ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

อาหารที่คุณกินปลอดภัยเพียงไร?

อาหารที่คุณกินปลอดภัยเพียงไร?

อาหาร​ที่​คุณ​กิน​ปลอด​ภัย​เพียง​ไร?

คุณ​กิน​อาหาร​วัน​ละ​สาม​มื้อ​ไหม? ถ้า​เป็น​อย่าง​นั้น พอ​คุณ​อายุ 70 ปี​คุณ​ก็​กิน​อาหาร​ไป​แล้ว​กว่า 75,000 มื้อ. สำหรับ​ชาว​ยุโรป​ทั่ว ๆ ไป นั่น​เท่า​กับ​การ​กิน​ไข่​ประมาณ 10,000 ฟอง, ขนมปัง 5,000 แถว, มันฝรั่ง 100 กระสอบ, วัว 3 ตัว, แกะ 2 ตัว และ​อื่น ๆ อีก. การ​กิน​อาหาร​ทั้ง​หมด​นั้น​ถือ​เป็น​งาน​หนัก​ไหม? ไม่​เลย! เรา​รู้สึก​ยินดี​สัก​เพียง​ไร​เมื่อ​มี​คน​พูด​กับ​เรา​ว่า “กิน​ให้​อร่อย​นะ”! อาจารย์​ใหญ่​โรง​เรียน​สอน​ทำ​อาหาร​แห่ง​หนึ่ง​ถึง​กับ​พูด​ว่า “อาหาร​เป็น​สิ่ง​สำคัญ​ที่​สุด​ใน​ชีวิต.”

ส่วน​ใหญ่​เรา​มัก​คิด​เอา​เอง​ว่า​อาหาร​ที่​เรา​กิน​นั้น​ปลอด​ภัย​และ​มี​ประโยชน์​ต่อ​สุขภาพ. แต่​ถ้า​ใน 75,000 มื้อ​นั้น​มี​เพียง​มื้อ​เดียว​ที่​ปน​เปื้อน​สิ่ง​ที่​เป็น​อันตราย เรา​ก็​อาจ​ป่วย​หนัก​ได้. เรา​จะ​แน่​ใจ​ได้​ไหม​ว่า​อาหาร​ที่​เรา​กิน​นั้น​ปลอด​ภัย? ใน​สมัย​นี้ ดู​เหมือน​ว่า​ผู้​คน​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ เคลือบ​แคลง​สงสัย​ใน​เรื่อง​นี้. ใน​บาง​ประเทศ ผู้​คน​เป็น​ห่วง​อย่าง​มาก​ใน​เรื่อง​ความ​ปลอด​ภัย​ของ​อาหาร. เพราะ​เหตุ​ใด?

สาเหตุ​ที่​ทำ​ให้​เป็น​ห่วง

ใน​แต่​ละ​ปี 15 เปอร์เซ็นต์​ของ​ประชากร​ใน​ยุโรป​ป่วย​เนื่อง​จาก​อาหาร. ตัว​อย่าง​เช่น เมื่อ​ตอน​ต้น​ทศวรรษ 1980 น้ำมัน​ที่​ใช้​ทำ​อาหาร​ใน​สเปน​เป็น​พิษ​และ​ทำ​ให้​มี​ผู้​เสีย​ชีวิต​ประมาณ 1,000 คน​รวม​ทั้ง​มี​ผู้​ป่วย​หนัก 20,000 คน. ใน​ปี 1999 ประชาชน​ชาว​เบลเยียม​ต่าง​ตกตะลึง​เมื่อ​มี​ข่าว​ว่า​อาหาร​ต่าง ๆ เช่น ไข่, สัตว์​ปีก, เนย​แข็ง, และ​เนย​สด​อาจ​มี​สาร​พิษ​ไดออกซิน​ปน​เปื้อน​อยู่. เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้ ผู้​บริโภค​ใน​บริเตน​เกิด​ความ​ตื่น​ตระหนก และ​อุตสาหกรรม​เนื้อ​วัว​ของ​ประเทศ​นั้น​ก็​ได้​รับ​ความ​เสียหาย​อย่าง​หนัก เมื่อ​ฝูง​วัว​ติด​เชื้อ​สมอง​พรุน (โรค​วัว​บ้า). จาก​นั้น​ก็​มี​การ​ระบาด​ของ​โรค​ปาก​และ​เท้า​เปื่อย ซึ่ง​ทำ​ให้​ต้อง​ฆ่า​และ​กำจัด​วัว, แกะ, สุกร, และ​แพะ​นับ​ล้าน​ตัว.

แม้​ว่า​อันตราย​ที่​กล่าว​มา​เป็น​เรื่อง​ร้ายแรง​มาก แต่​ก็​มี​ปัจจัย​อื่น ๆ อีก​ที่​ทำ​ให้​ผู้​คน​เป็น​ห่วง​เกี่ยว​กับ​อาหาร. ผู้​บริโภค​กำลัง​วิตก​เกี่ยว​กับ​เทคนิค​ใหม่ ๆ ซึ่ง​ปัจจุบัน​มี​การ​ใช้​กัน​ใน​การ​เพาะ​ปลูก​และ​ใน​กระบวนการ​แปรรูป​อาหาร. คณะ​กรรมาธิการ​แห่ง​สหภาพ​ยุโรป​ได้​เขียน​ใน​ปี 1998 ว่า “เทคโนโลยี​แปลก​ใหม่ เช่น การ​อาบ​รังสี​อาหาร​และ​กรรมวิธี​ทาง​พันธุวิศวกรรม​ใน​พืช​ที่​เป็น​อาหาร ได้​ก่อ​ให้​เกิด​การ​โต้​แย้ง​กัน​อย่าง​มาก.” เทคนิค​ทาง​วิทยาศาสตร์​อัน​ทัน​สมัย​เช่น​นี้​ทำ​ให้​อาหาร​ของ​เรา​มี​คุณภาพ​ดี​ขึ้น​หรือ​ทำ​ให้​ปน​เปื้อน? และ​เรา​จะ​ทำ​ให้​อาหาร​ของ​เรา​ปลอด​ภัย​มาก​ขึ้น​ได้​อย่าง​ไร?