาซึ่งมีทัศนียภาพอันงดงามในเทือกเขาแอลป์ทางภาคเหนือของอิตาลี ภาพสลักหลายแสนภาพมีอยู่ทั่วภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยหิน.
ทุกวันนี้ เมื่อแสงแดดยามเช้าสาดส่อง ผู้มาเยือนวัล กาโมนีกา ยังคงมองเห็นภาพแกะสลักเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน. แต่ใครเป็นผู้ทำภาพเหล่านี้ขึ้นมา และพวกเขาทำไว้ทำไม?
ชาวคามูนิ
หุบเขาอันงดงามนี้ถูกตั้งชื่อตามชนเผ่าโบราณซึ่งอาศัยในบริเวณนั้น นั่นคือชาวคามูนิ. ประวัติศาสตร์กล่าวถึงพวกเขาเป็นครั้งแรกในปี 16 ก่อน ส.ศ. ตอนที่พวกเขาถูกพวกโรมันปราบและสูญเสียเอกราช. อย่างไรก็ดี ภาพสลักแห่งวัล กาโมนีกาเริ่มทำกันมานานหลายศตวรรษก่อนที่กองทัพโรมันจะมาถึง.
ยิ่งกว่านั้น การวิเคราะห์ภาพแกะสลักเหล่านี้—ซึ่งเป็นรูปอาวุธ, เครื่องใช้, สัตว์เลี้ยง, แผนที่หมู่บ้าน—ทำให้ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าช่างศิลป์ที่สลักภาพเหล่านี้อยู่ในสังคมที่มีเศรษฐกิจซับซ้อน. ดูเหมือนพวกเขาทำกิจกรรมหลายอย่าง เช่น โลหะกรรม, การผลิตสิ่งทอ, กสิกรรม, การเลี้ยงสัตว์, และการพาณิชย์ เป็นต้น.
ภาพสลักส่วนใหญ่ถูกสลักขึ้นในช่วงสหัสวรรษแรกก่อนสากลศักราช แต่มีหลายภาพเก่าแก่กว่านั้นมาก. ดูเหมือนว่า จุดสูงสุดของวัฒนธรรมชาวคามูนิอยู่ในช่วงปี 1000 ถึง 800 ก่อน ส.ศ. ภาพสลักหลายพันภาพซึ่งถูกสลักขึ้นในช่วงนี้มีรายละเอียดเกี่ยวกับวิถีชีวิตของพวกเขา. บางภาพเป็นรูปคนที่ถูกมัดติดกันและมีผู้ชายขี่ม้าถือหอกเป็นอาวุธ ซึ่งดูเหมือนเป็นการจับเชลย. นอกจากนั้นก็มีรูปของช่างตีเหล็ก, ม้าลาก, และรถม้า รวมทั้งสิ่งก่อสร้างที่มีเสา.
แรงบันดาลใจจากขุนเขา
ผู้คงแก่เรียนเรียกคนที่แกะสลักภาพเหล่านี้ว่า ‘ช่างศิลป์และนักบวช’ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศาสนาหรือศาสตร์ลี้ลับ. พวกเขาอาจแยกตัวอยู่ตามลำพังในที่อันสงบเงียบห่างไกลจากชุมชนเพื่อคิดตริตรองและใคร่ครวญ. ในแง่นี้ ชาวคามูนิอาจได้รับแรงบันดาลใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าพิศวงอย่างน้อยสองอย่างซึ่งเกิดขึ้นที่นี่เพียงไม่กี่วันในแต่ละปี.
ในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง ดวงอาทิตย์จะขึ้นด้านหลังภูเขาปิซโซ บาดีเล ซึ่งมียอดสูงตระหง่านอยู่เหนือหุบเขา. บางวัน ก่อนที่ดวงอาทิตย์ขึ้น แสงอาทิตย์จะหักเหเป็นรัศมีรอบ ๆ ภูเขา เกิดเป็นเงาขนาดยักษ์ซึ่งถูกล้อมรอบด้วยลำแสงอันสว่างจ้าที่พุ่งขึ้นไปบนท้องฟ้าสีขาวขุ่น. ภาพที่น่าทึ่งนี้ยังเป็นที่รู้จักกันว่า “วิญญาณแห่งขุนเขา.” และเมื่อดวงอาทิตย์ตกหลังซอกเขากอนกาเรนา ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามของหุบเขา ลำแสงอันน่าทึ่งซึ่งดูเหมือนจะผ่าภูเขาออกเป็นสองซีกก็พุ่งขึ้นไปบนท้องฟ้าสีดำทมิฬเพียงแค่ไม่กี่นาทีก่อนจะจางหายไป. ดูเหมือนว่า ในความคิดของชนเผ่าโบราณซึ่งอาศัยอยู่ในหุบเขา ปรากฏการณ์ซึ่งอธิบายไม่ได้ในยุคนั้นทำให้สถานที่แห่งนี้มีลักษณะที่เหนือธรรมชาติ.
มีการพบภาพแกะสลักหลายภาพในภูเขาปิซโซ บาดีเล และบริเวณใกล้เคียง. ภาพแกะสลักเหล่านั้นถูกสลักด้วยเครื่องมือที่ทำจากหิน, เขาสัตว์, กระดูก, และงาช้าง. บางครั้งช่างศิลป์จะร่างภาพด้วยเครื่องมือที่มีปลายแหลม. ภาพแกะสลักมีความลึกต่างกัน บางภาพเป็นรอยตื้น ๆ บนพื้นหิน บางภาพเป็นร่องลึกกว่าหนึ่งนิ้ว. มีหลักฐานว่า เหล่าช่างศิลป์ใช้สีต่าง ๆ ด้วย แม้ว่าสีเหล่านั้นจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าอีกแล้ว.
ภาพสลักที่เป็นรูปแบบหนึ่งของการอธิษฐาน
ชาวคามูนิอาจเป็นผู้นมัสการดวงอาทิตย์. นี่อาจเป็นสาเหตุที่ภาพสลักเหล่านั้นหลายภาพมีรูปคนกำลังอธิษฐานโดยยกมือขึ้นต่อหน้าจานกลม ๆ อันหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์. แม้ว่านักโบราณคดีชื่อเอาซีลีโอ ปรีอูลี กล่าวว่า “ลัทธิสุริยเทพ” เป็นลัทธิหลัก แต่เขายังกล่าวถึง “ลัทธิรอง” ด้วย. เขาให้ข้อสังเกตว่า “การแห่แหน, การเต้นรำเพื่อระงับพิโรธ, การบูชายัญ, การต่อสู้ที่เป็นพิธีกรรม, และการอธิษฐานหมู่เป็นกิจกรรมทางศาสนาที่มีแพร่หลายที่สุด และมีการสลักเป็นภาพมากที่สุด. การทำภาพสลักเองก็เป็นการอธิษฐานรูปแบบหนึ่ง.” แต่เป็นการอธิษฐานขออะไร?
ตามคำกล่าวของเอมานูเอล อานาตี ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะหินยุคก่อนประวัติศาสตร์ การสลักภาพเหล่านี้ “ถือกันว่าเป็นส่วนของกิจกรรมที่ขาดไม่ได้เพื่อรับรองสวัสดิภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของชุมชนและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับพลังอำนาจลึกลับ.” ดูเหมือนชาวคามูนิหวังจะให้ไร่นามีผลผลิตมากขึ้นโดยการสลักรูปการไถนา, ให้ทุ่งหญ้าอุดมสมบูรณ์ขึ้นโดยสลักรูปการเลี้ยงสัตว์, หวังจะมีชัยชนะเหนือพวกศัตรูโดยสลักรูปสงคราม เป็นต้น.
วัล กาโมนีกาเป็นหนึ่งในมรดกโลกที่ได้รับการคุ้มครองโดยองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ. น่าสนใจที่ภาพสลักและภาพเขียนสีบนหินมีอยู่ในอย่างน้อย 120 ประเทศ ทั้งในแอฟริกา, เอเชีย, ออสเตรเลีย, ยุโรป, อเมริกาเหนือและใต้, และตามหมู่เกาะต่าง ๆ. น่าสังเกตว่าภาพศิลปะบนหินที่มีเรื่องราวคล้าย ๆ กันนี้มีอยู่ทั่วโลก. เรื่องนี้ให้หลักฐานถึงความปรารถนาตามธรรมชาติของมนุษย์ที่จะถ่ายทอดความรู้สึกและหวังพึ่งพลังที่เหนือธรรมชาติ.
[ภาพหน้า 26]
แสงอาทิตย์ส่องทะลุช่องบนเขากอนกาเรนา
วัล กาโมนีกา เป็นหนึ่งในมรดกโลก
ภาพสลักบนหินที่ทำขึ้นเพื่อรับรองว่าจะประสบความสำเร็จในการล่าสัตว์
ภาพคนกำลังอธิษฐานโดยยกมือขึ้นสองข้าง
[ที่มาของภาพ]
Mount Concarena: Ausilio Priuli, “IL Mondo dei Camuni”; rock carvings and human figure: Parco nazionale delle incisioni rupestri: su concessione del Ministero per i Beni e le Attività Culturali. Ogni riproduzione è vietata